วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

สำคัญสุดคือวิธีการ MO Memoir : Friday 2 April 2553

Memoir ฉบับนี้เป็นตอนต่อจากฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ทำให้เรียบร้อย (ตอนที่ ๒)"


ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ผมได้สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทรวม ๘ เล่ม (อันที่จริงยังมีอีกหนึ่งเล่มแต่มีการเลื่อนการสอบออกไป) ที่รู้สึกแปลกใจมากคือวิทยานิพนธ์ทั้ง ๙ เล่มที่ได้รับมานั้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ "ไม่ให้รายละเอียดและไม่แสดงวิธีการทำงาน" ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ การทดลอง การสร้างแบบจำลอง หรือการคำนวณ

เคยเห็นในหนังสือคู่มือนักวิจัยเล่มหนึ่งที่หน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่งพิมพ์แจกจ่าย โดยในนักเป็นบทความที่เขียนโดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยอาวุโสหลายท่าน มีบทหนึ่งในหนังสือนั้นกล่าวว่าบทที่สำคัญสุดของงานวิจัยคือ "ผลสรุปของงานนั้น" กล่าวคือให้ดูแต่ว่างานนั้นได้ผลออกมาเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการอ่านงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ใด ๆ นั้นบทที่ผมให้ความสำคัญที่สุดคือ "วิธีการทดลอง" หรือถ้าเป็นงานการสร้างแบบจำลองก็จะเป็น "วิธีการสร้างแบบจำลอง"


กติกามีอยู่ง่าย ๆ เพียงข้อเดียวคือ "ถ้าวิธีการผิด ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาดูผล"


ก่อนที่จะอ่านผลการทดลองใด ๆ นั้น สิ่งแรกที่ผมจะตรวจดูก่อนก็คือ การเตรียมการทดลอง การเก็บตัวอย่าง และเทคนิคการวิเคราะห์ตัวอย่างนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ บ่อยครั้งที่พบว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้นั้นมีการแปลความหมายให้เข้ากับสมมุติฐานที่ตัวเองตั้งไว้ ทั้ง ๆ ที่มีผลการทดลองนั้นสามารถใช้ทฤษฎีอื่นอธิบายก็ได้ ซึ่งก่อนที่ระบุสาเหตุลงไปก็ควรต้องมีการทำการทดลองเพิ่มเติมหรือนำผลการวัดอื่นมาประกอบด้วย ไม่ใช่รีบด่วนสรุป

ในกรณีที่เป็นงานที่เป็นการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ ก็จะตรวจดูก่อนว่าแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่สร้างนั้นเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการจำลองหรือไม่ ในกรณีที่มีการใช้ข้อสมมุติเพื่อทำให้แบบจำลองง่ายขึ้น ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าข้อสมมุติดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งพบว่าข้อสมมุติที่ผู้สร้างแบบจำลองนำมาใช้นั้น ก็เพื่อทำให้งานของตัวเอง "ง่ายขึ้น" โดยไม่สนว่าคำตอบที่ได้มันจะสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่

ตัวอย่างเช่นกรณีหนึ่งที่เจอในการสอบสัปดาห์นี้ วิทยานิพนธ์ของผู้เข้าสอบนั้นบอกว่าจะทำอะไร และตามด้วยผลสรุปการวิเคราะห์เลย โดยไม่มีการแสดงรายละเอียดว่าได้ดำเนินการทำงานอย่างไรบ้าง และผลที่ได้จากการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง พอโดนกรรมการซักถามก็ตอบไม่ได้ ได้แต่ตอบไปข้าง ๆ คู ๆ ประเภทตัวเลขมันเยอะ พอถามว่าแล้วตัวเลขนั้นอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีให้ดู จนกรรมการต้องถามตรง ๆ ว่าตกลงว่าคุณได้ทำงานจริงหรือเปล่า หรือนั่งคิดตัวเลขว่ามันต้องได้ตามนี้แล้วเอาตัวเลขนั้นมาเขียนบนสรุปเลย (นั่งเทียนเขียนผลนั่นแหละ) รายนี้กรรมการต้องให้กลับไปเตรียมรายละเอียดวิธีการทำงานและผลการทำงานมาให้ตรวจก่อน ก่อนที่จะพิจารณาผลสอบ

อีกอย่างที่รู้สึกแปลกก็คือทุกรายที่เข้าสอบนั้น "ไม่มี" วิทยานิพนธ์ฉบับของตัวเอง พอกรรมการถามว่าสิ่งที่คุณนำเสนอนั้นมันอยู่ในหน้าไหนของวิทยานิพนธ์ ก็ตอบไม่ได้ หรือพอกรรมการถามว่าผลที่แสดงในหน้านี้มันมาได้อย่างไร ก็ต้องมาขอกรรมการดูวิทยานิพนธ์ฉบับที่ส่งให้กรรมการดูว่าผลการทดลองนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร จนต้องมีการถามว่าตัวผู้สอบเองเห็นว่าวิทยานิพนธ์ฉบับที่ส่งให้กรรมการนั้นไม่มีความสำคัญหรืออย่างไร

บางรายก็คิดว่า เนื่องจากกรรมการสอบไม่ได้เป็นผู้ที่ทำวิจัยอยู่ในสาขาเฉพาะทางเดียวกันกับที่เขาศึกษา ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าเขาจะรู้เรื่องในสิ่งที่จะนำเสนอ (พวกประเมินความรู้ของกรรมการสอบต่ำเกินไป หรือไม่ก็ไม่ได้สืบประวัติมาก่อนว่ากรรมการสอบมีความรู้ด้านไหนบ้าง) หรือถ้าเขาถามมาก็ตอบอะไรไปก็ได้ให้มันฟังยาก ๆ พอเขาไม่รู้เรื่องอะไรก็คงเลิกถามไปเอง ผมเคยเจอเหตุการณ์นี้เข้ากับตัวเองครั้งหนึ่ง จนผู้เข้าสอบเอาไปบ่นกับเพื่อนของเขาว่า "ไม่นึกว่าผมจะรู้เรื่องด้วยว่าเขามั่ว" เรื่องนี้ผมได้รับฟังจากคนที่ผู้เข้าสอบนั้นไปบ่นให้ฟัง

ที่น่าแปลกคือมีผู้ที่กำลังจะสอบ (ตอนนี้ยังไม่สอบแต่กำลังจะสอบในไม่ช้า) ถามผมว่า "อ่านวิทยานิพนธ์ด้วยหรือ" ได้ยินคำถามแบบนี้ก็รู้เลยว่าเขาคิดว่า "กรรมการสอบนั้นคงจะไม่อ่านวิทยานิพนธ์ที่ส่งให้ คงมาเพียงแค่นั่งฟังการนำเสนอในห้องสอบ แล้วก็ให้คะแนนการสอบจากการนำเสนอ ส่วนวิทยานิพนธ์นั้นมันต้องโดนแก้ไขอยู่ดี ดังนั้น ไม่ต้องไปเสียเวลาทำให้มันดี เขียนอะไรชุ่ย ๆ ใส่เข้าไปก็ได้ เดี๋ยวกรรมการก็แก้ไขมาให้เอง ถ้าโชคดีกรรมการไม่มีเวลาอ่านก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร"


ไม่น่าเชื่อว่าเดี๋ยวนี้คนที่มีการศึกษาในระดับนี้จะมีแนวความคิด "เลว ๆ" แบบนี้กันทั่วไปหมด


สิ่งที่จะต้องคำนึงในการสอบวิทยานิพนธ์คือ "ต้องให้กรรมการยอมรับในสิ่งที่คุณเขียนอยู่ในวิทยานิพนธ์ โดยต้องไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใด ๆ เมื่ออ่านวิทยานิพนธ์ของคุณจบ"


การอ่านวิทยานิพนธ์นั้นเป็น "หน้าที่" ของกรรมการสอบที่ต้องอ่านวิทยานิพนธ์ที่เป็นกรรมการสอบ แต่กรรมการต้องได้รับวิทยานิพนธ์ก่อนวันสอบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ตามระเบียบนั้นต้องส่งก่อน "อย่างน้อย" สองสัปดาห์ แต่ที่ผ่านมาบางทีก็นำมาให้ก่อนแค่วันเดียว แบบนี้บางรายโดนกรรมการแจ้งไปเลยว่าให้เลื่อนการสอบออกไป เพราะไม่มีเวลาอ่าน

การที่กรรมการไม่ถามอะไรในการสอบนั้นแปลความหมายได้หลายอย่าง เช่น


ก. กรรมการอ่านงานของคุณ แล้วพบว่าเขียนมาดี พึงพอใจมาก จนไม่มีอะไรสงสัยจะถาม

ข. กรรมการไม่ได้อ่านงานของคุณ และอาจไม่สนใจด้วยว่าคุณทำอะไร เพียงแต่เข้ามานั่งฟัง (และรับเงินค่าเป็นกรรมสอบ) ส่วนผลสอบนั้นก็ให้ตามความเห็นของกรรมการคนอื่น

ค. กรรมการอ่านงานของคุณ แล้วเห็นว่าไม่ได้เรื่อง เชื่อไม่ได้ ให้ผลสอบเป็น "ตก" ทันทีที่อ่านจบ ก็เลยไม่อยากมาเสียเวลาถามคำถาม (จริง ๆ แล้วอยากจะบอกว่าไม่ต้องมาเสียเวลานำเสนอเลยด้วยซ้ำ)

ง. กรรมการไม่ได้อ่านงานของคุณ แต่คุณนำเสนอได้ดีและชัดเจนจนกรรมการไม่มีข้อสงสัยใด ๆ


เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เข้าสอบนั้นส่งวิทยานิพนธ์ให้กรรมการสอบตรวจ เขาเห็นเพื่อน ๆ โดยแก้ไขด้วยปากกาแดงเต็มไปหมดทั้งเล่ม ส่วนของเขานั้นมีข้อความเขียนมาสั้น ๆ บนหน้าปกเท่านั้น ตอนแรกเขาก็ดีใจคิดว่างานของเขานั้นไม่ต้องแก้ไขอะไร แต่ข้อความที่กรรมกรรมสอบเขียนเอาไว้นั้นบอกว่า


"อ่านไม่รู้เรื่อง แก้ไขอะไรให้ไม่ได้ ให้ไปเขียนมาใหม่ทั้งเล่ม"

ไม่มีความคิดเห็น: