วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๑๗ ปัญหาของวาล์ว 1 MO Memoir : Thursday 2 February 2555


เนื่องจากสถานการณ์ GC-2014 ในส่วนปัญหาของวาล์ว ๑ ของ ECD กำลังดำเนินไปทุก ๆ ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อความเข้าใจตรงกันจึงขอบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นและงานที่กำลังดำเนินการทำกันอยู่เป็นข้อ ๆ ไปดังนี้ (ส่วนหนึ่งเป็นการบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผมกับสาวน้อยหน้าบานในช่วงบ่ายสี่โมงกว่าดังนี้)

๑. ถ้าเราใช้แก๊สชนิดเดียวกับที่ใช้เป็น carrier gas ฉีดเข้าคอลัมน์ เราก็ไม่ควรที่จะเห็นพีคใด ๆ ดังนั้นในกรณีของ ECD ที่เราใช้ไนโตรเจนเป็น carrier gas ดังนั้นถ้าเราเอาไนโตรเจนที่เป็น carrier gas นี้ฉีดเข้าคอลัมน์ ก็ไม่ควรที่จะเห็นพีคใด ๆ ปรากฏ

๒. ทีนี้สมมุติว่าเริ่มแรกนั้นเรามีอากาศอยู่ใน sampling loop เมื่อเราทำการเปลี่ยนตำแหน่งวาล์ว 1 จากตำแหน่งเก็บตัวอย่างไปยังตำแหน่งฉีดสารเข้าคอลัมน์ carrier gas (ในที่นี้คือไนโตรเจน) จะดันอากาศใน sampling loop เข้าคอลัมน์ GC ไปจนหมด ดังนั้นใน sampling loop ก็จะเต็มไปด้วยไนโตรเจนที่ใช้เป็น carrier gas ในกรณีนี้ ECD จะให้สัญญาณที่เป็นพีคของออกซิเจนในอากาศ

๓. เมื่อเราเปลี่ยนตำแหน่งวาล์ว 1 จากตำแหน่งฉีดสารเข้าคอลัมน์ไปเป็นตำแหน่งเก็บตัวอย่าง แก๊สที่อยู่ใน sampling loop ก็จะเป็นไนโตรเจนที่เราใช้เป็น carrier gas

๔. จากข้อ ๓. ถ้าเราไม่มีการฉีดแก๊สใดเข้า sampling loop ไนโตรเจนที่ใช้เป็น carrier gas ก็จะยังคงค้างอยู่ใน sampling loop

๕. จากข้อ ๔. ถ้าเราปรับตำแหน่งวาล์ว 1 จากตำแหน่งเก็บสารตัวอย่างไปยังตำแหน่งฉีดสารเข้าคอลัมน์ ก็จะเป็นการฉีดไนโตรเจนที่ใช้เป็น carrier gas ที่ค้างอยู่ใน sampling loop จากการฉีดครั้งก่อนหน้า เข้าไปในคอลัมน์ เนื่องจากไนโตรเจนที่ใช้เป็น carrier gas ที่ค้างอยู่ใน sampling loop และไนโตรเจนที่ไหลเข้ามาไล่แก๊สใน sampling loop นั้นเป็นแก๊สชนิดเดียวกัน ดังนั้นในกรณีนี้ ECD จึง "ไม่ควร" ที่จะให้สัญญาณใด ๆ

๖. แต่ที่ผ่านมานั้นเราพบว่า แม้ว่าเราจะฉีดไนโตรเจนที่ใช้เป็น carrier gas เข้าไปในคอลัมน์ ปรากฏว่า ECD ให้สัญญาณที่เป็นพีค (ที่เราเชื่อว่าเป็น) ออกซิเจนปรากฏ

๗. ปัญหาที่เราต้องตอบให้ได้คือ สิ่งที่ทำให้ปรากฏเป็นพีคนั้นเข้าไปพร้อมกับแก๊สที่ฉีดผ่าน sampling loop ได้อย่างไร

๘. เนื่องจากแม้ว่าเราไม่มีการนำแก๊สจากข้างนอกเข้ามาเติมใน sampling loop แก๊สที่ฉีดเข้าไปนั้นเป็น carrier gas ที่เราเติมเข้า sampling loop ด้วยการปรับตำแหน่งวาล์วจากตำแหน่งเก็บตัวอย่างไปยังตำแหน่งฉีดตัวอย่างและเปลี่ยนกลับมายังตำแหน่งเก็บตัวอย่างใหม่ ทำให้สงสัยว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่ตัววาล์ว

๙. เนื่องจากพีคดังกล่าวนั้นตรงกับตำแหน่งของออกซิเจนในอากาศ และมีขนาดค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้สงสัยว่าสิ่งปนเปื้อนนั้นน่าจะเป็นออกซิเจนจากอากาศ ไม่น่าจะเป็นสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนตัววาล์วหรือเป็นสารหล่อลื่นตัววาล์ว (ถ้ามี) เพราะถ้าเป็นพวกหลังนี้ตำแหน่งพีคไม่น่าจะบังเอิญตรงกับตำแหน่งพีคออกซิเจน

๑๐. ที่ผมสงสัยคือตัววาล์วเองในขณะที่ขยับตัวนั้น เปิดช่องให้อากาศรั่วไหลเข้าไปข้างในหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้เราคงตอบยากเพราะต้องแยกชิ้นส่วนวาล์วออกมาตรวจ งานนี้ผมยังไม่อยากเสี่ยงเพราะมันไม่มีคู่มือให้ดูเลยว่าโครงสร้างของวาล์วนั้นเป็นอย่างไร

๑๑. อีกจุดหนึ่งที่ผมสงสัยคือเป็นไปได้ไหมว่าอากาศที่ใช้ในการหมุนตัววาล์วนั้นรั่วไหลเข้ามาในระบบ แต่ข้อนี้ก็มีปัญหาเหมือนกันว่าตัวโครงสร้างวาล์วเองเป็นอย่างไร และเปิดโอกาสให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่

๑๒. ผมคิดว่าผมอยากทดสอบสมมุติฐานในข้อ ๑๐. และ ๑๑. ข้างต้น โดยอาจเริ่มจากการเพิ่มความดันของ APC-1 ให้สูงขึ้น เผื่อว่าถ้ามีการรั่วไหลที่ตัววาล์ว ความดันแก๊สไนโตรเจนที่สูงขึ้นน่าจะดันไม่ให้อากาศรั่วเข้ามา

๑๓. สำหรับการทดสอบสมมุติฐานข้อ ๑๑. ผมคิดว่าเราควรต้องลองเปลี่ยนจากการใช้อากาศมาเป็นการใช้ไนโตรเจนเป็นตัวขับเคลื่อนวาล์ว

หวังว่าพรุ่งนี้เราคงได้มีโอกาสทดสอบแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้กันตั้งแต่เช้า