วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เมื่อขวดทิ้งสารระเบิด (๒) MO Memoir : Saturday 29 December 2561

ขาดอีกเพียงแค่ ๒ เดือนกับอีกไม่กี่วัน ก็จะครบรอบเหตุการณ์แบบเดียวกันเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว ที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่น้อยหน้ากัน โดยครั้งล่าสุดที่เกิดเมื่อหลังสองทุ่มเล็กน้อยของวันพุธที่ ๒๖ ธันวาคมที่ผ่านมา สงสัยว่าจะเกิดจากผู้แสดงคู่เดิม เปลี่ยนเพียงแค่ผู้กำกับ โดยในขณะที่เกิดเหตุนั้นมีนิสิตเพียงคนเดียวที่ยังคงอยู่ในแลป โดยนั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานที่อยู่ติดกัน
 
บริเวณที่เกิดเหตุแสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง ขวดทิ้งสารที่ระเบิดเป็นขวดแก้วสีชาขนาด ๒.๕ ลิตร ที่ปรกติใช้ใส่สารเคมีทั่วไปที่เมื่อใช้สารหมดแล้วก็นำมาทำเป็นขวดทิ้งสาร ขวดที่ระเบิดนั้นมีฉลากติดเอาไว้ว่า "Acetone" ซากส่วนฝาขวดของขวดนี้พบว่าผนังด้านบนของฝาปิดนั้นหายไป เหลือเพียงแค่ส่วนลำตัวที่เป็นเกลียวที่ยังจับอยู่กับร่องเกลียวของปากขวดเอาไว้ ลำตัวขวดด้านที่มีฉลากปิด และส่วนก้นขวดที่ยังเป็นชิ้นวางให้เห็นอยู่ นอกจากนี้สะเก็ดระเบิดทำให้ขวดทิ้งสารอีกขวดหนึ่ง (เป็นขวดชนิดเดียวกัน) ที่มีฉลากติดไว้ว่า "Hydrocarbon" แตกไปด้วย ความเสียหายอื่นก็มีประตูกระจกของ Hood 1 แตกละเอียด หน้าต่าง 1 โดนกระแทกแตกแต่ยังคงยึดติดอยู่กับบานหน้าต่าง ประตูพลาสติกของเครื่องบด (สี่เหลี่ยมสีเหลือง) โดนกระแทกแตกตรงบานพัด เศษแก้วเล็ก ๆ สีชาขนาดไม่กี่มิลลิเมตร (ที่คงมาจากขวดที่ระเบิด) กระจายไปทั่วบริเวณ และยังมีของเหลว (น้ำ ?) เจิ่งนองเป็นบริเวณกว้าง (ตอนแรกมีคนบอกว่ามาจากท่อน้ำที่แตก แต่ผมไม่แน่ใจ อาจเป็นของเหลวที่ออกมาจากขวดที่แตกก็ได้)

รูปที่ ๑ แผนผังบริเวณที่เกิดเหตุ ดาวสีส้มคือบริเวณที่พบเศษแก้วจากขวดสารที่ระเบิด (อันที่จริงมีมากกว่านี้ แต่เลือกมาเฉพาะบางบริเวณ เพื่อให้เห็นว่ามีการกระจายตัวไปไกลเพียงใด

ตอนแรกก็คิดว่า Memoir ฉบับที่แล้วจะเป็นฉบับสุดท้ายของปี ๒๕๖๑ แต่บังเอิญมาทราบเรื่องนี้หลังจากเผยแพร่ Memoir ฉบับที่แล้วไปแล้ว และเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ก็เลยต้องมีเพิ่มอีกฉบับหนึ่ง (และหวังว่าคงเป็นฉบับปิดท้ายจริง ๆ) ยังไงก็ลองดูรูปเอาเองก่อนนะครับว่าสภาพที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร

รูปที่ ๒ ภาพกว้างบริเวณที่เกิดเหตุ (๑) ตำแหน่งขวดที่ระเบิด (๒) ขวดที่แตกจากสะเก็ดระเบิด (๓) จุดที่หน้าต่างโดนกระแทกแตก (๔) บานพับประตูที่โดนกระแทกแตก และ (๕) หน้าต่าง hood ที่โดนกระแทกแตก (เสียดายที่ภาพไม่ชัด)

รูปที่ ๓ บริเวณตำแหน่งที่เกิดเหตุ (๑) ก้นขวดที่ระเบิด (๒) ผนังของขวดที่ระเบิดที่ยังเหลือเป็นชิ้นอยู่ (๓) ขวดที่แตกจากสะเก็ดระเบิด (๔) ส่วนฝาขวด (คาดว่าน่าจะเป็นของขวดที่แตกจากสะเก็ดระเบิด)

รูปที่ ๔ เศษซากลำตัวขวดที่เกิดระเบิด มีฉลาก (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง) เขียนเอาไว้ว่า "Acetone"

รูปที่ ๕ ขวดทิ้งสารอีกใบที่แตก (น่าจะเกิดจากสะเก็ดระเบิด) ข้างขวดมีฉลากติดเอาไว้ว่า "Waste Hydrocarbon (HC)"

รูปที่ ๖ บีกเกอร์ที่ตั้งปั่นกวนไว้บน magnetic stirrer ที่อยู่ห่างออกมา โดยลูกหลงแตกไปด้วย เหลือแต่เศษแก้วที่ถูกเก็บขึ้นมาวางอยู่ข้าง ๆ 

รูปที่ ๗ หน้าต่างที่ถูกกระแทกจนแตก หน้าต่างบานนี้เปิดค้างไว้ที่ตำแหน่งนี้ก่อนการระเบิด มันจึงวางทำมุมเกือบจะขนานไปกับทิศทางที่สะเก็ดพุ่งเข้ากระทบ แต่กระจกทั้งบานเต็มไปด้วยรอยเปื้อนจากคราบสารเคมีและเศษแก้วชิ้นเล็ก ๆ ติดอยู่

รูปที่ ๘ ภาพขยายพื้นผิวกระจกในรูปที่ ๗

รูปที่ ๙ บานประตูของเครื่องบด (สี่เหลี่ยมสีเหลืองในรูปที่ ๑) ที่แตกตรงบริเวณบานพับ

รูปที่ ๑๐ พื้นบริเวณหน้า Hood ตัวที่กระจกบานประตูแตก (๑) คือขอบล่างของบานประตูที่ร่วงตกลงมา เศษแก้วใส ๆ ที่เห็นคือกระจกบานประตู Hood (เป็นกระจกนิรภัยแบบ tempered จึงแตกเป็นเม็ดข้าวโพด) ส่วนเศษแก้วสีชาคือของขวดทิ้งสาร เศษกระจกประตูส่วนใหญ่ตกเข้าไปในตัว Hood

รูปที่ ๑๑ ในกรอบสีเหลืองส่วนคอขวด (เข้าใจว่าเป็นของขวดใส่ waste Hydrocarbon) ที่ค้างอยู่ตรงขอบหน้าต่าง (หมายเลข ๔ ในรูปที่ ๓) ส่วนในกรอบสีแดงคือส่วนลำตัวที่ไปค้างอยู่ที่ริมหน้าต่าง

รูปที่ ๑๒ (๑) คือตำแหน่งที่ตั้งของขวดที่ระเบิด ในรูปนี้จะเห็นเศษกระจกของประตู Hood ตกเข้าไปภายใน Hood

รูปที่ ๑๓ สภาพภายใน Hood

รูปที่ ๑๔ เศษแก้วที่พบบนโต๊ะตั้งอุปกรณ์ทดลองที่อยู่อีกฟากหนึ่งของห้อง ด้านที่ตรงข้ามกับจุดเกิดระเบิด

รูปที่ ๑๕ (๑) คือตำแหน่งที่พบเศษแก้วที่แสดงในรูปที่ ๑๔ ส่วน (๒) คือตำแหน่งเครื่องชั่งที่พบเศษแก้วปลิวไปถึงเช่นกัน

รูปที่ ๑๖ บริเวณพื้นหลังทำความสะอาดแล้ว (น้ำเจิ่งนองอยู่ข้ามคืน ก่อนการทำความสะอาดในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น) มีคราบต่าง ๆ ปรากฏเต็มไปหมด เว้นแต่บริเวณที่มีของวางอยู่ (ตามแนวเส้นประสีเหลือง)
  
รูปที่ ๑๗  ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองคือท่อน้ำประปาที่โดนสะเก็ดระเบิดกระแทกแตก  มีการตัดต่อท่อใหม่ตรงระหว่างข้อต่อสีเหลือง  ท่อนี้ติดตั้งอยู่ในมุมที่ไม่โดนแสงแดด  ดังนั้นจึงไม่ได้มีปัญหาเรื่องท่อเสื่อมสภาพเนื่องจากแสงแดด (รูปนี้เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๒)
 
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ ผมได้คุยกับนิสิตที่กำลังจะเข้าไปจัดการกับน้ำที่หกนองพื้น เขาถามผมว่าผมคิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิด ผมก็ตอบกลับไปว่าเป็นเพราะความดันในขวดนั้นสูงเกินกว่าที่ขวดจะรับได้ แต่การที่ความดันในขวดมันสูงขึ้นนั้นเกิดจากอะไรก็ต้องว่ากันอีกทีหนึ่ง
 
ของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ เช่น เมทานอล อะซีโทน (จุดเดือดราว ๆ 60ºC) ที่ขายกันเขาก็บรรจุมาในขวดแก้วแบบนี้ นั่นก็แสดงว่าขวดแก้วพวกนี้มันทนความดันไอของของเหลวดังกล่าว ณ อุณหภูมิห้องได้ สารที่มีจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิห้อง เมื่ออยู่ในขวดปิดมันจะมีความดันที่จำกัด (ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิห้อง) พวกที่น่ากังวลกว่าก็คือพวกที่สลายตัวให้สารที่เป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้อง เพราะแก๊สที่เกิดขึ้นมันจะไม่ควบแน่นเป็นของเหลว มันจะทำให้ความดันภายในขวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนขวดทนไม่ได้ ตัวอย่างของสารพวกนี้ได้แก่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ที่สลายตัวให้แก๊สออกซิเจนออกมา และจะสลายตัวเร็วขึ้นถ้ามีไอออนบวกของโลหะบางตัวร่วมอยู่ด้วย (ไอออนบวกอาจอยู่ในรูปของสารละลายหรือของแข็งก็ได้) แต่พวกนี้ก็มีวิธีป้องกันคือ เวลาปิดฝาขวด waste ก็อย่าปิดให้แน่น ปิดไว้หลวม ๆ พอให้แก๊สรั่วไหลออกมาได้ (ถ้ามี) ก็จะช่วยป้องกันการระเบิดเนื่องจากความดันสูงเกินได้ 
  
อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือการทิ้งสารเคมีที่ไม่ควรนำมารวมกัน แต่ถูกนำมาทิ้งในขวด waste เดียวกัน เพราะมันอาจทำปฏิกิริยากันกลายเป็นสารประกอบที่ไม่เสถียรและเกิดการระเบิดได้ เช่นกรณีของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับคีโตนเช่นอะซีโทน (acetone) หรือเมทิลเอทิลคีโตน (methyl ethyl ketone) หรือปฏิกิริยาเกิดสารประกอบเปอร์ออกไซด์ของอีเทอร์บางตัว เช่นไดเอทิลอีเทอร์ (diethyl ether)
 
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้ชื่อว่าเป็นสารออกซิไดซ์ที่สะอาด เพราะมันให้เพียงแค่อะตอมออกซิเจน (ที่เป็นตัวออกซิไดซ์) และน้ำ (ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมที่ไม่มีปัญหาในการกำจัด) ความเข้มข้นสูงสุดที่ขายกันทั่วไปสำหรับใช้งานในแลปเคมีจะอยู่ที่ 30 wt% ในน้ำ ที่ความเข้มข้นขนาดนี้มันสามารถเกิดฏิกิริยาสลายตัวได้รุนแรงถ้ามีตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมด้วย ตัวอย่างของปฏิกิริยาที่มีการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็คือปฏิกิริยา hydroxylation วงแหวนเบนซีน และ epoxidationพันธะคู่ C=C ของสายโซ่กรดไขมันของน้ำมันพืช
 
ปัญหาหนึ่งในการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ที่ไม่มีขั้วคือมันจะแยกเฟส และยิ่งเป็นกรณีที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นของแข็งด้วยจะทำให้เกิดปัญหาการเปิดปฏิกิริยาใน ๓ เฟส (ของแข็ง + ของเหลวมีขั้ว + ของเหลวไม่มีขั้ว) ในการแก้ปัญหานี้บางรายใช้วิธีหาตัวทำละลายเพื่อประสานเฟสของเหลวมีขั้วและไม่มีขั้วเข้าด้วยกัน เพื่อให้เฟสของเหลวเหลือเพียงเฟสเดียว แต่วิธีนี้ต้องเลือกตัวทำละลายให้ดี คือตัวทำละลายต้องไม่ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เสียเอง กรณีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๑๒ ปีที่แล้วคาดว่าน่าจะเป็นกรณีของการทำปฏิกิริยาระหว่างเบนซีนกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (เข้มข้น 30 wt%) โดยใช้อะซีโทนเป็นตัวทำละลายประสานเฟส การระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในระหว่างการทำปฏิกิริยา แต่ไปเกิดขึ้นในขวด waste ที่นำสารที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาไปทิ้งไว้

สาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์นี้คืออะไรคงยากที่จะหามาได้ ทำได้เพียงแค่คาดเดาเอาจากพยานแวดล้อม (เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา) แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรต้องพึงระลึกก็คือ ถ้าเราไม่เรียนรู้ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เราก็มีสิทธิที่จะทำผิดแบบเดิมซ้ำอีก กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ยืนยันข้อความดังกล่าว และนี่ก็คือวัตถุประสงค์หลักของ Memoir ฉบับนี้ซึ่งก็คือการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบถึงสิ่งที่ไม่ควรกระทำซ้ำอีก

รูปที่ ๑๘ รูปนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการระเบิด แต่เมื่อเช้าเดินผ่านแล้วเห็นดอกมันร่วงเต็มพื้นจนพื้นเป็นสีแดง เห็นสวยดีก็เลยบันทึกภาพเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกเสียหน่อย

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เส้นทางรถไฟที่หายไป (๒) (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๔) MO Memoir : Thursday 27 December 2561

พักหลัง ๆ นี้เห็นมีรูปแบบการส่งต่อข้อความแบบหนึ่งเกิดขึ้น ก็คือการบอกว่าสิ่งที่ใครต่อใครเชื่อกันอยู่นั้นมันผิด ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ ประเภทที่เรียกว่าพอใครสักคนไปเจอเรื่องอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนกับที่เคยได้ยินมาหรือที่เคยเชื่อกันอยู่ ก็จะรีบแชร์ต่อว่าเป็นข้อมูลใหม่ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ได้เห็นนั้นว่ามันถูกต้องหรือไม่
 
ถ้าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะนอกจากต้องอ่านตัวผู้บันทึกแล้ว ก็ยังต้องพิจารณากันอีกว่า สิ่งที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นคือความจริงทั้งหมดที่ผู้บันทึกนั้นต้องการส่งต่อ หรือมีการซ่อนข้อเท็จจริงอันอื่นที่ไม่อาจกล่าวออกมาโดยตรงได้ หรือในบางครั้งข้อมูล ณ เวลาที่ทำการรวบรวมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพความเป็นจริง ณ เวลาที่ตีพิมพ์เอกสารฉบับดังกล่าว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีหลังนี้คือแผนที่ต่าง ๆ
 
หน่วยทำแผนที่หลักในอดีตคงหนีไม่พ้นหน่วยแผนที่ของทางทหาร ในส่วนภูมิภาคอินโดจีนนี้ยังสามารถหาแผนที่ทหารที่จัดทำโดยกองทัพสหรัฐได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแผนที่ที่จัดทำเมื่อสหรัฐเริ่มเข้ามามีบทบาทในสงครามเวียดนาม ประเทศไทยในฐานะที่ตั้งฐานทัพหลายแห่งของสหรัฐก็เลยได้รับการแผนที่ไปด้วย แผนที่ชุดหนึ่งที่มีการจัดทำในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นจะเป็นชุดที่มีรหัส L509 ที่มีทั้งฉบับที่กองทัพสหรัฐจัดพิมพ์ และกรมแผนที่ทหารของไทยจัดพิมพ์ซ้ำโดยมีการให้ชื่อสถานที่เป็นภาษาไทยกำกับ และยังมีการปรับปรุงข้อมูลบางจุดให้ตรงกับความเป็นจริง (คงในฐานะเจ้าของพื้นที่) โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้รวดเร็วและรื้อถอนออกไปได้รวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเส้นทางรถไฟ ดังนั้นใน Memoir ฉบับนี้ถือเสียว่าเป็นการรวบรวมแผนที่ที่พบจากแหล่งต่าง ๆ ส่วนที่ว่าข้อมูลของฉบับไหนจะถูกต้องมากกว่ากันนั้นคงต้องให้ผู้อ่านพิจารณาเพิ่มเติมเอาเอง เพราะความเห็นของผมก็ใช่ว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป ผมทำเพียงแค่ตั้งประเด็นคำถามเท่านั้นเอง

รูปที่ ๑ แผนที่ทหารรหัส L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐ ฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรก (เข้าใจว่าเป็นดังนี้) บอกว่ามีการใช้ข้อมูลตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๕๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕) และนำมาประมวลผลในปีค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑)
 
ตัวอย่างแรกคือแผนที่ทหารชุด L509 ที่จัดพิมพ์โดยกองทัพสหรัฐ (รูปที่ ๑ และ ๒) บริเวณจังหวัดสระบุรี ที่บอกว่าใช้ข้อมูลที่การเก็บรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๕๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕) และนำมาประมวลผลในปีค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ในแผนที่นี้ยังปรากฏเส้นทางรถไฟเล็กสายพระพุทธบาท (จากบ้านท่าเรือไปยังพระพุทธบาท) โดยในเครื่องหมายในแผนที่ระบุว่าเป็นรางกว้างของ meter gauge (เส้นสีดำมีขีดขวาง) แต่ในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้นั้นเส้นทางสายนี้มีความกว้างของรางแคบกว่า ๑ เมตร (อันที่จริงยุคนั้นมันมีข้อกำหนดด้วยว่าไม่ต้องการให้เอกชนสร้างทางรถไฟที่มีขนาดความกว้างเดียวกันกับของรถไฟหลวงด้วย)

รูปที่ ๒ แผนที่ ทหารรหัส L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐ ฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรก (รูปที่ ๑) บริเวณจังหวัดสระบุรี ระบุว่ายังมีเส้นทางรถไฟสายพระพุทธบาท (แนวเส้นประสีแดง) ที่มีขนาดรางกว้าง ๑ เมตร
  
แผนที่ในรูปที่ ๓ และ ๔ ก็เป็นแผนที่ชุด L509 เช่นกัน แต่จัดพิมพ์ใหม่โดยกรมแผนที่ทหารของไทย ในแผนที่ฉบับบริเวณจังหวัดสระบุรี (รูปที่ ๔) ปรากฏว่าเส้นทางรถไฟสายพระพุทธบาทหายไปแล้ว มีถนนปรากฏขึ้นแทน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การอ้างอิงข้อมูลของอดีตนั้น แม้ว่ามองดูเผิน ๆ แล้วมันน่าจะเหมือนกัน (เพราะใช้ข้อมูลชุดเดียวกันแต่เป็นการพิมพ์ซ้ำ) แต่พอลงรายละเอียดไปยังผู้จัดพิมพ์แล้วกลับพบว่ามีความแตกต่างกันในบางจุด นั่นอาจเป็นเพราะว่าผู้ที่จัดพิมพ์ใหม่ (คือกรมแผนที่ทหาร) มีข้อมูลท้องถิ่นที่ถูกต้องมากกว่า ก็เลยทำการปรับแก้ข้อมูลเดิมในบางจุดให้ตรงกับความเป็นจริง กรณีของรถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ที่เคยนำมาแสดงให้ดูใน Memoir ฉบับเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ก็เป็นแบบเดียวกัน (รูปที่ ๓ และ ๔ ใน Memoir ฉบับนั้น)

รูปที่ ๓ แผนที่ทหารรหัส L509 จัดพิมพ์ใหม่โดยกรมแผนที่ทหารของไทย (เป็นครั้งแรก)


รูปที่ ๔ แผนที่ทหารรหัส L509 บริเวณจังหวัดสระบุรีที่จัดพิมพ์ใหม่โดยกรมแผนที่ทหารของไทย (รูปที่ ๓) ในแผนที่นี้ไม่ปรากฏเส้นทางรถไฟสายพระพุทธบาทแล้ว แต่ปรากฏเป็นถนนแทน เส้นทางรถไฟย่อยอีกเส้นหนึ่งที่ปรากฏอยู่บริเวณเดียวกันคือเส้นทางรถไฟสายบ่อดินขาวที่ อ.บ้านหมอ (Ban Mo)
 
เส้นทางรถไฟอีกเส้นหนึ่งที่พบว่าข้อมูลที่ปรากฏในแผนที่ต่าง ๆ มีความขัดแย้งก็คือสาย หัวหวาย-ท่าตะโก ที่จังหวัดนครสวรรค์ (รูปที่ ๕-๑๐) เดิมเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางรถไฟเล็กขนฟืน (ดู Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๓๕ วันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๗ เรื่อง "รถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโกนครสวรรค์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๕)") ที่ดูเหมือนว่ามีความพยายามที่จะปรับปรุงให้กลายเป็นรางขนาดควากว้าง ๑ เมตร แต่สุดท้ายโครงการก็ถูกยกเลิกไปและรางก็ถูกรื้อทิ้ง
  
รูปที่ ๕ และ ๖ เป็นแผนที่ฉบับเดียวกัน (แยกส่วนมาขยาย) ตัวแผนที่ระบุว่าเป็น "แผนที่ยุทธการร่วม (ของหน่วยทางอากาศ)" ส่วนแผนที่ในรูปที่ ๗ นั้นต่อเนื่องกับแผนที่ในรูปที่ ๕ และ ๖ แต่ดูเหมือนว่าจะมีการจัดทำขึ้นภายหลังประมาณ ๑๐ ปี และไม่ได้มีการระบุว่าเป็นแผนที่สำหรับ "หน่วยทางอากาศ" แต่กลับบอกว่าสำหรับ "กิจการพลเรือน" แทน
 
รูปที่ ๕ เส้นทางรถไฟสาย หัวหวาย-ท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ คือแนวเส้นประสีแดงในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงด้านบน แผนที่ชุดนี้นำมาจาก https://911gfx.nexus.net/mapnd4703.html มีการระบุว่าเป็น "แผนที่ยุทธการร่วม (ของหน่วยทางอากาศ)" ข้อมูลภูมิประเทศมีการระบุว่าประมวลผลในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๕๑๗) และมีตราประทับเป็นภาษาไทยว่า "ข่าวสารเกี่ยวกับการบินถูกต้องถึง 23 JANURAY 1976" (พ.ศ. ๒๕๑๙)
  
รูปที่ ๖ แผนที่ฉบับเดียวกับรูปที่ ๕ แต่เป็นภาพขยายช่วงตอนบน แนวเส้นทางรถไฟสายนี้จะทอดไปทางตะวันออกจนตกขอบด้านขวาของรูปนี้ ก็จะวกกลับมาทางตะวันตกเพื่อกลับเข้ามายังท่าตะโกใหม่ ในแผนที่ระบุว่าเส้นทางในช่วงแรกจากหัวหวายนั้นก่อสร้างเสร็จแล้ว (เห็นได้จากแสดงด้วยเส้นทึบ) ส่วนเส้นทางในช่วงตอนกลางไปจนถึงท่าตะโกนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง (เห็นได้จากการแสดงด้วยเส้นประ) ในแผนที่นี้ หมายเลขเส้นทางหลวงที่ปรากฏระบุว่าอิงจากแผนที่ทางหลวงปีค.ศ. ๑๙๗๒ (พ.ศ. ๒๕๑๕)

รูปที่ ๗ แผนที่ชุดเดียวกันกับรูปที่ ๕ และ ๖ แสดงส่วนที่ตกขอบด้านขวาของรูปที่ ๖ โดยมีการระบุว่าเส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้าง (นำมาจาก https://911gfx.nexus.net/mapnd4704.html) มีการระบุเอาไว้ว่า "จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อใช้ในกิจการพลเรือน รวบรวมในปีพ.ศ. 2526 จากข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่" อันที่จริงหน้าเว็บหลักที่นำแผนที่เหล่านี้มา ดูเหมือนว่าจะใช้แผนที่ชุดเดียวกันแต่มีการจัดทำต่างเวลากัน (มีการปรับปรุง) ทำให้ข้อมูลระหว่างแผนที่นั้นไม่ต่อเนื่องกัน ตัวอย่างหนึ่งที่ผมพบจากหน้าเว็บนี้ก็คือแผนที่บริเวณจังหวัดชลบุรีที่ยังปรากฏว่ามีเส้นทางรถไฟเล็กลากไม้ (ศรีราชา) แต่ไม่ปรากฏเส้นทางรถไฟที่แยกจากฉะเชิงเทราไปยังสัตหีบ แต่แผนที่ต่อเนื่องช่วงสัตหีบระยองนั้นกลับปรากฏว่ามีเส้นทางรถไฟสร้างเสร็จเรียบร้อยไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกสัตหีบแล้ว 

ส่วนแผนที่ในรูปที่ ๘ นั้นเป็นชุดที่มีการระบุว่าเป็น "TACTICAL PILOTAGE CHART" ซึ่งคงเน้นไปที่ความถูกต้องของขอบเขตการควบคุมการจราจรทางอากาศ ดังนั้นจึงอาจไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้เป็นจุดเด่นขนาดใหญ่บนพื้นดิน (เช่นแนวทางรถไฟย่อยที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก) 

รูปที่ ๘ แผนที่ TACTICAL PILOTAGE CHART TPC K9-B (นำมาจาก http://legacy.lib.utexas.edu/maps/tpc/txu-pclmaps-oclc-22834566_k-9b.jpg) ภาพขยายส่วนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ในแผนที่นี้ปรากฏแนวเส้นทางรถไฟจากหัวหวายออกไป แต่ไปไม่ถึงท่าตะโก อนึ่งดูเหมือนว่าแผนที่ชุดนี้จะไปที่เน้นความถูกต้องของข้อมูลการเดินอากาศมากกว่าสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏจริงบนพื้นผิว


รูปที่ ๙ เป็นรูปที่พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ "แผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย" เรียบเรียงโดย เจษฎา โลหะอุ่นจิต พิมพ์ที่ เอเซียการพิมพ์ ๕๓๗-๗ ถนนสันติภาพ วงเวียน ๒๒ กรกฎา พระนคร โทร ๒๓๐๑๙ นายบุญศักดิ์ ปิยะธนาพงษ์ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๘ ในแผนที่ฉบับนี้ระบุเอาไว้ว่าเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และดูเหมือนแนวทางที่ลากไว้นั้นจะเป็นแนวทางคร่าว ๆ (คือแทบจะลากตรงเชื่อมสองจุด)


 
รูปที่ ๙ แผนที่จังหวัดนครสวรรค์จากหนังสือ แผนที่ ๗๑ จังหวัดของประเทศไทย เรียบเรียงโดย เจษฎา โลหะอุ่นจิต พิมพ์ที่ เอเซียการพิมพ์ ๕๓๗-๗ ถนนสันติภาพ วงเวียน ๒๒ กรกฎา พระนคร โทร ๒๓๐๑๙ นายบุญศักดิ์ ปิยะธนาพงษ์ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๘ ในแผนที่ฉบับนี้บอกว่าเส้นทางรถไฟสายหัวหวาย-ท่าตะโก (แนวเส้นประสีแดง) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนรูปที่ ๑๐ นั้นถ่ายมาจาก "แผนที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียง" (เป็นแผนที่สำหรับติดผนัง) ที่จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา ที่ติดไว้ที่ผนังห้องทำงานผม (ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๐) แผนที่ฉบับนี้ผมซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แล้วก็นำมาติดไว้ที่ผนังห้องทำงาน พอลองสังเกตดูก็พบว่ามีการระบุว่ามีเส้นทางรถไฟแยกจากหัวหวายไปยังท่าตะโก ข้อมูลในแผนที่ฉบับนี้ปรากฏว่ามีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้ว
 
แผนที่ประเทศไทยอีกฉบับหนึ่ง (ไม่ได้นำรูปมาแสดง) จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยาเช่นกัน และซื้อมาพร้อมกับแผนที่ฉบับในรูปที่ ๑๐ (และคิดว่าน่าจะจัดพิมพ์ในปีเดียวกันด้วย) กลับไม่ปรากฏแนวเส้นทางรถไฟจากหัวหวายไปยังท่าตะโก ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลในแผนที่ฉบับนี้น่าจะเก่ากว่าอีก เพราะว่ายังไม่มีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปรากฏในแผนที่
 
นั่นแสดงว่าเอกสารที่จัดทำเผยแพร่ในเวลาเดียวกัน อาจใช้ข้อมูลที่มีความเก่า-ใหม่แตกต่างกันได้ ดังนั้นการดูเพียงแค่เวลาที่เอกสารนั้นออกเผยแพร่ จึงไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าข้อมูลที่เห็นนั้นตรงกับความเป็นจริงในขณะนั้น

รูปที่ ๑๐ นำมาจาก "แผนที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดข้างเคียง" (เป็นแผนที่สำหรับติดผนัง) จัดทำโดยศูนย์แผนที่พรานนกวิทยา แผนที่นี้มีการระบุว่ามีเส้นทางรถไฟแยกจากหัวหวายไปยังท่าตะโก

รูปที่ ๑๑ เป็นแผนที่เส้นทางรถไฟขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลที่ อ.เกาะคา จังหวัดลำปาง ที่มีปรากฏใน "แผนที่ยุทธการร่วม (ของหน่วยทางอากาศ)" (รูปที่ ๑๐) แผนที่นี้ระบุว่าข้อมูลภูมิประเทศทำการประมวลผลในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ แต่ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับการบินถูกต้องถึง ๒๔ ตุลาคม ๒๕๑๘ นั่นแสดงว่าแผนที่ประเภทนี้ เวลาปรับปรุงความถูกต้องจะเน้นไปที่วัตถุประสงค์การใช้งาน (คือเกี่ยวกับขอบเขตการควบคุมการจราจรทางอากาศ) เป็นหลัก ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมการจราจรทางอากาศคงไม่ได้รับการปรับแก้ไขให้ถูกต้องบ่อยนัก

Memoir ฉบับนี้คงเป็นฉบับปิดท้ายปีพ.. ๒๕๖๑ ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรพิเศษก็คงจะออกฉบับต่อไปหลังปีใหม่เลย ท้ายสุดนี้ก็ขอให้ผู้ที่ติดตามอ่านหรือบังเอิญแวะผ่านเข้ามาเห็น มีความสุข สดชื่น สมหวังในสิ่งที่ดี ในปีหน้าก็แล้วกันครับ สวัสดีปีใหม่ครับ :) :) :)


รูปที่ ๑๑ "แผนที่ยุทธการร่วม (ของหน่วยทางอากาศ)" (นำมาจาก https://911gfx.nexus.net/mapne4707.html) บริเวณจังหวัดลำปาง มีตราประทับเป็นภาษาไทยว่า "ข่าวสารเกี่ยวกับการบินถูกต้องถึง 24 OCTOBER 1975" (พ.ศ. ๒๕๑๘) ข้อมูลภูมิประเทศในแผนที่มีการระบุว่าทำการประมวลในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๐ (ตอนที่ ๔) MO Memoir : Tuesday 25 December 2561

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ ๒๔ และเมื่อบ่ายวันนี้

 การสอบโครงร่างวันจันทร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ห้องประชุมชั้น ๑๐ อาคารวิศว ๔ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น

การสอบโครงร่างวันอังคารที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ห้องประชุม A ชั้น ๑๐ อาคารวิศว ๔ เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น


วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรียนหนังสือที่ตรัง เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๓ MO Memoir : Monday 24 December 2561

"อาจารย์ซื้อกระดานชนวน ดินสอหิน ๑ แท่ง ส่วนไม้บรรทัดทำเอากับไม้ไผ่"
 
ยังจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เวลาคุณแม่พาไปเยี่ยมคุณตาคุณยายที่พัทลุง ก็จะไปขึ้นรถไฟชั้น ๓ ที่สถานีรถไฟธนบุรี (ที่ตอนนี้เป็นอาคารของโรงพยาบาลศิริราชไปแล้ว) ขบวนรถเร็วธนบุรี-สุไหลโกลก ออกประมาณทุ่มเศษ ตู้รถไฟชั้น ๓ ตอนนั้นเป็นอย่างไรตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น (เรียกว่าอนุรักษ์ไว้ดีมาก) ถึงพัทลุงก็นั่งรถย้อนขึ้นมายังบ้านทุ่งขึงหนัง ตอนนั้นยังไม่มีการตัดถนนสายเอเชีย (เส้น AH2 ที่บางส่วนใช้แนวถนนเดิม และมีการตัดใหม่บางแนวเพื่อให้เส้นทางมันตรงขึ้น ไม่แวะเข้าตัวอำเภอหรือย่านชุมชม) เส้นทางถนนจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอควนขนุนในขณะนั้นก็คือแนวทางหลวงสาย ๔๐๔๘ ในปัจจุบัน ผมไม่ได้ลงไปพัทลุงเป็นเวลาหลายปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ลงไปจำได้ว่าสภาพเส้นทางสาย ๔๐๔๘ ในอดีตเป็นอย่างไร เวลาเกือบ ๔๐ ปีผ่านไปมันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น คือยังเป็นถนนเล็ก ๆ ๒ ช่องทางจราจรเหมือนเดิม ส่วนตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
ที่บ้านคุณตาจะมีเล้าไก่กับเล้าเป็ดอยู่ร่วมกัน ส่วนคอกหมูจะอยู่ห่างออกไปหน่อย คงเป็นเพราะว่ากลิ่นขี้หมูมันแรง งานสนุกสำหรับเด็ก ๆ ตอนเช้า ๆ คือการเข้าไปเก็บไข่ในเล้า เพราะต้องไปควานหาตามกองฟางว่ามันไปออกไข่ไว้ที่ไหนบ้าง อีกงานหนึ่งก็คือการอาบน้ำให้หมู ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากเอาสายยางฉีดน้ำใส่หมู พร้อมทั้งฉีดล้างคอกหมูไปด้วยในตัว ตกค่ำเคยช่วยคุณยายนั่งเรียงมะม่วงในถัง คือเรียงเอาไว้ตามขอบถัง ตรงกลางว่างเอาไว้ จากนั้นก็จุดธูปปักลงไป แล้วก็ปิดฝาถังเอาไว้ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม มารู้เอาตอนโตว่าเป็นวิธีการบ่มผลไม้แบบชาวบ้าน


ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องเก็บผลไม้ (พวกมะม่วง กล้วย) ตั้งแต่ตอนมันดิบ แล้วนำมาบ่มให้สุก ทำไมไม่ให้มันสุกคาต้นไปเลย พอตัวเองมาปลูกบ้านอยู่เอง ปลูกทั้งกล้วยและไม้ผลก็เลยเข้าใจ เพราะถ้าปล่อยไว้ให้มันสุกคาต้นเมื่อใดเป็นอันไม่ได้กิน กระรอกมันชิงกินเสียก่อน ก็เลยต้องรีบเก็บก่อนที่มันสุกจนกระรอกมากินได้
 
บ้านทุ่งขึงหนังเวลานั้น แม้ว่าจะห่างจากตัวจังหวัดเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตร ถูกจัดว่าเป็น "พื้นที่สีแดง" เพราะอยู่ในการแทรกซึมของคอมนิวนิสต์ ดังนั้นพอตกค่ำก็จะอยู่กันแต่ในบ้าน ถนนผ่านหน้าบ้านนั้นแทบจะไม่มีรถวิ่งผ่านเลย โทรทัศน์ก็มีให้ดูเพียงช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (ที่สถานีส่งอยู่ห่างไปร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร) ดังนั้นแต่ละบ้านต้องมีเสาโทรทัศน์ที่สูง แถมยังต้องมีบูสเตอร์ช่วยเพิ่มสัญญาณให้อีก จึงจะพอดูกันได้
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่นั่นเวลานั้นมืดมาก มองขึ้นไปทีใดก็จะเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าไปหมด รวมทั้งทางช้างเผือกด้วย
 
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นคุณลุง มีตำแหน่งเป็นนายอำเภออยู่ที่ควนขนุน ท่าทางจะดุไม่ใช่เล่น คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าคุณลุงท่านนี้ทางฝ่ายผกค. (ย่อมาจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ตั้งค่าหัวเอาไว้แพงกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอีก (จริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพียงแต่ได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่าให้ฟัง ก็เลยขอบันทึกเอาไว้เสียหน่อย) ตอนเรียนจบกลับมาทำงานใหม่ ๆ เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว พบกับนิสิตภาคนอกเวลาราชการคนหนึ่ง เขาเป็นคนพัทลุง เขาเห็นผมมีนามสกุลเดียวกับนายอำเภอคนนั้น ก็เลยถามผมว่าเป็นญาติกันหรือเปล่า ผมก็ตอบว่าใช่ เขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ นั้นตอนเรียนหนังสืออยู่โรงเรียน ถ้าเด็ก ๆ ซนกันมากคุณครูก็จะบอกว่า "เดี๋ยวจะให้นายอำเภอ ..(ชื่อคุณลุงผม).. มาจับตัวไป" เท่านั้นเด็ก ๆ ก็จะหยุดซน
 
ก่อนผมแต่งงาน ผมกับแฟนก็นำการ์ดแต่งงานไปมอบให้แกที่บ้าน (ก่อนแกจะเสียไม่นาน) ตอนนั้นแกก็ป่วยอยู่และนั่งพักผ่อนอยู่บนเตียงในห้องนอน พอออกมาแฟนก็บอกว่าคุณลุงคนนี้น่ากลัวจัง ที่แฟนผมคิดเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะว่าขนาดนอนป่วยอยู่บนเตียงในบ้านแท้ ๆ ยังวางปืนลูกโม่เอาไว้หัวเตียงแบบแขกไปใครมาก็เห็นกันหมด

คุณตาผมท่านเสียไปด้วยอุบัติเหตุทางรถตั้งแต่ตอนผมยังเป็นเด็ก งานศพท่านก็เป็นงานใหญ่จัดที่วัดทุ่งขึงหนัง คุณแม่เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นที่วัดยังไม่มีเมรุ คุณลุงอีกท่านที่เป็นตำรวจก็เป็นผู้ไปเช่าเมรุชั่วคราวมาทำพิธีเผาศพให้ ทำให้นึกถึงอีกงานหนึ่งที่ตอนเด็กก็ได้ไป คุณน้าท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถเช่นกัน ดูเหมือนว่าจะเผากันกลางแจ้งในเมรุชั่วคราว พอทำพิธีเสร็จก่อนจะเผาจริงแขกต่าง ๆ ที่มางานต่างก็กลับกันเลย เพิ่งจะมาเข้าใจตอนโตว่าทำไม
 
คุณตาคุณยายผมแกส่งลูก ๆ มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพกันเกือบทุกคน ด้วยความที่แกมีอาชีพเป็นครูแกก็เลยมีจดหมายเขียนถึงลูก ๆ ที่มาเรียนที่กรุงเทพเสมอ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขียนถึงใครบ้าง แต่เข้าใจว่าคุณป้าที่เป็นพี่คนโตสุดเป็นคนเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี เพราะเวลามีงานทีใด จดหมายที่คุณตาเขียนเอาไว้ที่นำมาพิมพ์ลงหนังสือแจกในงานก็จะได้มาจากแก
 
เรื่องราวที่คุณตาเขียนไว้เป็นดังเสมือนบันทึกชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดา ในรูปจดหมายถึงลูกที่เขียนเอาไว้โดยครูโรงเรียนธรรมดาคนหนึ่ง ดังนั้นมุมมองของสิ่งต่าง ๆ จึงย่อมที่จะแตกต่างไปจากบันทึกแบบทางการหรือข้าราชการผู้มีอำนาจปกครอง อย่างเช่นจดหมายฉบับหนึ่งที่นำมาให้ดูในวันนี้ นำมาจากหนังสืองานที่ระลึกงานศพของคุณยายของผม (วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๙) ซึ่งคุณป้าของผมที่เป็นลูกคนโตรวบรวมไว้และเคยนำมาจัดพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกตอนคุณยายผมอายุ ๘๐ และ ๙๐ ปี (ในบันทึกท้ายจดหมาย "ดิฉัน" ซึ่งเป็นผู้เขียนบันทึกท้ายจดหมายนั้นคือคุณป้าของผม ท่านเสียไปก่อนคุณยายผมอีก) ที่ผมเห็นว่าจดหมายฉบับนี้น่าสนใจก็คือ การที่คุณตาท่านได้เล่าเรื่องการไปเรียนหนังสือที่จังหวัดตรังเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๑ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ช่วงกลางรัชกาลที่ ๖) เรื่องราวเป็นอย่างไรก็ขอให้อ่านเอาเองก็แล้วกัน


 
ในจดหมายฉบับนี้มีการกล่าวถึง "โรงเรียนเพาะปัญญา" และ "โรงเรียนวิเชียนมาต" (ในจดหมายไม่มีสระอุ) ในหน้าเว็บ http://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1092140024&page=history ให้รายละเอียดประวัติของของโรงเรียนเพาะปัญญาเอาไว้ว่า
 
"ที่ตั้งโรงเรียนเพาะปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม (ตรัง-พัทลุง) หมู่ที่ 5 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92170 มีพื้นที่ 13 ไร่ 54.4 ตารางวา มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เป็นผู้จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2456
 
"เพาะปัญญา" เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชาวตำบลนาโยงใต้ และชาวจังหวัดตรังถือเป็นมงคลนามอย่างยิ่ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ (ครั้งที่ 2) เสด็จถึงจังหวัดตรัง ได้พระราชทานนามและทรงเปิดโรงเรียนนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2458"
 
ส่วนโรงเรียนวิเชียรมาตุนั้น ประวัติบนหน้าเว็บ http://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1092140330&page=history ให้รายละเอียดเอาไว้ว่า
 
"โรงเรียนวิเชียรมาตุ ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชประสงค์อันกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักกรีวงศ์
 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พุทธศักราช 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จประพาสจังหวัดตรังมีพระราชปรารภว่า พื้นภูมิทำเล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เหมาะสมดีควรมีสถานศึกษา จึงได้พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวิเชียรมาตุ” ซึ่งหมายความถึงพระราชชนนีของพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
โรงเรียนวิเชียรมาตุ ได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2459 เสร็จเรียบร้อย
 
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2459 และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2459 ทางจังหวัดได้รับโรงเรียนวิเชียรมาตุเข้าในทะเบียนโรงเรียนของจังหวัดตรัง
 
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2459 โรงเรียนวิเชียรมาตุเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งใหม่"
 
แสดงว่าตอนที่คุณตาของผมไปเรียนหนังสือที่สองโรงเรียนนี้ โรงเรียนเหล่านี้เพิ่งจะเปิดได้ไม่กี่ปีเอง