วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

บริโภคข้าวขาวแทนข้าวไม่ขัดสี เพื่อสุขภาพที่ดีของข้อและไต MO Memoir : Monday 6 March 2560

"ชีวิตสูตรสำเร็จ" น่าจะเป็นพฤติกรรมของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมในขณะนี้ ใครเขาว่าอะไรสักอย่างดี และถ้าสิ่งที่เขาว่าดีนั้นมันตรงกับความต้องการของเรา เราก็มักจะทำตามที่เขาว่านั้น (เผลอ ๆ จะเป็นแบบสุดขั้วด้วย) โดยไม่มีการคำนึงว่าสิ่งนั้นมันมีข้อเสียหรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องพฤติกรรมการกิน
 
เดิมทีในยุคสมัยที่การขนส่งยังไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน อาหารที่คนในแต่ละท้องถิ่นบริโภคกันก็จะเป็นอาหารที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่พอการขนส่งเริ่มสะดวก มีการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่มากเกินความต้องการของคนในท้องถิ่น ก็เริ่มมีการมองหาหนทางให้คนอื่นบริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิต และนั่นก็นำไปสู่การหาข้ออ้างว่าการบริโภคสิ่งที่ตัวเองผลิตนั้นจะให้ผลดี (โดยมักจะอ้างงานวิจัยทางการแพทย์ควบคู่ด้วยเสมอ) ก็เลยเกิดพฤติกรรมที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่เขาว่าดีนั้นมาบริโภคให้ได้
 
ตอนผมเด็ก ๆ เวลาพูดถึง "ข้าวแดง" ก็มักจะหมายถึงข้าวที่ให้ผู้ต้องขังในคุกกิน เพราะมันราคาถูกเมื่อเทียบกับข้าวขาว (กระบวนการผลิตข้าวขาวมันมีมากกว่าข้าวแดง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ข้าวขาวจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เพราะมันต้องเอาข้าวแดงไปขัดสีอีกขั้นหนึ่ง) แต่มาตอนนี้มันดันกลับกัน คนจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมากินข้าวไม่ขัดสี ด้วยคิดว่ามันให้คุณค่าทางอาหาร "มากกว่า" ข้าวขาว ส่งผลให้ราคาข้าวไม่ขัดสีสูงกว่าราคาข้าวขาวอยู่มากพอสมควร (เคยคิดไหมครับว่าทำไปผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนในกระบวนการผลิตต่ำกว่า จึงขายในราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่า) ส่วนที่ว่าข้าวไม่ขัดสีมันให้คุณค่าทางอาหาร "มากกว่า" ข้าวขาวจริงหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ ถ้าคิดต่อหน่วยน้ำหนักข้าวเท่ากัน ผมคงไม่เถียงหรอกว่าข้าวไม่ขัดสีให้คุณค่าทางอาหารมากกว่า แต่ถ้าคิดต่อเงินที่ต้องจ่ายเท่ากัน ผมว่าการบริโภค "ข้าวขาว" จะให้คุณค่าทางอาหาร "มากกว่า" การบริโภคข้าวไม่ขัดสี ด้วยเหตุผลที่ว่าด้วยเงินที่ต้องจ่ายเท่ากันสามารถเอาเงินที่ประหยัดจากการซื้อข้าวไม่ขัดสีไปซื้อกับข้าวมากินกับข้าวขาวได้ (หรือว่ามีใครกินข้าวเปล่าโดยไม่มีกับข้าวบ้างครับ)
 
กลางเดือนที่แล้วมีธุระต้องแวะไปที่สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ที่อยู่ข้าง ๆ สำนักงานเขตราชเทวี ถ.พญาไท ตอนจะกลับก็ได้แผ่นพับที่เขาแจกฟรีติดมือมาด้วยฉบับหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหากรดยูริคในเลือดสูง ที่สามารถส่งผลต่อการเกิดโรคเกาต์และการทำงานของไตได้ (ดูรูปที่แนบมา)

และที่น่าสนใจก็คือ เพื่อลดการเพิ่มกรดยูริคในเลือด เขาแนะนำให้บริโภค "ข้าวขาว" ส่วนข้าวไม่ขัดสีและผลิตภัณฑ์พวกปลานั้นให้บริโภคได้ "นาน ๆ ครั้ง" ส่วน "ปลาทูน่า ปลาแซลมอน" นั้นควรหลีกเลี่ยงการบริโภค

ความหลากหลายในการบริโภค (คือบริโภคอาหารหลายหลายชนิด ไม่ซ้ำซากเฉพาะเพียงบางชนิด) และการบริโภคให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน น่าจะเป็นสิ่งที่ควรพึงคำนึงมากกว่าการคิดว่าควรจะหาอะไรมากิน โดยไม่คิดว่าปริมาณอาหารที่กินนั้นมันสอดรับกับปริมาณกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันนั้นหรือไม่
 
วันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่นำเอาแผ่นพับที่บอกว่าอาหารที่ใครต่อใครบอกต่อกันและเชื่อว่าดีต่อการบริโภคนั้น มันก็มีด้านลบของมันอยู่เหมือนกันถ้าไม่ระวัง


ไม่มีความคิดเห็น: