วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การดูดกลืนคลื่นแสงของแก้ว Pyrex และ Duran MO Memoir : Friday 1 June 2561

เครื่องแก้ว (บีกเกอร์ ขวดฟลาสก์ ฯลฯ) ที่เคยเห็นในป้องปฏิบัติการเคมีทั่วไป ถ้าไม่เป็น Pyrex (ของบริษัท Corning) ก็เป็น Duran (ของบริษัท Schott) สำหรับการใช้งานธรรมดาทั่วไปก็ไม่เคยรู้สึกว่าต่างยี่ห้อกันจะให้ผลการทดลองที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นการทดลองเกี่ยวกับการใช้ "แสง" ในการทำปฏิกิริยา ก็น่าคิดเหมือนกันว่าแก้วที่เราเห็นว่า "ใส" แบบไม่มีสีนั้น มัน "ใส" เหมือนกันหรือเปล่า
 
โดยทั่วไปเราตัดสินว่าวัสดุใดมีความ "ใส" หรือไม่นั้น เราใช้การมองด้วยสายตาเป็นหลัก และสายตาของเราก็มองเห็นแต่คลื่นแสงช่วง visible light ถ้าหากวัตถุนั้นยอมให้คลื่นแสงช่วง visible light ส่องผ่านได้ทุกความยาวคลื่น เราก็จะเห็นมันใสแบบไม่มีสี แต่ถ้ามันมีการดูดกลื่นคลื่นแสงช่วง visible lighi บางความยาวคลื่น เราก็จะมองเห็นมันมีสีเฉพาะความยาวคลื่นที่ไม่ถูกดูดกลืน (เช่นถ้ามันดูดกลืนแสงช่วงสีเหลือง-แดง และช่วงม่วง-น้ำเงิน เราก็จะมองเห็นมันมีสีเขียว)
 
ในการใช้งานกับความยาวคลื่นที่อยู่นอกช่วง visible light (เช่น UV หรือ IR) เราไม่สามารถใช้ความใสของวัสดุที่เห็นในช่วง visible light เป็นตัวตัดสินได้ เพราะสิ่งที่ใสในช่วง visible light อาจทึบแสงในช่วงนอก visible light ได้ 
  
ปฏิกิริยา "photocatalysis" เป็นปฏิกิริยาหนึ่งที่ได้รับความสนใจกันมากในช่วงปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้แสงในช่วง UV มากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ในปฏิกิริยา photocatalysis นี้จะทำการกระตุ้นตัวเร่งปฏิกิริยาก่อน จากนั้นจึงค่อยให้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้รับการกระตุ้นจากแสง UV นั้นเข้าไปทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้น ซึ่งไม่เหมือนกับปฏิกิริยา "photolysis" ที่แสงนั้นไปทำให้โมเลกุลเกิดปฏิกิริยาโดยตรง


รูปที่ ๑ การดูดกลืนคลื่นแสงในช่วง UV-IR ของแก้ว pyrex ของบริษัท Corning (จากเอกสาร Technical information ของบริษัท Corning)
 
ในการทำการทดลองเกี่ยวกับปฏิกิริยา photocatalysis ด้วยแสง UV นั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในการเปรียบเทียบผลการทดลองได้ ปัจจัยแรกก็คือเรื่องของแหล่งกำเนิดแสง UV ที่แหล่งกำเนิดแต่ละชนิดนั้นผลิตแสง UV ที่ความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน แหล่งกำเนิดแสง UV ที่ให้แสง UV พลังงานต่ำ (เช่นช่วง UV-A) อาจทำให้เกิดเฉพาะปฏิกิริยา photocatalysis เท่านั้น แต่แหล่งกำเนิดแสง UV ที่ใช้แสง UV พลังงานสูง (เช่นใช้หลอด UV ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ) อาจสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยา photolysis ร่วมกับปฏิกิริยา photocatalysis ได้


รูปที่ ๒ การดูดกลืนคลื่นแสงในช่วง UV-IR ของแก้ว Duran ของบริษัท Schott (จากเอกสาร Schott technical glassed : Physical and technical properties)

ปัจจัยที่สองก็คือวัสดุที่ใช้ทำภาชนะและรูปทรงของภาชนะที่ใช้ทำปฏิกิริยา และทิศทางการให้แสง ในกรณีของปฏิกิริยาที่เกิดในเฟสแก๊สนั้น การทำปฏิกิริยาก็จะทำในภาชนะที่ปิดสนิท ซึ่งแสงนั้นต้องส่องผ่านผนังภาชนะเข้าไปข้างใน แต่ถ้าเป็นกรณีของการทำปฏิกิริยาในเฟสของเหลวนั้น พบว่าบ่อยครั้งเป็นการทำปฏิกิริยาในภาชนะเปิด (เช่นบีกเกอร์หรือขวดฟลาสก์ที่ไม่มีการปิดฝา) ดังนั้นจะมีเส้นทางการเดินทางของแสงไปถึงสารละลายอยู่สองเส้นทางด้วยกัน คือเส้นแรกที่เข้าทางปากภาชนะนั้นลงไปสู่สารละลายโดยตรง และเส้นที่สองคือเส้นทางที่เดินทางผ่านผนังของภาชนะนั้น แม้ว่าตัวภาชนะจะดูว่าใสเมื่อดูด้วยตาเปล่า แต่มันก็ยังสามารถดูดกลืน (หรือสะท้อน) คลื่นแสงได้ในระดับหนึ่ง (ดูกราฟในรูปที่ ๑ และ ๒) ดังนั้นการให้แสงด้วยการที่แสงนั้นไม่ต้องเดินทางผ่านผนังภาชนะกับการที่ต้องเดินทางผ่านผนังภาชนะ ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง
 
สำหรับเครื่องแก้วทั่วไปที่ใช้กันนั้น (ไม่ว่าจะเป็นแก้ว Pyrex หรือ Duran (8271)) สำหรับแก้วที่ให้แสงในช่วง visible light ผ่านได้ดี เมื่อดูด้วยตาเปล่าจะมองไม่เห็นความแตกต่าง แต่ถ้าพิจารณาในช่วงแสง UV ก็อาจแตกต่างกันมากได้ ดังเช่นข้อมูลขอที่นำมาแสดงในรูปที่ ๑ และ ๒ เช่นถ้านำแก้ว Pyrex กับ Duran 8271 มาดูในช่วง visible light ก็จะเห็นว่ามันใสเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นช่วง UV จะเห็นว่าแก้ว Pyrex จะยอมให้แสง UV ในช่วง UV-B (ช่วงความยาวคลื่น 280-320 nm) ผ่านได้บ้าง ในขณะที่แก้ว Duran 8271 จะไม่ยอมให้แสงในช่วงนี้ผ่าน แต่ถ้าต้องการใช้แสง UV ในช่วง UV-C (ช่วงความยาวคลื่น 100-280 nm ที่ฆ่าเชื้อโรคได้นั้น) มากระตุ้นการทำปฏิกิริยา ก็ต้องไปหาภาชนะบรรจุที่ยอมให้แสงในช่วงนี้เดินทางผ่านได้ ดังนั้นการศึกษาปฏิกิริยา photocatalysis จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งแหล่งกำเนิดแสง UV และวัสดุที่ใช้ทำเครื่องปฏิกรณ์ 
  
การเปลี่ยนไปใช้แหล่งกำเนิดแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นลง แต่ไม่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำเครื่องปฏิกรณ์ที่ยอมให้แสงความยาวคลื่นที่สั้นลงนั้นผ่านไปได้ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในการทดลองได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: