วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟ Kamakurakokomae MO Memoir : Friday 22 September 2566

จุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟในโลกนี้มีไม่รู้กี่ที่ แต่ด้วยการ์ตูนเรื่องเดียวจึงทำให้มีคนจากหลากหลายมุมโลกมาถ่ายรูปที่นี่ (รวมทั้งผมด้วย ในฐานะคุณพ่อที่ไปเที่ยวเป็นเพื่อนลูก)

ตอนแรกเห็นโปรแกรมลูกที่จะไป Kamakura ก็นึกเพียงแค่ว่าจะได้ไปเยี่ยมชมพระพุทธรูปที่นั่นอีกครั้งหลังจากที่ไปมาครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๙ (ก็ ๒๗ ปีมาแล้ว) การเดินทางเริ่มจากนั่ง JR จากโตเกียวไปจนถึง Kamakura แล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟท้องถิ่นสาย Enoshima เพื่อไปยังสถานี Kamakurakokomae

สถานีนี้มีเพียงชานชาลาเดียว อยู่ติดถนนเลียบชายฝั่งทะเล แต่ทางด้านตะวันออกของสถานีจะมีรางให้รถสับหลีกกัน รถที่มาจากฝั่งตะวันออกต้องรอให้รถที่มาจากฝั่งตะวันตกเข้าเทียบสถานีและส่งผู้โดยสารก่อน พอขบวนนั้นผ่านไปแล้วรถที่มาจากฝั่งตะวันออกจึงจะเข้าสู่สถานีได้ จุดตัดที่เป็นจุดยอดนิยมที่คนมาถ่ายรูปกันก็อยู่ตรงปากทางเข้าสถานีด้านตะวันออก (ที่เป็นทางเข้า-ออกหลัก) วันที่ไปนั้นมีคนมายืนรอเต็มไปหมดจนเจ้าหน้าที่ต้องมาบอกคอยให้ช่วยหลบไปจากผิวการจราจร โดยเฉพาะช่วงที่รถไฟกำลังจะผ่าน จะมีคนออกมายืนรอถ่ายรูปกันกลางถนน เพื่อให้ได้บรรยากาศดังภาพในการ์ตูนข้างล่าง

อันที่จริงที่นี่นอกจากจุดตัดทางรถไฟนี้ก็ยังมีสันกำแพงทางเดินริมทะเลอีกที่หนึ่งที่ใช้เป็นฉากปั่นจักรยานบนสันกำแพง แต่จุดนี้ไม่ใกล้สถานีรถไฟ ต้องเดินเลียบไปไกลหน่อย ก็เลยไม่ค่อยมีคนไปเท่าใดนัก

Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นบันทึกความทรงจำของตนเอง ว่าไปทำอะไรที่ไหนมาด้วยเหตุผลใด

รูปที่ ๑ รูปจุดตัดทางรถไฟที่เมือง Kamakura ที่ปรากฏในมังงะเรื่อง Slam Dunk ที่ต่อมากลายเป็นจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน

รูปที่ ๒ ทางเข้า-ออกหลักของสถานีที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นทางเดินเท้า

รูปที่ ๓ เดินมาจนสุดทางเจอถนน ก็คือจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน ที่ต่างกำลังรอจังหวะรถไฟวิ่งผ่าน

รูปที่ ๔ ส่วนผมเองขอเดินถ่ายรูปเก็บบรรยากาศตัวสถานี รูปนี้พอข้ามทางรถไฟก็เดินไปทางทิศตะวันตกวนกลับไปที่ตัวสถานีใหม่ โดยถนนอยู่อีกฟากของราง

รูปที่ ๕ มองย้อนกลับไปยังจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน ตรงมุมขวาบนที่มีคนยืนอยู่เยอะ ๆ

รูปที่ ๖ ตัวอาคารสถานีตรงทางเข้าด้านทิศตะวันออก 

รูปที่ ๗ เดินมาสุดปลายสถานีด้านทิศตะวันตก ตรงนี้ก็มีทางขึ้น-ลงด้วยสำหรับผู้ใช้บัตร แต่ถ้าจะซื้อตั๋วต้องไปเข้าอีกทางด้านหนึ่ง

รูปที่ ๘ บรรยากาศบริเวณตอนกลางตัวสถานี

รูปที่ ๙ ชายหาดฝั่งตรงข้ามสถานี รูปนี้มองไปยังทิศตะวันตก

รูปที่ ๑๐ หาดทรายเดียวกันเมื่อมองกลับไปยังทิศตะวันออก

รูปที่ ๑๑ กำลังจะข้ามกลับไปยังฝั่งสถานี ก็มีรถไฟออกจากสถานีพอดี

รูปที่ ๑๒ จังหวะรถไฟวิ่งผ่านจุดตัดขวัญใจมหาชน ที่เขาถ่ายรูปกันคืออีกฝั่งหนึ่ง ไม่ใช่ฝั่งนี้

รูปที่ ๑๓ พอขบวนนั้นวิ่งออกไป ขบวนใหม่ที่รอหลีกอยู่ก็วิ่งเข้ามา

รูปที่ ๑๔ ป้ายชื่อสถานีบนชานชาลา ถ่ายเก็บเอาไว้ระหว่างรอรถไฟ

รูปที่ ๑๕ มองจากชานชาลาไปยังทิศตะวันตก

รูปที่ ๑๖ ในที่สุดรถไฟที่รออยู่ก็มาแล้ว (หมายเหตุ : เวลาที่ปรากฏในรูปเป็นเวลาเมืองไทยที่ช้ากว่าท้องถิ่นสองชั่วโมงเศษ เป็นเพราะไม่ได้ตั้งเวลาให้ตรงกับที่เมืองไทยและญี่ปุ่น)

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๖ เส้นใยคาร์บอน (Carbon fibre) MO Memoir : Friday 15 September 2566

คำว่า "เส้นใย" ในภาษาอังกฤษถ้าสะกดแบบ British ก็จะเป็น "fibre" แต่ถ้าสะกดแบบ Amecican ก็จะเป็น "fiber" ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาเกริ่นก่อนก็เพราะใน EU List ใช้การสะกดแบบ British ดังนั้นถ้าใครค้นหาด้วยตัวสะกดแบบ American ก็จะหาไม่เจอ

ในเรื่องของตัวเลขนั้น เราใช้ลูกน้ำ (comma) ในการแบ่งตัวเลขหน้าจุดทศนิยมที่มีมากกว่า 1 หลัก และใช้จุดทศนิยม (decimal point) บ่งบอกจำนวนที่น้อยกว่า 1 แต่ใน EU List (ซึ่งก็เป็นทางยุโรป) จะใช้ลูกน้ำแทนจุดทศนิยม และใช้การเว้นช่องว่างแทนลูกน้ำ อย่างเช่นตัวเลข 10,000.14 ที่เราเขียนกัน ใน EU List จะเขียนเป็น 10 000,14

เส้นในคาร์บอน (carbon fibre) เป็นวัสดุตัวหนึ่งที่มักถูกยกมาเป็นตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดยบอกว่าเป็นวัสดุที่ใช้ทำไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ และก็ยังมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเส้นใยคาร์บอน "ทุกชนิด" เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง มันจะเป็นก็ต่อเมื่อมันมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นมักจะ "สูงเกินจำเป็น" สำหรับการใช้งานทั่วไป แบบเดียวกับท่ออะลูมิเนียมที่จะเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ต่อเมื่อท่อนั้นมันมีคุณสมบัติด้านการรับแรงที่เป็นไปตามข้อกำหนด

ดังนั้นวันนี้จะมาลองดูกันว่าคำว่าเส้นใยคาร์บอนหรือที่เรียกใน EU List ว่า carbon fibre นั้นมีปรากฏในหัวข้อได้บ้าง โดยอิงจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๔) (อันที่จริงมันมีฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๒ ออกมาแล้วนะ)

รูปที่ ๑ หัวข้อนี้กล่าวถึง "อุปกรณ์" ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือตรวจสอบวัสดุคอมพอสิต (ที่เส้นใยคาร์บอนก็เป็นหนึ่งในวัสดุคอมพอสิต"

ที่แรกที่คำว่า "carbon fibre" ปรากฏคือหัวข้อ 1B001 (รูปที่ ๑) ที่เกี่ยวข้องกับ "อุปกรณ์" ที่ใข้ในการผลิตเส้นใย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของเส้นใย

คุณสมบัติของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้นไปปรากฏในหัวข้อ 1C010 (รูปที่ ๒) ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านความแข็งแรงของเส้นใย โดยดูจากพารามิเตอร์ 2 ตัวคือ "specific modulus' และ "specific tensile strength" ซึ่งนิยามของพารามิเตอร์ 2 ตัวนี้ต้องไปดูในส่วน "Definitions of terms used in this annex" (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๒ หัวข้อ 1C010 เป็นหัวข้อที่กำหนดความแข็งแรงของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

นิยามของ "Specific modulus" คือค่า Young's modulus (N/m2) หารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร (N/m3) ณ อุณหภูมิและค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่กำหนด (ค่า Young's modulus คือค่าอัตราส่วนความเค้นต่อความเครียด บอกให้รู้ว่าวัสดุนั้นมีความต้านทานในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมากน้อยแค่ไหน วัสดุที่มีค่านี้ต่ำก็จะยืดตัวหรือดัดโค้งงอได้ง่ายหรือเรียกว่ามีความอ่อน)

ส่วนนิยามของ "Specific tensile strength" คือค่า Ultimate tensile strength หารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร (N/m3) ณ อุณหภูมิและค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่กำหนด (ค่า Ultimate tensile strength คือค่าแรงต่อหน่วยพื้นที่หรือค่าความเค้น ที่วัสดุนั้นจะรับได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย)

ที่ต้องหารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตรก็เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าเส้นใยเส้นนั้นมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด ที่ความสามารถในการรับแรงดึงเท่ากัน เส้นใยที่มีน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตรน้อยกว่า (คือเส้นเล็กกว่า) ก็จะเป็นเส้นใยที่แข็งแรงกว่า

รูปที่ ๓ นิยามของ "specific modulus' และ "specific tensile strength" ที่ระบุไว้ในส่วน "Definitions of terms used in this annex"

ทีนี้มาดูหัวข้อ 1C010 ต่อ (รูปที่ ๔) ข้อ 1C010.a. กล่าวถึงเส้นใยที่เป็น "สารอินทรีย์" ใด ๆ (ครอบคลุมเส้นใยคาร์บอนด้วย) ที่มีค่า Specific modulus "และ" ค่า Specific tensile strength สูงเกินค่าที่กำหนดไว้ คือคุณสมบัติต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองข้อ จะเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวไม่ได้ แต่ทั้งนี้ยกเว้นเส้นใยที่ทำจากพอลิเอทิลีน

ข้อ 1C010.b. นั้นเฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอน (รูปที่ ๔) ที่มีค่า Specific modulus "และ" ค่า Specific tensile strength สูงเกินค่าที่กำหนดไว้ คือคุณสมบัติต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองข้อ จะเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน คือถ้ามีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในส่วน Note ข้างใต้ ก็จะไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดย Note ข้อ a. นั้นไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นเส้นใยชนิดใด (ถ้าว่ากันตามนี้ก็น่าจะครอบคลุมเส้นใยสารอินทรีย์ทุกตัว) ในขณะที่ Note ข้อ b. นั้นระบุเฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอน (พึงสังเกตว่าในเอกสารนั้นมีการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กทั้งในรูปแบบตัวพิมพ์และตัวเอียง (เช่น a กับ a) เพื่อแยกระดับรายการย่อยในแต่ละหัวข้อ)

รูปที่ ๔ ข้อกำหนดความแข็งแรงของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กรณีของเส้นใยใด ๆ ที่มีความแข็งแรงสูงเกินค่าที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 1C010.a. (ซึ่งมีความแข็งแรงต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 1C010.b.) มันก็จะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางตามข้อ 1C010.a. ไปแล้ว แล้วทำไมจึงต้องมีหัวข้อ 1C010.b. ที่เฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอนอีก ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน คงต้องให้ผู้ชำนาญการทางด้านเส้นใยพอลิเมอร์มาเป็นผู้อธิบาย

หัวข้อสุดท้ายที่พบว่ามีคำ "carbon fibre" ปรากฏคือหัวข้อ 1C010.e. (รูปที่ ๕) ที่เกี่ยวข้องกับ "ชิ้นงาน" (ทั้งในรูปแบบ prepeg และ preform) สำหรับนำไปขึ้นรูปเป็นชิ้นงานอื่น หัวข้อนี้ครอบคลุมเส้นใยทั้งชนิดที่เป็นสารอินทรีย์และเส้นใยคาร์บอน ไม่รวมเส้นใยที่เป็นสารอินทรียชนิดอื่น เพราะถ้าพิจารณาจากคุณสมบัติที่ระบุไว้คือต้องเข้าเกณฑ์ทั้งข้อ 1C010.e.1. และ 1C010.e.2. โดยเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.a. นั้นระบุเพียงแค่เส้นใยที่เป็นสารอนินทรีย์ ในขณะที่เกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.b. นั้นระบุเฉพาะเส้นใยคาร์บอน (ที่เป็นสารอินทรีย์) ดังนั้นเส้นเส้นใยที่เป็นสารอินทรีย์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่เส้นใยคาร์บอนซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.a. อยู่แล้ว จึงไม่ถูกควบคุมไว้ด้วยเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.b. ด้วย

รูปที่ ๕ หัวข้อ 1C010.e. ตรงนี้จะเป็นส่วนของชิ้นงานที่ทำขึ้นจากการนำเอาเส้นใยไปขึ้นรูปเพื่อใช้เป็นวัสดุดิบสำหรับขึ้นรูปชิ้นงานอื่นต่อไป

จะเห็นว่า ไม้เทนนิส, ไม้กอล์ฟ หรืออุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ นั้น แม้ว่าจะทำขึ้นจากเส้นใยที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด แต่ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเขาไม่จัดให้เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เพราะมันไม่สามารถแยกเอาเส้นใยออกไปทำอย่างอื่นได้

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

MO Memoir รวมบทความชุดที่ ๒๘ เคมีสำหรับวิศวกรเคมี MO Memoir : Wednesday 6 September 2566

ก็เรียกว่าผ่านไป ๗ ปีเศษกว่าจะมีรวมเล่มเรื่องราวเกี่ยวกับเคมีออกมาอีกครั้งหนึ่ง ก็จัดเป็นรวมเล่มฉบับที่สามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาเคมีที่ใช้สอนนิสิตปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รวม ๆ กันสามเล่มก็เกือบ ๗๐๐ หน้ากระดาษ A4 (แต่เนื้อหาที่เป็นรูปภาพก็เยอะอยู่เหมือนกันนะ ไม่ได้เต็มไปด้วยตัวอักษร)

สำหรับผู้ที่เรียนอยู่ก็มักจะสงสัยว่าที่เรียนไปเอาไปใช้ประโยชน์ตรงไหน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานอยู่ก็มักจะสงสัยว่าต้องเอาความรู้เรื่องไหนตอนที่เรียนมาใช้ทำความเข้าใจงานที่กำลังทำ ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าหลายบทความที่ได้เขียนลง blog และนำมารวมไว้ในรวมเล่มฉบับนี้จะช่วยให้แต่ละฝ่ายเข้าใจว่าที่เรียนไปนั้นเอาไปใช้ทำอะไร และงานที่กำลังทำอยู่นั้นต้องนำความรู้ตรงไหนที่เรียนมามาใช้ทำความเข้าใจ

การเขียนสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้เราเข้าใจ ให้ออกมาเป็นตัวอักษรนั้น มันช่วยทำให้เราเห็นว่าอันที่จริงแล้วเราเข้าใจสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้จักมันดีนั้น เรารู้จักมันดีจริงหรือเปล่า เพราะการเขียนมันทำให้สามารถมองเห็นข้อข้ดแยังในสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ดีแล้วนั้นได้ชัดเจนขึ้น

ในทำนองเดียวกัน การลงมือปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็นว่าถ้าจะนำเอาความรู้ภาคทฤษฎีที่ร่ำเรียนกันมานั้นไปใช้งานจริง มันต้องมีการปรับแต่งอะไรบ้าง เพราะมันมีอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงในภาคทฤษฎี แต่ผู้ลงมือปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องรู้เพื่อที่จะนำทฤษฎีที่เรียนมานั้นมาประยุกต์ใช้งานให้ได้ผลและปลอดภัย

ปีหน้าก็จะครบรอบ ๓๐ ปีของการสอนแลปเคมี โดยเริ่มสอนตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงาน และสอนต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี และคงจะสอนต่อจนเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เริ่มจากห้องแลปโทรม ๆ ที่ไม่ได้รับการดูแล จนกระทั่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่

ถึงแม้เรื่องที่สอนนั้นจะซ้ำเดิม แต่ด้วยผู้เรียนที่เปลี่ยนใหม่ทุกปี มันก็ทำให้มีเรื่องราวใหม่ ๆ ให้ผู้สอนได้เรียนรู้ทุกปีเช่นกัน

ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่ลิงก์นี้


 

 

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟ Hase MO Memoir : Saturday 2 September 2566

การเดินทางเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากลงมาจากฮอกไกโดก็มาพักค้างที่เมืองหลวง และใช้เวลาหนึ่งวันไปตามรอยมังงะเรื่อง Slam Dunk ที่ลูกสาวคนโตอยากแวะไปดู (ว่าแต่การ์ตูนเรื่องนี้มันจบไปก่อนหนูเกิดอีกนะ) โดยนั่งรถไฟไปที่คามาคุระก่อนตั้งแต่เช้า หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จก็อาศัยรถไฟท้องถิ่นไปยังสถานที่ที่ใช้เป็นฉากในการ์ตูน

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยหรือเปล่า (แถมอากาศดีอีกต่างหาก) ทั้งเมืองเลยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งคนญึ่ปุ่นและต่างชาติ ขึ้นรถไฟท้องถิ่นที่สถานีไหนก็คนเต็มตลอดไม่ว่าจะเป็นที่ตัวชานชาลาหรือตัวรถ

หลังจากตามล่าหามุมที่ใช้เป็นฉากปั่นจักรยานบนสันกำแพงกั้นระหว่างถนนกับทะเลได้แล้ว จุดถัดไปคือจุดทางข้ามรถไฟ ซึ่งต้องนั่งรถไฟไปยังอีกสถานีหนึ่ง (สถานี Kamakurakokomae ที่มีฉากจุดตัดถนนกับทางรถไฟ) โดยต้องเดินกลับมาขึ้นรถที่สถานีรถไฟ Hase

ตอนเดินเลียบฝั่งทะเลมายังสถานีก็ไม่ค่อยมีคนเท่าไรนัก แต่ที่ตัวสถานีระหว่างรอรถไฟก็มีคนมาใช้บริการเยอะเหมือนกัน

ถ่ายรูปสถานีรถไฟเมืองไทยไว้หลายสถานีแล้ว วันนี้เป็นบรรยากาศสถานีรถไฟที่ประเทศญี่ปุ่นบ้าง ที่เอามาเขียนไว้ก็เพื่อจะได้ไม่ลืมว่าวันนั้นผ่านไปแถวนั้นด้วยเหตุผลอะไรแต่นั้นเอง

(หมายเหตุ : เวลาที่กล้องบันทึกในรูป ช้ากว่าเวลาท้องถิ่นสองชั่วโมงเศษ)

รูปที่ ๑ ทางเข้าอาคารสถานี

รูปที่ ๒ ตอนเดินมาสถานี มีรถสองขบวนจอดรอหลีกกันอยู่พอดี เลยขอถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกหน่อย ประแจที่เห็นข้างหน้าที่ด้านซ้ายมีตัวอักษร S บนป้ายฟ้าและมีเส้นพาดกลาง เป็นประแจแบบที่เรียกว่า spring swith หรือ spring loaded switch

รูปที่ ๓ ขบวนหนึ่งออกไปแล้ว อีกขบวนก็กำลังวิ่งออกเช่นกัน ถ้าสังเกตทิศทางที่ประแจมันเปิดอยู่ มันจะให้รถที่วิ่งจากมุมล่างของภาพออกไปทางซ้าย แต่รถที่วิ่งตรงลงมานั้นล้อมันจะดันให้ประแจเปิดให้รถวิ่งผ่านได้

รูปที่ ๔ ถ่ายรูปทักทายคนขับหน่อย

รูปที่ ๕ รถไฟผ่านไปแล้ว ทางเปิดให้คนและรถผ่านทางได้

รูปที่ ๖ เส้นทางที่รถไฟขบวนดังกล่าวมุ่งหน้าไป

รูปที่ ๗ ถ่ายรูป spring switch เก็บไว้เป็นที่ระลึกหน่อย

รูปที่ ๘ มาอยู่ในสถานีแล้ว ที่ปลายชานชาลาฝั่งนี้จะมีทางให้เดินข้ามไปยังชานชาลาอีกฝั่งหนึ่ง (ทางเดินที่เห็นอยู่ก่อนถนนที่มีรถวิ่ง

รูปที่ ๙ สุดปลายชานชาลาอีกฟากหนึ่ง

รูปที่ ๑๐ ฝั่งนี้ก็ติดกับถนน มีรั้วกั้นเพื่อบอกไม่ให้คนใช้เป็นทางผ่านเข้า-ออก (ถ้าเป็นบ้านเราเปิดโล่งแบบนี้คงมีคนใช้เป็นทางลัดแน่ ๆ