เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคลิป reel เกี่ยวกับการทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ (พวกแผงวงจรต่าง ๆ) และตู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า โดยในคลิปดังกล่าวเป็นคลิปการฉีดของเหลว (ฉีดแบบ water jet) เข้าไปชะล้างแผงวงจรและอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง โดยเขาบอกว่าสารที่ใช้คือ Isopropyl alcohol (ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์) หรืออีกชื่อคือ 2-Propanol (2-โพรพานอล) โดยเขาบอกว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องตัดกระแสไฟฟ้า เพราะสารนี้ระเหยได้เร็วและไม่นำไฟฟ้า ในคลิปนั้นมีการฉีดทั้งแผงวงจรพิมพ์ (printed circuit board) และพวกตู้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าเช่น circuit breaker ต่าง ๆ (รูปที่ ๑)
คลิปดังกล่าวมีการแขร์ออกไปเป็นจำนวน เมื่อเข้าไปอ่านในส่วนของการแสดงความคิดเห็นก็พบว่ามีคนที่มาแสดงความคิดเห็นต่างจำนวนไม่น้อย
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเจ้าของคลิปเองไม่มาชี้แจงอะไรกับความเห็นแย้งต่าง ๆ นั้น
ปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ตัวทำละลายในการล้างทำความสะอาดคราบสกปรกคือตัวทำละลายนั้นต้องละลายคราบสกปรกได้ ไม่ทิ้งคราบสกปรกใด ๆ เมื่อตัวทำละลายนั้นระเหยออกไป และต้องไม่ทำความเสียหายให้กับชิ้นส่วนที่ล้างนั้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เป็นพอลิเมอร์และพลาสติกต่าง ๆ
น้ำเป็นตัวทำละลายที่มีขั้ว จะไม่สามารถละลายคราบสกปรกที่เป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว (เช่นพวกไขมันต่าง ๆ) และพวกที่มีขั้วไม่แรงได้ การใช้น้ำล้างต้องมีการผสมสารชะล้าง (พวก surfactant หรือ detergent) เข้าไป ข้อดีข้อหนึ่งของน้ำคือมันไม่ทำอะไรกับพลาสติกต่าง ๆ แต่มันก็มีข้อเสียคือน้ำมักจะมีเกลือละลายปนอยู่ในน้ำ และถ้าใช้น้ำที่มีเกลือละลายปนอยู่ เมื่อคราบน้ำที่ตกค้างอยู่บนพื้นผิวชิ้นงานนั้นแห้ง เกลือที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะตกค้างบนพื้นผิว เพื่อแก้ปัญหานี้ น้ำที่ใช้จึงต้องเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (ซึ่งนำไฟฟ้าได้แย่มาก) นอกจากนี้น้ำยังมีข้อเสียตรงที่มีจุดเดือดสูง ทำให้ต้องใช้เวลานานในการทำให้พื้นผิวแห้ง
ตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้วหรือมีขั้วบ้างเล็กน้อย) จะละลายพวกคราบน้ำมันและไขมันได้ดีกว่าน้ำโดยไม่ต้องมีการผสมสารชะล้าง นอกจากนี้ด้วยการที่มันมีความเป็นขั้วต่ำหรือไม่มีเลย จึงทำให้มันไม่มีปัญหาเรื่องมีเกลือละลายปนอยู่ และหลายชนิดนั้นก็มีจุดเดือดที่ต่ำกว่าน้ำ ดังนั้นเมื่อนำมาล้างคราบไขมันหรือน้ำมันออกจากพื้นผิว เมื่อตัวทำละลายระเหยออกไปก็จะไม่มีคราบเกลือตกค้าง และด้วยการที่มันระเหยได้เร็ว จึงทำให้ชิ้นงานแห้งเร็ว
แต่การเลือกตัวทำละลายอินทรีย์พวกนี้ก็ต้องระวัง เพราะหลายตัวเป็นพิษ หลายตัวทำลายพลาสติกได้ และหลายตัวที่ติดไฟได้ พวกที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบมีข้อดีตรงที่ไม่นำไฟฟ้าและไม่ติดไฟ แต่มีปัญหาเรื่องการกำจัดและการทำลายโอโซน (พวกที่มีคลอรีนและโบรมีนเป็นองค์ประกอบจะทำลายโอโซน ในขณะที่พวกที่มีฟลูออรีนเป็นองค์ประกอบมีความเสถียรมาก ทำลายได้ยากมาก)
แอลกอฮอล์ C1-C3 และอะซิโทน (acetone) มีข้อเสียตรงที่ไวไฟสูง การใช้สารกลุ่มหลังนี้จึงต้องระวังเรื่องการระเบิด ถ้าใช้ในปริมาณน้อย ๆ เช่นการเช็ดถูก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าฉีดพ่นในปริมาณมาก จะทำให้เกิดไอระเหยความเข้มข้นสูงของสารเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และถ้าบริเวณทำงานมีความเสี่ยงที่จะมีประกายไฟ เช่นเที่เกิดจากการทำงานของหน้าคอนแทคทางไฟฟ้าหรือ สวิตช์รีเรย์ต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระเบิด เว้นแต่จะได้ตัดไฟฟ้าออกจากอุปกรณ์เหล่านั้นก่อน
ด้วยข้อสงสัยที่มีก็เลยลองค้นดูว่าคลิปการล้างตู้ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยการฉีดของเหลวแบบ jet sprayนั้น มีใครที่ไหนในโลกทำกันบ้างไหม แล้วก็พบมาหนึ่งคลิป (รูปที่ ๒) ซึ่งตลอดทั้งคลิปก็เป็นการฉีดพ่นของเหลวล้างตู้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า และมีการกล่าวถึงการใช้ Isopropyl alcohol ในการล้าง โดยข้อความทางด้านล่างของคลิปกล่าวว่า "When cleaning an electrical installation that cannot be powered down, Isopropyl Alcohol (IPA 99%) is a safe and effective option. It is non-conductive ... ดูเพิ่มเติม" (คือข้อความยังมีต่อ)
ถ้าอ่านแค่นี้มันก็ดูดีนะครับ แต่พอกด "ดูเพิ่มเติม" เพื่อดูว่าข้อความที่ไม่แสดงนั้นกล่าวไว้ว่าอย่างไร ก็พบว่ามันเขียนว่า " ..... It is non-conductive, fast evaporating, and leaves no residue, making it idea for removing dust, oil, and grime from sensitive components. ซึ่งแปลว่า " ... มันไม่นำไฟฟ้า, ระเหยได้เร็ว และไม่ทิ้งคราบ ทำให้มันเป็นสารในอุดมคติสำหรับการกำจัด ฝุ่น, น้ำมัน และคราบสกปรก ออกจากพื้นผิวที่อ่อนไหว"
ประโยคถัดไปกล่าวว่า "To clean safely, apply a small amount of IPA 99% to a lint free cloth of soft brush and gently wipe the surfaces, avoiding excessive liquid. Never spray directly onto live components to prevent accidental pooling. Proper ventilation and safety precautions should always be followed to minimize risks during cleaning." ซึ่งแปลว่า "เพื่อการทำความสะอาดที่ปลอดภัย ใช้ IPA 99% ในปริมาณน้อย ๆ กับผ้าที่ไม่มีขุยหรือแปรงขนนุ่ม ทำการเช็ดพื้นผิวเบา ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของเหลวมากเกินไป ไม่ควรทำการฉีดพ่นโดยตรงลงไปบนชิ้นส่วนที่ยังมีไฟฟ้าอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมเป็นของเหลว (หมายเหตุ : ตรงนี้เห็นว่าที่น่ากลัวกว่าคือการระเบิด) ข้อปฏิบัติในเรื่องการระบายอากาศที่เหมาะสมและการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยควรได้รับการปฏิบัติตาม เพื่อลดความเสี่ยงที่ในระหว่างการทำความสะอาดให้น้อยที่สุด"
จะเห็นว่าเนื้อหาข้อความในคลิปอันที่สอง กับภาพที่ปรากฏในคลิปนั้นเป็นคนละเรื่องเลย ใครที่ดูแต่ภาพโดยไม่อ่านข้อความให้ละเอียดแล้วเอาไปปฏิบัติก็จะเกิดอันตรายได้
ที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมจึงจงใจทำให้ภาพในคลิปและเนื้อหาที่เขียนนั้นไม่เหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น