วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

การอ่านบทความ MO Memoir : Thursday 8 April 2553

Memoir ฉบั้บนี้ออกมาต้อนรับการประกาศพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ประกาศไปเมื่อตอนหกโมงเย็นของเมื่อวาน) พอได้ยินประกาศก็บอกกับที่บ้านว่าคืนนี้คงไม่มีอะไรหรอก เอาไว้รอสว่างก่อนดีกว่า (ตามแผนการรบที่ต้องให้ฝ่ายตั้งรับตั้งหน้าตั้งตาคอยตลอดเวลาจนเหนื่อยเพราะไม่มีเวลาพัก ในขณะที่ฝ่ายเข้าตีเป็นผู้เลือกเวลาเข้าตี สั่งให้ลูกน้องไปนอนพักก่อนก็ได้แล้วค่อยปลุกมาใช้งาน)

เช้านี้ตื่นมาแล้วก็ยังไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นดังคาด และคงไม่มีอะไรต่อไปอีกถึงเย็น ก็เลยเห็นสมควรจัดทำบันทึกให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังจะสอบวิทยานิพนธ์และผู้ที่กำลังจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ โดยเรื่องที่เลือกมาในวันนี้คือการอ่านบทความ เพราะพบจากการสอบเมื่อวาน (ปริญญาเอก) ว่าผู้เข้าสอบนั้นไม่สามารถจับใจความสำคัญของบทความได้ เมื่อตอบคำถามกรรมการจึงตอบคำถามไม่ค่อยได้


ในการทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำกันเป็นประจำคือการค้นคว้าดูว่างานที่กำลังจะทำนั้น เคยมีบุคคลอื่นได้ทำไว้หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นงานแบบเดียวกันหรืองานที่คล้ายคลึงกัน ผมเห็นบางคนดีใจที่พบว่างานที่ตัวเองกำลังทำนั้นมีคนทำไว้เยอะแยะไปหมด (วิทยานิพนธ์จะได้หนา ๆ) ส่วนบางคนเศร้าใจที่พบว่างานที่ได้รับมอบหมายมาให้ทำนั้นไม่เคยมีใครทำมาก่อน (เพราะไม่รู้ว่าจะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายผลการทดลองของตัวเอง)

แต่ไม่ว่างานที่คุณกำลังทำนั้นเคยมีคนทำมาก่อนมากน้อยเท่าใด สิ่งแรกที่ต้องหาคำตอบจากการค้นคว้าบทความเพื่อเตรียมไว้ตอบกรรมการสอบคือ


๑. ถ้ามีคนทำมาเยอะแล้ว แล้วทำไปเรายังต้องทำอีก งานก่อนหน้านั้นมีปัญหาอะไร หรือ

๒. ถ้าไม่เคยมีคนคิดทำมาก่อนเลย แล้วทำไมเราจึงเกิดแนวความคิดนี้ขึ้นมาได้


เรียกว่าไม่ว่าจะเคยมีคนทำมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ก็โดนถามได้ทั้งนั้น


ทีนี้ลองมาดูกันบ้างว่า เมื่อคุณอ่านบทความนั้น มีประเด็นไหนบ้างที่ควรต้องพิจารณา


. ชื่อเรื่องของบทความ ชื่อผู้เขียน และสถาบันที่ผู้เขียนสังกัด


มีอยู่ครั้งหนึ่งในการสอบวัดคุณสมบัติ ผู้เข้าสอบนำเสนอบทความเกี่ยวกับการแปรรูปต้นอ้อยหลังผ่านการหีบอ้อยแล้ว คำถามหนึ่งที่ผมถามเขาคือว่าบทความนี้มาจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศนี้ไม่มีการทำไร่อ้อย แล้วทำไมผู้วิจัยผู้นั้นจึงสนใจทำเรื่องนี้

ซึ่งถ้าสังเกตดูชื่อผู้ทำวิจัย (เข้าใจว่าคงเป็นนักศึกษาของสถาบันนั้น) ก็จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมจึงมีการทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะผู้ทำวิจัยนั้นมาจากประเทศที่มีการทำไร่อ้อยเป็นล่ำเป็นสัน

ในประเทศอุตสาหกรรมนั้น งานวิจัยของสถาบันการศึกษามักจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของประเทศนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อคนไทยไปเรียนในประเทศต่าง ๆ และเมื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเมืองไทย จำนวนไม่น้อย (หรือส่วนใหญ่ก็ได้) เลือกที่จะทำวิจัยต่อในหัวข้อที่ตัวเองเรียนมา เพราะจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาตั้งต้นใหม่ (ทำให้มีผลงานของเลื่อนตำแหน่งได้เร็ว) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคืองานวิจัยดังกล่าวมักจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

ในบางครั้งปัญหาเดียวกันแต่มีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกัน การที่จะมาเถียงกันว่าใครดีกว่ากันนั้นคงเป็นเรื่องที่ "ไม่เป็นเรื่อง" สิ่งที่ต้องพิจารณาคือแต่ละวิธีการนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์เช่นใด นักวิจัยในแต่ละประเทศอุตสาหกรรมก็จะมองเฉพาะข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของประเทศตนเอง (เช่นข้อจำกัดทางกฎหมาย ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ฯลฯ) การแก้ปัญหาจึงเป็นการหาทางแก้ปัญหาให้กับสิ่งที่ประเทศตัวเองประสบ การที่จะนำวิธีการดังกล่าวนั้นไปใช้ในประเทศอื่นจึงควรต้องพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวประกอบด้วย


. แนวความคิดที่ทำให้เกิดบทความนั้น


ในบางบทความนั้นส่วนนี้เป็นส่วนที่เห็นได้ง่าย (คือเขาบอกไว้ชัดเจน) แต่ในหลายบทความนั้นต้องขุดหาหรือเดาเอาเอง

พวกเรียนสายวิทย์มีนิสัย "เสีย" อยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาอ่านข้อความใด ๆ มักจะ "ตีความตามตัวอักษร" เสมอ ตัวหนังสือนั้นไม่สามารถบ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกได้ ในบางครั้งการแปลความหมายจึงต้องไปพิจารณาตัวผู้เขียนก่อน ว่าที่ผ่านมานั้นเขามีความคิดเห็นอย่างไร หรือในบางครั้งก็ต้องอ่านบทความแบบที่ผู้อ่านเรียกว่า "Read between the line" หรือแปลเป็นไทยว่า "อ่านระหว่างบรรทัด" คือการอ่านในสิ่งที่ "ไม่ได้เขียนเอาไว้"

การเข้าใจแนวความคิดที่ทำให้เกิดบทความนั้นทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ทำไมเขาจึงเลือกศึกษาหัวข้อนี้ ทำไมเขาจึงเลือกที่จะใช้เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเคยเห็นบางคนเวลาจะทำวิจัยแทนที่จะไปศึกษาว่าการวิเคราะห์หาสารประกอบนี้สามารถใช้เครื่องมืออะไรได้บ้าง เขากลับไปค้นดูว่าก่อนหน้านี้เคยมีคนใช้เครื่องมืออะไรบ้าง พอพบว่าในบทความนั้นมีการใช้เครื่องมือที่ตัวเองไม่มี ก็พยายามหาซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาใช้งาน ทั้ง ๆ ที่ในห้องปฏิบัติการของตัวเองนั้นมีเครื่องมือตัวอื่นที่สามารถทำงานได้ถูกต้องเหมือนกัน และพร้อมใช้งานอยู่แล้วด้วย

รูปแบบการทำงานดังกล่าวเป็นเสมือนว่าต้องคอยให้คนอื่นทำก่อน จากนั้นจึงค่อยลอกวิธีการของเขา แทนที่จะมาทำความเข้าใจพื้นฐานว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนั้นมีวิธีการใดบ้าง ซึ่งปรกติแล้วมักจะพบว่ามีมากกว่า ๑ วิธีการ และเราก็สามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสิ่งที่เรามีอยู่ได้ แต่กลับมองว่าการศึกษาความเข้าใจพื้นฐานนั้นเป็นเรื่องเสียเวลา สู้รอลอกเขาเลยจะง่ายกว่า ที่ผ่านมานั้นพบว่าการรอให้คนอื่นทำก่อนแล้วค่อยรอลอกนั้นอาจทำให้เริ่มต้นในช่วงแรกได้เร็ว แต่ก็ไม่ยั่งยืน เพราะพอเจอปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครรายงานเอาไว้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานดีเพียงพอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว


. สิ่งที่เขาลงมือทำและผลที่เขาได้รับ


มีอยู่ครั้งหนึ่งในระหว่างการนั่งฟังสัมมนา ผู้เข้าฟังคนหนึ่ง (ที่มาจากแลปเดียวกันกับผู้ที่กำลังบรรยาย) ก็ถามว่า "ESR ใช้วัดอะไร" ผู้บรรยายก็ตอบว่า "ใช้วัด defect" (defect ในที่นี้คือความบกพร่องของผลึก) ผู้ถามก็ถามต่อว่า "แล้วมันวัดได้อย่างไร" ผู้บรรยายก็ตอบว่า "ถ้ามี defect ก็มีสัญญาณ ESR"

ผมนั่งฟังอยู่ก็ส่ายหัว เลยพูดออกไปว่า "คนตอบก็ตอบไม่ตรงคำถาม คนถามได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนก็ไม่ถามต่อ ต่างฝ่ายได้แก่พยักหน้าให้กัน ดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่าเข้าใจกันดี แต่ที่จริงทั้งสองคนนั้นไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย" ที่น่าแปลกก็คือผลงานชิ้นนั้นได้รับการตีพิมพ์ซะด้วย โดยที่ผู้ที่ทำวิจัยก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นทำไปทำไม (เป็นเพียงแค่แรงงานทำแลปให้คนอื่นเอาผลการทดลองไปเขียนบทความ ส่วนตัวเองก็เอาใบปริญญาไป เป็นการยื่นหมูยื่นแมวแบบหนึ่งที่ตอนนี้เห็นกันเป็นเรื่องปรกติ)

ESR ย่อมาจาก Electron Spin Resonance ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัวอย่างอะตอมหรือสารประกอบที่มี unpaired electron (อิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่) ดังนั้นเมื่อตรวจพบสัญญาณ ESR จึงสรุปได้ว่าตัวอย่างมีอะตอมหรือสารประกอบที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ ส่วนอะตอมหรือสารประกอบที่มีอิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่นั้นเป็นตัวทำให้เกิด defect หรือเปล่านั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งที่เคยเจอคือผู้ทำการทดลองบอกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่เขาศึกษานั้น ให้ค่าการเลือกเกิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการถึง 100% พอตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์ก็พบว่าการทำงานของเครื่อง GC ของเขานั้น ตั้งเครื่องให้มองเห็นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเท่านั้น โดยการตั้งอุณหภูมิคอลัมน์ให้ต่ำไว้ เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาข้างเคียง (ซึ่งจะออกมาที่อุณหภูมิสูงกว่า) หลุดออกมาจากคอลัมน์

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานระหว่างการสอบ ผู้เข้าสอบ (นิสิตปริญญาเอก)บอกว่าผลการคำนวณของเขาตรงกับที่รายงานไว้ในบทความ ผมก็ถามกลับไปว่าบทความที่คุณอ้างถึงนั้นเป็นบทความที่เป็นการทำการทดลอง (ข้อมูลมีพื้นฐานอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง) หรือเป็นบทความที่เป็นเพียงแค่การ simulation (ข้อมูลมีพื้นฐานอยู่บนโลกแห่งความฝัน) เพราะในโลกแห่งความฝันนั้นเราจะฝันให้ดีอย่างไรก็ได้ โดยไม่ใส่สิ่งที่ทำให้ผลการคำนวณออกมาไม่ดีเข้าไปในแบบจำลอง ผมยังได้ให้คำแนะนำไปด้วยว่าสำหรับงานประเภทนี้ ในการสรุปบทความนั้นควรต้องแยกเป็นส่วนที่เป็นงานที่ "ทำการทดลอง" และส่วนที่เป็นงานที่ "ทำเฉพาะการจำลอง"

ที่กล่าวมาข้างบนไม่ได้หมายความว่าผล simulation นั้นไว้ใจไม่ได้ ผล simulation ที่ไว้ใจได้นั้นมีอยู่ และมักมีพื้นฐานการพัฒนามาจากผลการทดลองจำนวนมาก ผ่านการทดสอบมาอย่างโชกโชน (เช่นทางด้าน fluid mechanic หรือ mechanic of material หรือการถ่ายเทความร้อน) ส่วนการทำงาน simulation ที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีนั้นมักจะตรงข้ามกัน คือมีการทำงาน simulation เยอะมาก แต่มีการทดลองเพื่อสร้างข้อมูลอยู่น้อยมาก ส่วนมากที่ทำกันก็คือลอก ๆ ผลการทดลองมีอยู่ไม่กี่ผล ใช้ข้อสมมุติที่อยู่บนพื้นฐานความฝันต่อ ๆ กันมา แล้วก็เอาความฝันมาเปรียบเทียบกัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้เพื่อต้องการบอกว่าในการอ่านบทความนั้น คุณต้องแยกออกให้ได้ว่าผลการทดลองของผู้เขียนบทความนั้นคืออะไร แล้วเขาอธิบายผลการทดลองดังกล่าวได้อย่างไร


. ข้อสรุปที่ได้และความเห็น


ในส่วนนี้คุณควรแยกออกเป็น


ก) ข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนจากผลการทดลองใดผลการทดลองหนึ่งโดยตรง และ

ข) ข้อสรุปที่ได้จากการนำผลการทดลองต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน


ตัวอย่างเช่นในการเสนอค่าคงที่ของอัตราการเกิดปฏิกิริยานั้น ผู้เขียนบทความมักจะกล่าวไว้กลาง ๆ ว่า "ปฏิกิริยาดังกล่าวมีค่า pre-exponential และค่าพลังงานกระตุ้นเท่ากับเท่านั้นเท่านี้" แต่ถ้าจะนำมาใช้งานจริงควรต้องต้องเปลี่ยนข้อสรุปดังกล่าวให้เป็น "ปฏิกิริยาดังกล่าวมีค่า pre-exponential และค่าพลังงานกระตุ้นเท่ากับเท่านั้นเท่านี้ ในช่วงอุณหภูมิที่ทำการศึกษาและกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ศึกษา"

สิ่งที่เขียนในบทความนั้นต้องแยกออกให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้มานั้น "ผลการทดลองเป็นพยานหลักฐานโดยตรง" คือตามข้อ (ก) ข้างบน หรือ "ใช้ผลการทดลองเป็นพยานแวดล้อมในการอธิบายผล" คือตามข้อ (ข)

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนบทความนั้นจะแสดงความเห็น (จะถูกหรือผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) ดังนั้นต้องแยกให้ออกว่าตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนบทความแสดงความเห็น อย่านำมาบอกว่าเรื่องนี้มีบทความนี้รับรองเอาไว้แล้ว (ทำเป็นเหมือนว่าความเห็นนั้นเป็นข้อสรุปที่ได้จากผลการทดลอง) ที่ผ่านมาพบว่าผู้อ่านบทความมักจะนำเอาความเห็นนั้นไปแปลเป็นข้อสรุปจากผลการทดลองเสมอ


หวังว่าคงจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น: