วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๑ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล MO Memoir : Saturday 22 January 2554

ใน memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๒ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๒๒) นั้น ในตอนท้ายผมได้กล่าวถึงเรื่อง variac ที่มีรายงานว่าเสีย

ในวันพุธที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา ผมกับสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้และสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงก็ได้เข้าไปตรวจ และพบว่าระบบ autoclave มีปัญหาจริง แต่ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ variac เพราะเมื่อปลดสายไฟด้านขาออกจาก variac แล้วพบว่าระบบยังสามารถจ่ายไฟได้ตามปรกติ ไม่มีปัญหาใด แต่ถ้าต่อสายไฟด้านขาออกที่จ่ายไปยัง autoclave เมื่อใด circuit breaker จะตัดวงจรทันที แสดงว่าคงมีไฟฟ้าลัดวงจรอยู่แถว ๆ เครื่อง autoclave แต่พอจะไปตรวจหาสาเหตุที่ autoclave ก็พบปัญหาดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ มอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดและล้อขับเคลื่อนใบพัด


๑. ผมทราบปัญหาในวันจันทร์ แสดงว่าระบบเกิดปัญหาก่อนหน้านั้น แต่เมื่อเกิดแล้วแทนที่จะหาทางแก้ไข ก็กลับปล่อยทิ้งคาเอาไว้ แล้วก็หายหัวไปหมด หาคนรับผิดชอบไม่ได้ เท่าที่ไปตรวจดูเมื่อวันศุกร์ คนที่ใช้เครื่องมือและพบว่าเครื่องมือมีปัญหาก็ยังไม่มาดูแล และไม่มีการติดป้ายเตือนว่าเครื่องมีปัญหา และไม่บอกด้วยว่าให้ติดต่อใครเมื่อมีปัญหา

๒. เท่านั้นยังไม่พอ ยังเล่นคาสารเคมีต่าง ๆ เอาไว้ใน autoclave ตัวเองไม่มาซ่อม ก็กันไม่ให้คนอื่นมาซ่อมแซมได้ และยังเป็นการกันไม่ให้คนอื่นมาทำการแก้ไขอีก เท่าที่พอจะติดต่อได้คือ เขาบอกว่าถึงแม้ว่าจะให้ความร้อนแก่ระบบไม่ได้ ก็ขอปั่นกวนระบบทิ้งเอาไว้

๓. เขาเปิดมอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดให้หมุน แต่เมื่อไปตรวจดูแล้วพบว่า "ไม่มี" สายพานคล้องอยู่ระหว่างเพลาหมุนของมอเตอร์กับล้อขับเคลื่อนเพลาใบพัด (ตรงที่วงแดงในรูป) แต่สายพานนั้นมาพาดอยู่ตรงท่อข้าง ๆ ดูเหมือนว่าจะขาดในระหว่างการหมุน


ผมรอจนถึงวันศุกร์เมื่อวาน ก็พบว่ายังไม่มีใครมาดูแล มอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดก็ยังหมุนตัวเปล่าเหมือนเดิม (ให้มันกินไฟเล่น ๆ เพราะถือว่าไม่ได้จ่ายค่าไฟ) ก็เลยปิดมอเตอร์ซะ (ที่ต้องรอก็ไม่ใช่อะไรหรอก ต้องการให้เจ้าตัวผู้ใช้เครื่องมือมาจัดการปิดด้วยตัวมันเอง จะได้เห็นพฤติกรรมของตนเอง ถ้าคนอื่นทำแทนหมดต่อไปมันก็จะได้ใจ ก่อปัญหาอะไรไว้ก็คิดว่าเดี๋ยวคนอื่นจะจัดการแก้ไขให้เอง แต่ครั้งนี้ที่ต้องปิดให้ก่อนก็ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย)


เวลาที่ทำงานกับอุปกรณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะมีระบบควบคุมอัตโนมัติหรือไม่ก็ตาม หรือเมื่อระบบเข้าสู่ steady state แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานจะสามารถปล่อยมันทิ้งไว้โดยไม่ต้องดูแล สามารถกลับมาอีกครั้งก็เมื่อครบกำหนดเวลา ที่ถูกต้องคือต้องกลับมาตรวจสอบการทำงานเป็นระยะว่าในระหว่างนั้นมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่นไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล อุปกรณ์ทำงานต่อเนื่องเกินกำลังจนร้อนจัด ชิ้นส่วนเกิดความเสียหายเนื่องจากการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน การประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ


การตรวจสอบนั้นก็ไม่ได้หมายความเพียงแค่การใช้สายตาดู แต่รวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงว่ามีเสียงดังผิดปรกติหรือไม่ (เช่น เสียงแก๊สรั่ว น้ำหยด เสียงจากการเสียดสีของชิ้นส่วนที่ขาดการหล่อลื่น ฯลฯ) มีกลิ่นผิดปรกติหรือไม่ (เช่น กลิ่นสารเคมีรั่ว กลิ่นไหม้ เป็นต้น) มีอุปกรณ์ส่วนใดร้อนจัดผิดปรกติหรือไม่

มีบ่อยครั้งที่งานวิจัยต้องทำต่อเนื่องหรือเปิดเครื่องต่อเนื่องทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าคนเพียงคนเดียวไม่สามารถที่จะดูแลตลอดเวลาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมีการฝากเพื่อนฝูงหรือผู้ร่วมทีมงานขอให้ช่วยดูแลให้ช่วงที่เขาต้องไปทำธุระอย่างอื่นหรือต้องการการพักผ่อน (ที่ไม่ใช่การไปเที่ยว) ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องทำงานในรูปแบบดังกล่าวจึงควรต้องทำป้ายติดเอาไว้ด้วยว่าเริ่มทำการทดลองตั้งแต่เมื่อใด และจะไปสิ้นสุดเมื่อใด และในระหว่างนั้นถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะให้ทำอย่างไร (เช่นตัดไฟฟ้าที่ตำแหน่งใด ตัดน้ำที่ตำแหน่งใด เป็นต้น) และจะให้ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ใด ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงมีความสำคัญในกลุ่มเรา

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ วิธีการเรียนรู้การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่กำลังทำการแก้ปัญหา เพราะหลายสิ่ง เช่น เสียง กลิ่น ฯลฯ ไม่สามารถบรรยายด้วยตัวอักษรได้ ต้องเข้ามาสัมผัสด้วยตนเอง แต่เนื่องจากเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใด การรอให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วคิดว่าจะมีคนตามมาดูวิธีการแก้ไขนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะปรกติเมื่อรับทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ผมก็จะลงมือแก้ไขทันทีที่มีโอกาส


การเรียนรู้วิธีการใช้งานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดในระหว่างการใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงรถยนต์ซิ ความยากง่ายระหว่างเรียนขับรถให้เป็นกับเรียนซ่อมรถให้เป็นนั้นมันคนละระดับกันเลย

ไม่มีความคิดเห็น: