วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๑ ไม่ตรงตามตัวอักษร (Aluminium tube) MO Memoir : Friday 23 August 2567

สินค้าใดเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) ก็ต้องไปดูว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน EU List หรือไม่ (ฉบับล่าสุด ณ เวลานี้เป็นฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๓) แต่การค้าขายระหว่างประเทศนั้นจะจำแนกสินค้าด้วย HS code หรือ CN code (อันหลังนี้ของสหภาพยุโรป) ที่มองสินค้าเป็นชิ้นทั้งตัว ไม่ได้มองลึกลงไปถึงชิ้นส่วนประกอบย่อย เช่นถ้าส่งออกยางรถยนต์ ก็จะมี HS code ของยางรถยนต์ แต่ถ้าส่งออกรถยนต์ทั้งคัน (ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมียางล้อรถด้วย) จะใช้ HS code ของรถยนต์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะส่งสินค้า DUI ออกไปในรูปของสินค้าอื่น ที่มีชิ้นส่วน DUI เป็นส่วนประกอบอยู่ภายใน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการทำ correlation table เพื่อช่วยในการตรวจสอบว่า ชิ้นส่วน DUI แต่ละชิ้นนั้นมันมีโอกาสไปอยู่ในสินค้าในหมวด HS code ใดบ้าง แต่ก็ใช่ว่าการเทียบเคียงนี้จะสามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด

รูปที่ ๑ คุณสมบัติท่ออะลูมิเนียมที่เป็นสินค้า DUI อยู่ในหมวด 1C202a. ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์

ตัวอย่างเช่นท่ออะลูมิเนียมที่เป็นสินค้า DUI ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ 1C202.a (รูปที่ ๑) ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ (คือมี Regiem origin มาจาก Nuclear Supplier Group หรือ NSG) ซึ่งท่อแบบนี้ก็มีโฆษณาขายทั่วไปในอินเทอร์เน็ตดังแสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่างที่บอกว่าเป็นเกรดสำหรับอากาศยาน

รูปที่ ๒ คุณลักษณะของท่ออะลูมิเนียม 7075 T6 ที่เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI เนื่องจากรับแรงดึงได้สูง

ถ้านำท่ออะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติตาม EU List 1C202.a ไปค้นในตารางเทียบ HS code (หรือ CN code) ก็จะพบว่าสินค้า DUI นี้อาจถูกส่งออกเป็นสินค้าในหมวด HS code 760820 ดังแสดงในตารางที่ ๑ ข้างล่าง

ตารางที่ ๑ รายการ HS code ที่อาจเป็นสินค้า EU List 1C202.a

CN code 2024

HS code

EU List

Details

7608208100

760820

1C202a

Extruded aluminium tubes and pipes

7608208900

760820

1C202a

Aluminium alloy tubes and pipes

หมายเหตุ : ท่อโลหะที่ใช้กันมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกผลิตจากการนำเอาแผ่นโลหะมาม้วนเป็นรูปทรงกระบอกและเชื่อมตรงรอยเชื่อม จากนั้นจึงขัดผิวรอยเชื่อมด้านนอกให้เรียบ แต่จะยังสามารถมองเห็นแนวรอยเชื่อมได้จากผิวท่อด้านใน ท่อแบบนี้จะตรงกับรหัส CN code 7608208900 ในตารางที่ ๑ ท่อแบบที่สองเป็นท่อที่ไม่มีแนวรอยเชื่อม เรียกว่าท่อ seamless เทคนิควิธีการหนึ่งในการขึ้นรูปท่อแบบนี้ทำโดยการนำเอาแท่งโลหะร้อนมาอัดผ่านแม่แบบเพื่อให้โลหะที่ไหลผ่านแม่แบบออกมามีรูปร่างดังต้องการ ท่อ seamless นี้จะมีความแข็งแรงมากกว่าท่อที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการแรก

คำว่า "tube/pipe" หรือ "rod" หรือ "bar" หรือ "slab" มันมีความหมายแตกต่างกันอยู่ "tube/pipe" มีลักษณะเป็นท่อกลวง ในขณะที่ "rod" เป็นทรงกระบอกตัน ส่วน "bar" นั้นมักใช้กับรูปทรงตันที่ไม่ใช่ทรงกระบอก เช่นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า ส่วน "slab" นั้นจะหมายถึงรูปทรงที่ยาวแบน (ในทางวิศวกรรมเอง "tube" กับ "pipe" ก็ไม่เหมือนกัน มีมาตราฐานกำกับที่แตกต่างกัน)

ทีนี้ ถ้ามองว่าท่ออะลูมิเนียมดังกล่าวไม่ใช่ท่อ แต่เป็นชิ้นงานโลหะผสม (ที่ผู้ใช้สามารถเอาไปเปลี่ยนรูปร่างเป็นสินค้าอื่น) ก็อาจมองว่าท่ออะลูมิเนียมนี้ก็จะเข้าข่าย EU List รายการ 1C002.b.4 ดังแสดงในรูปที่ ๓ ข้างล่างได้

รูปที่ ๓ คุณสมบัติโลหะผสมอะลูมิเนียมที่เป็นสินค้า DUI อยู่ในหมวด 1C002.b.4. ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์

พอเอา EU List 1C002.b ไปค้นดูว่ามันมีโอกาสไปอยู่ใน HS code ไหนได้บ้าง ก็พบว่ามีปรากฏขึ้นมา 16 รายการ (ตารางที่ ๒) แต่ตัวที่เกี่ยวข้องกับอลูมิเนียมที่เป็นท่อนยาวกลมก็จะมีอยู่รายการเดียวคือ HS code 760429 แต่พอดูในรายละเอียดก็ไม่เห็นระบุว่าครอบคลุม 'tube/pipe" ด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะในกรณีของ "tube/pipe" นั้นมันระบุไว้ใน HS code 760820 อยู่แล้ว และถ้าสินค้าตัวเดียวกัน ได้รับการะบุด้วย HS code สองตัวขึ้นมา ก็คงจะวุ่นน่าดูว่าจะให้ใช้ code ตัวไหนในการคำนวณหาพิกัดภาษี

ตารางที่ ๒ รายการ HS code ที่อาจเป็นสินค้า EU List 1C002.b

CN code 2024

HS code

EU List

Details

7202910000

720291

1C002b

Ferro-Tungsten, High-Purity Ferro-Tungsten, Ferro-Silico-Tungsten, Tungsten-Rich Ferroalloy, Industrial Grade Ferro-Tungsten, Metallurgical Ferro-Tungsten Lump, Iron-Tungsten Ferroalloy Powder, Silicon-Tungsten-Iron Alloy Lump, Steelmaking Additive Ferro-Tungsten and Tungsten-Based Ferroalloy Briquettes

7502200000

750220

1C002b

Fine Nickel Powder, Pure Nickel Flakes, Nickel Metal Powder, Electrolytic Nickel Powder, Carbonyl Nickel Powder, Atomized Nickel Powder, Spherical Nickel Powder, Conductive Nickel Flakes, Micronized Nickel Powder and Nickel Alloy Powder

7503009000

750300

1C002b

Nickel Alloy Scrap, Pure Nickel Solids Scrap, Nickel Turnings and Shavings, Nickel-Copper Alloy Scrap, Used Nickel Catalysts, Spent Electroplating Nickel Solutions, Nickel-Containing Steel Scrap, Nickel Battery Scrap, Nickel Screen Scrap and Nickel Filter Cake Residue

7505120000

750512

1C002b

Nickel-Chromium Alloy Wire, Nickel-Copper Alloy Wire, Nickel-Iron-Chromium Alloy Wire, Nickel-Molybdenum Alloy Wire, Pure Nickel Alloy Wire, High-Performance Nickel Alloy Wire, Corrosion-Resistant Nickel Alloy Wire, Heat-Resistant Nickel Alloy Wire, Electrical Resistance Nickel Alloy Wire and Cold-Drawn Nickel Alloy Wire

7505220000

750522

1C002b

Nickel-Chromium Alloy Wire, Nickel-Copper Monel Wire, Heat-Resistant Nickel Alloy Wire, Corrosion-Resistant Nickel Wire, High-Purity Nickel Wire, Nickel-Iron Invar Alloy Wire, Nickel-Molybdenum Alloy Wire, Cold-Drawn Nickel Wire, Nickel-Titanium Shape Memory Alloy Wire and High-Temperature Nickel Superalloy Wire

7506200000

750620

1C002b

Nickel Alloy Sheet, Nickel Alloy Plate, Nickel Alloy Strip, Nickel-Copper Alloy Foil, High-Performance Nickel Alloy Sheet, Corrosion-Resistant Nickel Plate and Heat-Resistant

7601203000

760120

1C002b

Aluminum Alloy Ingots – Primary form for casting or further processing., Aluminum Billets – Precursor shapes for extrusion or other forming processes. and Aluminum Alloy Slabs – Often used as the starting material for rolling processes.

7601204000

760120

1C002b

Unwrought aluminium Aluminium alloys Billets

7601208000

760120

1C002b

Unwrought Aluminium Alloys Excluded Slabs

7602009000

760200

1C002b

Aluminum Extrusion Scrap, Aluminum Wheel Scrap, Aluminum Wire Scrap, Aluminum Can Scrap, Aluminum Shavings Scrap, Aluminum Sheet Scrap, Aluminum Casting Scrap, Aluminum Taint Tabor Scrap, Aluminum Turnings Scrap and Aluminum UBC

7604291000

760429

1C002b

Aluminum Alloy Round Bar 6061-T6, Extruded Aluminum Alloy Square Rod 2024-T351, 7075 Aluminum Flat Bar, T651 Temper, Aluminum Hex Bar 6063-T5, 6082 T6 Aluminum Structural Alloy Profile, 5052 Aluminum Rectangular Bar for Fabrication, Aerospace Grade 2014 Aluminum Rod, T3 Temper 7020 Aluminum Alloy Bar for Machining, Extruded Aluminum Alloy 5083 Rod, Marine Grade and High-Strength Aluminum Bar 7075-T7351 for Industrial Use

7616999000

761699

1C002b

Aluminum Nameplates - Used for labeling and branding, nameplates can be affixed to products, machinery, or even buildings., Aluminum Toolboxes - Durable boxes for storing and transporting tools, often used by tradespeople., Aluminum Cookware Components - Handles, lids, and other parts for cookware made from aluminum. and Aluminum Heatsinks - Components

8104190000

810419

1C002b

Pure Tungsten Rods, Tungsten Ingots, Sintered Tungsten Bars, Polished Tungsten Bars, Unwrought Tungsten Billets, Tungsten Round Bars, Raw Tungsten Blocks, Tungsten Blanks, Swaged Tungsten Rods and High Purity Tungsten Metal

8108200000

810820

1C002b

Titanium Bars, Titanium Sheets, Titanium Plates, Titanium Powders, Titanium Ingots, Titanium Wire, Titanium Rods, Titanium Tubes/Pipes, Titanium Forgings, Titanium Scrap and Different countries might have more specific codes that further break down these categories. For actual trade purposes, one would also include dimensions, purity, grade, and any treatment or process the titanium has undergone, but these specifics are not part of HS Code classification.

8112922100

811292

1C002b

Beryllium, chromium, hafnium, rhenium, thallium, cadmium, germanium, vanadium, gallium, indium and niobium (columbium), and articles of these metals, including waste and scrap

8112924000

811292

1C002b

Beryllium, chromium, hafnium, rhenium, thallium, cadmium, germanium, vanadium, gallium, indium and niobium (columbium), and articles of these metals, including waste and scrap


ทีนี้แทนที่จะส่งออกท่ออะลูมิเนียมดังกล่าวโดยตรง ก็เปลี่ยนเป็นนำท่ออะลูมิเนียมดังกล่าวมาเป็นชิ้นส่วน tube ในเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) แบบ shell and tube (ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ผลิตไฟฟ้า เคมี และปิโตรเคมีต่าง ๆ) ทีนี้อุปกรณ์ตัวนี้จะเป็น DUI หรือไม่ก็ต้องไปดูคุณสมบัติที่ระบุไว้ในข้อ 2B350.d (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๔ คุณสมบัติเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นสินค้า DUI

ถ้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ส่งออกนั้นมีพื้นที่ผิวแลกเปลี่ยนความร้อนไมถึง 0.15 m2 หรือมากเกินกว่า 20 m2 มันก็จะไม่เข้าข่ายสินค้า DUI หรือแม้แต่พื้นที่ผิวแลกเปลี่ยนความร้อนอยู่ในช่วงดังกล่าว แต่ด้วยการที่ tube ทำจากอะลูมิเนียม (ที่เป็นสินค้า DUI) ก็ทำให้มันหลุดรอดจากนิยามสินค้า DUI ตามข้อกำหนดนี้ได้ ทีนี้พอเอา EU List 2B3.50d ไปค้นในรายการเทียบ HS code ก็พบว่ามีปรากฏ 11 รายการ แต่ที่ครอบคลุมเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบ shell and tube ก็เห็นมีอยู่รายการเดียวคือ HS code 841950

อันที่จริงเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นสินค้า DUI ยังมีระบุไว้ในข้อ 0A001 และ 0B001 อีก แต่สองรายการนี้มีการระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ออกแบบมาสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือโรงงานแยกไอโซโทปยูเรเนียมโดยเฉพาะ แต่ถ้าอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับพวกนี้มันก็จะกลายเป็นข้อ 2B350 แทน

ตารางที่ ๓ รายการ HS code ที่อาจเป็นสินค้า EU List 2B350.d

CN code 2024

HS code

EU List

Details

7020001000

702000

2B350d

Glass bulb for a thermos, or for other vacuum vessels: completed in production

7020003000

702000

2B350d

Other articles of fused quartz or fused silica other

7020008000

702000

2B350d

Other articles of glass since the coefficient of linear expansion of 0.000005 no more for k in the temperature range from 0 to 300 degrees celsius

7326909200

732690

2B350d

Other articles of iron or steel, forged

7326909400

732690

2B350d

Other articles of iron or steel pressed

7326909600

732690

2B350d

Other other articles from ferrous metals, sintered

7326909800

732690

2B350d

Other products from wire made of iron or steel, other

8108905000

810890

2B350d

Other pipes and tubes with attached fittings made of titanium, suitable for conveying gases or liquids, for civil aircraft

8419500000

841950

2B350d

Heat-exchange units (excl. those used with boilers)

8419891000

841989

2B350d

Cooling towers and similar plant for direct cooling (without a separating wall) by means of recirculated water

8419908500

841990

2B350d

Parts of machinery, plant and laboratory equipment, whether or not electrically heated, for the treatment of materials by a process involving a change of temperature, and of non-electric instantaneous and storage water heaters, n.e.s. (excl. of medical, surgical or laboratory sterilizers, those for the manufacture of semiconductor boules or wafers, semiconductor devices, electronic integrated circuits or flat panel displays, and of furnaces, ovens and other equipment of heading 8514)

ถ้าเช่นนี้จะถือว่าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเครื่องนี้ (ที่ใช้ tube ทำจากท่ออะลูมิเนียมที่เป็นสินค้า DUI) ไม่เข้าข่ายสินค้า DUI ได้ไหม คำตอบก็คือ "ไม่ใช่" เพราะใน EU List ก็ได้ทำการป้องกันไว้ด้วย General Notes to Annex I ข้อ 2. (รูปที่ ๕) ที่กล่าวถึงการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่มีชิ้นส่วนที่เป็นสินค้าควบคุมเป็นองค์ประกอบ ทำให้ต้องนำตัวสินค้าทั้งชิ้นดังกล่าวมาพิจารณาด้วยว่าสินค้าทั้งชิ้นนั้นเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงความยากง่ายในการถอดเอาชิ้นส่วนควบคุมนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมทั้งปริมาณ มูลค่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ อย่างเช่นกรณีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบ shell and tube ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ถ้าพิจารณา จำนวน tube, มูลค่า tube เมื่อเทียบกับราคาเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนทั้งเครื่อง และความง่ายในการถอด tube ออกมา (ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก) ก็ต้องถือว่าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนตัวนี้เป็นสินค้าควบคุมด้วย เนื่องจากมีชิ้นส่วนตามหัวข้อ 1C202.a.2

รูปที่ ๕ General notes to annex I ที่ใช้ในการป้องกันการซ่อนสินค้า DUI ไว้ในสินค้าที่ไม่ใช่ DUI

ถ้าเช่นนั้นเราจะดูได้อย่างไรว่าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนตัวดังกล่าวนั้น ผู้ใช้ต้องการเอาไปใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนจริง ไม่ได้ต้องการเอาไปเพื่อถอด tube ไปทำอย่างอื่น ตรงนี้ก็คงต้องไปดูที่สิ่งที่ผู้ซื้อบอกว่าต้องการเอาไปใช้ทำอะไร มันสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น ทำไมต้องใช้โลหะที่มีความแข็งแรงสูง หรือทนอุณหภูมิได้สูง หรือทนการกัดกร่อนได้สูง เกินความจำเป็นสำหรับการใช้งานที่อ้างว่าจะนำไปใช้

อย่างเช่นกรณีการส่งออกวาล์วที่ทนต่อการกัดกร่อนของฟลูออรีนไปใช้กับระบบคลอรีนที่เคยเล่าไว้ในเรื่อง "การเลือกวัสดุสำหรับ F2 และ HF" เมื่อวันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ จริงอยู่ที่วาล์วที่ทนฟลูออกรีนได้นั้นจะทนคลอรีนได้ เพราะฟลูออรีนมีฤทธิ์กัดกร่อนที่แรงกว่า แต่วาล์วที่ทนคลอรีนได้แต่ทนฟลูออรีนไม่ได้มันมีราคาถูกกว่าเยอะ

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2567

API 2000 Venting Atmospheric and Low-Pressure Storage Tanks (ตอนที่ ๑๓) MO Memoir : Saturday 17 August 2567

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน

เว้นไป ๔ เดือน พึ่งจะมีเวลามาเขียนเรื่องนี้ตอน ตอนนี้เป็นหัวข้อ 4.2.2 ถึง 4.4

โดยหัวข้อ 4.2.2 เป็นแนวทางเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ความดันในถังสูงเกิน โดยข้อ 4.2.2.1 เป็นการรวบรวมหัวข้อต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป ซึ่งได้แก่

a) การสูญเสียระบบทำความเย็น

b) ความร้อนที่เข้ามาเนื่องจากการใช้ปั๊มทำการหมุนเวียนของเหลว

c) การระเหยเนื่องจากความร้อนจากบรรยากาศภายนอกที่รั่วไหลเข้ามา

d) rollover (จะอธิบายโดยละเอียดอีกทีในหัวข้อ 4.2.2.5) และ

e) ความดันสูงเกินของที่ว่างรูปวงแหวนของถังที่มีผนังสองชั้น

รูปที่ ๑ หัวข้อ 4.2.2 ถึง 4.2.2.3

หัวข้อ 4.2.2.2 เป็นเรื่องของการสูญเสียระบบทำความเย็น การคำนวณภาระในการระบายความดันสูงเกินขึ้นอยู่กับชนิดของระบบทำความเย็นที่ใช้และขนาดความเสียหายของอุปกรณ์ที่อาจเกิดขึ้น สำหรับสถานการณ์การสูญเสียระบบทำความเย็น ควรต้องพิจารณาความร้อนที่ป้อนเข้าระบบในเวลาเดียวกันที่เป็นไปได้ทั้งหมด (ภายใต้สถานการณ์นั้น - ดูหมายเหตุ ๑) ให้ดูมาตรฐาน ISO 23251 (ดูหมายเหตุ ๒) เพื่อการคำนวณภาระในการระบายความดันเหล่านี้

หมายเหตุ

๑. ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "credible" ไม่ใช่ "possible" โดยความเห็นส่วนตัวแล้วถ้าจะให้ตีความ possible ก็คือทุกเหตุการณ์ที่มีความน่าจะเป็นมากกว่าศูนย์ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ แต่ในกรณีนี้ให้ดูเฉพาะเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้จริง

๒. มาตรฐาน ISO 23251 Petroleum, petrochemical and natural gas industries : Pressure-relieving and depressuring systems คือตัวเดียวกันกับ API RP 521

หัวข้อ 4.2.3 เป็นเรื่องของความร้อนที่เข้ามาเนื่องจากการใช้ปั๊มทำให้เกิดการไหลหมุนเวียน ในหัวข้อนี้กล่าวว่าในการทำงานของปั๊มนั้นพลังงานส่วนหนึ่งของปั๊มจะกลายเป็นพลังงานความร้อน ทำให้ของเหลวมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยทั่วไปความร้อนส่วนนี้จะถูกรวมเอาไว้ในการออกแบบระบบทำความเย็น แต่ถ้าไม่ถูกรวมเอาไว้ในการออกแบบระบบทำความเย็น ก็ต้องนำความร้อนส่วนนี้มาร่วมในการพิจารณาการระบายความดันส่วนเกินด้วย (การไหลหมุนเวียนของเหลวในถังเป็นการทำให้ของเหลวในถังมีอุณหภูมิและองค์ประกอบสม่ำเสมอ)

รูปที่ ๒ หัวข้อ 4.2.2.4 ถึง 4.2.2.6

หัวข้อ 4.2.2.4 (รูปที่ ๒) กล่าวถึงการระเหยเนื่องจากความร้อนจากสภาพแวดล้อมที่รั่วไหลเข้ามาภายใน โดยความร้อนนี้เข้ามาได้ทั้งทางพื้นดินและผ่านทางผนังถัง ซึ่งโดยทั่วไปมักจะถูกรวมไว้ในการออกแบบระบบทำความเย็น แต่ถ้าไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ก็ต้องนำเอาปริมาณไอระเหยที่เกิดขึ้นจากความร้อนเหล่านี้ไว้ในการออกแบบระบบระบายความดันด้วย

หัวข้อ 4.2.2.5 เป็นเรื่องของไอระเหยที่เกิดจากปรากฏการณ์ "Rollover" แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักปรากฏการณ์นี้ก่อนดีกว่าว่าคืออะไร

รูปที่ ๓ และ ๔ นำมาจากบทความเรื่อง "Rollover prevention model for stratified liquefied natural gas in storage tank" โดย Tomasz Wlodek และ Mariusz Laciak (ในวารสาร Energies 2023, 16, 7666) โดยรูปที่ ๓ แสดงลำดับขั้นตอนที่นำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์ rollover ส่วนรูปที่ ๔ แสดงตัวอย่างองค์ประกอบของแก๊สธรรมชาติเหลวที่มาจากแหล่งผลิตต่าง ๆ แต่ก่อนอื่นขอให้พิจารณารูปที่ ๓ ก่อน

รูปที่ ๓ ลำดับกระบวนการที่นำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์ rollover

เริ่มจากรูปที่ ๓ ซ้ายบน ความร้อนที่เข้าสู่ถังเก็บ (ทั้งจากผนังด้านข้างและจากพื้น) จะทำให้อุณหภูมิของเหลวในถังเก็บเพิ่มสูงขึ้น แต่ของเหลวที่อยู่ผิวบนนั้นสามารถระเหยออกไปได้ ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง องค์ประกอบของ LNG มีทั้งไฮโดรคาร์บอนหนักและเบา แต่ในการระเหยนั้นไฮโดรคาร์บอนเบาจะระเหยออกมาก่อน ทำให้ของเหลวด้านบนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ในขณะที่ของเหลวด้านล่างมีอุณหภูมิสูงกว่าก็จะมีความหนาแน่นต่ำกว่า ทำให้ของเหลวที่อยู่ด้านบนจมลงล่าง และของเหลวที่อยู่ด้านล่างนั้นลอยขึ้นบนและระเหยเพื่อระบายความร้อนออกไป การไหลเวียนแบบนี้เรียกว่า Natural Circulation (ของเหลวที่อยู่ด้านล่างนั้นมีความดันเนื่องจากน้ำหนักของของเหลวที่อยู่ด้านบนกดเอาไว้ ดังนั้นที่อุณหภูมิที่ทำให้ของเหลวที่อยู่ด้านบนกลายเป็นไอได้ ของเหลวที่อยู่ด้านล่างก็จะยังไม่เดือด)

ถ้าการไหลเวียนเกิดขึ้นทั่วทั้งถัง ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ ที่ทำให้เกิดการแยกชั้นเป็นของเหลวสองชนิดที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันอยู่ในถัง เช่นการเติม LNG ที่มีความหนาแน่นต่ำเข้าไปในถังโดยเติมเข้าทางด้านล่างของถัง จากนั้นจึงค่อยเติม LNG ที่มีความหนาแน่นสูงกว่าเข้าทางด้านล่างของถังเช่นกัน ในกรณีนี้ถ้า LNG ที่เติมเข้าไปไม่มีการผสมเป็นเนื้อเดียวกัน LNG ที่มีความหนาแน่นต่ำจะอยู่ทางด้านบน โดย LNG ที่มีความหนาแน่นสูงกว่าจะอยู่ทางด้านล่าง (ความหนาแน่นของ LNG จะลดลงตามสัดส่วนมีเทนที่เพิ่มขึ้น - ดูรูปที่ ๔)

ในกรณีนี้ ความร้อนที่รั่วไหลเข้าถังเก็บจะทำให้องค์ประกอบเบาที่อยู่ใน LNG ส่วนบนระเหยออกไป ทำให้ความหนาแน่นของ LNG ส่วนบนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ LNG ส่วนล่างนั้นมีความหนาแน่นลดต่ำลงเนื่องจากมีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่มีการระเหยองค์ประกอบเบาออกไป (เพราะมีความดันเนื่องจาก LNG ส่วนบนกดเอาไว้) ทำให้ความหนาแน่นของ LNG ทั้งส่วนบนและส่วนล่างนั้นปรับเข้าหากัน (รูปที่ ๓ ซ้ายล่าง) และเมื่อความหนาแน่นของ LNG ส่วนบนนั้นสูงกว่าของ LNG ส่วนล่าง LNG ส่วนบนก็จะจมลงสู่ด้านล่างทันทีทำให้ LNG ส่วนล่างนั้นลอยขึ้นด้านบน องค์ประกอบเบาของ LNG ส่วนล่างที่เดิมนั้นไม่สามารถระเหยออกมาได้เนื่องจากความดันกดเอาไว้ เมื่อความดันที่กดเอาไว้หายไป ก็จะระเหยกลายเป็นไอจำนวนมากออกมาทันที (รูปที่ ๓ ขวาล่าง) ทำให้ความดันในถังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "Rollover"

รูปที่ ๔ ตัวอย่างองค์ประกอบของแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ

หัวข้อ 4.2.2.5 กล่าวว่าไม่มีวิธีการที่แม่นยำ (ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป) ในการคำนวณภาระการระบายความดันสำหรับเหตุการณ์นี้ แต่ European standard EN 1473 (Installation and equipment for liquefied natural gas. Design of onshore installations) ก็ได้ให้แนวทางสำหรับหาภาระการระบายที่ต้องมีสำหรับเหตุการณ์นี้ (ถ้าไม่มีการใช้แบบจำลองอื่นในการหาค่า) ดังนั้นโดยทั่วไปจึงมักใช้การออกแบบและการปฏิบัติงานที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่เห็นเกิดเหตุการณ์นี้

(ไนโตรเจนใช้ในการไล่อากาศออกจากถังเก็บก่อนเติม LNG เข้าถังเก็บ จึงทำให้ LNG ในถังเก็บนั้นมีไนโตรเจนละลายปนเปื้อนเข้ามาได้เล็กน้อย)

หัวข้อ 4.2.2.6 เป็นกรณีของความดันสูงเกินในช่องว่างรูปวงแหวนที่อยู่ระหว่างผนังถังชั้นใน (ที่เป็นที่เก็บของเหลว) และผนังถังชั้นนอก (ที่สัมผัสกับอากาศภายนอก) โดยในช่องว่างนี้อาจเป็นที่ว่างหรือมีวัสดุฉนวนความร้อนเติมอยู่ ดังนั้นอุณหภูมิในช่องว่างนี้ก็จะสูงกว่าอุณหภูมิของเหลวในถัง ถ้าหากมีของเหลวรั่วไหลเข้าไปในช่องว่างนี้ (เช่นการเติมจนล้นถังด้านใน หรือผนังถังด้านในมีรูรั่ว ก็จะทำให้ของเหลวที่รั่วไหลเข้ามาระเหยกลายเป็นไอได้ทันที

การคำนวณอัตราการรั่วไหลตรงนี้อาจทำได้ด้วยการสมมุติให้มีรูรั่วขนาด 20 มิลลิเมตร (หรือ 0.8 นิ้ว) ที่ก้นถังเพื่อใช้สำหรับหาภาระการระบายไอระเหยที่ต้องมี โดยข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ใน European standard EN 14620 (Design and manufacture of site built, vertical, cylindrical, flatbottomed steel tanks for the storage of refrigerated, liquefied gases with operating temperatures between 0°C and -165°C)

รูปที่ ๕ หัวข้อ 4.2.3 ถึง 4.3

หัวข้อ 4.2.3 (รูปที่ ๕) เป็นแนวพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับกรณีการเกิดสุญญากาศภายใน โดยข้อ 4.2.3.1 กล่าวไว้ว่าควรพิจารณาสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้ และยังสามารถรวมกรณีภาระการทำความเย็นสูงสุดเอาไว้ด้วย โดยให้ไปดูที่หัวข้อ 4.2.3.2


หัวข้อ 4.2.3.2กล่าวถึงกรณีของภาระทำความเย็นสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อ ไม่มีของเหลวไหลเข้าถัง และความร้อนจากภายนอกที่รั่วไหลเข้าถังนั้นมีค่าน้อยที่สุด (คือปริมาณความร้อนที่ไหลเข้านั้นต่ำกว่าปริมาณความร้อนที่ระบบทำความเย็นดึงออกไป) ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิภายในถังลดต่ำลง ความดันภายในถังก็จะลดต่ำลงตาม


หัวข้อ 4.3 กล่าวถึงข้อกำหนดคุณลักษณะของอุปกรณ์ระบายความดัน โดยกล่าวว่าวิธีการที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อ 3.6 สามารถนำมาใช้ได้กับถังเก็บที่มีระบบทำความเย็น

ต่อไปเป็นหัวข้อ 4.4 ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์ระบายความดัน (รูปที่ ๖) โดยหัวข้อ 4.4.1 กล่าวว่าสามารถนำวิธีการที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 3.7 มาใช้กับถังเก็บที่มีระบบทำความเย็นได้ เว้นแต่มีการดังแปลงดังนี้ (ข้อ 4.4.2 และ 4.4.3)

รูปที่ ๖ หัวข้อ 4.4 ถึง 4.4.2

หัวข้อ 4.4.2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์ระบายความดันสูงเกินหรือระบายสุญญากาศ โดยที่ตัวอุปกรณ์ควรรักษาไม่ให้เไอเย็นทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิในส่วนของหลังคาถัง หรือลดอุณหภูมิในส่วนของหลังคาถัง สำหรับถังที่มีฉนวนแขวนห้อยลงมาจากด้านบน ท่อทางเข้าของตัวอุปกรณ์ระบายความดันควรที่จะทะลุผ่านฉนวนที่แขวนห้อยอยู่นั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไอเย็นนั้นรั่วเข้าสู่ที่ว่างที่อุ่นกว่าที่อยู่ระหว่างหลังคาด้านบนและฉนวนที่แขวนห้อยอยู่ และต้องนำผลของตัวท่อนี้มาพิจารณาในการคำนวณความสามารถของวาล์วระบายความดันด้วย (เพราะมันเป็นสิ่งกีดขวางการไหลของแก๊สเข้าวาล์วระบายความดัน) ตัววาล์วระบายความดันควรได้รับการกำหนดขนาดสำหรับความดันที่คร่อมตัววาล์ว และควรพิจารณาความสูญเสียเนื่องจากท่อด้านขาเข้าและความดันต้านด้านขาออกทางหน้าแปลนด้านขาออกด้วย

รูปที่ ๗ หัวข้อ 4.4.3 ถึง 4.4.3.2

หัวข้อ 4.4.3 (รูปที่ ๗) เป็นเรื่องของท่อทางออกของระบบระบายความดัน โดยในข้อ 4.4.3.1 กล่าวว่าท่อระบายออกจากอุปกรณ์ระบายความดันหรือ "common discharge headers" (คือท่อที่รับการระบายความดันจากอุปกรณ์ระบายความดันหลายตัวก่อนที่จะระบายออกสู่อากาศ) ควรจะระบายออกสู่อากาศโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง (สิ่งกีดขวางตรงนี้น่าจะหมายถึงโครงสร้างอื่นที่อยู่ใกล้เคียงปลายท่อ) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเย็นพุ่งเข้าปะทะตัวถังบรรจุหรือโครงสร้างใด ๆ ที่ติดตั้งบนหลังคา

หัวข้อ 4.4.3.2 ปล่องระบายของอุปกรณ์ระบายความดันควรได้รับการออกแบบและติดตั้งโดยที่สามารถป้องกันไม่ให้ น้ำ, น้ำแข็ง, หิมะ หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นใดเกิดการสะสมและกีดขวางเส้นทางการไหล การระบายควรหันขึ้นบนเมื่อระบายออกสู่อากาศ ควรพิจารณาการมีฐานอิสระรองรับปล่องในแนวดิ่ง และควรมีการจัดหาวิธีการที่จะลด ผลกระทบทางความร้อนบนตัวถังบรรจุ และอุปกรณ์ใด ๆ ที่ติดตั้งบนหลังคาที่สามารถก่อให้เกิดการจุดระเบิดจากปล่องวาล์วระบายความดันได้

refrigerated tank ใช้สำหรับเก็บแก๊สที่มีจุดเดือดต่ำในปริมาณมากเช่นมีเทนและแอมโมเนีย เนื่องจากทั้งมีเทนและแอมโมเนียเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ ดังนั้นจึงสามารถระบายออกสู่อากาศได้โดยตรง เพราะปรกติ tank farm ก็ตั้งอยู่ในที่โล่งที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างสูง ๆ ใด ๆ อยู่ใกล้ แก๊สที่วาล์วระบายความดันระบายออกมาจึงฟุ้งกระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว

ปลายท่อที่หันขึ้นด้านบนก็เปิดโอกาสให้ทั้งน้ำฝนและหิมะเข้ามาสะสมภายในได้ถ้าไม่มีการป้องกัน การป้องกันอาจทำได้ด้วยการทำให้ปลายท่อเป็นรูปตัวที (Tee diffuser) ที่ระบายแก๊สออกทางด้านข้าง หรือใช้ Rain cap ที่จะเปิดด้วยแรงดันแก๊สที่ระบายออกมาและปิดตัวลงเมื่อแก๊สหยุดการไหล หรือการใช้ Weather cap ที่มีลักษณะคล้ายถุงครอบลงไปบนปลายท่อ และจะปลิวออกไปเมื่อมีการระบายแก๊สออกมา (รูปที่ ๘)

รูปที่ ๘ ตัวอย่างการป้องกันปลายท่อระบายที่หันขึ้นบน ไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้ามาในท่อ

สำหรับตอนที่ ๑๓ ก็ขอจบเพียงแค่นี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ควรวางให้ถูกที่ ควรหันให้ถูกทิศ (๒) MO Memoir : Thursday 8 August 2567

เห็นหลายเพจบอกว่าความร้อนเป็นตัวทำให้อายุการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์สั้นลงได้ และจะว่าไปสิ่งที่ทำให้เซลล์แสงอาทิตย์ร้อนก็คือ "แสงแดด" ดังนั้นถ้าติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ให้หลบจากแสงแดดเสียบ้าง มันก็คงจะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น

ไม่รู้เหมือนกันว่าการที่เขาติดตั้งเสาไฟส่องสว่างที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ต้นนี้ ณ ตำแหน่งนี้ เป็นเพราะไม่ต้องการให้เซลล์แสงอาทิตย์ร้อนจากแสงแดดหรือเปล่า :) :) :)

รูปที่ ๑ ในรูปซ้าย มองตรงไปคือทิศใต้ ด้านซ้ายคือทิศตะวันออก และด้านขวาเป็นทิศตะวันตก ตอนที่ถ่ายรูปนี้ก็เป็นช่วงบ่าย เสาต้นนี้ตั้งอยู่หัวมุมริมตัวตึก ถนนระหว่างตึกกว้างเพียงแค่ความกว้างรถยนต์สองคัน รูปขวาเป็นการมองย้อนไปทางทิศตะวันออก ตึกที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกนั้นเป็นตึกสูง ๑๐ ชั้น ดังนั้นกว่าที่แสงแดดจะส่องถึงพื้นถนน ก็จะราว ๆ สิบโมงกว่าไปแล้ว

รูปที่ ๒ รูปซ้ายมองเฉียงลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัวตึกด้านหลังจะมีชายคายื่นออกมาบังแผงเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณครึ่งแผง ส่วนรูปขวาเป็นการมองย้อนไปทางทิศตะวันตก รูปทั้งหมดถ่ายในช่วงบ่าย ตัวแผงเซลล์อาทิตย์นั้นตั้งวางเอียงขึ้นเล็กน้อยโดยหันไปทางทิศตะวันออก

จะว่าไปที่นี่ก็น่าจะเป็นสถานที่สำหรับผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเรื่องการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้ ส่วนจะเป็นตัวอย่างที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติตามหรือไม่นั้น คำตอบอยู่ในบทความฉบับเมื่อวันอาทิตย์ที่๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา :) :) :)

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ควรวางให้ถูกที่ ควรหันให้ถูกทิศ MO Memoir : Sunday 4 August 2567

หลังจากที่ไม่ได้เดินผ่านมุมนี้มาพักนึง วันศุกร์ที่แล้วก็ได้เดินผ่านซอกตึกนี้เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน เลยได้สังเกตเห็นว่ามีการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (รูปที่ ๑ ข้างล่าง) แต่เห็นแล้วรู้สึกว่ามันยังไง ๆ อยู่ คือนอกจากตำแหน่งนี้ (รูปที่ ๒) มันไม่เหมาะที่จะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว มันยังหันไม่ถูกทิศอีก

รูปที่ ๑ ในทั้งสองรูป ทิศทางมองตรงไปคือทิศเหนือ ด้านขวาคือทิศตะวันออก ด้านซ้ายคือทิศตะวันตก จะเห็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์หันไปทางทิศตะวันออก โดยเอียงขึ้นเล็กน้อย

เรารู้กันว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก แต่ด้วยความกลมและแกนเอียงของโลก ทำให้เราไม่ได้เห็นดวงอาทิตย์อยู่ตรงเหนือศีรษะตอนเที่ยงวันทุกวัน สำหรับประเทศที่อยู่ในซีกโลกเหนือ เรามักจะเห็นดวงอาทิตย์โคจรโดยเยื้องไปทางทิศใต้เล็กน้อย และจะเห็นมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ที่บ้านเราเรียกว่าช่วงตะวันอ้อมข้าว

รูปที่ ๒ ดาวสีเหลืองคือตำแหน่งที่ติดตั้งเสาไฟส่องสว่างเซลล์แสงอาทิตย์ในรูปที่ ๑ (รูปจาก google earth)

การติดตั้งแผงเซลล์อาทิตย์เพื่อให้ได้รับพลังงานมากที่สุด ต้องให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ แต่ด้วยการที่ดวงอาทิตย์ไม่หยุดนิ่ง จึงต้องมีการติดตั้งระบบติดตามดวงอาทิตย์เพื่อคอยปรับมุมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แต่นั่นคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้งานทั่วไป จึงมักติดตั้งแบบมุมคงที่ แต่คำถามก็คือควรติดตั้งให้หันัไปในทิศทางไหนด้วยมุมเท่าไร

สำหรับประเทศที่อยู่เส้นศูนย์สูตรนั้น ทิศทางที่เหมาะสมคือหันไปทางทิศใต้โดยยกแผงทำมุมกับพื้นให้มีค่าประมาณตำแหน่งเส้นรุ้งของตำแหน่งที่ติดตั้ง เช่นที่กรุงเทพก็จะอยู่ประมาณ 13 องศา และไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทำให้เกิดเงาทาบบนแผงไม่วาจะเป็นเวลาใดของวัน ทั้งนี้เพื่อให้แผงมีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด (เว้นแต่ช่วงมีเมฆมาบัง)

ตำแหน่งที่ตั้งเสาไฟส่องสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในรูปที่ ๑ ด้านทิศตะวันออกมันมีอาคารอยู่ (รูปที่ ๒) ดังนั้นมันจะไม่โดนแสงจนกว่าจะเข้าใกล้ช่วงเที่ยง และพอพ้นเที่ยงดวงอาทิตย์ก็จะอ้อมไปอยู่ด้านหลังของแผงแล้ว แต่ในบริเวณใกล้กันนี้ (ตรงบริเวณสนามบาสเก็ตบอล) ก็ยังมีอีกต้นหนึ่งที่เป็นเสาแบบเดียวกัน แต่ติดแผงหันไปทางใต้

ถ้าจะเป็นผู้นำเป็นเสาหลักด้านวิชาการ ก็ควรทำบ้านตัวเองให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่นมาศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ปล่อยให้ไหม้อย่างเดิมถ้าจะปลอดภัยกว่านะ MO Memoir : Thursday 1 August 2567

เห็นคลิป reel นี้มาเป็นสัปดาห์แล้ว คนทำใช้คำว่า "ที่เรียนมา หรือจะสู้ประสบการณ์" ประกอบ

ดูแล้วคลิปนี้น่าจะเป็นการฝึกซ้อมดับไฟ โดยมีเปลวไฟที่ลุกไหม้ออกมาจากถังแก๊ส ๑๕ กิโลที่เปิดอยู่

ในคลิปยาว ๖ วินาทีมีผู้หญิงท่านหนึ่งพร้อมไม้กวาดในมือเดินไปที่ถังแก๊ส และใช้ไม้กวาดฟาดอย่างแรงไปที่เปลวไฟ ทำให้เปลวไฟดับ แล้วก็เดินหันหลังกลับ โดยมีเจ้าหน้าที่ (ที่น่าจะเป็นผู้ฝึกอบรม) มองตามหลังไปดังแสดงในรูปข้างล่างที่จับภาพมาจากคลิปวิดิโอ (เริ่มจากซ้ายบนวนตามเข็มนาฬิกา)

พอไล่อ่านดูความเห็นที่คนดูมีต่อคลิปดังกล่าวก็เห็นไปในทางเดียวกันหมด

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว เห็นว่าถ้าจะทำแบบนี้ก็อย่าทำเลยดีกว่า ปล่อยให้ไหม้เหมือนเดิมน่าจะปลอดภัยกว่า

เปลวไฟที่ลุกไหม้นั้นเกิดจากส่วนผสมของเชื้อเพลิงที่เป็นไอ กับอากาศ ความร้อนที่เกิดขึ้นจะส่งย้อนกลับไปยังเชื้อเพลิง ทำให้เชื้อเพลิงกลายเป็นไอระเหยขึ้นมาทดแทน ถ้าอัตราการระเหยนั้นสามารถทดแทนและอัตราการเผาไหม้ได้ ไฟก็จะลุกต่อเนื่อง

แต่เราก็รู้กันดีกว่าลมที่พัดแรงนั้นสามารถทำให้เปลวไฟดับได้ เพราะมันไปเจือจางความเข้มข้นของเชื้อเพลิงในอากาศ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเปลวไฟที่ลุกไหม้จาก ไม้ขีด เทียนไข ตะเกียงที่ใช้ของเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือเตาแก๊ส ถ้าเจอลมพัดแรงก็ดับได้ทั้งนั้น

ในกรณีของเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เมื่อเปลวไฟดับแล้ว เชื้อเพลิงจะหยุดการระเหยหรืออัตราการระเหยจะลดต่ำลง เมื่อเปลวไฟดับแล้วก็จะดับเลย เว้นแต่ว่าเชื้อเพลิงมีอุณหภูมิสูง และบริเวณใกล้เคียงมีพื้นผิวที่มีอุณหภูมิสูง ที่เมื่อไอระเหยเชื้อเพลิงไปสัมผัสก็จะลุกติดขึ้นมาใหม่ได้ ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าเวลาดับเพลิงนั้น แม้ว่าเปลวไฟจะดับแล้ว เขายังคงต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดอุณหภูมิจุดที่ยังคงร้อนอยู่ให้ต่ำลง

แต่ในกรณีของแก๊สเชื้อเพลิงนั้นต่างกัน ถ้าแก๊สที่รั่วออกมาเกิดการลุกติดไฟเลย เปลวไฟก็จะลุกไหม้อยู่ตรงตำแหน่งที่รั่วออกมา การดับเปลวไฟที่เกิดจากการรั่วไหลของแก๊สจึงต้องเน้นไปที่การหยุดการรั่วไหล เช่นปิดวาล์ว ถ้าทำได้ เพราะถ้าไปทำให้ไฟดับ แต่ไม่หยุดการรั่วไหลของแก๊ส แก๊สเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาจะแผ่ออกไปปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ถ้ามันฟุ้งกระจายเจือจางออกไปก็แล้วไป แต่ถ้ามันไปเจอแหล่งพลังงานที่ทำให้มันจุดติดไฟได้ มันจะกลายเป็น flash fire วิ่งย้อนกลับมาที่ถังแก๊ส หรือเกิดการระเบิด ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีขอบเขตและอำนาจทำลายล้างสูงกว่าการลุกไหม้อยู่ที่จุดที่รั่วออกมามาก

ด้วยเหตุนี้เวลาไฟไหม้โรงงานและมีการรั่วไหลของแก๊ส เขาจึงต้องหาทางปิดกั้นการไหลของแก๊สมายังตำแหน่งที่รั่วไหล แล้วปล่อยให้แก๊สที่รั่วออกมานั้นเผาไหม้จนหมดไปเอง ในขณะเดียวกันก็ทำการป้องกันบริเวณข้างเคียงไม่ให้ได้รับความร้อนจากเปลวไฟที่ยังลุกอยู่