กระเทียมก็ต้องทุบ มะนาวก็ต้องคลึง ดังนั้นเปลือกกล้วยก็ต้องเหยียบ
พืชบางชนิดนั้นมีของเหลวอยู่ในถุงบรรจุเล็ก ๆ การจะนำเอาของเหลวเหล่านั้นออกมาใช้งานก็ต้องทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกก่อน อย่างเช่นกระเทียมที่มีน้ำมันบรรจุอยู่ในถุงบรรจุ การทุบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออก มะนาวก็เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะผ่ามะนาวเพื่อบีบเอาน้ำมะนาว ก็ควรต้องทำการคลึงผลมะนาวก่อนผ่าเสียก่อน เพื่อให้ถึงบรรจุน้ำมะนาวแตกออก
เปลือกกล้วยหอมก็เช่นกัน มีสารหล่อลื่นอยู่ในถุงบรรจุ การเหยียบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกปลดปล่อยสารหล่อลื่นออกมา ทำให้พื้นผิวสัมผัสระหว่างพื้นกับเปลือกกล้วยที่ถูกเหยียบลื่นมากขึ้นอันเป็นผลจากสารหล่อลื่นนั้น
Ig Nobel Prize เป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลโนเบล เพื่อมอบให้แก่การค้นพบ (ผลงานตีพิมพ์) ที่ "that cannot, or should not, be reproduced" (ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ไม่สามารถ, หรือไม่ควร ที่จะทำซ้ำ") เพื่อเป็นการยกย่องผลงานที่ "that first make people laugh, and then make them think" (เช่นกัน ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ทำให้คนหัวเราะก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงค่อยคิด") รางวัลนี้เริ่มแจกในปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔)
และในปีค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ก็ได้มีการมอบรางวัล Ig Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ให้กับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้ศึกษาวิจัยเรื่องสัมประสิทธิความเสียดทานของเปลือกกล้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้เล่าไว้ในบทความบน blog เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง "เมื่อกล้วยระเบิด"
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ก็ได้ทำรายการเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องความลื่นของเปลือกกล้วยที่ศาสตร์จารย์ท่านนั้นทำการศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไปทำไม (รูปที่ ๑)
รูปที่ ๑ รายการของ NHK World Japan ในสารคดึชุด "Laugh Then Think: Japan Offbeat Science" เรื่อง Banana slip Physics เผยแพร่ออกอากาศครั้งแรกในวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา ภาพโฆษณารายการเป็นภาพของ Prof. Kiyoshi Mabuchi ชูกล้วยหอม อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย
Prof. Kiyoshi Mabuchi เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย จึงเป็นผู้เห็นความสำคัญของความลื่นเมื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างการมีการเสียดสีกัน ตัวอย่างเช่นข้อสะโพกที่ท่านนำมายกเป็นตัวอย่างในสารคดี (รูปที่ ๒), การเสียดสีกันระหว่างเปลือกตากับลูกตาเมื่อเรากระพริบตา, การเสียดสีกันระหว่างปอดหรือหัวใจกับอวัยวะภายในที่อยู่เคียงข้างกัน
รูปที่ ๒ Prof. Kiyoshi Mabuchi ขณะบรรยายการทำงานของข้อต่อสะโพกเทียม ว่าความลื่นของข้อต่อนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่ออย่างไร
รูปที่ ๓ บทความที่เผยแพร่สองปีหลังจากได้รับรางวัล Ig Nobel Prize
สารคดีที่ NHK จัดทำนั้นไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วจะมีการนำเอาผลงานวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาจากตัวอย่างที่ยกมาในบทความและสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นศึกษา ก็คงพอจะคาดเดาได้ว่าท้ายสุดนี้งานวิจัยเรื่องนี้จะมีประโยชน์อย่างไร
บางครั้งสิ่งที่ชาติตะวันตกเห็นเป็นเรื่องตลกนั้น ก็เป็นการแสดงความไม่รู้ (แต่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น) ออกมา