ใครที่ได้เรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมปลายก็คงจะต้องได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียผู้หนึ่งชื่อ
อิวาน เปโตรวิช พาฟลอฟ (Ivan
Petrovich Pavlov) ที่ทดลองเรื่องเกี่ยวกับการให้อาหารสุนัข
พาฟลอฟได้ทดลองปล่อยให้สุนัขหิวกระหาย
จากนั้นก็นำมาอาหารมาให้
และสังเกตพบว่าสุนัขน้ำลายไหล
ต่อมาเขาได้ทดลองโดยก่อนที่จะนำอาหารมาให้
ก็ทำการสั่นกระดิ่งให้สุนัขได้ยินเสีย
จากนั้นก็นำอาหารมาให้
ซึ่งก็พบว่าสุนัขน้ำลายไหล
ต่อมาเขาก็ได้ทดลองอีกโดยเพียงแค่ทำการสั่นกระดิ่ง
ก็พบว่าสุนัขก็น้ำลายไหลแล้ว
โดยที่ยังไม่ทันได้กลิ่นอาหาร
ปฏิกิริยาดังกล่าวเรียกว่า
conditional
reflex ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่าปฏิกิริยารีเฟล็กซ์แบบมีเงื่อนไข
หรือปฏิกิริยาตอบสนองแบบมีเงื่อนไข
(reflex
เป็นการตอบสนองที่อยู่เหนืออำนาจจิตใจ
เป็นการตอบสนองของกล้ามเนื้อตามธรรมชาติที่มีผลมาจากการถูกกระตุ้น)
ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาเราจะเรียนรู้จักกันแค่นี้
แต่จะว่าไปแล้วตอนต่อจากการทดลองนี้ยังมีอีก
แต่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
หลังจากที่ไม่ได้เข้าไปใช้ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยมากกว่า
๑ ปี
พอเข้าไปอีกทีก็เห็นอะไรต่อมิอะไรที่ชั้นล่างเปลี่ยนแปลงไปหมด
ดูทันสมัยขึ้น (แต่ห้องน้ำข้างใน
สมัยที่ผมเรียนหนังสือเมื่อเกือบ
๓๐ ปีที่แล้วเป็นอย่างไร
ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น)
ต้องไปทำบัตรห้องสมุดใหม่
ซึ่งต้องใช้เป็นทั้งบัตรผ่านเข้า-ออกประตูอัตโนมัติ
และบัตรยืมหนังสือในตัว
สาเหตุที่กลับไปอีกครั้งเพราะอยากจะเขียนเรื่องการทดลองของพาฟลอฟนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่แทบไม่มีการกล่าวถึงกัน
จำได้ว่าเคยอ่านเรื่องนี้ในหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งที่บ้านมีอยู่
แต่ตอนนี้ไม่รู้อยู่ไหนแล้วไม่รู้ว่าหายไปกับน้ำท่วมบ้านหรือเปล่า
หนังสือดังกล่าวบทหน้าปกเขียนชื่อว่า
"การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์"
เขียนโดย
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
ฉบับที่ผมไปยืมจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่
๔ โดยสำนักงานปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ
พ.ศ.
๒๕๑๖
หนังสือฉบับนี้พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.
๒๕๐๔
อ่านถึงตรงนี้คิดว่าหลายคนคงจะงงว่าอยู่ดี
ๆ ก็หักเลี้ยวจาก
"การทดลองให้อาหารสุนัข"
ไปยัง
"การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์"
ได้ยังไง
ในส่วนของภาคผนวกของหนังสือเล่มดังกล่าวจะมีบทความเรื่อง
"การล้างสมองในค่ายคอมมิวนิสต์"
ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า
"การล้างสมองเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงคำพังเพย
?"
พร้อมยกตัวกรณีของจักรพรรดิ์ผู่อี้ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของประเทศจีน
ซึ่งภายหลังจากการถูกควบคุมตัวโดยทางรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์แล้วก็ได้กลายมาเป็นคนส่วนแห่งกรุงปักกิ่ง
กรณีของนักศึกษาสาวชาวอเมริกันที่เดินทางไปศึกษาต่อในจีนคอมมิวนิสต์
และภายหลังที่ถูกทางการจีนจับกุมและได้รับการปฏิบัติที่เร้นลับหลายอย่างก็กลายเป็นผู้ที่รังเกียจบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองและคลั่งไคล้จีนคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก
และกรณีของเชลยศึกชาวอเมริกันที่ถูกจับกุมในระหว่างสงครามเกาหลี
ที่ยอมรับต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นผู้ดำเนินสงครามเชื้อโลกและเมื่อได้รับการปล่อยตัวมาก็ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิต
และในระหว่างการรักษาก็นั่งคุกเข่าก้มหน้าตลอดเวลาและปราถนาอยู่เพียงสิ่งเดียวคือต้องการทำลายชีวิตของตัวเอง
(เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจักรพรรดิผู่อี้พระองค์นี้ได้เคยถูกนำมาสร้างภาพยนต์เรื่อง
"The
Last Emperor" หรือในชื่อไทยชื่อ
"จักรพรรดิ์โลกไม่ลืม"
ซึ่งเข้าฉายเมื่อปีพ.ศ.
๒๕๓๐
หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลอะคาเดมีถึง
๙ รางวัล)
กลับมาที่การทดลองของพาฟลอฟต่อ
ในส่วนของบทภาคผนวกของหนังสือดังกล่าวได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พาฟลอฟทดลองสั่งกระดิ่ง
แต่ถ่วงเวลาที่จะนำเอาอาหารมาให้สุนัข
โดยเพิ่มระยเเวลาระหว่างการสั่งกระดิ่งและการนำอาหารมาให้ออกไปเรื่อย
ๆ
พาฟลอฟพบว่าระหว่างเวลาเวลารอคอยนั้นสุนัขมีอากัปกิริยาและปฏิกิริยาผิดปรกติและมีจิตฟั่นเฟือนหรืออาการประสาทเสีย
(เปรียบคล้ายกับคนที่รอคอยเหตุการณ์บางอย่างอย่างกระวนกระวายใจ)
ต่อมาพาฟลอฟก็ได้ทำการทดลองดังเดิมอีก
แต่คราวนี้เปลี่ยนให้ระยะเวลารอคอยนั้นสั้นบ้าง
ยาวบ้าง หรือไม่ก็ไม่มีการให้อาหารเลย
ซึ่งพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบบประสาทของสุนัขโดยตรง
เพราะสุนัขจะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใด
ในปีพ.ศ.
๒๔๖๗
ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งกับห้องปฏิบัติการวิจัยของพาฟลอฟในเมืองเลนินกราด
กล่าวคือได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เมืองดังกล่าว
ห้องปฏิบัติการของพาฟลอฟที่ทำการขังสุนัขอยู่ในกรงนั้นถูกน้ำท่วมเป็นเวลาหลายวัน
สุนัขต้องลอยคออยู่ในกรงในสภาพใกล้จะตาย
และเมื่อพาฟลอฟนำสุนัขที่รอดชีวิตมาศึกษาพบว่าอารมณ์และอุปนิสัยเดิมของสุนัขบางตัวได้หายไปอย่างสิ้นเชิง
เสมือนกับสุนัขนั้นมีมันสมองที่ว่างเปล่าแล้ว
จะสอนให้มีอุปนิสัยอย่างไรก็ได้โดยปราศจากความต้านทานจากธรรมชาติของร่างกายและจิตใจ
เชื่อว่าความรู้ดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการล้างสมองมนุษย์เพื่อทำให้เปลี่ยนความเชื่อ
โดยเบื้องต้นต้องหาทางทำให้บุคคลที่ต้องการให้เปลี่ยนความเชื่อนั้นเกิดอาการประสาทเสีย
(ที่เรียกกันทั่วไปว่า
mental
breakdown) ก่อน
ซึ่งอาจทำได้โดยการทำให้ชอกช้ำอิดโรยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การทำให้สับสนในทางจิต
การทรมานให้เกิดการเจ็บปวดอย่างยืดเยื้อ
และการสร้างความหวาดกลัว
การทำให้เกิดความชอกช้ำอิดโรยทางร่างกายและจิตใจทำได้โดยการทำให้ผู้ถูกล้างสมองนั้นไม่มีโอกาสได้พักผ่อน
เช่นทำการสอบสวนอย่างต่อเนื่องไม่ให้ได้หลับ
(น่าจะรวมถึงการสอบสวนข้ามคืนโดยไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับการพักผ่อน)
เช่นคอยปลุกให้ตื่นหรือเอาไฟส่องสว่างสูงส่องหน้า
(ที่เราเห็นในหนังสืบสวนสอบสวนอยู่บ่อย
ๆ)
การทำให้สับสนทางจิตทำได้โดยการถามคำถามเดิม
ๆ ซ้ำซากอย่างไม่หยุดยั้ง
ซึ่งเป็นคำถามชี้นำเชิงกล่าวหาให้ผู้ถูกล้างสมองนั้นยอมรับว่าได้กระทำตามสิ่งที่ถูกซักถาม
โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้เข้ามาถาม
การทรมานร่างกายก็ทำได้หลายรูปแบบ
(ขออนุญาตไม่เอามาเล่า)
แต่ไม่ควรทำให้ผู้ที่ถูกล้างสมองนั้นถึงขั้นเสียชีวิต
ส่วนการสร้างความหวาดกลัวก็มีวิธีการหลายหลาย
เช่นข่มขู่ว่าจะทำร้ายญาติพี่น้อง
หรือนำเอาญาติพี่น้องมาทรมานให้ดูต่อหน้า
หรือในกรณีที่มีผู้ถูกคุมขังอยู่หลายคน
ก็อาจใช้วิธีเรียกออกไปเพียงคนเดียว
พอลับสายตาผู้ถูกคุมขังรายอื่นก็มีเสียงปืนดังขึ้น
๑ นัด จากนั้นบุคคลที่ถูกเรียกตัวไปนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย
และไม่มีใครทราบว่าผู้นั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร
(ตัวอย่างของคำถามชี้นำเชิงกล่าวหาเช่น
"รู้สำนึกตัวว่าผิดหรือไม่ที่ได้กระทำการดังกล่าวลงไป"
ตามคำถามนี้ผู้สอบสวนบอกว่าผู้ถูกสอบสวน
"ได้กระทำการดังกล่าว"
ไปแล้ว
แต่ไม่ยอมรับสารภาพ
ดังนั้นถ้าผู้ถูกสอบสวนเผลอตอบว่า
"ไม่"
เมื่อไรก็จะเข้าทางผู้สอบสวนทันทีว่าได้ยอมรับว่า
"ได้กระทำการดังกล่าวลงไป"
แต่ไม่ยอมรับผิด
ทั้ง ๆ
ที่ในความเป็นจริงนั้นผู้ถูกสอบสวนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเลย
คิดแต่เพียงต้องการตอบว่าเขาไม่ได้กระทำการดังกล่าว
แล้วจะให้รู้สำนึกผิดได้อย่างไร
แต่เมื่ออยู่ในสภาพที่ขาดการพักผ่อนและถูกถามคำถามเดิม
ๆ หรือคล้าย ๆ กันซ้ำซาก
ก็ทำให้สมองสับสนจนไม่สามารถจับใจความคำถามได้
คิดอยู่เพียงว่าตอบ ๆ
ไปซะจะได้พ้น ๆ ซะที)
ถ้าสนใจรายละเอียดเรื่องการล้างสมองและการต่อต้านการล้างสมอง
ก็ขอแนะนำให้ไปหาอ่านจากหนังสือดังกล่าว
ซึ่งตอนนี้คงหาซื้อไม่ได้แล้ว
คงจะหาได้แต่ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยที่มีคณะนิติศาสตร์และ/หรือรัฐศาสตร์
ผ่านเรื่อง
สุนัข อาหาร และล้างสมองแล้ว
ก็เหลือเรื่องสุดท้ายคือรถถัง
ในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่
๒ ในทวีปยุโรปนั้น
เยอรมันใช้การจัดกำลังรถถังรวมกลุ่ม
โดยอาศัยการรวมกำลังรถถังจำนวนมากเข้าด้วยกันเป็นระดับกองทัพ
บุกตะลุยเข้าไปในดินแดนต่าง
ๆ ของทวีปยุโรป ในขณะที่ประเทศอื่น
ๆ ในยุโรปยังใช้การกระจายกำลังรถถังให้ไปอยู่กับหน่วยทหารราบ
รูปที่
๑ (ซ้าย)
สุนัขติดระเบิดสำหรับทำลายรถถัง
และโครงสร้างของระเบิด
(ขวา)
รูปถ่ายก่อนออกปฏิบัติงาน รูปจาก
http://warwriting.blogspot.com/2011_01_01_archive.html
ในช่วงแรกของสงคราม
อาวุธต่อสู้รถถังที่มีประสิทธิภาพได้รถถังด้วยกันหรือไม่ก็แก่ปืนใหญ่ขนาดต่าง
ๆ แต่ปืนใหญ่นั้นเคลื่อนย้ายได้ลำบาก
ต้องอาศัยรถลากจูง
และยังต้องใช้เวลาติดตั้งอีกกว่าจะยิงได้
(เว้นแต่จะวางดักเส้นทางที่คาดว่าจะมีรถถังวิ่งผ่านเอาไว้ล่วงหน้า)
รถถังนั้นออกแบบมาเพื่อป้องกันการโดนยิงจากทางด้านหน้า
ดังนั้นเกราะด้านหน้าจึงหนามาก
ด้านที่บางกว่าคือด้านข้างไม่ก็ข้างหลัง
อีกตำแหน่งหนึ่งที่เกราะไม่หนาคือใต้ท้องรถ
สหภาพโซเวียตคิดค้นวิธีการต่อสู้รถถังขึ้นมาใหม่
โดยอาศัยผลการทดลองของพาฟลอฟ
กล่าวคือได้ทำการฝึกสุนัขโดยปล่อยให้สุนัขหิว
และจัดวางอาหารสำหรับสุนัขไว้ใต้รถถัง
ทำให้สุนัขคิดว่าเมื่อเห็นรถถัง
ต้องมีของกินอยู่ใต้ตัวรถ
เมื่อเข้าสู่สงคราม
ก็ได้มีการนำสุนัขเหล่านี้ออกรบ
โดยมีการผูกระเบิดและอุปกรณ์จุดระเบิดติดเข้ากับตัวสุนัข
(ดูรูปที่
๑)
โดยจะให้ทหารนำสุนัขออกไปแนวหน้า
พอเห็นรถถังวิ่งมาก็จะปล่อยให้สุนัขวิ่งเข้าหารถถัง
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดคือเมื่อสุนัขมุดเข้าไปใต้ท้องรถถัง
กลไกที่ติดอยู่บนหลังสุนัขจะไปจุดชนวนระเบิดที่ผูกติดกับตัวสุนัข
ก็จะเป็นการทำลายรถถังด้วยการระเบิดจากด้านใต้ท้อง
ในช่วงแรกปรากฏว่าตอนฝึกสุนัขนั้น
ไม่ได้ฝึกให้เคยชินกับเสียงปืนหรือระเบิด
พอเข้าสนามรบจริงปรากฏว่าสุนัขที่เคยฝึกให้วิ่งเข้าใต้ท้องรถถังที่อยู่กับที่
ไม่สามารถวิ่งเข้าใต้ท้องรถถังที่กำลังเคลื่อนที่ได้
สุนัขส่วนหนึ่งตกใจเสียงปืนและระเบิดในสนามรบ
ก็เลยวิ่งกลับมาหาครูฝึกแทน
ผลก็คือตายทั้งสุนัขและครูฝึก
จากการที่กองทัพสหภาพโซเวียตใช้วิธีการนี้
ทำให้ทางกองทัพเยอรมันถึงกับต้องวางกำลังไว้จัดการกับสุนัขทุกตัวที่เข้ามาใกล้
และมีการเขียนคำแนะนำทำนองเสียดสี
(หรือตลกร้าย)
ให้กับทหารที่ได้ลาพักผ่อนกลับไปเยี่ยมบ้านจากการรบในรัสเซียว่า
"ในเยอรมัน
เมื่อพบเห็นสุนัขไม่จำเป็นต้องยิง
มันทำได้อย่างมากคือกัดเท่านั้น"
ส่วนทางทหารรัสเซียเอง
ถ้าสุนัขที่ปล่อยไปนั้นวิ่งย้อนกลับมาหาครูฝึก
ก็ต้องยิงสุนัขตัวนั้นทิ้งเหมือนกัน
หวังว่าสาวน้อยคนที่เป็นครูสอนพิเศษวิชาชีววิทยาคงจะมีเรื่องเล่าให้นักเรียนฟังเพิ่มขึ้นแล้วนะ
MO
Memoir ฉบับแรกออกในวันพุธที่
๙ กรกฎาคม พ.ศ.
๒๕๕๑
ดังนั้นฉบับนี้จะเป็นฉบับปิดท้ายปีที่
๔ ฉบับต่อไปซึ่งเป็นฉบับที่
๔๗๕ จะเป็นฉบับขึ้นปีที่ ๕
(ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เขียนเรื่องอะไร
แต่คาดว่าน่าจะเป็นข่าวดีเกี่ยวกับเครื่อง
GC)
สรุปในรอบปีที่
๔ นั้นมีการออก Memoir
ทั้งสิ้น
๑๔๕ ฉบับ ๕๑๗ หน้ากระดาษ A4