ผมได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
ในประเทศอังกฤษที่ผมไปศึกษานั้นเขามีระบบว่า
"ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็ต้องมีการสอบสวนและมีการทำรายงาน
ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นกระทำผิดซ้ำเดิมอีก
การปกปิดเอาไว้จะมีความผิด"
ผมได้มีโอกาสได้อ่านรายงานการสอบสวนและบทความที่มีการตีพิมพ์หลายบทความเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่าง
ๆ ในโรงงาน
บทความเหล่านั้นจำนวนมากเขียนโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์นั้น
แต่การเขียนของเขานั้นก็ไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดเกิดที่หน่วยงานใด
เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญในการรายงาน
เรื่องที่สำคัญกว่าคือเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานอะไรอยู่
และผลกระทบที่ตามมา
และมาตรการป้องกันที่ควรมีเพิ่มเติม
เมื่อวานตอนราว
๕ โมงเย็นผมมีคนมาปรึกษากับผมเรื่องอุบัติเหตุจาก
syringe
pump ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนประมาณบ่ายสองโมง
โดยเขาเป็นห่วงว่าเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บจะเป็นอะไรมากไหม
เรื่องอาการบาดเจ็บผมคงตอบอะไรได้ไม่มากเพราะไม่ได้เห็นบาดแผลและไม่ใช่แพทย์ผู้ทำการรักษา
ผมให้ได้แต่เพียงข้อมูลของสารเคมีและยืนคุยกับพวกเขาว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร
ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องระบุให้ได้
ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดขึ้นซ้ำอีก
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า
Syringe pump
รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
มีหลักการทำงานอย่างไร
และใช้ทำอะไร
Syringe
pump จัดเป็นพวก
positive
displacement pump (พวกปั๊มลูกสูบ)
คืออาศัยการอัดของเหลวด้วยลูกสูบไปข้างหน้า
ปั๊มพวกนี้ใช้กับการป้อนของเหลวในปริมาตรน้อย
ๆ ตัวอย่างหนึ่ง
(ที่คิดว่าใกล้เคียงกับตัวที่เกิดอุบัติเหตุแสดงไว้ในรูปที่
๑ ข้างล่าง
รูปที่
๑ Syringe
pump แบบหนึ่ง
(ภาพจาก
http://www.ideservice.com/repair-syringe-pump.html)
ในการใช้งานนั้น
เราจะนำ syringe
(หรือที่เรามักเรียกว่าเข็มฉีดยา
แม้ว่าจะเอามันไปใช้ฉีดอย่างอื่น)
ดูดของเหลวให้มีปริมาตรตามต้องการ
แล้วนำไปยึดบนแท่นวางของตัว
syringe pump
จากนั้นก็จะปรับตัวแท่นดันลูกสูบให้เข้ามาสัมผัสกับลูกสูบของตัว
syringe
การฉีดสารกระทำโดยการที่สกรูขับเคลื่อนทำการหมุน
เช่นในรูปที่ ๑
เมื่อตัวสกรูขับเคลื่อนหมุนก็จะทำให้แท่นดันลูกสูบเคลื่อนไปทางขวา
ซึ่งก็จะเป็นการกดลูกสูบให้จมลึกเข้าไปเรื่อย
ๆ ของเหลวที่บรรจุอยู่ใน
syringe
ก็จะถูกฉีดออกมา
ความละเอียดของการฉีดก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดของสกรู
ถ้าใช้สกรูที่มีความละเอียดมาก
ก็จะทำให้ฉีดของเหลวในปริมาตรต่ำ
ๆ ได้ แต่ยิ่งสกรูมีความละเอียดมากเท่าใด
การผ่อนแรงก็จะมากตามไปด้วย
(ถ้านึกไม่ออกก็ลองกลับไปทบทวนวิชาฟิสิกส์เรื่องการใช้พื้นลาดเอียงช่วยในการยกของขึ้นที่สูง
ยิ่งเราใช้พื้นลาดเอียงมากเท่าไรก็จะยิ่งผ่อนแรงยกในการยกของขึ้นที่สูงมากขึ้น
แต่เราต้องลากของเป็นระยะทางมากขึ้น)
อุบัติเหตุเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บกำลังทำอะไรอยู่นั้นผมไม่ทราบ
ทราบแต่เพียงว่าตัวหัวเข็ม
(needle)
หลุดออกจากตัวกระบอกสูบ
(cylinder)
ทำให้ของเหลวใน
syringe
พุ่งออกมาประมาณ
0.5 ml
(ตัวเลขนี้ได้จากการประมาณการของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์)
ตอนแรกที่พูดคุยกันนั้นผมก็ได้ถามก่อนว่าเกิดการรั่วไหลที่จุดใด
และเกิดจากสาเหตุใด
กล่าวคือเกิดจากการที่ข้อต่อที่ยึดไว้นั้นหลุดออกเนื่องจากยึดไม่แน่น
หรือเกิดจากการที่เกิดการแตกหักเนื่องจากรับความดันไม่ไหว
คำตอบที่ได้คือตัวหัวเข็มหลุดออกมาโดยที่ไม่ได้เกิดจากการแตกหักของตัว
syringe
หรือตัวหัวเข็มเอง
ประเด็นต่อไปที่ต้องพิจารณาคือหัวเข็มหลุดออกมาได้อย่างไร
ซึ่งตรงนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาสองประเด็นคือความดันต้านด้านขาออกของปั๊มกับอัตราการไหลที่ใช้
ถ้าหากความดันต้านด้านขาออกของปั๊มค่อนข้างต่ำ
ความดันในกระบอกสูบของปั๊มก็จะไม่มาก
ดังนั้นถ้าหัวเข็มเกิดหลุดออก
(ไม่ว่าจะเกิดจากการยึดไม่แน่นหรือการแตกหัก)
ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการพุ่งออกมาแรง
แต่ถ้าความดันต้านด้านขาออกของปั๊มในระหว่างการใช้งานค่อนข้างสูง
เมื่อหัวเข็มหลุดออก
ความดันต้านด้านขาออกจะลดเหลือความดันบรรยากาศ
ดังนั้นของเหลวก็จะฉีดพุ่งออกมาได้มากและได้ไกล
ในกรณีนี้เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ผู้ได้รับอุบัติเหตุและตำแหน่งที่วางปั๊ม
ทำให้สงสัยว่าความดันในกระบอกสูบในขณะที่ตัวหัวเข็มหลุดออกนั้นน่าจะสูง
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันในกระบอกสูบสูงนั้นอาจเป็นเพราะ
(ก)
ความดันต้านด้านขาออกในขณะใช้งานนั้นมันสูงอยู่แล้ว
หรือ
(ข)
ท่อด้านขาออกเกิดการอุดตัน
ผมไม่มีข้อมูลรายละเอียดการใช้งานของระบบการทดลองที่เกิดอุบัติเหตุ
ทราบแต่ว่าการรั่วนั้นเกิดจากการที่หัวเข็มหลุดออกจากตัวกระบอกสูบ
ซึ่งเป็นการเคลื่อนหลุดออกมาโดยที่ไม่ได้เกิดความเสียหายใด
ๆ กับตัวเข็มหรือตัวกระบอกสูบ
ลักษณะการยึดหัวเข็มเข้ากับตัวกระบอกสูบนั้นเป็นการเสียบเข้าไปและหมุนบิดเพียงเล็กน้อย
และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลสารเคมีที่ใช้กับ
syringe pump
แล้วผมเสนอให้เขาควรทำการตรวจสอบท่อด้านขาออกว่าเกิดการอุดตันหรือเปล่า
เพราะมีการใช้สารเคมีที่ปรกติเป็นของแข็งแต่นำมาละลายในตัวทำละลาย
ท่อด้านขาออกนั้นเป็นท่อขนาดเล็ก
(1/16")
ซึ่งทำให้ของเหลวตกค้างในท่อได้ง่าย
(ด้วย
capillary
force) และถ้าไม่มีการล้างท่อด้านขาออกด้วยตัวทำละลายที่เหมาะสม
ก็จะทำให้ของแข็งที่ละลายอยู่ในสารละลายที่ตกค้างอยู่นั้นเกิดการตกผลึกอุดตันท่อได้
เมื่อตัวทำละลายระเหยหมดไป
(ทราบมาว่าผู้ใช้งานก่อนหน้านี้จะทำการล้างท่อหลังการใช้งานที่เรียกว่าทำการ
flushing
แต่ไม่ทราบว่าสารเคมีที่ใช้นั้นเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในปัจจุบันหรือเปล่า
และวิธีการทดลองในปัจจุบันมีการระบุให้ทำการ
flushing
ท่อหรือเปล่า)
พวก
positive
displacement pump
ทั่วไปที่ใช้กันในโรงงานนั้นจะมีวาล์วระบายความดันอยู่ทางด้านขาออก
(ซึ่งอาจอยู่ในตัวปั๊มเองหรืออยู่ในข้อกำหนดว่าต้องมีการติดตั้งเข้ากับระบบท่อทางด้านขาออก)
ปั๊มพวกนี้ถ้าไปปิดไม่ให้ของเหลวไหลออกได้เมื่อไรจะเกิดปัญหาทันที
(ไม่เหมือนพวก
centrifugal
pump ที่เราจะปิดวาล์วด้านขาออกได้
และก็ทำเป็นประจำเวลาที่เริ่มเดินเครื่องปั๊ม)
เพราะของเหลวมันอัดตัวไม่ได้
แต่ลูกสูบจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อย
ๆ
ถ้าลูกสูบเคลื่อนที่ไปข้างหน้าไม่ได้ก็จะทำให้มอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนลูกสูบนั้นหยุดหมุน
แต่ยังมีกระแสไฟฟ้าเข้ามอเตอร์อยู่
มอเตอร์ก็จะไหม้
ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรก็ลองทำดูเองที่บ้านได้โดยเอาอะไรไปขัดใบพัดพัดลมไม่ให้มันหมุนได้
และเปิดพัดลมดู
จากนั้นก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน
แต่ตัว
syringe pump
นั้นไม่มีระบบดังกล่าวติดตั้งกับตัวปั๊ม
ดังนั้นถ้าปั๊มไม่สามารถอัดของเหลวไปข้างหน้าได้
ความดันในกระบอกสูบก็จะเพิ่มสูงขึ้น
และเนื่องจากสกรูที่ใช้ขับเคลื่อนนั้นเป็นเกลียวละเอียดที่มีการผ่อนแรงค่อนข้างมาก
ผมจึงคิดว่าสิ่งที่เกิดคือสกรูยังคงดันให้ลูกสูบอัดของเหลวไปข้างหน้าจนกว่าสิ่งที่มีความเปราะบางมากที่สุดเกิดความเสียหายก่อน
(เช่นมอเตอร์ขับเคลื่อนสกรูไหม้
กระบอกเข็มแตก ท่อด้านขาออกแตก
หรือหัวเข็มหลุด)
ซึ่งในกรณีนี้คิดว่าจุดที่เปราะบางมากที่สุดคือข้อต่อระหว่างหัวเข็มกับตัวกระบอกเข็ม
จึงทำให้เข็มหลุดออกมาก่อน
สารเคมีที่เราใช้กันในแลปนั้น
มีอยู่ ๓
สารที่มีฤทธิ์การกัดกร่อนผิวหนังที่แตกต่างไปจากสารอื่นคือ
HF, glacial
acetic acid (CH3COOH เข้มข้น)
และฟีนอล
ซึ่งสาร ๓ ตัวนี้มีฤทธิ์เป็นกรด
ที่สำคัญคือสามารถซึมลงไปใต้ผิวหนังได้
ฟีนอลที่ความเข้มข้นต่ำนั้นมีการนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อภายนอก
ส่วนฟีนอลที่ความเข้มข้นสูงถ้าสัมผัสโดนผิวหนังในปริมาณมากและไม่รีบทำการล้างออก
ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้
(คล้าย
ๆ กับ CH3COOH
ที่ความเข้มข้นต่ำ
ๆ ที่เรานำมาบริโภคเป็นน้ำส้มสายชู
หรือนำมากลั้วคอได้
แต่ที่ความเข้มข้นสูงก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้)
เรื่องที่เพื่อน
ๆ
ของผู้ได้รับอุบัติเหตุเป็นห่วงคืออาการบาดเจ็บที่เพื่อนของเขาได้รับ
กล่าวคือมีอาการแสบและร้อนแดงและสุดท้ายผิวหนังกลายเป็นสีขาว
ตรงจุดนี้ผมถามเขาก่อนว่าของเหลวที่โดนเข้าไปนั้น
(สารละลายฟีนอลในโทลูอีน)
มีอุณหภูมิเท่าใด
และเข้มข้นเท่าใด
จะได้แยกว่าน่าจะเกิดจากอาการบาดเจ็บจากความร้อนและ/หรือสารเคมี
แต่ดูจากอุณหภูมิที่ใช้แล้ว
(อุณหภูมิห้อง)
คิดว่าน่าจะเป็นอาการบาดเจ็บจากสารเคมี
(คือตัวฟีนอล)
มากกว่า
เพราะตัวฟีนอล (C6H5-OH)
นั้นมีฤทธิ์เป็นกรด
ท้ายนี้หวังว่าผู้ได้รับบาดเจ็บจะหายโดยเร็วโดยไม่มีแผลเป็น
(ทั้งทางร่างกายและจิตใจ)
(หมายเหตุ
:
ฉบับนี้ทดลองเปลี่ยน
font มาเป็น
TH Mali Grade
6 ซึ่งเป็นหนึ่งใน
๑๓ font
มาตรฐานของชาติ
แจกฟรีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จากการใช้
font ต่างชาติ
แต่ผมรู้สึกว่าเส้นมันบางและก็อ่านบนจอยากไปหน่อย)