วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เมื่อท่อเหล็กชุบสังกะสีทำให้ถังบรรจุดกรดเปอร์อะซีติกระเบิด MO Memoir : Saturday 27 November 2564

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจาก บทความเรื่อง "Transition Metals vs. Concentrated Peracetic Acid. A Case Study on Safety." (https://envirotech.com/wp-content/uploads/2015/12/Mishandled-PAA.pdf) และเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็ได้รับการกล่าวไว้ใน "VERSATILE AND VEXING. The Many Uses and Hazards of Peracetic Acid" (https://synergist.aiha.org/201612-peracetic-acid-uses-and-hazards)

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide H2O2) เป็นสารออกซิไดซ์ที่นำมาใช้ในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการให้มีสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือการปนเปื้อนกับสิ่งที่มาสัมผัสกับพื้นผิวภายหลัง แต่สำหรับเชื้อบางชนิดนั้น ความสามารถในการฆ่าเชื้อของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กลับไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และตัวที่นำมานิยมใช้กับก็คือกรดเปอร์อะซีติก (Peracetic acid H3CC(O)OOH)

กรดเปอร์อะซิติกเตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดอะซีติก (Acetic acid H3CC(O)OH) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้คือกรดเปอร์อะซีติกและน้ำ เนื่องจากกรดอะซีติกเป็นสารอินทรีย์ที่เราใช้บริโภคกันในชีวิตประจำวัน (กรดที่อยู่ในน้ำส้มสายชู) การตกค้าง (ถ้ามี) ของกรดอะซีติกบนพื้นผิวที่มีการสัมผัสกับอาหารหรือวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเองจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

แต่กรดเปอร์อะซีติกเป็นกรดที่ไม่เสถียร ที่จำหน่ายกันจึงอยู่ในรูปของสารละลายที่ภาวะสมดุลระหว่าง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, กรดอะซีติก, กรดเปอร์อะซีติก และน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำให้กรดเปอร์อะซีติกสลายตัว สารละลายที่จำหน่ายกันจึงมีความเข้มข้นของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดอะซีติกที่สูง (รวมกันแล้วอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนผสมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นกรดเปอร์อะซีติกที่ต้องการ)

รูปที่ ๑ เหตุการณ์ที่เกิด

เหตุการณ์ที่เกิดบรรยายไว้ในรูปที่ ๑ ข้างบน เริ่มจากมีการนำเอา dip tube ที่เป็น galvanized steel (ที่บ้านเราเรียกเหล็กชุบสังกะสี) มาติดตั้งเข้ากับถังบรรจุกรดเปอร์อะซีติก แล้วก็วางถังในแนวนอนเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานหลังวันหยุดสุดสัปดาห์

ความหมายของ dip tube คือท่อที่จุ่มลงไปในของเหลว ที่อาจใช้เพื่อการเติมสารอื่นลงไปใต้ผิวของเหลวหรือทำการสูบเอาของเหลวขึ้นมา ส่วนหน่วยแกลลอน (gallon) มีด้วยกันสองหน่วย หน่วยแรกคือ Imperial gallon ที่ 1 แกลลอนเท่ากับ 4.546 ลิตร หน่วยที่สองคือ US gallon ที่ 1 แกลลอนเท่ากับ 3.7854 ลิตร ดังนั้นเวลาเห็นหน่วย gallon ที่ไม่มีการะบุว่าเป็นแบบไหน ก็ต้องดูด้วยว่าเอกสารนั้นใครจัดทำหรือผู้เขียนเป็นใคร ในที่นี้ถังขนาด 55 gallon ที่ถ้าเทียบเป็นลิตรโดยคิดว่าเป็น US gallon แล้วก็จะเท่ากับ 208 ลิตรก็คือถังขนาดถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แต่ในเหตุการณ์นี้ควรจะเป็นถังพลาสติก (และควรเป็น HDPE ด้วย) โดยรูบนฝาถังเรียกว่า bung hole และฝาปิดรูเรียกว่า bung

ในช่วงระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ ถังเกิดการระเบิด ทำให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในรั่วไหลออกมา สาเหตุที่ทำให้ถังเกิดการระเบิดเกิดจากกรดที่อยู่ในถัง (ทั้งกรดอะซีติกและกรดเปอร์อะซีติก) กัดกร่อนเนื้อเหล็ก เกิดเป็นไอออน Fe2+ ละลายในสารละลาย และไอออนเหล็กตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวเกิดแก๊สออกซิเจน และเมื่อแก๊สออกซิเจนสะสมในถังมากขึ้น ความดันในถังก็สูงขึ้นจนถังทนไม่ได้ ถังก็ระเบิด

รูปที่ ๒ คำอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิด

โลหะบางชนิดสามารถทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัว (ผลิตภัณฑ์ที่เกิดคือน้ำและแก๊สออกซิเจน) โดยที่เนื้อโลหะไม่ถูกกัดกร่อน (คือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดบนพื้นผิวโลหะ ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ ๓ และ ๔) แต่ไอออนบวกของโลหะทรานซิชันก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ไปเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้ดีเช่นกัน และเร่งได้ดีด้วย

รูปที่ ๓ การสลายตัวของสารละลาย H2O2 เจือจาง เมื่อสัมผัสกับสแตนเลสสตีล (SS304) จะเห็นฟองแก๊สออกซิเจนเกาะบนผิวข้อต่อสแตนเลส

รูปที่ ๔ การสลายตัวของสารละลาย H2O2 เจือจาง เมื่อสัมผัสกับโลหะทองแดง จะเห็นฟองแก๊สออกซิเจนเกาะบนผิวท่อทองแดงและหลุดลอยออกมา

ปฏิกิริยาการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์คายความร้อนออกมา และความร้อนที่คายออกมาก็จะเร่งให้อัตราการสลายตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เห็นว่าเกิดช้าในช่วงแรกอาจกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมากจนไม่สามารถควบคุมได้ก็ได้ การออกแบบถังเก็บไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (โดยเฉพาะที่มีความเข้มข้นสูง) จึงต้องคำนึงถึงการมีระบบระบายแก๊สออกซิเจนที่เกิดขึ้นออกไป และถ้าเป็นการออกแบบการทำงานและ/หรือกระบวนการผลิต ยังต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อนที่สามารถเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลุดรอดหรือเกิดขึ้นในระบบได้

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๒๐) MO Memoir : Saturday 20 November 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับการทดลองในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา

 


 

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เพลิงไหม้จากเฮกเซนที่รั่วจากหน้าแปลนที่น็อตคลายตัวจากการสั่น MO Memoir : Sunday 7 November 2564

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Fire caused due to a flange loosened from vibrations at a synthetic rubber plant" (http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1200084.html) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ Ethylene-Propylene (ยาง EP) เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๑๕.๓๕ น แผนผังกระบวนการผลิตของหน่วยที่เกิดเหตุแสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง

รูปที่ ๑ แผนผังส่วนที่เกิดเหตุ ปั๊มตัวที่เกิดเหตุคือ P-103B ที่ทำหน้าที่สูบเฮกเซนจาก R-102 ไปยัง washing section และอีกตัวที่เกี่ยวข้องคือ P-103G

บทความบรรยายเหตุการณ์เอาไว้ว่า ปั๊ม P-103G (ที่ท่อด้านขาออกนั้นมีการใช้งานร่วมกับปั๊ม P-103B) เกิด cavitation (ด้วยสาเหตุที่ไม่ทราบแน่ชัด) ประกอบกับด้านขาออกของปั๊ม P-103B ที่มีขนาด 3 นิ้วนั้น ถูกต่อตรงเข้ากับ reducer ขนาด 6 นิ้ว (คือไม่มีท่อสั้น ๆ ที่เรียกว่า spool piece เป็นตัวเชื่อมต่อ) ประกอบกับการที่ท่อมีขนาดแตกต่างกันมากจึงทำให้น็อตยึดหน้าแปลนนั้นคลายตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เฮกเซนรั่วออกมาก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้

ย่อหน้าข้างบนคือสรุปเนื้อหาในบทความต้นฉบับที่เขียนไว้สั้น ๆ ประมาณสิบบรรทัดเศษ ต่อไปจะเป็นการขยายภาพเหตุการณ์โดยอาศัยความรู้ที่พอมีอยู่บ้าง เพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมองภาพเหตุการณ์ที่เกิดได้ชัดเจนขึ้น

เอทิลีน (Ethylene H2C=CH2) และโพรพิลีน (Propylene H3CCH=CH2) เกิดเป็นพอลิเมอร์ได้ไม่ง่าย เว้นแต่มีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย เนื่องจากการต่อโมเลกุลเข้าด้วยกันนั้นมีการคายความร้อนออกมา ดังนั้นการพอลิเมอร์ไรซ์จึงต้องหาทางระบายความร้อนนี้ออกด้วย และเทคนิคหนึ่งที่ใช้คือการใช้ตัวทำละลาย

ตัวทำละลายทำหน้าที่เป็นทั้งตัวกลางสำหรับละลายสารตั้งต้น (เอทิลีนและโพรพิลีนที่เป็นแก๊ส) และตัวเร่งปฏิกิริยา และเป็น heat sink สำหรับรับความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมา ในกระบวนการนี้ตัวทำละลายที่ใช้คือเฮกเซน (Hexane C6H14) ซึ่งเป็นโมเลกุลไม่มีขั้วเช่นเดียวกับสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ จากสารตั้งต้นที่เป็นแก๊ส เมื่อมีการต่อเป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้น (เป็น oligomer ก่อน จากนั้นจึงค่อยกลายเป็น polymer) ความสามารถในการละลายในตัวทำละลายจะลดลง แต่ถ้าอุณหภูมิสูงพอ มันก็ยังละลายอยู่ในตัวทำละลายนั้นได้ แต่ถ้าตำแหน่งไหนของระบบ (ตัว vessel หรือระบบท่อ) มีอุณหภูมิต่ำเกินไป โมเลกุลขนาดใหญ่ที่ละลายอยู่ในตัวทำละลายก็จะแข็งตัวเกาะอยู่บนพื้นผิวนั้น ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการถ่ายเทความร้อนและ/หรือการไหลได้

กระบวนการในรูปที่ ๑ นั้นจะเห็นว่ามีปั๊ม P-103 อยู่ 2 ตัวคือ P-103A P-103B พึงสังเกตว่าปั๊มแต่ละตัวมีท่อต่อแยกอิสระเข้าไปยัง R-102 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่อบริเวณระหว่าง R-102 และปั๊ม P-103 นั้นมีโอกาสเกิดการอุดตัน จึงต้องมีการเดินท่อสำรองแยกออกจากกัน เมื่อเกิดปัญหาเกิดการอุดตันที่ท่อหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนไปใช้อีกท่อหนึ่งแทน

จากแผนผัง ตัว R-102 น่าจะทำหน้าที่เป็น liquid-gas separator คือการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์นั้นจะเกิดภายใต้ความดันระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มการละลายของเอทิลีนและโพรพิลีนในเฮกเซน เฮกเซนที่ออกมาจาก reactor จะมีสารตั้งต้นที่หลงเหลือจากการทำปฏิกิริยา, oligomer (ที่ควรละลายอยู่ในเฮกเซน), และ polymer ที่อาจละลายอยู่ (ถ้าเป็น solution phase) หรือแขวนลอยอยู่ (ถ้าเป็น slurry phase) ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการพอลิเมอร์ไรซ์เป็นแบบไหน การแยกเอาสารตั้งต้นที่ละลายอยู่นั้นทำได้ด้วยการลดความดัน เช่นการถ่ายเฮกเซนจาก reactor ที่ความดันสูงมายัง R-102 ที่ความดันที่ต่ำกว่า เอทิลีนและโพรพิลีนก็จะระเหยออกมาจากตัวทำละลาย

ปั๊มที่แสดงในรูปนั้นควรจะเป็นปั๊มหอยโข่ง (centrifugal pump) และเพื่อทำให้ปั๊มทำงานได้เรียบร้อยจึงมีการติดตั้งระบบ flushing คือการใช้ตัวทำละลายที่สะอาดอัดเข้าไปบริเวณ mechanical seal (ตัวนี้เป็น moving part ที่ทำหน้าที่ป้องกันการรั่วไหลจากภายในตัวปั๊มออกมาข้างนอก) เฮกเซนที่สะอาดนี้จะป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม (เช่นผงอนุภาคพอลิเมอร์ที่แขวนลอยอยู่) เข้ามาสะสมบริเวณตัว mechanical seal

ปั๊มหอยโข่งเวลาทำงานตามปรกติตัวระบบท่อก็ไม่ค่อยมีการสั่นอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีที่การไหลไม่ราบเรียบเช่นมีปัญหาด้านขาเข้าทำให้เกิด cavitation ก็อาจทำให้ท่อเกิดการสั่นมากผิดปรกติได้ ซึ่งในบทความนี้กล่าวไว้เพียงว่าไม่ชัดเจนว่าปั๊ม P-103G เกิด cavitation ได้อย่างไร โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าท่อเข้าปั๊ม P-103A ที่เป็นตัวหลักนั้นเกิดปัญหาอุดตัน จึงมีการเปลี่ยนไปใช้ปั๊ม P-103B แทน ท่อเข้าปั๊ม P-103G นั้นเป็นท่อเดียวกับท่อเข้าปั๊ม P-103A นั้น ดังนั้นเมื่อท่อนี้อุดตันจึงสามารถก่อปัญหาให้กับปั๊มสองตัวนี้พร้อมกันได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด caviation

เป็นเรื่องปรกติที่การสั่นนั้นสามารถทำให้น็อต (ไม่ว่าจะยึดอะไร) สามารถคลายตัวได้ บทความต้นฉบับยังตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไม cavitation ที่รุนแรงจนทำให้เกิดการสั่นที่ทำให้น็อตยึดหน้าแปลนคลายตัวได้นั้นจึงไม่ได้รับความใส่ใจ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าคำถามหนึ่งที่น่าจะถามก็คือ นับตั้งแต่เริ่มเกิด cavitation จนกระทั่งเกิดการรั่วไหลนั้นกินเวลานานเท่าใด โอเปอร์เรเตอร์คงไม่ปล่อยให้ปั๊มทำงานทั้ง ๆ ที่เกิด cavitation ข้ามกะแน่ เพราะการทำงานปรกติต้องมีการเตินตรวจอยู่แล้ว และเสียงผิดปรกติก็เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจได้ดี เป็นไปได้หรือเปล่าที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาที่สั้น (กล่าวคือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงหรือช่วงระยะเวลาระหว่างการเดินตรวจแต่ละครั้ง) จึงทำให้มันหลุดรอดการตรวจพบไปได้

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๘) MO Memoir : Monday 1 November 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับวิธีมาตรฐานสำหรับการหาความเข้มข้นที่แน่นอนของสารละลาย KMnO4 และการทดลองการไทเทรตหาความเข้มข้นสารละลาย H2O2