ฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นตอนต่อจากตัวอย่างที่ ๑๒ คือในตัวอย่างที่ ๑๒ นั้นกล่าวไว้ว่าสารเคมีมีปรากฏอยู่ในหัวข้อใดบ้าง และแต่ละหัวข้อแตกต่างกันอย่างไร มาคราวนี้จะลองตั้งโจทย์ตุ๊กตาเล่น ๆ ไว้ให้ถกเถียงกันว่า เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ส่วนคำตอบที่ถูกต้องคืออะไรนั้น คงไม่มีใครบอกได้ จนกว่าจะมีการฟ้องร้องและมีคำพิพากษาออกมา
การพิจารณาว่าสารเคมีตัวไหนเป็นสารควบคุมหรือไม่ มันง่ายตรงที่ตัวสารนั้นอาจมีชื่อเรียกสารพัดชื่อ แต่จะมีเลขหมาย CAS (ที่ย่อมาจากคำว่า Chemical Abstract Service เลขหมายเดียว ตัวอย่างเช่น Triethanolamine ที่เป็นสารเคมีควบคุมรายชื่อที่ 46 ในรายการ 1C350 (รูปที่ ๑) สารตัวนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกเช่น 2,2′,2′′-Nitrilotri(ethan-1-ol (ชื่อเรียกตามระบบ IUPAC), 2,2′,2′′-Nitrilotriethanol, Tris(2-hydroxyethyl)amine, 2,2′,2′′-Trihydroxytriethylamine, Trolamine (นำมาจาก wikipedia) แต่ไม่ว่าการส่งออกจะใช้ชื่อใดก็ตาม เลข CAS จะเป็นเลขเดียวกันคือ CAS 102-71-6
รูปที่ ๑ Triethanolamine เป็นสารเคมีควบคุมรายชื่อที่ 46 ในรายการ 1C350
แต่ใน Note 3 ท้ายรายการ 1C350 (รูปที่ ๒) กล่าวเอาไว้ว่า การส่งออก triethanolamine จะไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม ถ้าหากความเข้มข้นนั้นไม่มากเกินกว่า 30% โดยน้ำหนัก
โจทย์ตุ๊กตาที่ขอตั้งขึ้นมาเล่น ๆ ในวันนี้ก็คือ ถ้าหากความเข้มข้นสูงไม่ถึง 30% อย่างฉิวเฉียด (เช่น 29.999% หรือ 29.9%) หรือความเข้มข้นต่ำกว่า 30% มาก (เช่น 27%) แต่สามารถกำจัดสารอื่นออกได้ง่ายเพื่อให้ความเข้มข้นสูงระดับ 30% หรือมากกว่าได้ จะถือว่าการส่งออกนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นการควบคุมหรือไม่
รูปที่ ๒ ใน Note 3 นั้นกล่าวว่า ถ้าความเข้มข้นไม่มากเกินกว่า 30% โดยน้ำหนัก ก็จะไม่ถูกควบคุม
คำถามนี้ผมเคยถามกับทางญี่ปุ่นเมื่อคราวไปทำ workshop เมื่อปี ๒๕๖๒ ว่า ในกรณีที่ความเข้มข้นต่ำกว่าข้อกำหนดเพียงเล็กน้อย หรือต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ความเข้มข้นที่ลดต่ำลงนั้นเกิดจากการผสมสารอื่นที่สามารถแยกออกได้ง่ายเข้าไป คือถ้าดูตามตัวอักษรมันก็ไม่เข้าข่ายถูกควบคุม แต่ในทางปฏิบัติ ควรจะพิจารณาว่าต้องได้รับการควบคุมด้วยหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับ (หลังจากที่เขาปรึกษากันเองอยู่ครู่หนึ่ง) ก็คือ ต้องดูวัตถุประสงค์ของการใช้งาน นั่นก็หมายความว่าคงต้องไปพิจาณาที่ผู้ใช้รายสุดท้ายว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน (ทางประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานสุดท้ายที่เป็นผู้กำกับดูและคือ METI ที่ย่อมาจาก Ministry of Economy, Trade and Industry หรือแปลเป็นไหยว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม)
รูปที่ ๓ ตัวอย่างสิทธิบัตรกระบวนการสำหรับทำให้ triethanolamine มีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
ทีนี้ถ้าลองมาพิจารณาทางด้านเทคนิคบ้าง สมมุติว่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ "เหมาะสม" สำหรับการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตอาวุธเคมีคือ 30% แล้วความเข้มข้น 29.9% นั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตอาวุธเคมีได้หรือไม่ คือใช้ไม่ได้เลย หรือยังใช้ได้อยู่ แต่จะได้อาวุธเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำจนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการผลิตหรือการจัดเก็บ แต่ไม่ได้หมายความว่าความเข้มข้นต่ำที่สังเคราะห์ได้จะไม่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เพียงแค่อำนาจทำลายล้างลดลงเท่านั้นเอง เทคโนโลยีสำหรับเพิ่มความเข้มข้น triethanolamine ให้สูงขึ้นก็ไม่ใช่ความลับอะไร มีเปิดเผยมานานแล้วดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาแสดงในรูปที่ ๓ และ ๔
รูปที่ ๔ แผนผังกระบวนการที่นำมาจากสิทธิบัตรในรูปที่ ๓ จะเห็นว่ารูปแบบเป็นเหมือนการกลั่นแยกธรรมดา
คำถามหนึ่งที่ผมถามทางญี่ปุ่นตอนนั้นคือ ถ้าหากบริษัทคิดว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกนั้นไม่เข้าข่าย แต่ทางราชการที่เป็นผู้ควบคุมการส่งออกนั้นเห็นว่าเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมและไม่อนุญาตให้ส่งออก ทางผู้ส่งออกมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่ คำตอบที่ได้คือถือว่าการตัดสินของ METI เป็นที่สิ้นสุด
ผมได้นำประเด็นนี้ย้อนมาตั้งคำถามกับทางหน่วยงานของไทยที่ร่วมคณะไปด้วยว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น คำสั่งของหน่วยงานราชการถือว่าเป็นคำสั่งปกครองใช่หรือไม่ และถ้าหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลเรื่องนี้มีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ส่งออก (โดยให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้รับมากกว่าคุณลักษณะตามตัวอักษร) ทางผู้ส่งออกก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองได้ใช่หรือไม่ และจากจุดนี้ก็จะมีคำถามตามมาอีกก็คือ ถ้าศาลปกครองไม่อนุญาตให้คุ้มครองผู้ส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งสินค้าได้ (เสียลูกค้าและรายได้) และถ้าสู้คดีกันไปแล้วหน่วยงานราชการแพ้ ผู้ส่งออกจะได้รับการเยียวยาหรือสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
(ในคดีอาญานั้น ในกรณีที่มีการพิสูจน์จนสิ้นสุดแล้วว่าจำเลยไม่ผิด ผู้ที่ถูกฟ้องว่าเป็นจำเลยจะสามารถขอรับการเยียวยาจากรัฐได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการกล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นจำเลย)
ในทางกลับกันถ้าหากศาลปกครองอนุญาตให้ความคุ้มครองผู้ส่งออก (โดยอิงตามตัวอักษรว่าสินค้านั้นไม่เข้าข่าย) แต่มาพบภายหลังว่าเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อให้สามารถส่งออกไปยังผู้รับที่ไม่น่าเชื่อถือได้ ในกรณีนี้ในส่วนของทางบริษัทใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องตรงนี้ผมไม่มีคำตอบ เพียงแค่ตั้งโจทย์ตุ๊กตามาให้พิจารณากันเล่น ๆ คำตอบจะได้ก็ต่อเมื่อมันมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น