วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557

MO Workshop ครั้งที่ ๒ ตอนฉีด GC MO Memoir : Wednesday 24 December 2557

"ตามมุมมองของผมนั้น การเรียนการสอนภาคปฏิบัติเริ่มต้นจาก การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากนั้นจึงให้ลงมือปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแล และถ้าเห็นว่ามีฝีมือแล้วจึงค่อยปล่อยให้ลงมือทำงานเองได้โดยไม่ต้องมีใครคอยควบคุม
  
ถ้าจะให้เปรียบเทียบผมว่านักวิจัยก็เหมือนกับหมอผ่าตัด หมอผ่าตัดหลังจากวางมีดเลิกเข้าห้องผ่าตัดเมื่อไร แม้ว่าหลังจากวางมีดแล้วต่อให้เขามี paper ตีพิมพ์จำนวนมากติดต่อกันหลายปี คุณจะยังไว้ใจให้เขาผ่าตัดคุณหรือไม่ คุณจะยังคิดว่าเขายังคงเป็นหมอผ่าตัดที่เชี่ยวชาญอีกหรือไม่
  
การมาลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมันทำให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง ทราบถึงข้อจำกัดที่มีของการทำงาน ถ้ามีเวลาก็จะโอกาสมาลงมือทำบ้างเหมือนกัน จะได้ไม่ลืมว่ามันต้องทำอย่างไร จะได้เอาไว้สอนคนอื่นต่อได้
  
"นักวิจัย" ก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่เขาไม่ได้ลงมาสัมผัสกับงานภาคปฏิบัติ ทำเพียงแค่นั่งรับฟังงานที่คนอื่นทำไว้แล้วนั่งวิพากย์วิจารณ์เพื่อเขียนเป็นบทความที่มีชื่อตนเองปรากฏอยู่ ผมเห็นว่าคน ๆ นั้นหมดสภาพเป็นนักวิจัยแล้ว เป็นเพียงได้แค่ "นักวิจารณ์" เท่านั้นเอง"

นั่นเป็นคำตอบที่ผมเคยตอบคำถามให้กับผู้ที่ถามผม ตอนที่เขาเห็นผมลงมาทำแลปว่า ทำไมจึงมาลงมือทำแลปด้วยตนเอง หรือตอนที่เขาเห็นผมลงมากำกับการทำการทดลองของนิสิตด้วยตนเอง
    
  
ความสำคัญของการได้ลงมือทำด้วยตนเองนั้น ก็ได้มีผู้เปรียบเปรยเอาไว้ตามคำกล่าวว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง" ถ้าว่ากันตามคำกล่าวนี้ คนที่นั่งฟังคนอื่นสิบคนพูด ก็รู้สู้การได้ไปเห็นเพียงครั้งเดียวไม่ได้ และการได้เฝ้าดูสิบครั้ง ก็ยังไม่เท่ากับการได้ลงมือปฏิบัติเพียงครั้งเดียว ถ้าจะเทียบกันตามสัดส่วนนี้ก็คงเป็นว่าคนที่นั่งฟังคนอื่น ๑๐๐ คนพูด ก็คงจะได้ความรู้ที่สู้ไม่ได้กับการที่ได้ลงมือปฏิบัติเพียงครั้งเดียว
  
ด้วยเหตุนี้ในแต่ละปีที่กลุ่มเรามีสมาชิกใหม่เข้ามา ผมถึงบอกว่าต่อให้คุณนั่งอ่าน Memoir ที่ผมเขียนย้อนหลังจนหมด (ซึ่งมันก็เหมือนกับการฟังผมเล่าเรื่อง) มันก็สู้ไม่ได้กับการที่คุณได้มาเฝ้าดูการทำงานของรุ่นพี่ และความรู้ที่ได้จากการเฝ้าดูการทำงานมันก็เทียบไม่ได้กับการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะมันมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่มันไม่ได้เขียนบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ชัดเจน เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ต้องลงมาสัมผัสด้วยตนเอง
  
อย่างเช่นกรณีของการสอนการฉีด GC ที่ได้ทำกันไปในช่วงวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมาสองวันนี้
  
  
เราเริ่มจากการจุดไฟให้กับ Flame ionisation detector (FID) ที่ดูเหมือนว่ามันจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย การฉีดสารที่กว่าจะทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นคนเดิมฉีด หรือเปลี่ยนคนฉีด การทดลองปรับแต่งความไวในการวัดของ detector การทดสอบผลของอุณหภูมิที่มีต่อการเคลื่อนตัวของสารผ่านคอลัมน์ (ที่กระทำไปเมื่อวาน) และการทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมในการแยกสารผสมระหว่างเอทานอล (จุดเดือดประมาณ 78ºC) กับ 2-โพรพานอล (จุดเดือดประมาณ 83ºC) ที่ทำไปในวันนี้
  
Memoir ฉบับนี้ก็เลยถือโอกาสนำเอาบางภาพของ workshop วันนี้มาลงบันทึกไว้ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปแล้วเจอกันอีกทีปีหน้า (ก็หลังปีใหม่นั่นแหละ)
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าสมาชิกที่เข้ามาร่วม workshop ในวันนี้ทั้งสามคนรู้สึกก็คือ


"น่าจะใส่รองเท้าส้นสูงมาทำแลป"

     

ไม่มีความคิดเห็น: