แอร์ตัวนี้เป็นของห้องนอนบ้านเล็ก ๆ หลังเก่าที่อยู่ข้าง ๆ บ้านปัจจุบัน ตอนนี้ก็ใช้เป็นบ้านพักสำหรับญาติที่มาจากต่างจังหวัด มีสองห้องนอน ติดแอร์ให้กับห้องนอนแต่ละห้องเรียบร้อย
สัปดาห์ก่อน คุณภรรยาระหว่างไล่จับเจ้าสมาชิกอายุน้อยสุดของบ้าน (ชเนาเซอร์อายุไม่ถึง ๒ ขวบ) เดินไปสัมผัสตู้แผงคอยล์ร้อนของแอร์ตัวหนึ่งโดยบังเอิญ ปรากฏว่าโดนไฟดูด ก็เลยมาแจ้งให้ไปตรวจ พอเอามัลติมิเตอร์ไปวัด (วัดเทียบกับสายดินที่ลากผ่านปลั๊กพ่วง) วัดไฟได้ 200 V ทั้ง ๆ ที่ safety breaker ของแอร์อยู่ในตำแหน่ง OFF
งานนี้ก็เลยต้องไปเปิดฝากล่อง safety breaker ดู ก็เห็นดังที่ถ่ายรูปมาให้ดูข้างล่าง
รูปที่ ๑ สีดำ คือสาย L เข้า สีน้ำตาลคือสายL ออก สีเทา คือสาย N เข้า สีฟ้า คือสาย N ออก
บ้านนี้เคยเปลี่ยนสายไฟทั้งหลัง (ตอนนั้น มอก. 11-2531) ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาตรฐานสีสายไฟใหม่ (ปัจจุบันมอก. 11-2553) เลยต้องขอเอารูปสีมาตรฐานสายไฟมาแปะไว้ด้วยเพื่อเตือนความจำ
คือตัว safety breaker ด้านฝั่ง L มันมีปัญหา ดันคันโยกมาที่ตำแหน่ง ON มันก็ไม่มีไฟฟ้าไหลผ่าน (ฝั่ง N ใช้งานได้ปรกติ) ช่างแอร์เขาก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเอาสาย L ที่ต่อไปยังแอร์ต่อตรงกับสาย L ของบ้านเลย (ที่ถูกคือมันต้องเสียบเข้ารูด้านล่าง) แทนที่จะบอกเราว่ามีงานเพิ่ม ให้ไปซื้อ safety breaker มาเปลี่ยนใหม่
ตอนนี้แกัไขด้วยการซื้อ safety breaker ทางออนไลน์มาเปลี่ยนเองเรียบร้อยแล้ว ใช้ยี่ห้อเดิมที่คุ้นเคยกันมานาน ตัวละ ๑๐๐ กว่าบาท ไม่กล้าลองของใหม่ที่เป็นขายตัวละ ๒๐-๕๐ บาท (แล้วแต่ยี่ห้อ)
ปิดเทอมนี้ภาควิชาให้ไปสอนพื้นฐานไฟฟ้ากำลังให้กับนิสิตวิศวกรรมเคมี ก็เลยต้องมานั่งทบทวนค้นคว้าหน่อยว่านิสิตควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง และนี่ก็คงจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเอาไปสอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น