"อาจารย์คะ
หนูมีคำถามค่าาา
อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเรียนนะคะ
เหมือนกับว่าก่อนหน้านี้มันมีข่าวว่าพบว่ามีการแอบใช้เมทานอลในการทำเจลล้างมือ
แล้วหนูกับพวกรุ่นพี่บางกลุ่มกำลังคิดว่าอาจทำ
infographic
มาให้ความรู้
คือที่เมทานอลมันไม่สามารถใช้ได้
นอกจากเรื่องที่มันกินไม่ได้
แล้วมีเรื่องอะไรอีกหรอคะ
คือมัน toxic
ไรงี้หรอคะ"
เย็นวันวานมีสาวน้อยรายหนึ่งส่งข้อความถามมาเรื่องเกี่ยวกับการเอาเมทานอลมาทำเจลล้างมือ
อันที่จริงผมก็ได้ให้ความเห็นส่วนตัวของผมกับเขาไปแล้ว
แต่เห็นว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับผู้อื่นอยู่บ้าง
ก็เลยขอนำมาขยายความเพิ่มเติมบันทึกไว้ในที่นี้
ปัจจุบันมีการนำเสนอข้อมูลในรูปของ
Infographic
กันมากขึ้น
ซึ่งวิธีการนี้ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว
มันเหมาะมากสำหรับการนำเสนอให้ผู้ที่รับสื่อนั้น
"เชื่ออย่างรวดเร็ว
โดยไม่คิดพิจารณา"
ซึ่งในบางงานนั้นมันก็ใช้ได้ดี
เช่นการเผยแพร่ คำเตือน
ข้อห้าม อันตราย ฯลฯ
แต่ถ้าเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง
ก็ต้องพิจารณาให้ดี
เพราะด้วยเนื้อที่จำกัดนั้น
ทำให้มันไม่สามารถใช้รายละเอียดที่จำเป็นบางประการเพิ่มเติมเข้าไปได้
เช่น ข้อยกเว้น ข้อจำกัด
ข้อควรระวัง เป็นต้น
บ่อยครั้งที่เห็นว่าข้อมูลที่
Infographic
ให้มานั้น "ไม่ผิด"
แต่คนที่รับข้อมูลนั้นเอาไป
"ขยายความ"
แบบไม่ถูกต้อง
มันก็เลยก่อให้เกิดปัญหาอื่น
ๆ ตามมา
สำหรับเรื่องนี้
สิ่งแรกที่ผมบอกเขาไปว่า
จะกล่าวถึงอะไรที่ไม่ใช่ศาสตร์ของเรา
(ก็คือทางด้านวิศวกรรมเคมี)
ก็ต้องหาแหล่งอ้างอิงหน่อย
และควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้
โดยในที่นี้ผมขอยกเอาข้อมูลมาจาก
-
Center for Disease Control (CDC)
หรือหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา
(รูปที่
๑)
-
"Infection prevention and control of epidemic- and
pandemic-prone acute respiratory infections in health care" WHO
Guidelines เป็นเอกสารที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปีค.ศ.
๒๐๑๔
เกี่ยวกับการรับมือโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ
ซึ่งตอนนั้นตัวสำคัญที่รู้จักกันก็มีไข้หวัดจากเชื้อไวรัส
H5N1, H1N1, H7N9,
MERSE และ SARS
เอกสารนี้ดาวน์โหลดมาจาก
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK214356/
ซึ่งเป็นเว็บของNational
Institute of Health (NIH) หรือหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา
(รูปที่
๒)
-
หน้าที่ ๒๔๐ และ ๒๔๑
ของหนังสือ "Disinfection,
Sterilization, and Preservation" โดย Seymour
Stanton Block ที่ค้นผ่านทาง
Google book (รูปที่
๓ และ ๔)
โดยจับภาพหน้าจอสองหน้านี้มาให้อ่านกัน
เนื้อหาใน
Memoir
ฉบับนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเอาเมทานอลมาทำเจลล้างมือแล้วจะมีปัญหาไหม
แต่อยากให้ตั้งคำถามแยกเป็นประเด็นดังนี้
ข้อ
๑ สารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่ต้องการหรือไม่
ข้อ
๒
สารดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาอะไรกับพื้นผิวที่มันสัมผัสหรือกับผู้ใช้งานหรือไม่
ข้อ
๓ การตกค้างของสารดังกล่าวบนพื้นผิวก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่
เชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคนั้น
ในทางจุลชีววิทยาจะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มผมก็ไม่รู้
เท่าที่พอรู้ก็มีพวก แบคทีเรีย
ไวรัส เชื้อรา และพาราสิต
(เช่นเชื้อที่ทำให้เกิดมาลาเรีย)
และในแต่ละกลุ่มนั้นมันก็แยกกลุ่มย่อยออกไปอีก
สารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ได้หมายความว่ามันฆ่าได้ทุกกลุ่ม
หรือแม้แต่ในแต่ละกลุ่ม
ก็ไม่ได้หมายความว่ามันฆ่าได้ทุกกลุ่มย่อย
อย่างเช่นเอทานอลที่เรารู้กันว่าฆ่าเชื้อโรคบนผิวหนังได้
แต่มันฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังไม่ได้
เวลาที่เราเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา
เอาเอทานอลทามันก็ไม่หาย
ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราต่างหาก
หรือแม้แต่เราไม่สบายเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย
หมอก็ยังต้องดูว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียประเภทไหน
จะได้ใช้ยาปฏิชีวนะได้ถูกชนิด
รูปที่ ๑
ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของแอลกอฮอล์ที่ปรากฏในหน้าเว็บของ
CDC เรื่อง
"Guideline for
Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities (2008)"
ผมจับภาพหน้าจอเฉพาะเนื้อหาตรงส่วนนี้มาแสดง
(จาก
https://www.cdc.gov/infectioncontrol/guidelines/disinfection/disinfection-methods/chemical.html)
ข้อมูลในย่อหน้าแรกของรูปที่
๑ กล่าวถึงบทบาทของแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ
"แบคทีเรีย"
โดยกล่าวว่าเมทานอลมีฤทธิ์อ่อนสุด
(คิดว่าเป็นการเทียบกันระหว่าง
เมทานอล เอทานอล และไอโซโพรพานอล)
แม้แต่เอทานอลและไอโซโพรพานอลเองก็ยังมีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน
ย่อหน้าที่สองของรูปที่
๒ กล่าวถึงความสามารถในการฆ่าเชื้อ
"ไวรัส"
ของเอทานอลและไอโซโพรพานอล
(ไม่มีการกล่าวถึงเมทานอล)
ที่แม้ว่าแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดจะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างกว้างขวาง
แต่ก็มีฤทธิ์ในการฆ่าที่แตกต่างกัน
และก็มีข้อยกเว้นด้วย
เช่นเอทานอลไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิด
A และโรคปอลิโอได้
แต่จัดการกับไวรัสไข้หวัดใหญ่
(influenza ได้)
รูปที่ ๒
จากเอกสาร "Infection
prevention and control of epidemic- and pandemic-prone acute
respiratory infections in health care" WHO Guidelines
จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก
ข้อมูลในหัวข้อ
G.1 ของรูปที่
๒
กล่าวว่าแอลกอฮอล์เป็นสารที่มีประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
โดยเอทานอลเข้มข้น 70%
จัดว่ามีประสิทธิผลสูงกว่าไอโซโพรพานอล
สารอีกตัวหนึ่งที่มีประสิทธิผลสูงเช่นกันคือโซเดียมไฮโปคลอไรต์
(NaOCl)
สารตัวนี้เป็นตัวออกซิไดซ์
ในชีวิตประจำวันเราใช้เป็นน้ำยาซักผ้าขาว
คือให้มันทำความสะอาดคราบสกปรก
แต่สารตัวนี้ค่อนข้างจะระคายเคือง
ทำให้มันเหมาะสำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว
(ที่ไม่ใช่ผิวหนังคน)
มากกว่า และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ
มันสามารถออกซิไดซ์สารอื่นนอกเหนือไปจากเชื้อโรคได้เช่นกัน
รูปที่ ๓
หน้า ๒๔๐ จากหนังสือ "Disinfection,
Sterilization, and Preservation" โดย Seymour
Stanton Block
รูปที่
๓ และ ๔ ได้จากการใช้ google
ค้นหาว่าเมทานอลสามารถฆ่าไวรัสได้หรือไม่
ซึ่งมันก็พาไปยังหน้า ๒๔๐
และ ๒๔๑ ของหนังสือชื่อ
"Disinfection,
Sterilization, and Preservation" โดย Seymour
Stanton Block ที่กล่าวถึงประสิทธิผลของแอลกอฮอล์โมเลกุลเล็ก
(C1 - C4)
ในการฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่าง
ๆ ข้อมูลในตารางที่ 12.12
(รูปที่ ๔)
นั้นก็รายงานประสิทธิผลของเมทานอลในการฆ่าเชื้อไวรัสบางชนิดเทียบกับแอลกอฮอล์ตัวอื่น
ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันก็ฆ่าได้เช่นกัน
ส่วนที่ว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่นั้น
อยู่ในกลุ่มไหนของเชื้อไวรัสที่เขาใช้ทดสอบ
หรืออยู่ในกลุ่มเชื้อที่เขาทดสอบหรือไม่นั้น
อันนี้ผมไม่รู้
รูปที่ ๔
หน้า ๒๔๑ จากหนังสือ "Disinfection,
Sterilization, and Preservation" โดย Seymour
Stanton Block
ประเด็นถัดมาก็คือสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อนั้น
มันก่อให้เกิดปัญหากับพื้นผิวที่มันสัมผัสหรือไม่
พื้นผิวสัมผัสนั้นมันมีตั้งแต่ผิวหนังคนไปจนถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง
ๆ ที่มีทั้งส่วนที่เป็นโลหะ
แก้ว
และพอลิเมอร์(ไม่ว่าจะเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์หรือวัสดุที่ทำจากยางธรรมชาติ)
สารบางตัวฆ่าเชื้อได้ดีมาก
แต่ระคายเคืองต่อผิวหนัง
ดังนั้นเราอาจใช้มันทำความสะอาดพื้นผิวได้
แต่อย่าให้สัมผัสกับผิวหนังก็แล้วกัน
บางตัวอาจไม่มีปัญหากับผิวหนัง
(เช่นเอทานอล)
แต่มีปัญหากับชิ้นส่วนที่เป็นพอลิเมอร์หรือทำจากยาง
ที่อาจทำให้วัสดุเหล่านี้เสื่อมสภาพได้
รูปที่ ๕
ป้ายคำเตือน
กรุณารอให้แอลกอฮอล์เจลแห้งก่อนที่จะจับต้องชิ้นส่วนต่าง
ๆ ของรถยนต์ เพราะอาจมีผลเสียได้
รูปนี้ถ่ายมาจากศูนย์บริการรถยนต์แห่งหนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นที่ว่าการตกค้างของสารฆ่าเชื้อบนพื้นผิวนั้นก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่
แอลกอฮอล์โมเลกุลเล็กมันมีข้อดีคือมันระเหยง่าย
ดังนั้นมันจึงไม่ตกค้างบนพื้นผิว
แต่การที่มันระเหยง่ายก็เป็นข้อเสียของมันที่ควรพึงระวังก็คือ
มันเป็นสารไวไฟ
ดังนั้นในการใช้งานจึงต้องระวังไม่ให้มีไอระเหยของแอลกอฮอล์สะสมในปริมาณมากเกินไป
และไม่ควรใช้ในบริเวณที่มีเปลวไฟหรือแหล่งความร้อนที่สามารถจุดระเบิดไอระเหยของแอลกอฮอล์ได้
นอกจากนี้การระเหยของมันยังอาจทำให้ผู้ใช้รับมันเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสูดดมได้ด้วย
ปัญหาของแอลกอฮอล์ที่จะเอามาทำเจลล้างมือ
มันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าแอลกอฮอล์นั้นมันกินได้หรือไม่
(มีใครเอาไอโซโพรพานอลที่ฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกันมากินไหมครับ)
แต่อยู่ตรงที่มัน
"สัมผัส"
ผิวหนังได้หรือไม่และ
"สูดดม"
เข้าไปจะเป็นอันตรายไหม
โดยเฉพาะประเด็นหลังคือ
"สูดดม"
เมื่อเราเอาเจลล้างมือทามือ
แอลกอฮอล์มันจะระเหยออกมา
ตัวนี้แหละที่เป็นปัญหา
เพราะไอระเหยของเมทานอลนันเป็นอันตรายกว่าเอทานอลมาก
ทีนี้กลับมาที่มีการเอา
"เมทานอล"
มาทำเจลล้างมือ
คำถามหนึ่งที่น่าตั้งก็คือคนทำเขารู้หรือเปล่าว่าแอลกอฮอล์มันมีหลายชนิด
(เขาอาจไม่ได้มีความรู้เคมีที่ดีก็ได้)
เมทานอลที่ขายสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายมันก็เขียนไว้ข้างกระป๋องว่าแอลกอฮอล์เหมือนกัน
ก่อนหน้านี้เคยลองค้นในเว็บ
Shopee ใช้คำค้นหา
"แอลกอฮอล์"
จะเห็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นตัวทำละลายปรากฏขึ้นมาเป็นรายการแรก
ๆ เลย แต่ตอนนี้มันโดนพวกเจลล้างมือเบียดออกไป
และพอเข้าไปดูรายละเอียดฉลากที่เห็นในรูป
มันก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเมทานอลหรือเอทานอล
รู้แต่ว่ามันราคาถูกกว่าแอลกอฮอล์ล้างแผลมาก
ดังนั้นการเอาเมทานอลมาใช้จึงอาจเกิดจากความเข้าใจที่ผิดก็ได้
เพราะคิดว่าแอลกอฮอล์ไหน
ๆ ก็เหมือนกันหมด