วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MO Workshop ครั้งที่ ๑ MO Memoir : Sunday 3 October 2553

หลังจากที่คิดมาหลายวันว่าจะสอนเรื่องอะไรดีในการจัด Workshop ครั้งแรกของกลุ่มเรา (ครั้งต่อไปก็คงจะเป็นเรื่องเดิม ๆ นี้แหละ) ตอนนี้ก็ได้ข้อสรุปออกมาคร่าว ๆ ถึงเรื่องที่จะสอนดังเขียนไว้ข้างล่าว บางเรื่องดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ต่างก็มีตัวอย่างที่เกือบทำให้หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุในแลปมาแล้ว


. การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า


- ปลั๊กไฟฟ้า การเสียบปลั๊กไฟ ชนิดของปลั๊กไฟและเต้ารับ (เทคนิคการเผาแลปแบบหน่วงเวลา)

- สายไฟฟ้า การต่อสายไฟ การต่อสายดิน การป้องกันสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ (เทคนิคการวางแผนฆาตกรรมให้ไฟดูดเพื่อนร่วมงาน)

- กระแสไฟฟ้าและตัวประกอบกำลัง อุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า (ตั้งแต่ 1/2 hP ขึ้นไป) (เทคนิคการทำให้อุปกรณ์เสียหาย ซึ่งแม้แต่ UPS และ Voltage stabilizer ก็ไหม้ไปด้วย)

- การใช้เตาความร้อน (heater) (ของมันไม่ดี หรือคุณใช้มันไม่เป็น)

- อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิด explosive proof (เรื่องที่เคยมีบางคนเที่ยวเอาไปคุยอวดคนอื่น แต่ผมน่ะพูดไม่ออก อยากจะบอกเข้าว่าถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เข้าใจใหม่ได้)


. น้ำ


- น้ำบริสุทธิ์สำหรับห้องปฏิบัติการและการผลิต (ใครที่ยังไม่รู้ว่าน้ำกลั่นกับน้ำดีมินมันมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือมันใช้แทนกันได้หรือไม่ได้ ก็จะเฉลยกันในงานนี้)


. เครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการ


- ความถูกต้องแม่นยำของเครื่องแก้วแต่ละชนิด (คุณควรใช้อะไรตวงของเหลว)

- การใช้ volumetric flask (เมื่อปริมาตรของเหลวที่เปียกผิวภาชนะก็มีนัยสำคัญ ผมเคยให้ผลสอบนิสิตป.เอกคนหนึ่งเป็น "ตก" ก็ด้วยเหตุผลนี้แหละ แต่เขาก็สอบผ่านด้วยคะแนนเสียงข้างมาก)

- ว่าด้วยเรื่องบิวเรตและปิเปต (เมื่อนิสิตป.ตรีปี ๑ เรียนวิชาเดียวกันในเทอมเดียวกัน แต่กับอาจารย์คนละคน อาจารย์คนที่หนึ่งบอกว่าไม่ต้องไล่ของเหลวที่ตกค้างที่ปลายปิเปต ส่วนอาจารย์คนที่สองบอกว่าต้องไล่ของเหลวที่ตกค้างที่ปลายปิเปตออกให้หมด คำถามคืออาจารย์สองคนนี้คนไหนอายุมากกว่ากัน)

- การทำความสะอาด การทำให้แห้ง และการเก็บ (เทคนิคการวางระเบิดในตู้อบเครื่องแก้ว)


. เชื้อเพลิงและการเผาไหม้


- กลไกการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส

- Flash point, Fire point, Explosive limit etc.


. การดับเพลิง


- ชนิดและความเหมาะสมของถังดับเพลิงชนิดต่าง ๆ (ถังดับเพลิงนะ ไม่ใช่ที่วางกั้นไม่ให้ประตูปิด)

- การดับเพลิงที่ลุกไหม้อยู่ในภาชนะ (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ทำให้ใครคนหนึ่งได้ผ้าห่มมาสองผืน)

- สาร pyrophoric (ตัวก่อเรื่องให้เกิดไฟไหม้มาสองครั้งแล้ว ก็พี่เล่นเอาเมทานอลไปดับไฟ แล้วมันจะเหลืออะไร)


. สารเคมี


- การจัดเก็บ (ทำอย่างไรดีเมื่อชั้นวางสารเคมีถล่มลงมา เหตุเกิดเมื่อหลายปีที่แล้ว)

- การกำจัด

- สารที่ห้ามผสมเข้าด้วยกัน (เทคนิคการวางระเบิดแบบหน่วงเวลาที่ถล่ม Hood มาแล้ว และยังมีรายการประเภท นิสิตบอกว่า "ก็เห็นรุ่นที่เขาทำได้โดยไม่เห็นเกิดอะไร" ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า "ผมไม่รู้มาก่อนว่ามันเจอกันไม่ได้" และผมก็บอกไปว่า "ควรจะอ่าน MSDS บ้าง ไม่ใช่อ่านแต่ paper")


. เรื่องอื่น ๆ


- Water bath แบบทำเอง (นิสิต senior project เกือบโดนไฟจากอีเธอร์ครอกเอาก็งานนี้แหละ แผลกายหายสนิทแต่แผลใจไม่รู้ว่าป่านนี้จะหายหรือยัง)

- ทำอย่างไรเมื่อขวดแก้วบรรจุสารเคมี (ที่มีสารเคมีอยู่เต็ม) ตกแตก

- ที่เหลือแล้วแต่เหตุการณ์พาไป


เท่าที่ทราบ ผู้ที่จะเข้าร่วมงานจะมี

ผม (ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายและแฉเหตุการณ์ต่าง ๆ) ๑ คน

นิสิตป.โท ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มทุกคน ๗ คน (ผู้หญิงทั้งนั้น)

นิสิต senior project ๒ คน

นิสิตป.โท (จากแลปแถว ๆ ห้องที่เราจะจัด workshop) กัน ๓ คน


ดังนั้นบ่ายวันอังคาร สอบเสร็จแล้วให้มาหาผมด้วย จะได้ให้ตังค์ไปจัดซื้อของว่างสำหรับกิจกรรมของเรา (หรืออยากทอดไข่เจียวอีกก็ได้)

ไม่มีความคิดเห็น: