วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

เมื่อตำรายังพลาดได้ (Free radical polymerisation) MO Memoir : Monday 30 March 2558

เวลาที่นิสิตในที่ปรึกษาเตรียมการสอบวิทยานิพนธ์ สิ่งหนึ่งที่ผมมักกล่าวเตือนเป็นประจำคือคำอธิบายกลไกการเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ นั้นมักจะมีอยู่ในตำราอยู่แล้ว การใช้ทฤษฎีที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียนต่าง ๆ นั้นมาอธิบาย (อย่างถูกต้องด้วยนะ) จะทำให้กรรมการสอบยากที่จะซักค้าน มันไม่เหมือนกับการที่อ้างอิงโดยใช้บทความที่ตีพิมพ์ (เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าวิธีการทดลองหรือผลการทดลองมันดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลยหรือเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง) เวลาที่อ้างข้อมูลสนับสนุนด้วยการใช้บทความนั้นมักจะโดนซักค้านว่าถ้าเช่นนั้นอีกบทความหนึ่งทำไมจึงได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไป แต่ถ้าอธิบายโดยอ้างอิงจากตำราเจ้าของบทความที่แสดงข้อมูลที่ขัดแย้งกับทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปจนมีการบรรจุลงในตำราเรียนที่ใช้กันทั่วโลกนั้น ควรจะต้องเป็นผู้ที่ชี้แจงให้เห็นว่าสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังเรียนรู้อยู่นั้นมันผิดตรงไหน เพราะนั่นมันคือการค้นพบอันยิ่งใหญ่
  
ผมก็เคยเจอเหมือนกันกับผู้ที่เผยแพร่ผลการทดลองที่ขัดแย้งกับทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันและใช้งานกันอยู่ (ใช้ได้จริงซะด้วย) แต่นั่นเป็นเพราะวิธีการทดลองที่เขาใช้นั้นไม่เหมาะสม มีตัวแปรอื่นที่เขาไม่ได้คำนึงถึงร่วมอยู่ในการทดลอง ทำให้การแปลผลการทดลองที่ได้นั้นผิดพลาดไป (ดู Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗๕ วันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "อุณหภูมิและการดูดซับ")

แต่การอิงตำรามาโดยหยิบมาเฉพาะจุดนั้นก็อาจเกิดปัญหาได้ ดังสุภาษิตโบราณที่กล่าวว่า "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" เพราะก็มีอยู่เหมือนกันที่ตำรานั้นผิดพลาด ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกซะด้วย ดังตัวอย่างที่จะยกมาเล่าให้ฟังในวันนี้

อนุมูลอิสระ (Free radical) มีบทบาทสำคัญในการเกิดปฏิกิริยาอินทรีย์เคมีหลายหลายปฏิกิริยา ปฏิกิริยาจะเกิดไปในทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าอนุมูลอิสระตัวไหนมี "เสถียรภาพ" ณ สภาวะที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา "เสถียรภาพ" ในที่นี้คือการที่สารหนึ่งเกิดการสลายตัวกลายเป็นอนุมูลอิสระแล้ว อนุมูลอิสระนั้นที่เกิดขึ้นมานั้นมีอายุอยู่นานพอที่จะทำปฏิกิริยาต่อไปเป็นสารอื่น ไม่ใช่รีบเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับไปเป็นสารตั้งต้นตัวเดิม
  
อิเล็กตรอนที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระนั้นเป็นอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ (unpaired electron) และอะตอมตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นก็จัดได้ว่าเป็นอะตอมที่ขาดอิเล็กตรอน อย่างเช่นในกรณีของอะตอม C ของ alkyl free radical ที่แสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง ถ้าอะตอม C ตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นสามารถดึงอิเล็กตรอนจากหมู่ข้างเคียงเข้ามาบรรเทาอาการขาดอิเล็กตรอนของมันได้ อนุมูลอิสระตัวนั้นก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น หมู่อัลคิลนั้นเป็นหมู่จ่ายอิเล็กตรอน ดังนั้นถ้าอะตอม C ตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระมีหมู่อัลคิลมาเกาะมากขึ้น (และ/หรือเป็นหมู่อัลคิลขนาดใหญ่ขึ้น) alkyl free radical ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย
 
รูปที่ ๑ ลำดับความมีเสถียรภาพของ alkyl free radical ที่มักจะพบเห็นกันในตำราอินทรีย์เคมีทั่วไป
  
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึง เวลาตำราเคมีอินทรีย์พูดถึงคำว่า "เสถียรภาพ" เขามักจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ต้องใช้ในการทำให้เกิดสารตัวนั้น สารตัวใดที่ใช้พลังงานไม่สูงในการทำให้เกิดหรือมีการคายพลังงานออกมากเมื่อมันเกิด สารนั้นก็จะมี "เสถียรภาพ" มากกว่าสารที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าในการทำให้เกิดหรือมีการคายพลังงานออกมาน้อยกว่าเมื่อมันเกิด "โดยไม่คำนึงถึงสภาวะของการเกิดปฏิกิริยา" หรือบนข้อสมมุติที่ว่า "สภาวะของการเกิดปฏิกิริยานั้นไม่รุนแรง" อย่างเช่นในกรณีของรูปที่ ๑ นั้น การทำให้เกิดอนุมูลอิสระ methyl free radical จาก CH4 นั้นต้องใส่พลังงานเข้าไปมากกว่าการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ethyl free radical จาก H3C-CH3 และในทำนองเดียวกันการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ethyl free radical จาก H3C-CH3 นั้นต้องใส่พลังงานเข้าไปมากกว่าการทำให้เกิดอนุมูลอิสระ isopropyl free radical จาก H3C-CH3-CH3 
   
แต่ถ้าสภาวะของการเกิดปฏิกิริยานั้นรุนแรง อนุมูลอิสระที่มีพลังงานในตัวต่ำจะอยู่ไม่ได้ มันจะปรับตัวไปเป็นอนุมูลอิสระที่มีระดับพลังงานในตัวสูง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการผลิต Low density polyethylene (LDPE) ที่ภาวะการทำปฏิกิริยาจัดได้ว่ารุนแรง อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นเป็น primary (คืออยู่ที่ปลายสายโซ่) แทนที่จะเป็นแบบ secondary (หรืออยู่ตรงกลางสายโซ่) จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสายโซ่ให้ยาวออกไปได้เรื่อย ๆ (เรื่องนี้ถ้ามีเวลาว่างกะว่าจะเขียนสักที ตั้งใจจะเขียนอยู่เป็นปีแล้วเหมือนกัน)
  
รูปที่ ๒ กลไกการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนที่ปรากฏในหนังสือหน้า ๑๐๗ พึงสังเกตว่าในที่นี้ตำแหน่งอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระ (ลูกศรสีเขียวชี้) นั้นไม่ใช่อะตอม C ที่มีวงแหวนเบนซินเกาะอยู่ (ลูกศรสีแดงชี้)
  
หนังสือ A Short Course in Organic Chemistry โดย Edward E. Burgoyne พิมพ์ครั้งที่ 3 ปีค.ศ. 1985 (พิมพ์ครั้งแรกปีค.ศ. 1977) โดยสำนักพิมพ์ McGraw-Hill เป็นตำราเคมีอินทรีย์ที่ผมใช้เรียนสมัยอยู่ปริญญาตรีปี ๒ (ปีพ.ศ. ๒๕๒๘) หนังสือเล่มนี้ก็อธิบายลำดับความมีเสถียรภาพของอนุมูลอิสระตามลำดับดังแสดงในรูปที่ ๑ แต่พอมาถึงหัวข้อ 4.3 เรื่อง Addition polymerization of alkenes ตรงตัวอย่างกรณีของการสังเคราะห์พอลิสไตรีน (polystyrene) ในหน้า 107 ที่ผมยกมาให้ดูในรูปที่ ๒ ก็สังเกตเห็นความผิดปรกติ
  
อันที่จริงนอกเหนือจากการจ่ายอิเล็กตรอนให้กับอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระ เสถียรภาพยังเกี่ยวข้องกับการเกิดเรโซแนนซ์กับพันธะของอะตอมที่เกาะติดอยู่กับอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้น ซึ่งถ้าอิเล็กตรอนอิสระตัวนั้นสามารถเกิดเรโซแนนซ์ได้ มันก็จะมีเสถียรภาพดีขึ้น ในกรณีของที่อะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระนั้นมีหมู่ฟีนิล (phenyl -C6H5 หรือวงแหวนเบนซีนนั่นเอง) ยึดเกาะอยู่ ตัวอิเล็กตรอนอิสระนั้นสามารถเกิดเรโซแนนซ์กับ pi e- ของวงแหวนเบนซีน ทำให้เกิดเป็นอนุมูลอิสระที่มีอิเล็กตรอนอิสระอยู่ที่ตำแหน่งอะตอม C ที่มีหมู่ฟีนิลนั้นเกาะอยู่ได้
  
แต่ในกรณีของตัวอย่างในหนังสือที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒ นั้น กลับให้อะตอม C ตัวที่ "ไม่มี" หมู่ฟีนิลเกาะ (ตัวที่ลูกศรสีเขียวชี้) เป็นตัวที่มีอิเล็กตรอนอิสระ ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งที่ถูกต้องนั้นควรจะเป็นอะตอม C ตัวที่ "มี" หมู่ฟีนิลเกาะ 
  
รูปที่ ๓ กลไกการเกิดปฏิกิริยาการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนที่ควรเป็น ตำแหน่งอะตอม C ที่มีอิเล็กตรอนอิสระควรเป็นอะตอม C ตัวที่มีหมู่ฟีนิล (วงแหวนเบนซีน) เกาะอยู่

จากการตรวจสอบกับแหล่งอื่นก็พบว่าที่ถูกต้องนั้นอิเล็กตรอนอิสระควรอยู่ที่อะตอม C ตัวที่มีหมู่ฟีนิลเกาะ และกลไกการเกิดการพอลิเมอร์ไรซ์ของสไตรีนควรเป็นดังแสดงในรูปที่ ๓
  
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ตำราที่เขียนโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นและและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชั้นนำของโลก ก็ยังมีผิดพลาดได้เช่นกัน ส่วนทำไมถึงเกิดความผิดพลาดดังกล่าวได้นั้น ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ลิงค์ที่สามารถอ่านเพิ่มเติม

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

อีเทอร์กับการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์ MO Memoir : Friday 27 March 2558

ตอนที่กลับมาทำงานใหม่ด้วยการรับหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานที่ใช้สอนนิสิตปี ๒ นั้น งานแรกที่กระทำคือจัดการกับสารเคมีต่าง ๆ ที่ไม่มีการใช้งาน และจัดระเบียบการเก็บสารเคมี และสารตระกูลหนึ่งที่มีการพิจารณาการใช้งานเป็นพิเศษคือสารตระกูล "อีเทอร์ - Ether"
  
เมื่อพิจารณาจากจำนวนอะตอม C H และ O ที่มีอยู่ในโมเลกุล สามารถจัดได้ว่าอีเทอร์ R-O-R' เป็นไอโซเมอร์กับแอลกอฮอล์ R-OH จึงไม่แปลกที่ตำราเคมีอินทรีย์หลายเล่มจะรวมเรื่องของอีเทอร์ไว้กับหัวข้อแอลกอฮอล์ ทั้ง ๆ ที่สารทั้งสองมีพฤติกรรมการทำปฏิกิริยาเคมีที่แตกต่างกัน (ค่อนข้างจะมากซะด้วย)
  
อีเทอร์จัดว่าเป็นสารประกอบที่ค่อนข้างเฉื่อย (ทำนองเดียวกับอัลเคน) แต่เนื่องด้วยโครงสร้างโมเลกุลอีเทอร์มีทั้งส่วนที่ไม่มีขั้ว (หมู่ R และ R') และส่วนที่มีขั้วอยู่เล็กน้อย (ตรงอะตอม O) ทำให้สารอินทรีย์จำนวนมากสามารถละลายได้ในอีเทอร์ จึงทำให้นิยมใช้อีเทอร์ในการสกัดสารอินทรีย์ และประกอบกับการที่อีเทอร์มีจุดเดือดต่ำ ทำให้สามารถแยกอีเทอร์ออกจากสารอินทรีย์ที่มันสกัดออกมาได้โดยไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูง (ซึ่งอาจทำให้สารอินทรีย์ที่สกัดออกมานั้นเสื่อมสภาพได้) เพียงแค่ใช้อุณหภูมิไม่มากกับสุญญากาศช่วย ก็สามารถแยกอีเทอร์ออกจากสารที่สกัดออกมาได้ง่าย
  
แต่ถึงกระนั้นก็ตามอีเทอร์ในสภาพที่เก็บรักษาเอาไว้ในขวดนั้น สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ (ซึ่งมักจะเริ่มการสัมผัสเมื่อเปิดขวดใช้ครั้งแรก) ได้อย่างช้า ๆ เกิดเป็นสารประกอบไฮโดรเปอร์ออกไซด์ (hydroperoxide - ดูรูปที่ ๑ ข้างล่าง) ซึ่งสารประกอบไฮโดรเปอร์ออกไซด์นี้สามารถเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรซ์เป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้นของสารประกอบเปอร์ออกไซด์ (peroxide)

รูปที่ ๑ การเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์ของไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl ether H3C-CH2-O-CH2-CH3)

สารประกอบเปอร์ออกไซด์ของอีเทอร์ตัวนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะมันเป็นสารประกอบที่ไม่เสถียรและไวต่อการเสียดสี ในกรณีของอีเทอร์ที่บรรจุขวดมานั้น บริเวณที่มีการสัมผัสกันระหว่างอีเทอร์กับออกซิเจนในอากาศก็คือบริเวณฝาขวดที่จะเริ่มมีการสัมผัสกันครั้งแรกเมื่อมีการเปิดขวดอีเทอร์ขวดนั้นครั้งแรก ดังนั้นบริเวณนี้จะเป็นที่สะสมของสารประกอบเปอร์ออกไซด์ที่เกิดขึ้น แรงเสียดสีที่เกิดขึ้นเมื่อทำการเปิดฝาขวดนั้นมากเพียงพอที่จะทำให้สารประกอบเปอร์ออกไซด์ที่สะสมอยู่นั้นสลายตัวและเกิดการระเบิดขึ้นมาได้
  
ด้วยเหตุนี้สำหรับผู้ที่ต้องใช้อีเทอร์ในการทำการทดลองนั้น จึงควรที่จะต้องทำการบันทึกเอาไว้ว่าขวดอีเทอร์ที่ใฃ้นั้นมีการเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อใด และถ้าหากใช้ไม่หมดภายใน ๖ เดือนก็ต้องทำการกำจัดเปอร์ออกไซด์ที่เกิดขึ้น (ถ้ายังต้องการเก็บอีเทอร์ขวดนั้นไว้ใช้ต่อ) หรือกำจัดอีเทอร์ขวดนั้นทิ้งไป (ถ้าไม่ต้องการใช้อีเทอร์ขวดนั้นอีกแล้ว) แต่การระเบิดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขณะเปิดฝาขวด แม้ว่าจะเก็บขวดอีเทอร์ดังกล่าวไว้ในตู้เย็น ก็ยังสามารถเกิดการระเบิดขึ้นมาได้ (ดูรูปที่ ๒ ข้างล่าง)
  
รูปที่ ๒ ภาพตู้เย็นเก็บสารเคมี (ตัวซ้าย) เสียหายจากการระเบิดของอีเทอร์อันเนื่องมาจากการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์ (จากหนังสือ A Short Course in Organic Chemistry โดย Edward E. Burgoyne พิมพ์ครั้งที่ 3 ปีค.ศ. 1985)

แต่ไม่ได้หมายความนะว่าสารประกอบอีเทอร์ทุกตัวจะมีปัญหาเรื่องการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์ อีเทอร์บางตัวก็ไม่ค่อยมีปัญหาดังกล่าว (เรียกได้ว่าเป็นข้อยกเว้น) เมทิลเทอร์เชียรีบิวทิลอีเทอร์ (Methyl tertiary butyl ether - MTBE) ที่ใช้เป็นสารเพิ่มเลขออกเทนในน้ำมันเบนซิน (มีผสมอยู่ในน้ำมันเบนซิน 10%) ที่มีการผลิตใช้กันมากในอุตสาหกรรมจากปฏิกิริยาระหว่างไอโซบิวทิลีนกับเมทานอล (รูปที่ ๓) ก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างปลอดภัย ไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl ether H3C-O-CH3) ที่มีความพยายามคิดจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนแก๊สหุงต้มหรือน้ำมันดีเซลก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ทนต่อการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์
  
รูปที่ ๓ ปฏิกิริยาการสังเคราะห์ Methyl tertiary butyl ether หรือ MTBE ที่ใช้เป็นสารเพิ่มเลขออกเทนหลักในน้ำมันเบนซินจากปฏิกิริยาระหว่างไอโซบิวทิลีนกับเมทานอล

ส่วนไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl ether H3C-CH2-O-CH2-CH3) หรือไดไอโซโพพิลอีเทอร์ (Diisopropyl ether (H3C)2-CH-O-CH-(CH3)2) จะมีปัญหาการเกิดเปอร์ออกไซด์ที่สูงกว่า และมักจะได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ

รูปที่ ๔-๖ เป็นภาพข่าวที่ค้นมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นกรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากการระเบิดของสารประกอบเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสารที่ต้องการใช้ (ไดเอทิลอีเทอร์ในรูปที่ ๔ และเททระไฮโดรฟูรานในรูปที่ ๕ และ ๖) กับออกซิเจนในอากาศ ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดขวดสารเคมีใช้ ตัวอย่างที่ยกมานี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น และดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้นไม่ใช่อาจารย์ แต่เป็น "นิสิต" ผู้ทำการทดลอง ในทั้งสองกรณีนั้นการระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นในขณะพยายามเปิดขวด แต่เป็นในระหว่างที่มีการนำสารเคมีดังกล่าวนั้นมาใช้งาน อุบัติเหตุทั้งสองกรณีมีรูปแบบการเกิดที่เหมือนกันคือใช้ตัวทำละลายที่มีเปอร์ออกไซด์ปนเปื้อนอยู่ และเมื่อระเหยตัวทำละลายออกไป ความเข้มข้นของเปอร์ออกไซด์ในสารละลายที่เหลือก็เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอุณหภูมิที่ใช้ในการระเหย (ดูแล้วไม่น่าจะมากเท่าใด) ก็เลยทำให้เกิดการระเบิดของสารประกอบเปอร์ออกไซด์นั้น
  
รูปที่ ๔ ข่าวการระเบิดที่การสอบสวนคาดว่าน่าจะเกิดจากการใช้ไดเอทิลอีเทอร์ที่มีสารประกอบเปอร์ออกไซด์ปนเปื้อนอยู่ (จาก http://www.ab.ust.hk/hseo/Lesson/Diethyl%20ether%20explosion.htm)
  
รูปที่ ๕ ข่าวการระเบิดจากการเกิดเปอร์ออกไซด์ของเททระไฮโดรฟูราน (tetra hydrofuran)

รูปที่ ๖ จดหมายข่าวเหตุการณ์ระเบิดในรูปที่ ๕
(รูปที่ ๕ นำมาจาก https://www.ehs.uci.edu/salerts/Lesson%20Learned_Peroxide.pdf)
(รูปที่ ๖ นำมาจาก http://www2.lbl.gov/msd/assets/docs/safety/Mat_Safety_january07.pdf)

อันที่จริงการระเบิดที่ (เชื่อว่าน่าจะเกิดจาก) สารประกอบเปอร์ออกไซด์ก็เคยเกิดขึ้นในห้องแลปที่กลุ่มของเราทำการทดลองร่วมกับกลุ่มอื่น ซึ่งเคยเล่าเอาไว้เมื่อกว่า ๔ ปีที่แล้วใน Memoir ๒ ฉบับก่อนหน้านี้คือ

ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๕ วันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง "เมื่อขวดทิ้งสารระเบิด" (ฉบับนี้มีภาพประกอบ) และ
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๓๒ วันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และคีโตน"

กรณีที่เกิดขึ้นในห้องแลปเรานั้นเป็นกรณีของการเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์จากการผสมสารเคมีสองชนิดที่ไม่ควรนำมาผสมกัน (หรือต้องกระทำด้วยความระมัดระวังถ้าต้องการผสมกันจริง และต้องรู้ด้วยว่ากำลังเล่นกับอะไรอยู่) แต่มีการนำมาผสมเข้าด้วยกันอย่างตั้งใจโดยที่ "ไม่รู้" ว่ามันมีสิทธิเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นมาบ้าง
  
ที่เขียนเรื่องนี้ก็ไม่ใช่อะไรหรอก ใครทำแลปอยู่ก็ควรลองชำเลืองดูรอบข้างหน่อยด้วย ว่ามีใครใช้สารอะไรกันบ้าง เพราะเวลาที่มันเกิดเรื่องแต่ละที คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่อยู่รอบข้างจะเจ็บตัวไปด้วย

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

เมื่อฝนแรกมา คงมีบุญตาได้เห็น ... (๒) MO Memoir : Wednesday 25 March 2558

ผมเขียนเรื่องการปรับปรุงระบบระบายน้ำจากพื้นถนนลงท่อระบายน้ำใต้ถนนเพื่อระบายออกไปยังท่อระบายใหญ่ที่อยู่ใต้ถนนนอกหน่วยงานไว้ใน Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๒๐ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๘ เรื่อง "เมื่อฝนแรกมาคงมีบุญตาได้เห็น ..." และหนังจากนั้นเพียงสองเดือนเศษคือเมื่อวานนี้ ก็มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นชั่วโมงมาให้ชมกัน พอฝนเริ่มหยุดตก (แต่ยังไม่ขาดเม็ดดี) ก็เลยถือโอกาสเดินจากหยดน้ำฝนไปถ่ายรูปเล่นมาฝากกัน
  
แต่ละรูปนั้นคงไม่ขอระบุว่าเป็นที่ไหน แต่คิดว่าหลาย ๆ คนคงเดากันได้
  
กรุงเทพเป็นเมืองที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก เผลอ ๆ บางบริเวณจะอยู่ระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเสียอีก ดังนั้นสำหรับท่อระบายน้ำที่อยู่ใต้พื้นผิวดิน จึงมีสิทธิที่จะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลลงไปได้อีก ดังนั้นการระบายน้ำออกจากบริเวณนี้จึงต้องมีการระบายน้ำลงสู่ที่ต่ำสำหรับรวบรวมน้ำ (ที่อาจต้องสร้างขึ้นเอง) และค่อยสูบน้ำออกจากแหล่งรวบรวมนั้นระบายออกสู่คลองเพื่อให้ไหลออกทะเลไป
  
และจะว่าไปแล้วดูเหมือนว่าการออกแบบระบบระบายน้ำฝนของกรุงเทพนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด ในกรณีที่ฝนตกหนักมากนั้นมันเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องเกิดการท่วมขัง เพียงแต่ว่าจะสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังนั้นออกไปได้เร็วเพียงใด แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพจำนวนไม่น้อยมีความหวาดกลัวน้ำท่วมขังจนไม่รู้ว่าจะมากเกินไปหรือเปล่า)








สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่ามันมีส่วนทำให้ปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตกเกิดขึ้นได้ง่ายก็เพราะเราพยายามที่จะระบายน้ำฝนที่ตกลงมานั้นลงสู่ระบบระบายน้ำทั้งหมด อันที่จริงพื้นดินนั้นก็สามารถรองรับน้ำฝนได้ในระดับหนึ่งด้วยการซึมซับเอาไว้ รอบ ๆ ตัวบ้านที่ผมอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นดิน เวลาฝนตกลงมาแต่ละครั้งถ้าไม่หนักมากต่อเนื่องกัน น้ำฝนจะไม่ท่วมขังบนพื้นดินจนล้นไหลลงทางระบายน้ำที่อยู่รอบรั้ว แต่จะซึมลงใต้ดินหายไป น้ำที่ซึมหายลงไปในดินนี้จัดว่าสำคัญสำหรับไม้ใหญ่ที่มีรากฝังลึกอยู่ใต้ดิน เพราะมันสามารถใช้น้ำดังกล่าวได้ตลอดทั้งปีแม้ว่าจะไม่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน (น้ำรดต้นไม้ที่รดกันอยู่มันก็ช่วยแค่พืชคลุมดินที่รากอยู่ตื้น เว้นแต่จะมีการเปิดทิ้งไว้นานหน่อยน้ำจึงจะซึมลึกลงไปใต้ดินที่มีรากต้นไม้ใหญ่อยู่) แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันของผู้บริหารหน่วยงานที่นึกอะไรไม่ออกก็ทำการเทปูนบริเวณที่เป็นพื้นดินเสียก่อน คนผ่านไปมาจะได้เห็นว่ามีผลงานในเรื่อง "การปรับปรุงภูมิทัศน์" ทำให้ในสถานที่หลายแห่งนั้นพบว่าพื้นดินเปิดสำหรับให้น้ำฝนไหลซึมลงดินไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ใหญ่นั้นลดน้อยลงไปทุกที


ถนนอังรีดูนังต์ด้านริมรั้วเคยเป็นคลองมาก่อน ดูเหมือนใต้ท้องถนนปัจจุบันจะเป็นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ระบายออกไปยังคลองแสนแสบข้างวัดปทุมวนาราม ทางระบายน้ำในมหาวิทยาลัยก็ระบายน้ำออกมายังทางระบายน้ำใต้ถนนนี้ หลังฝนตกปรากฏว่าหลายแห่งน้ำลดลงเร็ว แต่มีอยู่เส้นหนึ่งที่ยังมีน้ำท่วมขัง (ตั้งแต่รูปที่ ๒ ถึงรูปที่ ๗) ตอนเดินวนกลับมาพบว่ามีเจ้าหน้าที่มาทำการรื้อเอาอุปกรณ์ดักขยะไม่ให้ไหลลงทางระบายน้ำใหญ่ แต่ปรากฏว่าอุปกรณ์มันอุดตัน (จะด้วยสาเหตุใดก็ไม่รู้) เลยต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่มารื้อเอาออก (ที่เห็นเป็นแผ่นไม้วางกอง ๆ อยู่) น้ำจึงระบายออกไปได้

บริเวณถนนที่น้ำไม่ท่วมนั้นดูเหมือนว่าเป็นเพราะน้ำฝนจากผิวจราจรไหลลงตรงรอยต่อระหว่างฝาท่อคอนกรีตที่มีการเว้นช่องว่างเอาไว้ ส่วนตรงช่องระบายที่มีตะแกรงดักใบไม้อยู่นั้น ก็ทำหน้าที่ดักเก็บใบไม้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

โน๊ตเพลง "ตัดใจไม่ลง" และ "ลาสาวแม่กลอง" MO Memoir : Sunday 22 March 2558

เป็นเช้าวันอาทิตย์ที่ฝนตกลงมาแต่เช้ามืด และกระต่ายที่ชื่อ "เจ้าชาเขียว" ก็หายตัวไปช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เหลืออยู่แต่เจ้า "หิมะ" ตัวเดียว ท่าทางเรื่องบทความชื่อว่า "โพรงกระต่าย" จะมีอาถรรพ์ เพราะเขียนครั้งแรกกระต่ายก็หายหมด พอเขียนครั้งที่สองมันก็หายไปอีกตัว (โชคดีที่ยังเหลืออยู่หนึ่ง)

โน๊ตเพลง "ตัดใจไม่ลง" ต้นฉบับเป็นโน๊ตเปียนโนจากหนังสือ "Easy popular for piano" เล่ม ๓ โดยผู้ที่ใช้นามว่า Ottava ผมไปได้หนังสือเล่มนี้จากร้านหนังสือ Kinokuniyaที่สยามพารากอนมาเมื่อวานซืน ซื้อโน๊ตเปียนโนเล่มอื่น ๆ ของผูเขียนผู้เดียวกันนี้ด้วยกลับมาด้วยรวมทั้งสิ้น ๔ เล่ม (ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเล่นเปียนโนไม่เป็น) ในหนังสือนี้บอกว่าเป็นเพลงจากภาพยนต์เรื่อง "ปลื้ม" โน๊ตต้นฉบับนั้นเสียงต่ำเกินไป เครื่องเป่าเล่นไม่ได้ ก็เลยต้องนำมาปรับบันไดเสียงให้สูงขึ้นหน่อย (แต่ผมไม่ได้ใส่ท่อนที่เป็นการบรรเลงเข้าไปด้วย) เพลงนี้ที่ขับร้องโดยคุณส้มโอ "เพ็ญ พิสุทธิ์" จัดว่าเป็นเพลงที่นิ่มนวล ฟังเศร้า ๆ (ภาพยนต์เรื่อง "ปลื้ม" ฉายในปีพ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นตอนต่อจากภาพยนต์เรื่อง "ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย" ที่ฉายในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ส่วนเพลง "ตัดใจไม่ลงนี้" บางเว็บบอกว่าเป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง "ปลื้ม" แต่บางเว็บก็บอกว่าเป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง "ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย" ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีความขัดแย้งกันอยู่) เพลงนี้ถ้าอยากจะฟังทาง YouTube อยากจะขอแนะนำให้ฟังต้นฉบับที่ขับร้องโดยคุณเพ็ญ พิสุทธิ์ ผมว่าเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่เหมาะมากสำหรับการเกากีต้าร์เล่นโน๊ตไปทีละตัว

ชีวิตดั้งเดิมของคนไทยส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าจะมีเพลงที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำสายต่าง ๆส่วนจะเป็นแม่น้ำสายใดนั้นไม่รู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นเพของผู้ประพันธ์บทเพลงด้วยหรือเปล่าว่าเติบโตหรือได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับแม่น้ำสายใดมา โน๊ตเพลง "ลาสาวแม่กลอง" ที่ร้องโดย พนม นพพร นำโน๊ตตัวเลขต้นฉบับมาจากหนังสือ "โน๊ตขลุ่ย" เล่ม ๓ โดย สิงขร สอนขัน ฉบับพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ โดยสำนักพิมพ์ทอแสง (ซึ่งก็ได้มาเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว) นำมาเขียนแบบโน๊ตสากลเล่น ๆ ดู หนังสือโน๊ตเพลงรูปแบบตัวเลขของ สิงขร สอนขัน นี้ปัจจุบันก็ยังเห็นมีทำออกมาเรื่อย ๆ แต่ที่เห็นล่าสุดมีทั้งโน๊ตคีย์บอร์ดและคอร์ดสำหรับอูคูเลเล่เพิ่มเติมเข้ามา


 

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ปลอดภัยกว่า MO Memoir : Thursday 19 March 2558

วัสดุอะไรก็ตามที่เห็นว่ามันไม่ปลอดภัยที่จะนำมาใช้ในการบรรจุอาหาร ต้อง "สั่งห้าม" การใช้ครับ ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เลย ทำทำนองเดียวกับบุหรี่และสุราที่ทำการควบคุมการจำหน่ายไปเลย ไม่ใช่ทำเพียงแค่ออกมาเพียงแค่ "รณรงค์" ทำเพียงแค่รณรงค์มันเหมือนกับว่าข้อกล่าวหานั้นมันคงจะ "ไม่จริง" ก็เลยไม่กล้ารณรงค์ให้ออกเป็นกฎหมาย

เมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเห็นมีข่าวหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งคือ "กรมอนามัย" รณรงค์เลิกใช้กล่องโฟม โดยอ้างว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือ "กรมอนามัย" เป็น "หน่วยงานของรัฐ" ชื่อของกรมก็บอกอยู่แล้วว่ามีหน้าที่อะไร ดังนั้นถ้าหากว่าเห็นสิ่งใดเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางกรมก็น่าจะผลักดันให้ออกกฎหมาย "ห้ามใช้" ไม่ใช่ทำเพียงแค่ "เชิญชวน" และจะว่าไปแล้วเหตุผลที่มีการกล่าวอ้างถึงอันตราย (การปนเปื้อนของสารสไตรีนในอาหารที่บรรจุในกล่องโฟม) นั้นก็ทางกรมไม่ได้แสดงหลักฐานชัดเจนว่าทางกรมได้มีการทดสอบและพิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นจริง เพราะถ้าทางกรมมีหลักฐานยืนยันแน่นอน ก็ควรที่จะผลักดันให้มีการออกเป็นกฎหมายบังคับห้ามการนำมาใช้ไปเลย 

รูปที่ ๑ กล่องบรรจุอาหารที่ซื้อมาจากตลาดนัดในหน่วยงาน เดิมร้านนี้เขาใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร พอทางหน่วยงานเขารณรงค์ไม่ให้ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร เขาก็เปลี่ยนมาเป็นกล่องพลาสติกใส ชื่อพลาสติกที่ใช้ผลิตระบุเอาไว้ในวงกลมเหลือง
 
อันที่จริงเรื่องเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์กล่องโฟมผมเคยเขียนเอาไว้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว (Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗๗ วันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่อง "เรื่องของสไตรีน (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๑)" ซึ่งตอนนั้นผมได้กล่าวถึงการพิจารณาข้อมูล ที่มีการให้ข้อมูลมาเป็นจุด ๆ ที่ "ดูเหมือน" ว่าสัมพันธ์กัน ที่ทำให้คนรับข้อมูลที่ไม่มีความรู้ที่ดีพอนั้นเข้าใจผิดได้ และปัญหาก็คือข้อมูลที่ให้มักเป็นข้อมูลที่ดูเหมือนเป็น "ข้อมูลทางเทคนิค" จากคนที่เป็น "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสิ่งที่เขาอ้างนั้นถูกต้องหรือไม่
  
รูปที่ ๒ พลาสติกมันใสก็เลยถ่ายรูปยากหน่อย (ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ) พลาสติกที่ใช้ทำกล่องนี้ก็คือพอลิสไตรีนครับ ตัวเดียวกับที่ใช้ทำ "กล่องโฟม"

ในกรณีของการโจมตีกล่องโฟมที่ใช้บรรจุอาหารนั้น พอจะสรุปข้อมูลการโจมตีได้ดังนี้

(ก) สไตรีนที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิสไตรีนที่มาทำเป็นกล่องโฟมนั้นเป็นสารก่อมะเร็ง อันนี้ผมไม่เถียง เพราะมันมีรายงานผลการทดลองและวิจัย
(ข) พอลิสไตรีนทำจากสไตรีน อันนี้ผมก็ไม่เถียง เพราะบ้านเราก็มีโรงผลิตอยู่ให้เห็น
(ค) สไตรีนละลายได้ดีในน้ำมันพืช อันนี้ก็ไม่เถียง เพราะใครเรียนเคมีอินทรีย์มาก็รู้กันทั้งนั้นว่าโมเลกุลไม่มีขั้วละลายได้ดีในตัวทำละลายที่เป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว
(ง) อาหารบรรจุกล่องโฟมจะปนเปื้อนสไตรีน ดังนั้นการบริโภคอาหารบรรจุกล่องโฟมจะทำให้เป็นมะเร็งเร็วขึ้น

ข้อมูลในข้อ (ง) ผมมองว่าเป็นข้อมูลที่น่าสงสัยมากที่สุด เพราะยังไม่เคยเห็นผลการทดลองพิสูจน์ เป็นเพียงแค่ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการนำเอาข้อ (ก)-(ค) มายำรวมกันเพื่อให้ได้ข้อ (ง)

ผมมองว่าประเด็นมันอยู่ตรงที่หลังจากนำสไตรีนมาผลิตเป็นพอลิสไตรีน และนำพอลิสไตรีนมาผลิตเป็นกล่องโฟมอีกทีนั้น
(๑) มันยังมีสไตรีนหลงเหลืออยู่ในกล่องโฟมหรือไม่ และ
(๒) ถ้ามันมีสไตรีนหลงเหลือติดมากับกล่องโฟม สไตรีนดังกล่าวอยู่ในรูปที่เป็นพิษและสามารถรั่วไหลออกมาปะปนกับอาหารจนก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้หรือไม่
ถ้ามันมีการพิสูจน์ว่าข้อ (๒) มันเป็นจริง มันก็จะเป็นการปิดฉากการใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหารไปเลยครับ ทดลองพิสูจน์กันเลยดีกว่าว่าข้อ (๒) มันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าพบว่ามันเป็นจริงก็สามารถที่จะออกกฎหมายบังคับการใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหารได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลารณรงค์

เราลองมาพิจารณาโลหะโครเมียม (chromium - Cr) เป็นตัวอย่างก็ได้ครับ โครเมียมจัดเป็นโลหะหนักที่มีพิษสูงตัวหนึ่ง จำให้ต้องมีการควบคุมปริมาณโครเมียมในน้ำทิ้งอย่างเข้มงวด แต่วัสดุชนิดหนึ่งที่มีโลหะโครเมียมผสมอยู่ในปริมาณสูงและมีการนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและยาคือเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) เบอร์ 316 หรือที่เรียกว่า SS-316 นั่นแหละครับ มันประกอบด้วยโครเมียมสูงถึง 18% (เหล็กกล้าไร้สนิมเบอร์ 304 หรือ SS-304 ที่นำมาทำเครื่องครัวใช้กันตามบ้านเรือนก็ประกอบด้วยโครเมียมถึง 18% เช่นกัน)

แต่ไม่ยักมีใครออกมาโวยวายว่าถ้าบริโภคอาหารหรือยาที่สัมผัสกับภาชนะใด ๆ ก็ตามที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม จะได้รับโลหะโครเมียมเข้าสู่ร่างกาย

ทีนี้ถ้าผมเขียนเรื่องพิษของโครเมียมดูบ้าง โดยจะเขียนแบบข้อ (ก) - (ง) ในหน้าที่แล้วดูบ้างนะครับ

(i) โครเมียมเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษ (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางการแพทย์)
(ii) โครเมียมใช้ในการผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมเบอร์ 304 และ 316 (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางวิศวกรรม)
(iii) ไอออนของโครเมียมที่เป็นพิษนั้นสามารถละลายน้ำได้ (อันนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทางด้านสิ่งแวดล้อม)
(iv) อาหารที่บรรจุในภาชนะทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมจะปนเปื้อนโครเมียม ดังนั้นการบริโภคอาหารบรรจุในภาชนะที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมจะทำให้ได้รับโครเมียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น (คือตายเร็วขึ้น)

ข้อ (iv) ได้จากการนำข้อ (i) - (iii) มายำรวมกันแบบเดียวกับข้อ (ง) ของกรณีสไตรีน ว่าแต่เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้วความรู้สึกของคุณระหว่างข้อสรุป (ง) กับ (iv) เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

ตลาดนัดในหน่วยงานเขารณรงค์ให้เลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ผู้ค้าเขาก็เลยเปลี่ยนจากกล่องโฟมเป็นกล่องพลาสติกใส ร้านที่ผมซื้อกินเป็นประจำเขาก็เปลี่ยนจากกล่องโฟมเป็นกล่องพลาสติกใส แต่พอพลิกดูใต้กล่องว่ามันทำจากพลาสติกอะไร พบว่ามันคือ "พอลิสไตรีน" เหมือนเดิม เพียงแต่มาในรูปแบบที่แตกต่างกัน (รูปที่ ๑ และ ๒)
  
รูปที่ ๓ ลวดเย็บกระดาษที่ปัจจุบันนำมาใช้กับภาชนะบรรจุอาหารอย่างแพร่หลาย
  
ตกลงว่าไอ้ที่บอกว่ามันอันตรายคือ "โฟม" หรือ "สไตรีน" หรือ "พอลิสไตรีน" ตอนกล่าวหากล่องโฟมว่ามีสารพิษ ย่อยสลายยาก ก็เน้นไปที่สไตรีนที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิสไตรีนและนำมาทำเป็นกล่องโฟมอีกที แต่พอมันมาในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่กล่องโฟม กลับมองไม่เห็นกัน

ตัวที่ผมเห็นว่าอันตรายมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ แต่ไม่ค่อยมีการรณรงค์ห้ามการใช้กันเท่าใดนักคือ "ลวดเย็บกระดาษ" ลวดเย็บกระดาษไม่ใช่สิ่งของที่จะต้องมีการสัมผัสกับอาหาร ดังนั้นมันจึงไม่มีมาตรควบคุมด้านสารพิษ ตัวลวดเองก็เห็น ๆ กันอยู่ว่ามันไม่ได้มีแต่เหล็ก แต่ยังมีการเคลือบผิวเอาไว้ด้วยเพื่อกันสนิมและให้มีสีต่าง ๆ สารที่นำมาเคลือบก็พิจารณาจากการใช้งานเพื่อการเย็บกระดาษเป็นหลัก ไม่ได้มีการพิจารณาเพื่อการนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์และมีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง ตอนนี้ก็เห็นใช้กันเกร่อทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกับกล่องชานอ้อย หรือกระทงใบตองธรรมชาติ (ไม่ว่าจะเป็นกระทงของหวานหรือของคาว) บอกตามตรงเลยว่าบางทีก็อยากสนับสนุนผู้ค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใบตอง มาทำเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร แต่พอเห็นเขาใช้ลวดเย็บกระดาษในการเย็บใบตองแล้ว ก็ตัดใจไม่ซื้อ เพราะไม่อยากให้ตัวเองและครอบครัวเสี่ยงตายกับการกินลวดเย็บกระดาษและสารเคมีที่เคลือบลวดเย็บกระดาษเข้าไป

ตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่าจะมีหน่วยงานไหนหรือจะมีใครทำ Inforgraphic รณรงค์เรื่องการไม่ใช่ลวดเย็บกระดาษกับบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเปล่า เห็นมีแต่ของอย. ออกมาเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจรณรงค์ทำต่ออีก
  
รูปที่ ๔ หน้าเว็บข่าวเตือนอันตรายจากลวดเย็บกระดาษจากสำนักงานอาหารและยา
เป็นเรื่องปรกติที่ของใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ของเก่านั้นมักจะโจมตีของเก่าว่าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติที่ของใหม่ที่จะเข้ามาแทนควรจะต้องไม่มีปัญหาอย่างที่ของเก่ามี เช่นกรณีของกล่องชานอ้อยที่มีความพยายามผลักดันให้เข้ามาแทนที่กล่องโฟม พึงสังเกตหน่อยนะครับว่าเขาพยายามเข้ามาแทนที่ "กล่อง" แต่ไม่พยายามเข้าไปแทนที่ "ถ้ว" หรือ "แก้ว" ที่ใช้บรรจุอาหารที่เป็นพวกน้ำ ตรงนี้น่าตั้งคำถามนะครับว่าทำไม
  
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าของใหม่ที่ถูกผลักดันให้เข้ามาแทนที่นั้นจะไม่มีข้อเสีย เพียงแต่เขาอาจจะละไว้ไม่กล่าวถึงหรือยังไม่มีใครคำนึงถึง ตรงนี้คงจะขอเปิดประเด็นสำหรับการพิจารณาเอาไว้ว่าจะจริงเท็จแค่ไหน การทำการเกษตรในบ้านเรานั้นมีการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นในรูปของปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชกันอย่างแพร่หลาย ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างอยู่ในอาหารอยู่เป็นประจำ แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ได้นำไปใช้เป็นอาหาร แต่นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น "กล่องชานอ้อย" นั้นมีการตรวจสอบกันมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ยังไม่เคยเห็นข้อมูล (แต่ดูเหมือนถ้าเป็นตะเกียบไม้ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งจะเคยมีการตรวจสอบ)
  
ในบ้านเรานั้นก็มีการปลูกอ้อยในพื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักที่เป็นพิษต่อคน เพื่อให้ต้นอ้อยดูดซับโลหะหนักมาเก็บไว้ในลำต้น ซึ่งอ้อยที่ได้นั้นก็ต้องส่งไปยังโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ส่งไปยังโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภค ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเองก็นำเอาชานอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตน้ำตาล (โรงงานต้องการความร้อนในการระเหยน้ำจากน้ำอ้อยเพื่อให้ได้น้ำตาลทราย) ดังนั้นคำถามที่น่าจะถามก็คือชานอ้อยที่นำมาผลิตกล่องชานอ้อยนั้นมาจากไหน มีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ โดยหน่วยงานใด เพราะจะว่าไปแล้วพวกสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กันนั้นมีความเป็นพิษต่อร่างกายที่รุนแรงไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน

ผมไม่ว่าอะไรนะ ถ้าจะรณรงค์ให้ใช้กล่องชานอ้อยแทนการใช้กล่องโฟม ด้วยเหตุผลที่ว่ามันย่อยสลายโดยธรรมชาติได้ง่ายกว่ากล่องโฟม แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน "ปลอดภัยมากกว่า" นี่ซิ ที่ผมสงสัยอยู่ ด้วยเหตุผลนี้แหละทำให้ผมตั้งชื่อ Memoir ฉบับนี้ว่า "ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ปลอดภัยกว่า"

หน่วยงานวิชาการใด ๆ ที่มีหน้าที่ (หรือคิดว่ามีหน้าที่) รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของคนในสังคมนั้น เวลาที่จะประกาศเชิญชวนหรือออกข้อห้ามใด ๆ ผมเห็นว่าควรที่จะสามารถชี้แจงเหตุผลได้ครบถ้วน รอบด้าน ไม่ใช่นำเอาสิ่งที่แชร์กันต่อ ๆ กันมาทางอินเทอร์เน็ต (ซึ่งไม่รู้ว่าเริ่มต้นที่ไหน) มาใช้เป็นเหตุผลโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือความสมเหตุสมผลของข้อสรุป เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดหรือไม่สามารถตอบข้อโต้แย้งได้ เหตุการณ์นั้นก็อาจมากเพียงพอที่จะทำลายความน่าเชื่อถือที่หน่วยงานนั้นสะสมมาเป็นเวลานานได้