จากตอนที่ ๑ นั้นจะเห็นว่าถ้าเส้นความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมา (เส้นสีน้ำเงิน) นั้นตัดกับเส้นความร้อนที่สามารถระบายออกไปได้ (เส้นสีส้ม) จุดตัดนั้นคืออุณหภูมิการทำงานที่สภาวะคงตัวของถังปฏิกรณ์ (ส่วนจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ในตอนนี้เราจะมาดูว่าถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะการทำงานเข่น มีการเพิ่มความเข้มข้นสารตั้งต้นที่ใส่เข้าไป หรือความสามารถในการระบายความร้อนออกนั้นลดต่ำลง (เช่นจากการมีคราบสกปรกบนพื้นผิวถ่ายเทความร้อน) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดได้มากแค่ไหน ก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิการเกิดปฏิกิริยาได้
กรณีแรกที่จะพิจารณาคือการเพิ่มความเข้มข้นสารตั้งต้น ที่ความสามารถในการระบายความร้อนเท่าเดิม เมื่อเพิ่มความเข้มข้นสารตั้งต้น ความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมาจะเพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเส้นทึบสีน้ำเงินไปยังเส้นประสีน้ำเงิน (รูปที่ ๓) ตราบใดที่เส้นความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกยังตัดกับเส้นความร้อนที่ระบายออกไปได้ (เส้นสีส้ม) ปฏิกิริยาก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุม และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นสารตั้งต้นสูงจนเส้นกราฟความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมานั้นสัมผัสกับเส้นความร้อนที่สามารถระบายได้ จุดนี้จะเป็นจุดสุดท้ายที่ยังสามารถควบคุมการเกิดปฏิกิริยาได้ เพราะถ้าเพิ่มความเข้มข้นสารตั้งต้นให้สูงกว่านี้ ปริมาณความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมาจะสูงกว่าความสามารถในการระบายความร้อนออก จะเกิดความร้อนสะสมในถังปฏิกรณ์ ทำให้อุณหภูมิในถังปฏิกรณ์จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น