วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เมื่อจุดไฟ FID ไม่ได้ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๐๑) MO Memoir : Thursday 26 November 2563

เหตุเกิดตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๒๑ ที่สองหนุ่มโทรมาบอกว่าพยายามจุดไฟ FID แต่ไม่สำเร็จ ก็เลยบอกให้เขาลองหาอะไรมาแยงรูฉีดแก๊ส H2 ก่อน เพราะที่ผ่านมาเวลาที่รูนี้มันตัน (รูปที่ ๑) จะมีปัญหาเรื่องจุดไฟ FID ไม่ได้เสมอ แต่พอถึงวันจันทร์เข้าไปทดลองแยงรูแล้วก็พบว่ายังมีปัญหาจุดไฟ FID ไม่ได้ แถมยังพบว่าคอลัมน์แก้วหักตรงจุดต่อเข้ากับ FID อีก (รูปที่ ๒) และมีเศษชิ้นส่วนคาอยู่ในรู ต้องเอาไขขวงอันเล็ก ๆ เขี่ยออกมา เพราะต้องส่งมันไปให้ช่างเขาเชื่อมต่อให้

รูปที่ ๑ โครงสร้าง FID ของ Shimadzu GC-8A

งานนี้ก็เลยต้องส่งคอลัมน์แก้วไปให้ช่างเขาเชื่อมต่อให้ (ที่ศูนย์เครื่องมือแถวคณะเภสัชศาสตร์) และพอต่อคอลัมน์กลับคืนเข้าไปก็สามารถจุด FID ได้ นั่นคงเป็นเพราะว่าพอคอลัมน์หัก แทนที่อากาศจะไหลขึ้นบน มันกลับรั่วไหลลงด้านล่าง (ที่มีความต้านทางการไหลต่ำกว่า) แทน ก็เลยทำให้ไม่มีอากาศไปจุดไฟไฮโดรเจน

คอลัมน์นี้ไม่ได้ถอดมานานแล้ว พอถอดออกมาก็พบว่าของเดิมมี o-ring กับแหวนสปริงเป็นตัวยึดคอลัมน์และกันรั่วไหล แต่ตัว o-ring เองก็เสื่อมสภาพเรียบร้อยแล้ว (จากความร้อน) ไม่สามารถอุดรอยรั่วได้สนิมเหมือนเดิม ก็เลยต้องเปลี่ยนไปใช้ graphite ferrule แทน (รูปที่ ๓) ซึ่งจะว่าไปแล้วมันควรจะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น แต่ก่อนจะใส่ graphite ferrule ก็ต้องเอาแหวนสปริงและเศษ o-ring ออกเสียก่อน จากนั้นจึงทำการขันนอตให้แน่นด้วย "มือ" ตามด้วยการตรวจสอบการรั่วไหล ซึ่งก็พบว่าเพียงแค่การขันให้แน่นด้วย "มือ" ก็สามารถป้องกันการรั่วไหลได้แล้ว (ถ้าขันแน่นเกินไปตัวคอลัมน์อาจถูกกดอัดจนแตกหักได้อีก)

งานนี้ก็เลยต้องขอบันทึกเอาไว้สักหน่อยว่าเคยเจอปัญหาอะไรกันมาบ้าง และแก้ไขด้วยวิธีใด

รูปที่ ๒ ในกรอบสีเหลืองคือจุดที่คอลัมน์หัก

รูปที่ ๓ ในกรอบสีเหลือคือรอยต่อคอลัมน์ ส่วนในวงกลมสีส้มคือ graphite ferrule ที่ใช้ปัองกันการรั่วซึมตรงข้อต่อของคอลัมน์แก้ว

ไม่มีความคิดเห็น: