วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เก็บตกจากงานก่อสร้างอาคาร (ตอนที่ ๒) MO Memoir : Thursday 8 May 2557

วันก่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงานก่อสร้างอาคารแห่งหนึ่ง ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ดูกัน เพื่อจะได้รู้จักว่าในงานก่อสร้างนั้นมีอะไรบ้าง แม้ว่าในสาขาวิชาชีพของเรานั้น เรื่องเหล่านี้มันไม่อยู่ในหลักสูตร แต่บ่อยครั้งที่เราต้องไปเจอกับมันในชีวิตจริง

. Cat walk

Cat walk ในที่นี้ไม่ใช่ทางเดินสำหรับแมว แต่เป็นสำหรับคน และไม่ใช่สำหรับให้นางแบบนายแบบเดิน แต่สำหรับให้ช่างซ่อมบำรุงเป็นคนเดิน
  
ในอาคารหรือห้องปฏิบัติการหลายแห่งนั้น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเดินอยู่สูงจากพื้น โดยอยู่ใต้เพดาน และอาจมีฝ้าเพดานปิดเอาไว้เพื่อความสวยงาม หรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้อาจเป็น ท่อแอร์ ท่อน้ำ ท่อไอน้ำ ท่อร้อยสายไฟ ระบบไฟแสงสว่าง ท่อไอน้ำ รางวางสายไฟ สายโทรศัพท์ ฯลฯ
  
ระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้ต้องการการบำรุงรักษาเป็นระยะ การที่จะรื้อฝ้าเพดานหรือออกแบบให้ฝ้าเพดานรับน้ำหนักคนเดินได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เพราะจะไปรบกวนการทำงานของห้องที่อยู่ใต้ฝ้านั้นและทำให้ฝ้ากลายเป็นพื้นอาคารไปอีกชั้น วิธีการที่เหมาะสมกว่าในทางปฏิบัติคือการทำทางเดินเล็ก ๆ อยู่เหนือฝ้าเพดานนั้น ทางเดินนี้เรียกว่า "Cat walk"

รูปที่ ๑ ที่เห็นเป็นรางในภาพที่มีลูกศรสีเหลืองกำกับคือโครงสร้างที่ช่างกำลังขึ้นรูปเพื่อใช้เป็น Cat walk เหนือฝ้าเพดาน เพื่อไว้สำหรับช่างซ่อมบำรุงใช้เป็นทางเดินในการตรวจซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค
  
. Pipe support

Pipe support เป็นโครงสร้างรองรับท่อ ทำหน้าที่ยกท่อให้สูงขึ้นจากพื้น pipe rack เพื่อให้สามารถหุ้มฉนวนรอบตัวท่อได้ ท่อนั้นอาจเพียงแค่วางอยู่บน ถูกตรึง (ไม่ให้มีการขยับในแนวแกนและทางด้านข้าง) หรือเพียงแค่ป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนตัวทางด้านข้าง (แต่ให้ขยับได้ตามแนวความยาว) แต่ที่เห็นกันประจำคือสำหรับท่อที่มีการยืดหดตัวค่อนข้างมากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ท่อเหล่านี้มักจะไม่ยึดตรึงแน่นกับ pipe rack ไว้ทุกตำแหน่ง อาจทำแค่บางตำแหน่งเท่านั้น แต่จะปล่อยให้ท่อยืด-หดได้ในแนวความยาวตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

รูปที่ ๒ ตัวอย่างการวางท่อบน pipe rack สำหรับท่อที่ไม่ต้องมีการหุ้มฉนวนนั้นอาจวางแบบวางลงบน pipe rack โดยตรง โดยอาจมีการยึดตรึงเข้ากับ pipe rack ในบางตำแหน่งด้วย U-Bolt (2) แต่สำหรับท่อที่มีการหุ้มฉนวนนั้นจะไม่วางลงบน pipe rack โดยตรง แต่จะมีการใช้เหล็กตัว T เชื่อมติดกับท่อ (3) เพื่อให้ท่อยกตัวสูงขึ้นตามความหนาของฉนวนที่จะทำการหุ้ม โดยในกรณีของท่อประเภทนี้มักจะมีการยืด-หดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ดังนั้นจะไม่มีการยึดท่อให้ติดแน่นกับ pipe rack แต่จะมีการสร้างขอบประคองเอาไว้ไม่ให้ท่อเคลื่อนตัวได้ทางด้านข้าง ด้วยการเชื่อมเหล็กประกบกับฐานของ pipe suppport อีกที โดยไม่ได้เป็นการประกบติดแน่น (4)
  
รูปที่ ๓ ตัวอย่างการวางท่อบน pipe rack

รูปที่ ๔ ในกรอบสีเขียวคือรอยเชื่อมเหล็กที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ฐานของ pipe support มีการเคลื่อนตัวทางด้านข้าง การทำเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกตำแหน่งที่ pipe support วางบน pipe rack ทำเพียงแค่บางตำแหน่งก็พอ พึงสังเกตรอยเชื่อมเหล็กตัว T เข้ากับท่อ (ลูกศรสีเหลือง) เขาจะไม่เชื่อมเป็นแนวยาวแนวเดียวตลอดทั้งแนว แต่จะเชื่อมแล้วเว้นห่างเป็นช่วง ๆ

รูปที่ ๕ ที่ pipe rack ตัวนี้ pipe support จะวางอยู่บน pipe rack โดยไม่มีการเชื่อมเหล็กป้องกันไม่ใช้ pipe support เคลื่อนที่ในแนวข้าง พึงสังเกตว่าความยาวของเหล็กตัว T ที่เป็น pipe support นั้นจะยาวกว่าความกว้างของเหล็กที่ใช้ทำ pipe support อยู่มาก เพราะเมื่อท่อมีการขยายตัว pipe support จะมีเคลื่อนที่ตามการขยายตัวของท่อไปด้วย จึงต้องเผื่อความยาวเอาไว้เพื่อไม่ให้ตกจาก pipe rack

. ท่อมีตะเข็บ

ท่อเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้กันทั่วไปนั้นมักขึ้นรูปด้วยการนำเหล็กแผ่นมาม้วนเป็นรูปท่อ แล้วทำการเชื่อมตรงจุดบรรจบ ท่อแบบนี้เรียกว่าท่อแบบ "มีตะเข็บ (weld seam pipe)" แต่สำหรับท่อที่ใช้งานเพื่อรับความดันสูงนั้นจะขึ้นรูปจากแท่งเหล็กที่ร้อน นำมาทะลวงและรีดให้เป็นท่อที่มีขนาดตามต้องการ ท่อแบบนี้เรียกว่า "ท่อไม่มีตะเข็บ (seamless pipe)"
  
ท่อแบบมีตะเข็บนั้นจะถูกขัดรอยเชื่อมด้านนอกให้เรียบ บางครั้งมีการทาสีหรือชุบสังกะสีเอาไว้อีก ทำให้สังเกตเห็นรอยเชื่อมได้ยากหรือมองไม่เห็น แต่รอยเชื่อมดังกล่าวยังปรากฏชัดอยู่ทางด้านในท่อ
  
รูปที่ ๖ แนวเส้นสีเหลืองคือแนวรอยเชื่อมเหล็กแผ่นที่นำมาม้วนเป็นท่อ

. ฐานแผ่ (Spread footing)

ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๗๓ วันพุธที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "เก็บตกจากงานตอกเสาเข็ม" นั้น ผมได้เกริ่นถึงฐานรากอาคารชนิดฐานแผ่ไปแล้ว วันก่อนมีโอกาสเดินผ่านอาคารที่สร้างอยู่บนฐานแผ่ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ดูกัน
  
ฐานแผ่นของอาคารนี้สร้างโดยขุดดินลงไปจนถึงชั้นที่ดินไม่ทรุดตัว จากนั้นจึงหล่อฐานแผ่และเสาขึ้นจากระดับชั้นดินนั้น แต่เมื่อทำฐานเสร็จแล้วเขาไม่ได้ฝังกลบฐานแผ่นั้น เพราะต้องการให้มีที่ว่างข้างใต้พื้นอาคารชั้นล่าง เพื่อเอาไว้สำหรับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบท่อน้ำทิ้งต่าง ๆ
  
รูปที่ ๗ แนวเส้นสีเหลืองคือ "ฐานแผ่" เสาอาคารตั้งอยู่บนฐานแผ่นี้ ใต้ฐานแผ่นี้ไม่มีเสาเข็มรองอยู่ข้างใต้
  
หลังจาก Memoir ฉบับนี้ผมจะหายหน้าไปสักพัก ขอเวลาไปพักผ่อนหลบร้อนกับเขาบ้าง :)

ไม่มีความคิดเห็น: