วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กว่าจะพ้นผ่านช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดา MO Memoir : Thursday 19 May 2565

ก็เป็นรุ่นที่พิเศษจริง ๆ สองรุ่นติดกัน คือเริ่มทำแลปไปได้หน่อยเดียวก็มีการปิดมหาวิทยาลัย เปิดมาก็ต้องรีบทำการทดลองกัน แม้จะจบได้ทันในปีการศึกษาที่ขยายเวลาออกมาเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องยกยอดไปรับปริญญาร่วมกับปีการศึกษาถัดไป พอรุ่นถัดมาก็เรียกว่าโชคดี (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ที่ไม่ได้หยุดพักปีใหม่ ลุยทำแลปกัน ก็เลยรอดพ้นจากการปิดมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

แม้ว่าวันนี้จะไม่สามารถมากันได้ครบ (ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง) แต่อย่างน้อยกลุ่มเล็ก ๆ ของเราก็ได้กลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง ก็รู้สึกดีใจที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่การงานกันแล้ว ก็ขออวยพรให้ทุกคนประสบแต่ความสุขความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงาน

วันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร แต่จะไม่เขียนอะไรก็ไม่ได้ เพราะคงต้องบอกกล่าวให้รู้ว่า เมื่อถึงวันรับปริญญาของพวกคุณ ก็จะมี Memoir ฉบับสุดท้ายที่จะส่งตรงไปยังอีเมล์ของพวกคุณแต่ละคน ซึ่งสำหรับปีการศึกษานี้ก็คือฉบับนี้ ผมเองนั้นก็เริ่มวางแผนแล้ว ว่าจะรับนิสิตใหม่ได้อีกกี่รุ่น เพื่อจะได้ไม่มีนิสิตตกค้างก่อนเกษียณอายุราชการ

เมื่อเดือนที่แล้วมีอีเมล์ฉบับหนึ่งส่งมาถึงผม จากคนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน เนื้อหาอีเมล์ดังกล่าวเป็นอย่างไรนั้นแสดงอยู่ในรูปข้างล่างแล้ว สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าพวกคุณ (รวมทั้งทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านบทความฉบับนี้) เห็นว่าการบันทึกประสบการณ์การทำงานเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็หวังว่าเมื่อคุณมีเรื่องใหม่ ๆ ที่อยากส่งต่อคนรุ่นถัดไป คุณก็คงจะทำแบบนี้เช่นกัน แม้ว่ารูปแบบนั้นจะแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง


ขอโทษด้วยนะครับที่ไม่สามารถอยู่ถ่ายรูปร่วมกับพวกคุณได้นาน เพราะต้องกลับไปนั่นรอดูลูกผมรับปริญญาในช่วงบ่ายวันนี้ หวังว่าคงจะไม่ว่าอะไรนะครับ :) :) :)

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๒๗ อุบัติเหตุและความปลอดภัย (๔) MO Memoir : Wednesday 11 May 2565

"เหตุเกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ยังไม่ใครมีข้อมูลเลย และจะให้ไปพูดออกรายการได้อย่างไร"

กรกฎาคมปีที่แล้ว หลังเกิดการระเบิดที่โรงงานแห่งหนึ่งแถวกิ่งแก้วไม่กี่วัน มีคนติดต่อผมมาขอให้ไปร่วมรายการเสวนาเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ผมก็ตอบเขากลับไปด้วยประโยคข้างต้น

ในช่วงประมาณ ๓ ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่ามีอุบัติเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมีอยู่ด้วยกัน ๒ เหตุการณ์คือ เหตุการณ์ท่อส่งแก๊สธรรมชาติระเบิด และการระเบิดในโรงงานผลิตโฟมพอลิสไตรีน และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา (แม้ว่าเหตุการณ์จะยังไม่ทันสงบ) ก็คือ จะมีคนจำนวนไม่น้อยแสดงตนว่าเป็นผู้รู้ว่าควรต้องเผชิญเหตุอย่างไร และสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หรือทราบข้อมูลมาจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง (ซึ่งเขาคงไม่ว่างมาให้สัมภาษณ์หรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเหตุการณ์นั้นมันยังไม่สงบ) แต่อาศัยข้อมูลที่มีการส่งต่อกันในโลกอินเทอร์เน็ต (ที่มักจะไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องเสียด้วย) มาเขียนข้อความในทำนองเป็นผู้รู้ เพื่อให้มีการแชร์ข้อความดังกล่าวต่อ ๆ กันไป จากนั้นก็จะตามด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถาบันการศึกษาหรือด้านวิชาชีพ ที่ต้องมีการจัดรายการเสวนา เพื่อให้ดูว่ามีผลงานหรือมีส่วนร่วมในการจัดการอุบัติเหตุนั้น ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป"

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ผมเขียนไว้ในคำนำของ "MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๒๗ อุบัติเหตุและความปลอดภัย (๔)" ที่ได้รวบรวมเอาบทความเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุและความปลอดภัยที่เขียนลง blog ไว้หลังจากที่ได้นำเรื่องราวที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ไปรวมไว้ใน "MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๒๓ อุบัติเหตุและความปลอดภัย (๓)" ที่เผยแพร่ไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

เมื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกภาพได้เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้และแทบจะมีติดมือทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในบ้านตัวเอง ภาพการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ จึงสามารถแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว ตามด้วยความเห็นที่คนจำนวนหนึ่งแสดงออกมาเสมือนว่ารู้ดีกว่าควรต้องทำอย่างไร โดยที่ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสนให้กับคนในสังคมและความเข้าใจผิดที่ยากจะแก้ไข และในขณะเดียวกันก็มีหลายหน่วยงานที่พยายามจัดรายการเพื่อโหนกระแสเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีผลงานและเป็นผู้รู้ในด้านนั้น

แต่ท้ายสุดแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นคืออะไร หน่วยงานที่ออกมาเกาะกระแสตนเกิดเรื่องก็ไม่ได้มีการติดตามต่อไป ได้แต่รอว่าเมื่อใดจะมีเรื่องใหม่ให้ออกมาโหนกระแสอีก

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf กดที่นี่


 


วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

Plug และ Cap สำหรับ Pipe และ Tube MO Memoir : Tuesday 3 May 2565

สำหรับคนทำงานเกี่ยวกับ "Pipe" เวลาที่ต้องการปิดช่องเปิดของระบบท่อที่เปิดออกสู่บรรยากาศภายนอก (แบบถาวรหรือนาน ๆ เปิดที เช่นตอนซ่อมบำรุง หรือปิดไว้เพื่อความปลอดภัย เช่นทางออกของวาล์วที่ระบายของไหลในระบบออกสู่ภายนอก) ก็จะมีชิ้นส่วนให้เลือกอยู่ 2 แบบ ถ้าเป็นชนิดที่ต้องสอดเข้าไปในรู ก็จะเรียกว่า "Plug" แต่ถ้าเป็นแบบที่ต้องครอบปิดรู ก็จะเรียกว่า "Cap" รูปที่ ๑-๓ เป็นตัวอย่างของ Plug และ Cap ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว

รูปที่ ๑ ตัวอย่าง plug ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว ตัวปลั๊กจะมีโครงสร้างเป็นเกลียวตัวผู้ โดยเกลียวตัวเมียจะอยู่ที่ช่องที่ต้องการอุด ส่วนหัวก็จะมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ขันปิด-เปิดด้วยวิธีใด

ในทางวิศวกรรม "ท่อ" มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ "Pipe" กับ "Tube" ซึ่งคำภาษาอังกฤษสองคำนี้พอแปลเป็นไทยจะออกมาเป็นคำว่า "ท่อ" เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง "Pipe" กับ "Tube" นั้นมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นในที่นี้จะขอใช้คำ "Pipe" หรือ "Tube" เพื่อไม่ให้สับสน สำหรับผู้ที่ยังไม่รูว่า "Pipe" กับ "Tube" นั้นแตกต่างกันอย่างไร ขอแนะนำให้อ่านบทความบนหน้า Blog ฉบับวันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "ท่อ - Pipe - Tube" เพื่อปูพื้นฐานก่อน

"ท่อ" ส่วนใหญ่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานจะเป็น "Pipe" และพวกท่อขนาดใหญ่ก็จะเป็น "Pipe" ทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องปรกติที่จะเห็นมีการใช้ "Tube" ร่วมกับ "Pipe" ในโรงงานด้วย เช่นท่อที่เชื่อมต่อ process pipe เข้ากับอุปกรณ์วัดคุมที่เปลี่ยนค่าที่วัดได้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งออกไปอีกที (ที่เรียกว่า "Lead pipe") หรือระบบท่อที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ข้องอด้วยการดัดท่อให้โค้งไปในทิศทางที่ต้องการแทน (คือ Tube มันดัดได้ง่ายกว่า Pipe ดังนั้นการเดินท่อที่ไม่เป็นเส้นตรง ถ้าใช้ Tube จะใช้การดัดท่อเอา แต่ถ้าใช้ Pipe มักจะใช้ข้องอ)

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Cap ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว ตัว Cap จะใช้เกลียวตัวเมีย

รูปที่ ๓ (ซ้าย) Cap สำหรับ Pipe (ขวา) Plug สำหรับ Pipe รูปนี้นำมาจากแคตตาล็อกของ Swagelok

บังเอิญช่วงนี้มีงานที่ต้องใช้ระบบ "Tube" ในการทำงาน ก็เลยสั่งซื้อ Plug กับ Cap มาใช้ (เป็นครั้งแรกที่สั่งซื้อสองตัวนี้มาใช้ด้วย) ตอนสั่งซื้อก็สั่งพร้อม ๆ กัน ในจำนวนและขนาดที่เท่ากัน โดยไม่คิดอะไร แต่ก่อนอื่นลองดูรูปที่ ๔ และ ๕ ก่อนดีไหมครับ ชิ้นส่วนที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดและขวาสุดนั้นต่างเป็นชิ้นส่วนสำหรับปิดช่องเปิดของระบบ Tube ทั้งคู่ ลองเดาดูนะครับว่าตัวไหนคือ "Plug" และตัวไหนคือ "Tube"

รูปที่ ๔ ตัวซ้ายและขวาคือชิ้นส่วนสำหรับปิดช่องเปิดของระบบ Tube ตัวซ้ายเป็นเกลียวตัวผู้สวมเข้ากับหัว Nut ส่วนตัวขวามีลักษณะเป็นหัว Nut ขันเข้ากับเกลียวตัวเมีย

 

รูปที่ ๕ ชิ้นส่วนทั้งสองเมื่อทำการขันประกอบเข้าไป

ในรูปที่ ๔ และ ๕ นั้น ตัวซ้ายคือ "Cap" ส่วนตัวขวาคือ "Plug" คือในกรณีของ "Tube" นั้น ตัว Cap จะประกอบด้วยตัว Nut (ที่มีชุด ferrule หรือตาไก่อยู่ข้างใน) และตัวชิ้นส่วนที่หน้าตาเหมือนกับ Plug ของ Pipe นั้น (คือเป็นชิ้นส่วนที่เป็นเกลียวตัวผู้) ประกอบมาด้วยกัน ในการประกอบเราก็จะเอา Tube นั้นเสียบเข้าไปในตัว Nut แล้วก็ขันตามขั้นตอนที่ผู้ผลิต tube fitting กำหนด ตัว Nut และ ferrule ก็จะอยู่ที่ตัวท่อ เวลาถอดก็จะขันเอาเฉพาะส่วนที่หน้าตาเหมือนกับ Plug ของ Pipe ออกมา ดังนั้นผมว่าจึงไม่แปลกที่คนที่ชินกับ Pipe จะเรียกชิ้นส่วนนี้ว่า Plug เพราะหน้าตาชิ้นส่วนของ Cap สำหรับ Tube ที่ถอดออกมาแล้ว มันเหมือนกันบ Plug ของ Pipe

ส่วนตัว "Plug" ของ Tube นั้นมันจะมาในรูปแบบเหมือนหัว Nut ที่แสดงในรูปที่ ๔ เวลาใช้งานก็จะสวมมันเข้ากับเกลียวตัวผู้และขันเข้าไป (แบบเดียวกับการประกอบ Cap ของ Pipe) เวลาถอดออกก็ถอดออกมาเป็นชิ้นส่วนเดียวเหมือนเดิม ไม่มีการแยกชิ้นออกมาเหมือนกับกรณีของ Tube cap (ที่ถอดออกมาได้เฉพาะส่วนหัวเท่านั้น)

ผมลองตรวจสอบแคตตาล็อก tube fitting สองยี่ห้อที่ใช้อยู่คือ Swagelok และ Gyrolok (รูปที่ ๖ - ๘) ก็พบว่าเขาก็เรียกเหมือน ๆ กัน


รูปที่ ๖ Tube cap และ Tube plug จากแคตตาล็อก Swagelok 

รูปที่ ๗ Tube cap จากแคตตาล็อก Gyrolok

รูปที่ ๘ Tube plug จากแคตตาล็อก Gyrolok

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ชื่ออุปกรณ์ที่เรียกในระบบหนึ่งนั้น อาจสลับความหมายกันได้ในระบบที่คล้ายกัน

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

โปสเตอร์เตือนให้ผู้ใช้รถไฟระวังอันตราย MO Memoir : Sunday 1 May 2565

โปสเตอร์เตือนให้ระวังอันตรายเวลาโดยสารรถไฟหรืออยู่บริเวณใกล้ทางรถไฟเนี่ยเห็นมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เห็นมีข่าวว่าจะเอาโปสเตอร์เก่า ๆ เหล่านี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์ใหม่ ทำให้รู้ว่าโปสเตอร์เหล่านี้ผลิตขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ นับถึงวันนี้ก็ ๕๗ ปีแล้ว วันที่แวะไปที่สถานีนครชัยศรีก็เห็นมีใส่กรอบแขวนไว้ในบริเวณที่พักนักรอรถไฟ ก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย ด้วยการที่เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายจากกรอบที่ติดอยู่สูง ภาพมันก็จะเบี้ยว ๆ หน่อย แต่ถ้าอยากได้ภาพที่เป็นรูปสี่เหลื่อมดูดีก็ลองไปดูได้ที่นี่ครับ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000094008

อาจเป็นด้วยที่เส้นทางรถไฟมีมาก่อนถนน และแนวทางรถไฟมักจะยกสูงเพื่อให้ใช้งานได้ตลอดทั้งปีแม้ในฤดูน้ำหลาก (ยกเว้นปีที่มีน้ำมากจริง ๆ) จึงทำให้มีการใช้ทางรถไฟเป็นแนวทางเดินของผู้คนที่อยู่ใกล้กับทาง และด้วยแนวทางรถไฟและบริเวณตัวสถานีรถไฟของบ้านเราไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด คนสามารถเดินทางตัดผ่านบริเวณไหนก็ได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ภาพโปสเตอร์เตือนภัยจึงอาจนับว่าเป็นบันทึกเรื่องราวพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของคนในอดีต ไม่ว่าจะมีการใช้ทางรถไฟเป็นที่เลี้ยงสัตว์ การนอนบนรางรถไฟ การนั่งโดยสารบนหลังคารถ การห้อยโหนบริเวณประตูตู้รถไฟ ฯลฯ

รูปหัวรถจักรที่ถ่ายที่สถานีนครชัยศรีข้างล่าง เป็นหัวรถจักรขบวนรถน้ำตก-ธนบุรี ระหว่างกำลังแล่นเข้าจอดที่สถานี ลองสังเกตดูนะครับว่ามีหัวรถจักรหน้าตาแบบนี้ในโปสเตอร์รูปใดบ้าง

วันนี้แต่ละรูปคงไม่มีคำบรรยาย เพราะคำบรรยายนั้นอยู่ในแต่ละรูปแล้ว