ก่อนที่จะมีการออกพระราชบัญญัติ "การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ๒๕๖๒" การนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เป็นสารเคมีอันตราย (ในรูปแบบต่าง ๆ) ของประเทศไทย ก็มีหน่วยงานกำกับดูและอยู่หลายหน่วย เช่น กระทรวงกลาโหม (เช่นสารเคมีที่เป็นอาวุธเคมีโดยตรง), กระทรวงสาธารณสุข (เช่นพวกที่เกี่ยวกับยา), กระทรวงอุตสาหกรรม (พวกสารเคมีอันตราย), กระทรวงเกษตร (สารเคมีทางการเกษตร เช่นยาปราบศัตรูพืชต่าง ๆ)
สารเคมีที่จัดว่าเป็น DUI ใน "ANNEX I : List of dual-use items referred to in article 3 of this regulation" มีปรากฏในหมวด 1C350 Chemicals, which may be used as precursors for toxic chemical agents, as follows, and "chemical mixtures" containing one or more thereof :" ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๘๙ รายการ (เท่ากันฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ ในขณะที่ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๙ มีเพียง ๖๕ รายการ)
รูปที่ ๑ รายการสารเคมีที่จัดเป็น DUI อยู่ในหมวด 1C350 ซึ่งฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๘๙ รายการ
รูปที่ ๑ คือหัวข้อ 1C350 ที่นำมาจากฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ ซึ่งจะเห็นว่าหลังจากหัวข้อก็จะมี N.B. (หมายถึง ช้อความสำคัญที่ควรต้องพิจารณาให้ด๊) ให้ดูรายการควบคุมสินค้าทางทหาร (Military goods) และหัวข้อ 1C450 ร่วมด้วย เท่าที่ดู ความแตกต่างระหว่างสารเคมีที่อยู่ใน 1C350 และ 1C450 คือ สารเคมีที่อยู่ใน 1C350 ยังสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตอาวุธเคมีหรือใช้ในการแยกไอโซโทปยูเรเนียม นอกเหนือไปจากการใช้ประโยชน์อย่างอื่น (คือตัวมันเองไม่ได้เป็นอาวุธเคมี) ในขณะที่สารเคมีที่อยู่ใน 1C450 นั้นตัวมันเองเป็นอาวุธเคมีโดยตรง แต่ก็ยังมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ใช้เป็นอาวุธ เช่นฟอสจีน (phosgene หรือ carbonyl chloride O=CCl2) ที่เป็นทั้งแก๊สพิษใช้ในสงคราม และเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิคาร์บอเนต (polycarbonate)
ถ้าสงสัยว่าสารเคมีตัวไหนเป็น DUI หรือไม่ ก็ให้ไปดูที่หัวข้อ 1C350 ก่อน ถ้าพบว่ามันมีรายชื่ออยู่ในหัวข้อนี้ ก็ให้ไปอ่านหมายเหตุแนบท้ายรายการ 1C350 (รูปที่ ๒) เพิ่มเติม ที่มีอยู่ด้วยกัน ๔ ข้อ เพราะการควบคุมการส่งออกนั้นนอกจากชื่อสารนั้นจะปรากฏอยู่ในรายการแล้ว ยังต้องพิจารณาระดับความเข้มข้นที่จะส่งออก (คือต้องมีความเข้มข้นสูงถึงระดับหนึ่ง) และประเทศที่จะส่งออกไปด้วย (คือเป็นประเทศที่เข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention) ด้วยหรือไม่
รูปที่ ๒ หมายเหตุต่าง ๆ ต่อท้ายรายการ 1C350
เช่นใน Note 1 นั้นเป็นกรณีของการส่งออกสารเคมีตามรายการต่าง ๆ ที่ระบุใน Note 1 ไปยังประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี คือถ้าสารเคมีแต่ละตัวที่เป็น DUI ในสารผสมที่จะส่งออกนั้นมีปริมาณไม่มากเกินกว่า 10 %wt ก็สามารถส่งออกไปได้โดยไม่จัดว่าเป็นการส่งออก DUI คือสารผสมอาจมีสารเคมีที่เป็น DUI มากกว่า 1 ชนิด แต่สารเคมีที่เป็น DUI แต่ละชนิดต้องมีปริมาณไม่มากเกินกว่า 10 %wt
Note 2 เป็นการส่งออกสารเคมีรายการเดียวกันกับใน Note 1 แต่เป็นการส่งไปยังประเทศที่เข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี ซึ่งตรงนี้เพิ่มความเข้มข้นสารเคมีที่เป็น DUI แต่ละให้สูงขึ้นเป็นไม่เกิน 30 %wt คือถ้าไม่เกิน 30 %wt จะไม่จัดว่าเป็นการส่งออก DUI
Note 3 เป็นการส่งออกสารเคมีในรายการที่ไม่ได้อยู่ใน Note 1 และ Note 2 และไม่มีการระบุประเทศผู้รับ กล่าวแต่เพียงว่าถ้าสารเคมีแต่ละตัวที่เป็น DUI ในสารผสมที่จะส่งออกนั้นมีปริมาณไม่มากเกินกว่า 30 %wt ก็สามารถส่งออกไปได้โดยไม่จัดว่าเป็นการส่งออก DUI
Note 4 กล่าวว่าหัวช้อ 1C350 นี้ไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับขายปลีกให้คนทั่วไป (เช่นแชมพู โฟมโกนหนวด ครีมทาผิว ฯลฯ)
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจนิดนึงตรงที่ถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกนั้นเข้าเกณฑ์เป็น DUI (เช่นส่งสารเคมีใน Note 1 และ 2 ที่มีความเข้มข้นเกิน 10 %wt ไปยังประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี หรือมีความเข้มข้นเกิน 30 %wt ไปยังประเทศที่เข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี) จะส่งได้หรือไม่ ตรงนี้คงต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ของแต่ละประเทศ) ว่ายอมให้ส่งออกหรือเปล่า เพราะอาจส่งออกไปได้ถ้าพิจารณาแล้วว่าผู้ซื้อนั้นเชื่อถือได้ คือไม่มีพฤติกรรมว่าจะนำเอาสินค้าที่รับไปนั้นไปใช้ผลิต DUI
รูปที่ ๓ ตัวอย่างรายการ 1C450 ตัดมาเฉพาะหัวข้อ a. และ Note ต่าง ๆ ของหัวข้อ a.
ทีนี้ลองมาดูหัวช้อ 1C450 บ้าง (มีหัวข้อ a. และ b.) ข้อแตกต่างระหว่าง 1C350 และ 1C450 คือ สารในหัวข้อ 1C350 ยังไม่จัดว่าเป็นสารพิษ (toxic chemicals) แต่เป็นสารตั้งต้นสำหรับการเตรียมสารพิษ ในขณะที่สารในหัวข้อ 1C450 นั้นจัดเป็นสารพิษ และยังเป็นสารตั้งต้นสำหรับการเตรียมสารพิษตัวอื่นอีกด้วย
เช่น Amiton หรือ VX nerve agent การใช้งานแรกเริ่มนั้นเดิมใช้เป็นยาฆ่าแมลง ก่อนที่จะถูกเพิกถอนไปเนื่องจากความเป็นพิษที่สูง, PFIB เป็นแก๊สที่มีการใช้งานในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ, Phosgene (COCl2) เป็นสารที่ใช้ในการผลิตพอลิคาร์บอเนต, cyanogen chloride (NC-Cl) เป็นสารเคมีที่ใช้ในการรมควัน ผลิตยางสังเคราะห์ ทำความสะอาดผิวโลหะ, chloropicrin มีการใช้เป็นสารเคมีทางการเกษตร
สารต่าง ๆ ที่ระบุในหัวข้อ 1C450 ต่างก็มี Note ที่ระบุข้อยกเว้นในทำนองเดียวกับหัวข้อ 1C350
ในหัวข้อ 1C450 นี้มีข้อความสำคัญ (N.B.) ที่ระบุว่าให้ดูหัวข้อ 1C351.d. ด้วย ดังนั้นจะขอตามไปดูหัวช้อ 1C351.d. เป็นรายการต่อไป (รูปที่ ๔)
รูปที่ ๔ ตัวอย่างรายการสารที่ระบุในหัวข้อ 1C351.d. (ยกมาเพียง 4 รายการจากทั้งหมด 19 รายการ)
ความแตกต่างระหว่างสารในหัวข้อ 1C351.d. กับสองหัวข้อก่อนหน้านี้คือ สารที่อยู่ในหัวข้อ 1C351.d. เป็นสารพิษที่พบในธรรมชาติ เช่น Botulimu toxins ที่เป็นสารพิษที่แบคทีเรียบางชนิดผลิตขึ้น และถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ในชื่อว่า Botox, Conotoxins ที่พบในหอยทากบางชนิด, Ricin ที่ได้จากเมล็ดละหุ่ง (สารพิษตัวนี้เคยถูกใช้ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองในสมัยสงครามเย็น), Tetrodotoxin ที่พบในปลาปักเป้า, Alfla toxin ที่เชื้อราบางชนิดที่ขึ้นบนถัวลิสงผลิตขึ้น เป็นต้น
ณ จุดนี้คงจะพอกล่าวได้ว่า
1C350 เป็นหมวดสารเคมีที่ไม่จัดว่าเป็นสารพิษ แต่เป็นสารตั้งต้นในการผลิต
1C351.d. เป็นหมวดสารพิษที่ได้จากธรรมชาติ และ
1C450 เป็นหมวดสารพิษที่มีการใช้งานทางการทหาร แต่ก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางพลเรือนด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น