วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

เพลิงไหม้พาเลทไม้จากการรั่วไหลของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) MO Memoir : Saturday 1 January 2565

พาเลท (pallet) คือแท่นสำหรับรองรับหรือวางสินค้า พาเลทจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญในระบบการขนส่ง การค้า และโลจิสติกส์ เพราะช่วยให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าจากชั้นวางด้วยรถ fork lift ลักษณะทั่วไปของพาเลทตือเป็นแท่นสี่เหลี่ยมที่มีช่องสำหรับให้รถ fork lift สอดงาเข้าไปยกของ เดิมวัสดุหลักที่ใช้ทำพาเลทคือไม้ ที่มักใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยลูกค้าที่รับสินค้าที่วางอยู่บนพาเลทก็จะได้ตัวไม้พาเลทไปเลย (ไม่ต้องส่งคืน) แต่ในปัจจุบันก็มีการนำเอาพาเลทที่ทำจากพลาสติกมาใช้งานมากขึ้นเพราะมันสามารถใช้ซ้ำได้

เรื่องเพลิงไหม้ที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากเอกสารเรื่อง "Hydrogen peroxide accidents and incidents: What we can learn from History" โดย B. Breene, D.L. Baker และ W. Frazier ซึ่งต่างทำงานอยู่ที่องค์การ NASA เอกสารฉบับนี้ค้นเจอบนอินเทอร์เน็ตโดยมีหมายเหตุเอาไว้ที่หน้าแรกว่า "For review purposes only. Nor for publication" เป็นเอกสารที่จัดทำในปีค.ศ. ๒๐๐๔ (พ.ศ. ๒๕๔๗) เหตุการณ์นี้เป็นเพลิงไหม้ที่เกิดที่พาเลทไหม้ที่ใช้วางถังบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 35-70% (by weight) โดยมีผู้พบเห็นเพลิงเริ่มเกิดจากบริเวณถังเก็บไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 35% ที่วางอยู่บนพาเลทที่ทำจากไม้ ก่อนที่ไฟจะลามต่อไปยังบริเวณที่เก็บไนโตรเซลลูโลสที่ทำให้ไฟไหม้ลามอย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก (รายละเอียดในรูปที่ ๑ ข้างล่าง)

รูปที่ ๑ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด เหตุการณ์นี้มีการอ้างอิงไปยัง ref. 9 คือ NFPA Journal March/April 1992 แต่พอไปดาวน์โหลดวารสารดังกล่าวมาดูแล้วกลับไม่พบเรื่องนี้ในวารสารดังกล่าว วารสารดาวน์โหลดมาได้ทั้งเล่ม (๑๐๐ หน้า) แต่บางหน้าหายไปโดยมีบางหน้าปรากฏซ้ำแทน

ผู้สอบสวนอุบัติเหตุเชื่อว่าต้นเหตุของเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากการรั่วไหลของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ลงบนพาเลทไม้ (รายละเอียดในรูปที่ ๒) ในบริเวณที่เก็บสารเคมีกลางแจ้ง ด้วยการที่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นสารออกซิไดซ์และมีความเข้มข้นสูงจึงทำให้ไม้นั้นลุกติดไฟได้ด้วยตนเอง และการลุกติดไฟนั้นจะเกิดได้ง่ายขึ้นถ้าไม้นั้นได้รับการชุบน้ำยาหรือเคลือบผิวด้วยสารเคมีบางชนิด เช่นพวกที่ทำมาจากไฮโดรคาร์บอน (เช่น creosote) หรือมีโลหะเป็นองค์ประกอบ (เช่น chromated copper arsenate (ไม่มีตัว t สีแดง arsentate ดังที่ปรากฏในบทความนะ) ข้อมูลใน wikipedia บอกว่าสารนี้ใช้เป็นน้ำยารักษาเนื้อไม้โดยเฉพาะไม้ที่ใช้งานกลางแจ้ง เพื่อป้องกันเนื้อไม้จากเชื้อจุลชีพหรือแมลง)

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่บทความไม่ได้กล่าวถึงคือภาชนะบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นทำจากวัสดุอะไร และอะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหล (กล่าวคือ จากปฏิกิริยาเคมี, การเสื่อมสภาพของวัสดุ, การกระแทกระหว่างขนส่ง ฯลฯ) แต่ก็ทำให้ได้แนวความคิดว่าพอมหาวิทยาลัยเปิดให้เข้าไปทำงานได้ ควรทำการทดลองอะไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้วางข้อกำหนดในการทำงานให้ปลอดภัยกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูง (ที่กำลังใช้ในการทดลองอยู่ในขณะนี้)

รูปที่ ๒ การวิเคราะห์สาเหตุ

เนื่องจาก Memoir ฉบับนี้เป็นฉบับแรกของปีพ.ศ. ๒๕๖๕ ก็ขอบันทึกสถิตของปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาเสียหน่อย

เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเขียนบทความลง blog เพียงแค่ ๒ บทความเนื่องจากต้องรีบทำการทดลองร่วมกับนิสิตในที่ปรึกษาเนื่องจากงานล่าช้ามามากแล้วจากการปิดมหาวิทยาลัย แต่โดยภาพรวมแล้วปีที่ผ่านมาก็มีการเข้ามาอ่าน blog ลดลง คือค่าเฉลี่ยลดจาก ๖๙๖ ครั้งต่อวันในปี ๒๕๖๓ เหลือเป็น ๕๗๖ ครั้งต่อวันในปี ๒๕๖๔ (จำนวนครั้งการเข้าเยี่ยมชมในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ คือ ๒๑๐๒๗๘ ครั้ง) แต่จะว่าไปเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีสะสมอยู่และอยากเขียนบันทึกไว้กันลืม ก็ได้เขียนลง blog ไปเกือบหมดแล้ว พักหลัง ๆ นี้ก็เลยไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไรให้เขียนมากเท่าใดนัก

รูปที่ ๓ ค่าเฉลี่ยการเข้าเยี่ยมชม blog ตลอดปี ๒๕๖๔

สำหรับประเทศที่ผู้อ่านมาเยี่ยมชมก็แสดงไว้ในรูปที่ ๔ ที่ทำให้แปลกใจก็คือผู้อ่านจำนวนไม่น้อยมาจากประเทศที่คิดว่าไม่น่าจะมีคนไทยไปอาศัยหรือไปเรียนอยู่มากนัก

รูปที่ ๔ ประเทศของผู้อ่านบทความในปีพ.ศ. ๒๕๖๔

ท้ายสุดก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านประสบแต่ความสุขกายสุขใจตลอดปีเสือนี้ก็แล้วกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น: