วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เรียนตั้งหลายคน ไม่รู้เรื่องเลยสักคน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๓) MO Memoir : Monday 8 December 2557

๓๐ ปีที่แล้วตอนที่เข้าเรียนวิศว ทั้งรุ่นมีประมาณ ๔๒๐ คน เกรดเทอมแรกออกมาปรากฏว่าติด "โปร" (คือได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า ๒.๐๐ กันซะครึ่งคณะ ในขณะที่ผลการเรียนนิสิตปี ๑ ของคณะอื่นในมหาวิทยาลัยมีการกระจายตัวแบบ normal distribution curve จะมีแต่ของคณะวิศวที่แหละที่เป็น exponential decay (คือพวกที่เกรดต่ำ ๆ มีเยอะมาก ในขณะที่พวกที่ได้เกรดสูงแทบจะไม่มี) พวกที่เรียนจบภายในเวลา ๔ ปีก็มีเพียงแค่ประมาณ ๓๐๐ คนเห็นจะได้ (รุ่นผมทั้งรุ่นรวมกันทุกภาควิชามีเกียรตินิยมอันดับ ๑ เพียงแค่ ๗ คน และเกียรตินิยมอันดับ ๒ เพียงแค่ ๒๐ คนเศษ) ที่เหลือก็ทยอยกันจบในปีที่ ๕-๘ เรียกว่าใช้เวลาในมหาวิทยาลัยกันเต็มที่
  
วิชาพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ที่ทุกคนต้องเรียนก็ใช่ย่อย โดยเฉพาะวิชา Statics, Dynamic และ Mechanics of materials นี่สมัยผมเรียนก็เรียนแยกกันเป็น ๓ วิชา วิชาละ ๓ หน่วยกิต วิชาเหล่านี้แต่ก่อนถึงเวลาสอบก็มีข้อสอบอยู่ประมาณ ๖ ข้อ ให้เวลาทำ ๓ ชั่วโมง เนื่องจากเป็นวิชาที่มีคนเรียนกันมาก คนสอนก็เลยมีมากไปด้วย ตอนที่ผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ (ก็เมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว) เคยได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าเวลาออกข้อสอบทีอาจารย์หัวหน้าวิชาก็จะมอบหมายให้อาจารย์ให้อาจารย์ ๖ คนไปออกข้อสอบกันคนละข้อ โดยมอบหัวข้อไปให้ว่าให้ใครไปออกข้อสอบตรงเนื้อหาส่วนไหน
  
เรื่องมันก็สนุกตรงนี้แหละครับ แต่ละคนก็กลัวว่าข้อสอบที่ตัวเองออกมานั้นจะโดยเพื่อนฝูงเยาะเย้ยว่า กระจอกบ้าง ง่ายเกินไปบ้าง ฯลฯ ก็เลยสรรหาข้อสอบชนิดที่เรียกว่าจะให้เป็นสุดยอดในเรื่องนั้น ๆ มีอยู่ปีหนึ่งตอนที่ผมยังทำหน้าที่เป็นกรรมการประจำห้องสอบไล่ของคณะ วันหนึ่งที่มีการสอบวิชาเหล่านี้ (จำไม่ได้ว่าเป็นวิชาอะไร จำได้แต่ว่ามีเพียง ๖ ข้อ) อาจารย์หัวหน้าวิชาก็และมาที่ห้องสอบไล่ ขอดูข้อสอบหน่อยว่าที่มอบหมายให้อาจารย์ผู้ร่วมสอนแต่ละท่านไปออกข้อสอบนั้น ข้อสอบออกมามีหน้าตาอย่างไรบ้าง
  
อาจารย์หัวหน้าวิชาแกเอาข้อสอบไปพลิกดูไปมาสักครู่หนึ่ง แล้วก็พูดออกมาว่า "กูยังทำไม่ได้เลย" อาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ประจำภาควิชาเดียวกัน (ท่านเป็นนายทะเบียนคณะในขณะนั้น) ท่านก็เลยขอดูข้อสอบบ้าง พร้อมกับบอกว่าทำได้ ๒ ข้อ (จากทั้งหมด ๖ ข้อที่ให้เวลาทำ ๓ ชั่วโมง) ก็เก่งแล้ว จากการฟังการสนทนาในวันนั้นก็เลยทำให้รู้ว่าวิชาเหล่านี้บางปีตัดเกรด C กันที่คะแนนไม่ถึง ๓๐ จากเต็ม ๑๐๐
  
เรื่องเด็กวิศวในสมัยนั้นจบมาเกรดต่ำก็เป็นเรื่องธรรมดา บางบริษัทที่กำหนดเกรดขั้นต่ำว่าผู้ที่จะรับเข้าทำงานต้องจบมาด้วยเกรดเฉี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๗๐ ก็ยังมีปัญหากับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ถึงขนาดจัดโปรโมชันให้กับภาควิชานี้มาแล้วก็มี คือกำหนดไว้ว่าสำหรับผู้จบการศึกษาสาขาใด ๆ ก็ตามเขาจะพิจารณาเฉพาะคนที่จบมาด้วยเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๒.๗๐ แต่ถ้าเป็นภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลจะกำหนดไว้เพียงแค่ ๒.๕๐
  
แล้วสำหรับวิศวกรรมเคมีล่ะ จำได้แต่ว่าปีที่ผมจบการศึกษานั้น มีบริษัททำงานทางด้านปิโตรเคมีเปิดใหม่หลายบริษัท และมีการกำหนดเกรดขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องไม่ต่ำกว่า ๒.๗๐
  
แล้วผลออกมาเป็นอย่างไรหรือครับ ก็ไม่มีใครไปสมัครเลย เพราะคนที่จบด้วยเกรดไม่ต่ำกว่านั้นรวมกันทุกสถาบันทั้งประเทศแล้วก็มีไม่เท่าไร แถมได้งานกันหมดแล้วด้วย สุดท้ายก็เลยมีการแก้ไขว่าจบด้วยเกรดเท่าไรก็ได้ขอให้ไปสมัครเถอะ เพื่อผมรายหนึ่งไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทดังกล่าวมาเล่าให้ฟังว่า ตอนสัมภาษณ์นั้นผู้สัมภาษณ์เขาบอกตรง ๆ เลยครับว่า "ผมลำบากใจที่จะรับคุณเข้าทำงาน เพราะเกรดคุณต่ำเหลือเกิน" แต่เขาก็ได้ทำงานที่บริษัทนั้นนะครับ คงเป็นเพราะว่าตอนเรียนหนังสือนั้นเขาได้เป็นถึง "หัวหน้านิสิตคณะวิศว"
  
คงเป็นเพราะเหตุนี้มั้งครับ สมัยก่อนจึงมักจะมีเพลงแปลงเนื้อที่บ่งบอกถึงความในใจของนิสิตวิศวอยู่หลายเพลง อย่างเพลงที่นำเนื้อร้องมาให้ดูในวันนี้ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่นำทำนองมาจากเพลง "หิ้วกระเป๋า" ที่ขับร้องโดย แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ตอน ๔ โมงเย็นวันนี้เห็นนิสิตปี ๒ สองเทอร์โมเสร็จแล้วก็กลัวว่าจะเครียดกับข้อสอบ งั้นก็ขอเชิญมาพักผ่อนด้วยการร้องเพลงกันอีกสักเพลงจะเป็นไร เพลงนี้ผมก็เรียนมาจากรุ่นพี่ตอนเชียร์เย็นเช่นเดิมครับ



เพลง "หิ้วกระเป๋า" โดย แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์
https://www.youtube.com/watch?v=7qJgOWovWMg

เก็บหนังสือยัดใส่กระเป๋า ลาแล้วหนาคอร์สเก่า คอร์สที่เคยเรียนมา
กุศลไม่พอ ขอไปเรียนเอาคอร์สหน้า F แม่งทุกวิชา ช่างมันเถอะหนาคอร์สนี้

อีกสามวันใบเกรดจะมา กลัวน้ำตานองหน้า อยู่ไปเห็นท่าไม่ดี
โปร ๆ ไทร์ ๆ ผมชอกช้ำใจทุกที ผมเดินออกจากที่นี้ ไม่มีจุดหมายปลายทาง

*โลกหมุนให้เรา เรียนกันชั่วครู่ชั่วคราว แต่เราก็โดดทุกหน
เรียนตั้งหลายคน ไม่รู้เรื่องเลยสักคน อาจารย์ท่านบ่น ท่านหาว่าเราเป็นคนไม่ดี

หิ้วกระเป๋าก้าวลงบันได เดินก้มหน้าร้องไห้ ไม่รู้จะไปไหนดี
เดินไปเดินมา ถึงหน้าประตูบัญชี เจอรุ่นพี่พอดี ชวนพี่ไปก๊งเหล้าเลย

* ซ้ำ

หมายเหตุ :
  
๑. ผลสอบในแต่ละภาคการศึกษาของนิสิตแต่ละรายจะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษขนาดเล็กกว่า A5 เล็กน้อยเรียกกันว่า "ใบเกรด" แต่ก่อนนิสิตจะต้องไปรับที่ทะเบียนคณะ

๒. เดิมตลาดสามย่านตั้งอยู่ตรงที่เป็นจตุรัสจามจุรีในปัจจุบัน นิสิตจะไปกินข้าวที่ตลาดสามย่านก็จะเดินออกทางประตูทางเดินให้คนออก เรียกกันว่าประตูบัญชี ซึ่งเป็นประตูสำหรับคนเดินที่เคยเปิดให้เดินเข้าออกระหว่างมหาวิทยาลัยกับจตุรัสจามจุรี ก่อนที่จะมีการทำประตูใหม่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ช่องทางเดินเข้า-ออกมหาวิทยาลัยตรงกับประตูทางเข้าออกจตุรัสจามจุรี ที่ผมจำได้คือช่วงก่อนปี ๒๕๓๒ ตลาดสามย่านยังอยู่ที่นั่น ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามที่อยู่ข้างคณะนิสิตศาสตร์ที่ปัจจุบันนี้เป็นที่ว่างโล่ง ก่อนจะย้ายอีกทีไปอยู่ทางด้านหลังสนามกีฬา ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น: