วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การระเบิดของถังเก็บ Pyrolysis gasoline ที่มาบตาพุด MO Memoir : Saturday 11 May 2567

เวลาประมาณ ๑๐.๔๕ น วันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เกิดเพลิงลุกไหม้ที่ถังเก็บ pyrolysis gasoline ของบริษัทมาบตาพุดแทงค์เทอร์มินอล (MTT) ณ บริเวณท่าเรือของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (รูปที่ ๑) โดยสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในช่วงตอนเย็น ข่าวที่ออกมาในช่วงแรกหลังการระเบิดรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย (ต่อมาเสียชีวิต ๑ ราย) และมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุเพลิงไหม้บาดเจ็บเพิ่มอีก ๒ ราย

รูปที่ ๑ ภาพถ่ายของบริเวณที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุคือถังที่อยู่ในวงกลมเส้นประสีแดงด้านบน (รูปจากหน้าเว็บของสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (https://maptaphutport.com/maptaphut/index.php/th/about-6/about-12)

ในช่วงตั้งแต่เริ่มเกิดเพลิงไหม้จนกระทั่งควบคุมเพลิงไว้ได้ มีการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเกาะกระแสเหตุการณ์ รวมทั้งมีความพยายามหาความเห็นจากนักวิชาการต่าง ๆ เพื่อเอามาทำข่าว ผมเองก็ได้รับการติดต่อจากทางคณะในช่วงบ่ายแต่ก็ได้ปฏิเสธไป ด้วยเหตุผลที่ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่กันในขณะนั้นมีทั้ง ขาดความชัดเจน, มีความขัดแย้ง และมีการให้ความเห็นที่สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่สับสนได้

ค่อนข้างเป็นเรื่องปรกติที่เวลาเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ในบ้านเรา ก็จะเป็นข่าวกันในวันแรก ๆ จากนั้นก็จะจางหายไป ไม่มีใครตามต่อว่าสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร (จะว่าไปที่ถูกต้องมากกว่าก็คือผลการสอบสวนเปิดเผยอยู่ในวงจำกัดมาก ขนาดคนทำงานในบริษัทยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเลย) ก็เลยเป็นที่มาของบันทึกฉบับนี้ว่าจากภาพข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่นั้น มันมีจุดสังเกตอะไรให้เราได้เห็นบ้าง เพื่อที่จะเอาไปสอนให้กับนิสิตต่อ (แม้ว่าจะเหลือเวลาสอนอีกเพียงไม่กี่ปี)

เนื้อหาใน Memoir ฉบับนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นการพิจารณาข้อมูลที่มีการเปิดเผยในช่วงตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุจนควบคุมเพลิงได้ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ตรงนี้คือภาพถ่าย ส่วนที่สองเป็นการพิจารณาข้อมูลที่มีการเผยแพร่หลังจากที่ควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว ซึ่งมักจะเป็นข้อความหรือแถลงการณ์ (ที่มักจะผ่านการพิจารณาคัดเลือกถ้อยคำ) ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้ดีอาจจะพบความขัดแย้งหรือการด่วนสรุปเพื่อให้ใครสักคนเป็นผู้รับผิด

ต่อไปนี้เริ่มส่วนที่ ๑ ก่อน ที่เป็นช่วงเกิดการระเบิดไปจนถึงควบคุมเพลิงได้ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาพิจารณาในส่วนนี้ จะมองเฉพาะข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น

๑. จากภาพแรก ๆ ที่เห็น ถังที่เกิดเพลิงไหม้มีชื่อข้างถังว่า "Pyrolysis Gasoline" (รูปที่ ๒) ส่วนที่ว่าของเหลวที่อยู่ในถังแท้จริงแล้วคือ Pyrolysis Gasoline หรือไม่นั้น ขอยังไม่สรุปตอนนี้ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก "Pyrolysis Gasoline" กันก่อนดีกว่าว่ามันคืออะไร

รูปที่ ๒ ภาพเหตุการณ์เมื่อเริ่มเกิดเพลิงไหม้ (จาก www.khaosod.co.th)

Thermal cracking หรือ Pyrolysis เป็นกระบวนการหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ โดยนำเอาไฮโดรคาร์บอนมาให้ความร้อนที่สูงมากพอจนทำให้โมเลกุลแตกออกเป็นโมเลกุลเล็กลง หลัก ๆ ที่ต้องการคือเอทิลีนกับโพรพิลีน การให้ความร้อนนั้นจะให้ไฮโดรคาร์บอนไหลอยู่ภายในท่อ โดยมีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอก

การทำลายพันธะเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน ดังนั้นเพื่อให้โมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก ก็ต้องใส่ความร้อนให้สูงมากพอ ยิ่งความร้อนสูงมาก ปฏิกิริยาก็จะเกิดได้เร็วขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ (เอทิลีนกับโพรพิลีน) จะสลายตัวต่อไปเป็นสารอื่นที่เราไม่ต้องการได้) ดังนั้นเมื่อได้โอเลฟินส์ในปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็ต้องหยุดการสลายตัวด้วยการลดอุณหภูมิแก๊สร้อนให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว

การสร้างพันธะเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ตามหลักสมดุลเคมี เมื่อระบบมีอุณหภูมิลดต่ำลง ระบบก็จะพยายามปรับตัวให้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือโมเลกุลเล็กบางส่วนจะรวมตัวกันเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดหนึ่ง การเกิดปฏิกิริยาก็จะหยุด (เพราะพลังงานกระตุ้นไม่พอ) แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ในปริมาณหนึ่ง ที่สามารถควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่ quench tower (หอที่แก๊สร้อนสัมผัสกับน้ำโดยตรง) ไฮโดรคาร์บอนที่ควบแน่นได้ ณ ที่นี้คือ pyrolysis gasoline

Gasoline หรือแก๊สโซลีน คือน้ำมันเบนซินนั่นเอง บ้านเรากำหนดอุณหภูมิจุดเดือดสูงสุดไว้ไม่เกิน 200ºC น้ำมันที่มีอุณหภูมิจุดเดือดบริเวณนี้บางทีก็เรียกว่าแนฟทา (naphtha) แต่คำแนฟทามันจะคลุมกว้างกว่า คือเข้าไปถึงน้ำมันก๊าด (kerosene) ทำให้บางทีเขาก็เรียกแยกเป็น Light naphtha (พวกมีจุดเดือดต่ำ) กับ Heavy naphtha (พวกมีจุดเดือดสูง)

ส่วน Pyrolysis เป็นตัวบอกว่าน้ำมันแก๊สโซลีนดังกล่าวมาจากกระบวนการใด ซึ่งในที่นี้คือ pyrolysis ถ้าได้มาจากหลุมขุดเจาะแก๊สธรรมชาติเขาก็เรียกว่า Natural Gasoline ถ้าเป็นน้ำมันที่ออกตรงมาจากหอกลั่น (ก่อนที่จะเอาไปทำอะไรอย่างอื่นต่อเพื่อปรับปรุงคุณภาพ) เขาก็เรียกว่า Straight Run Gasoline

จากข้อมูลที่มีนั้น pyrolysis gasoline จะประกอบด้วย aromatic hydrocarbon C6-C8 และพวกที่หนักกว่า (ที่เรียกว่า C9+) สารประกอบอะโรมาติก C6-C8 เป็นพวกที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตัวอื่นได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้ามีการแยกเอาสารพวกนี้ออกไปก่อน ทำให้เหลือเพียงแค่ C9+ (แบบที่ปรากฏในข่าว)

๒. ถังที่เกิดเหตุจากภาพดูแล้วคงเป็น fixed-roof tankแต่หลังคาที่เห็นมีลักษณะโค้งเป็นรูปโดมไม่ใช่รูปทรงกรวย (รูปที่ ๑ และ ๒) แต่คาดว่าน่าจะเป็น atmospheric tank แบบไม่มี floating roof ภายใน เก็บของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (จะว่าไป floating roof tank ในบ้านเราก็ไม่เห็นมีหลังคาคลุม เพราะเราไม่มีหิมะตก) ถังแบบนี้จะมีช่องระบายอากาศ (vent) บนฝาถัง เพื่อให้อากาศไหลเข้าถังได้เวลาที่สูบของเหลวออกจากถัง (ป้องกันการเกิดสุญญากาศภายในถัง) และให้ไอระเหยของสารนั้น (รวมทั้งอากาศที่ไหลเข้าไปในถังตอนสูบของเหลวออก) ระบายออกมาได้ตอนเติมของเหลวเข้าไปในถัง (ป้องกันความดันในถังเพิ่มสูงเกินไป) ดังนั้นถ้าที่ว่างระหว่างผิวของเหลวกับฝาถังนั้นจะเป็นแก๊สผสมระหว่างอากาศกับไอน้ำมันที่ระเหยขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ

๓. ภาพข่าวเริ่มแรกเพลิงลุกไหม้อยู่ตรงตะเข็บรอยต่อระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัว (ดูรูปที่ ๒ ที่ฝาถังไม่ได้ปลิวออก หรือดูภาพขยายในรูปที่ ๓) และไม่มีไฟไหม้ที่ระดับพื้นดิน เห็นได้จากไม่มีกลุ่มควันดำเกิดที่ระดับพื้นดิน (หรือมุมกล้องจับไม่ได้ก็ไม่รู้) ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีการระเบิดเกิดขึ้นในถัง ทำให้ฝาถังนั้นฉีกขาดออกจากส่วนลำตัว แต่การระเบิดนั้นคงไม่รุนแรงมาก เห็นได้จากฝาถังไม่ได้ปลิวออกไปไหน (ในที่นี้ขอเรียกว่า "ฝาถัง" ก็แล้วกัน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "roof" ที่แปลว่าหลังคา) การที่การระเบิดนั้นไม่รุนแรงก็อาจเป็นได้ว่าในถังมีของเหลวบรรจุอยู่ในปริมาณมาก ทำให้ปริมาตรไอผสม (เชื้อเพลิง + อากาศ) ในถังมีไม่มาก (คือปริมาตรที่อยู่เหนือผิวของเหลวและใต้ฝาถัง) ซึ่งประเด็นนี้จะมาว่ากันอีกทีหนึ่งเมื่อพิจารณารูปความเสียหายของถังหลังเพลิงสงบแล้ว

เวลาที่เกิดการระเบิดในถัง สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ส่วนลำตัวเกิดความเสียหาย ไม่เช่นนั้นของเหลวที่บรรจุอยู่ก็จะทะลักออกมา ดังนั้นจึงต้องหาทางระบายความดันที่เกิดจากการระเบิดออกโดยเร็วก่อนที่ลำตัวจะเกิดความเสียหาย วิธีหนึ่งที่ทำกันก็คือให้ตำแหน่งรอยเชื่อมระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัวนั้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นเมื่อความดันในถังเพิ่มขึ้น รอยเชื่อมตรงจุดนี้จะฉีกขาดก่อน ทำให้ฝาถังเปิดเพื่อระบายความดันออกมา ถ้าเป็นการระเบิดที่รุนแรงตัวฝาถังสามารถหลุดปลิวออกจากส่วนลำตัวถัง โดยที่ส่วนลำตัวยังไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนฝาที่ปลิวออกไปนั้นจะไปตกที่ใดและทำความเสียหายอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (คือลำตัวถังบรรจุปลอดภัย ส่วนบริเวณรอบข้างไม่สน) แต่วิธีการนี้จะไม่ใช้กับถังที่ติดตั้งอยู่ภายในอาคาร

๔. ข่าวในช่วงแรกบอกว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย แต่ในช่วงเย็นบอกว่าในจำนวน ๔ รายนี้มีเสียชีวิต ๑ ราย และยังมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก ๒ ราย

๕. จากข้อ ๔. ก็จะตั้งคำถามได้ว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง ๔ รายนั้น ไปทำอะไรอยู่แถวนั้นตอนเกิดเหตุ เป็นเพียงผู้บังเอิญเดินทางผ่านไปโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับถังที่ระเบิดเลย หรือเป็นผู้ที่ไปทำงานอยู่แถวนั้น แต่จากข้อ ๓. ทำให้สงสัยว่าทั้ง ๔ คนนั้นตอนเกิดเหตุน่าจะอยู่บนฝาถัง เพราะถ้าแค่เดินทางผ่านไปข้างล่าง ไม่น่าจะมีการบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต เพราะจุดเกิดเหตุหลักอยู่บนหลังคาถัง

ที่ต้องถามคำถามนี้ก็เพื่อที่จะดูความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับผู้ได้รับบาดเจ็บว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ คือถ้าจุดเกิดการระเบิดนั้นไม่มีใครอยู่ แสดงว่าต้นตอนั้นต้องเกิดจากความผิดพลาดจากการควบคุมระยะไกลหรือการออกแบบ แต่ถ้าไปอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะทำให้เกิดคำถามว่ามีส่วนทำให้เกิดการระเบิดหรือไม่ แต่ทั้งนี้การที่พวกเขาไปปรากฏอยู่ตรงนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเขามีส่วนทำให้เกิดการระเบิด อาจเป็นไปได้ว่าการทำงานมีปัญหา พวกเขาก็เลยไปตรวจสอบ แล้วมันก็ระเบิดพอดี

ข้อมูลตรงนี้ตรวจสอบได้ไม่ยากด้วยการถามผู้บาดเจ็บ (ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ หลังเพลิงสงบแล้วมีความขัดแย้งกันอยู่ แล้วค่อยมาว่ากันอีกที)

๖. ถ้าข้อสงสัยในข้อ ๕. เป็นจริง (ซึ่งแถลงการณ์หลังคุมเพลิงได้บอกไว้อย่างนั้น) ทำไมถึงมีคนไปอยู่บนฝาถังถึง ๔ คน ที่ตั้งคำถามนี้เพราะเมื่อได้คุยกับวิศวกรรายหนึ่งที่รู้จักกันและทำหน้าที่ดูแล Tank Farmเขาบอกว่าปรกติถ้าเป็นการไปเก็บตัวอย่างของหลวในถังก็จะไปเพียงแค่ ๒ คนก็พอ ซึ่งเขาก็สงสัยเหมือนกัน แล้วในเหตุการณ์นี้ไปทำอะไรบนนั้นตั้ง ๔ คน มีการทำ hot work (งานพวกการเชื่อมโลหะ การเจียรโลหะ การตัดด้วยแก๊ส) ด้วยหรือไม่ (โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะในถังยังมีเชื้อเพลิงบรรจุอยู่เต็ม) หรือถังเก็บมีปัญหาการทำงาน เลยต้องส่งช่างไปช่วยกันตรวจสอบหลายคน

๗. ลักษณะของเปลวไฟที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นเพลวไฟที่พุ่งขึ้นแรง (รูปที่ ๓) แสดงว่าของเหลวที่บรรจุอยู่ในถังนั้นไม่ได้เป็นพวกที่มีความดันไอสูง (แปลว่าจุดเดือดอาจอยู่ที่ระดับ 100ºC หรือสูงกว่า) เพราะถ้าเป็นพวกที่มีความดันไอสูง เปลวไฟจะลุกไหม้อีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ลองดูกรณีของไทยออยล์ปี ๒๕๔๒ ดูก็ได้

รูปที่ ๓ เอารูปที่ ๑ มาขยายตรงบริเวณฝาถังที่ไฟกำลังลุกไหม้อยู่

๘. จากข้อ ๗. ดังนั้นที่มีข้อมูลว่าของเหลวในถังนั้นเป็นพวก C9 ขึ้นไป ก็เป็นไปได้

๙. ตอนเริ่มเกิดเพลิงไหม้ ระดับของเหลวในถังค่อนน่าข้างจะสูง (ใกล้เต็มถัง) เห็นได้จากสีที่ทาข้างถังที่ยังคงสภาพดี (ผิวโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวจะไม่ร้อนจัด เพราะไม่โดนไฟลน) แต่การแปลข้อมูลตรงนี้ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะในกรณีนี้ฝาถังไม่ได้ปลิวออก ดังนั้นถ้าของเหลวในถังระเหยออกมาชดเชยการเผาไหม้ทัน เปลวไฟจะไม่วิ่งเข้าไปลุกไหม้ในถัง จะไหม้เฉพาะตรงจุดที่ไอระเหยรั่วออก

๑๐. ในช่วงถัดมา (ไม่ทราบเวลาแน่นอน) มีข่าวว่ามีการระเบิดเกิดขึ้นอีก มีการลุกไหม้จากเชื้อเพลิงที่รั่วออกมาและขังอยู่ใน tank bund ประเด็นก็คือเชื้อเพลิงพวกนี้มาจากไหน

๑๑. ภาพเมื่อเริ่มควบคุมเพลิงได้ มองไม่เห็นฝาถังของถังที่เริ่มเกิดเพลิงไหม้ (รูปที่ ๔) อาจเป็นไปได้ว่ายุบตัวลงไปเนื่องจากความร้อน ไม่น่าจะมีการปลิวออกมา (ไม่เห็นความเสียหายบริเวณห่างมา และไม่มีรายงานข่าว) แต่ถังอีกใบที่อยู่ข้าง ๆ นั้นสภาพยังดี รูปที่ ๔ ยังแสดงให้เห็นว่าถังบรรจุทั้งสองใบนั้นมีของเหลวบรรจุอยู่เต็มถัง

ในระหว่างที่ไฟกำลังลุกไหม้ถังใบแรกนั้น ก็มีข่าวว่ามีการ "ระเบิด" ตามมาและไฟได้ไหม้ลุกลามไปยังถังใบที่สอง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไประงับเหตุต้องถอนตัวออกมาก่อน

แต่ดูจากภาพความเสียหายในรูปที่ ๔ แล้วคิดว่าน่าจะเกิดจากการที่รอยเชื่อมรอบฝาถังนั้นได้รับความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความแข็งแรงเนื้อโลหะจึงลดต่ำลงจนไม่สามารถรับน้ำหนักฝาถังเอาไว้ได้ ทำให้ฝาถังยุบตัวจมลงไปในถัง ของเหลวในถังถูกดันขึ้นจนกระฉอกออกมาข้างนอก (สาเหตุที่ทำให้ไฟมาลุกไหม้ใน tank bund) ผิวหน้าเชื้อเพลิงที่เปิดเต็มที่ทำให้เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ทันที ทำให้คนคิดว่าเป็นการระเบิดอีกครั้ง (ไม่มีข้อมูลว่ามีฝาถังปลิวออกไป)

รูปที่ ๔ ภาพเพลิงไหม้หลังเริ่มควบคุมเพลิงที่ไหม้รอบนอกถังได้แล้ว เห็นได้จากผนังถังด้านนอกโดยไฟครอกเป็นสีดำจากคราบเขม่า (ภาพจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ)

๑๒. ถังข้าง ๆ อีกใบก็น่าจะมีของเหลวอยู่เต็มเช็นกัน เห็นจากโดนไฟคลอกจนด้านข้างดำทั้งถัง แต่สภาพยังดีอยู่ (รูปที่ ๔ และ ๕) แสดงว่าระดับของเหลวในถังนั้นสูงกว่าระดับความสูงของเปลวไฟ แต่ที่เห็นมีไฟไหม้ด้านบน (ภาพไม่ชัด) อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะการระบายไอระเหยออกมา จากสภาพฝาถังที่ยังดีอยู่ก็แสดงว่าออกแบบรับกรณีไฟครอกได้ดี ไม่งั้นถังคงระเบิดจนฝาถังคงปลิวไปแล้ว

รูปที่ ๕ สภาพถังที่เกิดการระเบิด (ขวาสุด) จะเห็นว่าระดับความสูงยังใกล้เคียงกับถังข้าง ๆ (กลาง) ที่โดนไฟครอก แสดงว่าตอนที่ดับไฟได้นั้น ถังก็ยังมีของเหลวอยู่ภายในเยอะเหมือนกัน (ภาพจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

ผิวโลหะที่สัมผัสกับของเหลวจะได้รับการปกป้องจากเปลวไฟด้วยการเดือดของของเหลวแม้ว่าผิวโลหะนั้นจะโดนไฟครอกโดยตรง (แบบเดียวกับที่เราใช้หม้ออะลูมิเนียมต้มน้ำด้วยเตาแก๊ส หม้ออะลูมิเนียมจะไม่เป็นไร แต่ถ้าแห้งเมื่อไรก็เป็นเรื่องได้) ในกรณีของถัง (Tank) เก็บเชื้อเพลิงนั้น ถ้าไฟไหม้อยู่ภายในถังโดยที่ไม่ได้ลุกไหม้รอบนอก เราจะเห็นสีข้างถังนั้นเปลี่ยนไปตามระดับความสูงของของเหลวในถัง คือสีบนผิวโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวจะยังคงเป็นปรกติอยู่ แต่ที่อยู่เหนือขึ้นไปจะได้รับความร้อนจนเห็นสีไหม้และเนื้อเหล็กนั้นขึ้นสนิม (โดนเผาจนเป็นสารประกอบออกไซด์) และยุบตัวลง

ถ้าเป็นไฟครอกอยู่ด้านนอก สีที่ทาอยู่ภายนอกก็จะถูกเผา แต่เนื้อโลหะที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวก็ยังได้รับการปกป้องอยู่ (แบบเดียวกับที่เราต้มน้ำด้วยเตาแก๊สในครัว) แต่เนื้อโลหะส่วนลำตัวที่อยู่สูงกว่าผิวของเหลวและโดนไฟลน จะร้อนจัดจนสูญเสียความแข็งแรงและยุบตัวลง แต่ไม่ว่าไฟจะไหม้อยู่ด้านในหรือด้านนอก ถ้าระดับของเหลวในถังนั้นต่ำมาก ถังก็จะยุบตัวลงมามากเช่นกัน ดังเช่นที่แสดงในรูปที่ ๖ ที่จะเห็นการยุบตัวของถังได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับถังข้าง ๆ

๑๓. ทีนี้ขอกลับไปยังรูปที่ ๓ หน่อยที่ผมยังมีข้อติดใจบางเรื่องอยู่ ในรูปนั้นจะเห็นว่าฝาถังยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยมีเปลวไฟลุกไหม้ตรงรอยต่อระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัว เรื่องที่คาใจก็คือ "ในถัง (คือใต้ฝาถัง) มีไฟลุกไหม้ด้วยหรือไม่"

ในเรื่องของความไวไฟของสารเรามักได้ยินแต่ "จุดวาบไฟหรือ Flash point" ที่เป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่ทำให้เชื้อเพลิงนั้นระเหยออกมาจนมีความเข้มข้นสูงพอที่จะลุกติดไฟได้ถ้ามีแหล่งพลังงาน (เช่นเปลวไฟ ความร้อน ประกายไฟ) มากระตุ้น แต่การที่ไฟจะลุกไหม้ได้อย่างต่อเนื่องนั้นอัตราการระเหยของเชื้อเพลิงจะต้องสูงพอที่จะชดเชยอัตราการเผาไหม้ ดังนั้นเชื้อเพลิงเหลวที่มีอุณหภูมิที่จุดวาบไฟ ไอระเหยของมันสามารถลุกติดไฟได้ แต่เมื่อไหม้แล้วมันก็มีสิทธิที่จะดับได้เช่นกัน ถ้าเชื้อเพลิงระเหยออกมาชดเชยไม่ทัน


รูปที่ ๖ ภาพถังเก็บแนฟทาที่เสียหายจากเพลิงไหม้ พึงสังเกตว่าผนังถังจะยุบตัวลงตามระดับความสูงของของเหลวที่บรรจุอยู่ในถัง (ภาพจากรายงานการสอบสวนของ U.S. Chemical Safety and Hazard Investigation Board เรื่อง Storage Tank Fire at Intercontinental Termals Company, LLC (ITC) Termical ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒)

ในระหว่างการเผาไหม้นั้น เชื้อเพลิงเหลวจะได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายนอก (เช่นอุณหภูมิของอากาศรอบนอกถังเก็บ) และความร้อนจากเปลวไฟที่ลุกไหม้ด้านบน ถ้าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมภายนอกสูงมากพอ อัตราการระเหยของเชื้อเพลิงเหลวก็จะมากพอที่จะทำให้เกิดเปลวไฟลุกต่อเนื่องได้ อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมต่ำสุดที่ทำให้เกิดเปลวไฟลุกต่อเนื่องได้คือ "อุณหภูมิจุดติดไฟหรือ Fire point" โดยอุณหภูมิจุดติดไฟนี้จะสูงกว่าอุณหภูมิจุดวาบไฟอยู่เล็กน้อย

ทีนี้กลับมาที่ข้อสงสัยที่คาใจอยู่ในตอนแรกคือ ใต้ฝาถังมีไฟลุกอยู่หรือไม่ ถ้ามีไฟลุกอยู่ก็จะนำไปสู่อีกคำถามคือแล้วอากาศเข้าไปได้เลี้ยงเปลวไฟอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ฝาถังยังปิดคลุมอยู่ แต่ถ้ามองว่าใต้ฝาถังนั้นไม่มีเปลวไฟ (มันดับไปแล้วเพราะใช้ออกซิเจนไปหมด) แต่ของเหลวในถังนั้นมีอุณหภูมิที่สูงพอที่ทำให้ของเหลวระเหยออกมาชดเชยอัตราการเผาไหม้ที่ตรงตะเข็บรอยต่อได้ทันเวลา มันก็จะอธิบายได้ดีกว่า (และมันจะไปอธิบายเรื่องควันสีขาวที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นก่อนการระเบิดได้ด้วย)

รูปแบบการเผาไหม้แบบนี้ก็เคยพบเห็นสมัยที่ยังสอนแลปเคมีอินทรีย์เรื่องการเผาไหม้ไฮโดรคาร์บอน ที่เอาเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ใส่ตะเกียงแอลกอฮอล์แล้วจุดไฟเพื่อให้นิสิตสังเกตลักษณะของเปลวไฟและควันดำที่เกิดขึ้น ในกรณีของเชื้อเพลิงที่มีความดันไอสูง (เช่นเฮกเซน หรืออีเทอร์) จะมีปัญหาตอนดับเปลวไฟ เพราะเอาฝาตะเกียงครอบลงไปแล้วเปลวไฟก็ไม่ดับ มันจะมาไหม้ต่อตรงขอบล่างของฝาตะเกียง และพอเอาบีกเกอร์ครอบลงไปอีกเปลวไฟก็ยังไม่ดับ มันจะมาลุกไหม้อยู่ตรงจงอยปากบีกเกอร์ ด้วยเหตุนี้เวลาสอนแลปนี้ จึงต้องนำตะเกียงวางในถาดอะลูมิเนียมที่เติมน้ำไว้ภายใน เพื่อที่ว่าเวลาครอบบีกเกอร์ลงไป น้ำที่เติมไว้นั้นมันจะท่วมจงอยปากบีกเกอร์ ตัดไม่ให้เชื้อเพลิงได้สัมผัสกับอากาศ ไฟก็จะดับ แต่การทดลองนี้ก็เป็นอดีตไปแล้ว ไปพร้อม ๆ กับการปรับปรุงหลักสูตร

ต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการเผยแพร่กันหลังจากที่เพลิงสงบแล้ว ซึ่งได้แก่ข้อความแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย และคำแถลงการณ์ที่มีขึ้นในช่วงตอนเย็น (รูปที่ ๗)

รูปที่ ๗ (ซ้าย) ข้อความที่มีการส่งต่อกันมา (ขวา) ถ้อยคำจากแถลงการณ์ (จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด)

๑๔. ขอพิจารณาข้อความแรกก่อน (รูปที่ ๗ ซ้าย) ที่บอกว่าผู้เสียชีวิตพยายามขึ้นไปปิดวาล์วบนถัง ข้อสงสัยข้อแรกที่ผมมีก็คือ "บนฝาถังมันมีวาล์วอะไรให้ปิด"

ข้อสงสัยข้อที่สองคือถ้าเหตุการณ์เป็นตามนี้มันก็จะยากที่จะอธิบายว่าแล้วอีก ๓ คนที่เหลือได้รับบาดเจ็บได้อย่างไร คือถ้าจะบอกว่าอีก ๓ คนที่เหลืออยู่บนฝาถังก่อนหน้าแล้ว แล้วทำไมคนนี้ต้องขึ้นไปปิดวาล์ว คนที่อยู่บนฝาถังแล้วไม่ปิดเอง และถ้าบอกว่า ๓ คนนั้นอยู่ข้างล่าง มันก็ยากจะอธิบายว่าแล้วได้รับบาดเจ็บได้อย่างไร ไปยืนอยู่ตรงไหน

ในคำแถลงการณ์ที่เป็นทางการของทางบริษัทนั้นบอกว่า (รูปที่ ๔ ขวา) ก่อนเกิดเหตุ พนักงานทั้ง ๔ คนได้ขึ้นไปอยู่บนฝาถังแล้ว ก่อนเกิดการระเบิดและกระเด็นตกลงมา ซึ่งข้อมูลนี้มันอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย แต่ในคำแถลงการณ์ก็มีสิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์อีก ๒ ประเด็น ประเด็นแรกคือ "มีความจุของสาร 8000 คิว" และประเด็นที่สองคือ "เกิดกลุ่มควันลอยขึ้นมา"

๑๕. เราลองมาดูประเด็นแรกก่อนที่ว่า "มีความจุของสาร 8000 คิว" หน่วย "คิว" ในที่นี้คืออะไร ตามความหมายที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเราเข้าใจกันก็ควรเป็น cubic metre หรือลูกบาศก์เมตร เพราะนี่คือถังเก็บ (Tank) ไม่ใช่ตู้เย็นที่ใช้กันตามบ้าน ที่ "คิว" หมายถึงลูกบาศก์ฟุต ดังนั้นตรงนี้จะขอสมมุติว่าคำว่า "คิว" ในข่าวคือลูกบาศก์เมตร

๑๖. ถ้าไปดูรูปที่ ๔ จะเห็นรถดับเพลิงจอดอยู่คันหนึ่ง ประมาณว่าความยาวของรถดับเพลิงคือ 8 เมตร ดังนั้นเส้นผ่านศูนย์กลางของถังก็ประมาณ 3 เท่าของความยาวรถดับเพลิงหรือ 24 เมตร ที่นี้ความสูงของถังจะขอประมาณจากความสูงของราวจับในวงกลมสีแดงในรูปที่ ๘ ว่าสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของคนตีซะว่าประมาณ 1 เมตร ดังนั้นความสูงของส่วนลำตัวถังก็ไม่น่าจะถึง 10 เมตร เพราะถ้าสูงกว่านี้ก็น่าจะเสียชีวิตกันหมดจากการตกลงมาจากที่สูง

ด้วยมิติขนาดนี้ที่ประมาณไว้ (กว้าง 24 เมตร สูง 10 เมตร) จะคำนวณความจุของแต่ละถัง (เฉพาะส่วนลำตัวทรงกระบอก) ได้ประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร ถ้าว่ากันตามนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าตอนเกิดเหตุนั้นแต่ละถังมีของเหลวบรรจุเต็ม ซึ่งมันก็จะไปตรงกับภาพความเสียหายของถังที่ปรากฏ (หมายเหตุ : ข้อมูลที่สืบค้นพบภายหลังระบุว่าถังเก็บกว้าง 26 เมตร สูง 19 เมตร ซึ่งจะทำให้ถังแต่ละใบบรรจุของเหลว 8,000 ลูกบาศก์เมตรได้ รายละเอียดเพิ่มเติม รูปที่ ๙ ด้านท้ายบทความ)

๑๗. ประเด็นที่สองคือที่เห็น "กลุ่มควันลอยขึ้นมานั้น" ควันนี้มาจากไหน เกิดได้อย่างไร ตรงนี้ไม่มีข้อมูลบอกว่ากลุ่มควันลอยออกมาจากไหน แต่บนฝาถังจุดที่จะมีไอระเหยรั่วไหลออกมาภายนอกได้ก็เห็นมีตรงช่อง vent ที่ใช้รักษาความดันภายในถังไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป และ gauge hatch ที่เป็นช่องเปิดสำหรับใช้เก็บตัวอย่างและวัดระดับ โดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็น "ควัน" นั้นอาจไม่ใช่ควันก็ได้ เพราะมันมีอีกสิ่งที่เป็นไปได้คือ "การควบแน่นของไอระเหยที่ร้อน เมื่อรั่วไหลออกสู่บรรยากาศภายนอกที่เย็นกว่า"

รูปที่ ๘ สภาพภายใน tank bund หลังคุมเพลิงได้แล้ว ถ้าประมาณว่าความสูงราวจับในวงกลมสีแดงนั้นสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของคน ก็จะประมาณได้ว่าความสูงของถังนั้นไม่น่าจะเกิน 10 เมตร

๑๘. ไอระเหยของของเหลวจุดเดือดสูงที่อุณหภูมิห้องนั้น เมื่อรั่วไหลออกมาภายนอกถังมันจะไม่มีการควบแน่นเป็นไอให้เห็น แต่ถ้าของเหลวในถังนั้นมีอุณหภูมิสูงพอและระดับของเหลวในถังสูงมากพอ (คือถ้าระดับของเหลวในถังไม่สูง มันก็ควรจะควบแน่นหมดภายในถังเพราะทางด้านฝาถังจะเย็นกว่า) ไอระเหยที่เกิดขึ้นก็จะรั่วไหลออกมากและเกิดการควบแน่นเป็นละอองเล็ก ๆ ให้เห็นเป็นหมอกควันได้ แบบที่เราพ่นลมหายใจออกมาในเวลาที่อากาศเย็นจัด ไอน้ำในลมหายใจจะควบแน่นเป็นละอองน้ำที่ทำให้เราเห็นเหมือนเป็นควัน คำตอบของข้อสงสัยนี้ต้องกลับไปดูที่การทำงานในขณะนั้นว่าอุณหภูมิของเหลวในถังนั้นเป็นเท่าใด

๑๙. ในรูปที่ ๓ ที่ถ่ายไว้หลังเกิดการระเบิดไม่นานนั้น ลมพัดจากซ้ายไปขวา แต่ถังทางด้านซ้ายมีคราบเขม่าไหม้คล้ายกับมีของเหลวไหลย้อยลงมาและเกิดไฟไหม้ที่ผิว ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็ต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่าของเหลวมันไหลย้อยลงมาได้อย่างไร (หรือว่ามีของเหลวเต็มถึงขอบถังในขณะนั้น)

๒๐. ส่วนที่ว่าจุดระเบิดได้อย่างไรนั้นยังมองภาพไม่ออก แม้มีการพูดถึงไฟฟ้าสถิต แต่บ้านเราความชื้นในอากาศก็สูงอยู่

ขอบันทึกข้อสังเกตและข้อสงสัยต่าง ๆ เอาไว้ตรงนี้ ส่วนที่ว่ามันจะถูกต้องบ้างหรือไม่ก็คงได้แต่ต้องรอข้อมูลการสอบสวน ที่หวังว่าจะมีผู้ใจดีแจ้งให้ทราบ เพราะไม่คาดหวังว่าจะมีการเปิดเผยสู่สาธารณะอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ อยากให้มองหาความผิดพลาดก่อนที่จะมองหาว่าใครผิด และควรมีการเผยแพร่ความผิดพลาดนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อที่ผู้อื่นที่ทำงานแบบเดียวกันจะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก

หมายเหตุแก้ไขเพิ่มเติม (วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๗)

facebook ของประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ดังนี้ (รวมทั้งขนาดของถังที่เกิดเพลิงไหม้)

#การควบคุมเพลิง ถังเก็บสารเคมีบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด

เมื่อเวลา 11.00 . ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้สอบถามข้อมูลการเกิดเหตุและการควบคุมเพลิงครั้งนี้ทราบเบื้องต้นว่า ฝาถังระเบิดแต่ระเบิดไม่หมด ทำให้ไฟมันลุกไหม้แบบเป็นช่อง ๆ ตามรอยแตกของฝาถัง ขนาดถัง ถังสูง 19 เมตร กว้าง 26 เมตร เพราะฉะนั้นมันไม่สูงมาก ไอที่ออกไปมันเป็นควันดำ แต่ตัวมันจะมีกลิ่นมาก จะไปไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับทิศทางลมกับคุณภาพอากาศที่ตรวจวัด

แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันจะมีกลิ่นนำ ถ้าได้กลิ่นแนะนำให้ป้องกัน เพราะว่าสารตัวนี้มันจะเป็น ไพโรไรซิสแก๊สโซลีน แก๊สโซลีนที่ยังไม่เสถียร เหมือนกันกับน้ำมันกระเบื้องแก๊สโซลีนแต่เป็นชนิดที่ไม่เสถียร เพราะฉะนั้นตัวนี้มันจะมีกลิ่นเหม็นนำไปก่อน กำลังติดตามอยู่ว่าเขาไปตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วเขาสื่อสารไปยังว่ารัศมีแค่ไหน

ถาม : แนวทางในการควบคุมเพลิงต้องใช้อะไรดับ ต้องรอให้มอดทั้งหมดหรือเปล่า

ตอบ : ฝาถังออกแบบชนิดหลังคาตายตัว เรียกว่า ฟิกซ์รูฟ ถ้าระเบิดจะมีสองอย่าง คือ ฝาถังระเบิดฉีกขาดไปเลย เพราะมีการออกแบบให้ฝาถังขาด ถังจะได้ไม่แตก แต่ครั้งนี้ฝาไม่ฉีกขาดทั้งหมด ฉีกขาดเป็นบางส่วนทำให้เหมือนกับเรามีฝากระป๋องน้ำอัดลม มันแตกเป็นครึ่งแนวหรือหนึ่งส่วนสี่ของฝากระป๋องน้ำอัดลม มันเลยมีช่องที่ฉีดโฟมเข้าไปในช่องที่แตกตรงนั้น แต่มันเอาเข้าไปยาก

ถาม : ต้องใช้โฟมอย่างเดียวหรือว่าน้ำด้วย

ตอบ : ใช้น้ำไม่ได้เลยสารตัวนี้ ต้องใช้โฟมอย่างเดียวเพราะสารตัวนี้ต้องใช้โฟมอย่างเดียว ซึ่งไม่มีปัญหา ทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเขามีพร้อมอยู่แล้ว

 

รูปที่ ๙ ภาพจากหน้า facebook ของประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗

 

ไม่มีความคิดเห็น: