วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เมื่อจะเข้าเรียนหมอเรียนวิศว ต้องสอบทั้งภาษาไทยและสังคม (มุมมองส่วนตัวในเรื่องการศึกษา ๓) MO Memoir : Friday 4 November 2559

ปีพ.ศ. ๒๕๒๑ ประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาในโรงเรียนใหม่ จากเดิมที่แบ่งเป็น
ชั้นประถมศึกษาตอนต้นคือ ป. ๑ ถึง ป. ๔
ชั้นประถมศึกษาตอนปลายคือ ป. ๕ ถึง ป. ๗
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคือ ม.ศ. ๑ ถึงม.ศ. ๓ และ
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคือ ม.ศ. ๔ และ ม.ศ ๕

มาเป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ
ชั้นประถมศึกษาตอนต้นคือ ป. ๑ ถึง ป. ๓
ชั้นประถมศึกษาตอนปลายคือ ป. ๔ ถึง ป. ๖
ชั้นมัธยมต้นคือ ม. ๑ ถึงม. ๓ และ (เอาคำว่า ศึกษา ออกไป)
ชั้นมัธยมปลายคือ ม. ๔ ถึง ม. ๖

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดคะแนนสอบ จากเดิมที่คิดเป็นเปอร์เซนต์คะแนนทุกวิชารวมกัน สิ้นปีการศึกษาใครได้ไม่ถึง 50% ก็ต้องตกซ้ำชั้นเรียนใหม่ทุกวิชา มาเป็นวิธีคิดแบบเกรด มีการสอบซ่อมเฉพาะวิชาที่เรียนไม่ผ่านเท่านั้น ไม่มีการตกซ้ำชั้น
 
ผมเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น เรียนกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิชาที่สอบก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง คือจากเดิมพวกที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ก็จะมีการสอบเฉพาะวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา (สำหรับพวกที่สมัครเข้าเรียนหมอ หรือวิทยาศาสตร์ ส่วนวิศวไม่คิดคะแนนในส่วนนี้) และความถนัดเฉพาะทางของแต่ละสาขาวิชา เป็นการเพิ่มการสอบวิชา สามัญ ๑ เข้ามาอีก ๑ วิชา (ถ้าเป็นด้านสายศิลปจะเป็นสามัญ ๒) โดยเป็นข้อสอบที่รวมเอาเนื้อหาวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา (อันนี้รวมภูมิศาตร์และประวัติศาสตร์เอาไว้ด้วย) และให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับวิชาหลักวิชาอื่นด้วย
 
ตอนนั้นใครต่อใครจำนวนไม่น้อยก็แปลกใจว่าทำไมจะเรียนหมอหรือวิศว ต้องวัดความรู้ทางด้านสังคมและภาษาไทยได้ด้วย ทำเอานักเรียนที่จะสอบเอนทรานซ์กันตอนนั้นงงไปหมด แต่ตรงนี้เขาก็ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะว่าประสบกับปัญหาผู้ที่เรียนจบไปแล้วทำงานกับคนไม่เป็น เพราะขาดทักษะความรู้ทางด้านภาษาและสังคม
 
อันที่จริงการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (หรือมัธยมปลายในช่วงถัดมา ซึ่งต่อไปในความนี้จะขอเรียกรวม ๆ ว่ามัธยมปลายก็แล้วกัน) มันมีปัญหามาก่อนหน้านั้น คือพอนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายแล้ว ตัวนักเรียนเองจะมุ่งเรียนเฉพาะวิชาที่ต้องใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียน โดยจะทิ้งวิชาอื่นกัน หรือแม้แต่ทางโรงเรียนเองที่มีหน้าที่ต้องจัดสอนให้ครบทุกวิชา ก็จะเน้นการสอนหนักไปทางวิชาที่นักเรียนต้องใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ทางตัวมหาวิทยาลัยเองก็มองว่าการคัดเลือกผู้เข้าเรียนนั้นควรพิจารณาเฉพาะศาสตร์สำคัญที่ต้องใช้ในการเรียนต่อ "เฉพาะทางสาขาวิชาชีพนั้น" ผลก็คือคณะวิศวบางมหาวิทยาลัยไม่เอาคะแนนวิชาเคมี โรงเรียนหลายโรงเรียนไม่จัดสอนวิชาชีววิทยาให้กับนักเรียนที่คิดจะสอบเข้าเรียนคณะวิศว
 
การเปลี่ยนแปลงในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือการนำเอาผลการเรียนจากโรงเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนคัดเลือกด้วย ที่มาของเรื่องนี้มันมีอยู่ ๒ ทางด้วยกัน ทางแรกมาจากนักการศึกษาที่เห็นว่าหน้าที่ของโรงเรียนคือการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ซึ่งจะว่าไปเนื้อหาความรู้ส่วนนี้มันก็อยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว แต่ทางโรงเรียนกับนักเรียนเองกลับไม่ให้ความสำคัญกับทุกวิชาที่อยู่ในหลักสูตร เพราะไปวัดผลความสำเร็จของโรงเรียนตรงจำนวนนักเรียนที่สอบติดได้คณะคณะแนนสูง ๆ (พวกหมอ และวิศว) อีกทางหนึ่งมาจากฝั่งการเมืองที่มองว่าทำไปคณะในมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของประเทศจึงมีแต่เด็กกรุงเทพเป็นหลัก ทำไมนักเรียนโรงเรียนต่างจังหวัดที่ได้เกรดระดับเดียวกันกับนักเรียนจากโรงเรียนในกรุงเทพจึงสอบติดคณะคะแนนสูง ๆ น้อยกว่า และเมื่อสองความคิดนี้มาเจอกันก็เลยทำให้มีการนำเอา "เกรดเฉลี่ย" จากโรงเรียนมาใช้เป็นคะแนนคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
 
แต่ปัญหาก็คือวิธีการให้เกรดเฉลี่ยของแต่ละโรงเรียนนั้นมันเทียบเคียงกันไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนแต่ละคน แถมยังมีการเปิดช่องให้อาจารย์ผู้สอนหรือทางโรงเรียนเองนั้นเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากนักเรียนได้ (ทำนองว่าไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องเกรดออกมาไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกคณะเรียน ซึ่งตรงนี้ก็เห็นมีนักเรียนบ่นทางเว็บบอร์ดบางแห่ง) นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการให้คะแนนของอาจารย์ในโรงเรียนที่ถูกกดดันให้ต้องให้เกรดนักเรียนสูง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้เปรียบผู้อื่นในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
 
ทันทีที่บอกว่าจะเปลี่ยนระบบเอนทรานซ์ด้วยการใช้เกรดที่ได้จากโรงเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนคัดเลือก ทางกลุ่มคณะแพทย์ก็รวมตัวกันจัดวิธีคัดเลือกแยกออกไปเลยด้วยการใช้การสอบตรงเข้าเรียนแพทย์ (ไม่รับจากการสอบส่วนกลาง) ซึ่งก็ยังคงเป็นมาจนถึงวันนี้


รูปที่ ๑ โครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรีของภาควิชาที่เริ่มใช้สำหรับผู้ที่เข้าเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๙ จะเห็นว่ามีวิชาในกลุ่มหมวดการศึกษาทั่วไปและเลือกเสรีรวม ๓๖ หน่วยกิตหรือ ๑ ใน ๔ ของหน่วยกิตที่ต้องเรียนทั้งหมด
 
ส่วนสาขาวิชาอื่นที่เหลือก็มีทั้งขอลองใช้ระบบใหม่ดูก่อนและจำใจต้องยอมทำตาม (คำสั่งจากเบื้องบน ไม่งั้นมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ) ผลที่เกิดขึ้นก็คือจากเดิมที่รับผ่านการสอบส่วนกลางทั้งหมด ก็มาเป็นค่อย ๆ ลดสัดส่วนลง ท้ายที่สุดแต่ละมหาวิทยาลัยก็จัดการรับตรงด้วยตนเอง (ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับโควต้าของมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่กระจายโอกาสทางการศึกษาด้วยการรับนักเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว) ซึ่งมีทั้งรับตรงทั้งหมด และรับตรงส่วนหนึ่ง ส่วนที่ขาดเหลือค่อยไปรับจากระบบกลาง (ที่เรียกว่าแอดมิดชัน) อีกที นอกจากนี้ในส่วนของแอดมิดชันก็ยังมีการกำหนดสัดส่วนคะแนนที่ใช้เกรดจากโรงเรียนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
พอมหาวิทยาลัยแข่งขันกันรับตรง ผลก็คือทั้ง ๆ ที่ประกาศว่ารับผู้จบชั้นมัธยม ๖ เข้าศึกษาต่อ แต่ในความเป็นจริงทำการสอบคัดเลือกกันก่อนที่นักเรียนจะเรียนมัธยม ๖ เทอมต้นจบด้วยซ้ำ ผลก็คือหลักสูตรมัธยมปลายที่วางไว้ ๓ ปี ทางโรงเรียนต้องสอนให้เสร็จภายใน ๒ ปี ไม่เช่นนั้นนักเรียนจะไม่มีความรู้ไปทำการสอบเอาคะแนนสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าทางโรงเรียนไม่สามารถสอนให้จบได้อย่างรวดเร็ว นักเรียนก็ต้องไปหาที่เรียนพิเศษเสริมกันเอง ผลก็คือระบบการศึกษาชั้นมัธยมปลายถูกทำลายอย่างเป็นระบบโดยวิธีรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย
 
ที่ผ่านมาจากการสอบสัมภาษณ์ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งรับตรงและแอดมิดชันนั้น พบว่าผู้ที่เข้ามาด้วยการสอบตรงจะมีระดับคะแนนสอบส่วนกลางที่สูงกว่าผู้ที่เข้ามาในระบบแอดมิดชัน และเป็นเรื่องปรกติที่จะพบว่านักเรียนจากโรงเรียนดัง ๆ ในกรุงเทพที่เข้ามาทางระบบแอดมิดชันนั้นคือผู้ที่ไม่ผ่านการรับตรง ดังนั้นที่มีข่าวออกมาว่าผู้ที่ได้คะแนนที่ ๑ แอดมิดชันคือคนเก่งสุดนั้นมันไม่จริงหรอกครับ คนที่เก่งกว่านั้นเขาได้ที่เรียนไปก่อนหน้านั้นแล้วผ่านทางช่องทางรับตรง
 
อันที่จริงระบบเอนทราซ์แต่เดิมนั้น (ที่มีการสอบเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนเมษายน หลังเรียนจบชั้นมัธยม) ก็มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าจำเป็นต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับทุกวิชาเท่ากันไหม เช่นสำหรับคณะวิศว ทำไมต้องให้ความสำคัญกับวิชาภาษาอังกฤษเท่ากับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทำนองว่ากลัวว่าจะได้ผู้เรียนที่สอบเข้ามาได้ด้วยคะแนนภาษาอังกฤษ โดยที่ทำคะแนนในส่วนของวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีนัก แต่กลายเป็นว่าตอนนี้กลับมาบ่นกันว่านิสิตมีพื้นภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง ควรต้องฝึกฝนเพิ่มเติมอีกมาก
 
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ก็เริ่มมีการพูดกันว่าบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ที่จบไปทำงานนั้นมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ขาดความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นที่มีการทำงานร่วมกันในองค์กร ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงหลักสูตรด้วยการเสริมเนื้อหาเหล่านี้ (ที่ไม่ใช่ศาสตร์ความรู้เฉพาะทางในสาขาวิชาชีพนั้น) เข้าไปในหลักสูตร และให้ผู้เรียนทุกคนนั้นต้องผ่านการเรียนในวิชาเหล่านี้ด้วย ตรงนี้ลองดูตัวอย่างของภาควิชาที่ผมทำงานอยู่ที่ยกมาให้ดูในรูปที่ ๑ ทั้งหลักสูตรมีทั้งสิ้น ๑๔๖ หน่วยกิต แต่เป็นวิชาที่ไม่ใช่วิทยาศาตร์และวิศวกรรมศาสตร์เสีย ๓๖ หน่วยกิตหรือ ๑ ใน ๔ ของเนื้อหาทั้งหมด ดังนั้นอย่าแปลกใจนะครับถ้าหากไปเป็นว่านิสิตที่จบจากคณะวิศวจะมีวิชาพวก ตีแบด ตีกอล์ฟ ถ่ายรูป เต้นรำ พุทธศาสนา อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ฯลฯ อะไรทำนองนี้ปรากฏอยู่ในผลการเรียนของเขา คนละหลายวิชาด้วย
 
ตอนจะรับคนเข้าเรียนวิศว ทางมหาวิทยาลัยมองว่าวิชาเช่น พลศึกษา (เช่น เตะบอล ตีแบด) สุขศึกษา (เช่น ยาในชีวิตประจำวัน) สังคม (เช่น ศาสนาพุทธ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์) นันทนาการ หรืออะไรทำนองนี้ ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้าเรียนวิศว แต่พอเขาเข้ามาเรียนได้แล้วกลับมองว่าถ้าพวกเขาไม่เรียนวิชาพวกนี้ในปริมาณที่มากพอ ก็จะไม่สามารถสำเร็จการศึกษา แต่ด้วยการที่จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดทั้งหลักสูตรถูกกำหนดเพดานเอาไว้แล้ว มันก็เลยเกิดการตัดเอาเนื้อหาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกไปบางส่วน เพื่อให้เหลือที่แทรกวิชาเหล่านี้เข้าไป
 
คำถามที่อยากให้คิดกันเล่น ๆ ก็คือ มันจะดีกว่าไหม (ตรงนี้ขอเป็นเฉพาะกรณีในสายวิศวที่ผมทำงานอยู่ก็แล้วกันนะครับ) ถ้าเราจะให้ความสำคัญกับวิชาเหล่านี้ในการสอบคัดเลือกเข้า เพื่อที่จะให้นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนนั้นมีความรู้เหล่านี้ก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย (คือให้เรียนจบไปตั้งแต่โรงเรียน) เพื่อที่ทางมหาวิทยาลัยจะได้ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป (ทำไมต้องมาเรียนตีแบดตอนเรียนปริญญาตรี เรียนในวิชาพลศึกษาที่โรงเรียนไม่ได้หรือไง) เพื่อที่แต่ละหลักสูตรจะได้สามารถเพิ่มเนื้อหาเฉพาะทางทางด้านสาขาวิชาชีพของเขาได้ 
  
ตอนเรียนมัธยมปลายนั้น จำได้ว่าอาจารย์ผู้สอนวิชาสังคมกล่าวไว้ว่า "วิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นวิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจ" ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เข้าใจความหมายที่อาจารย์กล่าวไว้ (เสียดายที่นึกชื่ออาจารย์ท่านนั้นไม่ออกจริง ๆ) ผมมาเข้าใจประโยคดังกล่าวลึกซึ้งก็ตอนที่เรียนปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศว่าที่อาจารย์ท่านกล่าวไว้นั้นไม่ผิดเลย เมื่อมาพบว่าการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์และเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้เข้าใจพัฒนาการของความรู้วิชาเคมีอินทรีย์ได้ดีขึ้น (ที่มาของวัตถุดิบและการแข่งขันกันโดยอาศัยความเหนือกว่าทางด้านเทคโนโลยี) และการได้เรียนรู้ข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณ (วิวัฒนาการของเครื่องคอมพิวเตอร์) ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการคำนวณเชิงตัวเลขได้ดีขึ้นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: