วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568

ใช้น้ำดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าก็ได้นะ MO Memoir : Tuesday 8 April 2568

รูปข้างล่างนำมาจากภาพที่ทางมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเผยแพร่ (ตัดมาส่วนหนึ่ง) ลองอ่านดูก่อนนะครับ


เรื่องการแบ่งประเภทของเพลิงไหม้เนี่ย ที่เห็นสอนกันในบ้านเราจะเป็นแบบที่อิงเกณฑ์ของอเมริก (US) ดังเช่นรูปที่นำเอามาแสดง ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ (UK) นั้นเขาใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือเขาไม่แยกไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าออกมาต่างหากเป็น class หนึ่ง คือเขาถือว่าถ้าตัดกระแสไฟฟ้าออกไปแล้ว เพลิงไหม้นั้นก็จะไปตกอยู่ในกลุ่มเกณฑ์อื่น และสิ่งที่ไหม้ไฟก็ไม่ใช่กระแสไฟฟ้า แต่ก็จะมีการใช้ป้ายเตือนเป็นรูป electric spark (ไม่ได้เป็นตัวอักษร) แทน และมีการแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันทำอาหารไว้ใน Class F (ของอเมริกาจะเป็น Class K)

น้ำบริสุทธิ์นำไฟฟ้าได้แย่มาก หรือจะเรียกว่าไม่นำไฟฟ้าก็ได้ มันนำไฟฟ้าได้แย่ชนิดที่สามารถเอาแผงวงคอมพิวเตอร์ไปแช่ไว้ในน้ำเพื่อระบายความร้อนทั้ง CPU, RAM และการ์ดจอในเวลาเดียวกันได้ แต่ถ้าคิดจะทำต้องมั่นใจก่อนว่าน้ำที่จะนำมาใช้นั้นเป็นน้ำบริสุทธิ์จริง และต้องมั่นใจว่าในขณะที่ใช้งานนั้นน้ำนั้นจะไม่มีสิ่งใดละลายปนเปื้อนเข้าไป เพราะนั่นจะทำให้ไอออนในน้ำเพิ่มมากขึ้น น้ำก็จะนำไฟฟ้าได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือน้ำบริสุทธิ์สูงนั้นราคาไม่ถูก ก็เลยไม่มีใครเอามาใช้ในการดับเพลิงกัน ถ้านำไฟดับเพลิงไหม้อุปกรณ์ที่ยังมีกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอยู่ น้ำที่ไหลล้นออกมาจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่นำอันตรายมาสู่ผู้เข้าไประงับเหตุได้

ทีนี้ถ้าเรากลับไปดูที่รูปใหม่ จะเห็นว่าเขาบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Water Pressure" กับ "Foam" นั้นไม่ควรนำไปใช้กับไฟที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า เพราะ Foam นั้นมันมีน้ำเป็นส่วนประกอบ

แต่กลับบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Low Water Pressure" (ซึ่งก็เป็นน้ำล้วน ๆ) สามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งมันสามารถทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า "สามารถใช้น้ำความดันต่ำดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถใช้น้ำที่มีความดันสูงเกินไป"

อันที่จริงเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Water Pressure" เนี่ยควรเรียกให้ถูกว่า "Pressurized Water Fire Extinguisher" เครื่องเครื่องดับเพลิงชนิดถังน้ำความดัน คือใช้แก๊สความดันในถังฉีดน้ำออกมาเป็นลำน้ำต่อเนื่อง ส่วนเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Low Water Pressure" ควรเรียกให้ถูกว่าเป็นชนิด "Low Pressure Water Mist Fire Extinguisher" หรือที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า "เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำ" คือมันฉีดพ่นน้ำออกมาในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความดันต่ำ ไม่ได้เป็นลำน้ำต่อเนื่อง

เราสามารถดับเพลิงด้วยการ การตัดเชื้อเพลิง, ตัดอากาศ (คือตัดออกซิเจน) หรือตัดแหล่งพลังงานความร้อน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน การตัดเชื้อเพลิงจะทำได้ในกรณีที่เชื้อเพลิงนั้นรั่วไหลออกมาจากระบบปิด (เช่น ท่อ ถัง) ในกรณีของเพลิงไหม้ที่เชื้อเพลิงอยู่ในที่เปิดทั่วไปนั้นมักจะทำด้วยการตัดออกซิเจนร่วมกับการตัดแหล่งพลังงานความร้อน เครื่องดับเพลิงที่ใช้แก๊สในการดับนั้น (เช่นคาร์บอนไดออกไซด์) ทำงานด้วยการตัดออกซิเจน แต่ถ้าแก๊สที่ปกคลุมป้องกันอากาศนั้นฟุ้งกระจายออกไปและตัวเชื้อเพลิงหรือบริเวณใกล้เคียงที่เชื้อเพลิงสามารถแพร่เข้าไปถึงได้นั้นยังร้อนอยู่ ไฟก็จะกลับมาลุกใหม่ได้

น้ำที่ฉีดเข้าไปดับไฟนั้น ส่วนใหญ่จะลงไปที่ตัวเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ดึงความร้อนออกจากเชื้อเพลิงและบางส่วนก็ลงไปเปียกปิดคลุมผิวเอาไว้ โดยส่วนใหญ่จะไหลล้นออกมา มีเพียงแค่บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำที่ไปช่วยลดความเข้มข้นของออกซิเจนบริเวณรอบเชื้อเพลิง น้ำที่ไหลล้นออกมานี่แหละคือตัวที่ทำให้เกิดอันตรายได้ถ้านำไปใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีกระแสไฟฟ้าเกี่ยวข้องและยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้าออกไป

น้ำที่ฉีดออกมาในรูปหยดน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นละอองจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว การระเหยของละอองน้ำจะดึงความร้อนออกจากสิ่งแวดล้อม พัดลมไอน้ำที่ใช้ลดความร้อนในอากาศก็ทำงานด้วยหลักการนี้ คือละอองน้ำที่ฉีดออกมาจะดึงความร้อนออกจากอากาศทำให้มันกลายเป็นไอ อากาศก็จะเย็นลง (แต่ความชื้นก็จะเพิ่มขึ้น) โดยไม่ทำให้พื้นบริเวณรอบ ๆ เปียกน้ำ เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการดับเพลิง คือละอองน้ำที่ฉีดเข้าไปนั้นจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว มีการดึงความร้อนออกจากบริเวณเพลิงไหม้ได้เร็ว และไอน้ำที่เกิดยังเข้าไปแทนที่อากาศ ซึ่งเป็นการตัดออกซิเจนออกไป ไฟจึงดับได้

ในโปสเตอร์นี้ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมต้องแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงเหลว (เช่นน้ำมันเชื้อเพลิงและไฮโดรคาร์บอนเหลวต่าง ๆ) และน้ำมันประกอบอาหาร (cooking oil ซึ่งเป็นได้ทั้งจากพืชและสัตว์) ออกจากกัน แถม Foam ที่ใช้กับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่ควรนำมาใช้กับดับไฟที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหาร ทั้ง ๆ ที่น้ำมันทั้งสองชนิดนั้นต่างก็มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำและไม่ละลายน้ำทั้งคู่

ความแตกต่างอยู่ที่อุณหภูมิของเชื้อเพลิงที่ทำให้เชื้อเพลิงนั้นลุกติดไฟได้ พวกไฮโดรคาร์บอนที่เป็นเชื้อเพลิงเหลวนั้นอุณหภูมิจุดลุกติดไฟ (Fire point) มักจะต่ำกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำ (100ºC) ในขณะที่น้ำมันประกอบอาหารนั้นจะใช้อุณหภูมิที่เรียกว่าจุดทำให้เกิดควัน (Smoke point) เป็นตัวบอกว่าน้ำมันนั้นเริ่มที่จะลุกติดไฟได้แล้ว และอุณหภูมิจุดทำให้เกิดควันนี้มีค่าสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำมาก

ในกรณีของเพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซิน ถ้าเราฉีดน้ำเข้าไป น้ำบางส่วนจะระเหยกลายเป็นไอน้ำ มีการดึงเอาความร้อนออกจากเปลวไฟและลดความเข้มข้นอากาศ ทำให้ลดความรุนแรงของเปลวไฟลงได้บ้าง โดยน้ำส่วนที่เหลือที่ตกลงบนผิวน้ำมันจะจมลงสู่เบื้องล่าง (เพราะอุณหภูมิน้ำมันนั้นต่ำกว่าจุดเดือดของน้ำ) แต่ถ้าปล่อยน้ำนั้นไว้ที่ก้นถังนาน ๆ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 100ºC ได้ แต่จะยังไม่เดือดเพราะมีความดันเนื่องจากความสูงของน้ำมันเบนซินนั้นกดเอาไว้ แต่ถ้าไฟไหม้นานพอจนระดับน้ำมันเบนซินที่ลดลงมากพอ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะเดือดกลายเป็นไอ ผลักดันให้น้ำมันเบนซินที่อยู่ในถังนั้นพุ่งกระจายออกมารอบ ๆ ถังเก็บนั้นได้ (ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Boil over และ Slop over)

ในกรณีของน้ำมันประกอบอาหารนั้น เนื่องจากน้ำมันมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ น้ำที่ลงไปสัมผัสกับผิวหน้าน้ำมันจะเดือดกลายเป็นไอทันที ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะทำให้น้ำมันกระเด็นออกมายังบริเวณโดยรอบ ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บและเพลิงแผ่กระจายออกไปได้ แต่การใช้น้ำในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความร้อนของเปลวไฟจะทำให้หยดน้ำนั้นระเหยกลายเป็นไอน้ำก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับผิวน้ำมัน จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า

เรื่องความถูกต้องของคู่มือปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรก่อให้เกิดความสับสนในการทำงาน

ไม่มีความคิดเห็น: