วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ขนาดเตรียมถังอากาศหายใจก็ยังพลาดได้ MO Memoir : Wednesday 17 June 2563

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ ที่ผ่านมาได้เล่าเรื่องกรณีของการเสียชีวิตจากการขาดอากาศเนื่องจากเผลอเข้าไปในพื้นที่อับอากาศ แม้ว่าจะเข้าไปเพียงแค่ครึ่งตัวก็ตาม (เรื่อง "ขาดอากาศ แบบไม่ทันคาดคิด")
  
และเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ที่ผ่านมาก็เป็นกรณีของการไม่ได้คิดจะเข้าไปในพื้นที่อับอากาศแต่แรก เพียงแค่อยู่ตรงปากช่องทางที่แก๊สเฉื่อยในปริมาณมากรั่วไหลออกมา (เรื่อง "ขาดอากาศในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่อับอากาศ")
 
สำหรับวันนี้มีอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นกรณีของการตั้งใจที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่อับอากาศและมีแก๊สที่เป็นพิษ (แก๊สไข่เน่าหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ H2S) และได้มีการเตรียมถังอากาศติดตัวสำหรับหายใจก่อนที่จะเข้าไป แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดเหตุเศร้าสลดจนได้ เนื่องจากคาดไม่ถึงว่ารัศมีอันตรายของการแพร่กระจายของแก๊สพิษนั้นมันกว้างกว่าที่คิด ส่วนเรื่องที่สองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเรา เพียงแต่ข้อมูลแต่ละแหล่งนั้นมันมีความสับสน

เรื่องที่ ๑ ขนาดเตรียมถังอากาศหายใจก็ยังพลาดได้

เรื่องแรกที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจาก ICI Safety Newsletter เช่นเคย โดยเป็นฉบับที่ ๕๕ เดือนสิงหาคม ปีค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เรื่องที่ 55/1 (รูปที่ ๑ และ ๒)

รูปที่ ๑ ภาพจำลองเหตุการณ์ของสถานที่เกิดเหตุจาก ICI Safety Newsletter เรื่องที่ 55/1
เหตุการณ์เกิดขณะที่พนักงานผู้หนึ่งเตรียมลงไปในระบบท่อระบายผ่านทาง man-hole ของบ่อพักเพื่อเข้าไปอุดท่อ ๆ หนึ่ง โดยเริ่มจากการหย่อนบันไดลงไปก่อน และเนื่องจากเขาทราบว่าในบ่อนี้มีแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เป็นพิษอยู่ จึงได้เตรียมถังอากาศหายใจไว้สำหรับการทำงานด้วย
  
รูปที่ ๒ เหตุการณ์ที่คนงานที่เตรียมจะลงไปในบ่อที่มีแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์เสียชีวิต แม้ว่าจะมีการเตรียมถังอากาศหายใจเอาไว้แล้วก็ตาม (ย่อหน้าที่ ๔ และ ๕)

ตอนที่เขาขึ้นไปยืนบนบันไดนั้น เท้าของเขาอยู่ที่ระดับพื้น และยังไม่ได้สวมหน้ากากเครื่องช่วยหายใน (รูปที่ ๑) ขณะที่เขาเตรียมสวม safety harness (ขอแปลว่า "เข็มขัดนิรภัยกันตก" ก็แล้วกัน) เพื่อนร่วมงานสองคนก็ได้ยินเสียงตะโกนและเห็นพนักผู้ที่ยืนอยู่ตรงบันไดนั้นลื่นไถลเข้าไปใน man-hole โดยที่ทั้งสองนั้นเข้าไปคว้าตัวไม่ทัน
  
พนักงานที่ตกลงไปในบ่อพักเสียชีวิตเนื่องจากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์ที่ออกมาจากท่อระบาย แม้ว่าในขณะนั้นใบหน้าของเขาจะอยู่สูงกว่าระดับพื้นถึง 5 ฟุตด้วยกัน (ก็ประมาณเมตรครึ่ง) และไฮโดรเจนซัลไฟล์ก็เป็นแก๊สที่หนักกว่าอากาศ
  
ตรงนี้ขอนำเสนอศัพท์ภาษาอังกฤษนิดนึง คำว่า casualty หรือรูปพหูพจน์คือ casualties นั้นเป็นการนับรวมทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในขณะที่คำว่า fatality หรือรูปพหูพจน์คือ fatalities เป็นการนับเฉพาะผู้เสียชีวิต ในบทความนี้เขาใช้คำว่า "fatal accident" นั่นก็แสดงว่าเป็นอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต

เรื่องที่ ๒ แม้แต่เจ้าหน้าที่กู้ชีพก็ยังเกือบไปด้วย

ช่วงระหว่างเวลากลางคืนของคืนวันเสาร์ที่ ๒๒ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (รูปที่ ๓ บอกสี่ทุ่มคืนวันเสาร์ ส่วนรูปที่ ๕ บอกตีสองคืนวันอาทิตย์แล้ว) คนงาน ๒ คนที่เข้าไปซ่อมปิดรูรั่วผ้าใบปิดคลุมบ่อหมักไบโอแก๊สของโรงงานแป้งมัน บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้รับพิษจากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์จนเสียชีวิตไป ๑ ราย รูปที่ ๓ เป็นสถานที่เกิดเหตุ ส่วนเหตุการณ์เป็นอย่างไรนั้นอยากให้ลองอ่านที่นำมาแสดงในรูปที่ ๔ (เอกสารกรณีศึกษาจัดทำโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม) และรูปที่ ๕ (ข่าวจากเว็บหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) ดูก่อน
  
แถมให้อีกข้อหนึ่ง ลองสังเกตหน้ากากที่คนในรูปที่ ๓ ใส่ดูซิครับ คุณคิดว่ามันสามารถป้องกันแก๊สพิษได้หรือไม่
  
รูปที่ ๓ ภาพนี้ได้มาจากสไลด์ประกอบการบรรยาย "ก๊าซชีวภาพ; กรณีศึกษาความปลอดภัย" วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค จัดทำโดย ศุภวัฒน์ ธาดาจารุมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มวิศวกรรมเครื่อกล สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุมหรอกครับ แต่ค้นเจอทางอินเทอร์เน็ต)

แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือที่เราเรียกว่าแก๊สไข่เน่าเนี่ย ถ้าได้รับในปริมาณน้อย ๆ เราจะได้กลิ่นเหม็นของมัน แต่ถ้าได้รับมากเกินไปเราจะไม่ได้กลิ่น เพราะประสาทรับกลิ่นมันไปซะแล้ว
   
รูปที่ ๔ จากเอกสาร "กรณีศึกษาอุบัติเหตุ การเสียชีวิตของคนงานบริเวณบ่อเก็บก๊าซชีวภาพ" จัดทำโดย วัฒนา อายตวงษ์ สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผมตัดมาเฉพาะส่วนส่วนที่เกี่ยวข้อง

ถ้าอ่านข้อมูลในรูปที่ ๔ ก็ทำให้เข้าว่า เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดในที่อับอากาศ แต่ภาพเหตุการณ์ตามรายงานข่าวในรูปที่ ๕ นั้นแตกต่างกันออกไป
  
ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าเราถามผู้เห็นเหตุการณ์หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ ๆ เขามักจะบอกในสิ่งที่เขาเห็นออกมาตรง ๆ โดยไม่คิดอะไร แต่ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วค่อยไปถามเขา ช่วงเวลานี้เขามีเวลาคิดว่าสิ่งที่จะพูดออกไปนั้นจะส่งผลถึงใครบ้าง หรือจะผูกพันมายังตัวเขาหรือไม่ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาบอกนั้นอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเห็นทั้งหมด
   
รูปที่ ๕ รายงานเหตุการณ์เดียวกันที่ได้มาจากเว็บหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 

แต่มีจุดหนึ่งที่ข่าวในรูปที่ ๕ รายงานไว้และผมเห็นว่าน่าสนใจตรงที่ "เจ้าหน้าที่กู้ชีพ" ที่เข้าไปค้นหาผู้ที่ตกลงไปในบ่อนั้นถึงกับเป็นลมไป ๒ ราย เนื่องจากทนต่อกลิ่นเหม็นที่รั่วออกมาจากบ่อไม่ไหว
  
เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ยังมีโอกาสพลาดได้ครับ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าด้วยความเร่งรีบที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และอาจไม่ทราบว่าเหตุที่เกิดนั้นเกี่ยวข้องกับแก๊สพิษ (เช่นอาจได้รับแจ้งเพียงว่ามีคนตกบ่อจมหายไปก็ได้ ถ้าเหตุการณ์เกิดตามข่าวในรูปที่ ๕) เหตุการณ์ทำนองนี้เหมือนกับกรณีรายสุดท้ายที่เล่าไว้ในเรื่อง "ขาดอากาศในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่อับอากาศ" ในบทความเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนั้น ใช่ว่าเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์ เป็นผู้ไม่เคยได้รับการอบรม แต่ด้วยความต้องการที่จะเข้าไปช่วยผู้ที่ประสบ ทำให้ลืมขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ไปหมด 
  
แก๊สพิษทำให้คนเสียชีวิตได้แม้ว่าอากาศในบริเวณนั้นจะมีออกซิเจนมากเพียงพอต่อการหายใจ ดังนั้นหน้ากากป้องกันความเป็นพิษของแก๊ส (ในกรณีที่อากาศในพื้นที่นั้นมีออกซิเจนมากเพียงพอต่อการหายใจ) จึงอาจมีเพียงแค่ไส้กรองอากาศที่จะดูดซับแก๊สพิษที่ติดมากับอากาศที่ไหลผ่าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกไส้กรองให้ถูกต้องกับชนิดของแก๊สพิษนั้นด้วย แต่ถ้าเลือกใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ self-contained breathing appartus (คือมีถังอากาศสำหรับหายใจเลย) ก็ไม่ต้องกังวลว่าที่เกิดเหตุนั้นเป็นบริเวณที่มีแก๊สพิษรั่วไหลหรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือเป็นทั้งสองอย่าง แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คืออย่าให้แก๊สพิษนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนังหรือซึมผ่านผิวหนังได้ (แก๊สบางตัวเป็นเช่นนี้ เช่น ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ HF)
 
การเข้าไปในที่เปิดโล่งที่มีแก๊ส H2S รั่วไหลจนทำให้มีการเสียขีวิตเกิดขึ้น (ถ้าเหตุการณ์เป็นดังเช่นข้อมูลในรูปที่ ๔) จะว่าไปแล้วเหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพิ่งเกิด ก่อนหน้านั้น ๓ ปีในวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็เกิดเหตุการณ์แก๊ส H2S รั่วไหลที่โรงงานผลิตเส้นใยแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ในเหตุการณ์นั้นได้ยินมาว่ามีสัญญาณเตือนว่ามีแก๊ส H2S รั่วไหล โอเปอเรเตอร์จึงเข้าไปตรวจสอบ แต่เนื่องจากสัญญาณเตือนนั้นมันจะดังเมื่อความเข้มข้นของแก๊สสูงถึงระดับหนึ่ง (ซึ่งโดยทั่วไปก็จะตั้งค่านี้ไว้ให้ต่ำกว่าค่าที่เป็นอันตรายต่อคน) มันไม่ได้บอกว่าความเข้มข้นแก๊สที่รั่วนั้นสูงจนทำให้เกิดอันตรายได้ทันทีหรือไม่ ดังนั้นเมื่อโอเปอร์เรเตอร์เข้าไปในหมอกแก๊สที่รั่วออกมา จึงหมดสติโดยไม่ทันตั้งตัว เรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน Memoir วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การเสียชีวิตเนื่องจากแก๊ส" และวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เรื่อง "Reactions of hydroxyl group (ตอนที่ ๒)"
 
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมหลายครั้งผมมักจะระบุ "วัน" ที่เกิดเหตุเอาไว้ด้วยแม้ว่าข่าวจะระบุเพียงแค่ "วันที่" ก็ตาม เพราะมันมีกรณีที่ว่า สมาธิของคนหลังจากทำงานมาตลอดทั้งสัปดาห์ ช่วงสุดท้ายของชั่วโมงทำงานก่อนเป็นวันหยุดยาวในวันรุ่งขึ้น จิตใจเขาน่าจะไปจดจ่อว่าในวันหยุดยาวจะทำอะไร ทำให้ไม่มีสมาธิเต็มที่ในการทำงาน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุในขณะทำงานได้จากการพลั้งพลาดหรือหลงลืมขั้นตอนที่ควรทำ เอาไว้มีโอกาสจะนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง

ไม่มีความคิดเห็น: