วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เข็มออกลูก ย่านางออกผล ซิวแม่จันออกรวง MO Memoir : Sunday 5 November 2560

เช้านี้ลมพัดแรงตั้งแต่ยังไม่ตีห้า ตื่นขึ้นมาด้วยเสียงผ้าม่านหน้าต่างที่สะบัดพริ้วตามแรงลมที่พัดผ่านเข้ามา สำหรับคนชอบท่องเที่ยว การมาถึงของลมหนาวย่อมหมายถึงท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง อากาศที่แห้งและเย็นสบาย (หรือหนาวมากด้วยซ้ำ) รวมทั้งไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาวที่ได้เวลาเบ่งบาน
 
แต่สำหรับคนทำสวนปลูกต้นไม้แล้ว นั่นหมายถึงการต้องวางแผนการใช้น้ำ ที่สำรองไว้ช่วงฝนตกที่ผ่านมา ให้เพียงพอไปจนถึงฝนมาครั้งถัดไป ก็คืออีกประมาณเดือนมิถุนายน ช่วงนี้ความชุ่มชื้นในดินจากฝนสุดท้ายที่ผ่านไปก็ยังมีอยู่บ้าง กว่าจะรู้ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ก็คงต้องเข้าช่วงฤดูร้อนแล้ว
 
เข็มเป็นพืชที่ชอบแดดจัด รับแดดได้ทั้งวัน ยิ่งได้แดดจัดก็ยิ่งออกดอก แถมออกดอกได้ทั้งปี ใบก็ดกดี จะปลูกเป็นไม้รั้วเตี้ย ๆ ก็ได้ แต่ที่บ้านผมปลูกเอาไว้ริมกำแพงกับผนังบ้าง เพื่อให้มันดูดซับแสงแดดเวลากลางวันที่ตกกระทบกำแพงกับผนัง ทำให้ลดความร้อนของตัวผนัง และยังช่วยลดแสงสะท้อนจากผิวคอนกรีตเข้ามาในตัวบ้านด้วย พอดอกเข็มร่วงโรยไป ผลของมันก็ปรากฏขึ้นแทน แต่ก็เห็นเพียงไม่กี่ช่อเท่านั้นที่จะมีผลติด และก็ติดไม่กี่ลูก พอผลมันร่วงหล่นลงบนพื้นดิน มันก็งอกขึ้นมาเป็นต้นใหม่ พืชที่งอกจากเมล็ดนี่มีดีอยู่อย่าง คือมันมีรากแก้ว ดังนั้นพอมันโตขึ้นก็ไม่ต้องกังวลว่ามันจะไม่มีรากยึดดิน ไม่เหมือนพวกที่ตอนจากกิ่ง ที่มีแต่รากฝอย เรื่องไม่มีรากแก้วนี้ สำหรับไม้ดอกที่ปลูกเป็นต้นเตี้ย ๆ ระดับหัวเข่าคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าอยากให้มันโตสูงขึ้นมา ก็ต้องคอยระวังมันล้มอยู่เหมือนกัน ที่ปลูกไว้ที่บ้านก็ปล่อยให้มันสูงกว่าเมตรครึ่ง ด้วยความอยากรู้ว่ามันจะสูงได้แค่ไหน เพราะที่เห็นกันทั่วไปเขามักจะตัดให้มันเป็นต้นเตี้ย ๆ อยู่เสมอ


รูปที่ ๑ ผลของดอกเข็ม
 
ต้นย่านางเป็นไม้เลื้อย ที่ขึ้นอยู่ที่บ้านก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่และมาได้ยังไง มีทั้งขึ้นปนกับต้นไม้อื่นและงอกออกจากซอกรอยต่อพื้นกับผนังข้างบ้าน แต่ก่อนก็ไม่สนใจ เห็นมันเลื้อยขึ้นไปพันไม้ยืนต้นต้นอื่นทำให้ต้องคอยดึงทิ้งอยู่เสมอ มาช่วงไม่กี่ปีมานี้ เห็นมีคนนิยมเอามาบริโภคกันใหญ่ ในรูปของน้ำใบย่านาง ว่ามีสารพัดสรรพคุณ ที่ขึ้นอยู่รอบบ้านก็มีภรรยาคอยเก็บเอามาทำน้ำย่านางดื่มเสมอ แต่ก็มีดื่มอยู่คนเดียว บ่ายวันวานระหว่างเดินรดน้ำต้นไม้ริมรั้วหน้าบ้าน ก็เห็นมันออกลูกแดง ๆ รวมอยู่เป็นกระจุก สีสวยดี ก็เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหน่อย


รูปที่ ๒ ผลของย่านาง

ภาพสุดท้ายเป็นถังปลูกข้าว ได้ซองเมล็ดพันธุ์มาจากงานเกษตรแห่งชาติ ๒๕๖๐ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่าน เป็นข้าวเจ้าหนึ่งซอง พันธุ์ กข ๕๗ และข้าวเหนียวหนึ่งซอง พันธุ์ ซิวแม่จัน แต่กว่าจะได้ปลูกก็ย่างเข้ามาเดือนสิงหาคมช่วงวันแม่แล้ว เพราะอยากรู้ว่าที่เขาบอกว่า "ปลูกข้าววันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ" นั้น มันจริงไหม วิธีปลูกก็เอาถังเก่า ๆ มาสองใบ ก้นรั่วหนึ่งใบก้นไม่รั่วหนึ่งใบ ใส่ดินถุงสำหรับปลูกไม้ดอกลงไป (เพราะบังเอิญมันมีแต่ดินแบบนี้อยู่ที่บ้าน) ส่วนเมล็ดข้าวนั้นก็เอาไปแข่น้ำให้มันเริ่มงอกก่อน ก่อนที่จะเอามาใส่ถัง
 
ข้างซองข้าวเหนียวพันธุ์ ซิวแม่จัน เขียนไว้ว่า เป็นข้าวเหนียวพื้นเมือง ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๔๐-๑๕๐ วัน ปลูกได้ทั้งแบบข้าวไร่และข้าวนาสวนในภาคเหนือ ส่วนพันธุ์ข้าวเจ้า กข ๕๗ นั้นข้างซองเขียนไว้ว่า เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว ๑๐๗-๑๑๐ วัน
 
จากการค้นความหมายของคำว่า "ไวต่อแสง" เขาบอกว่า เป็นพันธุ์ข้าวที่จะออกรวงในข่วงเวลาที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน (ก็คงช่วงเข้าหน้าหนาวนี้) ส่วนพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อแสงเขาบอกว่า เป็นพันธุ์ข้าวที่พออายุครบกำหนดจึงจะออกรวง ไม่ขึ้นกับช่วงเวลากลางวันว่าสั้นยาวเท่าใด ที่แปลกก็คือตามข้างซองนั้นบอกว่า กข ๕๗ ใช้เวลาออกรวงน้อยกว่าซิวแม่จันอยู่มาก แต่ทำไมซิวแม่จันออกรวงก่อนก็ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ปลูกเอาไว้ไม่ถึงร้อยวัน หรือว่าติดป้ายข้างถังสลับกันก็ไม่รู้เหมือนกัน

รูปที่ ๓ ถังดำข้างหน้าคือข้าวเหนียวพันธุ์ซิวแม่จัน ส่วนถังข้างหลังคือข้าวเจ้าพันธุ์ กข ๕๗


รูปที่ ๔ ด้านหน้าและด้านหลังซองเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาจากงาน

คนโบราณเขากล่าวว่า (น่าจะเป็นคนในพื้นที่ภาคกลาง) "เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอถึงเดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง" คือเดือนสิบเอ็ด (นับแบบปฏิทินทางจันทรคติ) เป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกทั่วไปหมด เดือนสิบสองเป็นช่วงปลายฝนแล้ว น้ำส่วนหนึ่งก็ไหลออกทะเลไป น้ำเหนือก็ไหลมาถึงทุ่งภาคกลาง แถมยังมีน้ำทะเลหนุนสูงอีก สรุปก็คือระดับน้ำยังสูงเหมือนเดิม แต่พอพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ระดับน้ำก็จะค่อย ๆ ลดลง เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ปีนี้ก็เป็นปีหนึ่งที่มีน้ำมาก และก็คงจะหนาวด้วย เพราะคนโบราณก็กล่าวเอาไว้เหมือนกันว่า "ปีไหนน้ำมาก ปีนั้นจะหนาวมาก"

จึงไม่น่าแปลก ที่จะเห็นงานแต่งงานมากเป็นพิเศษ ในช่วงปลายปี

ไม่มีความคิดเห็น: