Memoir นี้ก็เป็นเรื่องต่อจากฉบับเมื่อวานที่เกริ่นไว้ว่าจะเล่าเรื่อง "การตัดต่อแก๊สไฮโดรเจน" ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับ "สาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวัน" และเพื่อน ๆ (ซึ่งประกอบด้วย "สาวน้อยคมเข้มผมหยิกนัยน์ตาสวย (ซึ่งความสูงไม่สัมพันธ์กับความยาวของจังหวัดบ้านเกิดเลย)" "สาวน้อย 150 เซนติเมตร (จากอำเภอที่ถนนต้องมีเขื่อนกันน้ำทะเลท่วมตอนน้ำขึ้นของเมืองคนดุ)" "หนุ่มหล่อผิวขาวร่างสูงสไตล์เกาหลี (จากเขตที่คนไม่ชอบไปจดทะเบียนสมรสเพราะคิดว่าชื่อมันไม่เป็นมงคล แต่คนจากเขตนี้นิสัยดีนะ ต้องขอชมสักหน่อยเพราะผมก็อาศัยอยู่ที่นี่เหมือนกัน)" และ "หนุ่มสูงโปร่งคมเข้มชอบใส่กางเกงขาลีบ ๆ มีไรหนวดเหนือริมฝีปากเล็กน้อย (รายนี้มาจากไหนก็ไม่รู้)"
หลังจากที่ได้อธิบายเรื่องวิธีฉีดตัวอย่างที่เป็นแก๊สไปในช่วงเช้าแล้ว งานต่อมาที่ดำเนินการกันก็คือเตรียมอุปกรณ์สำหรับวัดความเป็นกรดของตัวอย่างโดยใช้เทคนิคการดูดซับไพริดีน (ตามวิธีการที่กล่าวไว้ใน Memoir ฉบับวันพุธที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓) เรื่องมันดูเหมือนง่าย ๆ แต่ก็วุ่นวายดีเหมือนกัน
เริ่มแรกจากผมบอกให้ถอดคอลัมน์ที่อยู่ใน oven ของ GC ออกก่อน และติดตั้งคอลัมน์สำหรับบรรจุตัวอย่างเข้าไป ฟังดูก็เหมือนง่าย ๆ แต่พอกลับมาตรวจพบว่า ... สาวนั้นเธอต่อคอลัมน์ผิด... โดยปลายด้านขาเข้าของคอลัมน์นั้นต่อเข้ากับ Injector port ของ GC ซึ่งถูกต้องแล้ว แต่ปลายด้านขาออกของคอลัมน์ก็ต่อเข้ากับ Injector port อีก port หนึ่งของ GC (เครื่อง GC มี Injector port อยู่ 2 port) แล้วมันจะวัดองค์ประกอบของแก๊สที่ออกได้อย่างไร
หลังจากที่ต่อคอลัมน์ถูกต้องและเริ่มเปิดเครื่องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการจุดไฟให้กับ detector ของ GC (ซึ่งเป็นชนิด FID) ซึ่งหลังจากบอกให้ทำแล้วผมก็เดินไปทำอย่างอื่น พอกลับมาดูอีกทีก็เห็นสาวน้อยและผองเพื่อนยืนล้อมวงรอบ pressure regulator ที่ถอดออกมาจากหัวถังแก๊สไฮโดรเจน และบอกว่ามันเสียเพราะไม่สามารถปรับความดันด้านขาออกได้
พอผมรับมาดูก็รู้ปัญหาทันทีว่าเกิดจากอะไร สาเหตุเป็นเพราะหมุนคลายวาล์วปรับความดันออกมามากเกินไป ทำให้มันหลุดออกจากแกน ดังนั้นถ้าตั้งด้ามหมุนไม่ตรงกับแกนก็จะไม่สามารถขันวาล์วปรับความดันเพื่อปรับความดันด้านขาออกได้ พอลองขยับเล็กน้อยและตั้งด้ามจับให้ตั้งตรงกับตำแหน่งรู (ซึ่งต้องใช้ความรู้สึกในการวางตำแหน่ง) ก็สามารถขันวาล์วปรับความดันเพื่อปรับความดันด้านขาออกได้ (มันไม่ได้เสียสักหน่อย ก็ไปกล่าวหาว่ามันเสีย) งานนี้จะไปว่า "สาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวัน" ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้สอนไว้ แต่สำหรับ "สาวน้อย 150 เซนติเมตร" พึ่งจะสอนไปเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้าซึ่งพึ่งจะผ่านไปแค่ ๕ วันเองก็ลืมซะแล้ว
พอดูเหมือนอะไรมันจะเข้าที่เข้าทางก็สังเกตเห็นอีกว่าทำไมปลายท่อนำแก๊สไปยัง GC ถึงไม่มีข้อต่อสำหรับต่อเข้ากับ pressure regulator พอรู้เหตุผลว่ามันหายไปไหนก็เลย ... (บรรยายไม่ถูกเหมือนกันว่ารู้สึกอย่างไร บอกไม่ถูกว่าควรหัวเราะหรือร้องไห้ดี) ... รู้แต่ว่าสาวน้อยหน้าใสใส่แว่นและผองเพื่อน (ทุกคนที่กล่าวมาในย่อหน้าแรกนั่นแหละ) ยืนยิ้มให้โดยไม่พูดอะไร พวกท่านทั้งหลายช่วยเหลือกันได้ดีเหลือเกิน พอคิดว่า pressure regulator เสียก็เลยทำการถอดออก แถมสังเกตเห็นด้วยว่ามีถังแก๊สไฮโดรเจนอีกถังหนึ่งอยู่ข้าง ๆ ก็เลยจะย้ายท่อจากถังที่คิดว่า pressure regulator เสียไปยังถังที่อยู่ข้าง ๆ แต่ข้อต่อท่อด้านขาออกของ pressure regulator อีกถังหนึ่งนั้น (ซึ่งเป็นแบบ swagelok) มันไม่เหมือนกับข้อต่อที่ใช้กับ pressure regulator ตัวที่คิดว่าเสีย (ซึ่งเป็นแบบของบริษัท Shimadzu) ก็เลยมีการ "ตัด" ข้อต่อท่อเดิมเพื่อที่จะเอาข้อต่อ swagelok มาใส่แทน นับว่าเป็นการประสานการทำงานที่ดีมาก แต่ .....
โดยปรกติในแลปเรานั้นเมื่อตั้งเครื่อง GC ที่ตำแหน่งใดแล้วก็มักจะไม่มีการย้ายที่ มีการเดินท่อนำแก๊สต่าง ๆ จากตัวเครื่องไปยังถังแก๊ส พอแก๊สในถังหมดก็ทำเพียงแค่ถอด pressure regulator ออกจากถังแก๊สที่หมด นำเอาถังแก๊สที่หมดออกไปและนำเอาถังแก๊สใบใหม่ที่มีแก๊สมาวางแทน แต่ประกอบ pressure regulator เข้ากับถังแก๊สใบใหม่นั้น จะเห็นว่าขั้นตอนการเปลี่ยนถังแก๊สนั้นไม่จำเป็นต้องมีการถอดท่อนำแก๊สออกจาก pressure regulator เลย
ปัญหามันเกิดเพราะระบบท่อ (tube) ส่วนใหญ่ที่ใช้ในบ้านเรานั้นเป็นระบบนิ้ว แต่ทางญี่ปุ่นนั้นใช้ระบบมิลลิเมตร (ท่อระบบเมตริก) ตอนที่เราติดตั้งเครื่อง GC Shimadzu เครื่องใหม่ที่ได้มานั้น (มีอยู่ประมาณ ๑๐ เครื่อง) ระบบท่อนำแก๊สที่เชื่อมต่อระหว่างเครื่อง GC กับ pressure regulator นั้นเป็นท่อระบบมิลลิเมตร ส่วนท่อระบบอื่น (รวมทั้งระบบเครื่อง GC ตัวเก่าบางตัว) เป็นท่อระบบนิ้ว พอผมขอชิ้นส่วนข้อต่อท่อที่เขาตัดมานั้น (ดูรูปที่ 1 ข้างล่าง) มาทดลองสอดเข้าไปในข้อต่อ swagelok ขนาด 1/8" ก็เห็นช่องว่างระหว่างผิวท่อกับ front ferrule แต่พอลองเอาท่อขนาด 1/8" มาสวมก็ไม่สามารถมองเห็นว่ามีช่องว่างระหว่างผิวท่อกับ front ferrule ผมก็เลยบอกให้สาวน้อยหน้าใสใส่แว่นไปหาเวอร์เนียร์มาวัดขนาดท่อทั้งสองดู
รูปที่ 1 ท่อด้านบนเป็นท่อสแตนเลสขนาด 1/8" ส่วนท่อด้านล่างเป็นข้อต่อที่ถูกตัดออกมาจากท่อไฮโดรเจนที่ต่อเข้ากับ pressure regulator ที่หัวถังแก๊ส มองด้วยตาเปล่าคงบอกไม่ได้ว่าท่อทั้งสองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแตกต่างกันหรือไม่ แต่ถ้าเอาเวอร์เนียร์มาวัดจะเห็นว่าท่อทั้งสองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่แตกต่างกัน
ตอนแรกที่เอาเวอร์เนียร์มาวัดก็ยังสังเกตไม่เห็นอะไร ผมเลยบอกให้ลองอ่านขนาดเปรียบเทียบกันดู ซึ่งทำให้เห็นว่าท่อสแตนเลสที่เป็นท่อสำรองในแลปนั้นเป็นท่อขนาด 1/8" (ขีดเวอร์เนียร์ชี้ตรงนี้พอดี) แต่ข้อต่อที่ตัดออกมาจากท่อไฮโดรเจนนั้นขีดเวอร์เนียร์ชี้เกือบถึง 1/8" อยู่เล็กน้อย แต่ชี้ตรงที่ 3 มิลลิเมตรพอดี นั่นเป็นเพราะท่อไฮโดรเจนของเครื่อง GC นั้นเป็นท่อระบบเมตริกขนาด 3 มิลลิเมตรซึ่งเล็กกว่าท่อ 1/8" ในระบบนิ้วอยู่เล็กน้อย
งานนี้ทำได้แค่บอกให้ไปซื้อ union ขนาด 3 มิลลิเมตรมาต่อชิ้นส่วนที่ตัดออกมากลับคือเข้ากับท่อนำแก๊สดังเดิม
ตกเย็นมีโทรศัพท์มาแจ้งปัญหาอีกว่า oven ไม่ทำงานโดยอุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้น แต่อุณหภูมิของ injector และ detector เพิ่มขึ้นเป็นปรกติ เนื่องจากกลับมาบ้านแล้วก็เลยได้แต่แนะนำไปว่าลองปิดเครื่องและเปิดใหม่ดู
สักพักก็มีโทรศัพท์มาแจ้งว่าเครื่อง GC ทำงานเป็นปรกติแล้ว งานนี้อย่าถามเหตุผลนะว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น และทำไมพอปิดเครื่องและเปิดใหม่มันก็แก้ปัญหาได้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไรเพราะไม่ได้รู้ไปซะทุกเรื่อง รู้แต่ว่าในบางครั้งการปิดเครื่องและเปิดใหม่มันก็แก้ปัญหาได้เหมือนกัน
เช้าวันนี้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับนึกในใจว่า เดี๋ยวพอไปที่แลปแล้วจะเจออะไรอีกไหม ที่คาดไว้ก็คือคงเจอสาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวันรออยู่ที่เครื่อง GC แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น