วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

สถานีรถไฟนครชุมน์ MO Memoir : Saturday 16 April 2565

ถนนเลียบแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออกจากโพธารามไปยังบ้านโป่งเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ไม่กว้างมากพอที่รถยนต์สองคันจะวิ่งสวนกันได้สบาย เรียกว่าแต่ละคันต้องเบียดลงข้างทางนิดนึง ฝั่งด้านแม่น้ำมีบ้านเรือนและร้านค้าอยู่เป็นระยะ แต่ดูทำเลแล้วก็ไม่ค่อยเหมาะกับการสร้างบ้านเท่าไรนัก เพราะเป็นขอบตลิ่งที่สูงชัน (ประมาณว่าราว ๆ 10 เมตร) ทำให้คิดว่าเดิมเวลาหน้าน้ำหลากระดับน้ำคงสูงมากน่าดู แต่ตอนนี้ก็เห็นย่านโพธารามไปจนถึงบ้านโป่งก็มีการเปิดรีสอร์ทและร้านกาแฟริมน้ำแม่กลองกันหลายร้าน เรียกว่าถ้าไม่อยากขับรถไกลไปถึงกาญจนบุรี ก็ไปหาที่พักเงียบสงบริมแม่น้ำแถวนี้ได้ (ขาดเพียงแค่ไม่มีภูเขาให้เห็น) บ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมาแวะไปหาอะไรกินแถวนั้น ก่อนกลับบ้านก็เลยถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปสถานีรถไฟนครชุมน์ที่อยู่ใกล้เคียง

รูปที่ ๑ ภาพสถานีรถไฟจาก google street view บอกว่าบันทึกภาพไว้เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ในภาพนี้ยังเห็นตัวอาคารเดิมอยู่ที่ตอนนี้ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว และระดับทางรถไฟและตัวอาคารก็ไม่ได้สูงจากพื้นถนนมากนัก ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ระดับรางรถไฟนั้นอยู่สูงกว่าถนนมาก

ตอนแรกคิดว่าสถานีนี้คงเป็นเพียงแค่สถานีเล็ก ๆ ระหว่างสถานีบ้านโป่งกับสถานีคลองตาคต (สถานีก่อนโพธาราม) แต่พอค้นดูแผนที่เก่าและอินเทอร์เน็ตก็พบว่า แต่เดิมนั้นสถานีนี้ก็คงจะเป็นชุมทางสำหรับการขนถ่ายของระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับรถไฟ เพราะปรากฏว่ามีทางแยกจากสถานีไปยังแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งตรงนี้สามารถอ่านรายละเอียดและดูรูปเก่า ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บ http://portal.rotfaithai.com ในหัวข้อ "นครชุมน์ กับการค้นหาเรื่องราวในวันวาน" ดังนั้นวันนี้ก็คงเป็นการบันทึกภาพสถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับทางรถไฟรางคู่ (และอาจรวมถึงชานชาลายกสูงด้วย)

รูปที่ ๒ ภาพจากแผนที่ British-India จัดทำในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ จะเห็นทางแยกจากสถานีนครชุมน์ไปยังแม่น้ำแม่กลอง

รูปที่ ๓ แผนที่ทหาร L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาบอกว่าใช้ข้อมูลปีพ.ศ. ๒๔๙๖ จะเห็นติ่งทางแยกเล็ก ๆ ตรงกับที่ตั้งของสถานีนครชุมน์ในวงเส้นประสีเขียว

รูปที่ ๔ เทียบกับ google map ปัจจุบันก็น่าจะเป็นแนวเส้นถนนสีแดง

รูปที่ ๕ จากจุดจอดรถทางด้านทิศเหนือของตัวสถานี มองไปยังเส้นทางที่มาจากบ้านโป่ง

รูปที่ ๖ จากด้านทิศเหนือ มองไปยังตัวสถานี

รูปที่ ๗ ตัวสถานีที่เป็นอาคารชั่วคราวและอาคารที่กำลังก่อสร้าง ตัวอาคารเก่าไม่เหลือร่องรอยแล้ว

รูปที่ ๘ ป้ายชื่อสถานีที่อยู่หน้าที่ทำการชั่วคราวของนายสถานี

รูปที่ ๙ เสาสำหรับรับ-ส่งห่วงทางสะดวก แต่ตอนนี้คงไม่ต้องใช้แล้ว เพราะเป็นระบบรางคู่แล้ว

รูปที่ ๑๐ จากหน้าอาคารที่ทำการชั่วคราว มองไปทางทิศใต้ (มุ่งไปยังสถานีคลองคต)

รูปที่ ๑๑ ปลายชานชาลาด้านทิศใต้ เส้นกลางคือเส้นทางหลักเดิม เส้นซ้ายคือรางหลีก และขวาสุดคงเป็นเส้นที่วางใหม่

รูปที่ ๑๒ จากสุดชานชาลาด้านทิศใต้ มองกลับไปยังด้านทิศเหนือ

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2565

สถานีรถไฟนครชัยศรี MO Memoir : Saturday 9 April 2565

จากการไปถ่ายรูปตามสถานีรถไฟเล็ก ๆ หลายแห่ง ทำให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีคู่หนุ่มสาวหลายรายมาใช้บรรกาศที่สถานีรถไฟเล็ก ๆ เพื่อถ่ายรูปพรีเวดดิ้งกันไม่น้อยเหมือนกัน เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าถ้าไม่พิจารณาที่ตัวรางและหมอนรองรางที่เปลี่ยนตามอายุการใช้งาน ตัวอาคารสถานีและบริเวณโดยรอบยังคงบรรยากาศแบบดั้งเดิมในอดีตอยู่ สิ่งที่หายไปคือความพลุกพล่านของผู้คนที่เปลี่ยนไปใช้การเดินทางทางรถยนต์แทน

รูปที่ ๑ สถานีนี้อยู่ระหว่างวัดงิ้วราย (ไปกรุงเทพ) และท่าแฉลบ (ไปนครปฐม)

"ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย" คือคำขวัญประจำอำเภอนครชัยศรีนี้ ยี่สิบกว่าปีที่แล้วเวลาขับรถเข้ากรุงเทพเพื่อเลี่ยงรถติดบนถนนบรมราชชนนี ก็จะใช้เส้นทางเข้านครชัยศรี และวิ่งมาตามถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ มาจนถึงพุทธมณฑลสาย ๔ ตอนนั้นถนนเส้นนี้เป็นเพียงถนนเล็ก ๆ สองช่องทางจราจร ข้างทางเป็นคูน้ำไม่ก็นาข้าว ไม่มีไฟส่องสว่าง ถ้าขับกลางคืนก็จะได้ยินเสียงเปาะแป๊ะบนกระจกหน้ารถตลอดทาง เป็นเสียงรถวิ่งชนแมลงที่มาเล่นแสงไฟหน้ารถ เรียกว่าวันรุ่งขึ้นก็ต้องทำการล้างกระจกหน้า ไฟหน้า และฝากระโปรงหน้ากัน เพราะเศษซากแมลงเต็มไปหมด

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไปนครชัยศรีคือ เปลี่ยนบรรยากาศทานอาหาร คือไปกินข้าวกันที่ร้านอาหารริมแม่น้ำท่าจีน ที่กินเป็นประจำคือปลาแรดทอด ตอนนั้นร้านที่ไปกินประจำคือร้านที่อยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำ ใกล้กับสถานีตำรวจ ปัจจุบันร้านนี้ก็ยังคงอยู่ ตอนนั้นยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไปเที่ยวตลาดท่านา ตลาดน้ำวัดลำพญาก็ยังไม่เกิด

เย็นวันที่ไปถึงสถานีนั้น เห็นชาวบ้านท่านหนึ่งกำลังเข็นรถเข็นบรรทุกผักบรรจุถุงพลาสติกใสใบใหญ่ ๆ หลายใบอยู่ที่สถานี เขาก็ถามผมว่ามาถ่ายรูปงานพรีเวดดิ้งหรือ ผมก็ตอบกลับไปว่าไม่ใช่ เพียงแค่ต้องการมาบันทึกภาพตัวอาคารสถานีเก่า ๆ ที่ปัจจุบันค่อย ๆ ถูกรื้อถอนหายไป (เช่นสถานีถูกปิด) หรือเพื่อก่อสร้างใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ผมก็บอกกับเขาว่าดูจากตัวอาคารสถานีที่มีขนาดใหญ่ แสดงว่าแต่ก่อนแถวนี้คงพลุกพล่านน่าดู ชาวบ้านท่านนั้นก็บอกว่าใช่ พร้อมกับชี้ไปยังคลองที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของทางรถไฟ ที่คู่ขนานไปกับทางรถไฟ คือคลองเจดีย์บูชา พร้อมกับเล่าว่าแต่ก่อนตรงบริเวณนี้จะเป็นจุดที่เขาเอาผักที่ขนมาทางเรือมาขึ้นบกกันที่นี่ (แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

"เจ้าพระยา - คลองมหาสวัสดิ์ - ท่าจีน - คลองเจดีย์บูชา" คงเป็นเส้นทางหลักทางน้ำสำหรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพกับนครปฐม แต่การมาของเส้นทางรถไฟสายใต้ที่วิ่งคู่ขนานไปกับคลองมหาสวัสดิ์และคลองเจดีย์บูชา ทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพกับสุพรรณบุรีนั้นสะดวกขึ้น คือใช้สถานีวัดงิ้วรายเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างรถไฟกับเรือ ในช่วงที่ยังไม่มีถนนบรมราชชนนี ทางรถไฟเองยังช่วยให้การเดินทางจากนครชัยศรีเข้าสู่กรุงเทพสะดวกขึ้น เพราะถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ ก็ต้องออกไปยังถนนเพชรเกษมก่อน จากนั้นจึงวิ่งเข้าสามพราน หนองแขม บางแค มายังสถานีขนส่งสายใต้ที่อยู่ที่สามแยกไฟฉาย (ที่ตอนนี้เป็นสี่แยกไปแล้ว) ในขณะที่เส้นทางรถไฟจะมุ่งไปยังหัวลำโพงไม่ก็สถานีธนบุรี ที่สามารถนั่งเรือข้ามฟากต่อมายังท่าพระจันทร์ได้เลย (แต่ก่อนท่าเรือ "ท่ารถไฟ" จะมีเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเหลือแค่เรือด่วนเจ้าพระยา และยังเป็นต้นทางรถเมล์สาย ๘๓ วิ่งไปตลิ่งชัน (ที่วิ่งเส้นทางไม่เหมือนกับสาย ๘๓ ในปัจจุบัน)

ข้อเสียของเส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงสะพานพระราม ๖ - ชุมทางหนองปลาดุกเห็นจะได้แก่การที่มันวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้บริเวณชานชาลาสถานีโดนแดดทั้งวัน เพราะจะว่าไปจากที่ได้แวะไปถ่ายรูปมาหลายสถานี บางสถานีก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบดี เหมาะแก่การนั่งจิบกาแฟตากสายลมพัดผ่านเพื่อคอยดูรถไฟที่จะวิ่งผ่านไปมาให้ดู

ขึ้นรถแล้ว กำลังจะติดเครื่องเพื่อขับรถกลับ ก็ได้ยินเสียงประกาศของทางสถานีว่ากำลังมีรถไฟมา วิ่งจากสถานีน้ำตกปลายทางธนบุรี ก็เลยกลับไปรอถ่ายวิดิโอรถไฟวิ่งเข้าสถานีและวิ่งออก มีผู้โดยสารขึ้นที่สถานีนี้ ๒-๓ คน หนึ่งในนั้นก็คือชาวบ้านที่ผมได้สนทนาด้วยเมื่อมาถึง ท่านขึ้นรถตู้หัวขบวน พร้อมกับผักถุงใหญ่ ๆ หลายถุงที่นำมาด้วย

รูปที่ ๒ แผนที่กองทัพอังกฤษจัดทำช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถานีนครชัยศรีอยู่ในกรอบสีเหลืองในรูป จะเห็นว่าตัวอำเภออยู่ตรงส่วนแม่น้ำที่มีการโค้งวน สำหรับเรือที่ไม่ต้องการเสียเวลาก็สามารถใช้คลองลัดงิ้วรายเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ได้โดยไม่ต้องวนเข้าอำเภอนครชัยศรี

รูปที่ ๓ แผนที่เขตสุขาภิบาลนครชัยศรี จากราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

 

รูปที่ ๔ ตัวสถานีเป็นอาคารใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตของสถานีนี้  
 

รูปที่ ๕ ตัวอาคารสถานี มองจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก

รูปที่ ๖ บริเวณที่พักนั่งรอรถไฟ

รูปที่ ๗ ภาพบรรยากาศเก่า ๆ ของช่องจำหน่ายตั๋วแบบเดิมที่ผนังเป็นไม้ระแนง

รูปที่ ๘ อาคารหลังเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างอาคารสถานีหลัก เส้นทางรถไฟถูกยกสูงกว่าเดิมมาก จนตัวอาคารเดิมอยู่ต่ำลงไปจากระดับรางปัจจุบันมาก 

รูปที่ ๙ มองจากหน้าตัวอาคารสถานีไปทางทิศตะวันออก (มุ่งไปตลิ่งชัน)

รูปที่ ๑๐ มองจากหน้าตัวอาคารสถานีไปทางทิศตะวันตก (มุ่งไปนครปฐม)

รูปที่ ๑๑ โรงเก็บรถซ่อมบำรุงราง

รูปที่ ๑๒ สุดชานชาลาด้านทิศตะวันตก มองไปยังเส้นทางที่มาจากทางนครปฐม

รูปที่ ๑๓ บรรยากาศถนนเลียบทางรถไฟฝั่งด้านทิศใต้ของตัวสถานี

รูปที่ ๑๔ มองจากชานชาลาฝั่งทิศใต้ไปยังตัวอาคารสถานีฝั่งตรงข้าม

รูปที่ ๑๕ อีกมุมหนึ่งของตัวอาคารสถานี มองจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก

รูปที่ ๑๖ พอกำลังจะกลับ ก็มีขบวนรถ น้ำตก-ธนบุรี กำลังจะเข้ามาสถานี ก็เลยขอถ่ายรูปบรรยากาศรถไฟกำลังเข้าจอดที่สถานีเสียหน่อย

รูปที่ ๑๗ กำลังรอให้คนขนผักขึ้นที่ตู้แรกอยู่

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2565

เมื่อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ผสมกับเบส MO Memoir : Saturday 2 April 2565

เบสสามารถเร่งให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวเร็วขึ้น และในกรณีของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูงความร้อนที่คายออกมาจากการสลายตัวจะไปเร่งให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวได้เองโดยไม่ต้องพิ่งเบส เหตุการณ์นี้เคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งแล้วในเรื่อง "การระเบิดจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ปนเปื้อนเบส" เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Bursting of a hydrogen peroxide tank" ที่ดาวน์โหลดได้ทางหน้าเว็บ "https://www.aria.developpement-durable.gouv.fr/accident/19454_en/?lang=en" โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ ๘ กันยายนปีค.ศ. ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑)

เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น ณ ถังบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความจุ 85 m3 ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เกิดการสลายตัวและเดือดล้นถังออกมา ทางโรงงานจึงได้ทำการเติมกรดฟอสฟอริก (H3PO4) 30 ลิตรเข้าไปในถังเพื่อทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในถังมีเสถียรภาพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ทำการถ่ายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในถังลงสู่พื้นที่รองรับ (ในบทความใช้คำว่า containment basin ซึ่งอาจเป็นแอ่งหรือบริเวณที่ให้ของเหลวในถังไหลระบายออกอยู่เฉพาะ ณ บริเวณนี้) และทำการเจือจางด้วยน้ำ ในขณะเดียวกันก็หล่อเย็นผนังด้านนอกของถังเก็บด้วยน้ำ

รูปที่ ๑ ส่วนหนึ่งของคำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด

ต่อมาเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น มีลำไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์พุ่งออกจาก manhole ที่เปิดอยู่ของถัง ถังเกิดการระเบิดและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กระจายเป็นบริเวณกว้างประมาณ 30 เมตร (รูปที่ ๑)

การสอบสวนพบว่าการสลายตัวเกิดจากสารละลายอัลคาไลน์ (alkaline solution) จากกระบวนการผลิตที่เข้ามาปนเปื้อนในถังเก็บไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ผ่านทางท่อ vent ร่วม บทความไม่ได้ให้รายละเอียดว่าสารละลายอัลคาไลน์ไหลเข้ามาทางท่อ vent ร่วมได้อย่างไร แต่บอกว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วได้มีการดัดแปลงท่อ vent ร่วมนี้ไม่ให้สามารถดูดสารละลายอัลคาไลน์จากกระบวนการผลิตเข้ามาได้ (แสดงว่าการออกแบบเดิมมีปัญหา ทำให้เกิดการดูดสารละลายอัลคาไลน์จากกระบวนการผลิตไหลเข้ามาในท่อ vent ร่วมนี้ และสารละลายบางส่วนได้ไหลเข้าไปในถังเก็บไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

รูปที่ ๒ และ ๓ เป็นน้ำพุที่พุ่งผ่านรูเจาะบนฝาขวดพลาสติก HDPE เมื่อทำการผสมสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2 (เข้มข้น 50%) 70 ml + น้ำ 30 ml) และสารละลายเบสเข้าด้วยกัน (การทดสอบผลของเบสที่มีต่อการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) รูปที่ ๒ เป็นการผสมสารละลาย NaOH (0.1 M) 30 ml ส่วนรูปที่ ๓ เป็นการผสมสารละลาย Na2CO3 (0.05 M) 30 ml ในกรณีของสารละลาย NaOH นั้นพบว่าปฏิกิริยาเกิดในเวลาเพียงประมาณ 10 นาที ส่วนในกรณีของสารละลาย Na2CO3 นั้นพบว่าปฏิกิริยาเกิดหลังตั้งทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง 

รูปที่ ๒ น้ำพุที่เกิดจากสารละลาย H2O2 + NaOH พุ่งขึ้นสูงประมาณ 1.50 เมตร

 รูปที่ ๓ น้ำพุที่เกิดจากสารละลาย H2O2 + Na2CO3 พุ่งขึ้นสูงประมาณ 1 เมตรเศษ