วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เขียนไว้ เพื่อเตือนใจตนเอง (๕) MO Memoir : Friday 29 August 2557

ถ้าเปลี่ยนมุมมองเป็น "การเอาผลงานที่คนอื่นเป็นผู้ทำ ไปขึ้นรางวัลหรือรับผลตอบแทนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี"
ก็จะเห็นว่ามันมีเหตุการณ์ที่มีพฤติกรรมทำนองเดียวกันนี้ที่นอกเหนือไปจากการ "ลอกการบ้าน" "รับจ้างทำการบ้าน" หรือ "รับจ้างทำวิทยานิพนธ์"

อันที่จริงเรื่องนี้ก็ร่างเอาไว้ตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว ยังไม่ได้ลงมือเขียนให้จบสักที บังเอิญตอนนี้มันมีเรื่องเกี่ยวกับการลอกการบ้านของนักเรียนและการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ปรากฏเป็นข่าว ก็ถือโอกาสจบเรื่องสักที
     
การที่ครูบาอาจารย์คิดว่าการที่นักเรียนไม่ได้ทำการบ้านเอง แต่ใช้การลอกการบ้านเพื่อนมาส่ง หรือไปให้คนอื่นทำการบ้านให้เพื่อให้มีการบ้านส่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในมุมมองของครูบาอาจารย์นั้นคิดว่าแม้ว่านักเรียนจะมีความรู้ในการบ้านที่ได้รับมอบหมาย แต่ความรู้ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการลงมือปฏิบัติหรือคิดด้วยตนเอง ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยให้คนอื่น (ซึ่งอาจเป็นนิสิตบัณฑิตศึกษาหรือ Postdoc) ทำวิจัยให้ โดยไม่สนใจว่าเขาจะทำอย่างไร สนแต่ว่าพอเขาได้ผลออกมาแล้วก็ให้มาบอกหน่อยว่าทำอย่างไร และได้ผลออกมาอย่างไร เพื่อที่อาจารย์ผู้นั้นจะได้นำไปพูดต่อในงานสัมมนาหรือรายงานต่อแหล่งที่ให้ทุน มุมมองของผมมันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการที่นิสิตนักศึกษาไปจ้างให้คนอื่นทำวิทยานิพนธ์ให้ แล้วให้ผู้รับจ้างนั้นมาอธิบายวิธีการและผลที่ได้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาผู้นั้นนำไปบอกต่อให้กับกรรมการสอบ

สิ่งที่เคยประสบพบเห็นก็มีตั้งแต่ปล่อยให้นิสิตบัณฑิตศึกษาทำวิจัยไปตามยถากรรม มีปัญหาอะไรก็ไม่รับฟัง บอกให้ไปหาคนอื่นหรือไปหาวิธีแก้เองเอง สิ่งเดียวที่บอกกับนิสิตของตัวเองก็คือ "ถ้าไม่มี paper ก็ไม่จบ"  

ตอนทำแลปอาจารย์อยู่ไหนก็ไม่รู้ นิสิตได้แต่ร้องโอดครวญว่าไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องไปขอให้คนอื่นช่วยเหลือ แต่ตอนที่ผลงานนิสิตที่นิสิตกระทำสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของคนอื่น (ที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตเอง) ได้รับรางวัล กลับปรากฎตัวอาจารย์ที่ปรึกษาเด่นชัดอยู่หน้ากล้อง เผลอ ๆ มีการจัดฉากลวงโลกด้วยเพื่อประกอบการรับรางวัล  

เคยมีผู้เปรย ๆ ให้ฟังถึงพฤติกรรมของอาจารย์บางราย ที่ไม่เคยโผล่หน้าเข้ามาดูเลยว่านิสิตทำแลปอย่างไร การทดลองมีปัญหาอย่างไร การวิเคราะห์ผลการแปลผลทำได้ถูกต้องหรือไม่ สนอย่างเดียวว่านิสิตมีผลงานให้เขาเอาไปตีพิมพ์ paper ได้หรือไม่เท่านั้น แต่พอตัวอาจารย์ได้รับรางวัลจาก "จำนวน" paper ที่ตีพิมพ์ กลับมีการจัดฉากแต่งตัวให้ช่างภาพถ่ายรูปไปทำข่าว เสมือนว่า "ปรกติ" เขาก็เข้ามาทำการทดลองหรือสอนนิสิตในห้องแลป

เดี๋ยวนี้เห็นมีรูปแบบใหม่ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยใช้จ้างผู้อื่นให้ทำวิจัย เพื่อที่ตัวเองจะได้มี paper เอาไปขอความดีความชอบโดยไม่ต้องลงทุนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง คือการเปิดรับ "Postdoc"

การทำ "Postdoc" นั้นเป็นการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมหลังจบปริญญาเอก มักจะเป็นการทำวิจัยเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเฉพาะทางจากอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น นั่นหมายถึงการที่ผู้ที่ไปทำ Postdoc นั้นไป "เรียนรู้" จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสิ่งที่ "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง" ท่านนั้นมีความรู้
แต่ที่มีโอกาสได้เห็นคือการที่อาจารย์ที่ไม่คนทำวิจัยให้ หรือไม่ก็ไม่ได้มีความรู้ที่จะเรียกได้ว่ารู้จริงในด้านที่ตนอยากมีบทความที่มีชื่อตัวเองปรากฏ ทำการจ้างผู้ที่จบปริญญาเอกที่มีประสบการณ์เฉพาะทางในด้านดังกล่าว ให้มาทำวิจัยและตีพิมพ์บทความในหัวข้อที่อาจารย์ผู้จ้างนั้นกำหนด โดยแฝงมาในรูปของการจ้าง "Postdoc" พอผู้มาทำ "Postdoc" ได้ผลงานมาแล้วก็ให้มาเล่าต่อ (หรือจะเรียกว่าสอนหนังสือให้ก็ได้) ให้อาจารย์ผู้จ้างฟัง เพื่อที่อาจารย์ที่เป็นผู้จ้างนั้นจะได้เอาไปพูดต่อได้ถึงเรื่องราวที่ปรากฏในบทความที่มีชื่อเขาปรากฏ
  
เคยมีเมธีวิจัยอาวุโสผู้หนึ่ง มากระซิบถามความเห็นผมเกี่ยวกับผลงานของเมธีวิจัยอาวุโสอีกรายหนึ่งว่าเขาทำเองหรือไม่ หรือจ้างให้คนอื่นทำ เพราะเวลามีการนำเสนอผลงาน ผู้ฟังซักถามอะไรก็ตอบไม่ได้

เคยมีพนักงานบริษัทเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ทางบริษัทจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงว่ามีผลงานวิจัยมากมาย โดยคาดหวังว่าจะเอาผลงานของอาจารย์ผู้นั้นไปประยุกต์ใช้กับงานของบริษัท ทุนวิจัยนื้ทางอาจารย์เองมีการขอตั้งค่าจ้าง "ผู้ช่วยวิจัย" เพื่อใช้จ้างนิสิตบัณฑิตศึกษาที่จะมาทำวิจัยให้กับหน่วยงานของทางบริษัท ทางบริษัทเองนั้นคาดหวังว่าอาจารย์จะเป็นผู้กำกับการทำวิจัย โดยมีนิสิตบัณฑิตศึกษาเป็นลูกมือ แต่พอถึงวันประชุมความก้าวหน้าทีไรกลับปรากฏว่าตัวอาจารย์เองมานั่งซักถามเด็กตัวเองให้ทางบริษัทฟังว่า ช่วงที่ผ่านมาเด็กของตัวเองได้ทำอะไรไปบ้าง (เพราะอาจารย์ไม่รู้เลย) ทำไมถึงทำอย่างนั้น (ก็เพราะอาจารย์ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน) ได้ผลการทดลองออกมาอย่างไร (ก็เพราะอาจารย์ไม่เคยเห็นผลการทดลองมาก่อน เพิ่งจะมาเห็นพร้อมกับทางบริษัทในวันนำเสนอความก้าวหน้า) ผลที่ได้สรุปได้ว่าอย่างไร พอทางบริษัทถามคำถามอาจารย์ก็โยนให้เด็กตอบ พอเด็กตอบไม่ได้ก็บอกให้เด็กไปหา paper มาอ้างอิง มีปัญหาอะไรก็โยนให้เด็กของตัวเองหมด ทำเหมือนกับว่าความรับผิดทั้งหมดอยู่ที่เด็กที่อาจารย์จ้างให้มาเป็น "ผู้ช่วยวิจัย" การกระทำดังกล่าวของอาจารย์ทำให้ทางบริษัทรู้ว่าที่ผ่านมานั้นอาจารย์ผู้นั้นไม่เคยสนใจเลยว่าเด็กของตัวเองทำงานอะไรบ้าง เพิ่งจะมารู้พร้อมกับทางบริษัทเขาก็วันประชุมรายงานความก้าวหน้านั่นแหละ
  
และสิ่งที่ทางบริษัทคาดหวังคือทางตัว "อาจารย์" เองควรเป็นผู้ที่ "ทำหน้าที่รายงานความก้าวหน้า" เพราะเขาจ้าง "อาจารย์" (ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อระบุในสัญญา) ให้ทำงาน เขาไม่ได้จ้างนิสิตบัณฑิตศึกษาที่อาจารย์ขอตั้งงบเพื่อนำมาใช้เป็น "ผู้ช่วยวิจัย" สิ่งที่อาจารย์คนดังกล่าวควรต้องทำคือไปเคลียร์กันเองกับ "ผู้ช่วยวิจัย" ให้เรียบร้อยก่อนว่างานในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ทำอะไรไปบ้าง และได้ผลและข้อสรุปอย่างไรบ้าง จากนั้นตัวอาจารย์เองจึงนำสิ่งที่ได้นั้นมารายงานให้ทางบริษัททราบอีกที ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทางบริษัทเองจะด่า (ลับหลัง) อาจารย์ดังกล่าวให้กับนิสิตบัณฑิตศึกษาที่ทำวิจัยกับทางบริษัทดังกล่าวให้ฟังว่าตัวอาจารย์ผู้นั้น "ไม่มีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่ตัวเองทำวิจัย"

ที่สนุกก็คือด้วยการทำงานแบบถ้านิสิตไม่มีผลมาให้เขาตีพิมพ์ paper ได้ นิสิตก็จะเรียนไม่จบ มันก็เลยมีผลการทดลองที่ "ดี" จนสามารถตีพิมพ์ paper ได้เกิดขึ้น ถ้ามันจบแค่การตีพิมพ์ paper นั้นก็แล้วไป แต่นี่มีการนำเอาผลงานที่ตีพิมพืใน paper ดังกล่าวไปเสนอทางบริษัทเพื่อขอทุนทำวิจัยต่อยอดเพื่อนำไปใช้งาน พอได้ทุนมาปรากฏว่า ผลการทดลองที่คนก่อนหน้านั้น (ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว) ไม่มีใครที่มาทีหลังสามารถ "ทำซ้ำได้" พอจะติดต่อกับคนที่ทำผลการทดลองที่ออกมา "ดี" นั้น เพื่อที่จะขอให้เขากลับมาทำการทดลองซ้ำว่าผลการทดลองที่ได้ตีพิมพ์ paper ไปนั้นเป็นของจริง ก็ไม่สามารถติดต่อได้อีก (เรื่องอะไรเขาจะกลับมาให้โง่)
  
วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำซ้ำผลการทดลองที่อาจารย์คนดังกล่าวเอาไปตีพิมพ์ paper และเอามาเสนอให้กับทางบริษัทเพื่อนำไปพัฒนาต่อนั้น แอบมาปรึกษากับผมเรื่องผลการทดลองดังกล่าว เพราะงานดังกล่าวถูกโยนกันไปโยนกันมา เนื่องจากยังไม่มีใครในบริษัทสามารถทำซ้ำได้ (แม้แต่นิสิตบัณฑิตศึกษาของอาจารย์ผู้นั้นเอง) สิ่งแรกที่เขาเอามาให้ผมดูก็คือวิธีการทดลอง ผมอ่านเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดผมก็ถามเขากลับไปว่า "สารเคมีตัวนี้ ที่ความเข้มข้นระดับนี้ มีขายด้วยเหรอ" หรือว่าเขาเตรียมขึ้นมาเป็นพิเศษ
  
มหาวิทยาลัยเน้นคะแนนการประเมินอาจารย์ไปที่ "จำนวน paper" โดยไม่สนใจ "process" หรือกระบวนการที่ทำให้ได้ paper นั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการ "abuse" ระบบการเรียนการสอน

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การพิจารณาต่อสัญญาจ้างงาน จำนวนผลตอบแทนที่จะได้รับจากทางมหาวิทยาลัย การมีชื่อเสียงในวงการวิจัย ได้มาจาก "จำนวน" ผลงานที่ตีพิมพ์เป็นหลัก การทำให้ได้มาซึ่งผลงานของอาจารย์ โดยไม่สนใจว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจารย์นำไปเสนอผลงานนั้นมาได้อย่างไร มันจึงไม่แปลกที่จะมีกรณีที่นิสิต "เขียน" ผลแลปขึ้นมาเองเพื่อให้สนองความพึงพอใจของอาจารย์ ทำให้มันเข้ากับทฤษฎีที่อาจารย์ตั้งไว้ เพื่ออาจารย์จะได้เขียน paper ได้ และจะได้ยอมให้เขาเรียนจบ ตัวมหาวิทยาลัยเองก็ดีใจที่จะมี paper จำนวนมากออกในนามมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นในการจัดอันดับ เรียกว่าได้ประโยชน์กันทั้งตัวนิสิต อาจารย์ และทางมหาวิทยาลัยเอง
  
เคยมีนิสิตปริญญาเอกผู้หนึ่งมาปรับทุกข์กับผมเรื่องนี้ คือผลการทดลองของเขานั้นทำซ้ำได้ แต่มันไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาตั้งไว้ เขาเคยเอาผลการทดลองนี้ไปปรึกษากับผู้อื่นมาแล้ว ซึ่งก็ได้รับคำอธิบายว่าผลการทดลองที่เขาได้มานั้นมันถูกต้องแล้ว และสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีที่มีอยู่เดิมแล้ว ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีที่อาจารย์ที่ปรึกษาของเขานั้นพยายามจะตั้งขึ้นมาใหม่

ในสายวิชาชีพของเรานั้น ผู้ที่เรียนจบนั้นต้องสามารถ "คิดเป็น และทำเป็น" แต่ที่ผ่านมานั้นพบว่าตัวบัณฑิตที่จบไปนั้นจำนวนไม่น้อย "ทำอะไรไม่เป็น" พอไปทำงานก็มีการกล่าวพาดพิงว่าคนที่จบไปนั้นทำเป็นแต่งานบนกระดาษ ให้ลงมือปฏิบัติก็ทำอะไรไม่เป็น พอเรื่องนี้ได้ยินมาถึงทางภาควิชา ก็มีอาจารย์แก้ตัวแทนนิสิตว่า ที่นี่สอนให้คุณเป็นคนคิดเป็น สอนให้ใช้สมอง ไม่ได้สอนให้คุณลงมือปฏิบัติเป็น  

ผมเคยกล่าวกับอาจารย์สถาบันอื่นในที่ประชุมของสถาบันนั้นว่า อาจารย์คนใดที่กล่าวอย่างนั้นแสดงว่าอาจารย์ผู้นั้น "ทำอะไรไม่เป็น" นั่นเป็นข้อแก้ตัวของคนที่ทำได้เพียงแค่พูดไปตามที่ตำราเขียนเอาไว้

เคยได้ยินเสียงบ่นจากอาจารย์เหมือนกันว่านิสิตทำอะไรไม่เป็น แต่พอถึงการสอนวิชาปฏิบัติการทีไร อาจารย์หายหัวประจำ ให้ครูปฏิบัติการหรือ TA (ทั้ง ๆ ที่โดยตำแหน่งแล้วเขาเหล่านั้นไม่ได้มีหน้าที่อะไรในการสอนทั้งสิ้น) ดูแลนิสิตแทน แต่ตัวอาจารย์เอง claim ภาระการสอนแลปเต็มเวลาครับ
  
ตอนที่ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าดูแลห้องปฏิบัติการสำหรับสอนนิสิตปริญญาตรีนั้น มีอยู่วิชาหนึ่งที่ตามตารางสอนแล้วเริ่มตอนบ่ายสอง และควรเสร็จภายในห้าโมงเย็น แต่เอาเข้าจริงกว่าจะปิดแลปก็ร่วมสองทุ่ม พอถึงเวลาเบิกค่าล่วงเวลา เจ้าหน้าที่ห้องแลปก็ขอเบิกค่าล่วงเวลาจากอาจารย์ดังกล่าวจนถึงสองทุ่ม อาจารย์ผู้สอนวิชาดังกล่าวก็ไม่พอใจ มาโวยวายกับผม หาว่าเจ้าหน้าที่เขากรอกเอกสารเท็จเพื่อจะเอาเงินค่าล่วงเวลา ผมก็เลยย้อนถามกลับไปว่าแล้วอาจารย์รู้หรือเปล่าว่าเขาเลิกแลปกันเวลาใด อาจารย์อยู่สอนจนถึงกี่โมง ถามแค่นั้นอาจารย์ผู้นั้นก็เงียบไป ก็เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าแลปเลิกเวลาใด เขามาอธิบายวิธีการทำแลปให้นิสิตฟังเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ออกจากแลปไปแล้ว พอสี่โมงเย็นก็กลับบ้าน (ตามตารางสอนวิชาดังกล่าวต้องเลิกห้าโมงเย็น และเขาควรจะอยู่จนเลิกแลปด้วย) ผมเองนั้นช่วงปีดังกล่าวกลับบ้านดึกเป็นประจำ ก็เลยรู้ว่าแลปวิชานั้นมันเลิกกันตอนสองทุ่มจริง

เมื่อการพิจารณาความดีความชอบของอาจารย์นั้นเน้นไปที่จำนวน paper ที่ตีพิมพ์ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับจำนวนนิสิตบัณฑิตศึกษาที่อาจารย์แต่ละคนมีอยู่ในมือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอนปริญญาตรีนั้นจึงแทบจะไม่อยู่ในสายตาของผู้บริหาร มันก็เลยดูแปลกครับที่อยู่ดี ๆ มาบอกให้ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี (ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดี) แต่คนทำก็รู้ดีว่า ทำไปก็เอาไปหาความดีความชอบอะไรไม่ได้ การสอนปริญญาตรีเป็นงานที่เสียเวลา เอาเวลาไปทำ paper ดีกว่า เด็กจบปริญญาตรีที่จะมาเรียน โท-เอก ก็ให้คนอื่นเขาผลิตให้ดีกว่า อย่าไปเสียเวลาผลิตเอง
  
แต่มันก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่นในหลักสูตรที่มีการจ่ายค่าสอนรายชั่วโมง พอเป็นวิชาบรรยายนี่แย่งกันใหญ่ ของฉันเนื้อหาเยอะ เดี๋ยวเด็กจะไม่มีความรู้ ต้องมีจำนวนสัปดาห์ที่ต้องสอนมาก ๆ (สอนสามชั่วโมงได้หกพันบาท หรือตกชั่วโมงละสองพันบาท) แต่พอเป็นส่วนของปฏิบัติการ (ได้ค่าสอนเพียงครึ่งเดียว แถมต้องตรวจรายงานอีก) กลับบอกว่าไม่มีอะไรจะสอน ไม่ต้องสอนแลปได้ไหม หรือขอแค่เป็นพิธีเพียงสัปดาห์เดียวก็พอ

เมื่อหน่วยงานเห็นเนื้อหาวิชาควรมีอยู่อย่างครบถ้วนบนอินเทอร์เน็ต
เมื่อผู้เรียนควรเข้าถึงเนื้อหาวิชานั้นได้จากทุกที่ผ่านทางอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะห้องเรียนจะไม่มีตัวจนอีกต่อไป
เมื่อผู้เรียนนั้นควรที่จะมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
แต่กลับมาถกเถียงกันว่าควรมีการเช็คชื่อเข้าเรียนหรือเปล่า
แถมการเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารไร้สายเข้ากับระบบเครื่องข่ายของหน่วยงานเองก็ต่อติดบ้างไม่ติดบ้าง

ผมสอนนิสิตวิชาบรรยาย ผมไม่เคยเช็คชื่อ เนื้อหาเรื่องราวที่จะสอนก็ไม่หวงอะไร แจกให้หมด แม้แต่ข้อสอบเก่า (ที่มักเป็นตัวลวงให้นิสิตทำข้อสอบไม่ได้เป็นประจำ) ถ้าสอบผ่านได้ก็ไม่ว่าอะไร

แต่วิชาปฏิบัติการผมจะเช็คชื่อและเข้มงวดเรื่องเวลาเรียน เพราะมันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมชั้น และการลงมือปฏิบัตินั้นมันสอบด้วยการเฝ้ามองการกระทำ ไม่ใช่ดูจากคำตอบข้อเขียน

ผมเขียน Memoir แจกจ่ายนิสิตในที่ปรึกษาและนำขึ้น blog ให้สามารถอ่านได้จากทุกที่ มาปีนี้เป็นปีที่ ๗ แล้ว แต่หน่วยงานเพิ่งจะมารณรงค์ (แกม....) จะให้อาจารย์ในหน่วยงานทำแบบที่ผมทำมาก่อนหน้า โดยให้ไปใช้รูปแบบโปรแกรมที่เขาอยากจะใช้ (ทำนองว่าเพิ่งจะคิดทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ หลายคนเขาทำไปก่อนหน้าแล้ว)

ทิ้งท้ายไว้หน่อยก็แล้วกันเรื่องการตรงต่อเวลา ซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าจะใช้เรื่องการ "เข้าเรียนตรงเวลา" มาเป็นตัววัดความรับผิดชอบในหน้าที่ของนิสิต แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว ขอใช้เพียงแค่ "ส่งการบ้านให้ตรงเวลา" เท่านั้นเอง
  
สาเหตุก็คือในขณะที่ตัวผู้สอนเองกลับมีสารพัดข้ออ้างในการมาสาย และการขอไม่สอนตอน แปดโมงเช้า (อ้างว่าไม่สะดวกที่จะมา แต่กลับบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องมาทำงานตรงเวลา เช่นด้วยการสแกนลายนิ้วมือ) นอกจากนี้ยังไม่ยอมเลิกสอนตามเวลา สอนจนเลยกำหนดเวลา ทำให้นิสิตไปเข้าเรียนวิชาอื่นสาย อาจารย์ผู้อื่นที่จะมาใช้ห้องดังกล่าวก็ต้องเริ่มการสอนสายไปอีก เรียกว่าอะไรที่ทำแล้วเข้าตัวเอง อาจารย์ไม่ขอแตะ หาเฉพาะเรื่องที่จะเล่นงานได้เฉพาะนิสิตเท่านั้น


ที่เขียนมานี้ ก็เพื่อจะเตือนตนเองว่า อย่าเผลอทำตัวเป็นคนแบบ "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง"

ไม่มีความคิดเห็น: