วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2568

หอกลั่นเมทานอลระเบิดจากเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์ MO Memoir : Sunday 19 January 2568

"ในการออกแบบกระบวนการผลิตนั้น จะมองเห็นเฉพาะปฏิกิริยาที่ต้องการนั้นไม่ได้ ต้องมองให้เห็นปฏิกิริยาข้างเคียงและปฏิกิริยาที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของสารแต่ละตัว ระหว่างสารที่ผสมกันอยู่ และระหว่างสารกับพื้นผิวที่มันสัมผัส เพราะถ้าเราละมันไว้ในการออกแบบ มันอาจก่อปัญหาในการผลิตจริงได้"

ข้อความในย่อหน้าข้างบนเป็นข้อความที่ผมมักบอกกับนิสิตที่เรียนเคมีอินทรีย์กับผม เวลาที่เขาสงสัยว่าวิศวกรรมเคมีเรียนเคมีอินทรีย์ไปทำไม ในเมื่อวิชาส่วนใหญ่ในหลักสูตรเป็นวิชาคำนวณที่เกี่ยวข้องกับการหาขนาดอุปกรณ์การผลิต แถมยังมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยชอบบอกว่าเรียนไปก็ไม่ค่อยได้ใช้ เวลามีคนมาถามด้วยคำถามทำนองนี้ผมก็จะบอกเขาไปว่า ถ้าออกแบบด้วยการลอกกระบวนการที่มีอยู่แล้วของคนอื่น มันก็คงไม่ค่อยได้ใช้ เพราะทำแค่ลอกในสิ่งที่เขาทำมา แต่ถ้าต้องเริ่มต้นออกแบบกระบวนการใหม่จากศูนย์ มันตรงข้ามกัน

ดังเช่นเรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ เป็นกรณีของปฏิกิริยาข้างเคียงที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด แต่ทำให้เกิดหายนะได้

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Explosion of methanol distillation column of detergent manufacturing plant" โดย Mitsuru Arai และคณะ เผยแพร่ในเว็บ Failure Knowledge Databaese : 100 Selected Cases (https://www.shippai.org/fkd/en/lisen/hyaku_lisen.html) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ณ โรงงานผลิตสารซักฟอก (detergent) แห่งหนึ่ง

รูปที่ ๑ แผนผังกระบวนการผลิตของโรงงานที่เกิดเหตุ

โครงสร้างโมเลกุลของสารซักฟอกประกอบด้วยโครงสร้างที่มีขั้วที่ปลายข้างหนึ่ง (ใช้สำหรับการละลายน้ำ) และสายโซ่โมเลกุลที่เป็นส่วนไม่มีขั้ว (ใช้สำหรับการละลายไขมันและโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว) สารซักฟอกสังเคราะห์หลักที่เราใช้กันนั้น โครงสร้างส่วนที่มีขั้วอาจเป็นหมู่คาร์บอกซิเลต (carboxylate R-COO-) หรือซัลโฟเนต (sulphonate R-SO2O-) ข้อดึของหมู่ซัลโฟเนตเหนือหมู่คาร์บอกซิเลตคือ หมู่ซัลโฟเนตไม่จับกับไอออนที่มีประจุ 2+ ที่อยู่ในน้ำ (หลัก ๆ ก็คือ Ca2+ หรือ Mg2+ ที่พบในน้ำกระด้าง) ตกตะกอนออกมาดังเช่นที่เกิดกับหมู่คาร์บอกซิเลต

โครงสร้างโมเลกุลของส่วนที่ไม่มีขั้วนั้น กลุ่มหนึ่งประกอบด้วยวงแหวนเบนซีนที่มีหางเป็นสายโซ่ไฮโดรคาร์บอน เช่น Linear Alkyl Benzene Sulphonate (LAS) หรือ Alkyl Benzene Sulphonate (ABS) LAS เป็นสารตัวหลักในกลุ่มนี้ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการที่มันย่อยสลายได้ง่ายกว่า ABS แต่ LAS ก็ยังมีข้อเสียคือประกอบด้วยโครงสร้างวงแหวนเบนซีนที่ย่อยสลายได้ยาก มีเฉพาะส่วนสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนโซ่ตรงเท่านั้นที่ย่อยสลายได้ง่าย

กลุ่มที่สองนั้นเป็นสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนโซ่ตรง สารกลุ่มนี้มีการใช้งานน้อยกว่า (น่าจะเป็นด้วยเรื่องราคา) แต่ก็มีข้อดีคือการที่มันไม่มีโครงสร้างวงแหวนเบนซีน ทำให้การย่อยสลายนั้นเกิดได้สมบูรณ์กว่า

แหล่งที่มาสำคัญของสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนโซ่ตรงคือกรดไขมันจากพืชและสัตว์ โดยจะอยู่ในรูปโครงสร้างสารประกอบเอสเทอร์กับกลีเซอรีน (glycerine หรือบางทีก็เรียกว่ากลีเซอรอล glycerol) ที่เรียกว่าไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) การแยกสายโซ่นี้ออกมาทำได้ด้วยการใช้ปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชัน (transesterification) กับเมทานอล (methanol) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้คือเมทิลเอสเทอร์ของสารโซ่ไฮโดรคาร์บอน และกลีเซอรีน

โรงงานที่เกิดเหตุนั้นเดิมสร้างเพื่อผลิต ABS แต่ต่อมาได้รับการปรับเปลี่ยนให้ผลิตโดยใช้ไขมันจากธรรมชาติ โดยเริ่มเดินเครื่องการผลิตใหม่ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ซึ่งก็คือปีที่เกิดเหตุ กระบวนการผลิตใหม่ประกอบด้วยการนำวัตถุดิบคือเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมันมาทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน (รูปที่ ๑) จะได้สารประกอบ alkyl sulphonic acid และเมทานอลที่แยกออกมา จากนั้นจะทำการเติมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) เข้มข้น 35% เพื่อทำการฟอกสีผลิตภัณฑ์ (ขั้นตอน bleaching) ขั้นตอนต่อไปคือทำการสะเทินกรดที่เหลืออยู่ด้วยเบส (ขั้นตอน neutralization) ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังขั้นตอนการทำให้เข้มข้นและแยกผลิตภัณฑ์เพื่อแยกผลิตภัณฑ์และสารผสม น้ำ+เมทานอล และส่งสารผสมดังกล่าวไปทำการกลั่นแยกน้ำและเมทานอลออกจากกัน

จุดเด่นของกระบวนการนี้คือการใช้เมทานอลร่วมกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในการฟอกสีผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางบริษัทถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของทางบริษัท

นับตั้งแต่ปลายปีค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ทางโรงงานได้มีการทดสอบการทำงานของหอกลั่น และเมื่อเริ่มเดินเครื่องการผลิตในต้นปีค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ได้มีการเดินเครื่องเพื่อผลิตและหยุดเดินเครื่องรวมทั้งสิ้น ๖ ครั้ง โดยถือว่าเป็นการฝึกพนักงานและทำการปรับค่าปริมาณสารในระบบ และในระหว่างการเดินเครื่องผลิตแต่ละทางโรงงานก็ได้มีการหยุดเดินเครื่องหลายครั้ง โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความเข้มข้นของสารในกระบวนการ

การเริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งที่แปด เริ่มในเวลา ๒๑.๓๕ น ของวันที่ ๑๙ มิถุนายน ในขณะนั้นหอกลั่นแยกเมทานอลทำงานในสภาวะ "total reflux" (คือไม่มีการดึงของเหลวที่ควบแน่นที่ยอดหอออกจากระบบ แต่ป้อนกลับเข้าหอกลั่นทั้งหมด) และเริ่มเดินเครื่องหน่วย sulfonation process และเมื่อเวลาประมาณ ๒.๓๐ น ของวันที่ ๒๐ มิถุนายน ก็เริ่มมีการป้อนสารจาก sulfonation process เข้าสู่หอกลั่นแยกเมทานอล

เวลาประมาณ ๑.๒๐ น ของวันที่ ๒๖ มิถุนายนพบว่าตัววัดพีเอขของหน่วย neutralization process ไม่ทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานของระบบควบคุมอัตโนมัติก่อนหน้านั้นอิงอยู่บนค่าการวัดที่ผิดพลาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากหน่วย neutralization process นั้นมีค่าพีเอชในช่วงกรด (แสดงว่าก่อนหน้านั้นมีการป้อนสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์นั้นน้อยเกินไป) จึงได้ทำการปรับการควบคุมเป็น manual และทำการเติมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และโซเดียมไฮดรอกไซด์ตามค่าพีเอชที่วัดได้

ทางโรงงานเริ่มดำเนินกระบวนการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมอุปกรณ์วัดค่าพีเอช และเมื่อถึงเวลา ๙.๑๕ น หอกลั่นแยกเมทานอลก็ทำงานในภาวะ "total reflux" อีกครั้ง

เวลา ๑๐.๑๕ น เกิดการระเบิดที่ส่วนบนของหอกลั่นแยกเมทานอล แรงระเบิดทำให้หอกลั่นได้รับความเสียหายตามด้วยเพลิงไหมติดตามมา แรงระเบิดมีค่าประมาณเทียบเท่าระเบิด TNT 10-50 กิโลกรัม สะเกิดที่ปลิวออกไปทำให้มีผู้เสียขีวิต ๒ รายและบาดเจ็บ ๑๓ ราย

รูปที่ ๒ รูปซ้ายแสดงตำแหน่งของหอกลั่นที่เกิดการระเบิด รูปขวาเป็นภาพถ่ายหอกลั่นหลังการระเบิด

การสอบสวนพบว่าสาเหตุของการระเบิดเกิดจากการสะสมของเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์ (H3C-O-O-H methyl hydroperoxide) บริเวณตำแหน่ง tray ที่ 26 ในปริมาณมาก และเมื่อสารนี้สลายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการคายความร้อนปริมาณมากในเวลาอันสั้น ส่งผลให้ของเหลวในบริเวณดังกล่าวกลายเป็นไอในปริมาณมากในเวลาอันสั้น ความดันในหอกลั่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้หอกลั่นระเบิด

ว่าแต่เมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์มาจากไหน

เมทานอลสามารถทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน (ปฏิกิริยา esterification) ได้สารประกอบไดเมทิลซัลเฟต (dimethyl sulphate) เป็นผลิตภัณฑ์ดังสมการ

2H3C-OH + H2SO4 -----> H3C-O-S(O)2-O-CH3

ไดเมทิลซัลเฟตสามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์โดยมีเบสร่วม (ดูตัวอย่างวิธีการเตรียมในรูปที่ ๓) จะได้เมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์และไดเมทิลเปอร์ออกไซด์ (dimethyl peroxide H3C-O-O-CH3 ) ที่เป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียง

รูปที่ ๓ วิธีการเตรียมเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (รวมทั้งเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์) เป็นสารที่ไม่เสถียร แต่ในช่วงพีเอชที่เป็นกรดนั้นจะมีเสถียรภาพสูงขึ้น (ดูหมายเหตุเพิ่มเติมข้างล่าง) ในขณะที่ในช่วงพีเอขที่เป็นเบสนั้นจะเร่งการสลายตัว การป้อนสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์น้อยเกินไป (ผลจากอุปกรณ์วัดค่าพีเอชไม่ทำงาน) ทำให้เปอร์ออกไซด์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกทำลายในขั้นตอน neutralization แต่ระเหยกลายเป็นไอปนไปกับน้ำและเมทานอลที่ป้อนเข้าสู่หอกลั่นแยกเมทานอล การที่ค่าพีเอชในขั้นตอน neutralization อยู่ในช่วงที่เป็นกรดนานต่อเนื่องกันหลายวัน จึงทำให้เกิดเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์ในปริมาณที่มากขึ้น และเมื่อหอกลั่นเดินเครื่องในสภาวะ total reflux จึงไม่มีการดึงเอาเมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์ออกจากหอกลั่น ผลการทำ simulation สารผสม น้ำ-เมทานอล-เมทิลไฮโดรเปอร์ออกไซด์แสดงให้เห็นว่าการสะสมจเกิดมากที่สุดที่บริเวณ tray ที่ 26 ที่เกิดการระเบิด

(หมายเหตุเพิ่มเติม : จากประสบการณ์ที่เคยทำการทดลองกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ กรดที่แตกตัวให้ H+ เช่น H2SO4 และ H3PO4 ช่วยลดการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่ถ้าเป็น HCl จะเร่งการสลายตัว (ปัญหาอยู่ที่ Cl-) ไอออนบวกที่มีความป็นกรดสิวอิสที่แรงพอ ก็จะเร่งการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เช่นกัน ดังนั้น "ห้าม" จำว่าสภาวะที่ค่าพีเอชเป็นกรดนั้น จะเพิ่มเสถียรภาพของเปอร์ออกไซด์เสมอ)

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2568

API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๖) MO Memoir : Thursday 9 January 2568

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน

ต่อไปเป็นหัวข้อ 5.4 Production Testing (รูปที่ ๑) ที่เป็นการทดสอบอุปกรณ์ของผู้ผลิตอุปกรณ์ระบายความดัน

หัวข้อ 5.4.1 เป็นเรื่องทั่วไป กล่าวว่าผู้ผลิตอุปกรณ์ควรทำการทดสอบอัตราการรั่วไหลและปรับค่าความดันที่กำหนดไว้สำหรับอุปกรณ์ระบายความดัน/สุญญากาศแต่ละตัว การทดสอบควรกระทำบนชุดทดสอบที่มีคุณลักษณะเป็นไปตามสภาวะดังต่อไปนี้ (รูปชุดอุปกรณ์ทดลองอยู่ในตอนที่ ๑๔ หัวข้อ 5.2)

a) วาล์วควรจะติดตั้งเข้ากับถังเก็บแก๊สที่มีขนาดถังที่ลดผลกระทบจากการไหลให้เหลือน้อยที่สุด

b) ความดันลดระหว่างถังเก็บแก๊สแก๊สและวาล์วที่ทำการทดสอบควรมีค่าน้อยจนสามารถตัดทิ้งได้

c) การวัดความดันควรทำการวัดที่ถังเก็บแก๊ส

d) อัตราการไหลสูงสุดของแก๊สที่ป้อนเข้าถังเก็บแก๊สควรมีค่ามากกว่าเกณฑ์การรั่วไหลของวาล์วระบายความดัน/สุญญากาศที่ได้ระบุไว้ และน้อยกว่าความสามารถในการระบายความดันของวาล์วระบายความดัน/สุญญากาศอย่างมาก (หมายเหตุ : ถ้าเป็นวาล์วระบายความดัน จะใช้การอัดแก๊สเข้าถังเก็บแก๊ส แต่ถ้าเป็นวาล์วระบายสุญญากาศ จะใช้การดูดแก๊สออกจากถังเก็บแก๊ส)

e) หน้าแปลนที่ทำการติดตั้งวาล์วระบายความดันต้องได้ระดับ (กล่าวคือขนานไปกับพื้น)

รูปที่ ๑ หัวข้อ 5.4 การทดสอบของผู้ผลิตอุปกรณ์ระบายความดัน

หัวข้อ 5.4.2 (รูปที่ ๒) เป็นเรื่องของการทดสอบการรั่วไหล เป็นการกำหนดวิธีการทดสอบยืนยันอัตราการรั่วไหลสูงสุดสำหรับการระบายความดัน/สุญญากาศ

a) อัตราการรั่วไหลต้องน้อยกว่าค่าที่ระบุไว้ในตารางที่ 10 ที่ค่าความดัน 75% ของความดันที่ปรับตั้งไว้

b) ความดันด้านขาเข้า (อุปกรณ์ระบายความดัน) ที่วัดได้ควรมีค่ามากกว่า 75% ของความดันที่ปรับตั้งไว้ ที่ค่าอัตราการรั่วไหลสูงสุดที่ระบุไว้ในตารางที่ 10 (คือถ้าอัตราการรั่วไหลสูงที่ค่าความดันขาเข้าต่ำ ก็แสดงว่าวาล์วปิดได้ไม่สนิทดี)

ถ้าต้องการให้วาล์วปิดแนบสนิทมากขึ้นไปอีก (คือมากกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อให้อัตราการรั่วไหลสูงสุดนั้นลดลงไปอีก) ทางผู้ซื้อควรต้องระบุไว้ในคำสั่งซื้อ

รูปที่ ๒ หัวข้อ 5.4.2 วิธีการทดสอบอัตราการรั่วไหล

รูปที่ ๓ เป็นห้วข้อ 5.4.3 ที่กล่าวถึงวิธีการระบุค่าความดันตั้งค่าที่ได้ปรับแต่งไว้ โดยย่อหน้าแรกกล่าวว่าอุปกรณ์ทดสอบการไหลควรจำกัดค่าอัตราการไหลสูงสุดที่ไหลเข้าสู่ถังเก็บที่ระดับที่ทำให้สามารถเห็นค่าความดันในถังเก็บที่วัดได้นั้นมีค่าลดลงเมื่อค่าความดันในถังเก็บสูงถึงค่าความดันที่ทำให้อุปกรณ์ระบายความดันทำงาน เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น (ในกรณีของวาล์วระบายความดันที่ทำการอัดแก๊สเข้าถังเก็บ) ค่าความดันตั้งค่าที่ได้ปรับแต่งไว้ควรจะเป็นค่าความดันที่เมื่อเพิ่มค่าอัตราการไหลจะไม่ทำให้ความดันในถังเก็บเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีของการระบายความดันสุญญากาศนั้น (ดูดแก๊สออกจากถังเก็บ) ค่าความดันสุญญากาศที่ตั้งไว้ควรเป็นค่าความดันที่การเพิ่มอัตราการไหล (ออกจากถังเก็บ) ไม่ทำให้ความดันในถังเก็บลดต่ำลง

สำหรับวาล์วชนิด pilot-operated valve การปรับตั้งค่าความดันให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 4126-4 (Safety devices for protection against excessive pressure — Part 4: Pilot operated safety valves)

รูปที่ ๓ หัวข้อ 5.4.3 วิธีการระบุค่าความดันตั้งค่าที่ได้ปรับแต่งไว้

วาล์วระบายความดันทั่วไปจะใช้แรงสปริงกดต้านความดันใน pressure vessel แต่ pilot operated valve (รูปที่ ๔) จะใช้ท่อเล็ก ๆ นำแก๊สส่วนหนึ่งใน pressure vessel (ที่อยู่ข้างใต้ตัววาล์ว) ไหลผ่านตัว pilot มากดทางด้านบนให้ตัววาล์วปิด เมื่อความดันใน pressure vessel สูงถึงระดับหนึ่ง ตัว pilot จะถูกแรงดันให้ยกตัวขึ้น ซึ่งการเคลื่อนตัวขึ้นจะไปตัดการเชื่อมต่อไม่ให้แก๊สที่อยู่ใน pressure vessel ไหลเข้ามากดตัววาล์วทางด้านบนได้ พร้อมกับระบายความดันที่กดตัววาล์วทางด้านบนอยู่นั้นออกไป วาล์วก็จะเปิดทันที ข้อดีข้อหนึ่งของวาล์วแบบนี้คือไม่มีปัญหาเรื่อง back pressure ทางด้านขาออก แต่แก๊สที่เกี่ยวข้องนั้นต้องสะอาดและไม่ทำให้ท่อที่นำแก๊สนั้นอุดตันได้

รูปที่ ๔ การทำงานของ pilot operated pressure relief valve (รูปจาก https://www.awc-inc.com/farris-how-to-choose-between-conventional-and-pilot-operated-pressure-relief-valves/)

รูปที่ ๕ เป็นหัวข้อหลักหัวข้อสุดท้าย โดยเป็นหัวข้อที่ 6 ที่เป็นเรื่องของการจัดทำเอกสารของผู้ผลิตและการทำเครื่องหมายบนตัวอุปกรณ์ระบายความดัน (ถัดจากหัวข้อนี้เป็นภาคผนวกแล้ว)

หัวข้อ 6.1 เป็นเรื่องของการเตรียมเอกสาร โดยวาล์วควรมีใบรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย และมีการระบุค่าความดันที่ตั้งค่าไว้, ค่าความดันสุญญากาศที่ตั้งค่าไว้ และค่าอัตราการไหลที่ค่าความดันสูงเกินที่ได้ระบุไว้หรือ ค่าความดันในการออกแบบของถัง และค่าความดันสุญญากาศของถัง

ใบรับรองควรต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยต่อไปนี้คือ คำบรรยายคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ และผลการทดสอบที่จำเป็นทั้งหมดที่ระบุไว้ในหัวข้อ 5.4

และควรต้องมีไดอะแกรม อัตราการไหล/การสูญเสียความดัน (flow capacity curve) หรือสัมประสิทธิ์การระบาย (coefficient of discharge) สำหรับวาล์วระบายความดันตัวดังกล่าว

ห้วข้อ 6.2 เป็นเรื่องของการทำเครื่องหมาย โดยหัวข้อ 6.2.1 เป็นเรื่องของความต้องการทั่วไป หัวข้อนี้กล่าวว่าสำหรับอุปกรณ์ระบายความดันแต่ละตัว (ช่องเปิด, วาล์วระบายความดัน/สุญญากาศ, หรือ pilot operated relief valve) ควรได้รับการทำเครื่องหมายข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการ การทำเครื่องหมายอาจทำด้วยการตอก, การกัด, การประทับ, หรือหล่อไว้บนลำตัววาล์วหรืออยู่บนแผ่นป้าย (name plate) ที่ถูกยึดติดกับตัววาล์ว

รูปที่ ๕ เริ่มหัวข้อที่ 6 เรื่องการจัดทำเอกสารของผู้ผลิตและการทำเครื่องหมายบนตัวอุปกรณ์ระบายความดัน

หัวข้อ 6.2.2 (รูปที่ ๖) เป็นส่วนของช่องเปิด (Open vent) โดยกล่าวว่าการทำเครื่องหมายต้องมีรายการอย่างน้อยต่อไปนี้

a) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต

b) หมายเลขการออกแบบหรือชนิดของผู้ผลิต

c) ขนาดท่อทางเข้าของอุปกรณ์

d) ความสามารถในการระบายที่ค่าความดันการออกแบบของถัง และค่าความดันลบภายในถังที่ใช้ในการออกแบบ ในหน่วยลูกบาศก์เมตรมาตรฐานต่อชั่วโมง (normal cubic meters per hour หรือ SCFH - Standard Cubic Feet per Hour) ของอากาศ (ตรงนี้ระวังให้ดีเรื่องสภาวะมาตรฐานว่าเป็นค่าที่อุณหภูมิและความดันเท่าใด เพราะอาจมีนิยามที่แตกต่างกันอยู่)

หัวข้อ 6.2.3 เป็นส่วนของวาล์วระบายความดันสูงเกิน (Pressure relief valve) โดยกล่าวว่าการทำเครื่องหมายต้องมีรายการอย่างน้อยต่อไปนี้

a) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต

b) หมายเลขการออกแบบหรือชนิดของผู้ผลิต

c) ขนาดท่อทางเข้าของอุปกรณ์

d) ค่าความดันที่ตั้งไว้ ในหน่วย กิโลปาสคาล (หรือ มิลลิบาร์, ปอนด์ต่อตารางนิ้ว, ออนซ์ต่อตารางนิ้ว, หรือนิ้วน้ำ - สองหน่วยหลังนี้ใช้กับความดันต่ำ ๆ)

e) ค่าความสามารถในการระบายที่ค่าความดันระบายออกที่ระบุไว้ (ความดันเกจ) ในหน่วยลูกบาศก์เมตรมาตรฐานต่อชั่วโมง (normal cubic meters per hour หรือ SCFH - Standard Cubic Feet per Hour) ของอากาศ (ตรงนี้ระวังให้ดีเรื่องสภาวะมาตรฐานว่าเป็นค่าที่อุณหภูมิและความดันเท่าใด เพราะอาจมีนิยามที่แตกต่างกันอยู่)

f) ความดันที่ระบายออก (ความดันเกจ)

รูปที่ ๖ หัวข้อ 6.2.2 - 6.2.3

หัวข้อ 6.2.4 (รูปที่ ๗) เป็นส่วนของวาล์วระบายความดันสุญญากาศ (Vacuum relief system) โดยกล่าวว่าการทำเครื่องหมายต้องมีรายการอย่างน้อยต่อไปนี้

a) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต

b) หมายเลขการออกแบบหรือชนิดของผู้ผลิต

c) ขนาดท่อทางเข้าของอุปกรณ์

d) ค่าความดันสุญญากาศที่ตั้งไว้ ในหน่วย กิโลปาสคาล (หรือ มิลลิบาร์, ปอนด์ต่อตารางนิ้ว, ออนซ์ต่อตารางนิ้ว, หรือนิ้วน้ำ - สองหน่วยหลังนี้ใช้กับความดันต่ำ ๆ)

e) ค่าความสามารถในการระบายที่ค่าความดันสุญญากาศที่ระบุไว้ ในหน่วยลูกบาศก์เมตรมาตรฐานต่อชั่วโมง (normal cubic meters per hour หรือ SCFH - Standard Cubic Feet per Hour) ของอากาศ (ตรงนี้ระวังให้ดีเรื่องสภาวะมาตรฐานว่าเป็นค่าที่อุณหภูมิและความดันเท่าใด เพราะอาจมีนิยามที่แตกต่างกันอยู่)

f) ความดันสุญญากาศที่ระบายเข้า

(พึงสังเกตว่าในหัวข้อความดันสุญญากาศนี้ไม่ได้มีการระบุความดันเกจเหมือนกรณีการระบายความดันที่สูงกว่าความดันบรรยากาศ)

หัวข้อ 6.2.4 เป็นกรณีของอุปกรณ์ที่สามารถทำงานทั้งการระบายความดันสูงเกิน (pressure relief) และป้องกันการเกิดสุญญากาศ (vacuum relief) โดยกล่าวว่าการทำเครื่องหมายให้ทำทั้งที่ระบุไว้ในหัวข้อ 6.2.2 และ 6.2.3

รูปที่ ๗ หัวข้อ 6.2.4 ถึง 6.2.6

หัวข้อ 6.2.6 เป็นหัวข้อสุดท้าย เป็นกรณีของอุปกรณ์ระบายความดันที่มีการติดตั้ง flame arresters (ดักเปลวไฟ) หรือ detonation arresters (ดักคลื่นการระเบิด) ร่วมอยู่ด้วย หรืออุปกรณ์ระบายความดันที่มี flame arresters หรือ detonation arresters ติดตั้งอยู่ในตัว โดยกล่าวว่าให้ทำตามมาตรฐาน, USCG 33 CFR Part 154 หรือ FM 6061

ISO 16852 คือเรื่องของ "Flame arresters"

USCG คือ United States Coast Guard ส่วน CFR คือ Code of Federal Regulations ข้อกำหนด USCG 33 CFR PART 154 คือ "Facilities transferring oil or hazardous material in bulk"

FM 6061 คือ "Examination standard for flame arresters : Class number 6061" (FM Approval เป็นหน่วยงานที่ทำการทดสอบและให้การรับรองผลิตภัณฑ์)

ตัวเนื้อหาหลักของ API 2000 จบลงตรงแค่นี้ ถัดไปจะเป็นส่วนของภาคผนวก