โปสเตอร์เตือนให้ระวังอันตรายเวลาโดยสารรถไฟหรืออยู่บริเวณใกล้ทางรถไฟเนี่ยเห็นมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เห็นมีข่าวว่าจะเอาโปสเตอร์เก่า ๆ เหล่านี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์ใหม่ ทำให้รู้ว่าโปสเตอร์เหล่านี้ผลิตขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ นับถึงวันนี้ก็ ๕๗ ปีแล้ว วันที่แวะไปที่สถานีนครชัยศรีก็เห็นมีใส่กรอบแขวนไว้ในบริเวณที่พักนักรอรถไฟ ก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย ด้วยการที่เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายจากกรอบที่ติดอยู่สูง ภาพมันก็จะเบี้ยว ๆ หน่อย แต่ถ้าอยากได้ภาพที่เป็นรูปสี่เหลื่อมดูดีก็ลองไปดูได้ที่นี่ครับ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000094008
อาจเป็นด้วยที่เส้นทางรถไฟมีมาก่อนถนน และแนวทางรถไฟมักจะยกสูงเพื่อให้ใช้งานได้ตลอดทั้งปีแม้ในฤดูน้ำหลาก (ยกเว้นปีที่มีน้ำมากจริง ๆ) จึงทำให้มีการใช้ทางรถไฟเป็นแนวทางเดินของผู้คนที่อยู่ใกล้กับทาง และด้วยแนวทางรถไฟและบริเวณตัวสถานีรถไฟของบ้านเราไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด คนสามารถเดินทางตัดผ่านบริเวณไหนก็ได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ภาพโปสเตอร์เตือนภัยจึงอาจนับว่าเป็นบันทึกเรื่องราวพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของคนในอดีต ไม่ว่าจะมีการใช้ทางรถไฟเป็นที่เลี้ยงสัตว์ การนอนบนรางรถไฟ การนั่งโดยสารบนหลังคารถ การห้อยโหนบริเวณประตูตู้รถไฟ ฯลฯ
รูปหัวรถจักรที่ถ่ายที่สถานีนครชัยศรีข้างล่าง เป็นหัวรถจักรขบวนรถน้ำตก-ธนบุรี ระหว่างกำลังแล่นเข้าจอดที่สถานี ลองสังเกตดูนะครับว่ามีหัวรถจักรหน้าตาแบบนี้ในโปสเตอร์รูปใดบ้าง
วันนี้แต่ละรูปคงไม่มีคำบรรยาย เพราะคำบรรยายนั้นอยู่ในแต่ละรูปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น