"เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่หาต้นตอไม่เจอ
ให้ลองตั้งคำถามพื้น ๆ"
ประโยคข้างบนเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับนิสิตป.โท
ที่ผมสอนอยู่เป็นประจำ
เวลาที่เขาทำการทดลองแล้วพบปัญหากับตัวอุปกรณ์หรือผลการทดลอง
แล้วนึกหาสาเหตุไม่เจอว่าต้นตอของปัญหามันมาจากไหน
ก็ให้ลองใช้วิธีนี้ดู
"คำถามพื้น
ๆ"
นี้หมายความถึงให้ตั้งคำถามว่า
มีอะไรเกิดขึ้น พบเห็นอะไร
ได้ยินสิ่งไหน ฯลฯ เอาแค่นั้นพอ
อย่าพึ่งไปใส่ข้อมูลอื่น
ๆ ลงไปว่ามันไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากนั่นจากนี่
หรือมันต้องมีสาเหตุมาจากนั่นจากนี่
แต่การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องสามารถวางความคิดให้เป็นกลางให้ได้ก่อน
คืออย่าเพิ่งลำเอียงหรือใส่ความรู้สึกส่วนตัวใด
ๆ เข้าไป การทำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้สติช่วยกำกับ
จากนั้นจึงค่อยพิจารณาหาเหตุผลว่า
มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างที่สามารถนำมาสู่
สิ่งที่เกิด ที่พบเห็น
ที่ได้ยิน ฯลฯ เหล่านั้น
ตรงนี้เป็นขั้นตอนของการใช้ปัญหาไตร่ตรอง
การทำเช่นนี้ไม่เพียงแค่อาจช่วยแก้ปัญหาในงานที่กระทำอยู่
แต่ยังช่วยให้เราตรวจสอบความรู้หรือข้อมูลที่เราได้รับมานั้นด้วยว่า
มันถูกต้องหรือควรค่าต่อการน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างหนึ่งได้แก่กรณีที่มีนิสิตต้องการลดความอ้วนด้วยการงดอาหารมื้อเย็น
ด้วยมีข้อมูล (จากไหนก็ไม่รู้)
ที่บอกว่าอาหารมื้อเย็นเป็นตัวทำให้อ้วน
พอผมย้อนถามกลับไปว่าถ้าการกินอาหารมื้อเย็นเป็นตัวทำให้อ้วนจริง
พระภิกษุที่อ้วนก็ต้องไม่มี
ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรนั้นก็เห็น
ๆ กันอยู่
ในกรณีนี้ถ้าลองวางความคิดที่เป็นกลางก่อน
แล้วตั้งคำถามว่าทำไปจึงอ้วน
คำตอบที่ได้ก็คือพลังงานที่ได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นสูงเกินกว่าการใช้งานในแต่ละวัน
ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นให้อยู่ในรูปไขมันสะสมในร่างกาย
ถ้าว่ากันตามนี้
สิ่งสำคัญในการควบคุมน้ำหนักคือการไม่รับประทานอาหารในปริมาณที่เกินกว่าที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน
ส่วนจะเป็นการรับประทานเพียงมื้อเดียว
หรือหลายมื้อแยกกันนั้น
มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ตอนที่ผมปรับตั้งเครื่อง
GC-2014
ECD เพื่อการวิเคราะห์แก๊ส
NO
นั้น
หลังจากที่ปรับเครื่องจนมองเห็นพีค
NO
ออกมาจากคอลัมน์
ก็พบว่ามันใช้เวลาในการวิเคราะห์นานเกินไป
จึงพยายามลดเวลาการวิเคราะห์ด้วยกาารหาทางทำให้พีค
NO
ออกมาจากคอลัมน์เร็วขึ้น
สิ่งที่ผมเรียนมาและมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่ได้เรียนมาตลอดระยะเวลาทำงานกับเรื่อง
GC
มาเกือบ
๒๐ ปี (ณ
เวลานั้น)
คือถ้าอยากให้สารออกจากคอลัมน์เร็วขึ้น
ก็ให้เพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้น
แต่พอเอาเข้าจริง
พอเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้น
กลับไม่พบ NO
ออกมาจากคอลัมน์
แต่พอลดอุณหภูมิกลับคืนเดิม
ก็พบพีค NO
ออกมาเหมือนเดิม
พอเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นใหม่เพียงเล็กน้อย
ก็ยังพบพีค NO
ออกมาจากคอลัมน์
แต่ออกมา "ช้าลง"
งานนี้ทำเอาผมต้องกลับไปทบทวนสิ่งที่เรียนและประสบการณ์ที่เคยมีมานั้นใหม่
ว่าประสบการณ์ในอดีต
(ที่ตรงกับสิ่งที่ได้เรียนมา)
กับระบบที่กำลังปรับตั้งอยู่นี้มีอะไรที่แตกต่างกัน
คำตอบก็คือขนาดของคอลัมน์ที่แตกต่างกัน
โดยคอลัมน์ของเครื่องที่กำลังปรับแต่งอยู่นั้น
แม้ว่าจะเป็น packed
column แบบที่ผมมีประสบการณ์ใช้งานมา
แต่มันเป็นรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่ารุ่นเก่ามาก
คือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงแค่
1/8
นิ้ว
เพื่อที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
ผมก็เลยต้องกลับไปตั้งคำถามว่า
เกิดอะไรขึ้นเมื่อเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้น
คำตอบก็คือ
(ก)
การดูดซับจะแย่ลง
ตรงนี้จะทำให้สารนั้นออกมาอยู่ใน
carrier
gas มากขึ้น
ปัจจัยนี้ทำให้สารออกพ้นคอลัมน์ได้เร็วขึ้น
และ
(ข)
แก๊สมีความหนืดสูงขึ้น
ทำให้ไหลผ่าน packed
bed ได้ยากขึ้น
ปัจจัยนี้ทำให้สารออกพ้นคอลัมน์ช้าลง
ประสบการณ์ก่อนหน้านี้ของผมทำงานเกี่ยวกับ
packed
column ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เล็กมาก
ดังนั้นเมื่อเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์
ปัจจัยข้อ (ก)
จึงเด่นกว่าปัจจัยข้อ
(ข)
แต่สำหรับเครื่องที่กำลังปรับแต่งอยู่นั้นใช้คอลัมน์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กมาก
ปัจจัยข้อ (ข)
จึงเด่นกว่าปัจจัยข้อ
(ก)
ประกอบกับในความเป็นจริงนั้นตัวเครื่องไม่ได้ออกแบบมาให้รักษาอัตราการไหลผ่านคอลัมน์ให้คงที่
(ด้วยการปรับความดันด้านขาเข้า)
แต่ใช้การควบคุมความดันด้านขาเข้าให้คงที่
(ที่จะทำให้อัตราการไหลลดต่ำลงถ้าหากความต้านทานการไหลสูงขึ้น)
ดังนั้นถ้าผมจึงพบว่าในกรณีของเครื่อง
GC
เครื่องนี้
ถ้าต้องการให้ NO
เคลื่อนผ่านพ้นคอลัมน์เร็วขึ้น
ก็ต้องลดอุณหภูมิการทำงานของคอลัมน์ให้ต่ำลง
(ที่ความดันขาเข้าเท่าเดิม)
ก่อนหน้านั้นเคยมีกรณีนิสิตบอกว่ามีปัญหาเรื่องพีค
GC
ที่เวลาที่มันออกมาจากคอลัมน์นั้นไม่นิ่ง
มีการขยับตำแหน่งไปมา
ผมก็บอกเขาไปว่าถ้าเวลาที่พีคออกมานั้นไม่คงที่
ก็ต้องไปดูว่าอัตราการไหลของ
carrier
gas และระบบควบคุมอุณหภูมิคอลัมน์มีปัญหาหรือไม่
เขาก็ตอบกลับมาว่าตรวจสอบแล้วและไม่พบว่าทั้งสองระบบมีปัญหา
ก็เลยขอให้ผมเข้าไปช่วยตรวจสอบหน่อย
ผมเข้าไปตรวจเครื่องตอนที่เขาเปิดเครื่องรอการวิเคราะห์อยู่พอดี
สิ่งแรกที่ผมถามเขาก็คือปรกติเวลาเครื่อง
GC
เครื่องนี้ทำงาน
"เสียง"
มันเงียบแบบนี้เหรอ
เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่ทราบเหมือนกัน
เพราะไม่เคยสังเกต
ในกรณีนี้พบว่าพัดลมหมุนเวียนอากาศภายใน
oven
ที่ติดตั้งคอลัมน์นั้นไม่ทำงาน
ประกอบกับการวิเคราะห์ที่ใช้เทคนิคการเพิ่มอุณหภูมิ
ก็เลยทำให้อุณหภูมิ "อากาศร้อน"
ใน
oven
นั้นไม่สม่ำเสมอ
ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิที่แท้จริงของคอลัมน์ด้วย
สิ่งที่เครืองวัดจริงก็คืออุณหภูมิ
"อากาศ"
ใน
oven
ไม่ใช่อุณหภูมิของคอลัมน์
หรืออย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้ที่กลุ่มเราเจอ
ก็คือพบว่าระบบป้อนแก๊สเข้าสู่ระบบนั้นทำงานปรกติ
แต่พบว่าแก๊สด้านขาออกนั้นหายไป
แสดงว่ามีการรั่วไหลเกิดขึ้นในระบบ
การตรวจสอบข้อต่อ "ท่อ"
ทุกตำแหน่งก็ไม่พบการรั่วไหล
แต่พอเรากลับมาตั้งคำถามกันว่า
ยังมีข้อต่อตำแหน่งไหนอีกที่เราไม่ได้ตรวจสอบ
ซึ่งก็พบว่ายังมีอยู่
นั่นก็คือข้อต่อที่ตัวโครงสร้างของ
"วาล์ว"
ที่ทำให้แก๊สรั่วออกมาตรงตำแหน่งติดตั้งก้านหมุนลูกบอลของตัววาล์ว
งานนี้พอเปลี่ยนวาล์วตัวใหม่ปัญหาก็หมดไป
สิบกว่าปีที่แล้ว
มีลูกศิษย์ที่เรียนจบโทไป
คนหนึ่งเพิ่งจะได้งานในบริษัทในเครือบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง
อีกคนยังไม่ได้งาน
แต่ไปช่วยเพื่อนเป็นครูสอนกวดวิชาเด็กนักเรียนตอนเย็นหลังเลิกเรียนในห้างสรรพสินค้า
วันหนึ่งบังเอิญทั้งสองคนแวะมาเยี่ยมผมที่ห้องทำงานพร้อมกัน
คนที่ยังไม่ได้งานก็บ่นว่าทำงานสอนหนังสือได้เงินรายชั่วโมงไม่มาก
ผมก็เลยถามคนที่ได้งานบริษัททำว่าเขาได้เงินเดือนเดือนละเท่าไร
และชั่วโมงทำงาน "จริง"
นั้นสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง
(เรื่องเลิกงานตามเวลาไม่ต้องกล่าวถึง
เรียกว่าถ้าไม่ค่ำหรือดึกก็คงไม่ได้กลับ
รวมทั้งงานที่ต้องหอบมาทำที่บ้านในช่วงวันหยุดอีก)
พอหารออกมาแล้วก็ปรากฏว่าทั้งสองคนมีรายได้คิด
"ต่อชั่วโมงทำงาน"
เท่ากัน
ผมก็ถามคนที่ทำงานเป็นครูสอนกวดวิชาว่า
นี่ขนาดคุณยังไม่ได้ทำงานเต็มที่นะ
เพื่อนคุณก็ชวนให้ไปร่วมทำเต็มเวลาเลยไม่ใช่เหรอ
แถมงานนี้ก็ไม่ต้องตื่นมาทำงานแต่เช้าหรือกลับดึก
ๆ อีก เวลาทำงานก็ตกลงกันได้กับผู้เรียน
ถ้าคุณเพียงแต่ไม่มองเฉพาะ
"ตัวเงิน"
ที่ได้อยู่ในขณะนี้
บางทีคุณอาจมองเห็นผลประโยชน์ในแง่อื่นที่สามารถทดแทนกันได้หรือได้มากกว่าอีก
และเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้
ก็มีนิสิตปี ๔ ที่เพิ่งได้งานทำสองที่
แวะเข้ามาถามความเห็นว่าควรไปทำงานที่ไหนดี
ระหว่างสถานที่ทำงานใกล้บ้าน
เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมัน
เงินเดือนเริ่มต้นห้าหมื่นบาท
กับอีกบริษัทหนึ่งที่ต้องเดินทางไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม
เดินทางไป-กลับแต่ละวันร่วมเกือบร้อยกิโล
(บริษัทมีรถรับส่ง)
เงินเดือนเริ่มต้นสามหมื่นบาท
ตัวเลือกอย่างนี้ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเลือกตัวเลือกแรก
แต่เขากลับมาถามความเห็นผมว่าคิดอย่างไร
นั่นแสดงว่าเขาคงไม่มั่นใจสภาพแวดล้อมการทำงานในบริษัทแรก
ผมก็เลยถามเขากลับไปว่า
"เลิกงานตอนเย็นแล้วคุณคิดจะทำอะไร"
เท่านั้นแหละครับ
เขาตอบผมทันทีเลยว่า
ผมตัดสินใจได้แล้วครับอาจารย์
ผมไปยังบริษัทที่สองดีกว่า
แม้ว่าจะต้องเดินทางไกล
แต่มั่นใจว่าเลิกงานตอน
"เย็น"
ได้กลับบ้านชัวร์
นั่นเป็นเพราะตอนที่เขาฝึกงานภาคฤดูร้อนนั้น
เขาได้ไปฝึกกับบริษัทแรก
และโดนรุ่นที่ในที่ทำงานนั้นตำหนิมาว่ากลับบ้านเร็วเกินไป
(สี่ทุ่มเนี่ยนะ)
ไม่กลับตอนเที่ยงคืนเหมือนเขา
ท้ายสุดนี้
เนื่องในโอกาสที่เช้าวันนี้
สมาชิกสองคนของกลุ่มวิจัยของเรา
ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก็เลยต้องขอถือโอกาสแสดงความยินดีแก่ทั้งสองคนที่ได้ฝ่าฝันอุปสรรคต่าง
ๆ นับตั้งแต่หลังการประกาศผลการสอบสัมภาษณ์
(ที่หวังว่าคงจะไม่มีใครต้องเจอเหตุการณ์แบบพวกคุณทั้งสองคนอีก)
จนกระทั่งมาถึงวันนี้ได้
ก็ขออวยพรให้แต่ละคนประสบกับความสุขความสำเร็จในชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงานตลอดไป
ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ขอให้ทำอย่างมีสติ
จากนั้นจึงใช้ปัญญาไตร่ตรอง
หวังว่าสิ่งที่คุณได้ไปจากการทำงานร่วมกันมาคือ
"วิธีการคิดเพื่อแก้ปัญหา"
จะสามารถช่วยการทำงานของพวกคุณต่อไปในอนาคตได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น