ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร
แต่พอเห็นหลาย ๆ คนทำซ้ำ ๆ
กันก็เลยแปลกใจ จนต้องถามไปว่า
"ครั้งสุดท้ายที่คุณได้ใช้ปากกาหมึกซึมนั้นมันเมื่อไร"
เช้าวันอังคารที่ผ่านมาต้องไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์นักเรียน
ในการสอบนั้นนักเรียนผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จะต้องมาลงชื่อที่โต๊ะเข้าสอบที่ตัวเองต้องไปสอบ
สิ่งที่นักเรียนแต่ละคนถือมาก็เห็นมีแต่แฟ้มเก็บผลงานสมัยเรียนในโรงเรียน
(ซึ่งผมเองไม่คิดจะดู)
พอให้ลงชื่อในแบบฟอร์มว่าได้มาสอบกับกรรมการก็ปรากฏว่าไม่ได้มีการเตรียมปากกามา
ผมก็เลยต้องยื่นปากกาของผมให้เขาใช้
ซึ่งมันเป็น "ปากกาหมึกซึม"
ตอนที่ได้เห็นคนแรกใช้ปากกาหมึกซึมลงชื่อ
ผมก็ยังไม่รู้สึกอะไร
แต่พอผ่านไปหลายคนติด ๆ
กันเข้าก็แปลกใจ
คือดูเหมือนเขาจะไม่รู้ว่าเวลาเขียนด้วยปากกาหมึกซึมนั้นต้องให้หัวปากกาด้านไหนหันขึ้นบน
ด้านไหนหันลงล่าง
เพราะเห็นเขาพลิกปากกาไปมา
ก่อนที่จะเอาด้านที่ควรต้องหันลงล่างนั้นหันขึ้นข้างบน
(รูปที่
๑ (ขวา))
ถ้าจะถามว่าทำแบบนี้แล้วมันเขียนได้ไหม
คำตอบก็คือมันก็เขียนได้
(คือมีรอยน้ำหมึกบนกระดาษ)
แต่มันจะไม่ลื่นและเส้นที่ได้จะไม่สม่ำเสมอ
รูปที่
๑ (ซ้าย)
หัวปากกาหมึกซึม
(กลาง)
วางหัวปากกาที่ถูกต้อง
(ขวา)
การวางหัวปากกาที่ไม่ถูกต้อง
พูดถึงเรื่องปากกาหมึกซึมแล้วทำให้นึกถึงสมัยเรียนชั้นประถมที่ต้องฝึกเขียนหนังสือโดยใช้
"ปากกาคอแร้ง"
ปากกานี้จะมีตัวด้ามเป็นไม้
(สมัยผมเรียนนะ)
แล้วต้องไปซื้อหัวปากกาที่เป็นโลหะมาเสียบ
หัวปากกาก็มีหลายแบบ
แต่ทางโรงเรียนให้ใช้อยู่
๒ แบบ แบบหนึ่งใช้เขียนภาษาไทย
และอีกแบบใช้เขียนภาษาอังกฤษ
เวลาเขียนก็ต้องเอาหัวปากกาจุ่มน้ำหมึกในขวด
พอหมึกที่มันหัวปากกาอุ้มเอาไว้มันหมดก็ต้องจุ่มใหม่
ถ้าหัวปากกามันอุ้มน้ำหมึกมากเกินไปก็ต้องซับออกบ้างโดยใช้
"กระดาษซับ"
สำหรับใช้ซับน้ำหมึก
เพราะถ้าไม่น้ำหมึกเอาส่วนเกินออกไปมันจะไปหยดเป็นรอยบนกระดาษที่เราเขียน
หัวปากกาคอแร้งนั้นก่อนเอาไปใช้ก็ต้องเอาหัวปากกาไปลนไฟก่อนแล้วก็จุ่มน้ำ
ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เคยคิดสงสัยว่าทำไปทำไม
เห็นเขาทำกันอย่างนั้นก็ทำต่อ
ๆ กันมา
พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้รู้ว่าว่าการทำดังกล่าวเป็นวิธีการชุบแข็งโลหะแบบหนึ่ง
ที่ต้องทำเช่นนี้คงเพราะไม่ต้องการให้หัวปากกาสึกหรอเร็ว
จะได้ใช้ได้นาน ๆ