วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การระเบิดของถังผลิตกรดเปอร์อะซีติก (Peracetic acid) MO Memoir : Tuesday 7 December 2564

เรื่องนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Explosion followed by a fire in a cleaning products manufacturing plant" (https://www.aria.developpement-durable.gouv.fr/accident/30323_en/?lang=en ที่เป็นเว็บของประเทศฝรั่งเศส แต่มีเวอร์ชันเป็นภาษาอังกฤษให้อ่าน) เป็นการระเบิดที่เกิดขึ้นที่ถังผลิตกรดเปอร์อะซีติก (peracetic acid) ที่อยู่ระหว่างการรอการถ่ายลงบรรจุใน

รูปที่ ๑ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด

กรดเปอร์อะซีติกผลิตได้ด้วยการผสม กรดอะซีติก, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, น้ำ และสารอื่นที่อาจมีเพิ่มเติม (เช่นกรดที่ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และสารพวก chelating agent) การผสมสามารถกระทำได้ที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิห้อง แต่ในระหว่างการผสมอาจมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากทั้ง กรดอะซีติก (ที่ใช้กันคือ glacial acetic acid ที่มีความเข้มข้นประมาณ 100%) และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง (ที่ใช้กันจะอยู่ในระดับประมาณ 50% (w/v) ขึ้นไป เมื่อถูกเจือจางด้วยน้ำจะคายความร้อนออกมา ส่วนน้ำนั้นส่วนหนึ่งจะเป็นน้ำที่มากับสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นน้ำที่มีการเติมเข้าไปในกรณีที่ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง

จริงอยู่ที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้นและเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น แต่เนื่องจากทั้งไฮโดนเจนเปอร์ออกไซด์และกรดเปอร์อะซีติกเป็นสารที่ไม่เสถียร สามารถสลายตัวไปเป็นสารอื่นได้ที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในถังผสมสูงเกินไปก็อาจ ติดตั้งระบบระบายความร้อนออกจากของเหลวในถังผสม หรือทำให้สารตั้งต้นมีอุณหภูมิต่ำลงก่อนทำการผสม ซึ่งในกรณีของโรงงานที่เกิดเหตุนี้เขาใช้วิธีหลัง

เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนเช้ามืด (ตีสี่สิบนาที) ถังผสมมีขนาด 9 m3 โดยขณะที่เกิดเหตุนั้นมีของเหลวอยู่ในถังผสมประมาณ 1.5 m3 สารตั้งต้นที่ใช้ในการผสมประกอบด้วย กรดอะซีติก 50%, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 28%, น้ำ 17% และส่วนผสมอื่นอีก 5% การผสมทำในช่วงกะกลางวันและทิ้งไว้ข้ามคืนก่อนที่จะทำการถ่ายลงภาชนะบรรจุในวันรุ่งขึ้น แต่ก็เกิดการระเบิดขึ้นเสียก่อน

ปฏิกิริยาระหว่างกรดอะซีติกและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อกลายเป็นกรดเปอร์อะซีติกนั้นไม่ได้เกิดรวดเร็ว ถ้าไม่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาก็จะกินเวลานานหลายวัน แต่ถึงแม้จะมีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา (พวกกรดแก่เช่นกรดกำมะถัน) ก็ยังกินเวลานานหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน (ขึ้นกับปริมาณกรด) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งสารผสมทิ้งไว้ให้เข้าสู่สมดุลก่อนทำการบรรจุ

รูปที่ ๒ คำบรรยายสิ่งที่ "คาดว่า" เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

บทความนี้ไม่ได้รายงานผลการสอบสวนว่าเกิดจากอะไร บอกเพียงแต่ว่าจากการ "ประเมิน" ของโอเปอร์เรเตอร์คาดว่าอาจมีสิ่งปนเปื้อนบางอย่าง (โลหะ ?) หลุดปนเข้าไปในสารผสมในระหว่างการเก็บตัวอย่าง (รูปที่ ๒) ทำให้เกิดการสลายตัวของกรดเปอร์อะซีติก และเนื่องจากว่าพลังงานที่ปลดปล่อยออกมานั้นไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงทำให้ความดันในถังผสมเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่ถังไม่มีระบบที่สามารถระบายความดันที่เพิ่มขึ้นสูงกระทันหันได้ จึงทำให้ถังระเบิด

ข้อความในรูปที่ ๒ มีบางประเด็นที่ต้องขอขยายความเพิ่มเติมและน่าพิจารณา อย่างแรกคือสารที่ไม่เสถียรและสลายตัวกลายเป็นแก๊สได้ถังผสมนั้นมีอยู่ด้วยกันสองตัวคือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดเปอร์อะซีติก การสลายตัวของกรดอะซีติกกลายเป็นแก๊ส (ที่มีโมเลกุลเล็กลง) นั้นเกิดได้ที่อุณหภูมิสูง ในขณะที่การสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ให้แก๊สออกซิเจนออกมานั้นเกิดได้ที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า และจะเกิดได้เร็วขึ้นถ้ามีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย (เช่นโลหะและ/หรือไอออนบวกของโลหะบางชนิด)

จากประสบการณ์ (ที่พอมีอยู่บ้าง) การสังเคราะห์กรดเปอร์อะซีติกด้วยการผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดอะซีติกเข้าด้วยกันนั้น จากสัดส่วนการผสมคิดว่าปริมาณกรดเปอร์อะซีติกที่ได้นั้นไม่น่าจะมากไปกว่าปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่หลงเหลือจากการทำปฏิกิริยา (สารผสมสุดท้ายเป็นของผสมที่อยู่ในภาวะสมดุลระหว่าง กรดอะซีติก, ไฮโดนเจนเปอร์ออกไซด์, กรดเปอร์อะซีติก และน้ำ) ดังนั้นตัวที่ทำให้ความดันในถังผสมเพื่อสูงขึ้นจนระเบิดนั้นน่าจะเป็นแก๊สออกซิเจนที่เกิดจากการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

จริงอยู่ที่ทั้งสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ทุกตัวนั้นมีจุดเดือดสูง สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศได้ ดังนั้นถ้าถังเก็บมีช่องเปิดหรือปิดไม่สนิทก็จะสามารถช่วยระบายแก๊สที่เกิดจากการสลายตัวได้ แต่เนื่องจากกรดอะซีติกเป็นสารที่มีกลิ่นแรง (น้ำส้มสายชูที่เราบริโภคกันเข้มข้นเพียง 5% เท่านั้น) ถ้าไม่ต้องการให้มีกลิ่นรั่วไหลออกมา ถังผสมจึงจำเป็นต้องเป็นระบบที่ปิดสนิทหรือมีช่องเปิดให้น้อยที่สุด

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ สิ่งปนเปื้อนที่ทำให้เกิดการสลายตัวของสารในถังนั้นหลุดรอดเข้าไปในถังได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้โอเปอร์เรเตอร์ให้ความเห็นว่าน่าจะเกิดจากการ "เก็บตัวอย่าง" ดังนั้นการออกแบบระบบการเก็บตัวอย่างจึงควรที่ต้องมีการพิจารณาว่าจะเก็บตัวอย่างด้วยวิธีไหน จะเก็บรักษาอุปกรณ์ที่ใช้เก็บตัวอย่างอย่างไร (เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อน) และจะตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนใช้เก็บตัวอย่างอย่างไร (ว่าไม่มีการปนเปื้อน) ก่อนใช้เก็บตัวอย่าง การเก็บตัวอย่างจำเป็นไปที่ต้องเก็บจากของเหลวที่อยู่บริเวณกลางถังหรือตามส่วนต่าง ๆ ของถังที่ต้องทำด้วยการหย่อนภาชนะเก็บตัวอย่างลงไปในสารผสม (ที่อาจเป็นตัวพาสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในถังผสมได้ และสงสัยว่าโรงงานนี้คงจะเก็บตัวอย่างแบบนี้) หรือเก็บจากระบบท่อที่ระบายสารผสมออกสู่ภาชนะรองรับ (ที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาของผสมในถังเกิดการปนเปื้อนจากภาชนะเก็บตัวอย่าง)

แม้ว่าบทเรียนนี้จะไม่ทำให้เราทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นคืออะไร แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าควรต้องระวังอะไรเอาไว้บ้าง

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การหาจุดสมมูลของการไทเทรตจากกราฟการไทเทรต MO Memoir : Wednesday 1 December 2564

หลายครั้งที่เราต้องทำงานกับข้อมูลที่ไม่ต่อเนื่อง คือมาในรูปของจุดข้อมูล (x,y) แต่เวลาใช้งานเราต้องการทราบค่า y ณ ตำแหน่ง x ใด ๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่ง x ของจุดข้อมูลที่มี การแก้ปัญหาตรงนี้ทำได้ด้วยการสร้างฟังก์ชันประมาณค่าในช่วง (Interpolation function) ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี

และบ่อยครั้งเหมือนกันที่เราได้ข้อมูลมาในรูปของจุดข้อมูล (x,y) แต่เวลาใช้งานเราต้องการทราบค่าอนุพันธ์ ณ ตำแหน่ง x ต่าง ๆ ของข้อมูลนั้น ตัวอย่างหนึ่งของงานประเภทนี้ได้แก่การหาจุดสมมูลของการไทเทรต (equivalent point)จากกราฟการไทเทรต (titration curve)

สมมุติว่าเราทำการไทเทรตัวอย่างที่เป็นกรดด้วยสารละลายเบสแล้ววัดค่า pH ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณเบสที่หยดลงไป ในช่วงที่อยู่ห่างจุดสมมูลนั้นค่า pH จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลง (ค่า pH ที่เปลี่ยนต่อปริมาตรเบสที่หยด) ที่ต่ำ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้จุดสมมูล และมีค่าสูงสุดที่จุดสมมูล และเมื่อพ้นจุดสมมูลไปแล้วค่าอัตราการเปลี่ยนแปลงก็จะลดต่ำลง (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ กราฟการไทเทรตตัวอย่างที่เป็นกรดอ่อน (ที่แตกตัวให้โปรตอนได้ตัวเดียว) ด้วยเบสแก่ (NaOH 0.5 mol/l) เส้นสีน้ำเงินคือค่า pH ที่วัดได้ที่เมื่อเติมลงไป เส้นสีส้มและเส้นสีเขียวคือค่าความชันของเส้นสีน้ำเงิน

การระบุตำแหน่งที่ค่า pH มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงสุดจากกราฟค่า pH กับปริมาตรเบสที่หยดจะทำได้ยาก วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การระบุตำแหน่งดังกล่าวทำได้ง่ายขึ้นก็คือการคำนวณค่าอัตราการเปลี่ยนแปลง pH แล้วนำมาเขียนกราฟใหม่เป็นกราฟระหว่างค่า d(pH)/d(ml) กับปริมาตรเบสที่หยด ตำแหน่งที่เป็นจุดสูงสุดของพีคที่ได้คือตำแหน่งของจุดสมมูล (ถ้าเป็นการไทเทรตเบสด้วยสารละลายกรด พีคที่ได้มันจะกลับด้านนะ)

วิธีการคำนวณวิธีแรกที่จะแนะนำคือเทคนิค finite difference ในวิธีการนี้ ถ้าเรามีจุดข้อมูล 2 จุดคือ (x1, y1) และ (x2, y2) ความชันของเส้นตรงที่เชื่อมต่อสองจุดนี้คือ (y2 - y1)/(x2 - x1) ซึ่งความชันของเส้นตรงเส้นนี้จะเป็นค่าประมาณของความชันของจุดกึ่งกลางระหว่าง x1 และ x2 (คือจุด (x1 + x2)/2)

วิธีการคำนวณวิธีการที่สองคือการใช้ฟังก์ชันพหุนาม (polynomial) สร้าง interpolation function ขึ้นมาก่อน เราก็จะได้ฟังก์ชันต่อเนื่องสำหรับคำนวณค่า y ที่จุด x ใด ๆ จากนั้นจึงทำการ differentiate หรือหาค่าอนุพันธ์ของฟังก์ชันที่สร้างขึ้น เช่นถ้าเราใช้จุดข้อมูล 3 จุด เราก็สามารถสร้างสมการกำลังสองได้ และวิธีการหนึ่งที่สร้างสมการกำลัง 2 ได้ง่ายจากจุดข้อมูล 3 จุด (a, f(a)), (b, f(b)) และ (c, f(c)) คือการใช้ฟังก์ชันพหุนามลากรองจ์ (Lagrange polynomial) ซึ่งในกรณีของจุดข้อมูล 3 จุดนั้นฟังก์ชันนี้จะมีหน้าตาดังแสดงในสมการที่ (1) ข้างล่าง

ถ้าเราทำการ differentiage สมการที่ (1) 1 และ 2 ครั้ง เราก็จะได้สมการสำหรับคำนวณค่าอนุพันธ์อันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนี้


รูปที่ ๒ กราฟการไทเทรตตัวอย่างที่ประกอบด้วยกรดอ่อน (ที่แตกตัวให้โปรตอนได้ตัวเดียว) สองชนิดที่มีความแรงต่างกัน ด้วยเบสแก่ (NaOH 0.5 mol/l) เส้นสีน้ำเงินคือค่า pH ที่วัดได้ที่เมื่อเติมลงไป เส้นสีส้มและเส้นสีเขียวคือค่าความชันของเส้นสีน้ำเงิน พีคค่าอนุพันธ์อันดับ 1 ทางด้านซ้ายที่เห็นแตกเป็นสองพีคนั้นเกิดจากการที่จุดข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ราบเรียบ (ไทเทรตด้วยเครื่องอัตโนมัติ)

รูปที่ ๑ และ ๒ ที่นำมาเป็นตัวอย่างนั้นได้มาจากการไทเทรตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (รูปที่ ๓) ที่เครื่องจะทำการปรับปริมาตรเบสที่เติมตามอัตราการเปลี่ยนแปลงค่า pH ทำให้จุดข้อมูลที่ได้มานั้นอยู่ห่างกันเป็นระยะที่ไม่คงที่ คือช่วงที่ค่า pH เปลี่ยนช้าจุดก็จะอยู่ห่างกัน แต่ถ้าเป็นช่วงที่ค่า pH เปลี่ยนเร็วจุดก็จะอยู่ใกล้กัน

การใช้ค่าอนุพันธ์ในการหาตำแหน่งจุดสมมูลจะช่วยให้การแปลผลการไทเทรตที่การเปลี่ยนแปลงค่า pH นั้นไม่เด่นชัด (ดังเช่นพีคแรกในรูปที่ ๒) หรือในกรณีที่จุดสมมูลของกรดแต่ละตัวนั้นอยู่ใกล้กัน

รูปที่ ๓ เครื่องไทเทรตอัตโนมัติ (auto titrator) ที่ใช้ในการไทเทรต

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เมื่อท่อเหล็กชุบสังกะสีทำให้ถังบรรจุดกรดเปอร์อะซีติกระเบิด MO Memoir : Saturday 27 November 2564

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจาก บทความเรื่อง "Transition Metals vs. Concentrated Peracetic Acid. A Case Study on Safety." (https://envirotech.com/wp-content/uploads/2015/12/Mishandled-PAA.pdf) และเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็ได้รับการกล่าวไว้ใน "VERSATILE AND VEXING. The Many Uses and Hazards of Peracetic Acid" (https://synergist.aiha.org/201612-peracetic-acid-uses-and-hazards)

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide H2O2) เป็นสารออกซิไดซ์ที่นำมาใช้ในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการให้มีสารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือการปนเปื้อนกับสิ่งที่มาสัมผัสกับพื้นผิวภายหลัง แต่สำหรับเชื้อบางชนิดนั้น ความสามารถในการฆ่าเชื้อของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กลับไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และตัวที่นำมานิยมใช้กับก็คือกรดเปอร์อะซีติก (Peracetic acid H3CC(O)OOH)

กรดเปอร์อะซิติกเตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดอะซีติก (Acetic acid H3CC(O)OH) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้คือกรดเปอร์อะซีติกและน้ำ เนื่องจากกรดอะซีติกเป็นสารอินทรีย์ที่เราใช้บริโภคกันในชีวิตประจำวัน (กรดที่อยู่ในน้ำส้มสายชู) การตกค้าง (ถ้ามี) ของกรดอะซีติกบนพื้นผิวที่มีการสัมผัสกับอาหารหรือวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเองจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

แต่กรดเปอร์อะซีติกเป็นกรดที่ไม่เสถียร ที่จำหน่ายกันจึงอยู่ในรูปของสารละลายที่ภาวะสมดุลระหว่าง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, กรดอะซีติก, กรดเปอร์อะซีติก และน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำให้กรดเปอร์อะซีติกสลายตัว สารละลายที่จำหน่ายกันจึงมีความเข้มข้นของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และกรดอะซีติกที่สูง (รวมกันแล้วอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนผสมทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นกรดเปอร์อะซีติกที่ต้องการ)

รูปที่ ๑ เหตุการณ์ที่เกิด

เหตุการณ์ที่เกิดบรรยายไว้ในรูปที่ ๑ ข้างบน เริ่มจากมีการนำเอา dip tube ที่เป็น galvanized steel (ที่บ้านเราเรียกเหล็กชุบสังกะสี) มาติดตั้งเข้ากับถังบรรจุกรดเปอร์อะซีติก แล้วก็วางถังในแนวนอนเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานหลังวันหยุดสุดสัปดาห์

ความหมายของ dip tube คือท่อที่จุ่มลงไปในของเหลว ที่อาจใช้เพื่อการเติมสารอื่นลงไปใต้ผิวของเหลวหรือทำการสูบเอาของเหลวขึ้นมา ส่วนหน่วยแกลลอน (gallon) มีด้วยกันสองหน่วย หน่วยแรกคือ Imperial gallon ที่ 1 แกลลอนเท่ากับ 4.546 ลิตร หน่วยที่สองคือ US gallon ที่ 1 แกลลอนเท่ากับ 3.7854 ลิตร ดังนั้นเวลาเห็นหน่วย gallon ที่ไม่มีการะบุว่าเป็นแบบไหน ก็ต้องดูด้วยว่าเอกสารนั้นใครจัดทำหรือผู้เขียนเป็นใคร ในที่นี้ถังขนาด 55 gallon ที่ถ้าเทียบเป็นลิตรโดยคิดว่าเป็น US gallon แล้วก็จะเท่ากับ 208 ลิตรก็คือถังขนาดถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แต่ในเหตุการณ์นี้ควรจะเป็นถังพลาสติก (และควรเป็น HDPE ด้วย) โดยรูบนฝาถังเรียกว่า bung hole และฝาปิดรูเรียกว่า bung

ในช่วงระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ ถังเกิดการระเบิด ทำให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ภายในรั่วไหลออกมา สาเหตุที่ทำให้ถังเกิดการระเบิดเกิดจากกรดที่อยู่ในถัง (ทั้งกรดอะซีติกและกรดเปอร์อะซีติก) กัดกร่อนเนื้อเหล็ก เกิดเป็นไอออน Fe2+ ละลายในสารละลาย และไอออนเหล็กตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวเกิดแก๊สออกซิเจน และเมื่อแก๊สออกซิเจนสะสมในถังมากขึ้น ความดันในถังก็สูงขึ้นจนถังทนไม่ได้ ถังก็ระเบิด

รูปที่ ๒ คำอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิด

โลหะบางชนิดสามารถทำให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัว (ผลิตภัณฑ์ที่เกิดคือน้ำและแก๊สออกซิเจน) โดยที่เนื้อโลหะไม่ถูกกัดกร่อน (คือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดบนพื้นผิวโลหะ ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ ๓ และ ๔) แต่ไอออนบวกของโลหะทรานซิชันก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ไปเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้ดีเช่นกัน และเร่งได้ดีด้วย

รูปที่ ๓ การสลายตัวของสารละลาย H2O2 เจือจาง เมื่อสัมผัสกับสแตนเลสสตีล (SS304) จะเห็นฟองแก๊สออกซิเจนเกาะบนผิวข้อต่อสแตนเลส

รูปที่ ๔ การสลายตัวของสารละลาย H2O2 เจือจาง เมื่อสัมผัสกับโลหะทองแดง จะเห็นฟองแก๊สออกซิเจนเกาะบนผิวท่อทองแดงและหลุดลอยออกมา

ปฏิกิริยาการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์คายความร้อนออกมา และความร้อนที่คายออกมาก็จะเร่งให้อัตราการสลายตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เห็นว่าเกิดช้าในช่วงแรกอาจกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมากจนไม่สามารถควบคุมได้ก็ได้ การออกแบบถังเก็บไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (โดยเฉพาะที่มีความเข้มข้นสูง) จึงต้องคำนึงถึงการมีระบบระบายแก๊สออกซิเจนที่เกิดขึ้นออกไป และถ้าเป็นการออกแบบการทำงานและ/หรือกระบวนการผลิต ยังต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อนที่สามารถเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลุดรอดหรือเกิดขึ้นในระบบได้

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๒๐) MO Memoir : Saturday 20 November 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับการทดลองในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา

 


 

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เพลิงไหม้จากเฮกเซนที่รั่วจากหน้าแปลนที่น็อตคลายตัวจากการสั่น MO Memoir : Sunday 7 November 2564

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Fire caused due to a flange loosened from vibrations at a synthetic rubber plant" (http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1200084.html) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ Ethylene-Propylene (ยาง EP) เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๑๕.๓๕ น แผนผังกระบวนการผลิตของหน่วยที่เกิดเหตุแสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง

รูปที่ ๑ แผนผังส่วนที่เกิดเหตุ ปั๊มตัวที่เกิดเหตุคือ P-103B ที่ทำหน้าที่สูบเฮกเซนจาก R-102 ไปยัง washing section และอีกตัวที่เกี่ยวข้องคือ P-103G

บทความบรรยายเหตุการณ์เอาไว้ว่า ปั๊ม P-103G (ที่ท่อด้านขาออกนั้นมีการใช้งานร่วมกับปั๊ม P-103B) เกิด cavitation (ด้วยสาเหตุที่ไม่ทราบแน่ชัด) ประกอบกับด้านขาออกของปั๊ม P-103B ที่มีขนาด 3 นิ้วนั้น ถูกต่อตรงเข้ากับ reducer ขนาด 6 นิ้ว (คือไม่มีท่อสั้น ๆ ที่เรียกว่า spool piece เป็นตัวเชื่อมต่อ) ประกอบกับการที่ท่อมีขนาดแตกต่างกันมากจึงทำให้น็อตยึดหน้าแปลนนั้นคลายตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เฮกเซนรั่วออกมาก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้

ย่อหน้าข้างบนคือสรุปเนื้อหาในบทความต้นฉบับที่เขียนไว้สั้น ๆ ประมาณสิบบรรทัดเศษ ต่อไปจะเป็นการขยายภาพเหตุการณ์โดยอาศัยความรู้ที่พอมีอยู่บ้าง เพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมองภาพเหตุการณ์ที่เกิดได้ชัดเจนขึ้น

เอทิลีน (Ethylene H2C=CH2) และโพรพิลีน (Propylene H3CCH=CH2) เกิดเป็นพอลิเมอร์ได้ไม่ง่าย เว้นแต่มีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย เนื่องจากการต่อโมเลกุลเข้าด้วยกันนั้นมีการคายความร้อนออกมา ดังนั้นการพอลิเมอร์ไรซ์จึงต้องหาทางระบายความร้อนนี้ออกด้วย และเทคนิคหนึ่งที่ใช้คือการใช้ตัวทำละลาย

ตัวทำละลายทำหน้าที่เป็นทั้งตัวกลางสำหรับละลายสารตั้งต้น (เอทิลีนและโพรพิลีนที่เป็นแก๊ส) และตัวเร่งปฏิกิริยา และเป็น heat sink สำหรับรับความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมา ในกระบวนการนี้ตัวทำละลายที่ใช้คือเฮกเซน (Hexane C6H14) ซึ่งเป็นโมเลกุลไม่มีขั้วเช่นเดียวกับสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ จากสารตั้งต้นที่เป็นแก๊ส เมื่อมีการต่อเป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้น (เป็น oligomer ก่อน จากนั้นจึงค่อยกลายเป็น polymer) ความสามารถในการละลายในตัวทำละลายจะลดลง แต่ถ้าอุณหภูมิสูงพอ มันก็ยังละลายอยู่ในตัวทำละลายนั้นได้ แต่ถ้าตำแหน่งไหนของระบบ (ตัว vessel หรือระบบท่อ) มีอุณหภูมิต่ำเกินไป โมเลกุลขนาดใหญ่ที่ละลายอยู่ในตัวทำละลายก็จะแข็งตัวเกาะอยู่บนพื้นผิวนั้น ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการถ่ายเทความร้อนและ/หรือการไหลได้

กระบวนการในรูปที่ ๑ นั้นจะเห็นว่ามีปั๊ม P-103 อยู่ 2 ตัวคือ P-103A P-103B พึงสังเกตว่าปั๊มแต่ละตัวมีท่อต่อแยกอิสระเข้าไปยัง R-102 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่อบริเวณระหว่าง R-102 และปั๊ม P-103 นั้นมีโอกาสเกิดการอุดตัน จึงต้องมีการเดินท่อสำรองแยกออกจากกัน เมื่อเกิดปัญหาเกิดการอุดตันที่ท่อหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนไปใช้อีกท่อหนึ่งแทน

จากแผนผัง ตัว R-102 น่าจะทำหน้าที่เป็น liquid-gas separator คือการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์นั้นจะเกิดภายใต้ความดันระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มการละลายของเอทิลีนและโพรพิลีนในเฮกเซน เฮกเซนที่ออกมาจาก reactor จะมีสารตั้งต้นที่หลงเหลือจากการทำปฏิกิริยา, oligomer (ที่ควรละลายอยู่ในเฮกเซน), และ polymer ที่อาจละลายอยู่ (ถ้าเป็น solution phase) หรือแขวนลอยอยู่ (ถ้าเป็น slurry phase) ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการพอลิเมอร์ไรซ์เป็นแบบไหน การแยกเอาสารตั้งต้นที่ละลายอยู่นั้นทำได้ด้วยการลดความดัน เช่นการถ่ายเฮกเซนจาก reactor ที่ความดันสูงมายัง R-102 ที่ความดันที่ต่ำกว่า เอทิลีนและโพรพิลีนก็จะระเหยออกมาจากตัวทำละลาย

ปั๊มที่แสดงในรูปนั้นควรจะเป็นปั๊มหอยโข่ง (centrifugal pump) และเพื่อทำให้ปั๊มทำงานได้เรียบร้อยจึงมีการติดตั้งระบบ flushing คือการใช้ตัวทำละลายที่สะอาดอัดเข้าไปบริเวณ mechanical seal (ตัวนี้เป็น moving part ที่ทำหน้าที่ป้องกันการรั่วไหลจากภายในตัวปั๊มออกมาข้างนอก) เฮกเซนที่สะอาดนี้จะป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม (เช่นผงอนุภาคพอลิเมอร์ที่แขวนลอยอยู่) เข้ามาสะสมบริเวณตัว mechanical seal

ปั๊มหอยโข่งเวลาทำงานตามปรกติตัวระบบท่อก็ไม่ค่อยมีการสั่นอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีที่การไหลไม่ราบเรียบเช่นมีปัญหาด้านขาเข้าทำให้เกิด cavitation ก็อาจทำให้ท่อเกิดการสั่นมากผิดปรกติได้ ซึ่งในบทความนี้กล่าวไว้เพียงว่าไม่ชัดเจนว่าปั๊ม P-103G เกิด cavitation ได้อย่างไร โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าท่อเข้าปั๊ม P-103A ที่เป็นตัวหลักนั้นเกิดปัญหาอุดตัน จึงมีการเปลี่ยนไปใช้ปั๊ม P-103B แทน ท่อเข้าปั๊ม P-103G นั้นเป็นท่อเดียวกับท่อเข้าปั๊ม P-103A นั้น ดังนั้นเมื่อท่อนี้อุดตันจึงสามารถก่อปัญหาให้กับปั๊มสองตัวนี้พร้อมกันได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด caviation

เป็นเรื่องปรกติที่การสั่นนั้นสามารถทำให้น็อต (ไม่ว่าจะยึดอะไร) สามารถคลายตัวได้ บทความต้นฉบับยังตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไม cavitation ที่รุนแรงจนทำให้เกิดการสั่นที่ทำให้น็อตยึดหน้าแปลนคลายตัวได้นั้นจึงไม่ได้รับความใส่ใจ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าคำถามหนึ่งที่น่าจะถามก็คือ นับตั้งแต่เริ่มเกิด cavitation จนกระทั่งเกิดการรั่วไหลนั้นกินเวลานานเท่าใด โอเปอร์เรเตอร์คงไม่ปล่อยให้ปั๊มทำงานทั้ง ๆ ที่เกิด cavitation ข้ามกะแน่ เพราะการทำงานปรกติต้องมีการเตินตรวจอยู่แล้ว และเสียงผิดปรกติก็เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจได้ดี เป็นไปได้หรือเปล่าที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาที่สั้น (กล่าวคือเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงหรือช่วงระยะเวลาระหว่างการเดินตรวจแต่ละครั้ง) จึงทำให้มันหลุดรอดการตรวจพบไปได้

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๘) MO Memoir : Monday 1 November 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับวิธีมาตรฐานสำหรับการหาความเข้มข้นที่แน่นอนของสารละลาย KMnO4 และการทดลองการไทเทรตหาความเข้มข้นสารละลาย H2O2




วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๗) MO Memoir : Friday 29 October 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายในไม่นำเนื้อหาลง blog  
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการทดลองหาความเช้มข้นของ H2O2
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

 



วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๖) MO Memoir : Sunday 24 October 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

ภาพประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับเนื้อหา :) :) :)

 



วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564

การระเบิดเนื่องจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) สลายตัว (เรื่องที่ ๒) MO Memoir : Saturday 23 October 2564

เหตุการณ์ที่สองงที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจาก http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1000137.html ในหัวข้อเรื่อง "Explosion of hydrogen peroxide due to the change of a feeding line to a vessel at a surfactant manufacturing plant" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดที่เมือง Sodegaura, Chiba ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ในเหตุการณ์นี้มีสารเคมีที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ตัวด้วยกันคือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, dodecylbenzenesulphonic acid (C12H25-C6H4-S(O)2OH) (รูปที่ ๑) และ alkyl amine (ในรายงานไม่ได้มีการระบุว่าเป็นตัวไหน)

รูปที่ ๑ โครงสร้างโมเลกุลของ dodecylbenzenesulphonic acid


Dodecylbenzenesulphonic acid เป็นสารชะล้าง (surfactant) ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน โครงสร้างโมเลกุลของสารนี้ประกอบด้วยส่วนที่ไม่มีขั้วซึ่งได้แก่หมู่อัลคิล (alkyl) ที่ทำหน้าที่ละลายไขมันหรือโมเลกุลไม่มีขั้ว และส่วนที่มีขั้วซึ่งได้แก่ -SS(O)2O-H+) ข้อดีของกรดตัวนี้คือมันไม่ตกตะกอนเมื่อพบกับไอออนที่มีประจุตั้งแต่ 2+ ขึ้นไป (เช่น Ca2+ และ Mg2+) ดังเช่นสบู่ที่ทำจากกรดไขมันพืชหรือสัตว์ จึงทำให้ใช้งานได้กับน้ำที่มีความกระด้าง ในการนำมาใช้งานนั้นจะทำการสะเทินกรดตัวนี้ด้วยเบสก่อน และเบสที่นิยมใช้กันก็คือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide NaOH)

แต่สำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภท (เช่นที่มาในรูปของ unit dose) การสะเทินด้วย NaOH ทำได้ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม (เช่น ความหนืดที่มากเกินไป และการทำปฏิกิริยากับวัสดุห่อหุ้ม) จึงได้มีการใช้เบสตัวอื่น และเบสกลุ่มหนึ่งที่มีการนำมาใช้กันก็คือสารประกอบอัลคิเอมีน (Alkyl amine) ที่อะตอม N นั้นทำหน้าที่เป็นเบส โดยในบางกรณีนั้นก็อาจเปลี่ยนจากหมู่อัลคิลเป็นหมู่อัลคานอล (alkanol) หรือหมู่อัลคิลที่มีหมู่ -OH นั่นเอง โดยหมู่ -OH นั้นจะช่วยให้ละลายน้ำได้ดีขึ้น (ตัวอย่างการใช้งานนี้อ่านเพิ่มเติมได้ใน เอกสารสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 3,539,552 เรื่อง "Emulsifier compositions based on mixtures of amine salts of linear alkyl ary sulfonic acids" และเอกสารสิทธิบัตรสหภาพยุโรปเลขที่ WO 2016/175931 เรื่อง "Amine salts of alkylbenzene sulfonic acids and their use in detergent formulations")

ในกระบวนการของโรงงานที่เกิดเหตุนั้น (รูปที่ ๒) จะทำการป้อน Dodecylbenzenesulphonic acid เข้าสู่ถังผสม VE-301 โดยใช้ปั๊ม PU-301 จากนั้นจะทำการป้อน alkyl amine เข้าสู่ถังผสมด้วยปั๊ม (บทความไม่ได้ระบุว่าเป็นปั๊มตัวเดียวกันหรือเปล่าหรือเป็นคนละตัวกัน) จากนั้นจึงเติมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ "เข้าสู่ถังผสมโดยตรงจากทางด้านบน" กล่าวคือเส้นทางป้อนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นเป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ในวันที่เกิดเหตุนั้นหลังจากที่ทำการป้อนกรดและ alkyl amine เข้าถังผสมแล้ว พบว่าค่า pH ของสารในถังอยู่ที่ 8.8 ซึ่งแสดงว่ามีกรดอยู่น้อยเกินไป โอเปอร์เรเตอร์จึงได้ทำการป้อนกรดเข้าถังเพิ่มเติมร่วมกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (เข้มข้น 60%) โดยให้ไหลผ่านปั๊ม ไม่นานก็เกิดการระเบิดขึ้นที่บริเวณใกล้กับปั๊ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๑ รายและบาดเจ็บ ๑ ราย

รูปที่ ๒ แผนผังของกระบวนการผลิต

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะมีเสถียรภาพมากขึ้นในสภาวะที่เป็นกรด (มี H+) แต่จะมีเสถียรภาพลดลงในสภาวะที่เป็นเบส นอกจากนี้ไอออนบวกของโลหะหลายชนิด (เช่น Fe2+) ยังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และเนื่องจากการสลายตัวเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาก็สามารถเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้อีก นั่นคือหลังจากที่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เริ่มสลายตัวอันเป็นผลจากการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยา แต่หลังจากนั้นการสลายตัวก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยาเพราะสามารถอาศัยความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาจากการสลายตัวในช่วงแรกได้

ในที่นี้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ถูกนำมาผสมเพื่อใช้เป็นผงฟอกสี (bleaching agent) สำหรับกำจัดคราบสกปรก ข้อดีของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (และกรดเปอร์อะซีติก) คือใช้กับผ้าสีได้โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะกัดสีผ้า ส่วนผงฟอกสีพวกไฮโปคลอไรต์ (hypochlorite -ClO-) ใช้ได้ดีกับผ้าขาว แต่ไม่เหมาะกับผ้าสีเพราะมันสามารถกัดสีของผ้าสีได้

ในเหตุการณ์นี้มีประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในบทความคือ ทำไมโอเปอร์เรเตอร์จึงทำการป้อนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์โดยใช้ปั๊ม การทำเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ และทำไมจึงออกแบบให้ท่อจากถังบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นสามารถต่อเข้ากับท่อขาเข้าปั๊มสำหรับกรดได้

ในกรณีของกระบวนการผลิตที่มีการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ร่วมด้วยนั้น ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ควรพึงระลึกไว้ก็คือการเลือกชนิดโลหะที่สามารถทนสารเคมีตัวอื่นได้ การที่โลหะนั้นสามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ทำปฏิกิริยาเลย แต่หมายถึงอัตราการทำปฏิกิริยาที่ต่ำและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อย่างเช่นในกรณีนี้สารประกอบเหล็กออกไซด์หรือสนิมเหล็กที่เกิดขึ้นเมื่อหลุ่ดร่อนออกมาปนอยู่ในกรดที่ไหลอยู่ในท่อ มันไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไรกับกรดที่ไหลผ่านตัวมัน แต่ถ้ามันสามารถหลุดรอดไปถึงบริเวณที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ปรากฏ (เช่นที่ถังผสม) มันก็อาจก่อให้เกิดปัญหาที่นั่นได้

แต่ในเหตุการณ์นี้สนิมเหล็กไม่ได้หลุดรอดไปยังถังผสม แต่กลับมีการป้อนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ผ่านเส้นทางที่มันไม่ควรไหลผ่าน

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๕) MO Memoir : Thursday 21 October 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับวิธีมาตรฐานสำหรับการหาความเข้มข้นที่แน่นอนของสารละลาย KMnO4 

ภาพประกอบไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาบทความ :) :) :)


 

 

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๓ (ตอนที่ ๔) MO Memoir : Thursday 14 October 2564

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับแนวทางการทำการทดลองของแต่ละหัวข้อที่ประชุมกันเมื่อคืน

รูปประกอบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อหา :) :) :) 

 



วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Beilstein test กับเตาแก๊สที่บ้าน MO Memoir : Wednesday 13 October 2564

เตาแก๊สที่บ้านจะมีตัวจุดไฟที่ใช้ประกายไฟโดยใช้ไฟฟ้าที่ได้มาจากถ่ายไฟฉาย พอใช้งานไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มจุดไม่ค่อยติด นั่นก็เป็นเพราะความสกปรกที่เกาะมันกันไม่ให้เกิดประกายไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ก็แก้ไขด้วยการถอดชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด ขัดกระดาษทราย หรือไม่ก็เอาปลายไขขวงแข็ง ๆ ขูดเอาคราบสกปรกออก มันก็กลับมาทำงานได้ใหม่ แต่รอบนี้ท่าทางคราบจะยึดติดแน่นมาก ขัดกระดาษทรายก็แล้ว เอาปลายไขควงขูดก็แล้ว ก็ยังใช้งานไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องใช้น้ำยาล้างห้องน้ำเป็นตัวช่วย

น้ำยาล้างห้องน้ำมีหลายสูตร สูตรดั้งเดิมที่ราคาไม่แพงจะใช้กรดเกลือ (hydrochloric acid หรือ HCl) เข้มข้น 10% เป็นส่วนผสมหลัก สูตรนี้จะละลายพวกคราบหินปูนได้ดี แต่เวลาใช้ก็ต้องระวังมันกัดผิวหนัง ตัวที่เอาทำทำความสะอาดหัวเตาก็เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำสูตรนี้

ชิ้นส่วนหัวเตาชิ้นเล็กที่ถอดได้นั้นก็ถอดเอามาแช่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ (ในถ้วยพลาสติกเล็ก ๆ) ซึ่งมันก็ได้ผลดีคือมีเนื้อโลหะมันวาวปรากฏให้เห็น แต่ที่แปลกใจคือตอนแรกเข้าใจว่าหัวเตาเดิมนั้นเป็นเหล็ก แต่พอล้างคราบสกปรกออกก็เห็นว่ามันเป็นทองเหลือง ส่วนบริเวณตัวหัวจุดระเบิด (ตัวแท่งเซรามิกสีขาว ๆ ตรงกลางซ้ายในรูปที่ ๑) กับบริเวณส่วนฐาน (ของส่วนหัวที่ถอดออกมา) ตรงนี้ก็ใช้ก้านสำลีจุ่มน้ำยาล้างห้องน้ำแล้วเอาไปขัดถูก บริเวณนี้ต้องทำความสะอาดด้วยเพื่อให้ไฟฟ้าไหลได้ครบวงจร (คือประกายไฟมันจะกระโดดจากหัวจุดระเบิดไปยังหัวเตาโลหะกลมที่อยู่ตรงกลาง เนื่องจากตัวหัวเตาโลหะนี้ถอดออกมาทำความสะอาดได้ ก็ต้องทำความสะอาดตรงจุดสัมผัสของตัวเตากับตัวเตาด้วย) เสร็จแล้วก็ลองจุดเตาดู ก็พบว่ามันสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม แต่สีของเปลวไฟตรงส่วนหัวเตาที่ทำความสะอาด มันไม่ได้เป็นสีฟ้าเหมือนเดิม (รูปที่ ๒) มันกลายเป็นสีเขียว

รูปที่ ๑ หัวเตาแก๊สที่ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นสูตรกรดเกลือ (เฉพาะบริเวณตรงกลาง) คลอไรด์ทำปฏิกิริยากับโลหะทองแดงกลายเป็น CuCl2 ซึ่งเมื่อเผาไฟจะได้เปลวไฟสีเขียว

Beilstein test เป็นวิธีการทดสอบเชิงคุณภาพว่าตัวอย่างนั้นมีสารประกอบ organic halide ปนอยู่หรือไม่ (การทดสอบนี้ใช้ไม่ได้กับกรณีฟลูออไรด์) วิธีการทดสอบจะใช้ลวดทองแดงเส้นเล็ก ๆ มาขดเป็นบ่วงเล็ก ๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง จากนั้นก็จะเอาปลายข้างที่เป็นบ่วงนั้นไปเผาไฟเพื่อให้กลายเกิดสารประกอบ CuO จากนั้นจึงนำส่วนที่เป็นบ่วงนั้นไปตักหรือจุ่มลงในตัวอย่างเพื่อให้มีตัวอย่างติดมากับส่วนที่เป็นบ่วงนั้น แล้วนำมาเผาไฟใหม่ ถ้าได้เปลวไฟสีเขียวก็แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีสารประกอบเฮไลด์ อย่างเช่นในกรณีของคลอรีนนั้นมันจะทำปฏิกิริยากับ CuO กลายเป็น CuCl2 ซึ่งเมื่อเผาไฟก็จะเกิดเปลวไฟสีเขียว ในกรณีของหัวเตานี้ทองเหลืองก็มีโลหะทองแดงเป็นองค์ประกอบ ก็เลยได้ผลทำนองเดียวกัน

รูปที่ ๒ หัวเตาตัวนี้ก็ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำสูตรกรดเกลือเช่นกัน หัวเตาตรงกลางที่ทำความสะอาดด้วยน้ำล้างห้องน้ำสูตรกรดเกลือจะเห็นว่าให้เปลวไฟสีเขียว ส่วนหัวเตารอบนอกนั้นจะให้เปลวไฟสีฟ้าเป็นปรกติ

ในเรื่อง "ตรวจสอบน้ำยาแอร์รั่วด้วยตะเกียงแก๊ส" (Memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) ที่เป็นการทดสอบแบบเดียวกันนั้น น้ำยาแอร์สำหรับรถยนต์ที่ใช้กันตอนนี้ก็คือ R134a หรือ 1,1,1,2-Tetrafluoroethane ที่มีสูตรเคมีว่า F3CCH2F ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่มี Cl เป็นองค์ประกอบแต่การทดสอบก็ให้เปลวไฟสีเขียวได้ ตรงนี้อาจเป็นเพราะว่า R134a นั้นใช้ trichloroethylene (HCl=CCl2) เป็นสารตั้งต้นในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้งาน (ความเข้มข้นอย่างต่ำ 99.5%) ยังมีสารประกอบคลอรีนปนอยู่เล็กน้อย และตัวสารประกอบคลอรีนที่ปนเปื้อนอยู่ก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดเปลวไฟสีเขียว ซึ่งก็แสดงว่าวิธีการทดสอบเชิงคุณภาพวิธีการนี้ ก็มีความว่องไวในการตรวจสูงอยู่เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564

การระเบิดเนื่องจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) สลายตัว MO Memoir : Thursday 7 October 2564

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจาก http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1000131.html ในหัวข้อเรื่อง "Explosion caused due to an overflow of aqueous hydrogen peroxide at a peracetic acid manufacturing plant" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดที่เมือง Yamakita, Kanagawa ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hyrogen peroxide H2O2) เป็นสารเคมีที่ไม่เสถียร สลายตัวกลายเป็นน้ำและแก๊สออกซิเจน ในสภาวะที่มีกรด (H+) นั้นจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และที่ความเข้มข้นสูงจะมีเสถียรภาพมากกว่าที่ความเข้มข้นต่ำ ความเข้มข้นที่ใช้ในการล้างแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรคอยู่ที่ 3% (w/w) สารละลายความเข้มข้นสูงที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการ (ที่ใช้ในการเตรียมสารละลายความเข้มข้นต่ำ) ก็มักจะใช้ขนาดความเข้มข้น 30-35% (w/w) สูงถัดขึ้นไปก็จะเป็น 50% (w/w) แต่ถ้าเป็นห้องปฏิบัติการที่วิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงขับดันจรวดหรือตอปิโดก็อาจจะใช้ความเข้มข้นสูงถึง 90% (w/w)

ปฏิกิริยาการสลายตัวของ H2O2 นั้นเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน และความร้อนที่เกิดขึ้นก็จะไปเร่งให้การสลายตัวเกิดเร็วขึ้น นอกจากนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นยังมากพอที่จะทำให้น้ำที่เกิดจากการสลายตัวนั้นกลายเป็นไอได้ ทำให้เกิดแก๊สในปริมาณมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเอา H2O2 ความเข้มข้นสูงไปใช้ทั้งเป็นสารออกซิไดซ์ (คือเป็นตัวจ่ายออกซิเจน) ให้กับเชื้อเพลิงอื่น (เช่นในจรวดหรือขีปนาวุธ) หรือใช้ในการขับเคลื่อนโดยตรง (เช่นในตอปิโดบางชนิด) การสูญเสียเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ Kursk ของรัสเซียเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๓ พร้อมกับลูกเรืออีก ๑๑๘ นายก็เกิดจากการรั่วไหลของเชื้อเพลิง H2O2 ที่ใช้ขับเคลื่อนตอปิโดและทำให้เกิดการระเบิดตามมา

H2O2 ความเข้มข้นสูงจัดเป็นสาร hypergolic คือจุดระเบิดได้ทันทีเมื่อสัมผัสกับสารอื่นโดยไม่ต้องมีตัวช่วย (เช่นเปลวไฟ หรือประกายไฟ) คุณสมบัติเช่นนี้ช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการทำงาน (คือไม่ต้องกังวลว่าระบบจุดระเบิดจะไม่ทำงาน) แต่ก็อาจก่อปัญหาให้กับการใช้งานได้ถ้าหากสารที่ทำให้เกิดการจุดระเบิดหรือลุกติดไฟได้นั้น ไปปรากฏอยู่ในที่ที่ไม่ควรมี กรณีของเหตุการณ์ที่นำมาเล่าในวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น

รูปที่ ๑ แผนผังกระบวนการผลิตของหน่วยที่เกิดเหตุระเบิด

ไอออนบวกของโลหะทรานซิชันพื้นฐานหลายธาตุ (เช่น Fe, Co, Cu, Mn ที่เป็นส่วนผสมของโลหะใช้ทำ vessel, ระบบท่อ วาล์ว และอุปกรณ์ต่าง ๆ) สามารถเร่งการสลายตัวของ H2O2 ได้ เหล็กเป็นวัสดุวิศวกรรมที่มีการใช้งานแพร่หลายมากที่สุดในการทำท่อและ vessel ต่าง ๆ และไอออนบวกของเหล็กก็สามารถเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของ H2O2 ได้ดี ดังนั้นการออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องกับ H2O2 ความเข้มข้นสูงจึงเป็นต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีการเกิดไอออนบวกของเหล็ก (ตัวหลักก็คือ Fe2+) ไม่ว่าจะโดยการเกิดสนิมหรือการกัดกร่อนของสารเคมีตัวอื่นในระบบ และโอกาสที่ Fe2+ ที่เกิดขึ้นจะไปพบกับ H2O2 ความเข้มข้นสูง

ปั๊มเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้กันในการส่งของเหลวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่ปั๊มก็มีจุดอ่อนตรงที่เป็นจุดที่มีโอกาสเกิดการรั่วไหลได้ และส่วนประกอบของปั๊มยังประกอบด้วยวัสดุหลายหลายชนิด (ทั้งโลหะและอโลหะ) ในกรณีของสารเคมีที่ไม่ต้องการให้เกิดการรั่วไหลหรือเป็นสารเคมีที่สามารถทำปฏิกิริยากับวัสดุต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด การใช้ปั๊มในการส่งของเหลวอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ในกรณีเช่นนี้ก็คงต้องไปใช้แนวทางการสร้างผลต่างความดันระหว่างต้นทางกับปลายทางแทน เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนของเหลวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

การส่งของเหลวด้วยความดันอาจทำได้ด้วยการให้ความดันกับภาชนะบรรจุต้นทาง เพื่อดันของเหลวในภาชนะนั้นไปยังอีกภาชนะบรรจุหนึ่งที่อยู่ปลายทางผ่านทางระบบท่อ หรือการสร้างสุญญากาศที่ภาชนะปลายทาง ซึ่งก็ทำให้ของเหลวไหลจากภาชนะต้นทาง (ที่อยู่ที่ความดันบรรยากาศ) ไปยังภาชนะบรรจุปลายทาง (ที่เป็นสุญญากาศ) กระบวนการที่เกิดอุบัติเหตุที่นำมาแสดงในรูปที่ ๑ ก็เป็นการสร้างสุญญากาศที่ภาชนะบรรจุด้านปลายทาง เพื่อดึงของเหลวออกจากภาชนะต้นทาง

โรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตกรดเปอร์อะซีติก (peracetic acid H3CC(O)OH) ด้วยการทำปฏิกิริยาระหว่าง H2O2 กับกรดอะซีติก (acetic acid H3CCOOH) ในการผลิตนั้นโอเปอร์เรเตอร์จะถ่ายสารละลาย H2O2 เข้มข้น 90% จาก storage tank มายัง measuring tank ด้วยการใช้ปั๊มสุญญากาศทำสุญญากาศในระบบ ผ่านทาง buffer tank และ separator tank

(ปั๊มสุญญากาศหรือ compressor มักจะมีถังเปล่าใบหนึ่งติดอยู่ทางด้านขาเข้าที่เรียกว่า knock out drum ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือ separator tank) หน้าที่ของถังนี้คือการดักของเหลวที่อาจติดมากับแก๊ส หยดละอองของเหลวที่ติดมากับแก๊สขาเข้าที่ไหลมาตามท่อด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึง knock out drum ความเร็วของแก๊สจะลดลงเพราะพื้นที่หน้าตัดการไหลเพิ่มขึ้น ทำให้หยดของเหลวตกลงล่าง)

ในวันที่เกิดเหตุ หลังจากที่โอเปอร์เรเตอร์เริ่มการถ่ายของเหลวจากถังเก็บเข้าสู่ measuring tank และได้ทำการปรับวาวล์ควบคุมการไหลเพื่อไม่ให้มีการถ่ายของเหลวมากเกินไป โอเปอร์เรเตอร์ก็ได้เดินออกไปจากบริเวณทำงาน (คือไปทำอย่างอื่น) และเมื่อกลับมาในอีก 10 นาทีต่อมา ก็พบว่ามีการถ่ายสารละลายเข้ามาใน measuring tank มากเกินไป โอเปอร์เรเตอร์จึงได้พยายามถ่ายของเหลวส่วนเกินไปยัง separator tank และหลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายของเหลวส่วนเกินก็พบว่า "มีควันสีขาวออกมาจาก buffer tank" ของปั๊มสุญญากาศ และอีกถัดมาไม่นานก็เกิดระเบิด

(บทความต้นฉบับกล่าวว่า "มีควันสีขาวออกมาจาก buffer tank" ซึ่งตรงนี้ผมว่าแปลกอยู่ เพราะตัว buffer tank มันไม่ควรมีช่องเปิดออกสู่ภายนอก เพราะถ้ามีเมื่อใดมันจะทำสุญญากาศให้กับ separator tank กับ measuring tank ไม่ได้ เพราะอากาศจะถูกดูดเข้าทางช่องเปิดนี้แทน เว้นแต่ว่าปั๊มสุญญากาศนั้นอาจจะทำสุญญากาศได้มากเกินไป จึงต้องมีช่องเปิดไว้บ้างเพื่อไม่ให้ระดับการทำสุญญากาศนั้นมากเกินไป)

การสอบสวนพบว่าไม่น่ามีสารละลาย H2O2 ที่เป็นของเหลวหลุดรอดไปถึง buffer tank แต่อาจเป็นหยดละอองที่ติดไปกับแก๊สที่ถูกปั๊มสุญญากาศดูดออก และเมื่อพบกับสิ่งแปลกปลอม (ซึ่งน่าจะเป็นสนิมเหล็ก) H2O2 ก็เลยสลายตัว ทำให้ความดันใน buffer tank เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ก็ขนาดที่ปั๊มสุญญากาศดึงออกไม่ถัง) จนตัว tank (ขนาดความจุ 1.5 m3) ทนความดันไม่ได้ก็เลยระเบิด

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

ผลของอุณหภูมิต่อการแทนที่ตำแหน่งที่ 2 บนวงแหวนเบนซีน MO Memoir : Thursday 30 September 2564

การเกิดปฏิกิริยาเคมีนั้นจำเป็นที่สารตั้งต้นต้องมีสูงถึงพลังงานระดับหนึ่งก่อนที่จะทำให้เกิดการแตกพันธะได้ (ไม่ว่าจะเป็นการแตกพันธะของตัวเอง หรือเป็นผลจากการชนของโมเลกุลอื่น) โดยแต่ละปฏิกิริยานั้นมีความต้องการอุณหภูมิขั้นต่ำ (ที่สามารถทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้นั้น) แตกต่างกันไป และถ้าเราต้องการเพิ่มอัตราการเกิดปฏิกิริยาให้สูงขึ้นก็ทำได้ด้วยการเพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาให้สูงขึ้น แต่การเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นก็อาจทำให้ปฏิกิริยาที่ต้องการพลังงานกระตุ้นที่สูงกว่านั้นเกิดร่วมกับปฏิกิริยาที่ต้องการ (ที่ต้องการพลังงานกระตุ้นที่ต่ำกว่า) ก็ได้

รูปที่ ๑-๓ นำมาจาก https://wps.prenhall.com/wps/media/objects/340/348272/wade_ch17.html เป็นภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงพลังงานและการดำเนินไปข้างหน้าของปฏิกิริยา (reaction coordinate) ของปฏิกิริยา nitration ของวงแหวนเบนซีน โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรณีของเบนซีน และเบนซีนที่มีหมู่แทนที่แล้ว 1 หมู่ โดยหมู่แรกที่มาเกาะนั้นเป็นหมู่ที่จ่ายอิเล็กตรอนให้วงแหวนได้หรือเป็นหมู่ที่ไม่สามารถจ่ายอิเล็กตรอนให้วงแหวนได้

รูปที่ ๑ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรณีของเบนซีนและโทลูอีน หมู่อัลคิลเป็นหมู่ที่ไม่ดึงอิเล็กตรอนออกจากวงแหวนแต่สามารถจ่ายอิเล็กตรอนให้วงแหวนได้ ดังนั้นโทลูอีนจึงมีความว่องไวในการทำปฏิกิริยา nitration สูงกว่าเบนซีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้พลังงานกระตุ้นต่ำกว่า โดยการแทนที่ที่ตำแหน่ง ortho (1,2-) และ para (1,4-) นั้นต้องการพลังงานกระตุ้นที่ต่ำกว่าการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta (1,3-) ดังนั้นถ้าใช้อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาที่ไม่สูงเกินไปก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง ortho และ para เป็นหลัก แต่ถ้าทำการเร่งอัตราการเกิดปฏิกิริยาด้วยการเพิ่มอุณหภูมิก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta เพิ่มมากขึ้น

รูปที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงพลังงานของปฏิกิริยา nitration ของเบนซีนเทียบกับโทลูอีน (toluene)

รูปที่ ๒ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรณีของเบนซีนและคลอโรเบนซีน อะตอม Cl นั้นมีค่า electronegativity (En) สูงกว่าอะตอม C จึงเป็นฝ่ายดึงอิเล็กตรอนออกจากวงแหวน แต่ในขณะเดียวกันก็มีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวที่สามารถจ่ายให้กับวงแหวนได้เวลาที่มีหมู่ที่สองเข้ามาดึงอิเล็กตรอนออกจากวงแหวน สองปัจจัยนี้ขัดแย้งกัน แต่ด้วยการที่ผลของการดึงอิเล็กตรอนออกนั้นสูงกว่าผลของการจ่ายคู่อิเล็กตรอน จึงทำให้คลอโรเบนซีนมีความว่องไวในการแทนที่อะตอม H ด้วยหมู่อื่นนั้นต่ำกว่าเบนซีน ดังนั้นการทำปฏิกิริยา nitration ของคลอโรเบนซีนจึงต้องการอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีของเบนซีน ส่วนการแทนที่ตำแหน่งที่สองเกิดจะที่ตำแหน่งใดเป็นหลักนั้นขึ้นอยู่กับว่าใช้อุณหภูมิเท่าใด ถ้าใช้อุณหภูมิไม่สูงมากเกินไปก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง ortho และ para เป็นหลัก แต่ถ้าใช้อุณหภูมิที่สูงขึ้นไปอีก สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta ก็จะเพิ่มมากขึ้น

รูปที่ ๒ การเปลี่ยนแปลงพลังงานของปฏิกิริยา nitration ของเบนซีนเทียบกับคลอโรเบนซีน (chlorobenzene)

รูปที่ ๓ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรณีของเบนซีนและไนโตรเบนซีน อะตอม N ของหมู่ -NO2 นั้นไม่มีคู่อิเล็กตรอนเหลือที่จะจ่ายให้กับวงแหวน จึงเป็นหมู่ที่ดึงอิเล็กตรอนออกจากวงแหวนเพียงอย่างเดียว และดึงแรงด้วย จึงทำให้การแทนที่อะตอม H ตัวที่สองของไนโตรเบนซีนทำได้ยากขึ้นมาก โดยการแทนที่ครั้งที่สองที่ตำแหน่ง meta นั้นจะง่ายกว่าการแทนที่ที่ตำแหน่ง ortho หรือ para ดังนั้นถ้าต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta เป็นหลักก็ต้องใช้อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาที่ไม่สูงเกินไป เพราะถ้าสูงมากเกินไปก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่นำแหน่ง ortho และ para มากขึ้น (หมายเหตุ : อะตอม N และ O มีค่า Electronegativity สูงกว่าอะตอม C จึงดึงอิเล็กตรอนออกจากวงแหวนได้ แต่ถ้าอะตอม N และ O นี้ยังมีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวเหลืออยู่ (เช่น -OH, -NH2) มันก็สามารถจ่ายอิเล็กตรอนให้วงแหวนได้ และด้วยการที่ผลการจ่ายอิเล็กตรอนนั้นสูงกว่าการดึงอิเล็กตรอนออก จึงทำให้หมู่เหล่านี้เป็น ring acitvating group)

ตำราเคมีอินทรีย์มักจะกล่าวในทำนองว่าหมู่นั้นหมู่นี้เป็น ortho/para directing group หรือ meta directing group จึงทำให้ผู้เรียนหลงคิดได้ว่าถ้าหมู่แรกที่มาเกาะเป็นหมู่นี้ การแทนที่ครั้งที่สองจะเกิดที่ตำแหน่งเหล่านี้เท่านั้น ไม่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นมันยังเกิดได้อยู่ โดยมีอุณหภูมิเป็นตัวกำหนด

รูปที่ ๓ การเปลี่ยนแปลงพลังงานของปฏิกิริยา nitration ของเบนซีนเทียบกับไนโตรเบนซีน (nitrobenzene)

รูปที่ ๔ เป็นข้อมูลในตารางที่ 2 ที่แสดงไว้ในสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,822,943 เรื่อง "Production of para-diisopropylbenzene" แม้ว่าหมู่ alkyl จะเป็น ring ativating group และ ortho/para directing group แต่ด้วยการที่หมู่ isopropyl เป็นหมู่ใหญ่ การที่หมู่ isopropyl หมู่ที่สองจะเข้าแทนที่อะตอม H ที่อยู่เคียงข้างหมู่ isopropyl หมู่แรก (ตำแหน่ง ortho) จึงเกิดได้ยาก (steric hindrance effect) การแทนที่ที่ตำแหน่ง ortho จึงเกิดน้อย

การผลิตในระดับอุตสาหกรรมนั้นต้องหาสมดุลระหว่างอัตราการเกิดปฏิกิริยาที่สูงพอ และค่าการเลือกเกิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ (สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเมื่อเทียบกับสารตั้งต้นที่ทำปฏิกิริยาไปหรือ selectivity) การเพิ่มอัตราการเกิดปฏิกิริยาทำได้ด้วยการเพิ่มอุณหภูมิ นั่นหมายถึงกำลังการผลิตที่สูงขึ้น แต่ก็อาจต้องจ่ายด้วยผลิตภัณฑ์ข้างเคียง (ที่ไม่ต้องการ) ที่เกิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายในการแยกสารต่าง ๆ ออกจากกันนั้นมากขึ้น

ข้อมูลในกรอบสีแดงแสดงให้เห็นว่าเมื่อเพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาจาก 150ºC ไปเป็น 200ºC นั้น สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง para และ meta นั้นเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาเป็น 250ºC และ 300ºC สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง para กลับลดลงมาก ในขณะที่สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta เพิ่มขึ้นมาก 

รูปที่ ๔ สัดส่วนการเกิดผลิตภัณฑ์ diisopropylbenzene เมื่ออุณหภูมิการทำปฏิกิริยาเปลี่ยนไป

คำอธิบายปรากฏการณ์นี้อยู่ในรูปที่ ๑ เพราะ intermediate ที่จะทำให้เกิดการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta ได้นั้นมีพลังงานที่สูงกว่า intermediate ที่จะทำให้เกิดการแทนที่ที่ตำแหน่ง para ที่อุณหภูมิต่ำการเกิด intermediate ที่จะทำให้เกิดการแทนที่ที่ตำแหน่ง meta จึงเกิดได้น้อย แต่จะเกิดได้มากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ส่วน intermediate ที่จะทำให้เกิดการแทนที่ที่ตำแหน่ง para ที่มีพลังงานในตัวต่ำนั้น จะอยู่ไม่ได้เมื่อพลังงานของสภาพแวดล้อมสูงขึ้น

รูปที่ ๕ นำมาจากตารางที่ 1 ของสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,753,453 เรื่อง "Production of meta-diisopropylbenzene" โดยปฏิกิริยาที่ใช้คือ disproportionation ของ cumene (ย้ายหมู่ isopropyl จากโมเลกุล cumene โมเลกุลหนึ่ง ไปยังโมเลกุล cumene อีกโมเลกุลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ diisopropylbezene กับ benzene) ซึ่งจะเห็นว่าสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการทำปฏิกิริยา ข้อมูลในกรอบสีแดงแสดงให้เห็นว่าในช่วงอุณหภูมิ 140-180ºC เมื่อเพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น para- (1,4-) และ meta- (1,3-) เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงอุณหภูมิ 160-220ºC นั้น สัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็น para ไอโซเมอร์นั้นลดต่ำลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็น meta ไอโซเมอร์เพิ่มขึ้นมาก

รูปที่ ๕ สัดส่วนการเกิดผลิตภัณฑ์ diisopropylbenzene เมื่ออุณหภูมิการทำปฏิกิริยาเปลี่ยนไป

ตำราเคมีอินทรีย์นั้นมักจะเขียนโดยมองจากมุมมองที่สภาพแวดล้อมมีระดับพลังงานต่ำ แต่มักไม่กล่าวว่าข้อสรุปต่าง ๆ นั้นเป็นข้อสรุปที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมที่มีพลังงานต่ำ พอพลังงานของสภาพแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันก็เลยแตกต่างไปจากสิ่งที่เขียนไว้ในตำราได้ ดังนั้นการเข้าใจหลักการจึงเป็นเรื่องสำคัญ