วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ระหว่างสีกับชนิดและปริมาณธาตุ MO Memoir : Monday 31 October 2554



เท่าที่ทราบจากเพื่อนบ้านที่ยังคงอยู่ในพื้นที่  ทราบมาว่าหน้าบ้านตอนนี้น้ำสูงระดับประมาณ ๑ เมตรแล้ว  ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าระดับมันจะลดลงพอให้ลุยเข้าไปได้ก่อนลูก ๆ เปิดเรียน  จะได้เข้าไปเอาชุดนักเรียนกับหนังสือเรียนมาให้เขา  ไม่เช่นนั้นก็คงต้องไปหาของใหม่มาให้พวกเขาใช้ชั่วคราวก่อน

          เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้รับอีเมล์ฉบับหนึ่งจากสาวน้อยหน้าใสซึ่งตอนนี้ได้งานทำแล้ว  ผมขอนำเนื้อหาบางส่วนของอีเมล์ดังกล่าวมาย่นย่อดังแสดงข้างล่าง


สวัสดีค่ะอาจารย์

          ตอนนี้หนูทำงานที่นิคมบางปู  โรงงานมีโปรเจ็คให้ทำโดยมีปืนเอกเซเรย์เป็นเครื่องมือให้ใช้  เพื่อที่จะแยกความแตกต่างขององค์ประกอบของธาตุในแต่ละสีของผงโทเนอร์ คือ ดำ ฟ้า ชมพู และเหลือง (โดยหัวหน้าคิดว่าแต่ละสีต้องมีความแตกต่างกันของธาตุ)
          ซึ่งปืนเอกซเรย์นี้รายงานผล เป็น% ของธาตุทั้งหมดในผงโทนเนอร์ เช่น %a25 %b50 %c10 %d15 รายงานเป็นกราฟ ระหว่าง count(y) กับ eV(x) ดูแล้วคล้ายๆกับgraphจาก XRD
          โดยการยิงเบื้องต้นสามารถแยกสีดำออกจากสีอื่นได้โดยสิ้นเชิง เพราะมีองค์ประกอบของธาตุแตกต่างจากสีอื่น เช่นสีดำ มี ธาตุ a b c d ส่วนสีฟ้า สีชมพู และสีเหลืองมีธาตุชนิดเดียวกัน เช่นธาตุ a b c
          โดยสีฟ้ามี %ธาตุแต่ละธาตุแตกต่างจากสีชมพู และสีเหลือง ก็สามารถแยกออกจากสีชมพูและ สีฟ้าได้เช่นกัน แต่สีชมพูและสีเหลือง เมื่อยิงปืนเอกซเรย์แล้ว พบว่า ความแตกต่างของ%ธาตุแทบจะไม่แตกต่างกันจึงติดปัญหาว่าแยกจากกันไม่ออก
          จึงอยากขอความคิดเห็นอาจารย์ ว่าจะทำอย่างไรดีคะ เผื่อที่จะแยกสีชมพูและสีเหลืองได้ หรืออาจารย์เห็นสมควรไหมที่จะใช้เครื่องมือนี้ในการตรวจสอบ และมีวิธีไหนอีกบ้างที่เหมาะสมในการตรวจสอบ

ขอบคุณค่ะ


          ก่อนอื่นเรามาลองทำความเข้าใจเรื่องสี แม่สี และการมองเห็นสีกันก่อนดีกว่า (ตามความรู้พื้นฐานที่ผมมีนะ  เพราะผมเองก็ไม่ใช่ศิลปินหรือผู้เชื่ยวชาญด้านแสง)

          ถ้าเป็นเรื่องของการระบายสีหรือการผสมสี  แม่สีจะมีอยู่ ๓ สีคือ แดง เหลือง น้ำเงิน  คุณมีเพียงแค่ ๓ สีนี้ก็สามารถสร้างสีอื่นขึ้นมาได้  เช่นถ้าผสมกันระหว่างแดงกับเหลืองก็จะได้ส้ม  ผสมกันระหว่างเหลืองกับน้ำเงินก็จะได้เขียว  ผสมกันระหว่างแดงกับน้ำเงินก็จะได้ม่วง 

          นอกจากนี้ยังมีอีกสองสีที่ไม่จัดให้เป็นแม่สีคือ สีขาวกับสีดำ  ถ้าอยากให้สีมันอ่อนลงก็ไปหาสีขาวมาผสมเพิ่มเติม  เช่นถ้าต้องการสีชมพูก็เตรียมได้จากการผสมสีแดงกับสีขาว  ส่วนสีดำเท่าที่เคยเจอคือผสมลงไปกับสีอะไรมันก็ออกดำไปหมด

          ส่วนแม่สีทางแสงนั้นก็มี ๓ สีเช่นเดียวกัน  แตกต่างกันตรงที่แม่สีทางแสงจะเป็น แดง เขียว น้ำเงิน (เปลี่ยนจากเหลืองเป็นเขียว)  การผสมแสงให้ได้แสงสีต่าง ๆ กันก็ใช้ ๓ สีนี้  ถ้าคุณมองจอภาพโทรศัพท์ (พวกจอหลอดภาพหรือ CRT จะเห็นได้ชัด) จะเห็นว่าบนจอมีจุดสีอยู่เพียง ๓ สีคือ แดง เขียว น้ำเงิน เขาจึงเรียกว่าจอ RGB (ย่อมาจาก Red Green และ Blue)  โดยการปรับสัดส่วนความสว่างของแสงสีแดง เขียว และน้ำเงิน ก็จะทำให้เห็นแสงสีต่าง ๆ เปล่งออกมา

          ทีนี้เรามาลองดูเรื่องการมองเห็นสี  อันนี้มีประเด็นที่ควรต้องพิจารณา

          แม่สีที่เป็นสีแดงเราเห็นเป็นสีแดงเพราะเมื่อเราฉายแสงสีขาวลงไป  สารนั้นจะดูดกลืนสีอื่นเอาไว้ยกเว้นสีแดง  ทำให้คลื่นแสงสีแดงส่องมาถึงดวงตาเราได้  เราเลยมองเห็นสารนั้นมีสีแดง

          แม่สีที่เป็นสีน้ำเงินเราเห็นเป็นสีน้ำเงินเพราะเมื่อเราฉายแสงสีขาวลงไป  สารนั้นจะดูดกลืนสีอื่นเอาไว้ยกเว้นสีน้ำเงิน  ทำให้คลื่นแสงสีน้ำเงินส่องมาถึงดวงตาเราได้  เราเลยมองเห็นสารนั้นเป็นสีน้ำเงิน

          ใบไม้เป็นสีเขียวเพราะคลอโรฟิลในใบไม้ดูดกลืนแสงสีแดงและน้ำเงินเอาไว้  เหลืองแต่แสงสีเขียวที่ไม่ดูดกลืน  ทำให้เราเห็นใบไม้เป็นสีเขียว

          ทีนี้เราลองมาพิจารณาการเกิดสีม่วงโดยผมจะลองยกตัวอย่างให้พิจารณา ๒ ตัวอย่างดังนี้

         ตัวอย่าง () เอาแม่สีที่เป็นสีแดงและสีน้ำเงินมาผสมเข้าด้วยกัน (คือใช้สารสองชนิดผสมกันโดยที่มันไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกัน)  เมื่อเราฉายแสงสีขาวลงไปแม่สีสีแดงก็ไม่ดูดกลืนสีแดง  โดยปล่อยให้แสงสีแดงเดินทางมาถึงดวงตาเรา  แม่สีสีน้ำเงินก็ไม่ดูดกลืนแสงสีน้ำเงิน  แต่ปล่อยให้แสงสีน้ำเงินเดินทางมาถึงดวงตาเรา  ดังนั้นสีที่เราเห็นก็ควรเป็น "สีม่วง"

          ตัวอย่าง () ที่นี้ถ้าเรามีสารชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียวที่ไม่ดูดกลืนสีม่วง  แต่ดูดกลืนสี น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง  เมื่อเราฉายแสงสีขาวลงไป  สารนั้นจะไม่ดูดกลืนคลื่นแสงสีม่วง  จะปล่อยให้แสงสีม่วงเดินทางมาถึงดวงตามเรา  ดังนั้นเราก็ควรมองเห็นสารนั้นมี "สีม่วง" เช่นเดียวกัน

          จะเห็นว่าการมองเห็น "สีม่วง" นั้นเป็นไปได้สองกรณี  คือการที่มีคลื่นแสง "สีแดง" และ "สีน้ำเงิน" เดินทางมาถึงดวงตาเราโดยไม่จำเป็นต้องมีคลื่นแสงสีม่วงดังตัวอย่าง ()  และการที่มีคลื่นแสง "สีม่วง" เดินทางมาถึงดวงตาเราโดยไม่จำเป็นต้องมีคลื่นแสงสีแดงและสีน้ำเงินดังตัวอย่าง ()

          ทีนี้ลองกลับมาที่คำถามที่มีถามมาในอีเมล์ข้างต้น

          จากข้อมูลที่เขาให้มานั้นผมเดาว่าตัวที่ทำให้เกิดสีในผงโทเนอร์สีต่าง ๆ นั้นน่าจะมีองค์ประกอบที่เป็นโลหะทรานซิชันอยู่  และวิธีการตรวจวัดปริมาณโลหะที่เขาใช้คือเทคนิค XRF (X-ray fluorescence)

          เทคนิค XRF นั้นใช้การฉายรังสีเอ็กซ์พลังงานสูงลงไปบนตัวอย่าง  รังสีเอ็กซ์ที่ฉายลงไปจะทำให้อิเล็กตรอนในชั้นวงโคจรในของอะตอมหลุดออก  เช่นไปทำให้อิเล็กตรอนในชั้นวงโครจร K (วงที่อยู่ในสุด) หลุดออกไป  เกิดเป็นที่ว่างในวงโคจร K   อิเล็กตรอนในชั้นวงโครจรถัดไปที่อยู่สูงกว่า (เช่นวง L ที่เป็นวงที่สองนับจากข้างใน) เคลื่อนตัวลงมาแทนที่  แต่เนื่องจากชั้นวงโคจร L มีระดับพลังงานสูงกว่าชั้นวงโคจร K  ดังนั้นอิเล็กตรอนในชั้นวงโคจร L จะต้องคายพลังงานออกส่วนหนึ่งเพื่อที่จะมาอยู่ในชั้นวงโคจร K ได้  พลังงานที่คายออกมาจะอยู่ในรูปของโฟตอนที่มีพลังงานในระดับรังสีเอ็กซ์

          รังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากกลไกนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของธาตุแต่ละธาตุ  ดังนั้นเราจึงสามารถใช้พลังงานของรังสี (ความยาวคลื่นหรือพลังงานในหน่วยอิเล็กตรอนโวลต์ - eV) มาเป็นตัวระบุชนิดธาตุได้  และใช้ความเข้ม (หน่วยเป็นcount ซึ่งแปรผันกับจำนวนประจุที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวของธาตุที่อยู่ในหลอดตรวจวัดรังสี) ของรังสีเอ็กซ์ที่มีความยาวคลื่นหรือระดับพลังงานนั้นเป็นตัวบอกให้ทราบปริมาณของธาตุนั้น

          สิ่งที่ต้องพึงระลึกคือ XRF นั้นตรวจวัดปริมาณธาตุโดยไม่สนว่าธาตุนั้นอยู่ในสารประกอบใดหรือมีเลขออกซิเดชันเท่าใด

          โลหะกลุ่มที่ทำให้เกิดสีมักเป็นโลหะทรานซิชัน  ซึ่งไอออนโลหะทรานซิชันต่างธาตุกันมักจะมีสีที่แตกต่างกัน  แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าตัวอย่างมีสีแตกต่างกันจะต้องประกอบด้วยโลหะที่แตกต่างกัน  เพราะเป็นเรื่องปรกติที่โลหะทรานซิชันที่มีเลขออกซิเดชันต่างกันจะมีสีแตกต่างกันด้วย  ตัวอย่างเช่น Cu1+ มีสีเขียวในขณะที่ Cu2+ มีสีน้ำเงิน  ดังนั้นการที่สรุปว่าตัวอย่างที่มีสีที่แตกต่างกันจะต้องประกอบด้วยธาตุที่แตกต่างกันจึงไม่ค่อยถูกต้องนัก

          เช่นถ้าคุณมีตัวอย่างสองตัวอย่างที่มีปริมาณ Cu เท่ากัน  แต่ในตัวอย่างแรก Cu อยู่ในรูปของ Cu1+ แต่ตัวอย่างที่สองอยู่ในรูปของ Cu2+ คุณจะเห็นตัวอย่างทั้งสองมีสีต่างกัน  แต่ถ้าวิเคราะห์ด้วย XRF จะพบว่าตัวอย่างทั้งสองมีปริมาณ Cu เท่ากัน  ดังนั้นถ้าเป็นกรณีทำนองนี้การใช้เทคนิค XRF จะไม่สามารถบ่งบอกถึงสีของตัวอย่างได้

          แต่ไอออนของโลหะทรานซิชันที่มีเลขออกซิเดชันเดียวกันและจับกับโครงสร้างอื่นที่แตกต่างกันก็สามารถให้สีที่แตกต่างกันได้เช่นกัน

          เช่น Fe3+ ที่อยู่ในรูปของไอออนในสารละลายในน้ำจะมีสีออกเหลืองส้ม  แต่ถ้าจับเข้ากับ SCN- กลายเป็นไอออนเชิงซ้อน Fe(SCN)2+ จะกลายเป็นสีแดง (เรื่องนี้ลองไปอ่านเพิ่มเติมในเรื่องการไทเทรตหาปริมาณ Cl- ด้วย Volhard method) ซึ่งในกรณีนี้ไอออนของ Fe ยังคงมีเลขออกซิเดชันเป็น 3+ อยู่แต่กลับให้สีที่แตกต่างกัน

          อีกตัวอย่างคือพวกซิลิกาเจลที่มี Co เป็นองค์ประกอบ  เมื่อซิลิกาเจลแห้งจะมีสีน้ำเงิน  แต่เมื่อดูดซับไอน้ำเข้าไปจะกลายเป็นสีชมพู  ทั้ง ๆ ที่ปริมาณ Co และเลขออกซิเดชันของ Co ยังเหมือนเดิม

          สารที่ทำให้เกิดสีอีกพวกหนึ่งคือสารอินทรีย์บางชนิด  ตัวอย่างที่ใกล้ตัวทุกคนและน่าจะมีประสบการณ์กันมาแล้วก็คืออินดิเคเตอร์ที่ใช้ในการไทเทรต  พวกอินดิเคเตอร์เหล่านี้เมื่ออยู่ในภาวะรูปที่เป็นกรดหรือเบสก็จะให้สีที่แตกต่างกันออกไปได้  การให้สีโดยสารอินทรีย์นั้นไม่เกี่ยวกับปริมาณโลหะทรานซิชัน

          ในกรณีของปัญหาของสาวน้อยหน้าในจากบางละมุงนั้น  เนื่องจากผมเองก็ไม่ได้รู้เรื่องเทคนิคและวิธีการทำให้ผงหมึกมีสีต่าง ๆ กัน  แต่จากมุมมองที่กล่าวมาข้างต้นถ้าให้ผมพิจารณาปัญหาดังกล่าวผมก็จะขอลองตั้งสมมุติฐานอธิบายว่าทำไมเขาจึงไม่สามารถแยกสีชมพูและสีเหลืองออกจากกันได้ดังนี้

          () การเกิดสีชมพูและสีเหลืองไม่เกี่ยวกับชนิดและปริมาณโลหะที่ใช้  อาจเกิดจากสารประกอบพวกสารอินทรีย์  ดังนั้นเมื่อมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ความแตกต่างของปริมาณธาตุที่คิดว่าเป็นตัวทำให้เกิดสี  จึงทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้

          () การเกิดสีชมพูและสีเหลืองเกิดจากการใช้ธาตุเดียวกัน  แต่มีเลขออกซิเดชันต่างกัน  หรือมีเลขออกซิเดชันเดียวกันแต่เกาะอยู่กับโครงสร้างอื่นที่แตกต่างกัน  ดังนั้นแม้ตัวอย่างทั้งสองจะมีโลหะตัวที่ทำให้เกิดสีในปริมาณเดียวกัน  ตัวอย่างทั้งสองก็มีสีที่แตกต่างกันได้  การใช้ XRF ซึ่งระบุเพียงชนิดและปริมาณจึงไม่สามารถนำมาบ่งบอกสีที่ตัวอย่างควรจะเป็นได้

          () จากข้อ () อันที่จริงธาตุตัวที่ทำให้เกิดสีนั้นอาจเป็นตัวที่ทำให้เกิดสีแดงและสีเหลือง  แต่ที่เห็นเป็นสีชมพูก็เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ให้สีขาวรวมอยู่ด้วย  ทำให้เราเห็นสีแดงมีความเข้มอ่อนลง  เราก็เลยเรียกสีชมพู (เหมือนกับที่เราเอาสีน้ำสีแดงมาผสมกับสีขาว เราก็จะได้สีชมพู)

          ในความเห็นผมเมื่อเราต้องการวัดอะไรนั้นเราควรจะใช้เครื่องมือที่สามารถวัดสิ่งนั้นได้โดยตรงจะดีที่สุด  ในกรณีนี้สิ่งที่ต้องการวัดคือ "สี" ที่ตามองเห็น  ดังนั้นเครื่องที่ควรนำมาใช้วัดคือเครื่องที่สามารถวัด "สี" ที่ตามองเห็น  ซึ่งก็คือการวัดสเปกตรัมคลื่นแสงในช่วงที่ตามองเห็น  ซึ่งควรเป็นเครื่องตระกูล UV-Vis มากกว่า XRF

          หวังว่าคำอธิบายเหล่านี้พอจะช่วยในการทำงานของสาวน้อยหน้าใสได้บ้างไม่มากก็น้อย

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อน้ำบุกมาหลังบ้าน MO Memoir : Saturday 29 October 2554



ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ฝั่งธนมาตลอด แม่เล่าให้ฟังว่าตอนผมแรกเกิดนั้นยังเช่าบ้านอยู่ที่บางพลัด แต่ตอนผมจำความได้นั้นครอบครัวได้ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ ตรอกข้าวเม่า ตำบลบ้านช่างหล่อ ซึ่งอยู่ด้านสุดถนนอิสรภาพติดทางรถไฟของสถานีรถไฟธนบุรี เวลาไปเรียนโรงเรียนอนุบาลก็จะนั่งรถตุ๊ก ๆ ไปลงเรือที่ท่าวังหลัง เพื่อไปขึ้นที่ท่าช้าง จากนั้นจึงจะนั่งรถเมล์จากท่าช้างไปโรงเรียน ตอนนั้นยังไม่มีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า บางทีก็จะกลับทางท่าพระจันทร์เพื่อข้ามเรือมายังท่ารถไฟ ท่ารถไฟนี้อยู่ตรงหน้าสถานีรถไฟธนบุรีและอยู่ใกล้กับปากคลองบางกอกน้อย ท่ารถไฟนี้เป็นท่าเรือที่เงียบสงบ ผมชอบท่านี้มากเพราะมันดูร่มรื่นดี ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน หน้าสถานีรถไฟธนบุรีจะมีสวนหย่อมเล็ก ๆ เป็นต้นทางของรถเมล์สาย ๘๓ ที่วิ่งระหว่างตลิ่งชันกับสถานีรถไฟธนบุรี ส่วนหนึ่งของชีวิตผมแถวนี้เคยเล่าไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒๔๗ วันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "ทำอย่างไรไม่ให้รางโก่ง"

เจอน้ำท่วมกรุงเทพมาก็ตั้งแต่เด็ก ได้เลื่อนเปิดเทอมเป็นประจำ ดีใจที่ได้อยู่บ้านนานขึ้น แต่สมัยนั้นไม่มีทีวีดูทั้งวันทั้งคืนเหมือนสมัยนี้ โทรทัศน์เริ่มออกอากาศก็ช่วงบ่ายไปจนดึก ยกเว้นช่วงโรงเรียนปิดเทอมจะมีการออกอากาศรายการพิเศษตอนกลางวันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ดูเหมือนจะชื่อ "โรงเรียนภาคฤดูร้อน" ซึ่งเป็นรายการสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่บ้านได้ดูกัน ส่วนเวลาที่เหลือในแต่ละวันก็ใช้ในการเล่นกับเพื่อนฝูงข้างบ้าน ทั้งที่โตกว่าและเด็กกว่า

ตอนปี ๒๕๒๑ ย้ายกลับมาอยู่ที่บางพลัดใหม่ คุณพ่อคุณแม่มาซื้อบ้านจัดสรรอยู่ใกล้ทางรถไฟสายใต้ เป็นบ้านชั้นเดียว ยกพื้นชั้นล่างสูงจากพื้นถนนประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แต่ใต้พื้นชั้นล่างเป็นพื้นดินที่เป็นสวนเดิม ถ้าตรงกับตำแหน่งที่เป็นคูดินก็จะอยู่ห่างจากพื้นดินไม่มาก ถ้าเป็นตำแหน่งที่เป็นร่องสวนเดิมก็จะอยู่ห่างจากพื้นดินมา หลังจากสร้างบ้านเสร็จเขาก็ถมทรายรอบ ๆ บ้าน เพื่อให้บริเวณรอบ ๆ บ้านราบเรียบ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากกับที่นี่คือหิ่งห้อย ซึ่งเห็นกันตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ จนถึงปัจจุบันก็กว่า ๓๐ ปีแล้วก็ยังมีให้เห็นอีก ลูก ๆ ของผมก็โตมากับหิ่งห้อยที่บินวนเข้ามาในบ้าน หรือไม่ก็บินมาเกาะที่หน้าต่างมุ้งลวดของห้องนอน (มีอยู่ครั้งหนึ่งหิ่งห้อยตัวหนึ่งถูกจิ้งจกกินให้ดูต่อหน้าต่อตาผมและลูก ก็เลยได้เห็นท้องจิ้งจกมีแสงกระพริบได้ด้วย) เวลาที่ครูที่โรงเรียนถามเด็กนักเรียนว่ามีใครเคยเห็นหิ่งห้อยบ้าง ลูกผมก็เป็นเด็กเพียงไม่กี่คนในห้องที่มีโอกาสได้เห็น และก็เป็นการเห็นที่บ้าน ไม่เหมือนคนอื่นที่ต้องถ่อรถไปหาดูไกล ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

นอกจากหิ่งห้อยแล้วก็ยังมีพวกนกสวนต่าง ๆ แต่ก่อนจะมีนกหัวขวาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นนานแล้ว ที่โผล่มาบ้างก็เป็นนกแซงแซว และก็มีพวกตุ๊กแก งูดิน งูทางมะพร้าว งูเขียวหางไหม้ และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีงูสามเหลี่ยมโผล่มาหน้าบ้าน พวกกระรอก พวกหนูนี่ก็วิ่งกันบนต้นไม้และหลังคาเป็นปรกติ ตอนหลังเริ่มมีตัวเหี้ยโผล่มาให้เห็นบ้างแล้ว

ด้วยว่าเป็นบ้านอยู่สุดซอย หลังบ้านเป็นที่สวนของคนอื่นเขา ทำให้บริเวณบ้านตอนกลางคืนจะเงียบและมืดมาก (ตอนนั้นยังไม่มีการติดไฟแสงสว่างตามเสาไฟฟ้าด้วย) เสียงที่ดังจึงมีแต่เสียงแมลงและเสียงร้องของสัตว์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ และเสียงหวูดไฟที่แล่นผ่านมาตามเวลา พอต้องไปนอนที่อื่นที่ใกล้กับถนนมีเสียงรถวิ่ง หรือมีแสงสว่างเข้ามาในห้องนอนมาก ผมจึงมักมีปัญหานอนไม่หลับหรือไม่ก็หลับไม่สนิท

ที่บ้านบางพลัดนี้เวลาที่น้ำท่วม น้ำจะโผล่มาจากทางสวนหลังบ้าน มุดรั้วที่ปิดกั้นระหว่างถนนกับสวนและท่อระบายน้ำออกมา เวลาที่น้ำท่วมนั้นเป็นการท่วมตามจังหวะเวลาของน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงแรก ๆ ที่น้ำท่วมนั้นน้ำที่ไหลล้นออกมานั้นจะเป็นน้ำใส และมักมีปลาหมอว่ายตามน้ำออกมาด้วย ผมกับพี่น้องก็จะออกมาไล่จับปลาหมอกัน พอท่วมพื้นถนนจนมิดก็จะเล่นเตะฟุตบอลกัน เตะบอลในน้ำมันก็สนุกไปอีกแบบไม่เหมือนกับการเตะบอลในสนามที่แห้ง แต่พอน้ำท่วมหลายวันเข้าก็เริ่มเบื่อ เพราะน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็นและไม่สะอาด วัน ๆ ก็เลยได้แต่นั่งจับเจ่าอยู่ในบ้าน

ช่วงปี ๒๕๒๐-๒๕๓๐ กรุงเทพยังไม่มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำ เวลาที่น้ำท่วมทีก็ท่วมไปทุกแห่ง น้ำที่ท่วมที่บ้านผมนั้นก็ท่วมเฉพาะพื้นถนนหน้าบ้านที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินในบ้าน มีบางครั้งที่อาจจะสูงจนเข้ามาในรั้วบ้านได้ แต่ก็ไม่เคยมีทีท่าว่าจะท่วมสูงถึงพื้นตัวบ้านที่ใช้เป็นอยู่อาศัย เพราะถ้าสูงขนานนั้นก็คงไม่มีที่หลับนอนกัน เพราะบ้านที่อยู่นั้นเป็นบ้านชั้นเดียว

ช่วงประมาณปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ ก็ได้มีการปรับปรุงถนนในซอย คือมีการยกระดับถนนให้สูงในระดับเดียวกันกับถนนจรัญสนิทวงศ์ (อย่าแปลกใจนะว่าถ้าจะเห็นบางคนเขียนว่า จรัลสนิทวงศ์ คือสะกดด้วย "ล" ไม่ใช่ "ญ" เพราะแต่ก่อนมีการสะกดชื่อโดยใช้ "ล" ก่อนที่จะมีการแก้ไขใหม่ว่าให้สะกดด้วย "ญ") ซึ่งการยกระดับถนนดังกล่าวเสร็จสิ้นก่อนน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี ๒๕๓๘

รูปที่ ๑ แผนที่บริเวณที่เกิดเหตุกำแพงกั้นน้ำท่วม และเส้นทางที่คิดว่าน้ำจากแม่น้ำใช้ในการเดินทางมาถึงหลังบ้าน จะเห็นว่าน้ำที่ทะลักจากคันกั้นน้ำที่พังในซอยจรัญ ฯ ๗๔/๑ นั้นสามารถไหลตรงมายังริมทางรถไฟและสวนบริเวณหลังบ้านผมได้อย่างรวดเร็ว แนวทางรถไฟสายใต้นี้เป็นเส้นแบ่งระหว่าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่อยู่ทางฝั่งด้านทิศเหนือ และเขตบางพลัด จ.กรุงเทพ ที่อยู่ทางฝั่งด้านทิศใต้ บ้านผมอยู่ในบริเวณวงกลมแดงที่ด้านซ้ายของภาพ ลูกศรสีเขียวคือเส้นทางที่คาดว่าเป็นเส้นทางการไหลของน้ำที่บ่าเข้ามา

หลังการยกระดับถนนในซอยก็ทำให้ตัวพื้นถนนนั้นสูงกว่าตัวพื้นบ้านที่ใช้เป็นที่พักอาศัยอยู่เล็กน้อย เรียกได้ว่าพื้นที่ที่เคยใช้เป็นที่หลับนอนจากเดิมที่เคยอยู่สูงกว่าถนนกลายเป็นอยู่ต่ำกว่าถนน ยังดีที่เขาวางท่อระบายน้ำเอาไว้ลึก จึงไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำฝนไหลหลากจากถนนเข้าบ้านเวลาฝนตกหนัก

น้ำท่วมปี ๒๕๓๘ ก็ยังเป็นลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าวันไหนน้ำขึ้นสูงสุดตอนเวลากลับบ้านผมก็จะขนเสื้อผ้ามานอนยังที่ทำงาน (ก็มีห้องส่วนตัวนี่นา) จะได้ไม่ต้องขับรถลุยน้ำกลับบ้าน หรือต้องรอให้น้ำลงก่อนจึงจะกลับได้ เพราะเส้นทางกลับบ้านนั้นต้องผ่านสะพานกรุงธน ซึ่งบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่งจะมีน้ำท่วมเสมอเวลาที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง เท่าที่จำได้ในปีนั้นน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทก็อยู่ในระดับกว่า ๔๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายบริเวณเดียวกับแผนที่ในรูปที่ ๑ เป็นภาพซ้อนทับระหว่างภาพภูมิประเทศจริงของภาพถ่ายดาวเทียมกับแผนที่ จะเห็นว่าบริเวณระหว่างคลองบางพลัดและคลองมะนาวไปจนถึงแนวทางรถไฟและหลังบ้านผมยังมีสภาพเป็นสวนอยู่

เนื่องจากระดับถนนสูงกว่าตัวบ้านและพื้นที่สวนรอบ ๆ ดังนั้นในปี ๒๕๓๘ เมื่อน้ำในสวนเริ่มเอ่อล้น น้ำดังกล่าวจึงแทรกซึมผ่านรั้วบ้านซึ่งเป็นผนังอิฐบล็อกและซึมผ่านพื้นดินเข้ามาในบ้าน ในช่วงแรกน้ำดังกล่าวยังพอไหลลงระบบท่อระบายน้ำของถนนไปได้ แต่พอหลายวันเข้าระบบท่อระบายน้ำของถนนซึ่งนำน้ำนั้นไปออกคลองบางบำหรุก็เริ่มมีระดับสูงขึ้น เพราะคลองบางบำหรุซึ่งนำน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีระดับสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำไหลย้อนเข้ามาทางท่อระบายน้ำเข้าบ้าน จึงต้องใช้วิธีอุดท่อระบายน้ำระหว่างตัวบ้านกับถนน และสูบน้ำในบ้านลงท่อระบายน้ำของถนน ช่วงปี ๒๕๓๘ ก็รอดมาด้วยการสูบน้ำแบบนี้ ในส่วนของถนนจรัญสนิทวงศ์นั้นมีการสร้างคันกั้นน้ำที่บริเวณเกาะกลางถนน ก็เลยได้เห็นว่าถนนฝั่งด้านแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านขาเข้า) มีเรือวิ่ง ส่วนถนนอีกฝั่ง (ด้านขาออก) นั้นยังแห้งอยู่ แต่การสร้างคันกั้นน้ำดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจให้กับชุมชนฝั่งที่โดนน้ำท่วม เพราะเป็นฝั่งที่ได้รับความเสียหาย ในขณะที่มองว่าอีกฝั่งนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไร

ในประเทศไทยนั้นบุคคลสามารถมีที่ดินติดริมแม่น้ำลำคลอง ทำให้มีที่ชายน้ำที่เป็นที่ส่วนตัวของตัวเองได้ แต่ไม่สามารถมีที่ชายหาดที่เป็นส่วนตัวของตัวเองได้ หาดส่วนตัวที่อ้างกันนั้นก็เกิดจากการที่ครอบครองที่ดินที่ปิดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้าไปถึงได้ หรือทำให้ไม่มีถนนตัดผ่านระหว่างที่ของตัวเองกับชายหาดได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่หัวหิน ที่ที่มีการจับจองที่ดินติดชายทะเลเอาไว้ตลอดทั้งแนว แต่ชายหาดริมทะเลหลังที่เหล่านั้นใคร ๆ ก็สามารถไปทำกิจกรรมหรือเดินทางผ่านไปมาได้ตลอดเวลา

เมื่อมีโครงการสร้างกำแพงกั้นกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นทางกรุงเทพมหานครก็ต้องประสบกับปัญหาเจ้าของที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปก่อสร้าง เนื่องด้วยต้องการภูมิประเทศที่งดงาม (ในมุมมองของเขา) หรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่ ทำให้แนวคันกั้นน้ำนั้นไม่สมบูรณ์ เป็นบริเวณที่เรียกว่า "ฟันหลอ" บริเวณเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาเป็นประจำเมื่อมีน้ำหลากมา เพราะเจ้าของที่เหล่านั้นก็ไม่ต้องการให้น้ำท่วมที่ตนเอง แต่ความแข็งแรงของกำแพงกั้นน้ำที่เขาสร้างขึ้นมานั้น (เผลอ ๆ อาจจะไม่ใช่กำแพงที่ออกแบบมากั้นน้ำ เป็นเพียงแค่กำแพงบ้านเท่านั้นเอง) ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันของน้ำได้ จึงเกิดการพังทลายและทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่หลังแนวกำแพงนั้น

สาย ๆ ของวันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ผมขับรถไปสะพานพระราม ๗ โดยออกทางถนนสายบางกรวย-พระราม ๗ ก็ได้เริ่มเห็นน้ำทะลักจากฝั่งคลองสำโรงข้ามถนนมายังฝั่งทางด้านทางรถไฟ และในวันถัดมาก็ทราบว่าบริเวณระหว่างถนนและทางรถไฟถูกน้ำท่วมเอาไว้หมดแล้ว ช่วงนั้นทางรถไฟสายใต้ทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำระหว่างเขตบางพลัดและอำเภอบางกรวย

แต่ระดับน้ำทางฝั่งบางกรวยที่สูงขึ้นทำให้น้ำล้นพ้นทางรถไฟ แต่มาติดที่กำแพงถนนเลียบทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างอยู่ ถนนยังสร้างไม่เสร็จแต่เขาวางกำแพงคอนกรีตเอาไว้ก่อน น้ำที่ล้นมาจากทางฝั่งบางกรวยก็ถูกระบายลงคลองต่าง ๆ ทางฝั่งบางพลัดและสูบออกไป

ช่วงประมาณตี ๓ ของวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคมถูกปลุกขึ้นมาเนื่องจากคันกั้นน้ำปลายคลองบางบำหรุพังลง ทำให้น้ำจากฝั่งบางกรวยไหลเข้ามาได้รวดเร็ว แต่โชคยังดีที่ทางเจ้าหน้าที่เขตกับทหารได้เข้ามาซ่อมแซมเอาไว้ได้ทัน แต่ถึงกระนั้นระดับน้ำทางฝั่งบางกรวยก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท่วมทางรถไฟสายใต้เป็นช่วง ๆ สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือความแข็งแรงของกำแพงคอนกรีตที่ผู้ก่อสร้างถนนเอามาวางไว้ว่ามันจะล้มลงมาเนื่องจากแรงดันน้ำ ผมคิดว่ากำแพงดังกล่าวไม่ได้ถูกยึดเข้ากับพื้นถนนไว้อย่างแน่นหนา มันถูกนำมาวางบนพื้นถนนเอาไว้เฉย ๆ เพราะถนนดังกล่าวเป็นถนนลาดยางมะตอย ไม่ใช่ถนนคอนกรีตที่จะมีเหล็กเส้นยึดกำแพงเข้ากับพื้นถนน ในขณะเดียวกันน้ำก็ซึมผ่านชั้นราดยางมะตอยของผิวถนน มาผุดอยู่กลางถนนโดยเห็นได้ชัดว่าพื้นถนนมีการบวมตัวสูงขึ้น 
 
เหตุการณ์กำแพงคอนกรีตของถนนล้มลงแล้วทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็วนี้เคยเกิดที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริเวณที่เกิดเหตุคือตำแหน่งที่ตั้งของห้างโรบินสันศรีราชาในปัจจุบัน (ตอนนั้นห้างนั้นยังไม่ได้ก่อสร้าง) น้ำที่ลงมาจากเนินเขามาสะสมอยู่อีกฟากของกำแพง ไม่สามารถระบายลงทะเลได้ทัน กำแพงคอนกรีตดังกล่าวพอรับแรงดันไม่ไหวก็ล้มพังลง เกิดเป็นกระแสน้ำพัดไหลรุนแรงพัดพาเอาข้าวของและบ้านเรือนเสียหายไปหลายหลัง หลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้เห็นทางเทศบาลทำการเปลี่ยนกำแพงบางช่วงให้กลายเป็นลูกกรงเหล็กแทน เพื่อให้น้ำที่หลากมาอย่างรวดเร็วระบายได้เร็วขึ้นไม่เกิดการสะสมทางด้านหนึ่งของกำแพง
บ่ายวันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคมหลังจากจัดงานวันเกิดเล็ก ๆ ให้กับลูกคนเล็ก ผมก็พาลูก ๆ ไปอยู่ที่ชลบุรีเนื่องด้วยไม่ไว้ใจสถานการณ์น้ำท่วม ตอนขับรถกลับตอนค่ำก็มีโทรศัพท์แจ้งว่ารั้วบ้านริมน้ำในซอยจรัญฯ ๗๔/๑ พังลง ทำให้ต้องปิดถนนจรัญสนิทวงศ์ช่วงแยกบางพลัดถึงสะพานพระราม ๗ ตอนที่กลับถึงบ้านนั้นพบว่าเริ่มมีน้ำเอ่อเข้ามาทางสวนหลังบ้านแล้ว แต่ยังไม่มากเท่าไรนัก เพราะยังสามารถระบายลงท่อน้ำของถนนเพื่อไปออกทางคลองบางบำหรุได้ รอดูอยู่จนเที่ยงคืนจึงเข้านอน มีโทรศัพท์ปลุกอีกครั้งตอนตี ๔ ของวันอังคารที่ ๒๕ ว่าน้ำไม่สามารถระบายออกทางคลองบางบำหรุได้แล้วและเริ่มสะสม จึงได้เริ่มทำการสูบน้ำออกจากบริเวณบ้านหลังเก่า และเริ่มขนย้ายสิ่งของจากบ้านเก่าขึ้นบ้านใหม่ที่เป็นบ้านสองชั้นและอยู่สูงกว่า ตอนบ่ายผมนำรถไปฝากไว้ที่บ้านน้องชายและนั่งรถกลับมากับเขา ตอนที่ผมขับรถออกไปและนั่งรถกลับเข้ามานั้นน้ำท่วมเฉพาะถนนบริเวณหน้าบ้านผม ส่วนบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลบางพลัดและวัดเพลงนั้นระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าถนน แต่จากระดับน้ำที่สูงขึ้นก็ทำให้เชื่อว่าน้ำที่ทะลักเข้ามานั้นมากกว่าน้ำที่สามารถระบายออกทางคลองบางบำหรุ เย็นวันนั้นจึงได้ตัดสินใจทิ้งบ้านหลังเก่าให้จมน้ำเพื่อย้ายเครื่องสูบน้ำไปป้องกันบ้านของพี่ชายและของพ่อแม่ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวเหมือนกันและได้ให้คุณพ่อคุณแม่ย้ายไปอยู่บ้านน้องชายก่อน ส่วนผมกับพี่ชายก็เฝ้าบ้านสี่หลังอยู่ด้วยกันสองคน 
 
คืนนั้นแม่น้ำจะยังไม่เข้าท่วมในชั้นล่างของบ้านสองชั้น แต่ระดับน้ำที่สูงรอบตัวบ้านทำให้ปั๊มน้ำลัดวงจร ทำงานไม่ได้ และถังบำบัดมีน้ำเต็ม ชักโครกกดไม่ลงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ต้องทำการเจาะท่อน้ำทิ้งส่วนที่อยู่เหนือกว่าผิวน้ำเพื่อให้อากาศในถังบำบัดระบายออกได้ ชักโครกชั้นบนจึงใช้งานได้อีกครั้ง แต่ห้องน้ำชั้นล่างไม่สามารถใช้งานได้

ตลอดคืนวันอังคารต่อเช้าวันพุธน้ำยังมีทีท่าสูงขึ้นและเชื่อว่าบ้านสองชั้นที่อาศัยอยู่นั้นชั้นล่างคงไม่พ้นจากการโดนน้ำท่วมแน่ ๆ จึงตัดสินใจย้ายของจากชั้นล่างขั้นชั้นบนอีกครั้งและตัดสินใจปล่อยให้บ้านชั้นล่างจมน้ำไปโดยจะย้ายออกไปอยู่กับลูก ๆ แล้ว เพราะเขาเป็นห่วงมาก โทรศัพท์มาถามตลอดเวลา ข้าวของอะไรที่ยกขึ้นข้างบนไม่ได้ก็นำโต๊ะ เก้าอี้ มาหนุนให้สูงขึ้น หรือนำไปวางไว้บนชั้นที่สูงขึ้น ผมชวนให้พี่ชายผมออกมาด้วยแต่เขาก็ยังไม่ยอมออกมา คุณแม่ผมเลยต้องอยู่เป็นเพื่อนพี่ชายผมในคืนนั้น โดยให้ผมขนข้าวของบางส่วนที่ต้องใช้ออกไปไว้บ้านน้องชายก่อน แล้วให้ผมเดินทางไปดูแลลูก ๆ ที่ชลบุรี ส่วนตัวคุณแม่เองนั้นบอกว่าขอเห็นกับตาตนเองดีกว่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะได้ไม่ต้องเป็นกังวลกับข่าวสารที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 
 
พอเช้าวันพุธที่ ๒๖ คุณแม่ก็โทรศัพท์มาบอกว่าตัดสินใจที่จะอพยพแล้ว เพราะน้ำมีแนวโน้มที่จะท่วมชั้นล่างของบ้านสองชั้นแล้ว และรอน้องชายเข้าไปรับออกมา

ระหว่างที่นั่งเล่น facebook อยู่ที่ชลบุรีก็มีนิสิตถามเข้ามาเรื่องการออกแบบเครื่องกรองน้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่มให้กับผู้ประสบอุทกภัย ผมก็ได้ให้คำแนะนำและความเห็นกับเขาไป ส่วนตัวผมคิดว่าเพื่อให้การช่วยเหลือดำเนินไปได้ดีนั้นผู้ประสบอุทกภัยควรที่จะอพยพมาอยู่รวมกัน เจ้าหน้าที่จะได้จัดการความช่วยเหลือได้ง่าย จะได้มีกำลังเหลือไปจัดการกู้ภัยในด้านอื่น แทนที่จะเป็นการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสบียง ผมว่าในหลาย ๆ พื้นที่ที่ทำได้น่าจะใช้วิธีการอพยพคนออกมาให้หมด ประกาศเป็นพื้นที่ห้ามบุคคลไม่ได้รับอนุญาตเข้าไป แล้วใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินให้เอง เห็นใครแปลกปลอมเข้าไปในบริเวณนั้นก็ให้สัณนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ เจ้าของบ้านคนใดจะกลับไปยังบ้านตัวเองก็ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าวัน-เวลาและสถานที่ พอเหตุการณ์ดีขึ้นจึงค่อยอนุญาตให้อพยพกลับเข้าไปอยู่ที่บ้านตนเองได้

ผมเห็นใจเจ้าหน้าที่เขตที่ถูกชาวบ้านที่ไม่ยอมอพยพออกมา (เนื่องด้วยห่วงทรัพย์สิน) ต่อว่าว่าไม่มีใครเข้าไปดูแลส่งถุงยังชีพให้กับผู้ที่อยู่ตามบ้านเรือน แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เขตเหล่านั้นก็ต้องทำการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่เสียหาย ณ บริเวณต่าง ๆ ตลอด ๒๔ ชั่วโมงร่วมกับทหารหน่วยต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาช่วย แม้ว่าบ้านของพวกเขาเหล่านั้นต่างก็เดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน และพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเพิ่มเติมพิเศษ เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่านั้น ไม่ได้มีการออกข่าวสรรเสริญใด ๆ ทางสื่อต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่พวกเขาทำไปนั้นได้ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นจำนวนมากกว่าสื่อบางสื่อที่โหมกระพือความช่วยเหลือของตัวเองเสียอีก กำลังใจที่พวกเขาได้รับจากชาวบ้านก็คือเงินบริจาคเพียงเล็กน้อย อาหารการกินส่วนหนึ่ง การโบกไม้โบกมือให้กำลังใจ รอยยิ้มของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และคำขอบคุณที่อาจมาพร้อมกับน้ำตา

ท้ายนี้ผมขอกล่าวคำขอบคุณจากใจไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ทหาร และอาสาสมัคร ที่ได้เข้ามาร่วมกู้วิกฤตของประเทศโดยหวังเพียงแค่ขอคืนความสุขและการใช้ชีวิตตามปรกติให้กับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุจริง หรือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลศูนย์ผู้อพยพ หรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่พยายามรักษาให้ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ยังคงใช้งานได้อย่างปลอดภัย เขาเหล่านั้นทำงานโดยไม่ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ตนเองเพื่อหวังลาภ ยศ สรรเสริญ หรือผลประโยชน์ภายหลังเหตุการณ์ผ่านไป สิ่งที่พวกเขาได้ไปคือความประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเขาในการที่ได้นำความสุขกลับคืนมายังผู้ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้นเอง

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คู่มือการใช้เครื่อง GC-2014 FPD (ฉบับร่าง ๒) MO Memoir : Wednesday 19 October 2554


เอกสารคู่มือการใช้เครื่อง Shimadzu GC-2014 (FPD) ฉบับนี้จัดทำขึ้นทดแทน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง "คู่มือการใช้เครื่อง GC-2014 (FPD) ฉบับร่าง ๑

รายละเอียดวิธีการใช้งานต่าง ๆ ในเอกสารฉบับนี้ยังเป็นฉบับร่างที่ได้มีการเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนเข้าไปจากการใช้งานจริง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์อยู่ ซึ่งยังต้องมีการปรับปรุงต่อไป

เครื่อง Shimadzu GC-2014 (FPD) เครื่องนี้ซื้อมาด้วยเงินของโครงการ DeNOx (โครงการวิจัยร่วมกับปตท.) เพื่อใช้วิเคราะห์หาปริมาณ SOx ในแก๊ส เอกสารที่เกี่ยวข้องกับบันทึกฉบับนี้มีด้วยกัน ๓ ฉบับคือ
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๓๓ วันพุธที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่องข้อสังเกตเกี่ยวกับ FPD (Flame photometric detector)
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๙๑ วันอังคารที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่องข้อสังเกตเกี่ยวกับ FPD (ตอนที่ ๒)
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๐๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง "คู่มือการใช้เครื่อง GC-2014 (FPD) ฉบับร่าง ๑


. ลักษณะทั่วไปของระบบ GC-2014 (FPD)

ระบบ GC-2014 (FPD) ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก ๆ ดังนี้ (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ ชุดอุปกรณ์ GC-2014 (FPD) แสดงตัวเครื่อง GC และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

๑.๑ Voltage stabilizer
ซึ่งทำหน้าควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้สม่ำเสมอ อุปกรณ์ตัวนี้เป็นตัวที่ต่อตรงเข้ากับระบบจ่ายไฟหลักของอาคาร โดยตัวเครื่อง GC และไมโครคอมพิวเตอร์ (PC) ที่ใช้ควบคุมเครื่องจะต่อตรงเข้ากับตัว Voltage stabilizer นี้
๑.๒ เครื่อง GC-2014 (FPD)
๑.๓ ระบบจ่ายแก๊ส
ซึ่งประกอบด้วยแก๊ส ๓ ชนิดคือ
- He ใช้เป็น carrier gas
- Hydrogen ใช้ในการจุดเปลวไฟ
- อากาศ ใช้ในการจุดเปลวไฟ
๑.๔ ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม
ซึ่งประกอบด้วย
- ชุดคอมพิวเตอร์ (PC)
- เครื่องพิมพ์ ink jet


. ภาวะเริ่มต้นของระบบ

คู่มือนี้เขียนขึ้นโดยสมมุติว่าตอนเริ่มต้นนั้นอุปกรณ์ไฟฟ้าและวาล์วต่าง ๆ ของระบบ GC อยู่ในสภาพดังต่อไปนี้

๒.๑ ระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
- Voltage stabilizer ต่อเข้ากับระบบจ่ายไฟหลักของห้องปฏิบัติการ
- Voltage stabilizer อยู่ในตำแหน่งปิด
- ระบบไฟฟ้าของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ต่อเข้ากับ Voltage stabilizer
- อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกตัวอยู่ในตำแหน่งปิด
- ระบบไฟฟ้าของ GC ต่อเข้ากับ Voltage stabilizer

๒.๒ ระบบจ่ายแก๊ส
- วาล์วหัวท่อแก๊สทุกท่ออยู่ในตำแหน่งปิด
- Pressure regulator ของท่อแก๊สแต่ละท่ออยู่ในตำแหน่งปิด (อ่านค่าเป็นศูนย์ทั้งสองเกจย์)

๒.๓ เครื่อง GC
- สวิตช์ Power ของเครื่อง GC อยู่ในตำแหน่งปิด
- วาล์วปรับความดันแก๊สไฮโดรเจนและอากาสอยู่ในตำแหน่งปิด


. ลำดับการเปิดอุปกรณ์

๓.๑ เปิด He ที่ใช้เป็น carrier gas
- เปิดวาล์วที่หัวท่อแก๊ส He
- เปิด pressure regulator โดยตั้งความดันขาออกไว้ที่ 5 kg/cm2

ค่าความดันขาออกนี้ต้องตั้งให้สูงพอที่จะทำให้การปรับอัตราการไหลของ carrier gas (ปรับจากคอมพิวเตอร์) ทำได้ง่าย และต้องเผื่อความดันสำหรับการทำงานในกรณีที่คอลัมน์ทำงานที่อุณหภูมิสูงด้วย

๓.๒ เปิด Voltage stabilizer
- กดปุ่ม On ที่อยู่เหนือจอด้านหน้าของตัวเครื่อง (ดูรูปที่ ๒)

Voltage stabilizer ที่มีอยู่ ๒ เครื่องนั้นต่อตรงเข้ากับระบบไฟฟ้าของอาคาร และไฟด้านขาออกของ Voltage stabilizer แต่ละเครื่องต่อเข้ากับเต้ารับที่อยู่ด้านบน

รูปที่ ๒ Voltage stabilizer และตำแหน่งปุ่ม On-Off


๓.๓ เปิดเครื่อง GC
- กดปุ่ม Power ที่ตัวเครื่อง GC ไปที่ตำแหน่ง ON ปุ่มนี้อยู่ทางผนังด้านข้างขวามุมล่างของเครื่อง (ดูรูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ ตำแหน่งปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง GC ตรงวงกลมสีแดง


๓.๔ เปิดคอมพิวเตอร์


. การเตรียมการวิเคราะห์โดยป้อนคำสั่งผ่านคอมพิวเตอร์

หลังจากเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว

.เปิดโปรแกรม GC solution โดยเลือกที่ icon "GC solution" (ดูรูปที่ ๔)
- จะปรากฎหน้าต่าง "Shimadzu GCsolution"

รูปที่ ๔ การเปิดโปรแกรม GCsolution จากหน้า desktop


- ถ้าต้องการเชื่อมต่อกับเครื่อง GC ให้คลิก Instrument 1 (แต่ถ้าต้องการวิเคราะห์ผลที่บันทึกเอาไว้ให้คลิก Postrun)

-> เมื่อเลือก Instrument 1 แล้วจะปรากฎหน้าต่างสำหรับให้ log in (ดูรูปที่ ๕) ในช่อง User ID ให้ใส่ "Admin" (ไม่ต้องใส่เครื่องหมายคำพูด) ส่วนช่อง Password ไม่ต้องใส่อะไรเลย (ปล่อยว่างเอาไว้) จากนั้นคลิก OK


รูปที่ ๕ การ login เข้าสู่ระบบ ใช้ User ID "Admin" ส่วนช่อง password ไม่ต้องเติมอะไร ปล่อยว่างเอาไว้แล้วกด OK ได้เลย


-> หลังจากคลิก OK โปรแกรมจะนำเข้าสู่หน้า GC Real time analysis (รูปที่ ๖)

รูปที่ ๖ หน้า GC Real time analysis


.๒ จากหน้า GC Real time analysis
- ให้คลิกที่เมนู "Instrument" แล้วเลือก "System Check" (ดูรูปที่ ๗)

รูปที่ ๗ การเข้าสู่คำสั่ง "System check" จากหน้า GC Real time analysis


- พอกด "System check" แล้ว จะปรากฎหน้าต่าง "System check" (รูปที่ ๘) ให้กดปุ่ม "Run"

รูปที่ ๘ หน้าต่าง System check

.๓ การตั้งภาวะการทำงานของเครื่อง
..๑ ในกรณีที่มีการบันทึกภาวะการทำงานของเครื่องเอาไว้ Method file แล้ว
เปิด Method File ที่ต้องการใช้งานโดย
-เลือก File-> Open method file ขั้นตอนนี้เป็นการเลือก condition ที่ต้องการทำ
..๒ ในกรณีที่ต้องการตั้งภาวะการทำงานของเครื่องใหม่
คืออุณหภูมิของ Injector port (INJ), Oven (หรือ Column) และ Detector port (FPD)) ถ้าหากของเดิมที่มีอยู่ไม่เป็นไปตามต้องการหรือไม่มี ก็ให้ตั้ง condition ใหม่ดังนี้
-การตั้ง condition ใหม่ (หรือการตั้งอุณหภูมิใหม่)
การตั้ง Injector temperature (INJ Temp.) และ Carrier gas flow rate (Flow) ดูรูปที่ ๙ ประกอบ
เลือก tab "INJ"
Temp. -> สำหรับการวิเคราะห์ SO2 และ SO3 จากระบบ DeNOx ในขณะนี้เราตั้งที่ 110°C
Flow -> สำหรับคอลัมน์ปัจจุบัน เราตั้ง carrier gas flow rate ไว้ที่ 15 ml/min

พึงระลึกว่า GC เครื่องที่เราใช้ไม่ได้ต่อคอลัมน์เข้ากับ Injector port สำหรับใช้ syringe ฉีดสารตัวอย่าง แต่เป็นการฉีดสารตัวอย่างผ่านระบบวาล์วฉีดตัวอย่างที่เป็นแก๊ส ที่มี heating block ให้ความร้อนแก่ตัววาล์ว (แต่ไม่ได้ให้ความร้อนกับ sampling loop)

รูปที่ ๙ การตั้งค่า Injector temperature และ Carrier gas flow rate


การตั้ง Column temp. และ Equilibrium timeดูรูปที่ ๑๐ ประกอบ
เลือก tab "Column"
Column Temp. -> ปัจจุบันใช้ที่ 180°C คงที่ตลอดการวิเคราะห์
Equilibrium time -> ปัจจุบันตั้งไว้ที่ 3 นาที

รูปที่ ๑๐ การตั้งค่า Column temperature และ Equilibrium time

ในความเป็นจริงเครื่องไม่ได้วัดอุณหภูมิของ "column" แต่วัดอุณหภูมิของ "อากาศใน oven" ในการวิเคราะห์ที่มีการเปลี่ยนอุณหภูมิ (temperature programme) นั้น อุณหภูมิของ column จะตามหลังอุณหภูมิของ oven อยู่ เช่นสมมุติว่าเราวิเคราะห์แบบเพิ่มอุณหภูมิระบบขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเพิ่มจาก 120°C เป็น 180°C พอเสร็จการวิเคราะห์เราก็ต้องรอให้อุณหภูมิระบบเย็นตัวลงกลับมาที่ค่าเริ่มต้นใหม่ (120°C) เมื่ออุณหภูมิอากาศใน oven เย็นลงมาอยู่ที่ 120°C อุณหภูมิของ column จะยังสูงกว่า 120°C อยู่เล็กน้อย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอให้อุณหภูมิของ column ใกล้เคียงหรือเท่ากับอุณหภูมิของ oven ช่วงเวลาที่ต้องรอคอยนี้คือ "Equilibrium time" นั่นเอง
ถ้าเราไม่รอให้อุณหภูมิเริ่มต้นของ column เท่ากันทุกครั้ง มักจะพบว่าเวลาที่พีคออกมาจากคอลัมน์ที่ได้จากการวิเคราะห์ในแต่ละครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงไป


การตั้ง Detector temperature (หรือ FPD temperature) ดูรูปที่ ๑๑ ประกอบ
เลือก tab "FPD"
Temp. -> ต้องไม่ต่ำกว่า 100°C และไม่ควรต่ำกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่ใช้ในการวิเคราะห์โดยปรกติมักจะตั้งไว้ที่
อุณหภูมิคอลัมน์ + 20°C ดังนั้นถ้าว่ากันตามนี้เมื่อเราตั้ง Column temp. ที่ 180°C จึงควรตั้ง FPD
temp. ไว้ที่ 200°C แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ตัว FPD ร้อนเกินไป จึงตั้งเพียงแค่ 185°C ก็พอ
Sampling rate -> เป็นการตั้งความถี่ในการเก็บข้อมูลว่าถ้าให้เก็บทุก ๆ กี่มิลลิวินาที (msec) ถ้าตั้งไว้ที่ค่าเวลาน้อย ๆ (เช่น 10 หรือ 20 msec) ระบบจะเก็บข้อมูลถี่มาก (เหมาะสำหรับพีคที่สูงและแคบ) ซึ่งจะ
ทำให้จุดข้อมูลมีจำนวนมาก เท่าที่ผ่านมานั้นเราใช้เพียง 80 msec ก็เพียงพอ
Delay time -> เป็นการตั้งเวลาที่จะให้เริ่มเก็บข้อมูลหลังเริ่มกด run สำหรับเราให้ตั้งเป็น 0 min
Subtract detector -> ใช้ในกรณีที่ต้องการนำสัญญาณจาก detector ๒ ตัวมาหักลบกัน สำหรับเราให้ตั้งเป็น "none" เพราะมีเพียง detector เดียว

รูปที่ ๑๑ การตั้งค่า FPD temp. Sampling rate และ Stop time

- เมื่อตั้งค่า Condition เรียบร้อยแล้ว กด save method File
(การตั้งชื่อไฟล์ควรตั้งให้เป็นระบบ เช่นระบุ ปี-เดือน-วัน ของวันที่สร้างไฟล์ และรายละเอียดย่อ ๆ)

.๔ ส่งค่า Parameter ไปยังเครื่อง GC โดย
- เลือก "Acquisition" -> "Download Instrument Parameter"

.๕ สั่ง "System On" โดย
-เลือก Instrument -> System On

.๖ เปิดหน้าจอ GC System On โดย
- รอจนอุณหภูมิของ FPD ได้ระดับตามต้องการ (ต้องไม่ต่ำกว่า 100°C)
- เปิดวาล์วที่หัวท่อไฮโดรเจน
- เปิด pressure regulator ที่หัวท่อแก๊สโดยตั้งความดันขาออกไว้ที่ 5 kg/cm2
- ปรับความดันไฮโดรเจนเข้าเครื่องโดยการหมุนปุ่มปรับ (อยู่บนผนังด้านบนด้านหลังของตัวเครื่อง)
โดยตั้งความดันขาออกไว้ที่ 130 kPa (ดูรูปที่ ๑๒)
- เปิดวาล์วที่หัวท่ออากาศ
- เปิด pressure regulator ที่หัวท่อแก๊สโดยตั้งความดันขาออกไว้ที่ 5 kg/cm2
- ปรับความดันอากาศเข้าเครื่องโดยการหมุนปุ่มปรับ (อยู่บนผนังด้านบนด้านหลังของตัวเครื่อง)
โดยตั้งความดันขาออกไว้ที่ 50 kPa (ดูรูปที่ ๑๒)

ความดันด้านขาออกจาก pressure regulator ที่หัวถังควรสูงกว่าความดันที่จะตั้งที่ตัวเครื่อง FPD (ที่วาล์วปรับความดันในรูปที่ ๑๒) อย่างน้อยประมาณ 0.5 bar ขึ้นไป

รูปที่ ๑๒ เกจและวาล์วปรับความดันแก๊สไฮโดรเจนและอากาศสำหรับ FPD


๔.๗ การจุด flame FPD
โดยหลักแล้ว FPD จะใช้แก๊สไฮโดรเจนมากเกินพอ (เผาไหม้ไม่หมด) ปรกติแล้วเพื่อให้การจุดไฟทำได้ง่าย เรามักจะใช้ไฮโดรเจนในปริมาณมากและอากาศในปริมาณน้อย เมื่อจุดไฟติดแล้วจึงค่อยลดปริมาณไฮโดรเจนและ/หรือเพิ่มปริมาณอากาศ เพื่อให้เปลวไฟมีสัดส่วนของแก๊สผสมดังต้องการ ดังนั้นในขั้นตอนนี้ควรมีการแทรกเพิ่มเติม (ต้องได้จากการทดลองทำ) ว่าเริ่มต้นนั้นควรเปิดแก๊สไฮโดรเจนและอากาศที่ความดันเท่าใดก่อน และเมื่อจุดเปลวไฟติดแล้วจึงค่อยปรับความดันแก๊สให้เหมาะสมต่อการวิเคราะห์
พึงระลึกว่าความว่องไวของ FPD ขึ้นอยู่กับสัดส่วนไฮโดรเจนต่ออากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ด้วย

เครื่องรุ่นที่เราใช้จะปรับส่วนผสมระหว่างไฮโดรเจนกับอากาศโดยใช้การควบคุมความดันที่สั่งจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ (ดูรูปที่ ๑๓) ส่วนอัตราการไหลที่แท้จริงนั้นให้อ่านจากกราฟที่ติดอยู่หน้าตัวเครื่อง (รูปที่ ๑๔)

รูปที่ ๑๓ การตั้งค่าความดันแก๊สไฮโดรเจนและอากาศที่ไหลเข้า FPD และการจุด flame

 
พึงระลึกว่าเครื่องสามารถปรับความดันแก๊สที่ไหลเข้า detector ได้ในช่วงความดันที่ไม่สูงเกินกว่าความดันแก๊สที่ไหลเข้าเครื่อง เช่นถ้าเราปรับวาล์วความดัน (ในรูป ๑๒) สำหรับอากาศไว้ที่ 50 kPa ถ้าเราป้อนค่าความดันอากาศผ่านคอมพิวเตอร์ (รูปที่ ๑๓) ที่ค่าใด ๆ ที่ต่ำกว่า 50 kPa เครื่องก็จะปรับความดันแก๊สให้เท่ากับค่าความดันที่เราป้อนเข้าไป แต่ถ้าเราป้อนค่าความดันที่สูงกว่าความดันขาออกจากวาล์วปรับความดัน (รูปที่ ๑๒) เช่นตั้งวาล์วไว้ที่ 50 kPa แต่ป้อนค่าอ 60 kPa ผ่านคอมพิวเตอร์ ความดันแก๊สที่เข้า detector ก็จะมีเพียง 50 kPa เท่านั้น
ในระหว่างการจุด flame นั้นอาจต้องทำการปรับค่าความดันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์นี้จน flame ติดก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับค่าความดันแก๊สให้ไปอยู่ ณ ตำแหน่งที่ต้องการ

การจุด flame (รูปที่ ๑๓)
- รอจน detector temperature มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 100°C
- สั่ง Detector On โดย กดปุ่ม "On" ของ Detector
- สั่งจุด Flame โดย กดปุ่ม "On" ของ Flame ถ้า flame ไม่ติดก็ให้จุดซ้ำใหม่
- ถ้า flame ติดแล้วให้ค่อย ๆ ปรับค่าความดันของไฮโดรเจนและอากาศให้ไปอยู่ยังค่าที่ต้องการ (ไฮโดรเจน 125 kPa อากาศ 35 kPa) ระหว่างนี้ต้องคอยสังเกตสัญญาณ FPD ด้วยว่าขาดหายไปหรือไม่ ซึ่งแสดงว่า flame ดับ และต้องจุดใหม่

รูปที่ ๑๔ กราฟความสัมพันธ์ระหว่างความดันและอัตราการไหลของอากาศและไฮโดรเจน

เมื่อ flame ติดแล้ว ให้รอจน baseline นิ่ง แล้วสั่ง Zero Adjust โดยคลิกปุ่ม Zero Adjust ซึ่งอยู่ด้านขวาของ signal display
ตรงนี้ไม่แนะนำให้ทำการปรับ Zero Adjust ให้รอจน base line นิ่ง และบันทึกข้อมูลสัญญาณด้วยว่า base line ไปนิ่งที่ระดับใด เพราะข้อมูลนี้สามารถใช้ตรวจสอบได้ว่า detector มีปัญหาหรือไม่


.๘ การสร้าง file เพื่อเก็บข้อมูล
สร้างหรือเลือก Folder เพื่อเก็บ data file โดย
-คลิก File -> Select project (Folder) -> เลือก folder ที่ต้องการ (หรือคลิก new folder เพื่อสร้าง folder ใหม่)
-> คลิก close

. การฉีดสารตัวอย่าง

เครื่องนี้ติดตั้งระบบ sampling loop สำหรับฉีดสารตัวอย่างที่เป็นแก๊ส (ขนาดปริมาตรของ loop คือ 0.1 ml ขอให้บุศมาสตรวจสอบด้วย) โดยออกแบบมาเพื่อต่อ on-line กับระบบเครื่องปฏิกรณ์ ด้านขาเข้าของคอลัมน์นั้นต่อเข้ากับวาล์วฉีดสารตัวอย่าง ไม่ได้ติดตั้งคอลัมน์ไว้สำหรับฉีดสารตัวอย่างที่เป็นของเหลว (ดูรูปที่ ๑๕ ประกอบ) ดังนั้นถ้าเปิด oven ดูจะเห็นว่าจาก Injector port สำหรับฉีดสารโดยใช้ syringe ที่อยู่ทางด้านบนของตัวเครื่อง GC นั้น ข้างล่างจะไม่มีคอลัมน์ต่ออยู่

รูปที่ ๑๕ ลักษณะการต่อคอลัมน์เข้ากับระบบฉีดสารตัวอย่าง

เทคนิคการฉีดสารตัวอย่างขอให้ไปอ่านใน Memoir ๒ ฉบับต่อไปนี้
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๗๓ วันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "GC-2014 FPD กับระบบ DeNOx ตอนที่ ๕ บันทึกเหตุการณ์วันที่ ๑ มีนาคม"
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๘๓ วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๔ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๒๗)"


. ขั้นตอนการปิดเครื่อง

เป็นการสั่งการผ่านระบบคอมพิวเตอร์

.๑ สั่ง Detector OFF โดยคลิกปุ่ม "OFF" ของ Detector บน "Instrument monitor"

.๒ เปิด method "Cool Down" แล้วสั่ง Download
method "Cool Down" นี้เป็นโปรแกรมที่ทางผู้ set up ระบบเขียนไว้ให้ สามารถปรับแต่งได้

.๓ รอจนอุณหภูมิของ FPD และ INJ ต่ำกว่า 80°Cและอุณหภูมิของ Column ต่ำกว่า 40°C

.๔ สั่ง System OFF โดยเลือกคำสั่ง Instrument -> System OFF

.๕ จะพบว่าไฟ LED indicator หน้าเครื่อง GC ของ Temp และ Flow ดับ จึงปิด Software "GC Real time"
.๖ ปิด Power Switch ของเครื่อง GC

๖.๗ ปิดวาล์วที่หัวท่อแก๊ส He, H2 และอากาศที่หัวท่อแก๊สทุกท่อให้ครบ รอจนความดันใน pressure regulator ที่หัวท่อแก๊สทุกท่อลดลงเป็นศูนย์ (ทั้งด้านความดันสูงและด้านความดันต่ำ) จากนั้นจึงปิด pressure regulator ทุกตัว


. การสำรองไฟล์ข้อมูลการวิเคราะห์

หลังการวิเคราะห์แต่ละครั้ง ควรมีการสำรองไฟล์ข้อมูลเอาไว้ ไม่ควรเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว