วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567

เรื่องเศร้าเสาร์นี้ MO Memoir : Sunday 15 September 2567

เมื่อวาน ศิษย์เก่าภาควิชาผู้หนึ่งได้โพสข้อความเพื่ออยากบันทึกและอยากแชร์ และอยาก discuss กับบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกผมขอเขาว่าจะขอคัดลอกข้อความมาแปะไว้บนหน้า facebook โดยไม่เปิดเผยชื่อ แต่เปลี่ยนใจว่าเอามาบันทึกไว้บนหน้า blog ดีกว่า เพื่อที่จะได้แบ่งปันมุมมองและความรู้สึกของผู้บริหารของบริษัทหนึ่ง ที่มีต่ออาจารย์และนิสิตจากมหาวิทยาลัยที่ "ขอ" ไปเยี่ยมชมและเรียนรู้จากเขา ลองอ่านเองก็แล้วกันนะครับ ผมคัดลอกมาโดยไม่ได้แก้ไขอะไร แต่ตัวอิโมจินั้นอาจเพี้ยนไปบ้าง บางตัวไม่สามารถคัดลอกมาได้ครับ :) :) :)

--------------------

 


เรื่องเศร้าเสาร์นี้ 😔
 
มีเรื่องอยากบันทึก อยากแชร์ และอยาก discuss กับพี่น้องเพื่อนฝูง ที่เป็นอ.มหาลัย ด้วย ว่า มันเกิดอะไรขึ้นนะ
(ยาวนะ เตือนก่อน 555+)
เมื่อวาน แม่เป็นวิทยากร ที่ออฟฟิศแม่เอง
ต้อนรับนักศึกษา คณะ สถาปัตย์ มหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ แถวท่าพระจันทร์ 😛
คืนก่อน แม่ก็คิดว่าจะใส่ชุดอะไรดี 
 
ปกติถ้าต้อนรับแขกแบบนี้ แม่จะใส่เดรส หรือ เชิ้ตกางเกงใส่สูททับ ก็คือ ชุดสุภาพเลยแหละ
แต่พอมาคิดว่า เป็นถาปัด ก็ เออ เค้าคงชิลๆสบายๆกันแหละ
กลัวจะดู out ดูโดด
เลยใส่เชิ้ตขาวตัวยาว กะ legging แทน
แต่พอเจอเด็กเข้าไป
อหหหหหหหห
 
มีแค่ประมาณ 1/3 ที่แต่งตัวเรียบร้อย
คือไม่ต้องใส่สูทผูกไทมานะลูกกกกก
แต่มันไม่น่าใช่ ลากแตะ แตะแบบแตะะะะะะ
(คีบเอย สวมเอย แบบฟองน้ำอ่ะ)
เสื้อ crop เอวลอยโชว์พุง มาดูงานนอกสถานที่
การแต่งตัวว่าหนักแล้ว
กิริยามารยาทบางคนนี่ แทบอยากจะด่าออกไมค์ว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนเหรอจ๊ะ
 
ผู้หญิงแถวหน้าบางคน นั่งไขว่ห้างกระดิกเท้าใส่
ผู้ชายบางคนนั่งลอยหน้า ทำหน้าตา challenge ใส่
ขณะที่แม่กำลังพูด
จนฉันผู้ซึ่งอารมณ์ดีๆอยู่
เริ่มอารมณ์เสีย และต้องจิกตาใส่เด็กเวรเหล่านั้น นิดนึง
การกระดิกตีนดิ๊กๆใส่หน้า และ นั่งมองตาแข็ง ถึงเบาลง 😒
แต่พอจบ session
เหล่าน้องๆ หลายๆคน (แต่ไม่มีเด็กเวรเหล่านั้น)
ก็มาถามเรื่องการขอฝึกงาน
ซึ่งแบ่บ…………😑
 
คือ นี่ว่าจะ feedback ไปที่ผช.คณบดี ที่เป็นคนติดต่อมานะ
ว่า ในฐานะที่เราก็มีลูก ในฐานะที่เราก็อยู่ในบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการ และ เป็นคนคัดเด็กฝึกงาน
เด็กบุคลิกภาพแบบนี้
ไม่มีกาละเทศะแบบนักศึกษาส่วนใหญ่ของคณะนี้
เราไม่รับฝึกงาน และไม่รับเข้าทำงานนะคะ
ซึ่งงงง
เดาว่าบางคนก็อาจจะบ้านรวย ไม่แฆร์
เปิดบ.เองก็ได้

แต่…

ถามจริงๆเถอะ คิดว่าจะทำได้ดีเหรอ
ถ้าแค่เรื่องที่ง่ายที่สุด อย่างแต่งกายให้รู้กาละเทศะ
บุคลิกสุภาพ ในที่สาธารณะ
ยังทำไม่ได้
ก็คงทำอย่างอื่นที่ยากกว่านี้ไม่ได้แล้วล่ะ
แล้วอย่าพูดว่า อันนี้สไตล์เด็กฝรั่ง เด็กนอก
ฉัน ผู้ซึ่งทำงานกับต่างชาติมาร่วม 20 ปี
ต่างชาติที่เป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ฝรั่งขี้นก
เขาและลูกหลานเขา ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้จ้ะ
เขาก็แต่งตัวถูกกาละเทศะ
บุคลิกน่าเชื่อถือ กล้า แต่ก็สุภาพ กัน

ปีที่แล้ว รับเด็กฝึกงาน เสดสาด จุฬา มาคน ก็แอบท้อ

บุคลิกเอย วินัยเอย งานที่ส่งมาเอย…
เหมือนเอาสิ่งที่แม่สอน ไปพิมพ์ แล้วส่งกลับคืนมา…
ลู้กกกกกก ใจคอจะไม่คิดอะไรเพิ่มให้หน่อยเร้ออออออ 😓
 
นึกเปรียบเทียบกับเด็กฝึกงานจาก ปัญญาภิวัฒน์ ที่รับมา 2 ปีก่อน…
โอ้โหหหหหห อันนั้นคือ ทึ่งจริงๆนะ
น้องๆ proactive มาก
มีความเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ
กล้าคิดกล้าแสดงออก
แต่รู้กาละเทศะ กิริยามารยาทดี
ที่สำคัญที่สุด งานที่ส่งมา
รู้เลยว่าผ่านการ ค.ว.ย. มาอย่างดี
มีการต่อยอดจากสิ่งที่เรา guide ไป
พร้อมออกไปทำงานมากๆ
บอกเลยนะ
ตอนนี้ถ้าต้องรับเด็กจบใหม่
ฉันลังเลแล้วนะ 🤔🫣

ปกติ สมัยก่อน เอาดีๆเรารับ alumni / เครือข่ายเดียวกัน

รุ่นพี่รุ่นน้อง
แต่สมัยนี้ คือ …. ฉันท้อจริงๆ 😔😮‍💨

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่

*ในมหาลัยอันดับต้นๆของประเทศ*…
 
ให้วิเคราะห์เอง คิดว่า เด็กเหล่านี้ เติบโตมาจากพ่อแม่
รุ่นๆเรานี่แหละ (อาจจะแก่กว่า นิดหน่อย within 10 ปี)
ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ depressed จากการเรียนที่หนัก
การแข่งขันที่สูง จนไม่อยากให้ลูกเหนื่อยเหมือนตัวเอง
แล้วก็เติบโตมาเป็น generation ที่ประสบความสำเร็จ
หลายคน มาไกลกว่าพ่อแม่มากๆ
ก็เลยคิดว่า พ่อแม่มีต้นทุนแล้ว ชิลๆก็ได้ลูก
บวกกับ information overload ในช่วงที่ผ่านมา
กับมายาคติสุดโต่งไปว่า ต้องเลี้ยงลูกให้มีความสุข“เท่านั้น”
การดุด่าว่ากล่าวตัดเตือนลูก คือ สิ่งต้องห้าม
บางคน ก็เลย spoil ลูกกันสุดๆ
แค่เรียนหนังสือดีก็พอ

….

และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ….

เด็กบางคนที่ไม่มีวุฒิภาวะ
ไม่รู้กาละเทศะ
ไม่มีมารยาท
แต่คิดว่าตัวเองเจ๋งซะเต็มประดา
น่าห่วงจริงๆ สำหรับคุณภาพในตลาดแรงงาน
และสังคมในอนาคตอันใกล้
 
เลยอยากมาแชร์
และชวนคุย สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์เข้มข้น
เพื่อช่วยกันถอดบทเรียน
ให้ลูกหลานของชาวเรา
เติบโตเป็นคนที่ทั้ง เก่ง และ ดี มีมารยาท รู้กาลเทศะ
เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีให้ประเทศและโลกนี้ ต่อไปค่ะ ✌️✌

--------------------

หลายปีที่แล้ว นิสิตหญิงคนหนึ่งของภาควิชาถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน ณ โรงงานของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งทางภาคตะวันออก ก่อนจะถึงวันสอบ เขามาถามผมว่าควรแต่งกายอย่างไรดี ควรโทรไปถามไหม

ผมก็บอกเขาว่า ถ้าเป็นผู้ชายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่นี่เป็นผู้หญิง เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะสอบอะไรเราบ้าง ถ้าเป็นการพูดคุยกันในห้องทำงาน นุ่งกางเกงไปก็อาจโดนมองว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้าเขาพาเข้าเยี่ยมชมหน่วยผลิตด้วย นุ่งกระโปรงไปก็ไม่เหมาะสมเหมือนกัน

งานนี้ผมให้ความเห็นไปว่า "ควรโทรไปถาม" แต่ห้ามถามว่าจะให้แต่งกายอย่างไร เพราะนั่นเป็นข้อสอบข้อแรกเลยเพราะเขาต้องการดูวิจารณญาณของผู้เข้าสอบ ผมแนะนำให้โทรไปถามเขาว่า ที่โรงงานมีกฎระเบียบความปลอดภัยเรื่องการแต่งกายอย่างไรบ้าง จะได้เตรียมตัวไปถูกต้อง

ถึงวันสอบ เขาก็มีทั้งการพูดคุยในห้อง และพาชมโรงงาน หลังชมโรงงานเสร็จเขาก็ให้มานั่งเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 รายนี้เขาเขียนส่งเพียงแค่ครึ่งหน้า

ถึงเวลาสอบสัมภาษณ์ เขาก็เรียกเข้าสอบทีละคน เรียกคนที่จบด้วยเกรดสูงสุดก่อนตามลำดับเกรด รายนี้ถูกเรียกเป็นคนสุดท้าย เพราะเกรดต่ำสุด

สุดท้าย เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้งานที่นั่น

--------------------

สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนที่ผ่านมา อาจารย์ท่านหนึ่งของให้ผมเข้าสอนในคาบแรก เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้กับนิสิตปี ๒ ก่อนที่จะมีวิทยากรมาบรรยายในสัปดาห์ถัดไป ผมเห็นการแต่งกายของนิสิตที่มาเข้าเรียนวันแรก ก็ได้เตือนพวกเขาไป และบอกด้วยว่าวิทยากรข้างนอกเขาอุตส่าห์สละเวลามาบรรยายใหัความรู้ อย่างน้อยก็ควรแต่งกายให้เรียบร้อยเพื่อเป็นการให้เกียรติวิทยากรเขาหน่อย ไม่ใช่แต่งมาแบบในวันนี้

แล้วก็มีนิสิตถามผมขึ้นมาว่า

"แต่งอย่างนี้ถือว่าไม่เป็นการให้เกียรติอย่างไร"

--------------------

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2567

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๒ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillator) MO Memoir : Tuesday 10 September 2567

เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillator) ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้หัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปรกติ ในการใช้งานจะวางขั้วไฟฟ้าขั้วหนึ่งไว้ที่ใต้กระดูกไหปลาร้าข้างขวาและอีกขั้วหนึ่งไว้ที่ใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัว โดยให้เส้นทางการไหลองกระแสไฟฟ้าจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่งนั้นไหลผ่านหัวใจ

รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นวงจรไฟฟ้าของเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การทำงานเริ่มจากการประจุไฟให้กับตัวเก็บประจุ (capacitor) โดยไฟฟ้ากระแสสลับจากแหล่งจ่ายจะถูกเพิ่มความต่างศักย์ให้สูงขึ้น (ด้วย Step-up transformer) และแปลงเป็นไฟกระแสตรง (ด้วย Rectifier) ในช่วงเวลานี้ตัวสวิตช์จะอยู่ทางด้าน Charging circuit (ด้านซ้าย)

รูปที่ ๑ วงจรไฟฟ้าของเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า

เมื่อต้องการกระตุกหัวใจ ตัวสวิตช์จะถูกเปลี่ยนมาอยู่ทางด้าน Patient circuit (ด้านขวา) เมื่อผู้ใช้งานกดสวิตช์ที่ตัว Paddles ตัวเก็บประจุจะคายประจุไฟฟ้าที่สะสมเอาไว้ออกมา แต่เพื่อไม่ให้การคายประจุเกิดเร็วเกินไป (เพราะต้องการให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านนานช่วงเวลาหนึ่ง) เลยต้องมีการติดตั้งขดลวดเหนี่ยวนำ (Inductor) เพื่อสร้างแรงเคลื่อนไฟฟ้าต่อต้านการไหลของประจุไฟฟ้าที่ตัวเก็บประจุคายออกมา ทำให้ระยะเวลาที่ตัวเก็บประจุคายประจุออกมาจนหมดนั้นเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ต้องใช้ตัวเก็บประจุในการจ่ายไฟก็เพราะตัวเก็บประจุสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าออกมาได้มากในเวลาอันสั้น แต่เพื่อให้ปริมาณประจุไฟฟ้าที่ตัวเก็บประจุเก็บไว้ได้นั้นมีมากพอ จึงต้องใช้ความต่างศักย์ที่สูงในการประจุไฟให้กับตัวเก็บประจุ ตัวเก็บประจุที่ใช้ในงานนี้เป็นชนิดที่เรียกว่า "Pulse Discharge Capacitor" รูปที่ ๒ เป็นหน้าเว็บของบริษัทผู้ผลิต Pulse Discharge Capacitor บริษัทหนึ่ง ที่สามารถผลิตตัวเก็บประจุชนิดนี้ที่รองรับไฟฟ้า 100 kV ได้

รูปที่ ๒ เว็บบรรยายคุณลักษณะและการประยุกต์ใช้งานของบริษัทผู้ผลิต Pulse Discharge Capacitor บริษัทหนึ่ง ตัวเก็บประจุชนิดนี้มีการนำไปใช้งานทั้งในด้านอุตสาหกรรม, แสงเลเซอร์ทางการแพทย์และแสงเลเซอร์พลังงานสูง, งานวิจัย, อุปกรณ์ทางการแพทย์ และทางทหาร


รูปที่ ๓ คุณลักษณะของ Pulse Discharge Capacitor

Pulse discharge capacitor เป็นตัวเก็บประจุที่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถรองรับวงรอบการประจุไฟ/คายประจุ (charging/discharging) ด้วยพลังงานที่สูงและความต่างศักย์ที่สูงหลายครั้ง และสามารถจ่ายพลังงานที่กักเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมานั้นออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ

ตรงนี้มีคำศัพท์ ๒ คำเกี่ยวกับตัวเก็บประจุที่ต้องขอบันทึกเอาไว้หน่อย คำแรกคือ "Energy density" คือพลังงานที่ตัวเก็บประจุสามารถสะสมเอาไว้ได้ ค่านี้ยิ่งสูงก็แสดงว่าตัวเก็บประจุนั้นกักเก็บพลังงานได้สูง คำที่สองคือ "Power density" คืออัตราการปลดปล่อยพลังงานของตัวเก็บประจุ ถ้าปลดปล่อยออกมาได้รวดเร็วในเวลาอันสั้น ค่านี้ก็จะสูง ดังนั้นตัวเก็บประจุที่มี Energy density สูงก็ไม่จำเป็นต้องมีค่า Power density สูงตาม

รูปที่ ๔ คุณลักษณะตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) ตามหัวข้อ 3A001.e.2

รูปที่ ๕ คุณลักษณะตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) ตามหัวข้อ 3A201.a

ตัวเก็บประจุที่สามารถกักเก็บพลังงานได้สูงมีโอกาสที่จะเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ถ้ามีคุณลักษณะเข้าข่ายหัวข้อ 3A001.e.2 (รูปที่ ๔) หรือ 3A201.a (รูปที่ ๕) ดังนั้นถ้าเอาตัวอย่างคุณลักษณะตัวเก็บประจุที่แสดงไว้ในรูปที่ ๓ มาพิจารณา ก็จะเห็นว่ามันมีโอกาสที่จะเข้าข่ายหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง

ดังนั้นถ้าตัวเก็บประจุที่ใช้กับเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้ามีคุณสมบัติเป็นสินค้า DUI มันก็จะทำให้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าเครื่องนั้นเป็นสินค้า DUI ไปด้วย

เอกสารเรื่อง "Dual-Use Legislation and MLCCs : Application Note" จัดทำโดย knowlescapacitor.com (ดาวน์โหลดได้ที่ https://info.knowlescapacitors.com/hubfs/DualUseLegislation_App%20Note.pdf - รูปที่ ๖ - ๑๐) ได้กล่าวถึงปัญหาตรงข้อนี้ โดยในหน้าที่ ๓ ของเอกสาร (รูปที่ ๘ ในกรอบสีแดง) ได้ระบุเจาะจงไปที่หัวข้อ 3A201.a.2 เพราะกำหนดค่า ความต่างศักย์ (voltage), ความสามารถในการกักเก็บประจุ (capacitance) ไว้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับหัวข้ออื่น แต่ก็กำหนดค่าการเหนี่ยวนำแบบอนุกรม (series inductance) ไว้ต่ำกว่าค่าอื่นด้วย ค่าการเหนี่ยวนำนี้เพิ่มขึ้นตามความยาวของสายไฟที่ใช้ในการต่อขั้วไฟฟ้า ยิ่งสายไฟยาว ค่านี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และความยาวของสายไฟนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาในการตีความว่าตัวเก็บประจุดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นสินค่าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่

ประเด็นเรื่องขั้วต่อสายไฟนี้ถูกกล่าวไว้ในหน้าที่ ๔ (รูปที่ ๙ ในกรอบสีแดง) กล่าวคือตัวเก็บประจุนั้นประกอบด้วยส่วนที่ทำหน้าที่เก็บประจุ และขั้วต่อที่ทำหน้าที่ต่อส่วนที่ทำหน้าที่เก็บประจุกับวงจรไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบของขั้วต่อนี้ทางผู้ผลิตสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ได้ เช่นตัวเก็บประจุที่มีสายไฟต่อออกมายาว 1 - 1.5 นิ้ว (25 - 37 มิลลิเมตร) และตัวสายไฟนี้ก็มีค่าการเหนี่ยวนำในตัวของมันเอง ดังนั้นถ้าวัดค่าการเหนี่ยวนำที่ปลายสายไฟก็อาจทำให้ค่าการเหนี่ยวนำรวมนั้นสูงเกินกว่า 10 nH (นาโนเฮนรี) ตัวเก็บประจุตัวนี้ก็จะไม่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เพราะมีคุณสมบัติไม่ตรงกับข้อกำหนดในหัวข้อ 3A201.a.2 ทุกข้อ

แต่ถ้าไปวัดตรงบริเวณขั้วต่อสายด้านตัวเก็บประจุ ก็มีสิทธิจะพบว่าค่าการเหนี่ยวนำรวมนั้นต่ำกว่า 10 nH ได้ ซึ่งจะทำให้ตัวเก็บประจุตัวนี้เป็นสินค้าควบคุมตามหัวข้อ 3A201.a.2

หน้าที่ ๔ ของบทความ (รูปที่ ๙) ก็ยังให้ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในกรณีที่ตัวเก็บประจุนั้นสามารถทำงานกับความต่างศักย์ที่สูงกว่า 750 V ได้ แต่เมื่อนำไปประยุกต์ใช้งานกับอุปกรณ์ที่ใช้ความต่างศักย์ในการประจุไฟให้กับตัวเก็บประจุนั้นไม่เกิน 750 Vซึ่งทำให้ปริมาณประจุที่เก็บได้นั้นต่ำกว่า 0.25 μF (ไมโครฟารัด) ก็จะทำให้อุปกรณ์ที่มีตัวเก็บประจุนั้นไม่กลายเป็นสินค้าควบคุม ก็อาจทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงข้อกำหนด

ปัญหาเรื่องค่าการเหนี่ยวนำของตัวเก็บประจุเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งในเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุ(Capacitor)" เมื่อวันพุธที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

(หมายเหตุ : ค่าพลังงานของตัวเก็บประจุคำนวณได้จากสมการ (CV2)/2 เมื่อ C คือปริมาณประจุที่กักเก็บได้ และ V คือความต่างศักย์)

รูปที่ ๖ หน้าแรกของเอกสาร
 

รูปที่ ๗ หน้าที่ ๒ ของเอกสาร
 

รูปที่ ๘ หน้าที่ ๓ ของเอกสาร
 

รูปที่ ๙ หน้าที่ ๔ ของเอกสาร
 
รูปที่ ๑๐ หน้าที่ ๕ ของเอกสาร

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567

การก่อการร้ายด้วยแก๊สซาริน (Sarin) ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว MO Memoir : Friday 6 September 2567

ในช่วงเวลาประมาณ ๗ โมงเข้าของวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) สมาชิกของกลุ่ม Aum Shinrikyo ได้ทำการปล่อยแก๊สซาริน (Sarin) ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียวจำนวน ๕ ขบวน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๑๔ รายและบาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ ราย (https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo_subway_sarin_attack)

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "The Sarin Gas Attack in Japan and the Related Forensic Investigation" ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๑ (เผยแพร่ในหน้าเว็บของ Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.opcw.org/media-centre/news/2001/06/sarin-gas-attack-japan-and-related-forensic-investigation) บทความไม่ได้ลงชื่อผู้เขียน แต่ในเนื้อหาของบทความกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคือ Chemistry Section of National Research Institute of Police Science (NRIPS) และ Forensic Science Laboratory of Tokyo Metropolitant Police Department

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้คือ การสอบสวนเพื่อหาว่ากลุ่มคนดังกล่าวสามารถสังเคราะห์แก๊สซารินขึ้นมาได้อย่างไร และจะว่าไปประมาณ ๒ ปีก่อนหน้านี้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำการโจมตีด้วยแก๊สพิษมาแล้วหลายครั้งก่อนที่จะเกิดการโจมตีในรถไฟใต้ดิน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://en.wikipedia.org/wiki/Tokyo_subway_sarin_attack) มีทั้งการใช้ ซาริน, VX (เป็น nerve agent หรือสารทำลายระบบประสาทตัวหนึ่ง), และฟอสจีน (phosgene - COCl2) ซึ่งหลังเหตุการณ์เหล่านี้ถ้าการสอบสวนสามารถนำไปถึงต้นตอการผลิตได้ เหตุการณ์ในรถไฟใต้ดินนี้ก็คงไม่เกิด

รูปที่ ๑ รูปภาพจากบทความที่นำมาเขียน เป็นภาพเจ้าหน้าที่กำลังทำงานในรถไฟใต้ดินขบวนหนึ่งที่ถูกโจมตีด้วยแก๊ส

อันที่จริงซารินเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (จุดเดือดที่ 158ºC) แต่ด้วยการที่มันมีความเป็นพิษสูง ความเข้มข้นเพียงเล็กน้อยในอากาศก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้ การเร่งการระเหยสามารถทำได้ด้วยการใช้ความร้อนและการทำให้เป็นฝอยละอองเล็ก ๆ (แบบเดียวกับถ้าเราเอาน้ำใส่กระบอกฉีดน้ำแล้วพ่นออกมาเป็นละอองฝอย น้ำจะระเหยหมดโดยไม่ตกถึงพื้น)

จากเอกสารที่ยึดได้ และการพิสูจน์หลักฐานในสถานที่ตั้งของกลุ่ม Aum Shinrikyo (สารเคมีที่พบตกค้างบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเตรียม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถสรุปขั้นตอนการเตรียมซารินที่กลุ่ม Aum Shinrikyo ใช้ออกเป็น ๕ ขั้นตอน (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ คำบรรยายขั้นตอนการสังเคราะห์

ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่าง Phosphorus trichloride (PCl3) กับเมทานอล (Methanol) เพื่อ่ผลิต Trimethylphosphite (พบ n-Hexane ที่คงใช้เป็นตัวทำละลายในอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมขั้นตอนที่ ๑ ตัวย่อ DEA คือเบส N, N-diethylaniline ที่ใช้ในการสะเทินกรดที่เกิดจากปฏิกิริยา)

ขั้นตอนที่ ๒ เป็นการเปลี่ยน Trimethylphosphite เป็น Dimethylmethylphosphonate (DMMP) ซึ่งเกิดจากการจัดเรียงตัวใหม่ของโมเลกุล Trimethylphosphate โดยใช้ความร้อน (โดยอาจมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย หลักฐานที่พบจากอุปกรณ์การเตรียมในขั้นตอนที่สองคือธาตุไอโอดีน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ถ้าจะมีการใช้ Methyl Iodide CH3I ในการทำปฏฺกิริยา)

ขั้นตอนที่ ๓ เป็นการนำเอา DMMP มาทำปฏิกิริยากับ Phosphorus pentachloride (PCl5) เพื่อสังเคราะห์ Methylphosphonyl dichloride (MPA ที่พบตกค้างในอุปกรณ์คือ Methylphosphonate ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของ nerve agent)

ขั้นตอนที่ ๔ เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่าง Methylphosphonyl dichloride กับ Sodium fluoride (NaF) เพื่อสังเคราะห์ Methylphosphonyl difluoride (พบ NaCl และ NaF จากอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมขั้นตอนนี้)

ขั้นตอนที่ ๕ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นการนำเอาสารผสมระหว่าง Methylphosphonyl dichloride กับ Methylphosphonyl difluoride มาทำปฏิกิริยากับ Isopropanol ก็จะได้ซาริน (ตัวย่อสาร IMPA ที่พบตกค้างในอุปกรณ์ที่ใช้เตรียมในขั้นตอนนี้คือ Isopropylmethlphosphonate)

ซึ่งถ้านำเอาขั้นตอนต่าง ๆ มาเขียนใหม่เป็นสมการเคมีก็จะได้ดังรูปที่ ๓ ข้างล่าง

รูปที่ ๓ ถ้านำคำบรรยายในรูปที่ ๓ มาเขียนเป็นสมการก็จะได้ดังรูปข้างบน

หลังเกิดเหตุการณ์ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว การสอบสวนพฤติกรรมของกลุ่มนี้นำย้อนไปยังประเทศออสเตรเลีย จากบทความที่เขียนโดย Commander Jeff Penrose เรื่อง "Western Australian link to Japanese Doomday Cult" บรรยายไว้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้มาซื้อพื้นที่ห่างไกลทางภาคตะวันตกของออสเตรเลีย (รูปที่ ๔) โดยอ้างว่าจะเข้ามาทำเหมือง แล้วได้ส่งกลุ่มคนเข้ามาครอบครองพื้นที่เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้เดินทางออกไปและขอกลับเข้ามาใหม่ ก็ถูกปฏิเสธการเข้าเมือง เนื่องจากทางการออสเตรเลียสงสัยในพฤติกรรมการเข้ามาก่อนหน้า (แต่ก็ไม่ได้มีการลงตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวว่าแท้จริงแล้วมีการทำอะไรกัน)

รูปที่ ๔ สถานที่ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ทางกลุ่ม Aum Shinrikyo ใช้ทดลองสังเคราะห์และทดสอบสารพิษที่ผลิตได้

การเข้าตรวจพื้นที่หลังเหตุการณ์ในกรุงโตเกียว พบซากสัตว์ (รูปที่ ๕) ที่คาดว่าน่าจะใช้ทดสอบสารพิษ และอาคารร้างที่คาดว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการสังเคราะห์ซาริน

รูปที่ ๕ ซากสัตว์จำนวน ๒๙ ตัวที่พบในพื้นที่ที่ทางกลุ่ม Aum Shinrikyo เข้ามาใช้

สารเคมีที่ปรากฏในบทความที่เกี่ยวข้องกับสินค้า DUI ในหัวข้อ 1C350 มีดังนี้

3. Dimethyl methylphosphonate

4. Methylphosphonyl difluoride

5. Methylphosphonyl dichloride

7. Phosphorus trichloride (PCl3)

8. Trimethyl phosphite

38. Phosphorus pentachloride (PCl5)

43. Sodium fluoride (NaF)

แต่ถ้าดูจากเส้น่ทางการสังเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีในรายการนี้ที่ต้องจัดหามีเพียงแค่ ๓ ตัวเท่านั้นเองคือ PCl3, PCl5 และ NaF ส่วนตัวอื่นที่เหลือเป็นตัวที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารเหล่านี้กับสารเคมีที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม (เช่น methanol, isoporpanol, methyl iodide)

เหตุการณ์นี้ให้ข้อคิดที่สำคัญบางข้อเช่น ในขณะที่มีการทุ่มความพยายามในการติดตามการส่งออกสารเคมีควบคุมไปยังประเทศต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ก่อตั้ง Australia Group (กลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเพื่อควบคุมการส่งออกสารเคมีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมี) มองว่าเป็นประเทศอันตราย เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตอาวุธเคมีขึ้นมาได้ แต่ซารินที่ใช้ในการก่อการร้ายครั้งนี้ต่างก็ถูกเตรียมขึ้นในประเทศกลุ่มผู้ก่อตั้งนี้เอง

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567

Chloropicrin (Trichloronitromethane) MO Memoir : Sunday 1 September 2567

วิธีการหนึ่งที่ใช้กำจัดแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในซอกหลืบต่าง ๆ ของอาคาร (หรือในกองวัสดุเช่นเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ) คือการรมแก๊ส เพราะแก๊สสามารถซอกซอนเข้าไปในซอกเล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่สารเคมีที่เป็นของเหลวนั้นยากที่จะเข้าถึง และแก๊สตัวหนึ่งที่มีการนำมาใช้คือ Chloropicrin หรือ Trichloronitromethane

รูปที่ ๑ เส้นทางการสังเคราะห์ Chloropicrin (วาดขึ้นตามข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Chloropicrin)

เริ่มแรกนั้น chloropicrin สังเคราะห์ขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่าง pric acid (trinitrophenol) กับ sodium hypochlorite (NaOCl) เส้นทางหลักที่ใช้ในการผลิตปัจจุบันคือปฏิกิริยาระหว่าง nitromethane (H3C-NO2) กับ sodium hypochlorite และอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถเตรียมได้ในห้องปฏิบัติการคือปฏิกิริยาระหว่าง chloroform (CHCl3) กับ nitric acid (รูปที่ ๑)

มหาสงครามในยุโรปที่ปัจจุบันเราเรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นเดิมจะเรียกว่า "The Great War" เพราะว่ามันยังไม่มีมหาสงครามครั้งที่ ๒ ที่เกิดขึ้นในอีก ๒๐ ปีให้หลัง สงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นจัดว่าเป็นสงครามสนามเพลาะและยังได้รับการปกป้องด้วยรั้วลวดหนาม การทำลายสนามเพลาะต้องอาศัยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ที่ใช้กระสุนบรรจุด้วยดินระเบิด แต่ถ้ากระสุนนั้นไม่ลงตรงสนามเพลาะพอดีหรือหลุมหลบภัยนั้นมั่นคงแข็งแรงพอ กระสุนปืนใหญ่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคลื่นอัดจากแรงระเบิดนั้นมันวิ่งตรงออกไปจากจุดระเบิด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการนำเอาแก๊สพิษมาใช้ เพราะแก๊สพิษที่หนักกว่าอากาศนั้นสามารถเคลื่อนตัวต่ำลงไปในหลุมหลบภัยหรือแพร่เข้าไปในอาคารที่เป็นที่หลบภัยได้

อาวุธเคมีเริ่มต้นก็เริ่มจากแก๊สพิษก่อน (ตัวแรกที่ใช้คือแก๊สคลอรีน) ที่นี้พอฝ่ายตรงข้ามมีหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่ใช้อยู่ ก็แก๊สปัญหาด้วยการออกแก๊สพิษตัวใหม่ (ที่ต้องใช้ไส้กรองอากาศที่แตกต่างออกไปในการกรอง) หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้พวกที่ออกฤทธิ์ต่อผิวหนัง เช่นพวกแก๊สมัสตาร์ด ที่ถ้าจะป้องกันจริง ๆ ก็ต้องมีชุดป้องกันสวมคลุมทั้งตัว แต่การจะเลือกใช้อาวุธเคมีแบบใดก็ต้องดูด้วยว่ามีการตกค้างในพื้นที่ดังกล่าวได้นานแค่ไหน ถ้าเป็นพื้นที่ที่ต้องการเข้าไปครอบครองหลังข้าศึกออกไปแล้ว ก็ไม่ควรที่จะใช้ชนิดที่ตกค้างนาน (เพราะฝ่ายตนเองก็จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เช่นกัน)

เทียบกับแก๊สพิษตัวอื่นที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว chloropicrin จัดว่าเป็นพวกที่มีความรุนแรงไม่มาก แต่มันมีจุดเด่นก็คือสามารถซึมผ่านยางของหน้ากากป้องกันแก๊สพิษได้ เอกสาร Leavenworth Papers No. 10 Chemical Warfare in World War I: The American Experience, 1917-1918 by Maj.(P) Charles E. Heller ได้กล่าวถึงแนวความคิดการใช้งานและการใช้งาน chloropicrin ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เอาไว้หลายครั้ง

รูปที่ ๒ แนวทางการใช้แก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ของกองทัพอังกฤษ

ตัวอย่างเช่นในรูปที่ ๒ ที่บรรยายถึงแนวทางการใช้กระสุนปื่นใหญ่บรรจุแก๊สพิษของกองทัพอังกฤษ ซึ่งได้มีการพิจารณาการใช้งานอยู่ ๓ แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรกนั้นเป็นการระดมยิงถล่มด้วยกระสุนปืน่ใหญ่บรรจุแก๊สพิษ แต่แนวทางนี้ถูกมองว่าใช้งานได้ในช่วงนาทีแรกของการรบ เพราะเมื่อเริ่มการยิงทหารฝ่ายตรงข้ามก็จะทำการสวมหน้ากากป้องกันแก๊ส แนวทางที่สองคือการยิงกระสุนปืนใหญ่บรรจุแก๊สพิษอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนล้าลง สองแนวทางนี้ถูกมองว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก จึงเป็นที่มาของแนวทางที่สามคือการใช้แก๊สพิษผสมกับ chloropicrin โดย chloropicrin ที่ซึมผ่านยางของหน้ากากป้องกันแก๊ส จะทำให้ผู้สวมใส่หน้ากากเกิดการ ระคายเคืองดวงตา, ไอ, อาเจียน และระบบทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้ผู้สวมใส่หน้ากากต้องถอดหน้ากากป้องกันแก๊สพิษออก ซึ่งจะทำให้ต้องหายใจเอาแก๊สพิษที่รุนแรงกว่า (เช่น phosgene หรือ carbonyl chloride COCl2) เข้าไป

ใช่ว่าอังกฤษจะมี chloropicrin ใช้เพียงฝ่ายเดียว ทางเยอรมันก็มีใช้เหมือนกัน ข้อความในรูปที่ ๓ กล่าวถึงการที่พนักงานของบริษัทเอกชน ๔ แห่งของอังกฤษทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อผลิตหน้ากากป้องกันแก๊สโดยใช้ British Small Box Respirator (SBR) เป็นต้นแบบจำนวน ๒๐,๐๐๘ ชุดส่งไปแนวหน้า เพื่อที่จะถูกส่งคืนกลับ เพราะพบว่าส่วนที่เป็นยางของหน้ากากป้องกันแก๊สนั้นไม่สามารถป้องกัน chloropicrin ที่ทางเยอรมันกำลังเป็นเป็นอาวุธได้

สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามในยุโรปในช่วงท้ายสงคราม มีบางมุมมองกล่าวว่าเป็นเพราะช่วงที่สงครามเริ่มนั้นทางยุโรป (โดยเฉพาะอังกฤษ) ต้องมีการกู้เงินจากสหรัฐไปใช้ แต่พอสงครามเริ่มยืดเยื้อและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีฝ่ายใดชนะ (แนวรบด้านตะวันตกนั้นไม่ได้อยู่ในดินแดนเยอรมันเลย) สหรัฐเกรงว่าจะไม่ได้เงินที่ให้กู้ยืมคืน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเยอรมันเป็นฝ่ายชนะสงคราม) ก็เลยต้องหาเหตุในการเข้าร่วมรบ โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับลูกหนี้ของตัวเอง เพื่อที่ว่าถ้าชนะสงครามก็จะได้ไถ่ถอนเงินลงทุนคืน

รูปที่ ๓ ทางเยอรมันก็มีการใช้ chloropicrin เหมือนกัน

รูปที่ ๔ เป็นคำบรรยายเหตุการณ์เมื่อทหารสหรัฐอเมริกาประสบกับการถูกระดมยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่บรรจุแก๊สพิษที่ประกอบด้วย phosgene และ chloropicrin กระสุนตกครอบคลุมแนวหน้ากว้าง ๖๐๐ เมตร แต่ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ทำให้สามารถจัดการทหารที่อยู่ในแนวนั้นได้ถึง ๑ ใน ๓ (พุ่มไม้เตี้ยที่ขึ้นอยู่หนาแน่นทำให้การระบายอากาศในระดับต่ำทำได้ไม่ดี แก๊สพิษจึงสามารถตกค้างอยู่ได้นาน

รูปที่ ๔ เหตุการณ์เมื่อทหารสหรัฐประสบกับการใช้ chloropicrin ร่วมกับฟอสจีนในสนามรบ

นอกจากจะถูกใช้เป็นยาฆ่าแมลงแล้ว chloropicrin ยังถูกใช้เป็นแก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชนด้วย และในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็มีรายงานจากฝั่งยูเครนว่าทางรัสเซียมีการใช้ chloropicrin ในสนามรบ

chloropicrin ถูกจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางในหัวข้อ 1C450.a.7 (รูปที่ ๕)

รูปที่ ๕ Chloropicrin เป็นสินค้า DUI อยู่ในหมวด 1C450.a.7 สารเคมีที่เป็นพิษและสารตั้งต้นสำหรับสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากหมวด 1C350 อยู่นิดนึงตรงที่หมวด 1C350 นั้นบอกว่าเป็นสารเคมีที่อาจใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตสารพิษ