วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เมื่อกล้วยระเบิด (Banana explosion) MO Memoir : Monday 1 June 2563

Ig Nobel Prize เป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลโนเบล เพื่อมอบให้แก่การค้นพบ (ผลงานตีพิมพ์) ที่ "that cannot, or should not, be reproduced" (ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ไม่สามารถ, หรือไม่ควร ที่จะทำซ้ำ") เพื่อเป็นการยกย่องผลงานที่ "that first make people laugh, and then make them think" (เช่นกัน ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ทำให้คนหัวเราะก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงค่อยคิด") รางวัลนี้เริ่มแจกในปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) เรียกว่าก็เกือบ ๓๐ ปีแล้ว
  
รางวัล Ig Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ประจำปีค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) มอบให้แก่นักวิจัยชาวญี่ปุ่น (รูปที่ ๑) ที่ตีพิมพ์บทความเรื่อง "Frictional Coefficient under Banana Skin" โดยมีคณะผู้วิจัยคือ Kiyoshi Mabuchi, Kensei Tanaka, Daichi Uchijima และ Rina Sakai บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในรูป Short Communication ในวารสาร Tribology Online 7, no. 3, ปีค.ศ. 2012 (พ.ศ. ๒๕๕๕) หน้า 147-151 (รูปที่ ๒)
 

รูปที่ ๑ ภาพจากคลิปวิดิโอการมอบรางวัล Ig Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ประจำปีค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) โดยตัวแทนผู้เขียนบทความจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗
  
รูปที่ ๒ บทความที่เป็นต้นเรื่อง

บทความดังกล่าวยังได้รับการอ้างอิงโดยนักวิจัยในประเทศมาเลเซียในบทความเรื่อง "Effect of banana peels as an additive on the tribological proporties of paraffin oil" โดยมีคณะผู้วิจัยคือ A. H. Hamid, N. A. B. Masripana, J. Basiron, M. M. B. Mustafa, R. Hasan, M. F. B. Abdollah และ R. Ismail บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Jurnal Teknologi ฉบับที่ 77:21 ปีค.ศ. 2015 (พ.ศ. ๒๕๕๘) หน้า 73–77 (รูปที่ ๓)
  
หลังจากได้รางวัล Ig Nobel Prize แล้ว บทความต้นฉบับยังได้ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่และตีพิมพ์ในวารสาร Biosurface and Biotribology ฉบับที่ 2 ปีค.ศ. 2016 (พ.ศ. ๒๕๕๙) หน้า 81–85 ในชื่อเรื่อง "Ig Nobel Prize-winning episode: Trip from a slip on a banana peel to the mysterious world of mucus" (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๓ บทความในรูปที่ ๒ ยังได้รับการอ้างอิง
  
รูปที่ ๔ หลังจากได้รางวัล ก็มีการนำบทความมาเรียบเรียงและตีพิมพ์ใหม่ในฐานะผู้ได้รับรางวัล

กล้วยบ้านเรามีหลายหลายสายพันธุ์ให้กิน บางอย่างก็เหมาะสำหรับการกินเมื่อเป็นผลสุกเท่านั้น บางอย่างก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแบบอื่นได้หลายหลาย แต่สำหรับประเทศที่ไม่ได้ปลูกกล้วย ต้องนำกล้วยเข้าจากต่างประเทศ เข้าใจว่าเวลาพูดถึง banana เขาก็คงหมายถึงกล้วยหอม ตอนเรียนอยู่อังกฤษก็เห็นซุปเปอร์มาร์เก็ตมีแต่กล้วยหอมขาย
  
มุขตลกที่เกี่ยวกับกล้วยที่เห็นกันบ่อยครั้งสุดน่าจะได้แก่การเหยียบเปลือกกล้วยแล้วลื่นล้ม (เปลือกผลไม้ภาษาอังกฤษเรียกว่า peel หรือ skin) แต่ไม่ยักเห็นมุขตลกนี้กับผลไม้ชนิดอื่นที่ต้องปอกเปลือกกิน (เคยเห็นคนอังกฤษเขากินสับปะรด แต่เขาไม่ได้ปอกเปลือกและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แบบที่เรากินกัน เขาใช้วิธีผ่าเป็นซีก ๆ แล้วกัดกินแบบเรากินแตงโม) หรือจะว่าไปอาจเป็นเพราะผลไม้ที่เขามีนั้นเขากินกันทั้งเปลือก (เช่น แอปเปิล องุ่น สตอเบอรี่) มันก็เลยไม่มีเปลือกมาโยนทิ้งไว้ตามพื้นให้คนเหยียบ
  
สิ่งหนึ่งที่คนไทยรู้มานานแล้วก็คือ ถ้าจะเก็บกล้วยโดยไม่ให้กล้วยสุกเร็ว ก็ต้องเก็บในที่ที่ลมโกรกหรืออากาศถ่ายเทได้ดี เช่นเอาไปแขวนไว้ เพราะถ้าเอาไปเก็บในที่อากาศระบายไม่ดี กล้วยจะสุกเร็ว เห็นญี่ปุ่นเอาความรู้ตรงนี้ไปใช้ด้วยการเอาลวดเหล็กมาขดแล้วขายเป็นที่แขวนกล้วย (ดูหน้าตาที่แขวนกล้วยนี้ได้ใน Memoir เรื่อง "ที่แขวนกล้วย" วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๑) ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงที่แขวนเพื่อยกกล้วยทั้งหวีให้สูงจากพื้นโต๊ะแค่นั้น
  
ถ้าต้องการให้กล้วยดิบมันสุกเร็วขึ้น ก็ต้องเอาไปบ่ม แต่เดิมที่เคยเห็นคุณยายทำสมัยผมยังเด็ก ๆ ก็คือจะเอาไปวางเรียงไปรอบ ๆ ผนังด้านในของไหหรือโอ่ง จากนั้นก็จะจุดธูปแล้วปักไว้ตรงกลาง ปิดฝาด้านบนเอาไว้ เปลือกกล้วยก็จะเหลืองเร็วขึ้น ผลไม้ที่เห็นเขาบ่มกันก็มีกล้วยกับมะม่วง ส่วนที่ว่าเมื่อเปลือกเหลืองแล้วกล้วยข้างในสุกหรือยังก็ขึ้นอยู่กับว่าเอากล้วยดิบแค่ไหนมาทำการบ่ม ถ้าเป็นกล้วยที่ใกล้สุกแล้วข้างในก็จะสุกตามไปด้วย แต่ถ้าเป็นกล้วยที่ดิบมากเกินไป เปลือกนอกเหลืองก็จริง แต่ข้างในจะยังดิบอยู่ ตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่าทำไมจึงถ้าปลูกไวกินเองก็รอให้มันสุกก่อนแล้วค่อยเก็บก็ได้ แต่ที่เจอมากับตัวพบว่า จะไม่ทันได้กิน เพราะทั้งนกและกระรอกมันเอาไปกินหมดก่อน
  
ตัวที่ทำให้กล้วย (หรือผลไม้ใด ๆ) สุกเร็วขึ้นก็คือแก๊สเอทิลีน (ethylene C2H4) )และอะเซทิลีน (acetylene C2H2) ปรกติตัวผลไม้ก็จะผลิตแก๊สเหล่านี้ออกมาอยู่แล้ว แก๊สสองตัวนี้เป็นตัวไปเร่งให้ผลไม้สุกเร็วขึ้น การเก็บในที่อากาศระบายได้ดีจะลดการสะสมของแก๊สสองตัวนี้ ทำให้ผลไม้สุกช้าลง แต่ถ้าเก็บในที่ที่อากาศระบายได้ไม่ดีที่มีการสะสมของแก๊สสองตัวนี้ ผลไม้ก็จะสุกเร็วขึ้น ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมกล่องใส่ผลไม้จึงต้องเจาะรู เพื่อให้แก๊สที่เกิดขึ้นมันระบายออกแค่นั้นเอง บ้านเราชาวบ้านก็ผลิตแก๊สอะเซทิลีนด้วยการซื้อแก๊สก้อน (calcium carbide) มาทำปฏิกิริยากับน้ำ
  
การที่เราสามารถทำให้ผลไม้สุกได้โดยที่ไม่ต้องให้มันสุกที่ต้นมันก็มีข้อดีตรงที่ทำให้การขนส่งเป็นระยะทางไกล ที่ต้องใช้เวลาเดินทางนาน ทำได้ง่ายขึ้น เช่นเราสามารถขนกล้วยจำนวนมากทางเรือ จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ โดยไม่ต้องกังวลว่ามันจะสุกจนเน่าก่อนถึงปลายทาง (การขนทางเรือมีข้อดีคือ ขนได้ในปริมาณมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งลดลง แต่มีข้อเสียคือใช้เวลาเดินทางนาน) และเมื่อถึงปลายทางแล้วก็ค่อยทำให้มันสุกด้วยการบ่ม
  
รูปที่ ๕ ข่าวโรงงานบ่มกล้วยระเบิด จากหนังสือพิมพ์ Chicago Packer วันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ถ้าต้องการไฟล์ pdf ก็ให้ใช้คำว่า "The Pittsburgh Banana Company Explosion" หาใน google ดู มันจะขึ้นมาให้

รูปที่ ๕ เป็นข่าวนำมาจากหนังสือพิมพ์ Chicago Packer วันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) หน้า ๘ เป็นข่าวเกี่ยวกับโรงงานบ่มกล้วยระเบิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ในเหตุการณ์ดังกล่าวคนงานคนหนึ่งเข้าไปปิดเตาแก๊สที่ใช้ในการให้ความร้อนแก่ห้องที่ทำการบ่มกล้วย จากนั้นจึงทำการเปิดสวิตช์พัดลมไฟฟ้าเพื่อให้มีการไหลเวียนของอากาศร้อนภายในห้องบ่ม ทันที่ที่เขาเปิดสวิตช์ การระเบิดก็เกิดขึ้น
 
สาเหตุของการระเบิดคาดว่าเกิดจากประกายไฟของพัดลมไฟฟ้าไปจุดระเบิดแก๊สจากเตาที่สะสมอยู่ในห้องบ่มกล้วย โชคดีที่คนงานที่เข้าไปเปิดพัดลมบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแม้ว่าจะโดนทั้งอิฐทั้งกล้วยทับเอาไว้
  
คำว่า "Produce" (ในพาดหัวข่าวข้างบน) นอกจากเป็นคำกิริยาที่เป็นว่าผลิตแล้ว ยังเป็นคำนามที่มีความหมายว่า "ผลิตภัณฑ์" ด้วย และมักจะใช้กับผลิตผลทางการเกษตร ถ้าไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างก็อาจจะเห็นป้ายที่เขียนว่า "Fresh Produce" ที่หมายถึงผลิตผลทางการเกษตรที่สด เช่นผักสด ผลไม้สด
  
จดหมายข่าว ICI Safety Newsletter ฉบับเดือนพฤษจิกายน ๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๕๒๑) เรื่องที่ 70/6 (รูปที่ ๖) รายงานเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดกับเรือบรรทุกกล้วย (ในปีค.ศ. ๑๙๗๓ หรือพ.ศ. ๒๕๒๐) แต่ด้วยสาเหตุที่แตกต่างออกไป
  
รูปที่ ๖ ข่าวเรือบรรทุกกล้วยระเบิด จาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๗๐ เดือนพฤศจิกายน ๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๕๒๑)

เรือบรรทุกกล้วยลำหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ และระหว่างที่กำลังดับเพลิงอยู่นั้นก็เกิดการระเบิดขึ้น ทำให้พนักงานดับเพลิงได้รับบาดเจ็บไป ๗ รายและคนอื่นอีก ๒ คน
  
รายงานการสอบสวนโดย H M Inspectors of Explosive สันนิษฐานว่าเนื่องจากมีการใช้เอทิลีนในการบ่มกล้วย และตัวกล้วยเองก็ผลิตเอทิลีนได้อยู่แล้ว ความร้อนจากการเผาไหม้น่าจะทำให้กล้วยผลิตเอทิลีนออกมามากขึ้น จนทำให้เกิดส่วนผสมกับอากาศที่สามารถระเบิดได้
  
แต่ทางผู้จัดทำ Newsletter เสนอสมมุติฐานไปอีกแนวทางหนึ่งคือ ความร้อนที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้กล้วยนั้นคายน้ำมันออกมา (น่าจะคายออกมาจากเปลือก) และความร้อนที่เกิดขึ้นก็ทำให้น้ำมันที่คายออกมานั้นกลายเป็นไป ผสมกับอากาศจนถึงความเข้มข้นที่สามารถระเบิดได้ แล้วจึงเกิดการระเบิด
  
ที่น่าสนใจคือประโยคถัดมา ที่เป็นเหตุผลที่สนับสนุนสมมุติฐานของเขาว่าน่าจะเกิดจากน้ำมันที่เปลือกกล้วยผลิตออกมาเมื่อโดนความร้อน โดยเขาบอกว่ากล้วย (น่าจะหมายถึงเปลือก) นั้นค่อนข้างจะมีความเป็นมันอยู่แล้ว และมีการกล่าว กันว่า ถ้า gearbox (ห้องเครื่องเกียร์) ไม่มีน้ำมัน ก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใส่เปลือกกล้วยลงไป 
  
ความรู้เรื่องการใช้เปลือกกล้วยช่วยในการหล่อลื่นนี้น่าจะเป็นความรู้จากผู้ที่ทำงานปฏิบัติการภาคสนามเคยใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และบอกต่อกันมาแบบปากต่อปาก มันน่าจะใช้งานได้จริง แต่ด้วยการที่คนส่วนใหญ่ฟังดูแล้วมันเหมือนเป็นเรื่องตลกหรือพูดเล่น มันก็เลยไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังเท่าใดนัก
  
ต้องรออีกเกือบ ๔๐ ปีถัดมา จึงมีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นศึกษาเรื่องคล้ายคลึงกันนี้และทำการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ จนทำให้เขาได้รับรางวัล Ig Nobel Prize ไป

บางเรื่องที่เราเห็นเป็นเรื่องตลกนั้น บางทีมันอาจมีเหตุผลอยู่บนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเป็นที่รู้กันมานานแล้วก็ได้ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ปรากฏอยู่ในวารสารบทความวิชาการเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: