เรื่องที่เล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับงานเคมีวิเคราะห์ โดยได้ยกตัวอย่างให้นิสิตเห็นว่าเราได้นำเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแต่ละช่วงความยาวคลื่น/ความถี่นั้นมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ทั้งในชีวิตประจำวันและในงานเคมีวิเคราะห์ โดยเริ่มจากพวกที่มีความถี่ต่ำสุด/ความยาวคลื่นมากที่สุด ไปจนถึงพวกที่มีความถี่สูงสุด/ความยาวคลื่นสั้นที่สุด
เนื้อหาในนี้มีบางส่วนที่อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่เล่าในห้องเรียน เพราะที่เล่าในห้องนั้นเป็นสิ่งที่เล่าจากความทรงจำของประสบการณ์ตรง แต่พอมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็เลยต้องมีการตรวจสอบหรือปรับข้อมูลให้มีความละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขในส่วนของความยาวคลื่นหรือความถี่ ซึ่งจะนำตัวเลขมาจาก wikipedia เป็นหลัก (เพราะขี้เกียจไปค้นตำราในห้องสมุด) แต่ก็มีการปัดให้ตัวเลขมันกลม ๆ บ้างเพื่อไม่ให้มันดูยุ่งเหยิงเกินไปและจะได้จำได้ง่าย เพราะบางทีแต่ละภูมิภาคของโลกก็ใช้ช่วงความถี่ที่แตกต่างกันอยู่ด้วย
รูปที่ ๑ ความยาวคลื่นและความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Electromagnetic_wave)
ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternative current)
คงจัดได้ว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำที่สุดที่เราใช้งาน ในบ้านเราใช้ไฟฟ้าความถี่ 50 Hz แต่ในบางประเทศจะใช้ความถี่ 60 Hz เรื่องความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับจะส่งผลถึงความเร็วรอบการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ถ้าสงสัยว่าเกี่ยวข้องอย่างไรก็ลองไปค้นดูในวิชาไฟฟ้ากำลังที่เคยเรียนมาก็แล้วกัน
วิทยุคลื่นยาว (Long wave)
คลื่น Long wave เป็นช่วงความถี่ที่ต่ำกว่าวิทยุ AM (ต่ำกว่า 540 kHz) ลักษณะของคลื่นนี้คือเดินทางไปตามพื้นดินและสามารถผ่านชั้นน้ำได้ลึกกว่าคลื่นวิทยุช่วงความถี่อื่น ดังนั้นจึงมีการนำมาใช้ในการบอกทิศทางและตำแหน่งบนผิวโลก ตั้งสัญญาณนาฬิกา (คลื่นที่เดินทางขึ้นไปสะท้อนกับบรรยากาศและกลับลงสู่เครื่องรับบนผิวโลกใหม่นั้น จะใช้เวลาเดินทางมากกว่าคลื่นที่เดินทางไปตามผิวโลก) และติดต่อสื่อสารกับเรือดำน้ำ
รูปที่ ๒ วิทยุเครื่องนี้ผลิตในมาเลเซีย ส่งไปขายที่อังกฤษ ตอนนั้นซื้อเอาไว้ฟังเทป เลยได้รู้ว่ามีการส่งกระจายเสียงด้วยวิทยุคลื่นยาว (Long Wave) ด้วย ตามหน้าจอคือในช่วงความถี่ 150-280 kHz แต่นอกจากประเทศอังกฤษแล้วผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ายังมีประเทศไหนอีกบ้างที่กระจายเสียงในช่วงคลื่นยาวนี้
Medium wave (MW)
ในบ้านเรามักจะรู้จักคลื่น Medium wave ในชื่อของวิทยุ AM (Amplitude modulation) เสียมากกว่า (แม้ว่าบนหน้าจอเครื่องรับวิทยุมันจะเขียนว่า MW ก็ตาม ส่วน AM เป็นรูปแบบการผสมสัญญาณเข้ากับคลื่นวิทยุ) วิทยุ AM บ้านเราจะใช้คลื่นในย่านความถี่ 540 kHz - 1600 kHz คลื่น MW มีข้อดีคือเดินทางได้ไกล ไม่ประสบปัญหาการบดบังจากภูมิประเทศเหมือนคลื่นวิทยุ FM แต่คุณภาพสัญญาณเสียงจะด้อยกว่า ช่วงความยาวคลื่น MW จะอยู่ในช่วง 100-1000 m ในบ้านเราวิทยุ AM มักจะถูกมองว่าเป็นวิทยุของชนชั้นล่างหรือคนในชนบท ในขณะที่วิทยุ FM ถูกมองว่าเป็นวิทยุของคนที่อยู่ในเมือง (ลองถามตัวเองดูก็แล้วกันว่าปรกติฟังวิทยุ AM บ่อยแค่ไหน)
วิทยุคลื่นสั้น (Short wave (SW))
วิทยุคลื่นสั้นมีการกระจายเสียงในช่วงความถี่ประมาณ 1.8 MHz - 30 MHz ในสมัยที่ยังไม่มีการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม การรับฟังข่าวต่างประเทศผ่านทางวิทยุคลื่นสั้นก็เป็นหนทางหนึ่งในการรับทราบข่าวสารในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าคลื่น Short wave หรือวิทยุคลื่นสั้นจะเหลือผู้ฟังมากน้อยเท่าใด เรื่องนี้เคยเขียนเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๙๐ วันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "วิทยุคลื่นสั้น" ดังนั้นจึงจะไม่ขอเล่าซ้ำอีก ลองไปค้นอ่านเอาเองก็แล้วกัน
ช่วงความถี่ระหว่างคลื่น SW กับวิทยุ FM
ความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงระหว่างวิทยุคลื่นสั้นกับคลื่น FM ที่เห็นเอาไปใช้งานก็คือวิทยุบังคับ ที่เห็นชัดคือรถกระป๋อง (รถบังคับวิทยุ) ที่ขายกันอยู่ในห้างทั่วไป ความถี่ที่ใช้เห็นอยู่ในช่วง 20-50 MHz ดังนั้นเวลาไปซื้อรถกระป๋องมาเล่นกันหลายคนต้องดูให้ดีว่าไม่มีการใช้คลื่นที่มีความถี่ตรงกัน
วิทยุ FM
FM เป็นชื่อวิธีการผสมสัญญาณเข้ากับคลื่นวิทยุย่อมาจาก Frequency Modulation คลื่นวิทยุที่ใช้จะอยู่ในช่วง Very High Frequench (VHF) ในบ้านเรานั้นจะใช้คลื่นในช่วงความถี่ 87.5-108.0 MHz แต่ก็มีบ้างประเทศเหมือนกันที่ใช้คลื่นในช่วงความถี่ที่แตกต่างออกไปคือญี่ปุ่น ซึ่งใช้คลื่นในช่วงความถี่ 76.0-90.0 MHz ดังนั้นใครจะไปซื้อวิทยุที่ญี่ปุ่นเพื่อเอากลับมาฟังที่บ้านเราต้องระวังให้ดี ไม่เพียงแต่ต้องดูว่าสามารถใช้กับความต่างศักย์ที่แตกต่างกันได้ แต่ยังต้องรับฟังช่วงคลื่นที่แตกต่างกันได้ด้วย
วิทยุ FM มีจุดเด่นในเรื่องคุณภาพเสียง แต่มีจุดด้อยในเรื่องการบดบังจากภูมิประเทศ ทำให้ไม่สามารถส่งไปได้ไกล ในภูมิประเทศที่ไม่ราบเรียบ (เช่นมีภูเขาหรือเนินเขาบดบัง) จะมีบางจุดที่ไม่สามารถรับสัญญาณได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับการกระจายเสียงในเมืองเสียมากกว่า
ช่วงความถี่ระหว่างคลื่นวิทยุ FM กับ 470 MHz
ช่วงคลื่นวิทยุในช่วงนี้ก็ยังคงส่งด้วยระบบ FM แต่ไม่ใช่การกระจายเสียงให้คนฟังกันทั่วไป เห็นเอามาใช้สำหรับกิจการวิทยุสื่อสาร
รูปที่ ๓ วิทยุคู่นี้ซื้อมาจากมาบุญครอง เห็นแขวนขายอยู่ ใช้ถ่าน AAA 3 ก้อน ทำงานช่วงความถี่ 462-467 MHz ตั้งชื่อให้ว่า "หมูย่าง" กับ "หมูนึ่ง"
โทรศัพท์เคลื่อนที่
ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบ้านเราระบบแรกที่เขามาใช้ความถี่ 470 MHz ก่อนที่จะขยับขยายเป็นระบบ 800 และ 900 MHz และขยายต่อขึ้นไปเป็นระบบ 1800-1900 MHz และก็เห็นเอาไว้ใช้กับโทรศัพท์ไร้สายที่ใช้กันตามบ้านทั่วไป ที่ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ประมาณ 2-2.4 GHz
ความถี่ในช่วงคลื่นนี้จะเข้าสู่ระดับคลื่นไมโครเวฟแล้ว ลักษณะของคลื่นไมโครเวฟคือจะไม่สะท้อนกับชั้นบรรยากาศ แต่จะทะลุผ่านออกไปได้ จึงนำมาใช้กับการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม และใช้เป็นเรดาห์ตรวจจับวัตถุ
คนที่ทำงานเคมีวิเคราะห์หลายรายจะกลัวคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงนี้ เพราะเวลามีสัญญาณโทรศัพท์ดังทีไรก็มักมีแต่การใช้โทรสั่งงานให้วิเคราะห์ตัวอย่างเพิ่มเติมอยู่เรื่อย (เงินเดือนก็ได้เท่าเดิม โบนัสก็ไม่มีให้)
คลื่นไมโครเวฟ
มีการให้คำนิยามคลื่นไมโครเวฟว่าเป็นคลื่นที่มีความถี่ในช่วง 300 MHz ถึง 300 GHz ถ้าว่ากันตามนี้ความถี่คลื่นวิทยุที่ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กล่าวมาข้างบนก็ถูกรวมอยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟด้วย
เทคนิคการวิเคราะห์ทางเคมีที่มีการใช้คลื่นวิทยุในช่วงคลื่นไมโครเวฟนี้มีอยู่ 2 เทคนิคด้วยกัน และเกี่ยวข้องกับ spin ทั้งคู่ คือ Electron Spin Resonance (ESR) และ Nuclear Magnetic Resonance (NMR)
ESR (ยังมีอีกชื่อคือ Electron Paramagnetic Resonance หรือ EPR) เกี่ยวข้องกับ spin ของ unpaired electron หรืออิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ (ใน orbital ที่มีอิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว) ในการวิเคราะห์นั้นมักจะนิยมนำเอาตัวอย่างไปวางไว้ในคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงความถี่ 9-10 GHz และปรับความเข้มสนามแม่เหล็ก (หรือนำไปวางในสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มคงที่และปรับความถี่คลื่นไมโครเวฟ แต่โดยทั่วไปจะนิยมใช้วิธีแรกมากกว่า) จะถึงระดับหนึ่งจะเห็นการดูดกลืนพลังงาน ESR ใช้ในการตรวจหาสารที่มี unpaired electron เช่นพวกอนุมูลอิสระและ oxidation state ของโลหะทรานซิชันที่เวลามีการเปลี่ยน oxidation state มักมีการเปลี่ยนแค่จำนวนอิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว
NMR นั้นเกี่ยวข้องกับ spin ของนิวเคลียสที่จำนวนโปรตอนรวมกับจำนวนนิวตรอนเป็นเลขคี่ อะตอมที่ถูกศึกษามากที่สุดคือ 1H และ 13C การวิเคราะห์ก็จะทำคล้ายกับ ESR คือนำตัวอย่างไปวางในสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและปรับความถี่คลื่นวิทยุ จนกระทั่งพบการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า NMR นั้นมีการนำไปใช้ในทางการแพทย์ในชื่อว่า MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งใช้ในการสร้างภาพอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเรา
เครื่อง NMR นั้นจะใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมาก ดังนั้นไม่ควรนำสื่อบันทึกที่เป็นแถบแม่เหล็กเข้าใกล้เครื่องดังกล่าว คนที่มีการผ่าตัดใส่ข้อโลหะเทียมหรือใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจก็ไม่ควรเข้าใกล้เครื่องดังกล่าวด้วย (ผมเห็นมีป้ายติดเตือนเอาไว้ที่หน้าเครื่องในแลปของเรา แต่ไม่สามารถเข้าไปถ่ายรูปใกล้ ๆ ได้ เลยไม่ได้ถ่ายมาให้ดูกัน)
อินฟราเรด
การดูดกลืนรังสีอินฟราเรดเกี่ยวข้องกับการสั่นของพันธะระหว่างอะตอมหรือกลุ่มอะตอม แต่ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสั่นของพันธะระหว่างอะตอมหรือกลุ่มอะตอมมีอยู่ 2 ปรากฏการณ์คือการดูดกลืนอินฟราเรดและปรากฏการณ์รามาน (Raman)
การสั่นที่มีการเปลี่ยนแปลง dipole moment ของโมเลกุลจะมีการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ส่วนการสั่นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง dipole moment ของโมเลกุลจะไม่ดูดกลืนรังสีอินฟราเรด แต่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Raman
การวิเคราะห์การดูดกลืนรังสีอินฟราเรดแต่เดิมจะใช้การวัดการดูดกลืนที่ละความยาวคลื่นแสง (อุปกรณ์แบบ dispersive) แต่เมื่อมีการนำเอา interferometer มาใช้ร่วมกับไมโครคอมพิวเตอร์ก็เลยมีการเรียกอุปกรณ์แบบหลังว่า FT-IR ซึ่งในปัจจุบันเครื่องวัดเป็นแบบ FT-IR หมดแล้ว
การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Raman นั้นจะใช้แสงความถี่เดียว ความเข้มสูงยิงไปที่ตัวอย่าง แล้วดูแสงที่กระเจิงออกมา (ที่ทำมุมฉากกับทิศทางที่ยิงแสง เพราะแสงที่กระเจิงแล้วมีความถี่เปลี่ยนไปนั้นมีความเข้มต่ำกว่าแสงที่ยิงเข้าไปมาก) ว่ามีความถี่เปลี่ยนไปเท่าใด (ที่เรียกว่า Raman shift) ในอดีตนั้นจะใช้แสงสีเหลืองจากหลอด Na แต่เมื่อมีแสงเลเซอร์ให้ใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงจึงมีการเรียกแยกออกมาว่าเป็น Laser Raman ในปัจจุบันจะ Laser Raman หมดแล้ว
UV-Vis
UV ย่อมาจาก Ultraviolet ส่วน Vis ย่อมาจาก Visible light (ช่วงความยาวคลื่นประมาณ 400-700 nm) เหตุผลที่กล่าวถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสองตัวนี้คู่กันก็เพราะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เดียวกัน คือการเปลี่ยนแปลงพลังงานของอิเล็กตรอนในชั้นวงโคจรนอกของอะตอม
ซึ่งถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีแล้ว การศึกษาการดูดกลืนคลื่นแสงในช่วงนี้น่าจะให้ข้อมูลที่ดีเกี่ยวกับการสร้างพันธะทางเคมีของสาร เพราะอิเล็กตรอนที่ใช้ในการสร้างพันธะทางเคมีก็เป็นอิเล็กตรอนในชั้นวงโคจรนอกของอะตอม แต่ในทางปฏิบัติจะพบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะจำนวนอิเล็กตรอนในชั้นวงโคจรนอกนั้นมีจำนวนมาก และเพิ่มมากตามขนาดอะตอม แถมยังมีระดับพลังงานใกล้กันอีก ในขณะที่อิเล็กตรอนที่ใช้ในการสร้างพันธะทางเคมีนั้นมีเพียงไม่กี่ตัว จึงทำให้สัญญาณที่เกิดจากอิเล็กตรอนตัวที่สร้างพันธะทางเคมีถูกบดบัง/รบกวนจากอิเล็กตรอนตัวอื่นที่มีระดับพลังงานใกล้เคียงกัน ดูตัวอย่างสัญญาณ UV-Vis ได้จาก Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖๓ วันอังคารที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เรื่อง "UV-Vis - peak fitting"
ช่วงรังสี UV ที่ใช้กันในงานเคมีวิเคราะห์จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นประมาณ 200-400 nm แต่ก็มีบางงานที่ใช้รังสี UV ในช่วงความยาวคลื่น 100-200 nm แต่รังสี UV ในช่วงความยาวคลื่น 100-200 nm นี้ไม่สามารถเดินทางผ่านอากาศได้ (เรียกว่า vacuum UV)
การฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV ก็อาศัยการที่รังสี UV ไปทำให้โมเลกุลในเซลล์ (เช่นเอนไซม์) แตกออกและเกิดปฏิกิริยา ณ ตำแหน่งที่ไม่ควรจะเกิด ทำให้กลไกการทำงานของเซลล์ผิดเพี้ยนไป เซลล์จึงตาย ดังนั้นน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV จึงไม่มีเชื้อโรคที่มีชีวิตอยู่ในน้ำนั้น แต่มี "ศพ" เชื้อโรคอยู่ในน้ำนั้น (ก็ฆ่าให้ตายแต่ไม่ได้กรองเอาออกนี่นา)
X-ray
การกำเนิดรังสีเอ็กซ์นั้นทำได้สองวิธี คือการให้อนุภาคมีประจุมีความเร่ง และการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลังงานของอิเล็กตรอนชั้นวงโคร
วิธีการหลักที่ทำให้อนุภาคมีประจุมีความเร่งและใช้กันอย่างแพร่หลายคือการเร่งให้อิเล็กตรอนมีความเร็วสูงและวิ่งเข้าชนเป้าโลหะ ซึ่งจะทำให้ได้รังสีเอ็กซ์ที่เป็นเส้นต่อเนื่อง เทคนิคนี้ใช้ในการผลิตรังสีเอ็กซ์ที่ไม่สนใจเรื่องความยาวคลื่น (เช่นใช้ในทางการแพทย์หรือในการตรวจสอบรอยเชื่อมโลหะ)
อีกวิธีที่ทำให้อนุภาคมีความเร่งคือการให้อนุภาควิ่งเลี้ยวโค้ง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กับเครื่องเร่งอนุภาค วิธีการนี้มีข้อดีคือผลิตรังสีเอ็กซ์ความยาวคลื่านเดียวที่มีความเข้มสูงได้โดยการปรับความเร็วของอิเล็กตรอนที่วิ่งเข้าโค้ง แต่จากขนาดของอุปกรณ์ก็คงจะมองเห็นแล้วว่าเหมาะแก่การใช้ในห้องทดลองหรือทำวิจัยมากกว่า
การทำให้อิเล็กตรอนในชั้นวงโคจรในของอะตอมหลุดออกอาจทำได้โดยการยิงอนุภาคเข้าใส่เป้าหมาย (ที่นิยมคือใช้อิเล็กตรอนยิง) หรือใช้การฉายรังสีเอ็กซ์พลังงานสูงใส่เป้าหมาย ซึ่งเมื่ออิเล็กตรอนในชั้นวงโครจรในหลุดออก อิเล็กตรอนที่อยู่ในชั้นวงโคจรที่อยู่ด้านนอกก็จะเคลื่อนตัวลงมาแทนที่ ในการนี้อิเล็กตรอนตัวที่เคลื่อนตัวลงมาแทนที่จะคายพลังงานออกในช่วงรังสีเอ็กซ์
เรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดรังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนพลังงานของอิเล็กตรอนชั้นวงโคจรในนั้นเคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๘ วันพุธที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ เรื่อง "รังสีเอ็กซ์" แนะนำให้ไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นั่น
รังสีเอ็กซ์ที่ใช้จากกระบวนการหลังนี้ถูกนำไปใช้ในเทคนิควิเคราะห์ต่าง ๆ เช่น X-ray diffraction (XRD) ซึ่งใช้รังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากอะตอมโลหะทองแดง X-ray photoelectron spectroscopy (XPS) ซึ่งใช้รังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากอะตอมโลหะแมกนีเซียมหรืออะลูมิเนียม
นอกจากนี้ยังมีการนำเอารังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากกระบวนการหลังนี้ไปใช้ในการระบุชนิดธาตุ เพราะรังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนพลังงานของอิเล็กตรอนชั้นวงโคจรในนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละธาตุ เช่นในกรณีของเครื่อง X-ray fluorescence (XRF) และ SEM-EDX
gamma-ray
รังสีแกมมาเป็นรังสีที่พลังงานสูงที่สุด หน่วยที่ใช้เรียกจะใช้เป็นหน่วยพลังงานคืออิเล็กตรอนโวลต์ (eV) แทนการใช้ความยาวคลื่นหรือความถี่
สัปดาห์นี้ในวันอังคาร (วันนี้) และวันพุธ (วันพรุ่งนี้) ก็จะเป็นการสอนในส่วนของภาคปฏิบัติเป็นครั้งสุดท้าย นับจากปีแรกที่เข้ามาทำงานก็ได้สอนวิชานี้เป็นวิชาแรก โดยการชักชวนของอาจารย์ท่านเดิมที่สอนอยู่ในขณะนั้น และเข้าใจว่าเป็นผู้ที่สอนวิชานี้มาตั้งแต่การตั้งภาควิชา (อ.สุวัฒนา ซึ่งท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว และเป็นผู้สอนวิชานี้ให้ผมด้วย) ใกล้จะเกษียณอายุราชการ นับจนถึงปีปัจจุบันก็เป็นปีที่ ๑๘ จากเดิมตอนนั้นสอนกันอยู่ ๒ คน คนละครึ่งวิชา ตอนนี้กลายเป็นมีผู้สอน ๔ คน
แต่ก็อย่างว่า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลักสูตรย่อมมีการเปลี่ยนแปลง