วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การทิ้งระเบิดโจมตีการส่งเสบียงกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๘) MO Memoir : Wednesday 21 May 2557

บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เขียนโดยคนไทยนั้น มักจะเป็นบันทึกของบุคคลทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงนั้น ซึ่งอาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มเสรีไทย ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการทางทหารของไทยในขณะนั้น มีการเขียนบันทึกและพิมพ์เผยแพร่เอาไว้บ้างหรือไม่ ที่เห็นล่าสุดก็มีการเขียนหนังสือ "ทางรถไฟสายใต้ในเงาอาทิตย์อุทัย" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟของไทยกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย ดร.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง มีการนำเรื่องราวของบันทึกเอกสารราชการของฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นที่ถูกเก็บเอาไว้ (โดยคนทั่วไปในยุคปัจจุบันอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีอยู่) เอามาเปิดเผยให้เห็นกัน
  

Memoir ฉบับนี้เป็นการนำเอาเอกสารและรูปภาพที่ค้นเจอทางอินเทอร์เน็ต โดยคัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีประเทศไทยโดยกองทัพอากาศอังกฤษเมื่อ ๖๙ ปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง
  

รูปที่ ๑ และ ๒ ในหน้าถัดไปนำมาจากเอกสาร "Supplement to The London Gazette of Friday 13th April 1951" ฉบับที่ ๓๙๒๐๒ เผยแพร่ในวันที่ ๑๙ เมษายน ปีค.ศ. ๑๙๕๑ (พ.ศ. ๒๔๙๔) ในหัวเรื่อง "Air Operation in South East Asia 3rd May, 1945 to 12th September, 1945" ในตอนต้นของบทความกล่าวว่าเขียนโดย Air Chief Marshal Sir Keith Park, Allied Air Commander-in-Chief, South East Asia และส่งให้ Secretary of State for Air ในเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) บทความชิ้นนี้กล่าวถึงปฏิบัติการทางอากาศในช่วงท้ายจนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงสงครามสิ้นสุด ในย่านพม่าและไทย ในหน้าที่ ๒๑๔๐ และ ๒๑๔๑ ตั้งแต่ย่อหน้าที่ ๑๖๖ ถึง ๑๘๖ นั้นกล่าวถึงปฏิบัติการทางอากาศในการโจมตีเส้นทางลำเลียงทางรถไฟ ท่าเรือและเรือสินค้า
  

โดยเฉพาะย่อหน้าที่ ๑๗๒-๑๘๒ ในหน้า ๒๑๔๐ นั้นบรรยายถึงการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด ๑๐,๐๐๐ ตันของญี่ปุ่น โดยฝูงบินที่ ๒๓๑ ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน บริเวณที่ทำการโจมตีไม่ได้ระบุตำแหน่งแน่นอน แต่ในย่อหน้าที่ ๑๗๖ บอกว่าเรือนั้นเดินทางผ่านเกาะสมุย (เรือเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือ) ก่อนจะถูกจม ในย่อหน้าที่ ๑๘๒ ยังได้กล่าวถึงการจมเรือชื่อ "อ่างทอง" ขนาดความยาว ๓๓๕ ฟุตที่เป็นเรื่องส่งเสบียงให้กับเรือดำน้ำ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยเครื่องบินของฝูงบินที่ ๒๓๑ เช่นเดียวกัน
  

รูปที่ ๓ เป็นภาพเรือขนาด ๒๕๐ ฟุตที่กำลังลุกไหม้และกำลังจม ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ในรูประบุว่าถูกโจมตีโดยเครื่องบินหมายเลขจากฝูงบินที่ ๓๕๖ แต่เมื่อเทียบกับข้อความในย่อหน้าที่ ๑๗๕ (รูปที่ ๑) แล้ว คิดว่าเลข ๒๕๖ น่าจะเป็นหมายเลขของเครื่องบินของฝูงบินที่ ๒๓๑ มากกว่า เพราะฝูงบินที่ ๒๓๑ นี้รับหน้าที่ปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ ส่วนรูปที่ ๔ เป็นภาพบริเวณท่าเรือสงขลา (อังกฤษเรียกว่า Singora) แต่เสียดายที่ไม่ได้ระบุวันที่ เพียงแต่บอกว่าเป็นผลการปฏิบัติการของฝูงบินที่ ๒๓๑ เช่นกัน
 

คำว่า "Liberator" ที่ปรากฏนั้นเป็นชื่อรุ่นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator สร้างโดยสหรัฐอเมริกา ฐานทัพของกองทัพอากาศอังกฤษนั้นตั้งอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกา การบินมาทิ้งระเบิดที่ประเทศไทยเครื่องบินจำเป็นต้องเดินทางเป็นระยะทางไปกลับกว่า ๒,๐๐๐ ไมล์ (มากกว่าระยะบินจากลอนดอนไปทิ้งระเบิดเบอร์ลินที่มีระยะทางไปกลับเพียงแค่ ๑,๒๐๐ ไมล์ - ดูย่อหน้า ๑๖๘ หน้า ๒๑๔๐) ระยะทางนี้ก็เรียกได้ว่าใกล้จะสิ้นสุดระยะทำการของเครื่อง Liberator แล้ว ซึ่งได้ทำการบินโจมตียัง อ่าวบ้านดอนที่คอคอดกระ ชุมทางรถไฟที่ชุมพร และกรุงเทพ (ย่อหน้าที่ ๑๖๖ และ ๑๖๘) และในวันที่ ๕ มิถุนายน ก็ได้บินโจมตีไกลถึงสถานรถไฟที่สุราษฎร์ธานี (ย่อหน้าที่ ๑๗๑)
 
 รูปที่ ๑

รูปที่ ๒





รูปที่ ๓ การทิ้งระเบิดเรือสินค้าความยาว 250 ft ที่อ่าวสัตหีบ คำบรรยายรูปมีดังนี้ "A 250-foot merchant vessel on fire and sinking after a direct hit by Consolidated Liberators of No. 356 Squadron RAF, during a daylight raid on Japanese shipping in the naval anchorage at Satahib Bay, Thailand.



รูปที่ ๔ การทิ้งระเบิดท่าเรือที่สงขลา แต่ก่อนนี้เรามีทางรถไฟจากหาดใหญ่แยกไปสงขลา ดังนั้นของที่ขึ้นจากเรือที่สงขลาจึงสามารถลำเลียงสู่พม่าตามเส้นทางรถไฟได้ คำบรรยายรูปมีดังนี้ "Low-level oblique photograph showing godowns on fire by the harbour side at Singora, Thailand, during a raid by Consolidated Liberators of No. 231 Group.

ไม่มีความคิดเห็น: