วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทำไมต้องมานั่งเรียนในห้องเรียน (มุมมองส่วนตัวเรื่องการศึกษา ๒) MO Memoir : Tuesday 4 October 2559

มีใครก็ไม่รู้กล่าวเอาไว้นานแล้วว่า "การสอนแบบบรรยายคือการที่อาจารย์ผู้สอนส่งผ่านความรู้ที่มีเขียนไว้ในตำรา ไปให้ผู้เรียนบันทึกลงสมุดจด โดยที่ความรู้นั้นไม่ได้รับการประมวลผลทั้งในสมองของอาจารย์ผู้สอนและของผู้เรียน" (เห็นที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว แต่เห็นเป็นภาษาอังกฤษ) 
  
ซึ่งถ้าความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ (และบางส่วนมันก็เป็นเช่นนี้จริง) มันก็ทำให้เกิดคำถามว่าถ้าเช่นนั้นทำไมเราจึงต้องมานั่งเรียนในห้องเรียน ไปนั่งอ่านหนังสือเอาเองไม่ดีกว่าเหรอ
 
เคยตั้งคำถามไหมครับว่าทำไมมหาวิทยาลัยเปิดจึงสามารถเปิดการสอนในบางสาขาวิชาได้โดยให้ผู้เรียนนั้นอ่านหนังสือเรียนเอาเอง ไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่สถาบันการศึกษา พอถึงเวลาสอบก็ค่อยมาสอบ 
  
แต่จะว่าไปแล้วสาขาวิชาเหล่านั้นก็ยังต้องมีสื่อการสอนทางไกลช่วย (เช่นทางโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นหรือรวดเร็วขึ้น (คือมีคนสรุปให้ฟังแทนที่ต้องไปอ่านเอง หรือขยายความเพิ่มเติมจากเนื้อหาในตำรา) และยังต้องมีห้องสมุดเอาไว้ให้นักศึกษาได้เข้ามาค้นคว้าด้วยตนเอง



เมื่อกลางเดือนที่แล้วหลังการสอนในบ่ายวันอาทิตย์ ผมก็นั่งคุยกับนิสิตปริญญาโทภาคนอกเวลาราชการกลุ่มหนึ่ง (ที่เขามักจะมีปัญหาเรื่องภารกิจหน้าการงานจนทำให้การขาดเรียนเป็นเรื่องปรกติ) และประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในวันนั้นก็คือคำถามว่า "ทำไมจึงยังต้องมานั่งเรียนในห้องเรียน"
 
คำตอบของคำถามดังกล่าวจากมุมมองของผมก็คือ "เพราะความรู้มันไม่เดินทางไปหาคนที่อยากรู้ ทำให้คนที่อยากรู้นั้นจำเป็นต้องเดินทางเข้าหาความรู้
  
พอตอบด้วยคำตอบนี้มันก็มีคำถามตามมาอีกก็คือ "ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้คนที่อยากรู้นั้นสามารถรับความรู้ได้โดยไม่ต้องเดินทาง เขาก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนใช่ไหม
  
แต่การจะทำให้ความรู้เดินทางเข้าหาผู้เรียนได้นั้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีรองรับ

ในอดีต ก่อนยุคการพิมพ์ ความรู้ที่อาจารย์แต่ละคนมีนั้นเป็นสิ่งที่บันทึกอยู่ในสมองของอาจารย์ผู้นั้น การจะรับความรู้ได้ก็คือต้องเดินทางไปหาอาจารย์ผู้นั้นเพื่อขอให้สอนวิชาให้ ถ้าความรู้ดังกล่าวมีการบันทึกเป็นข้อความ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นการเขียนด้วยมือและคงไม่ได้มีหลายชุด การได้ความรู้นั้นก็ต้องใช้การเดินทางไปยังแหล่งที่มีบันทึกความรู้ดังกล่าวเก็บเอาไว้ เพื่อหาโอกาสศึกษาจากบันทึกความรู้นั้น กล่าวคือถ้าอยากได้วิชาความรู้ ก็ต้องเดินทางไปหาอาจารย์ผู้สอน
 
มาถึงยุคสมัยการพิมพ์ การพิมพ์ทำให้เราสามารถสร้างบันทึกความรู้ขึ้นมาได้หลายชุดในเวลาอันสั้นลง โดยทุกชุดมีข้อความเหมือนกันด้วย ทำให้การเรียนรู้นั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนจากผู้เขียนตำรา แต่สามารถเรียนได้จากตำราที่ผู้รู้นั้นเป็นคนเขียนและมีการเผยแพร่ออกไป 
  
แต่การเขียนตำรานั้นมันก็มีข้อจำกัด (จะเนื่องด้วยเทคนิคการพิมพ์ หรือค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ก็ตาม) ทำให้ผู้เขียนตำราไม่สามารถใส่รายละเอียดทั้งหมดลงในตำราได้ (เช่นถ้าเป็นตำราคณิตศาสตร์ก็คงเป็นรายละเอียดการพิสูจน์สูตรต่าง ๆ หรือรายละเอียดการคำนวณต่าง ๆ เพราะถ้าใส่ลงไปทั้งหมดก็มีหวังตำราคงจะเล่มหนามากและคงมีราคาแพงตามไปด้ว) จึงใส่ได้เฉพาะสิ่งที่สำคัญและตัวอย่างบางตัวอย่างประกอบเท่านั้น และด้วยราคาของตำรานั้นจึงทำให้ผู้เรียนส่วนหนึ่งไม่สามารถมีตำราดังกล่าวเป็นของตัวเองได้ (คือจะให้มีตำราเรียนครบทุกวิชาก็คงจะไม่ไหวเหมือนกัน) ยังต้องอาศัยการยืมอ่านจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยอยู่
 
และแม้ว่าจะมีตำราให้อ่านก็ตาม แต่ก็มีผู้อ่านเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถทำความเข้าใจในสิ่งที่ตำราละเอาไว้ได้ด้วยตนเอง (แต่อาจใช้เวลามากน้อยต่างกัน) ในขณะที่ผู้อ่านอีกส่วนหนึ่ง (เผลอ ๆ อาจเป็นส่วนใหญ่) ไม่สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่ตำราละเอาไว้ จำเป็นต้องมีผู้คอยชี้แจงหรือขยายความเพิ่มเติมให้ฟัง 
  
และนี่ก็คงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการมานั่งเรียนหนังสือกันในห้องเรียน เพื่อให้ผู้สอนนั้นช่วยย่อยและขยายความเนื้อหาต่าง ๆ ให้ฟัง (ประหยัดเวลาในการทำความเข้าใจด้วยตนเอง) ดังนั้นถ้าพิจารณาในแง่นี้ก็จะเห็นว่า หน้าที่ของผู้สอนจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การหยิบเนื้อหาในตำรามาบอกต่อโดยไม่ได้ขยายความเพิ่มเติมหรือยกตัวอย่างประกอบเพิ่มเติมให้เห็น 
  
ผมเองก็เคยโดนนิสิตประเมินว่าวิชาที่ผมสอนไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ (ผมไม่ได้เช็คชื่อ) อ่านจากเอกสารคำสอนที่ผมเตรียมไว้ให้ก็พอแล้ว ผมก็บอกว่าคำกล่าวเช่นนั้นผมถือว่าเป็นคำชม เพราะสิ่งที่ผมต้องการคือทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้เรียนนั้นสามารถเรียนเองได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาเรียน แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็เห็นมีผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียนทำข้อสอบกันไม่ได้ทุกปี ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ออกไปนั้นมันก็ใช้พื้นฐานที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่จัดเตรียมไว้ให้ คิดว่าคงเป็นเพราะว่าไม่สามารถใส่ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ ครอบคลุมได้ทุกกรณีลงไปเอกสารที่เตรียมให้ พอเอาโจทย์ที่แตกต่างไปเพียงเล็กน้อยจากตัวอย่างที่ยกมาแสดง ก็เลยมีคนที่เรียนหนังสือโดยการเทียบเคียงโจทย์กับวิธีแก้ปัญหาตามตัวอย่างที่เคยอ่านพบและเห็นว่าใกล้เคียงที่สุดมาใช้ ผลก็คือโดนข้อสอบหลอกเอาเป็นประจำทุกปี ตรงนี้ดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เรื่อง "หลอกด้วยข้อสอบเก่า" หรือล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือ Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๒๔๓ วันพุธที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ เรื่อง "การอ่านผลการทดลองการไทเทรตกรด-เบส (ตอนที่ ๓)")



เหตุผลก็เพราะมีบางสิ่งที่ไม่ปรากฏในเอกสารคำสอนและมีเพิ่มทุกปีคือ "ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน" ซึ่งตรงนี้คนที่เรียนโดยอาศัยการท่องจำ "วิธีการเฉพาะ" ของตัวอย่างต่าง ๆ พอมาเจอกับปัญหาที่ไม่เคยอ่านเจอ (แต่ยังสามารถแก้ได้ด้วยการใช้ "หลักการ") ก็เลยทำข้อสอบไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่ผมสอนหนังสือผมจึงย้ำเสมอว่าให้ยึดใน "หลักการ" เอาไว้ก่อน อย่าไปยึดกับวิธีการเฉพาะของตัวอย่างใดตัวอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกับวิชาที่เนื้อหามันเยอะมากแต่ถูกบีบให้สอนแบบรวบรัดในเวลาอันสั้น (เช่นเคมีอินทรีย์ของภาควิชาเรา ที่จากเดิมเรียนบรรยายกัน ๓ หน่วยกิต ๑๕ สัปดาห์ มาตอนนี้เหลือเพียงแค่ ๕ สัปดาห์เท่านั้นเอง สิ่งที่สอนได้ก็คือหลักการ ส่วนตัวอย่างการประยุกต์นั้นยกตัวอย่างมาได้เพียงบางเรื่องและโดยคร่าว ๆ เท่านั้น รายละเอียดที่มากขึ้นไปอีกต้องให้นิสิตไปอ่านเอาเองจากหนังสือหรือเอกสารที่เตรียมให้)
 
การเรียนภาค "ทฤษฎี" นั้นในหลายวิชา พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสามารถทำให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมานั่งเรียนในห้องเรียน แต่การเรียนภาค "ปฏิบัติ" ที่ต้องลงมือปฏิบัติในหลากหลายสาขาวิชานั้นยังจำเป็นต้องมาฝึกกับอาจารย์ผู้สอนอยู่ โดยเฉพาะพวกที่ต้องมีการใช้อุปกรณ์พิเศษ (ที่คนทั่วไปไม่ได้ติดไว้ติดบ้าน) แม้ว่าในบางเรื่องสามารถที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการเรียน สามารถที่จะเรียนได้ในระบบการศึกษาทางไกลก็ตาม (เช่นการเรียนภาษา)
 
เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ทำให้ความรู้ที่เดิมอยู่ในรูปของหนังสือขนาดใหญ่ กลายเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์บรรจุอยู่ในหน่วยความจำขนาดเล็กที่ส่งต่อและพกพาได้ง่าย และยังสามารถใส่รายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม (ไม่ว่าจะเป็นภาพสี ภาพขยายขนาดใหญ่ หรือภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ) ลงในไฟล์นั้นเพื่อทำให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาความรู้ได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนมากเหมือนกันการพิมพ์หนังสือ (ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ หนังสือที่มีภาพสี ยิ่งมีภาพมากขึ้นก็จะแพงมากขึ้น แต่สำหรับไฟล์คอมพิวเตอร์แล้วราคามันไม่ต่างกัน ต่างกันที่ขนาดของไฟล์เท่านั้น)
 
แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ มันยังไม่มีตำราวิชาความรู้พื้นฐานในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (หรือมีบ้างแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน) ที่ให้รายละเอียดมากพอชนิดที่ผู้เรียนสามารถอ่านเองแล้วเห็นภาพต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมานั่งเรียนที่ห้อง มามหาวิทยาลัยเฉพาะวันสอบก็พอ โดยเฉพาะกับตำราทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการทำแหล่งข้อมูลความรู้ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมันไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ชัดเจนเหมือนกับหนังสือ ยากที่จะทำรายได้เหมือนกับการพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย และการทำผลงานเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันเท่าใดนัก (เรียกว่าทำแล้วนำไปขอเป็นผลงานการปฏิบัติหน้าที่หรือขอความดีความชอบในหน้าที่การงานก็ไม่ได้) ด้วยเหตุนี้ทำให้การมาต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนจึงยังมีความจำเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง
 
แต่ผมว่ายังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการเผยแพร่ความรู้ออกไป คือการเก็บความรู้เหล่านั้นเอาไว้หาผลประโยชน์จากผู้ที่ต้องการเรียนรู้ความรู้ดังกล่าว

ปิดท้ายหน้ากระดาษที่ว่างอยู่ด้วยภาพบรรยากาศการสอบของนิสิตปี ๑ (วิชาภาษาอังกฤษ) เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๒๖ กันยายนที่ผ่านมาก็แล้วกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น: