วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศุกร์ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ MO Memoir : Friday 28 May 2553


เคยมีอาจารย์คนหนึ่งเสนอว่านิสิตที่ยังไม่ผ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้เข้ามาทำการทดลองในแลป ผมก็เลยถามขึ้นมากลางที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาก็เห็นมีการเรียกให้ผู้ที่พึ่งจะผ่านการสอบคัดเลือก และยังไม่ได้เริ่มเปิดเรียนเลย ให้เข้ามาทำการทดลองก่อนลงทะเบียนเป็นนิสิต เพื่อให้ (ว่าที่) อาจารย์ที่ปรึกษานั้นมีผลการทดลองที่ต้องการ แล้วเรื่องนี้จะจัดการอย่างไร

รูปที่แสดงนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ระบุไว้ในหัวข้อบทความ ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์มีทั้งนิสิตป.โทที่พึ่งเข้ามาใหม่ ไปจนถึงนิสิตป.เอกที่เรียนมาหลายปีแล้ว เหตุการณ์เป็นอย่างไรเคยเล่าไว้แล้ว ถ้าอยากรู้ก็ลองไปค้นดูฉบับเก่า ๆ

ที่เอามาเล่าใหม่ครั้งนี้เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้ลงรูปถ่ายเอาไว้ และคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้นก็กำลังจะจากไปกันจนหมดแล้ว


รูปที่ 1 สภาพโดยรวมของความเสียหาย


รูปที่ 2 บริเวณที่เกิดเหตุ ขณะนั้นพอจะเรียกได้ว่าเพลิงไหม้อยู่ภายใต้การควบคุม คือสารเคมีหยุดลุกติดไฟแล้ว แต่ยังต้องทำการเคลื่อนย้ายและกำจัดสารเคมีที่หก ซึ่งถ้าทำไม่ดีก็จะลุกติดไฟขึ้นมาใหม่อีก โชคดีที่ส่วนที่อยู่เหนือเปลวไฟเป็นวงจรไฟฟ้ากำลัง (ซึ่งซ่อมได้ง่ายและหาชิ้นส่วนในประเทศได้) ส่วนผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ติดตั้งอยู่อีกทางด้านหนึ่ง เลยไม่ได้รับความเสียหาย (ถ้าเสียหายทีคงต้องรอชิ้นส่วนจากต่างประเทศ)


รูปที่ 3 อีกมุมมองหนึ่ง


รูปที่ 4 มอเตอร์ที่ได้รับความเสียหายจากเปลวไฟที่เกิดจากการใช้ฉีด "เมทานอล" เข้าไปดับไฟ จะว่าไปแล้วตำแหน่งบริเวณนี้ไม่ควรมี "ลังกระดาษ" ซึ่งเป็นวัสดุเชื้อเพลิงวางอยู่ด้วย แต่บังเอิญไฟลุกไหม้ขึ้นด้านบน ลังกระดาษก็เลยรอดพ้นจากการลุกติดไฟ ไม่เช่นนั้นความเสียหายอาจจะเพิ่มขึ้นอีก


รูปที่ 5 อีกมุมมองหนึ่งของความเสียหาย


รูปที่ 6 ความร้อนของเปลวไฟทำให้แผงหน้าปัดของเกจวัดความดันเสียหายไปด้วย


รูปที่ 7 ความเสียหายของเกจวัดความดันอีกตัวหนึ่ง


รูปที่ 8 ถาดอะลูมิเนียมที่ใส่ perlite ที่ใช้กลบสารเคมี ตอนที่เกลี่ย perlite ให้สัมผัสกับอากาศจะเห็นเปลวไฟสีฟ้าอ่อนที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีกับอากาศลุกติดขึ้นมา (แต่ถ่ายภาพไม่ติด) ในขณะนี้สามารถทำลายสารเคมีโดยการค่อย ๆ เติมน้ำลงไปในถาด สังเกตดูการเกิดปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับสารเคมีด้วย ถ้าเกิดไม่รุนแรงก็สามารถเติมได้เร็วขึ้นจนเต็มถาด (ซึ่งจะเป็นการทำลายสารเคมีจนหมดและยังลดความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี)

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปิด control valve MO Memoir : Thursday 27 May 2553

ใน memoir ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงวิธีแก้ขัดในกรณีที่ประสบปัญหา control valve มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ไม่สามารถให้อัตราการไหลสูงดังต้องการได้ ฉบับนี้ก็เลยขอแถมเรื่องเกี่ยวกับ control valve อีกเรื่องหนึ่ง คือการปิด control valve เพื่อนำเอา control valve ออกมาซ่อมแซม (หรือเปลี่ยนตัวใหม่) โดยที่กระบวนการผลิตยังคงทำงานอยู่

รูปที่ 1 ข้างล่างแสดงตัวอย่างระบบ piping ของการติดตั้ง control valve


รูปที่ 1 การติดตั้งวาล์วควบคุมการไหล (flow control valve)


โดยปรกติแล้วตัว control valve (1) จะมี block valve (มักใช้วาล์วชนิด on-off เช่น gate valve หรือ ball valve) อยู่ทางด้านขาเข้าและขาออก (block valve (2) และ (3)) และมี bypass line ที่มักติดตั้งวาล์ว (bypass valve (4)) ชนิดที่ควบคุมการไหลได้ (เช่น globe valve) เอาไว้ และมี drain valve (5) สำหรับระบายของเหลวหรือแก๊สที่ตกค้างอยู่ในระบบท่อเมื่อต้องการถอด control valve (1) ไปซ่อม

ในระหว่างการทำงานปรกตินั้น block valve (2) และ (3) จะเปิดเต็มที่ bypass valve (4) จะปิดสนิท และ drain valve (5) จะปิดสนิท ส่วน control valve (1) จะเปิดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ส่งมาจาก Flow controller (FC)

ถ้าหากว่า control valve (1) มีปัญหา ทำให้จำเป็นต้องมีการถอดเอาออกไปซ่อม เราก็สามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยุดการเดินเครื่องกระบวนการผลิต ขั้นตอนการถอด control valve (1) ออกไปซ่อมทำได้โดย


(ก) ค่อย ๆ เปิด bypass valve (5) ซึ่งจะทำให้มีการไหลผ่าน bypass line เมื่อเริ่มเปิด bypass valve (5) จะทำให้อัตราการไหลเพิ่มสูงขึ้น FC จะส่งสัญญาณไปทำให้ control valve (1) ค่อย ๆ ปิดตัวลงเพื่อลดอัตราการไหลให้คงเดิม

(ข) เมื่อเปิด bypass valve (5) มากพอจนพบว่า control valve (1) ปิดสนิทแล้ว ก็ให้หยุดการเปิด bypass valve (5) ในขณะนี้การไหลทั้งหมดจะไหลผ่านทาง bypass line

(ค) ปิด block valve (2) และ (3) ให้สนิท

(ง) เปิด drain valve (5) เพื่อระบายของเหลวหรือแก๊สที่ตกค้างอยู่ในท่อช่วงระหว่าง block valve (2) และ (3) ออกให้หมด

(จ) จากนั้นก็สามารถถอดเอา control valve (1) ออกไปทำการซ่อมบำรุงได้


และเมื่อทำการซ่อม control valve (1) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำ control valve (1) มาติดตั้งคืนเดิม และทำการเปลี่ยนเส้นทางการไหลให้ไหลผ่าน control valve (1) แทนการไหลผ่าน bypass line ดังนี้


(ก) เปิด block valve (3) และค่อย ๆ เปิด block valve (2) ให้เต็มที่ ในขณะนี้ FC ควรสั่งให้ control valve (1) ปิดสนิท

(ในการติดตั้ง control valve กลับคืนเดิมนั้น ระบบท่อที่อยู่ระหว่าง block valve (2) และ (3) จะมีอากาศอยู่ภายใน ถ้าเราไม่ต้องการให้มีอากาศปนเข้าไปในกระบวนการผลิต ก็ต้องทำการไล่อากาศออกจากระบบท่อช่วงนี้ก่อนที่จะทำการเปิด block valve (2) และ (3))

(ข) ค่อย ๆ ปิด bypass valve (4) ซึ่งจะทำให้อัตราการไหลลดลง FC จะไปสั่งเปิด control valve (1) เพื่อให้อัตราการไหลกลับมาคงเดิม

(ค) ปิด bypass valve (4) ต่อไปเรื่อย ๆ จนวาล์วปิดสนิท ในขณะนี้ control valve (1) ก็จะกลับมาควบคุมอัตราการไหลเหมือนเดิม


วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น ก่อนนำไปปฏิบัติควรตรวจสอบก่อนว่าต้องทำการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมขั้นตอนอะไรบ้าง เพื่อให้เข้ากับระบบ piping ที่ทำงานจริงและกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฝึกงานภาคฤดูร้อน ๒๕๕๓ ตอนที่ ๑๐ สรุปคำถาม MO Memoir : Tuesday 25 May 2553


จากการที่ได้ไปนั่งฟังการนำเสนอผลการทำงานในช่วงฝึกงานของนิสิตวิศวกรรมเคมีทั้ง ๖ กลุ่มในช่วงเช้าเมื่อวานที่ผ่านมา เห็นว่ามีบางคำถามที่น่าสนใจที่ควรนำมาพิจารณาเพิ่มเติมหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นที่ผู้ถามต้องการทราบ เนื่องจากเวลาในการนำเสนอค่อนข้างสั้นและผมก็ไม่อยากซักถามอะไรผู้นำเสนอ (เห็น ๆ กันอยู่ว่าแค่นี้ก็แทบแย่แล้ว) ก็เลยขอรวบรวมข้อสังเกตและข้อสงสัยต่าง ๆ ไว้ในบันทึกฉบับนี้
อนึ่งเนื่องจากในแต่ละเรื่องนั้นผมไม่ทราบรายละเอียดการทำงานทั้งหมด ดังนั้นข้อสงสัยบางข้อนั้นผู้ที่ทำงานจึงอาจมีคำตอบอยู่เรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาด้านภาษาทำให้การถามตอบนั้นขาดความชัดเจน และเนื่องจากผมไม่ได้เห็นระบบของจริง ความคิดเห็นในบางเรื่องนั้นอาจจะนำไปใช้ในทางปฏิบัติไม่ได้


คำถามที่ ๑ Pay back period ของ heat exchanger

รูปข้างล่างเป็นแผนผังอย่างง่ายของกระบวนการให้ความร้อนแก่น้ำมันก่อนส่งเข้า furnace ในกระบวนการดังกล่าวสายน้ำมันที่ป้อนเข้าเตาเผา (furnace) (สายสีเขียว) จะได้รับความร้อนจากสายน้ำมันร้อนสายอื่น (สายสีแดง) ที่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) ทำให้น้ำมันที่ป้อนเข้า furnace มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะไปช่วยลดพลังงานความร้อนที่ต้องจ่ายให้ที่ furnace


แต่มีปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ตัว heat exchanger เกิดการ fouling เพิ่มมากขึ้นตามเวลา ทำให้ความสามารถในการแลกเปลี่ยนความร้อนลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นเพื่อที่จะให้สามารถดึงความร้อนจากสายสีแดงได้มากเหมือนเดิม จึงได้มีการเสนอให้มีการทำความสะอาด heat exchanger
ถ้าช่วงเวลาที่จะทำความสะอาด heat exchanger นั้นตรงกับช่วง annual shut down ของโรงงานพอดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดขึ้นระหว่างช่วง annul shut down จะต้องมีการ bypass ตัว heat exchanger ตัวนั้นโดยให้น้ำมันในสายสีเขียวนั้นไหลไปยัง furnace โดยตรง
การให้น้ำมันสายสีเขียวไม่ไหลผ่าน heat exchanger จะทำให้อุณหภูมิของน้ำมันสายสีเขียวก่อนเข้า furnace นั้นต่ำกว่าเมื่อน้ำมันสายสีเขียวไหลผ่าน heat exchanger ดังนั้นเพื่อให้อุณหภูมิของน้ำมันสายสีเขียวที่ออกจาก furnace นั้นคงเดิม จะต้องเพิ่มพลังงาน (ซึ่งก็คือปริมาณเชื้อเพลิงนั่นเอง) ที่ต้องป้อนเข้าที่ furnace
การเพิ่มพลังงานที่ต้องป้อนเข้าที่ furnace จะต้องกระทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำความสะอาด heat exchanger เสร็จแล้วนำกลับเข้าระบบใหม่
คำถามที่ถามตอนนั้นคือ พลังงานความร้อนที่จะดึงออกมาได้เพิ่มขึ้นจากสายสีแดงหลังจากที่ทำความสะอาด heat exchanger เรียบร้อยแล้ว (น่าจะคิดในช่วงเวลาหลังจากที่ทำความสะอาดเสร็จจนถึงเวลาที่ทำการ annual shut down) กับพลังงานที่ต้องป้อนเพิ่มเข้าไปที่ furnace ในระหว่างการทำความสะอาด heat exchanger นั้น (คิดในช่วงเวลาที่ต้องทำความสะอาด heat exchanger) ส่วนไหนมีค่ามากกว่ากัน ถ้าหากพลังงานที่ดึงออกมาได้เพิ่มขึ้นจากสายสีแดงนั้นสูงกว่าพลังงานที่ป้อนเข้าเพิ่มเติมที่ furnace ในระหว่างการทำความสะอาด ก็แสดงว่าการทำความสะอาดนั้นจะช่วยให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น
pay back period ในกรณีนี้คือต้องใช้เวลาเท่าใดจึงพลังงานที่สามารถประหยัดได้ (คือพลังงานที่ดึงได้เพิ่มขึ้นจากสายสีแดง) จึงจะเท่ากับพลังงานที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมในระหว่างการทำความสะอาด heat exchanger (คือพลังงานที่ต้องป้อนเข้าเพิ่มเติมที่ furnace ในระหว่างการทำความสะอาด heat exchanger)

คำถามที่ ๒ เรื่องของ Equation of state

สิ่งหนึ่งที่ผมมักถามเป็นประจำเวลาที่มีคนมาถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผล simulation ของหอกลั่นตรงกับผลการวัดจริงของโรงงาน และสิ่งหนึ่งที่ผมถามกลับเป็นประจำคือใช้ Equation of state (EOS) ของใคร
Equation of state นั้นมีอยู่หลายสมการ ที่เห็นใช้กันมากก็ได้แก่สมการ SRK (Soave modification of Redlich-Kwong) Peng-Robinson (PR) และ BWR (ย่อจาก Benedict-Webb-Rubin)
แต่ละ Equation of state นั้นมีความถูกต้องในช่วงอุณหภูมิและความดันที่แตกต่างกัน และเหมาะสมกับสารต่าง ๆ ชนิดกัน เช่นบางชนิดใช้ได้ดีกับสารที่เป็น non-polar แต่ถ้ามีสารที่เป็น polar อยู่ด้วยจะใช้ได้ไม่ดี บางชนิดสามารถใช้ได้ดีกับสารผสมที่เป็นสาร polar และมีอันตรกิริยา (interaction) ระหว่างกัน แต่พอเอามาใช้กับสารที่เป็น non-polar (เช่นไฮโดรคาร์บอน) แล้วอาจจะสู้สมการอื่นในด้านความถูกต้องไม่ได้

คำถามที่ ๓ การลดความดันในหอกลั่น LPG

การลดความดันของหอกลั่นจะทำให้จุดเดือดของสารต่าง ๆ นั้นลดลง ก็จะสามารถลดปริมาณความร้อนที่ต้องให้ที่ reboiler ได้
ในทางกลับกันถ้าเราเพิ่มความดันของหอกลั่นให้สูงขึ้น จุดเดือดของสารต่าง ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น การกลั่นแยกสารที่มีจุดเดือดต่ำที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิจุดเดือดของสารนั้นต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น) ถ้าหากเราเพิ่มความดันของการกลั่นให้สูงขึ้น ก็อาจใช้น้ำหล่อเย็น (ซึ่งเป็นตัวระบายความร้อนที่มีราคาถูก) หรือใช้อากาศ เป็นตัวระบายความร้อนจากเครื่องควบแน่นที่ยอดหอได้

คำถามที่ ๔ เมื่อ Control valve มีขนาดเล็กเกินไป

โดยปรกติแล้วเมื่อ control valve มีขนาดเล็กเกินไป (กล่าวคือวาล์วเปิดเต็มที่แล้วก็ยังไม่สามารถให้อัตราการไหลที่สูงดังต้องการได้) วิธีการแก้ไขคือการเปลี่ยนวาล์วให้มีขนาดใหญ่ขึ้น


ในกรณี่ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนวาล์วได้ ก็อาจแก้ขัดไปก่อนด้วยการเปิดวาล์วที่อยู่บน bypass line ของ control valve เพื่อช่วยให้ของไหลไหลผ่านได้มากขึ้น โดยอาจค่อย ๆ เปิดวาล์วที่อยู่บน bypass line มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นว่า control valve ไม่ได้เปิดเต็มที่ (100%) ซึ่งก็พอจะทำให้สามารถใช้ control valve ควบคุมอัตราการไหลได้ในระดับหนึ่ง
แต่การกระทำดังกล่าวก็มีข้อควรระวังคือ แม้ว่า control valve จะปิดตัวลงสนิทแล้ว แต่ก็ยังมีของไหลไหลผ่านอยู่ทางด้าน bypass line

คำถามที่ ๕ Acid dew point

การดึงความร้อนออกจากแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือปริมาณของแก๊สกรด (SOx และ NOx) ที่อยู่ในแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ ยิ่งเราดึงความร้อนออกจากแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ได้มากเท่าใด (กล่าวคือทำให้อุณหภูมิของแก๊สร้อนนั้นลดลงได้มากเท่าใด) เราก็จะประหยัดพลังงานได้มากเท่านั้น
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือต้องไม่ให้ไอน้ำที่อยู่ในแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นเกิดการควบแน่น เพราะถ้ามีการควบแน่นของไอน้ำเป็นหยดของเหลวเมื่อใด แก๊ส SOx และ NOx จะละลายเข้าไปในหยดน้ำนั้น กลายเป็นสารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรดและกัดกร่อนโลหะได้
ปริมาณ SOx ที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณสารประกอบกำมะถันที่มีอยู่ในเชื้อเพลิง ยิ่งมีมากก็ยิ่งเกิดมาก ส่วนปริมาณ NOx นั้นไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับปริมาณสารประกอบไนโตรเจนที่มีอยู่ในเชื้อเพลิง แต่ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของการเผาไหม้ด้วย เพราะ NOx สามารถเกิดได้จากปฏิกิริยาระหว่างไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศโดยตรง ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดได้ดีที่อุณหภูมิการเผาไหม้สูงขึ้น


คำถามที่ ๖ Discharge pressure ของปั๊ม

ความดันด้านขาออก (discharge pressure) ของปั๊มนั้นขึ้นอยู่กับความดันด้านขาเข้าด้วย ตัวอย่างเช่นปั๊มน้ำตัวหนึ่งบอกว่าให้ความดันด้านขาออกได้สูง 5 barg ซึ่งความดันดังกล่าวมักหมายถึงกรณีที่เราสูบน้ำจากความดันบรรยากาศ (0 barg) ปั๊มตัวนี้จะสร้างความดันด้านขาออกได้สูงถึง 5 barg
แต่ถ้าเราสูบน้ำจากถังความดันที่เก็บน้ำไว้ที่ความดัน 3 barg ปั๊มตัวนี้จะสร้างความดันด้านขาออกได้ 8 barg (ได้มาจากผลรวมของความดันเดิมในถังเก็บคือ 3 barg และความดันที่ปั๊มผลิตเพิ่มให้คือ 5 barg)
ดังนั้นจะว่าไปแล้วความดันด้านขาออกของปั๊มควรเป็น ผลรวมของความดันด้านขาเข้า บวกกับความดันที่ปั๊มผลิตเพิ่มให้
แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าตัวปั๊มเองต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะรับความดันในช่วงการทำงานดังกล่าวได้

คำถามที่ ๗ ขนาด Suction line ของปั๊ม

ในกรณีนี้ค่า NPSHr (Net positive suction head required) ณ ค่าอัตราการไหลที่ต้องการนั้นมากกว่าค่า NPSHa (Net positive suction head available) ที่ระบบมีอยู่ การแก้ปัญหากระทำได้โดยการเพิ่มขนาดท่อด้าน suction ของปั๊ม
ที่ผมสงสัยคือคำถามที่มีวิศวกรถามว่าทำไมไม่เพิ่มขนาดท่อ suction จาก 2" ไปเป็นเพียงแค่ 3" แต่เล่นเพิ่มไปเป็นขนาด 6" จากนั้นผู้ที่นำเสนอก็ได้นำค่าตัวเลขค่าใช้จ่ายขึ้นมานำเสนอ (ตรงนี้ผมตามไม่ทันว่าเขาคุยกันเรื่องอะไร)
ในมุมมองของผมนั้นความยาวยาวท่อด้านขาเข้าของปั๊ม (suction line) นั้นมักจะสั้นกว่าความยาวท่อด้านขาออก (discharge line) มาก ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนขนาดท่อด้านขาเข้าให้ใหญ่ขึ้นนั้นไม่น่าจะมีนัยสำคัญมากเมื่อเทียบกับการที่ต้องเปลี่ยนขนาดท่อด้านขาออกให้ใหญ่ขึ้น หรือเดินท่อขาออกเพิ่มขึ้น (เดินท่อคู่ขนาน) เพื่อให้สามารถรองรับอัตราการไหลที่เพิ่มขึ้นได้
ในกรณีของท่อด้านขาเข้าที่มาจากถังความดัน (pressure vessel) นั้น ขนาดของท่อที่ต่อออกมาจากถังความดันจะขึ้นอยู่กับขนาดหน้าแปลนที่ติดมากับตัวถัง ดังนั้นการเพิ่มขนาดท่อด้านขาเข้าปั๊มให้ใหญ่ขึ้นนั้นก็ยังอาจแก้ปัญหาได้เพียงแค่ในระดับหนึ่ง เพราะคอขวดของระบบไปอยู่ตรงที่ขนาดหน้าแปลนสำหรับต่อท่อด้านขาเข้าเข้ากับถัง


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นและข้อสังเกตเท่านั้น ส่วนจะนำไปใช้งานจริงได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าระบบที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร และ Memoir ฉบับนี้คงเป็นฉบับสุดท้ายของชุด "ฝึกงานภาคฤดูร้อน ๒๕๕๓" แล้ว

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นกปากซ่อม (Snipe) MO Memoir : Saturday 15 May 2553

นกปากซ่อมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า snipe เป็นนกขนาดเล็ก หากินตามหนองน้ำ


ในเว็ป http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=unravel&month=16-10-2009&group=24& gblog=13 ให้คำบรรยายไว้ว่า


"นกปากซ่อม(Snipe) เป็นนกกลุ่มที่ผมชื่นชอบที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ

ปกตินกเหล่านี้ มักมีนิสัยขี้อายและตกใจง่าย ทำให้มีโอกาสเห็นชัดๆ ได้ยาก

ปกตินกปากซ่อม มักจะพรางตัวอยู่ตามกอหญ้าหรือตามทุ่งนา

ใช้สีสันและลวดลายที่คล้ายคลึง กับหญ้าแห้งในการหลอกตาศัตรู

เรานักดูนกเวลาออกไปดูนกก็เลยมักมองข้ามนก ปากซ่อมพวกนี้ไป

กว่าจะรู้ตัวว่ามีนกปากซ่อมแอบอยู่ตรงนั้น มันก็มักจะบินหนีไปอย่างรวดเร็ว

ลักษณะการบินที่ทั้งเร็วและแข็งแรงทำให้ เป็นที่โปรดปรานของเหล่ามือปืนแถบยุโรป

สมัยก่อนการล่านกปากซ่อมใน แถบทวีปยุโรปมีเยอะมาก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ

ใครสามารถยิงนกปากซ่อมตอน บินได้ก็ต้องถือว่าฝีมือดีเข้าขั้นเลยทีเดียว

แต่ปัจจุบันการล่านกเพื่อ ความสนุกแบบนี้ก็ลดลงไปมาก ด้วยแรงกระตุ้นด้านการอนุรักษ์

ทำให้เหล่านก ปากซ่อมสามารถหากินตามแหล่งน้ำได้อย่างสบายใจอีกครั้ง"


รูปที่ 1 นกปากซ่อม (Snipe) ภาพจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=unravel&month=16-10-2009&group=24&gblog=13

ในช่วงปลายคริศตวรรษที่ ๑๘ เมื่ออังกฤษได้เข้าไปในอินเดียแล้วนั้น ทหารอังกฤษส่วนหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับการล่าสัตว์ใหญ่ (เช่น เสือ แรด ช้าง) ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่ามันยิงเข้าเป้าได้ง่าย เลยหันมาล่านกปากซ่อม (snipe) แทน ซึ่งผู้ที่จะล่าได้นอกจากจะต้องยิงปืนได้แม่นยำแล้ว ยังต้องสามารถเข้าหาตัวนกได้โดยไม่ทำให้นกตื่นตกใจด้วย ต่อมาจึงมีการเรียกผู้ที่ล่านกปากซ่อมนี้ได้เก่งว่า "์Sniper"

ปัจจุบันคำว่า "Sniper" ถูกนำมาใช้โดยหมายถึงผู้ที่ยิงปืนแม่น (sharpshooter) หรือที่เราเรียกว่าพลแม่นปืนหรือพลซุ่มยิง


ขอขอบคุณ

รูปภาพจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=unravel&month=16-10-2009&group=24&gblog=13

เนื้อหาเกี่ยวกับ sniper จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Snipe และ http://en.wikipedia.org/wiki/Sniper

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเตรียมตัวสำหรับการเรียนปริญญาโท MO Memoir : Thursday 13 May 2553

Memoir ฉบับนี้แจกจ่ายให้กับผู้ที่จะเข้าร่วมกลุ่มในภาคการศึกษาที่กำลังจะถึงนี้ด้วย


เมื่อเช้าวันวานมีว่าที่สมาชิกใหม่ (ตอนนี้ให้ตำแหน่งเป็น "ว่าที่" ไปก่อน จนกว่าจะมาลงทะเบียนแรกเข้า) แวะมาสอบถามว่าควรต้องเตรียมอ่านอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ ผมก็บอกเขาไปว่าก็ไปอ่านทุกเรื่องที่เขียนที่เผยแพร่อยู่ใน blog ให้หมดก่อน (ทั้งหมดก็กว่า ๕๐๐ หน้ากระดาษ A4) ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เผยแพร่ และเรื่องที่เผยแพร่ไปแล้วในรูปแบบไฟล์ pdf นั้นถ้าอยากได้ก็ค่อยมาคัดลอกไฟล์ไปจากคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลของกลุ่ม (ซึ่งตอนนี้ก็มีคนได้คัดลอกไฟล์ไปแล้ว)


Memoir นี้ก็เลยขอถือโอกาสเล่าให้ฟังก่อนเลยว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้วจะต้องพบกับอะไรบ้าง


เรื่องแรกคือต้องลงเรียนวิชา Advance ต่าง ๆ กัน ๔ วิชา โดยจะเรียนกันทีละวิชา วิชาละ ๔ สัปดาห์ โดยตารางสอนจะจัดเป็นเรียนวันละ ๓ ชั่วโมง ๔ วันต่อสัปดาห์ เรียนไปได้ ๒ สัปดาห์ก็จะสอบกลางภาค และพอครบ ๔ สัปดาห์ก็จะสอบปลายภาค จากนั้นเดือนถัดไปก็จะเริ่มเรียนวิชาใหม่กัน เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ ๔ เดือนก็จะจบการศึกษาภาคแรกพอดี

ที่ผ่านมานั้นนิสิตมักจะบ่นกันว่าเรียนหนักจนไม่มีเวลามาติดตามว่ารุ่นพี่ที่แลปนั้นทำอะไรกันอยู่บ้าง ผมก็ตอบกลับไปว่าที่ตอนเรียนปริญญาตรีเห็นลงทะเบียนเรียนกันที่ละ ๑๘-๒๒ หน่วยกิตก็เห็นเรียนกันได้ไม่บ่นอะไร แต่พอเรียนปริญญาโทเพียงแค่ภาคกาคศึกษาละ ๑๒ หน่วยกิตกลับบ่นว่าเรียนหนัก หรือเป็นเพราะว่าอายุมากขึ้นร่างกายแก่ตัวลง เรียนแค่นี้ก็บ่นว่าหนักแล้ว

ทุกปีผมก็บอกเป็นประจำว่าไปเรียนวิชา Advance พวกนั้นให้จบก่อนแล้วค่อยมาสนใจว่าตัวเองจะได้ทำวิจัยในหัวข้ออะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องโผล่หน้ามาที่แลปเลย แต่ควรมาที่แลปเป็นประจำ อย่างน้อยวันละครั้งก็ดี แต่การโผล่หน้านี้ก็ไม่ใช่แค่โผล่มาให้กล้องจับภาพได้ว่ามาแล้วแล้วก็กลับเลย

เหตุผลข้อแรกของการที่ต้องเข้ามาที่แลปบ้างนั้นก็เพื่อเรียนรู้ว่าคนที่ทำงานอยู่ก่อนหน้านั้นเขากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อที่เมื่อมารับช่วงงานต่อจะได้รู้ว่างานนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเทคนิควิธีการทำการทดลองอย่างไรบ้าง ผมบอกกับทุกคนที่เข้ามาใหม่ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของคนที่อยู่ก่อนที่ต้องไปสอนคนที่เข้ามาใหม่ แต่เป็นหน้าที่ของคนที่เข้ามาใหม่ที่จะต้องไปขอเรียนจากคนที่อยู่ก่อน แต่ละคนนั้นมีเวลาทำงานไม่แน่นอนและไม่เหมือนกัน และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมันก็ไม่เลือกเวลาเกิดซะด้วย บางครั้งการเรียนที่ดีที่สุดคือต้องมานั่งรอดูว่าวันนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างไหม เพราะการเรียนการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการอยู่ในช่วงเวลาที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นและกระทำการแก้ไขกันอยู่ ไม่ใช่รออ่านรายงานหลังการแก้ปัญหานั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว

เหตุผลข้อที่สองก็คือเครื่องมือในแลปเรานั้นจะมีผู้รับผิดชอบคอยดูแล ซึ่งก่อนใช้งานต้องผ่านการอบรมและสอบก่อน ผู้ดูแลจะเป็นผู้กำหนดเวลาการสอนและสอบ ซึ่งนิสิตทุกคนต้องเข้ามารับการอบรมก่อนที่จะใช้เครื่องมือได้ บางเครื่องมือนั้นเป็นของแลปเอง บางเครื่องมือเป็นของบริษัทที่ทำวิจัยร่วมอยู่ ผู้ที่เข้ามาใหม่ควรที่ต้องมาเรียนทุกเครื่อง ไม่ใช่แค่เครื่องที่คิดว่าตัวเองจะใช้เท่านั้น เพราะบางทีเราอาจต้องไปใช้เครื่องวิเคราะห์ที่ไม่ได้คาดว่าจะใช้ก็ได้

เหตุผลข้อที่สามก็คือที่แลปนั้นจะมีงานส่วนกลางที่นิสิตทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาด งานบัญชี งานเครื่องมือเครื่องใช้ งานสารเคมีและวัสดุสิ้นเปลืองส่วนกลาง งานรับผิดชอบเครื่องมือ ฯลฯ ซึ่งบางงานเช่นงานทำความสะอาดจะมีการจัดเวรให้แต่ละกลุ่มสลับหน้าที่กันทำตามตารางเวลา ส่วนงานพวกบัญชี สารเคมี วัสดุสิ้นเปลืองนั้น และเครื่องมือวิเคราะห์นั้นจะเข้ารับผิดชอบตอนช่วงขึ้นปี ๒ แต่ในช่วงแรกต้องมาเรียนรู้กันก่อนว่าในแต่ละงานมีรายละเอียดอะไรบ้าง


การเรียนระดับโท-เอกนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจะมีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดว่าคุณจะเรียนจบหรือไม่จบ ดังนั้นการทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้จะมีประโยชน์มาก ผมบอกกับนิสิตทุกคนที่เข้ามาเรียนว่าให้ยึดถือสุภาษิตไทยที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" ดังนั้นผมถือว่าอายุมากแล้วจะให้ดัดนิสัยให้รับกับพฤติกรรมของพวกคุณได้คงจะยากหน่อย แต่พวกคุณควรต้องดัดนิสัย (ถ้าไม่ตรง) ให้เข้ากับกับรูปแบบการทำงานของผม

ตัวผมเองมีนิสัยอย่างไรนั้นขอให้ลองไปทำแบบทดสอบใน

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "เท่ากับเท่าไร"

แล้วจะทราบคำตอบเอง ส่วนรูปแบบการเรียนกับผมนั้นเป็นไปในรูปแบบไหนนั้นขอให้ไปอ่าน

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๗ วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ เรื่อง "สัมมนา มันคืออะไร"

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔๔ วันจันทร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ผี" และ

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๘๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ไม่มีสัมมนา มีแต่พักกินกาแฟ"

ซึ่งทั้ง ๔ เรื่องนั้นเปิดอ่านได้จาก blog ของกลุ่ม


คำถามหนึ่งที่มีคนถามถึงคือกลุ่มเรามีประชุมกลุ่มกันวันไหน คำตอบก็คือเมื่อมีเรื่องสำคัญที่ต้องให้ทุกคนรับทราบ หรือเมื่อทำงานกันจนไปเป็นระยะหนึ่งแล้วจึงจะเรียกประชุมทีเพื่อให้คนอื่นรับทราบว่าใครกำลังทำอะไรอยู่หรือพบเจออะไรบ้าง เพราะโดยปรกตินิสิตในที่ปรึกษาของผมมักจะเจอผมกันเกือบทุกวัน (วันทำงาน) และผมก็มีนิสิตดูแลอยู่เพียงไม่กี่คน และทุกคนก็มักพบที่แลปอยู่ตลอดเวลา พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็เรียกพบกันได้เลย (หรือเรียกว่าเรียกประชุมได้ทันที) และบังเอิญผมก็ไม่ใช่อาจารย์ประเภทนิสิตพบได้สัปดาห์ละครั้งเฉพาะเวลาประชุม

เหตุผลที่ทำไมอาจารย์บางคนต้องมีการประชุมเป็นประจำและต้องมีการลงชื่อผู้เข้าประชุมแต่ละครั้งก็เพื่อที่อาจารย์ผู้นั้นจะใช้เอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานว่าได้สอนนิสิตและมีนิสิตคนใดมาเรียนบ้าง (แต่ทำไมไม่ทำในเวลาราชการก็ไม่รู้) ส่วนทางกลุ่มเรานั้นจะใช้วิธีส่งบันทึกเวียนให้ทุกคนรับทราบ โดยผมจะเป็นผู้เขียนบันทึกเป็นหลักเกี่ยวกับงานที่มอบหมายให้ทำ และนิสิตที่กำลังทำงานอยู่ก็จะต้องมีการส่งรายงานการทำงานเป็นระยะด้วย โดยบันทึกจนะส่งเป็นอีเมล์ให้กับทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อที่จะแสดงว่าได้มีหลักฐานการทำงานและมีความก้าวหน้าเป็นระยะ เพราะถ้ามีการตรวจสอบผลการให้คะแนนเมื่อใด ต่างฝ่ายก็จะมีหลักฐานยืนยันกับผู้ที่เข้ามาตรวจสอบได้


เรื่องสุดท้ายคือทางกลุ่มจะมีกิจกรรมใดบ้างนั้นสามารถอ่านได้จาก

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๖ วันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เรื่อง "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู"

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๔ วันพุธที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "เครื่องกระสุน" และ

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๒ วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "จี้หรือนั่งแท่น"

ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องนั้นเปิดอ่านได้จาก blog ของกลุ่มเช่นเดียวกัน


หวังว่าคงจะได้พบสมาชิกใหม่ทุกคนพร้อมหน้ากันในวันลงทะเบียนแรกเข้า

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Full metal jacket MO Memoir : Monday 10 May 2553

ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ถนนราชดำเนิน ถนนวิภาวดีรังสิต และบริเวณแยกศาลาแดงและสวนลุมพินีที่มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น เราจะได้ยินข่าวหนึ่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ชนิดกระสุนที่ยิงเข้าใส่ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง และพบเศษซากโลหะทองแดงและตะกั่วในตัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต


หลายคนคงนึกแต่เพียงว่าหัวกระสุนนั้นทำจากโลหะตะกั่ว แล้วโลหะทองแดงมันมาได้อย่างไร


ผิวด้านในของรูลำกล้องปืนทั่วไป (ที่ไม่ใช่ปืนลูกซอง) จะมีลักษณะเป็นร่องเกลียวที่ดูเหมือนเกลียวตัวเมียร่องตื้น ๆ ร่องเกลียวในรูลำกล้องปืนนั้นกว่าจะเวียนครบหนึ่งรอบก็กินระยะทางหลายนิ้ว ปืนลูกกรดขนาด .22LR นั้นเกลียวลำกล้องกว่าจะเวียนครบ 1 รอบก็ต้องใช้ความยาวลำกล้อง 14 นิ้ว ลำกล้องปืน 9 มม พารา ที่ผมมีอยู่นั้นก็เป็นชนิด 6 เกลียวที่เวียนครบรอบที่ระยะ 10 นิ้ว

เพื่อให้แก๊สที่เกิดจากการระเบิดของดินปืนผลักดันให้หัวกระสุนพุ่งไปข้างหน้าได้เต็มที่ ตัวหัวกระสุนปืนจะต้องแนบสนิทไปกับผิวของรูลำกล้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าววัสดุที่ใช้ทำหัวกระสุนจึงต้องมีความแข็งน้อยกว่าวัสดุที่ใช้ทำลำกล้องปืน (ซึ่งใช้เหล็กกล้าคาร์บอนหรือสแตนเลส) และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัวกระสุนจะใหญ่กว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของลำกล้องปืนเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อแก๊สร้อนจากการระเบิดของดินปืนดันหัวกระสุนไปข้างหน้า หัวกระสุนจะถูกรีดให้เคลื่อนไปตามผิวด้านในของลำกล้องปืน แต่เนื่องจากผิวด้านในของลำกล้องนั้นมีร่องเกลียวอยู่ หัวกระสุนก็จะเคลื่อนตัวแบบหมุนไปตามร่องเกลียวในขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า และเมื่อหัวกระสุนเคลื่อนพ้นปากลำกล้องออกไปก็จะมีการหมุนรอบแกนยาวของหัวกระสุนในขณะที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า การหมุนรอบตัวเองของหัวกระสุนนั้นทำให้หัวกระสุนมีการเคลื่อนที่ที่มีเสถียรภาพดีขึ้น และเคลื่อนที่ไปได้ไกลมากกว่าการที่ไม่มีการหมุนรอบตัวเอง การที่หัวกระสุนต้องถูกรีดให้หมุนไปตามเกลียวในลำกล้องปืน ทำให้เกิดรอยบนผิวด้านนอกของหัวกระสุน รอยที่เกิดบนหัวกระสุนนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละลำกล้องปืน ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่ากระสุนนัดนั้นถูกยิงมาจากลำกล้องปืนกระบอกไหน


รูปที่ 1 ตัวอย่างเกลียวในลำกล้องปืนและรอยที่เกิดบนหัวกระสุน (ภาพจาก http://www.sott.net/articles/show/

159511-The-Assassination-of-Robert-Kennedy-Part-5-Sirhan-Sirhan)


ตะกั่วเป็นโลหะที่มีราคาถูก ขึ้นรูปได้ง่าย อ่อนกว่าเหล็ก และยังมีความหนาแน่นสูง จึงเป็นโลหะที่นิยมนำมาใช้ทำหัวกระสุนมากที่สุด แต่ความที่ตะกั่วนั้นอ่อนมากเกินไป ทำให้เมื่อเร่งความเร็วของหัวกระสุนที่ทำจากตะกั่วให้สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวกระสุนจะไม่จับกับเกลียวลำกล้อง แต่จะถูกเกลียวลำกล้องบาดขาดออกจากผิวหัวกระสุน ทำให้หัวกระสุนไม่จับเข้ากับเกลียวลำกล้องและเคลื่อนที่ไปโดยไม่หมุนไปตามการหมุนของร่องเกลียว

เพื่อให้กระสุนสามารถจับเข้ากับเกลียวลำกล้องได้เมื่อหัวกระสุนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงขึ้น จึงต้องมีการนำเอาโลหะที่มีความแข็งแรงกว่าตะกั่ว แต่ต้องอ่อนกว่าเหล็กที่ใช้ทำลำกล้อง มาหุ้มส่วนแกนของหัวกระสุนเอาไว้ โลหะที่นำมาใช้กันมากที่สุดในงานนี้คือทองแดง

เมื่อนำเอาทองแดงมาหุ้มหัวกระสุนแล้ว แกนในของหัวกระสุนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตะกั่วเสมอไป อาจเป็นวัสดุอื่นเช่นเหล็กกล้าก็ได้เพื่อทำให้หัวกระสุนเจาะทะลุเกราะได้ดีขึ้น หัวกระสุนที่ใช้กันในทางพลเรือนนั้นแกนในมักจะเป็นตะกั่วล้วน ส่วนหัวกระสุนที่ใช้กับอาวุธสงครามนั้นมีทั้งแบบที่แกนในเป็น ตะกั่วล้วน แกนเหล็ก และแกนเหล็กผสมตะกั่ว

การนำทองแดงมาหุ้มหัวกระสุนนั้นไม่จำเป็นต้องหุ้มแกนเอาไว้ทั้งหมด แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่ต้องหุ้มคือตำแหน่งที่สัมผัสกับลำกล้อง หัวกระสุนที่เป็นตะกั่วล้วนไม่มีทองแดงหุ้มนั้นเป็นหัวกระสุนที่เรามักเรียกว่า "กระสุนซ้อม" ทั้งนี้เพราะมันมีราคาถูกสุดและอำนาจไม่รุนแรงเหมือนกระสุนที่หัวหุ้มทองแดง แต่มันก็ยิงคนตายเหมือนกัน กระสุนแบบนี้ถ้าเป็นแบบหัวมนชื่อทางการคือ Lear Round Nose (LRN) ถ้าเป็นแบบหัวแบน (เป็นตะกั่วรูปทรงกระบอก) จะเรียกว่า Lead Wad Cutter (LWC) แต่ถ้าหุ้มหัวกระสุนเอาไว้จนมองไม่เห็นแกนที่อยู่ข้างใน (แต่ถ้าดูที่ก้นกระสุนจะยังเห็นแกนตะกั่วที่อยู่ข้างใน) จะเรียกว่า Full Metal Jacket (FMJ) ตัวอย่างหัวกระสุนทั้งสามชนิดแสดงไว้ในรูปที่ 2


รูปที่ 2 (ซ้าย) กระสุนขนาด 9 มม พาราและ .22LR ชนิด FMJ (กลาง) กระสุนขนาด9 มม พาราและ .22LR ชนิด LRN และ (ขวา) กระสุนขนาด .38 Special ชนิด LWC


รูปที่ 3 ภาพตัดขวางหัวกระสุนชนิด FMJ ขนาด (นับจากซ้าย) (ก) 7.62 mm ที่ใช้กับปืนอาก้า (AK-47) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นแกนเหล็กหุ้มทองแดง โดยเติมเต็มที่ว่างด้วยตะกั่ว (ข) 5.45 mm ที่ใช้กับปืน AK-74 ดูเหมือนว่าจะเป็นแกนเหล็กหุ้มทองแดง ส่วนที่ว่างนั้นก็เป็นโพรงอากาศไป (ค) 5.56  45 mm NATO ที่ใช้กับปืน M-16 รุ่นแรกและ HK-33 จะเติมเต็มภายในเปลือกทองแดงด้วยตะกั่วจนเต็ม และ (ง) 7.62  51 mm NATO ซึ่งก็เติมเต็มภายในเปลือกทองแดงด้วยตะกั่ว แต่มีที่ว่างบริเวณหัวกระสุนอยู่นิดนึง (รูปจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html)


เมื่อหัวกระสุนพุ่งพ้นปากลำกล้องออกไปนั้น ในช่วงแรกหัวกระสุนจะเคลื่อนที่ในรูปแบบที่ส่วนหัวของหัวกระสุนมีการหมุนแกว่งรอบแกนยาวของหัวกระสุน และเมื่อผ่านพ้นไปเป็นระยะหนึ่งการแกว่งนี้ก็จะลดลง หัวกระสุนจะทรงตัวได้ดีขึ้น อำนาจการเจาะทะลุจะดีขึ้น การแกว่งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของหัวกระสุนเมื่อวิ่งกระทบเป้าหมาย ในกรณีที่เป็นเป้าหมายที่แข็ง (เช่นแผ่นโลหะ) ที่วางตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่ของหัวกระสุน หัวกระสุนที่มีการแกว่ง (แม้ว่าจะมีความเร็วสูง) จะเจาะทะลุได้ไม่ดี เผลอ ๆ อาจจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อกระทบเป้าเพราะส่วนยอดของหัวกระสุนไม่ได้ตกกระทบทำมุมฉากกับพื้นผิว แต่ที่ระยะไกลออกไป (แม้ความเร็วจะลดลง) แต่เมื่อหัวกระสุนทรงตัวได้ดีขึ้น มุมตกของหัวกระสุนจะตั้งฉากกับพื้นผิวของเป้า อำนาจการเจาะทะลุจะดีขึ้น

แต่ถ้าเป็นเป้าที่อ่อนเช่นเนื้อเยื่อของคนหรือสัตว์ หัวกระสุนที่มีการแกว่งเมื่อเจาะทะลุเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดการตีลังการหมุน ทำให้เกิดการคว้านเนื้อเยื่อให้เป็นแผลที่ใหญ่ขึ้น ในจังหวะที่หัวกระสุนเกิดการตีลังกานี้ถ้าหากหัวกระสุนมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ หัวกระสุนจะแตกกระจายออก ทำให้บาดแผลฉีกขาดรุนแรงมากขึ้นไปอีก (เพราะสามารถถ่ายเทพลังงานให้เป้าหมายได้มากขึ้น) รูปที่ 4 ข้างล่างแสดงให้เห็นการแตกกระจายของหัวกระสุนที่ตกกระทบเป้าหมายที่ความเร็วต่าง ๆ กัน


รูปที่ 4 การแตกของหัวกระสุนชนิด NATO M855 (หรือ SS109) 5.6 x 45mm ที่ใช้กับปืน M-16 รุ่นใหม่และอาวุธที่ใช้กระสุนตระกูลนี้รุ่นใหม่ (ภาพจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html) จะเห็นว่าการยิงในระยะไม่ไกลนัก หัวกระสุนจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยส่วนที่ยังคงรักษารูปร่างไว้ได้ดีที่สุดคือเปลือกทองแดง ส่วนแกนในจะแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ


กระสุนชนิดเดียวกันที่ผลิตด้วยมาตรฐานเดียวกัน (ยิงจากปืนชนิดเดียวกันได้) แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันก็สามารถให้ผลที่แตกต่างกันได้ รูปที่ 5 ข้างล่างเป็นหัวกระสุนมาตรฐานนาโต้ที่ผลิตจากผู้ผลิตต่างกัน ความแตกต่างที่สำคัญของหัวกระสุนทั้งสองคือความหนาของเปลือกทองแดงซึ่งทำให้หัวกระสุนเมื่อกระทบเป้าแล้วอาจแตกกระจายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ หรือยังคงรูปอยู่เหมือนเดิมก็ได้


รูปที่ 5 กระสุนขนาด German 7.62 x 51 mm FMJ NATO (ซ้าย) ของเยอรมัน และ (ขวา) ของอเมริกา เนื่องจากกระสุนของเยอรมันใช้เปลือกทองแดงที่บางกว่าในบางตำแหน่ง ทำให้หัวกระสุนเกิดการแตกเมื่อกระทบเป้า ในขณะที่หัวกระสุนของอเมริกายังคงรูปอยู่ได้ (ภาพจาก http://www.bajaarizona.org/fklr/fklr.html)


การหุ้มหัวกระสุนด้วยโลหะทองแดงนั้นมีรูปแบบการหุ้มหลายรูปแบบ บางชนิดจะหุ้มส่วนท้ายแต่เปิดส่วนหัวไว้ให้เห็นตะกั่วที่อยู่ข้างใน แถมบางทีตรงส่วนปลายนั้นยังทำเป็นหลุมเอาไว้อีก กระสุนชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อใช้ยิงเป้าหมายที่อ่อนเช่นคนหรือล่าสัตว์ เพราะหัวกระสุนจะบานออกเป็นรูปดอกเห็ดได้ง่าย ทำให้ถ่ายเทพลังงานให้เป้าหมายได้ดี ไม่ทะลุออกไปโดนสิ่งที่ไม่ต้องการที่อยู่หลังเป้า (บ้านเราบางทีเรียกว่ากระสุนหัวระเบิด) แต่กระสุนชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในทางทหารตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (ลงนามกันไว้เมื่อราว ๆ 100 ปีที่แล้วที่กรุงเฮก) เนื่องจากก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรงเกินไป กระสุนที่ใช้ในทางทหารได้ต้องเป็นชนิด FMJ เท่านั้น (ส่วนหัวหุ้มทองแดงเอาไว้ทั้งหมด)

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หวังว่าคงพอจะเข้าใจแล้วว่าที่มีรายงานว่าพบเศษโลหะทองแดงในตัวผู้เสียชีวิต และสรุปว่าถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงนั้น เขาสรุปได้อย่างไร

รายละเอียดเพิ่มต่าง ๆ เพิ่มเติมสามารถไปอ่านได้ในเว็ปที่นำเอารูปภาพมาแสดง