วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เพลิงไหม้จากการรั่วที่หน้าแปลน (๒) MO Memoir : Tuesday 5 November 2567

การตัดแยกระบบหรือการทำ Isolation เป็นขั้นตอนการทำงานที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้ process fluid รั่วไหลเข้าสู่ vessel หรือ downstream process ที่ต้องการทำการซ่อมบำรุง และอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าวคือตัว spade (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ การติดตั้ง (ซ้ายบน) Spade, (ขวาบน) Ring Spacer และ (ล่าง) Spectacle plate ระหว่างหน้าแปลน (รูปจาก https://www.haihaopiping.com/spectacle-flange-spades-and-ring-spacers.html)

หน้าตาของ spade เป็นดังรูปที่ ๑ ซ้ายบน คือเป็นแผ่นโลหะกลมมีด้ามโผล่ยื่นออกมา ขนาดของแผ่นกลมสามารถปิดท่อที่ต้องการตัดแยกระบบแต่สามารถสอดไว้ระหว่างน็อตของหน้าแปลนได้ ในกรณีของท่อที่มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นมากพอ อาจใช้การง้างท่อเพื่อสอดตัว spade เมื่อต้องการติดตั้ง แต่ในกรณีของท่อขนาดใหญ่หรือท่อที่ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ ก็ต้องเว้นที่ว่างระหว่างหน้าแปลนเอาไว้สำหรับใส่ตัว spade เมื่อต้องการติดตั้ง โดยขณะที่กระบวนการเดินเครื่องตามปรกติก็ต้องใส่ตัว ring spacer เข้าไปแทน (รูปที่ ๑ ขวาบน) เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างหน้าแปลน แล้วทำการบีบอัดด้วยน็อตของตัวหน้าแปลน (แต่ต้องไม่ลืมที่ต้องมีที่ว่างสำหรับใส่ปะเก็นระหว่างหน้าแปลนและตัว ring spacer ด้วย)

สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นปัญหาในการทำงานคือจะรู้ได้อย่างไรว่าที่สอดระหว่างหน้าแปลนนั้นเป็น spade หรือ ring spacer การแก้ปัญหาก็ทำได้ด้วยการทำให้โครงสร้างส่วนที่โผล่ยื่นพ้นหน้าแปลนออกมานั้นมีรูปแบบไม่เหมือนกัน หรือก็เอา spade และ ring spacer มาเชื่อมติดกันเป็น spectacle plate แบบรูปที่ ๑ ล่างไปเลย ถ้าเห็นด้านที่เป็น spade โผล่ยื่นออกมาก็แสดงว่าด้านที่เป็น ring spacer นั้นถูกสอดอยู่ระหว่างหน้าแปลน และเช่นเดียวกันถ้าเห็นด้านที่เป็น ring spacer โผล่ยื่นออกมาก็แสดงว่าด้านที่เป็น spade นั้นถูกสอดอยู่ระหว่างหน้าแปลน

หมายเหตุ : การตัดแยกระบบหรือ isolation นั้นปรกติจะไม่ไว้วางใจการใช้วาล์วเพียงตัวเดียวในการปิดกั้น เพราะถือว่าวาล์วอาจมีความบกพร่องที่ทำให้ปิดได้ไม่สนิท ในกรณีที่ต้องมีการตัดแยกระบบบ่อยหรือมีความยากลำบากในการติดตั้ง spade ก็อาจใช้ระบบ double block and bleed valves คือใช้ block valve สองตัวต่ออนุกรมกัน และมีท่อ vent หรือ drain เพื่อระบาย process fluid ที่อาจรั่วไหลผ่าน block valve ทางด้าน process ให้ระบายไปยังจุดที่ปลอดภัย

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Leakage and fire from a flange with a special shape at the reactor outlet at a gas oil mediumpressure hydrocracker" ที่เผยแพร่ในเว็บ Failure Knowledge Database ของประเทศญี่ปุ่น (https://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1300006.html) โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ Ichihara, Chiba ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕) ที่ต้องปูเรื่อง spade และ ring spacer ก่อนก็เพื่อให้ผู้ที่ยังเรียนอยู่หรือไม่ได้ทำงานทางด้านนี้มองเห็นภาพได้ว่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ มันไปปรากฏอยู่ในระบบท่อด้วยเหตุผลใด

รูปที่ ๒ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด

หน่วยผลิตที่เกิดเหตุนั้นสร้างขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) เพื่อใช้เป็นหน่วยกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันหนัก (desulphurization unit) ต่อมาในปีค.ศ. ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ถูกปรับเปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยกำจัดกำมะถันและ "decomposition unit" สำหรับ heavy gas oil ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ในปีค.ศ. ๒๐๐๒

คำ "decomposition unit" ที่ใช้บทความหมายถึงหน่วย hydrocraker ที่เรียกกันในปัจจุบัน คือการกำจัดสารประกอบกำมะถันอินทรีย์ที่ปนอยู่ในน้ำมันจะใช้แก๊สไฮโดรเจนทำปฏิกิริยาโดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยเพื่อดึงเอากำมะถันออกมาในรูปแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) โดยปฏิกิริยาจะเกิดที่อุณหภูมิและความดันที่สูง และด้วยการที่โมเลกุลของน้ำมันหนักแม้ว่าจะมีขนาดใหญ่แต่ก็มีความไม่อิ่มตัวสูง (มีพันธะ C=C มาก) จึงแตกตัวออกเป็นโมเลกุลเล็กลงได้ยาก เพราะการที่โมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลง จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความไม่อิ่มตัวสูงมากขึ้น ดังนั้นถ้าสารตั้งต้นมีความไม่อิ่มตัวสูงอยู่แล้ว การจะทำให้แตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลงจึงทำได้ยากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำลดความไม่อิ่มตัวของสารตั้งต้นลงก่อนด้วยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปยังตำแหน่งพันธะที่ไม่อิ่มตัว ซึ่งปฏิกิริยานี้ก็เกิดที่อุณหภูมิและความดันที่สูงเช่นกัน

ก่อนเกิดเหตุนั้น ได้มีการลดอัตราการไหลของสารตั้งต้นและลดอุณหภูมิของระบบลงจาก 370ºC เหลือเป็น 340ºC และเมื่อเวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น แก๊สความดันสูงและอุณหภูมิสูงได้รั่วไหลออกจากหน้าแปลนที่มี spacer ติดตั้งอยู่ ตำแหน่งหน้าแปลนนี้อยู่ทางด้านขาออกของ reactor ในช่วงแรกนั้นเปลวไฟที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก แต่ด้วยความร้อนของเปลวไฟจึงทำให้ bolt ที่ยึดหน้าแปลนไว้เกิดการยืดตัวออก ทำให้แรงกดหน้าแปลนให้แนบสนิทนั้นลดลง การรั่วไหลจึงเกิดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความเสียหายขยายเป็นวงที่กว้างขึ้น เพลิงสงบเมื่อเวลา ๕.๓๐ น ของวันถัดมา

หน่วยนี้มีการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงครั้งสุดท้ายในปีค.ศ. ๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) หรือก่อนเกิดเหตุประมาณ ๑ ปี และเมื่อทำการถอด spacer ออกจากหน้าแปลนที่เกิดเหตุก็พบว่าระยะห่างระหว่างหน้าแปลนนั้นมีความแตกต่างถึง 8 mm แทนที่จะขนานกัน ทำให้เวลาที่ใส่ spacer กลับคืนเข้าไปแล้วขัน bolt คืนเดิมนั้น ความตึงของ bolt แต่ะละตัวจะไม่เท่ากัน (คือด้านที่ห่างมากกว่าจะมีความตึงมากกว่า เพราะต้องใช้แรงมากกว่าในการดึงให้หน้าแปลนเคลื่อนเข้าหากัน)

บทความกล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลคาดว่าเป็นเพราะตัว spacer มีการหดตัวมากกว่าตัว bolt เมื่ออุณหภูมิของระบบลดต่ำลง คือถ้า bolt หดตัวด้วยขนาดเดียวกันหรือมากกว่าตัว spacer ตัว spacer ก็จะยังคงถูกบีบอัดเอาไว้ แต่พอ bolt หดตัวน้อยกว่า ก็เลยทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหน้าผิวสัมผัส

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในเมื่อหน้าแปลนมันไม่ขนานกัน แล้วทำไมจึงฝืนขันน็อตเพื่อให้หน้าแปลนมันแนบติดกัน ตรงนี้ผู้เขียนบทความเล่าไว้ว่ สมัยที่เป็นวิศวกรจบใหม่เข้าทำงานนั้น ในกรณีที่พบว่าหน้าแปลนนั้นไม่ขนานกันอันเป็นผลจากความเครียด (strain) ของระบบท่อ ก็จะใช้รอกโซ่ดึงหน้าแปลนเข้าหากันแล้วทำการขันน็อตให้แน่น ซึ่งแสดงว่าวิธีการทำงานดังกล่าวยังมีการปฏิบัติอยู่จนกระทั่งวันที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ตรงนี้ก็มีข้อควรพิจารณาคือ การใช้การดึงหน้าแปลนที่ไม่ขนานกันให้แนบเข้าหากันนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ เพราะตอนที่ประกอบท่อเมื่อสร้างโรงงานนั้นสามารถจัดให้ผิวหน้าแปลนขนานกันได้ แต่พอโรงงานมีการใช้งานก็จะทำให้ท่อมีการขยายตัว ซึ่งสามารถทำให้ท่อเกิดการเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งเดิมเมื่อแรกสร้าง และไม่คืนกลับตำแหน่งเดิมแม้ว่าโรงงานจะหยุดการเดินเครื่อง ทำให้เมื่อถอดน็อตยึดหน้าแปลนออกหน้าแปลนจึงไม่ขนานกัน ดังนั้นการทำเช่นนี้จึงอาจเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ถ้าความเบี่ยงเบนนั้นไม่มากเกินไป บทความไม่ได้กล่าวว่าท่อที่เกิดเหตุนั้นเป็นท่อขนาดกี่นิ้ว จึงไม่สามารถเทียบว่าระยะเบี่ยงเบน 8 mm ที่พบนั้นจัดว่ามากไปหรือไม่สำหรับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อที่เกิดเหตุ โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าประเด็นหน้าแปลนไม่ขนานนี้น่าจะเป็นตัวการหลักให้เกิดการรั่วไหลมากกว่าการหดตัวของ spacer

ในบทความต้นฉบับ มีความคิดเห็นหนึ่งของผู้เขียนที่ผู้อ่านควรต้องพิจารณาให้ดี คือผู้เขียนบทความกล่าวว่าการใส่ spacer ไว้ที่หน้าแปลนดังกล่าวก็เพื่อใช้ในการตัดแยก reactor ออกจากระบบเมื่อต้องทำการซ่อมบำรุง และน่าจะเป็นการดีกว่าถ้าหากใช้ "ท่อสั้น ๆ" แทนการใช้ spacer แม้ว่าจะต้องมีหน้าแปลนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคู่ก็ตาม สำหรับผู้ที่นึกภาพตรงนี้ไม่ออกขอให้ดูรูปที่ ๓ ประกอบ

รูปที่ ๓ (ซ้าย) การใช้ ring spacer (สีเขียว) ใส่ระหว่างหน้าแปลนเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับใส่ spade เมื่อต้องทำการแยก vessel ออกจาก process (ขวา) การใช่ท่อสั้น (สีส้ม) ที่จะถอดออกเมื่อต้องการแยก vessel ออกจาก process

คือในระหว่างการซ่อมบำรุงนั้นต้องมีการป้องกันไม่ process fluid รั่วไหลออกมายังด้านที่ทำการซ่อมบำรุง (เช่นตัว vessel) วิธีการที่ดีที่สุดคือไม่ให้มีการเชื่อมต่อทางกายภาพ (physical connection) ระหว่างกัน กล่าวคือถ้ามีชิ้นส่วนท่อสั้นเชื่อมระหว่างด้าน process กับด้าน vessel ก็ให้ถอดชิ้นส่วนท่อสั้นนั้นออก (ถอดตัวสีส้มในรูปที่ ๓) แต่ปลายท่อด้าน process ก็ต้องปิดด้วย blind flange ให้แน่นหนาสามารถกันการรั่วไหลได้ด้วย

การให้มีท่อสั้นที่สามารถถอดออกได้นั้นก็อาจทำไม่ได้ในกรณีที่พื้นที่มีจำกัด หรือในกรณีที่ท่อมีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ท่อสั้นที่ต้องถอดออกนั้นมีน้ำหนักมากตามไปด้วย การใช้ spade หรือ spectacle plate จะมึความสะดวกมากกว่า หรือในกรณีที่มีการปฏิบัติงานเป็นประจำ การใช้ double block and bleed valves ก็เป็นที่ยอมรับกัน เพราะรอยต่อที่ปิดสนิทไม่มีการรั่วซึมอยู่แล้ว พอไปถอดออกแล้วประกอบใหม่ ก็ต้องมาลุ้นกันใหม่ว่าประกอบใหม่แล้วจะมีการรั่วซึมอีกหรือไม่

การติดตั้ง orifice plate ที่ใช้วัดอัตราการไหลก็มีการติดตั้งแบบเดียวกับ ring spacer คือสอดไว้ระหว่างหน้าแปลน คือถ้าเอาแนวความคิดเดียวกันมาใช้ก็จะกลายเป็นว่าการติดตั้ง orifice plate อาจทำให้เกิดการรั่วไหลแบบนี้ได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนไปใช้ venturi flow meter จะดีกว่า

อีกประเด็นคือ ตัวหน้าแปลนเองก็เป็นจุดที่สามารถเกิดการรั่วไหลได้อยู่แล้ว อันเป็นผลจากการคลายตัวของน็อตยึดหน้าแปลนด้วยหลากหลายสาเหตุ (เช่นที่ได้เล่าไปในตอนที่ ๑)

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เพลิงไหม้จากการรั่วที่หน้าแปลน (๑) MO Memoir : Sunday 3 November 2567

เมื่อวานซืนมีคำถามมาจากวิศวกรโรงงานรายหนึ่ง สอบถามความเห็นเกี่ยวกับอะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สารเคมีที่รั่วออกมานั้นลุกติดไฟได้ คือจุดที่เกิดการรั่วไหลนั้นคือหน้าแปลนของ control valve ที่ใช้แรงดันอากาศควบคุมระดับการเปิด (ตัดประเด็นเรื่องไฟฟ้าออกไป) ไฟนั้นลุกไหม้อยู่เฉพาะตรงบริเวณตัว control valve และสารที่รั่วไหลออกมานั้นก็มี autoignition temperature ที่สูง และอุณหภูมิของสารที่รั่วออกมานั้นก็ต่ำกว่าค่า autoignition temperature จากข้อมูลที่เขาให้มาก็ทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำไปว่าควรจะลองไล่ไปดูว่าจุดที่รั่วนั้นจริง ๆ แล้วคือจุดใด โดยให้ไล่ดูแนวความเสียหายที่เกิดจากเพลิงไหม้ จะได้แยกได้ก่อนว่ามันรั่วออกมาก่อนแล้วค่อยลุกติดไฟ หรือเกิดปัญหาภายในจนทำให้ปะเก็นเสียหายแล้วจึงรั่วไหลออกมาลุกไหม้ภายนอก

จะว่าไปแล้วอุบัติเหตุจำนวนมากที่ต่างประเทศรายงานไว้ มักจะบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นตัวทำให้เชื้อเพลิงที่รั่วออกมานั้นเกิดการจุดระเบิด ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้คืออย่าให้เชื้อเพลิงเจอกับอากาศ (หรือสารออกซิไดซ์) เพราะถ้ามันเจอกันเมื่อใด มันก็มักจะหาแหล่งพลังงานที่จะจุดระเบิดได้เป็นประจำ (เช่น เปลวไฟ ประกายไฟ พื้นผิวที่ร้อน) แม้ว่าเราจะพยายามที่จะตัดแหล่งพลังงานดังกล่าวออกไปแล้วก็ตาม

หน้าแปลนที่ไม่มีการรั่วไหลในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจเกิดการรั่วไหลได้ด้วยหลายสาเหตุ และเหตุการณ์ทำนองนี้ก็มีบันทึกไว้หลายหลายเหตุการณ์ด้วยกัน

รูปที่ ๑ แผนผังกระบวนการผลิตของโรงงานที่เกิดเหตุ RCV-227 ที่ลูกศรชี้คือวาล์วที่เกิดการรั่วไหล

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มาจากบทความเรื่อง "Fire caused due to leakage from a control valve flange, which became loose due to vibration at a catalytic reforming unit" ที่เผยแพร่ในเว็บ Failure Knowledge Database ของประเทศญี่ปุ่น (https://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1000114.html) ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่ Sakai, Osaka ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ (พ.ศ. ๒๕๓๐) วาล์วที่เกิดเหตุคือ RCV-227 ที่เป็นวาล์วอยู่ระหว่างเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนและ catalytic reforming reactor

ปฏิกิริยา Reforming เป็นปฏิกิริยาที่ใช้เปลี่ยนไฮโดรคาร์บอนโซ่ตรงให้กลายเป็นวงแหวนอะโรมาติก เป็นกระบวนการหลักที่ใช้ผลิต Benzene (C6H6), Toluene (C6H5-CH3) และ Xylenes (C6H4(CH3)2) ผสมทั้ง 3 ไอโซเมอร์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปฏิกิริยาเรียกว่า reformate หรือ BTX (ชื่อย่อของผลิตภัณฑ์หลัก 3 ตัวข้างต้น) และมีแก๊สไฮโดรเจนเกิดร่วมด้วย ปฏิกิริยาเกิดที่อุณหภูมิและความดันที่สูง (บทความให้ตัวเลขไว้า 450ºC และ 3 MPa ซึ่งเป็นของเทคโนโลยีที่ใช้ในขณะที่เกิดเหตุ ส่วนเทคโนโลยีปัจจุบันจะใช้อุณหภูมิและความดันต่ำกว่านั้น) ถ้าเป็นการเปลี่ยนจากโครงสร้างโซ่ตรงเป็นโซ่กิ่งจะเรียกว่าปฏิกิริยา Isomerisation

ในวันที่เกิดเหตุการณ์ เวลาประมาณ 8.40 น โอเปอร์เรเตอร์ที่เดินตรวจโรงงานตรวจพบเปลวไฟสูงประมาณ 50 cm พุ่งออกมาจากหน้าแปลน จึงได้แจ้งให้ทางโรงงานหยุดเดินเครื่องโรงงาน การตรวจสอบหน้าแปลนที่เกิดการรั่วพบว่า bolt ยึดหน้าแปลนจำนวนทั้งหมด24 ตัวมีการคลายตัว 4 ตัว ทำให้น้ำมันในท่อที่มีอุณหภูมิสูงกว่า autoignition temperature เมื่อรั่วไหลออกมาจึงลุกติดไฟได้ทันที (จำนวน bolt สำหรับยึดหน้าแปลนขึ้นกับขนาดของท่อและความดัน ในเหตุการณ์นี้ประมาณว่าหน้าแปลนที่เกิดการรั่วนั้นน่าจะเป็นของท่อขนาดประมาณ 18-24 นิ้ว)

สาเหตุที่ทำให้น็อตคลายตัวเป็นผลจากการสั่นสะเทือนของระบบท่อในขณะเดินเครื่อง และการทำ "Hot-bolting" ที่ไม่เพียงพอ (หมายเหตุ : ภาษาไทยเรียกรวม สลักเกลียวหรือนอตตัวผู้ (bolt) และแป้นเกลียวหรือน็อตตัวเมีย (nut) ว่าน็อต)

ปรกติการขันน็อตจะทำกันที่อุณหภูมิห้องจนมีความตึงที่พอเหมาะที่จะบีบหน้าแปลนเข้าหากัน แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ตัว bolt จะมีการยืดตัวออก ทำให้แรงที่บีบหน้าแปลนเข้าหากันนั้นลดต่ำลงจนอาจทำให้หน้าแปลนนั้นแยกห่างจากกันจนเกิดการรั่วไหลได้ การแก้ไขทำได้ด้วยการเผื่อความตึง (คือแรงบิดสุดท้ายที่ใช้ในการขัน) ขณะขันเมื่อน็อตนั้นเย็น หรือขันนอตให้ตึงเพิ่มขึ้นเมื่อระบบมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ในเหตุการณ์นี้ไม่มีใครทราบว่าการรั่วไหลและการลุกไหม้นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ด้วยคงเป็นเพราะขนาดการรั่วไหลและเปลวไฟที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่ จึงทำให้ไม่ส่งผลต่อกระบวนการผลิตจนทำให้อุปกรณ์วัดคุมของกระบวนการผลิตตรวจพบความผิดปรกติ จนกระทั่งโอเปอร์เรเตอร์ที่ทำหน้าที่เดินตรวจนั้นไปพบเข้า