วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเตรียมตัวสำหรับการเรียนปริญญาโท MO Memoir : Thursday 13 May 2553

Memoir ฉบับนี้แจกจ่ายให้กับผู้ที่จะเข้าร่วมกลุ่มในภาคการศึกษาที่กำลังจะถึงนี้ด้วย


เมื่อเช้าวันวานมีว่าที่สมาชิกใหม่ (ตอนนี้ให้ตำแหน่งเป็น "ว่าที่" ไปก่อน จนกว่าจะมาลงทะเบียนแรกเข้า) แวะมาสอบถามว่าควรต้องเตรียมอ่านอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ ผมก็บอกเขาไปว่าก็ไปอ่านทุกเรื่องที่เขียนที่เผยแพร่อยู่ใน blog ให้หมดก่อน (ทั้งหมดก็กว่า ๕๐๐ หน้ากระดาษ A4) ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เผยแพร่ และเรื่องที่เผยแพร่ไปแล้วในรูปแบบไฟล์ pdf นั้นถ้าอยากได้ก็ค่อยมาคัดลอกไฟล์ไปจากคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลของกลุ่ม (ซึ่งตอนนี้ก็มีคนได้คัดลอกไฟล์ไปแล้ว)


Memoir นี้ก็เลยขอถือโอกาสเล่าให้ฟังก่อนเลยว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้วจะต้องพบกับอะไรบ้าง


เรื่องแรกคือต้องลงเรียนวิชา Advance ต่าง ๆ กัน ๔ วิชา โดยจะเรียนกันทีละวิชา วิชาละ ๔ สัปดาห์ โดยตารางสอนจะจัดเป็นเรียนวันละ ๓ ชั่วโมง ๔ วันต่อสัปดาห์ เรียนไปได้ ๒ สัปดาห์ก็จะสอบกลางภาค และพอครบ ๔ สัปดาห์ก็จะสอบปลายภาค จากนั้นเดือนถัดไปก็จะเริ่มเรียนวิชาใหม่กัน เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ ๔ เดือนก็จะจบการศึกษาภาคแรกพอดี

ที่ผ่านมานั้นนิสิตมักจะบ่นกันว่าเรียนหนักจนไม่มีเวลามาติดตามว่ารุ่นพี่ที่แลปนั้นทำอะไรกันอยู่บ้าง ผมก็ตอบกลับไปว่าที่ตอนเรียนปริญญาตรีเห็นลงทะเบียนเรียนกันที่ละ ๑๘-๒๒ หน่วยกิตก็เห็นเรียนกันได้ไม่บ่นอะไร แต่พอเรียนปริญญาโทเพียงแค่ภาคกาคศึกษาละ ๑๒ หน่วยกิตกลับบ่นว่าเรียนหนัก หรือเป็นเพราะว่าอายุมากขึ้นร่างกายแก่ตัวลง เรียนแค่นี้ก็บ่นว่าหนักแล้ว

ทุกปีผมก็บอกเป็นประจำว่าไปเรียนวิชา Advance พวกนั้นให้จบก่อนแล้วค่อยมาสนใจว่าตัวเองจะได้ทำวิจัยในหัวข้ออะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องโผล่หน้ามาที่แลปเลย แต่ควรมาที่แลปเป็นประจำ อย่างน้อยวันละครั้งก็ดี แต่การโผล่หน้านี้ก็ไม่ใช่แค่โผล่มาให้กล้องจับภาพได้ว่ามาแล้วแล้วก็กลับเลย

เหตุผลข้อแรกของการที่ต้องเข้ามาที่แลปบ้างนั้นก็เพื่อเรียนรู้ว่าคนที่ทำงานอยู่ก่อนหน้านั้นเขากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อที่เมื่อมารับช่วงงานต่อจะได้รู้ว่างานนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเทคนิควิธีการทำการทดลองอย่างไรบ้าง ผมบอกกับทุกคนที่เข้ามาใหม่ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของคนที่อยู่ก่อนที่ต้องไปสอนคนที่เข้ามาใหม่ แต่เป็นหน้าที่ของคนที่เข้ามาใหม่ที่จะต้องไปขอเรียนจากคนที่อยู่ก่อน แต่ละคนนั้นมีเวลาทำงานไม่แน่นอนและไม่เหมือนกัน และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมันก็ไม่เลือกเวลาเกิดซะด้วย บางครั้งการเรียนที่ดีที่สุดคือต้องมานั่งรอดูว่าวันนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างไหม เพราะการเรียนการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการอยู่ในช่วงเวลาที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นและกระทำการแก้ไขกันอยู่ ไม่ใช่รออ่านรายงานหลังการแก้ปัญหานั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว

เหตุผลข้อที่สองก็คือเครื่องมือในแลปเรานั้นจะมีผู้รับผิดชอบคอยดูแล ซึ่งก่อนใช้งานต้องผ่านการอบรมและสอบก่อน ผู้ดูแลจะเป็นผู้กำหนดเวลาการสอนและสอบ ซึ่งนิสิตทุกคนต้องเข้ามารับการอบรมก่อนที่จะใช้เครื่องมือได้ บางเครื่องมือนั้นเป็นของแลปเอง บางเครื่องมือเป็นของบริษัทที่ทำวิจัยร่วมอยู่ ผู้ที่เข้ามาใหม่ควรที่ต้องมาเรียนทุกเครื่อง ไม่ใช่แค่เครื่องที่คิดว่าตัวเองจะใช้เท่านั้น เพราะบางทีเราอาจต้องไปใช้เครื่องวิเคราะห์ที่ไม่ได้คาดว่าจะใช้ก็ได้

เหตุผลข้อที่สามก็คือที่แลปนั้นจะมีงานส่วนกลางที่นิสิตทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาด งานบัญชี งานเครื่องมือเครื่องใช้ งานสารเคมีและวัสดุสิ้นเปลืองส่วนกลาง งานรับผิดชอบเครื่องมือ ฯลฯ ซึ่งบางงานเช่นงานทำความสะอาดจะมีการจัดเวรให้แต่ละกลุ่มสลับหน้าที่กันทำตามตารางเวลา ส่วนงานพวกบัญชี สารเคมี วัสดุสิ้นเปลืองนั้น และเครื่องมือวิเคราะห์นั้นจะเข้ารับผิดชอบตอนช่วงขึ้นปี ๒ แต่ในช่วงแรกต้องมาเรียนรู้กันก่อนว่าในแต่ละงานมีรายละเอียดอะไรบ้าง


การเรียนระดับโท-เอกนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจะมีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดว่าคุณจะเรียนจบหรือไม่จบ ดังนั้นการทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้จะมีประโยชน์มาก ผมบอกกับนิสิตทุกคนที่เข้ามาเรียนว่าให้ยึดถือสุภาษิตไทยที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" ดังนั้นผมถือว่าอายุมากแล้วจะให้ดัดนิสัยให้รับกับพฤติกรรมของพวกคุณได้คงจะยากหน่อย แต่พวกคุณควรต้องดัดนิสัย (ถ้าไม่ตรง) ให้เข้ากับกับรูปแบบการทำงานของผม

ตัวผมเองมีนิสัยอย่างไรนั้นขอให้ลองไปทำแบบทดสอบใน

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "เท่ากับเท่าไร"

แล้วจะทราบคำตอบเอง ส่วนรูปแบบการเรียนกับผมนั้นเป็นไปในรูปแบบไหนนั้นขอให้ไปอ่าน

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๗ วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒ เรื่อง "สัมมนา มันคืออะไร"

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔๔ วันจันทร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ผี" และ

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๘๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ไม่มีสัมมนา มีแต่พักกินกาแฟ"

ซึ่งทั้ง ๔ เรื่องนั้นเปิดอ่านได้จาก blog ของกลุ่ม


คำถามหนึ่งที่มีคนถามถึงคือกลุ่มเรามีประชุมกลุ่มกันวันไหน คำตอบก็คือเมื่อมีเรื่องสำคัญที่ต้องให้ทุกคนรับทราบ หรือเมื่อทำงานกันจนไปเป็นระยะหนึ่งแล้วจึงจะเรียกประชุมทีเพื่อให้คนอื่นรับทราบว่าใครกำลังทำอะไรอยู่หรือพบเจออะไรบ้าง เพราะโดยปรกตินิสิตในที่ปรึกษาของผมมักจะเจอผมกันเกือบทุกวัน (วันทำงาน) และผมก็มีนิสิตดูแลอยู่เพียงไม่กี่คน และทุกคนก็มักพบที่แลปอยู่ตลอดเวลา พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็เรียกพบกันได้เลย (หรือเรียกว่าเรียกประชุมได้ทันที) และบังเอิญผมก็ไม่ใช่อาจารย์ประเภทนิสิตพบได้สัปดาห์ละครั้งเฉพาะเวลาประชุม

เหตุผลที่ทำไมอาจารย์บางคนต้องมีการประชุมเป็นประจำและต้องมีการลงชื่อผู้เข้าประชุมแต่ละครั้งก็เพื่อที่อาจารย์ผู้นั้นจะใช้เอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานว่าได้สอนนิสิตและมีนิสิตคนใดมาเรียนบ้าง (แต่ทำไมไม่ทำในเวลาราชการก็ไม่รู้) ส่วนทางกลุ่มเรานั้นจะใช้วิธีส่งบันทึกเวียนให้ทุกคนรับทราบ โดยผมจะเป็นผู้เขียนบันทึกเป็นหลักเกี่ยวกับงานที่มอบหมายให้ทำ และนิสิตที่กำลังทำงานอยู่ก็จะต้องมีการส่งรายงานการทำงานเป็นระยะด้วย โดยบันทึกจนะส่งเป็นอีเมล์ให้กับทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อที่จะแสดงว่าได้มีหลักฐานการทำงานและมีความก้าวหน้าเป็นระยะ เพราะถ้ามีการตรวจสอบผลการให้คะแนนเมื่อใด ต่างฝ่ายก็จะมีหลักฐานยืนยันกับผู้ที่เข้ามาตรวจสอบได้


เรื่องสุดท้ายคือทางกลุ่มจะมีกิจกรรมใดบ้างนั้นสามารถอ่านได้จาก

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๖ วันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เรื่อง "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู"

Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๔ วันพุธที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "เครื่องกระสุน" และ

Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗๒ วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เรื่อง "จี้หรือนั่งแท่น"

ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องนั้นเปิดอ่านได้จาก blog ของกลุ่มเช่นเดียวกัน


หวังว่าคงจะได้พบสมาชิกใหม่ทุกคนพร้อมหน้ากันในวันลงทะเบียนแรกเข้า

ไม่มีความคิดเห็น: