เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวข้องกับงานของสาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรโดยตรง และเกี่ยวพันไปยัง Memoir ๓ ฉบับก่อนหน้านี้คือ
MO Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๒ วันเสาร์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ให้ตัวเลขออกมาสวยก็พอ"
MO Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๔ วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒ เรื่อง "สรุปปัญหาระบบ DeNOx"
MO Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖๔ วันอังคารที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๑ (ตอนที่ ๓)"
ผมได้แนบไฟล์ของ Memoir ทั้ง ๓ ฉบับมาให้แล้ว เนื่องจากเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนที่พวกคุณเกือบทุกคนจะเข้ามา และเอกสารดังกล่าวบางฉบับก็ไม่ได้นำลง blog
คำถามนี้สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรมาถามผมหลังเหตุการณ์ที่เกิดในที่ประชุมของกลุ่มอื่นเมื่อช่วงบ่ายของเมื่อวาน (ที่บังเอิญเขาไปได้ยินเข้าเนื่องจากเสียงมันดังลอดออกมานอกห้องประชุม)
ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ถ้ามีผลการทดลองที่น่าสงสัยหรือคิดว่ามันผิดนั้น ให้หาสาเหตุให้ได้ก่อนที่จะลงมือทำใหม่ เพราะถ้ายังหาสาเหตุไม่ได้แล้วยังทำซ้ำอีก ผลก็จะออกมาผิดเหมือนเดิม ถ้าคิดไม่ออกจริง ๆ ก็ให้นำมาปรึกษาผมได้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันหาคำตอบของปัญหานั้น (ผมต้องการให้พวกคุณลองคิดเองก่อนบ้างนะ ไม่ใช่ประเภทไม่ยอมคิดเลย ไม่ยอมใช้สมองซะบ้างเลย เจออะไรก็เอามาถามอย่างเดียว)
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของแก๊สให้ไหลผ่านทาง saturator เพื่อเติมน้ำเข้าระบบก่อนที่จะไหลเข้าเครื่องปฏิกรณ์นั้น พบว่าค่าความเข้มข้นของ NO สูงขึ้น กล่าวคือถ้าให้แก๊สไหลในทิศทางเดิม (ไม่ผ่าน saturator) ที่อุณหภูมิ 100ºC จะวัดค่าความเข้มข้นของ NO ในแก๊สขาออกได้ 16 ppm แต่พอให้แก๊สไหลผ่าน saturator ที่ "มี" น้ำบรรจุอยู่กลับพบว่าความเข้มข้นของ NO ในแก๊สขาออกลดเหลือ 12 ppm
ในตอนแรกนั้นผู้ทำการทดลองคิดว่าเป็นผลจากน้ำที่เติมเข้าไป ก็เลยทดลองเทน้ำออก แล้วให้แก๊สไหลผ่าน saturator ที่ "ไม่มี" น้ำบรรจุ ก็พบว่าความเข้มข้นของ NO ในแก๊สขาออกลดเหลือ 12 ppm เช่นเดิม
ตรงนี้ก็ต้องขอชมว่าผู้ทำการทดลองเองนั้นเมื่อพบผลการทดลองที่น่าสงสัย ก็ได้ทำการตั้งสมมุติฐาน และได้ทำการทดสอบสมมุติฐานที่ตัวเองตั้งขึ้น (คือคิดว่าเป็นผลของน้ำ) และพบว่าสมมุติฐานที่ตัวเองตั้งขึ้นนั้นมันผิด (คือเมื่อตัดน้ำออกไปแล้วก็พบว่ายังได้ผลเหมือนเดิม) จากนั้นเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ก็เลยนำผลการทดลองดังกล่าวเข้าที่ประชุม โดยหวังว่าอาจารย์ที่อยู่ในที่ประชุมนั้นจะให้จะช่วยให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ปัญหาให้
แต่สิ่งที่เขาได้รับนั้นคืออะไร ถ้าอยากรู้ก็ให้ไปถามสาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตร เอาเอง :(
ตอนที่สาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรเอาปัญหานี้มาถามผมนั้น ผมก็ถามกลับไปว่าแล้วความเข้มข้นของออกซิเจนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งทางสาวน้อย ๑๕๐ เซนติเมตรก็ไม่รู้เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ทำการทดลอง แต่ผมมารับรู้ทีหลังจากผู้ที่ทำการทดลองว่าดูเหมือนความเข้มข้นของออกซิเจนจะสูงขึ้น ซึ่งถ้าพบว่าความเข้มข้นของออกซิเจนเพิ่มสูงขึ้นก็แสดงว่าน่าจะมีการรั่วไหล "เข้าไป" ในระบบ
พอถึงตรงนี้ก็มีการแย้งว่าได้ตรวจสอบการรั่วไหลแล้ว แต่ไม่พบ ผมก็แย้งกลับไปว่าการตรวจการรั่วไหลที่เรากระทำกันนั้นเป็นการตรวจการรั่วไหลที่ "รั่วออก" จากระบบ เมื่อเราหยดน้ำสบู่เข้าไป ถ้ามีการรั่วไหลอยู่ แก๊สที่รั่วออกมาก็จะทำให้เกิดฟองสบู่ให้เป็นที่สังเกตได้
แต่การใช้น้ำสบู่นั้นตรวจสอบการรั่วไหลเข้าไม่ได้ เพราะความดันในระบบต่ำกว่าความดับบรรยากาศข้างนอก ถ้ามีการรั่วไหลเข้าไปในระบบ แล้วเราหยดน้ำสบู่ไปตรงรูรั่วนั้น น้ำสบู่จะไหลเข้าไปในระบบท่อ จะไม่มีการเกิดฟองสบู่ด้านนอกให้เห็น
ตามความเห็นของผมนั้น ควรต้องทำการตรวจสอบหารอยรั่วของระบบก่อนว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งอาจทำได้โดยการปิดด้านขาออกของอุปกรณ์ และอัดความดันเข้าไปในระบบ เพื่อให้ความดันในระบบนั้นสูงกว่าความดันบรรยากาศข้างนอก จะได้ทำการตรวจหารอยรั่วด้วยน้ำสบู่ได้ ส่วนการตรวจพบตามบันทึกฉบับวันเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ นั้นเป็นการตรวจพบด้วยสายตา กล่าวคือตอนนั้นผมไปยืนดูเขาประกอบอุปกรณ์กลับ และสังเกตเห็นมันมีอะไรบางอย่างผิดปรกติอยู่ ก็เลยทำการทดสอบและสามารถแก้ปัญหาได้
ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมความดันในระบบจึงต่ำกว่าความดันบรรยากาศได้นั้น ผมเคยเล่าไว้ในบันทึกฉบับวันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒ เอาไว้แล้ว ในหัวข้อที่ ๒ และหัวข้อที่ ๖ ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีกในที่นี้
ส่วนเรื่องในบันทึกฉบับวันอังคารที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ นั้นส่งมาให้เพื่อเป็นตัวอย่างให้สาวน้อย 150 เซนติเมตรเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมกับทางบริษัทในวันศุกร์ที่จะถึงนี้
บุคคลระดับหัวหน้านั้น ประเภทแรกถือบทบาทประเภทที่เมื่อมอบหมายงานให้ลูกน้องไปทำแล้วก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จ ถ้าประสบกับปัญหาใดก็ต้องหาทางแก้ไขเอาเอง เขาไม่ต้องการรับรู้ปัญหาใด ๆ ต้องการรับฟังแต่ข่าวดีเท่านั้น
บุคคลระดับหัวหน้าประเภทที่สองนั้นพร้อมที่จะรับฟังปัญหาและช่วยแก้ไข แต่ปัญหาที่ส่งเข้ามานั้นควรต้องเป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหรือความรู้ความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาที่รับมอบงานไปปฏิบัติ เพื่อที่เขาจะได้ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่หรือใช้อำนาจที่มีอยู่ในการขอให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยแก้ไข
อาจารย์บางคนเลือกที่จะใช้บทบาทประเภทแรก ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมเคยโต้เถียงกับอาจารย์ดังกล่าวว่า ถ้าหากอยู่ในตำแหน่งอาจารย์ ก็ต้องมีหน้าที่ "สอน" ด้วย ถ้าไม่อยากสอนอะไร ต้องการแต่ผลงานวิจัยอย่างเดียว ทำไมไม่ไปนั่งในตำแหน่งนักวิจัยเลย เพราะตำแหน่งดังกล่าวไม่ต้องสอนหนังสืออะไรเลย ทำวิจัยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีแรงงานช่วยก็ใช้วิธีจ้างลูกมือมาทำงานให้ก็ได้ จะได้วางบทบาทแบบหัวหน้าประเภทแรกได้เต็มที่ แต่ถ้ายังคิดจะอยู่ในตำแหน่งอาจารย์ล่ะก็ ก็ควรต้องทำหน้าที่ "สอน" ด้วย
บางคนอ้างว่าการที่ให้ไปคิดเอาเอง ทำเองเองนั้นก็เป็นการสอนแบบหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าการที่อาจารย์คนดังกล่าวจะพูดอย่างนั้นได้นั้น เขาต้องรู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องและวิธีการที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร และสามารถให้คำแนะนำแก่นิสิตเพื่อเป็นแนวทางให้ช่วยคลำทางได้ เป็นเหมือนกับการให้แบบฝึกหัดนิสิตไปทำ โดยอาจารย์ก็มีเฉลยอยู่ในมือ แต่ไม่ได้สอนโดยใช้วิธีให้เฉลยแบบฝึกหัด แต่ให้นิสิตไปลองหัดทำ ได้ผลอย่างไรก็ค่อยมาเทียบกับเฉลยของอาจารย์
แต่ที่ผ่านมานั้นพบว่าอาจารย์จำนวนหนึ่งชอบพูดแบบดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะตัวเองไม่รู้วิธีแก้ปัญหา และไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหานั้น โดยผลักภาระให้นิสิตหาคำตอบเอาเองทั้งหมด แล้วรอฟังเฉลยคำตอบที่ถูกต้องจากนิสิต ถ้านิสิตหาคำตอบที่ถูกต้องมาได้ ตัวเองก็จะได้ประโยชน์จากคำตอบนั้นด้วย ถ้านิสิตไม่สามารถหาคำตอบนั้นได้ เรื่องดังกล่าวก็มักจะเงียบ ๆ ไป เพราะขืนยังซักต่อมาก ๆ ก็จะกลายเป็นการประจานตัวเองว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน
ผมยังสงสัยอยู่ว่า ในการประชุมเมื่อบ่ายวันวานนั้น ถ้านิสิตบอกว่าเติมน้ำแล้วได้ค่า conversion สูงขึ้นเนื่องจาก ...(หาเหตุผลเอาเองก็แล้วกัน)... เรื่องก็คงจบไปแล้ว แต่นี่เขาดันไปถามในที่ประชุมว่าทำไมค่า conversion สูงขึ้น เรื่องก็เลยไปกันใหญ่ ผมว่าประชุมครั้งต่อไปถ้านิสิตคนนั้นเพียงแค่บอกว่าผลการทดลองครั้งที่แล้วมันผิด ครั้งนี้ลองทำใหม่แบบเดิมแล้วไม่มีปัญหา (ไม่ต้องบอกว่าปัญหาเกิดจากอะไร) เรื่องก็คงจะจบแค่นั้น
ว่าแต่ว่าจะลองไหมล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น